Tuesday, 14 May 2024
เมียนมา

‘กลาโหม’ แจง เครื่องบินพาณิชย์ ‘เมียนมา’ ลงจอด แม่สอด จ.ตาก กองทัพดูแล ตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง

(8 เม.ย.67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว ถึงกรณีเครื่องบินพาณิชย์เมียนมาลงจอดที่ประเทศไทย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก  ว่า 

ประเด็นแรก ผู้ลี้ภัยจากสงครามเมียนมา ที่หลบหนีเข้ามาทางฝั่งไทย ทางด้านกองทัพภาคที่ 3 มีการเตรียมการ มาตั้งแต่ปี 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์สู้รบฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด และอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก มีการสู้รบในฝั่งเมียวดี ประเทศเมียนมา มาโดยตลอด ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้ลี้ภัยเข้ามายังค่ายผู้อพยพ ที่อำเภอแม่สอด และอำเภอแม่สะเรียง และทางกองทัพ  ก็ได้ดูแลช่วยเหลือ และให้ความเป็นธรรม ตามหลักสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (7เม.ย.67) รัฐบาลของเมียนมาที่จังหวัดเมียวดี สูญเสียฐานที่มั่น กองทัพไทย จึงให้ทางรัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศ ได้เจรจากัน ในเรื่องของความช่วยเหลือ ทั้งการนำเครื่องบินพาณิชย์ มารับข้าราชการ และครอบครัว ที่อยู่ในจังหวัดเมียววดี ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะต้องไปพูดคุยกับรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน

'เชียงราย' ส่งกลับ!!ปกครองแม่สายร่วมกับสืบสวน ตม.เชียงรายผลักดันต่างด้าวสัญชาติเมียนมากลับประเทศ

วันที่ 9 เมษายน2567 นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย มอบหมายให้นายปวเรศ ปัญญายงค์ ปลัดอำเภอกลุ่มงานความมั่นคง พร้อมด้วยสมาชิก อส.อ.แม่สายที่ 5 ผู้ใหญ่บ้านชุมชนร่มโพธิ์งาม หมู่ 9 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ร่วมกับฝ่ายสืบสวนด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จว.เชียงราย และตำรวจ สภ.แม่สาย จัดทำประวัติและผลักดันชาวต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวนมากออกนอกประเทศ ภายหลังจากค่ำวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากชาวบ้านที่ชุมชนร่มโพธิ์งาม ว่าที่บ้านเช่าหลังหนึ่งในชุมชนมีคนอาศัยอยู่จำนวนมาก ส่งเสียงดังก่อความเดือดร้อน สร้างความรำคาญอย่างมาก

เจ้าหน้าที่จึงนำกำลังไปตรวจสอบ พบมีบุคคลต่างด้าวสัญชาติเมียนมาเป็นจำนวนมากและสามารถควบคุมตัวเอาไว้ได้ 41 คน ทั้งหมดมีเอกสารบัตรผ่านแดนชั่วคราวมาแสดงให้เจ้าหน้าที่ 40 คน และมีเด็กติดตามอีก 1 คน 

ภายในบ้านพบมีอุปกรณ์ทำครัว ขยะ สัมภาระเดินทาง กองเกะกะอยู่เป็นจำนวนมาก สอบถามทราบว่าได้เข้ามาในราชอาณาจักร ในระหว่างวันที่ 6-8 เม.ย.ที่ผ่านมา จากนั้นมีคนพาไปอยู่รวมกันที่บ้านพักหลังดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงเชื่อว่าเป็นการเตรียมเคลื่อนย้ายเข้าสู่ชั้นในของประเทศโดยผิดเงื่อนไขการอนุญาต จึงได้เชิญคนทั้งหมดไปยังด่าน ตม.จว.เชียงราย และผลักดันออกนอกประเทศดังกล่าว

Chevron โอนหุ้นโครงการท่อก๊าซยาดานาให้ ปตท.ก่อนถอนตัวออกจากพม่า ส่ง ปตท.ผู้ถือหุ้นใหญ่ ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 62.96%

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 เม.ย.67) Chevron บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศถอนตัวออกจากโครงการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานาในประเทศพม่าแล้ว หลังจากที่บริษัทแสดงจุดยืนประณามความรุนแรง และ การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่ามานานกว่า 2 ปี

โดยสัดส่วนหุ้นของ Chevron จำนวน 41.1% จะถูกโอนไปให้กับผู้ถือหุ้นที่เหลืออยู่ในโครงการนี้ ได้แก่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และ และวิสาหกิจน้ำมันและก๊าซเมียนมา หรือ MOGE ที่ตอนนี้อยู่ภายในการดูแลของรัฐบาลทหารพม่า 

และจากการจัดสรรหุ้นใหม่หลังจากที่ Chevron ถอนตัวไป จะทำให้ ปตท. กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของโครงการยาดานาไปในทันที ด้วยสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 62.96% 

โฆษกของ Chevron กล่าวว่า การถอนธุรกิจออกจากพม่าเป็นความตั้งใจของบริษัทอยู่แล้ว หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ที่ก่อให้เกิดจลาจล การลุกฮือของประชาชนและชนกลุ่มน้อย และการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้พม่าต้องเผชิญกับวิกฤติด้านมนุษยธรรมอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ทางบริษัทจึงขอถอนธุรกิจออกจากพม่าอย่างเป็นระเบียบตามขั้นตอนที่ควบคุมได้

โครงการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา แต่เริ่มเดิมทีเป็นการร่วมทุนของบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ 2 บริษัท ได้แก่ Total Energies ของฝรั่งเศส และ Chevron ของสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ ปตท. สผ. ของไทย และ MOGE ของรัฐบาลพม่า ในสัดส่วนผู้ถือหุ้น Total Energies (31.2%), Chevron (28.3%), ปตท (25.5%) และ MOGE (15%) ตามลำดับ 

แหล่งก๊าซธรรมชาติยาดานา สามารถผลิตก๊าซได้ราว 6 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และในปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ 70% ส่งขายในประเทศไทย ส่วนอีก 30% เป็นของ MOGE ในการจัดจำหน่ายพลังงานในประเทศ 

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าเมื่อปีพ.ศ. 2564 คณะรัฐประหารที่นำโดย ผู้นำทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่าย ได้เข้าควบคุมกิจการ MOGE อันเป็นสาเหตุให้บริษัทพลังงานจากชาติตะวันตกถูกกดดันให้ถอนทุนออกจากธุรกิจพลังงานในพม่า เนื่องจาก MOGE กลายเป็นแหล่งรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงรัฐบาลทหารพม่า และต่อมา โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ออกคำสั่งห้ามบริษัทเอกชนของอเมริกันทำธุรกรรมทางการเงินใด ๆ กับ MOGE เพื่อตัดวงจรท่อน้ำเลี้ยงของกองทัพพม่า

ด้วยเหตุนี้ Total Energies จึงตัดสินใจถอนทุนออกจากโครงการยาดานา ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2565 โดย ปตท.สผ. ก็เป็นผู้รับช่วงถือครองหุ้น ของ Total Energies ในเวลาต่อมา 

ด้าน Chevron ก็ได้ประกาศแผนถอนทุนออกจากกิจการพลังงานในพม่าเช่นเดียวกัน และตัดสินใจที่จะโอนหุ้นให้กับผู้ร่วมทุนที่ยังเหลืออยู่ คือ ปตท.สผ. และ MOGE

ล่าสุด มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม จํากัด (มหาชน) ได้ส่งจดหมายถึงประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งเรื่องการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการยานาดา ที่เป็นผลจากบริษัทในเครือ Chevron ตัดสินใจถอนการลงทุน และประสงค์ที่จะโอนหุ้นให้กับผู้ร่วมทุนที่เหลืออยู่ ทำให้ ปตท.สผ. จะมีสัดส่วนการลงทุนที่ร้อยละ 62.9630 ในโครงการยาดานา มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นต้นไป

ด้านกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ไม่ขอออกความเห็นใด ๆ เกี่ยวกับการตัดสินใจถอนทุนของบริษัท Chevron พม่า และสถานการณ์ของบริษัทเอกชนแต่ละแห่งที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในพม่า แต่ยังคงจุดยืนแน่วแน่ในการกดดันรัฐบาลพม่า รวมถึงกิจการภายใต้การควบคุมของรัฐให้อ่อนแอลง และสนับสนุนการต่อสู้ของรัฐบาลพลเรือนในพม่า 

'เพจดัง' ชี้!! สถานการณ์เมียนมาวันนี้ ไทยต้องเป็นกลางขั้นสุด ดูแลด้านมนุษยธรรม พร้อมกันพื้นที่สู้รบไม่ขยายเข้ามาไทย

(10 เม.ย. 67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

วันนี้มีเรื่องสำคัญหลายเรื่อง:

1. จะฟ้อง ไม่ฟ้อง หรือเลื่อนคดี 112 ของโทนี่ มีนัยสำคัญไม่ว่าจะออกมารูปไหน

2. กนง. จะเริ่มลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ด้วยเหตุผลอะไร

3. เรื่องเมียนมาที่ไทยเกี่ยวข้องอยู่หลายด้าน

เรื่องที่ 1 กับ 2 บ่าย ๆ ก็รู้เรื่อง

ส่วนเรื่องที่ 3 จะบอกสั้น ๆ ว่าประเทศไทยตอนนี้ถูกมหาอำนาจฝ่ายต่าง ๆ ใช้เป็นทางผ่านส่งอะไรก็ไม่รู้เข้าเมียนมา และถูกใช้เป็นฐานมอนิเตอร์ ประสานงาน 

เข้าใจว่าไม่น่าจะเลือกอะไรได้ มหาอำนาจจะเอา ต้องเป็นทางผ่านจำยอม 

รัฐบาลเมียนมาก็คงรู้ แต่เราก็ยังต้องรักษาสัมพันธ์กันไว้ และเขายังไว้ใจเราในระดับหนึ่งที่ค่อนข้างมาก มีผลประโยชน์ร่วมกันมาก

ดูเหมือนรัฐบาลเมียนมาต้องการยันพื้นที่ที่เป็นของชาวเมียนมาแท้เอาไว้ให้แน่น (พื้นที่สีเหลืองในรูป) พื้นที่ที่เป็นของชนกลุ่มต่าง ๆ ปล่อยไปก่อน 

อาจไปตีคืนทีหลัง หรือถ้าไม่ตีคืนก็อยู่กันไปแบบซีเรีย คือรัฐบาลกลางยังอยู่แต่ไม่สามารถปกครองพื้นที่ได้ทั้งประเทศ

ถ้าเป็นโมเดลซีเรียเมื่อไหร่ กลุ่มต่าง ๆ จะเร่งผลิตยาเสพติดออกขายทำทุน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจหลายส่วนเลี้ยงตัวเองไม่ได้

แนวทางสำคัญของไทยตอนนี้คือ:

1. เป็นกลาง รักษาสัมพันธ์ทุกฝ่าย บางทีต้องยอมตามคำขอพิเศษของแต่ละฝ่ายบ้าง แล้วแต่กรณี

2. ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามกรอบกฎหมายระหว่างประเทศ

3. ทหารดูแลให้พื้นที่สู้รบไม่ขยายเข้ามาในพื้นที่ประเทศไทยโดยบังเอิญ หรือโดยความตั้งใจของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

4. อันนี้เรื่องใหญ่ ตกลงจะได้เล่นน้ำวันไหน ใครบอกได้แล้วยัง

วิเคราะห์!! ไทยได้อะไร? เสียอะไร? หากกะเหรี่ยงประกาศเอกราชได้

ดูเหมือนสงครามกะเหรี่ยงที่รบกันมา 75 ปีจนถึงตอนนี้เหมือนจะทำให้ชาวกะเหรี่ยงมีความฝันมากที่สุด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสงครามข่าวสารที่ทางฟากฝั่งเมียนมายังเงียบกริบ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านออกข่าวมาตลอดทั้งภาษาพม่าและภาษาอังกฤษ

แต่เอาเป็นว่าวันนี้ 'เอย่า' จะมาวิเคราะห์ให้ดูดีกว่าว่าอะไรจะเกิดขึ้นหากกะเหรี่ยงประกาศเอกราชสำเร็จ

1. ด่านพรมแดนแม่สอดและด่านเจดีย์สามองค์ที่เคยเป็นพรมแดนการค้าในการส่งสินค้าจากไทยไปเมียนมาจะกลายเป็นด่านของกะเหรี่ยง และหากทางฝั่งเมียนมาไม่เปิดด่านแผ่นดินที่ติดพรมแดนในดินแดนกะเหรี่ยง ก็เท่ากับไม่สามารถส่งสินค้าผ่านด่านแผ่นดินไปยังผู้ซื้อในเมียนมาจาก 2 ด่านนี้ได้ อาจจะต้องส่งไปด่านอื่น ๆ หรือวิธีการอื่นแทน

2. ระบบการเงินการธนาคารล้มเหลว ผู้คนในเมียวดีจะไม่เหลือเงินมาจับจ่ายใช้สอย แม้ต่อให้รัฐบาลกะเหรี่ยงจะออกธนบัตรของตนเอง แต่หากไม่ได้รับการยอมรับในทางสากล ผู้คนฝั่งเมียวดีก็ไม่มีเงินมาแลกเงินบาทอยู่ดี อันจะก่อให้เกิดภาวะเงินสกุลกะเหรี่ยงเฟ้อเพราะต้องเอาไปแลกเงินกับร้านรับแลกที่ผิดกฎหมายและโก่งราคาเงินสกุลกะเหรี่ยงเพราะไม่มีเสถียรภาพ

3. ปัจจุบันสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้าที่ใช้ในเขตกะเหรี่ยงได้มา 2 ทางคือ โรงไฟฟ้าที่ได้ก๊าซมาปั่นจากฝั่งมอญและซื้อไฟจากไทย หากกะเหรี่ยงประกาศเอกราชจริง การหยุดจ่ายไฟจากไทยเกิดขึ้นได้ เพราะสัญญาจ่ายไฟเป็นสัญญาระหว่างไทยกับเมียนมาไม่ใช่ไทยกับกะเหรี่ยง ส่วนก๊าซที่ได้มาจากทางเมาะละแหม่ง ก็มีสิทธิ์ถูกปิดเช่นกัน

4. ภาวะข้าวยากหมากแพงในเขตกะเหรี่ยง เพราะของอุปโภคต่าง ๆ ที่ราคาไม่แพงได้มาจากผู้ผลิตที่อยู่ลึกเข้าไปในเมียนมา และอาจจะส่งออกไม่ได้ยกเว้นการส่งแบบผิดกฎหมายที่น่าจะมี ส่วนสินค้าจากฝั่งไทยที่เข้ามาเป็นไปได้ที่จะเข้ามาแบบกองทัพมด แต่ราคาก็จะสูงกว่าปกติ

5. ทางการไทยอาจจะปิดด่านพรมแดน เพราะการเปิดด่านพรมแดนเป็นการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐหากกะเหรี่ยงยังไม่มีใครรับรองให้เป็นประเทศ ฝั่งไทยยย่อมมีสิทธิ์ปิดด่านพรมแดนได้

6. ฝั่งไทยจะทำการผลักดันผู้อพยพกลับภูมิลำเนาได้มากขึ้นและยกเลิกศูนย์พักพิงต่าง ๆ ที่เปิดมาตลอด 75 ปี

7. ฝั่งไทยน่าจะจัดการกับ NGO ที่แอบแฝงทั้งฟอกเงิน ค้าอาวุธและเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กะเหรี่ยงมาตลอด 75 ปี เพื่อที่จะคืนพื้นที่และความปลอดภัยให้ชาวแม่สอดได้ โดยการจัดระเบียบชาวกะเหรี่ยงและลูกหลานชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเอย่ามั่นใจว่าทางฝ่ายความมั่นคงไทยและรัฐไทยมีข้อมูลเหล่านี้มาตลอด แต่ไม่กล้าทำอะไรเพราะเกรงใจประเทศมหาอำนาจ

8. รัฐไทยจะสามารถควบคุมจัดการเรื่องยาเสพติดที่ในอดีตถูกผลิตและนำส่งออกมาจากเขตกะเหรี่ยงโดยมีชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเป็นผู้กระจายสินค้าดังข่าวที่เคยปรากฏในอดีตให้สิ้นซากได้ ด้วยการหารือกับรัฐบาลกะเหรี่ยงที่ต้องการแรงสนับสนุนจากไทย

9. ในแง่ลบหากรัฐบาลกะเหรี่ยงไม่สามารถตกลงกันได้ว่าใครจะเป็นผู้นำ สงครามภายในกะเหรี่ยงเองก็อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องและลุกลามเป็นสงครามแย่งชิงอำนาจในชาติพันธุ์เดียวกันแทน แน่นอนฝั่งไทยก็จะได้รับผลกระทบยาวต่อไป

ชัยชนะที่เมียวดี เป็นก้าวเล็ก ๆ ที่ดูเหมือนจะสำคัญ แต่สำหรับฝั่งไทยแล้วการที่กองทัพพม่าเสียเมืองเมียวดี สร้างผลกระทบนับพันล้านบาท และสิ่งที่ตามมาคือ ค่าขนส่งที่แพงขึ้นอันส่งผลให้ต้นทุนสินค้าในเมียนมาสูงขึ้นด้วย  

สุดท้ายไม่ว่าผลจะเป็นเช่นใดทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้ส่งกระทบแค่เฉพาะคนไทยหรือคนพม่า แต่ชาวกะเหรี่ยงเองนั่นแหละคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

‘พีระพันธุ์’ สั่งติดตามการสู้รบในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ยัน!! แหล่งก๊าซฯ 3 แห่งยังส่งก๊าซฯ มาไทยได้ตามปกติ

เมื่อวานนี้ (11 เม.ย. 67) แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานเฝ้าติดตามสถานการณ์การสู้รบในประเทศเมียนมาว่าจะส่งผลกระทบต่อการจ่ายก๊าซธรรมชาติในแหล่งยาดานา, เยตากุน และซอติก้า แปลง M9 มายังประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้การสู้รบในประเทศเมียนมามีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

เบื้องต้นขณะนี้ก๊าซฯ จากทั้ง 3 แหล่งดังกล่าว ยังส่งเข้าไทยได้ตามปกติ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) ได้มีการซ้อมแผนรองรับวิกฤติก๊าซธรรมชาติทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ว่าจะเกิดปัญหากับก๊าซฯ ในจุดใด กรม ชธ. ก็จะสามารถบริหารจัดการก๊าซฯ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในประเทศให้ได้

อย่างไรก็ตามคาดว่าการสู้รบในเมียนมาจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทย เนื่องจากการสู้รบเป็นคนละส่วนกับพลังงานที่จำเป็นต่อชีวิตประชาชนทั่วไป แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดและกระทบต่อการส่งก๊าซฯ มายังไทยจริง ก็อยู่ในวิสัยที่ไทยยังสามารถบริหารจัดการได้ เพราะแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ ในอ่าวไทยเริ่มกลับมาผลิตได้มากขึ้นแล้ว

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เตรียมจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาเติมให้เต็มถัง เพื่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าและพลังงานในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ด้วย

สำหรับข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เมื่อปี 2566 พบว่าไทยมีปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติรวมทั้งสิ้น 4,664 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งมาจากแหล่งในประเทศ 57% หรือ 2,653 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำเข้ามาจากต่างประเทศอีก 43% หรือ 2,010 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 31%  และก๊าซฯ จากเมียนมา 12%

สำหรับก๊าซฯ จากแหล่งในเมียนมาที่ส่งมายังไทย ได้แก่ ก๊าซฯ แหล่งยาดานา, แหล่งเยตากุน และแหล่งซอติก้า แปลง M9 ซึ่งทั้ง 3 แหล่งตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ของสหภาพเมียนมา โดยปัจจุบันแหล่งยาดานาส่งก๊าซฯ มาไทยประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, ก๊าซฯ แหล่งเยตากุน ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้า แปลง M9 ประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งสิ้นประมาณกว่า 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ฝ่ายต่อต้าน รุกหนักถล่ม ฐานพัน.ร.275 ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด ส่งผลให้ ปชช.ชาวเมียนมา หนีตายเข้ามาฝั่งไทยแล้วกว่า 200 คน

(20 เม.ย.67) สถานการณ์บริเวณชายแดน ไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ทางกองกำลังชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลสหภาพเมียนมา ได้ใช้ปืนเล็ก ปืนกล และ เครื่องยิงลูกระเบิดขนาด 40 มม. และใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) โจมตี พัน.ร.275 ภาคทหารบกตะวันออกเฉียงใต้ (ภทบ.ตอ./ต.) และ พล.ร.เบา 44 ซึ่งกระจายกำลังอยู่บริเวณพื้นที่ สะพานมิตรภาพ ไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 (ฝั่งเมียนมา) บ.เยปู่ (MU 449471) อ.เมียวดี จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยงสหภาพเมียนมา ด้านตรงข้าม บ.วังตะเคียนใต้ ม.7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ห่างจากแนวชายแดนประมาณ 1.5 กม. อย่างหนัก 

โดยขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการปะทะ กินเวลากว่า 3 ชั่วโมง ยังไม่ทราบผลการสูญเสีย โดยฝั่งไทย บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 งดการผ่านเข้า-ออก

ทางหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ได้วางกำลัง ตามแผนเผชิญเหตุ และได้นำอาวุธยิงสนุนเข้าที่ตั้ง เพื่อปกป้องอธิปไตยและดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนตลอดตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา 

โดยล่าสุดเวลา 08.30 น. มีผู้หนีภัยความไม่สงบชาวเมียนมา ที่บริเวณ พื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว บ.วังตะเคียนใต้ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ได้หลบหนีข้ามมายังฝั่งไทย จำนวน 217 คน

กระสุนปืน ‘ฝั่งเมียนมา’ ถูกยิงข้ามมายัง ‘ฝั่งไทย’ หน้าต่างบ้านเสียหาย โชคดียังไม่มีใครบาดเจ็บ

(20 เม.ย.67) การปะทะกันระหว่าง กองกำลังชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กับทหารรัฐบาลเมียนมา ฝั่งตรงข้ามบ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ในวันนี้ ประชาชนไทย เริ่มได้รับผลกระทบจากการสู้รบของทั้งสองฝ่าย เมื่อมีกระสุนอาวุธปืนถูกยิงทะลุเข้ามายังฝั่งไทย และมีกระสุนหนึ่งนัดทะลุหน้าต่างมุ้งลวดของบ้านราษฎรชาวไทย โดยกระสุนปืนทะลุบ้านของ นางคำ ชาวบ้านวังตะเคียนใต้ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก หน้าต่างได้รับความเสียหาย แต่ยังโชคดีที่กระสุนปืน ไม่ถูกคนในบ้าน

‘รัฐบาลเมียนมา’ ใช้ ฮ.ติดปืนกล พร้อมส่งมิก-29 ถล่มฝ่ายต่อต้านอย่างหนัก ทำให้ปชช.เมียนมา หนีตายข้ามมาหลบภัยที่ฝั่งไทย อย่างต่อเนื่อง กว่า 1,200 คน

(20 เม.ย.67) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. บริเวณชายแดน ไทย-เมียนมา ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ที่มีการสู้รบฝั่งเมียนมา จังหวัดเมียวดี ระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกับทหารรัฐบาลเมียนมา มีประชาชนฝั่งประเทศเมียนมา ข้ามมายังฝั่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีประชาชนชาวเมียนมาข้ามมาแล้วกว่า 1,200 คน ทั้งนี้ทางเจ้าที่ทหารจากหน่วยเฉพาะกิจราชมนู (ฉก.ราชมนู) ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ได้จัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราว ไว้ 2 จุด อยู่บ.วังตะเคียนใต้ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก 

การสู้รบบริเวณชายแดนเมียนมาฝั่งจังหวัดเมียวดี ยังมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่องโดยรัฐบาลทหารพม่าได้นำเฮลิคอปเตอร์ติดปืนกลพร้อมจรวด ข้อต่อสู้กับทางฝ่ายต่อต้าน ทั้งนี้ัมีรายงานว่า ทางรัฐบาลทหารพม่าได้นำเครื่องบินรบ MiG-29 ทิ้งระเบิดใส่ฝ่ายต่อต้านอย่างหนัก

'มหารัฐกอทูเล' ความฝันอันสูงสุดของชาวกะเหรี่ยง หรือจุดเริ่มต้นความวินาศจากหมากกลรัฐบาลพม่า

ตั้งแต่เริ่มสงครามระหว่างกะเหรี่ยง คราวนี้ถือเป็นกะเหรี่ยงที่เป็นฝ่ายมีชัย จนเกิดคำว่า 'มหารัฐกอทูเล' ขึ้น  

คำนี้ไม่ได้เป็นคำใหม่ แต่หากเป็นคำปลุกใจถึงแผ่นดินทองของกะเหรี่ยงมาตลอด 70 กว่าปีที่จับปืนรบกับทหารเมียนมา

จนวันนี้ที่ฝ่ายกองทัพเมียนมาขนทัพมา 3 กองพลเข้ายึดเมียวดีคืน ถือเป็นปฏิบัติการที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มีการสู้รบกับฝ่ายต่อต้านกองทัพที่ผ่าน ๆ มา

แต่หากดูกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่ทางเมียนมาใช้แล้วจะเห็นว่าฝ่ายกองทัพเมียนมา ยังไม่ได้ขนอาวุธหนักในคลังแสงออกมาใช้เลย โดยเฉพาะอาวุธประเภทพื้นสู่พื้นพิสัยใกล้และพิสัยกลางที่สามารถทำลายเป้าหมายได้คราวละมาก ๆ

มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ถึงการไม่เลือกใช้อาวุธดังกล่าวของฝ่ายกองทัพเมียนมาว่า น่าจะไม่อยากให้กระทบถึงสิ่งก่อสร้างของพลเรือนและที่สำคัญคือ ป้องกันความผิดพลาดที่อาวุธดังกล่าวตกข้ามมายังฝั่งไทย

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ความตึงเครียด ณ วันนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรงชายแดนเมียวดีตัดสินใจปิดด่าน เป็นผลให้ประชาชนตกค้างที่ด่านเป็นจำนวนมาก

>> Myanwaddy D-Day

Monday Impact คือ วันเผาจริงของชาวเมียวดี เมื่อทั้งเมืองถูก Lock down ด่านข้ามแดนปิด สินค้านำเข้าและส่งออกไม่ได้ ธนาคารปิด รวมถึงสาธารณูปโภคในเมียวดีอาจจะถูกตัดขาดเป็นผลจากการสู้รบ ในขณะที่กองทัพพม่าระดมประเคนลูกระเบิดนับ 200-300 ลูกต่อวันเข้าภายในเมือง จากนี้คงต้องดูว่าฝ่ายกะเหรี่ยงยังจะยืนกรานที่จะสู้อยู่หรือจะเข้าสู่โต๊ะเจรจา

'กอทูเล' อาจจะเป็นความฝันของชาวกะเหรี่ยง แต่ชาวกะเหรี่ยงคงลืมไปอย่างว่าที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาก็ให้สิทธิ์ชาวกะเหรี่ยงปกครองกันเองและยกระดับกองกำลังของกะเหรี่ยงเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ซึ่งมีอำนาจมากมายในรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงพัวพันกับธุรกิจทั้ง สีขาว, สีเทา และสีดำในรัฐกะเหรี่ยง 

คำถาม คือ หากสุดท้ายหากฝ่ายกองทัพเมียนมาปราชัย แล้วทางกะเหรี่ยงจะปกครองอย่างไร?

เพราะ กะเหรี่ยง ไม่ใช่รัฐหรือประเทศ ที่ถูกยอมรับในระดับสากล หากตั้งสกุลเงินใหม่ขึ้นมาทางกะเหรี่ยงจะต้องมีทองคำมาค้ำประกันค่าเงินตนเองซึ่งทองคำนั้นต้องได้รับการยอมรับจากทางประเทศต่าง ๆ ด้วย มิฉะนั้นสกุลเงินของกะเหรี่ยงก็ไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษ

ที่ผ่านมาเราได้พบเห็นการขอแยกการปกครองของกลุ่มตนเองออกเป็นประเทศมาแล้ว อาทิเช่น ประเทศติมอร์ เลสเต ที่แยกออกจากอินโดนีเซีย จวบจนปัจจุบันก็ยังมีปัญหาด้านงบประมาณในการใช้พัฒนาประเทศ ฉะนั้นหากกะเหรี่ยงแยกตัวออกจากเมียนมาโดยสมบูรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างในสาธารณรัฐกอทูเล ก็ต้องนำเข้าทั้งจากฝั่งไทยและเมียนมาทั้งสิ้นอยู่ดี

ก็คงต้องถามคนที่นี่แล้วว่า สุดท้ายจะยอมรับค่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้นจากการที่มีภาษีนำเข้าได้หรือไม่? ทั้งในส่วนของไฟฟ้าก็ดี เพราะหากแยกตัวจริงเชื่อได้ว่าทางเมียนมาน่าจะหยุดส่งก๊าซเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องนำเข้าไฟฟ้าเกือบ 100% จากไทย และไทยจะยอมขายให้ไหม? เพราะหากไทยยอมขายไฟฟ้าให้ ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่ายอมรับการมีตัวตนของประเทศนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยเมียนมาแน่นอน

ทั้งหมดที่ 'เอย่า' เล่ามานี้ เอย่ายังไม่เห็นแสงทองผ่องอำไพบนแผ่นดินกอทูเลเลย มีแต่ความวินาศของชาวกะเหรี่ยงที่เหมือนถูกซ่อนกลอีกชั้นหนึ่งในหมากที่ฝ่ายพม่าวางไว้ และสุดท้ายคือ คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลยแต่ต้องมารับผลกระทบด้วย นั่นคือประเทศไทยนั่นเอง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top