'มหารัฐกอทูเล' ความฝันอันสูงสุดของชาวกะเหรี่ยง หรือจุดเริ่มต้นความวินาศจากหมากกลรัฐบาลพม่า

ตั้งแต่เริ่มสงครามระหว่างกะเหรี่ยง คราวนี้ถือเป็นกะเหรี่ยงที่เป็นฝ่ายมีชัย จนเกิดคำว่า 'มหารัฐกอทูเล' ขึ้น  

คำนี้ไม่ได้เป็นคำใหม่ แต่หากเป็นคำปลุกใจถึงแผ่นดินทองของกะเหรี่ยงมาตลอด 70 กว่าปีที่จับปืนรบกับทหารเมียนมา

จนวันนี้ที่ฝ่ายกองทัพเมียนมาขนทัพมา 3 กองพลเข้ายึดเมียวดีคืน ถือเป็นปฏิบัติการที่รุนแรงที่สุดเท่าที่มีการสู้รบกับฝ่ายต่อต้านกองทัพที่ผ่าน ๆ มา

แต่หากดูกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่ทางเมียนมาใช้แล้วจะเห็นว่าฝ่ายกองทัพเมียนมา ยังไม่ได้ขนอาวุธหนักในคลังแสงออกมาใช้เลย โดยเฉพาะอาวุธประเภทพื้นสู่พื้นพิสัยใกล้และพิสัยกลางที่สามารถทำลายเป้าหมายได้คราวละมาก ๆ

มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ถึงการไม่เลือกใช้อาวุธดังกล่าวของฝ่ายกองทัพเมียนมาว่า น่าจะไม่อยากให้กระทบถึงสิ่งก่อสร้างของพลเรือนและที่สำคัญคือ ป้องกันความผิดพลาดที่อาวุธดังกล่าวตกข้ามมายังฝั่งไทย

อย่างไรก็ดีเหตุการณ์ความตึงเครียด ณ วันนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองตรงชายแดนเมียวดีตัดสินใจปิดด่าน เป็นผลให้ประชาชนตกค้างที่ด่านเป็นจำนวนมาก

>> Myanwaddy D-Day

Monday Impact คือ วันเผาจริงของชาวเมียวดี เมื่อทั้งเมืองถูก Lock down ด่านข้ามแดนปิด สินค้านำเข้าและส่งออกไม่ได้ ธนาคารปิด รวมถึงสาธารณูปโภคในเมียวดีอาจจะถูกตัดขาดเป็นผลจากการสู้รบ ในขณะที่กองทัพพม่าระดมประเคนลูกระเบิดนับ 200-300 ลูกต่อวันเข้าภายในเมือง จากนี้คงต้องดูว่าฝ่ายกะเหรี่ยงยังจะยืนกรานที่จะสู้อยู่หรือจะเข้าสู่โต๊ะเจรจา

'กอทูเล' อาจจะเป็นความฝันของชาวกะเหรี่ยง แต่ชาวกะเหรี่ยงคงลืมไปอย่างว่าที่ผ่านมา รัฐบาลเมียนมาก็ให้สิทธิ์ชาวกะเหรี่ยงปกครองกันเองและยกระดับกองกำลังของกะเหรี่ยงเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน ซึ่งมีอำนาจมากมายในรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงพัวพันกับธุรกิจทั้ง สีขาว, สีเทา และสีดำในรัฐกะเหรี่ยง 

คำถาม คือ หากสุดท้ายหากฝ่ายกองทัพเมียนมาปราชัย แล้วทางกะเหรี่ยงจะปกครองอย่างไร?

เพราะ กะเหรี่ยง ไม่ใช่รัฐหรือประเทศ ที่ถูกยอมรับในระดับสากล หากตั้งสกุลเงินใหม่ขึ้นมาทางกะเหรี่ยงจะต้องมีทองคำมาค้ำประกันค่าเงินตนเองซึ่งทองคำนั้นต้องได้รับการยอมรับจากทางประเทศต่าง ๆ ด้วย มิฉะนั้นสกุลเงินของกะเหรี่ยงก็ไม่ต่างอะไรกับเศษกระดาษ

ที่ผ่านมาเราได้พบเห็นการขอแยกการปกครองของกลุ่มตนเองออกเป็นประเทศมาแล้ว อาทิเช่น ประเทศติมอร์ เลสเต ที่แยกออกจากอินโดนีเซีย จวบจนปัจจุบันก็ยังมีปัญหาด้านงบประมาณในการใช้พัฒนาประเทศ ฉะนั้นหากกะเหรี่ยงแยกตัวออกจากเมียนมาโดยสมบูรณ์ ทุกสิ่งทุกอย่างในสาธารณรัฐกอทูเล ก็ต้องนำเข้าทั้งจากฝั่งไทยและเมียนมาทั้งสิ้นอยู่ดี

ก็คงต้องถามคนที่นี่แล้วว่า สุดท้ายจะยอมรับค่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่แพงขึ้นจากการที่มีภาษีนำเข้าได้หรือไม่? ทั้งในส่วนของไฟฟ้าก็ดี เพราะหากแยกตัวจริงเชื่อได้ว่าทางเมียนมาน่าจะหยุดส่งก๊าซเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ต้องนำเข้าไฟฟ้าเกือบ 100% จากไทย และไทยจะยอมขายให้ไหม? เพราะหากไทยยอมขายไฟฟ้าให้ ก็เหมือนเป็นการส่งสัญญาณว่ายอมรับการมีตัวตนของประเทศนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยเมียนมาแน่นอน

ทั้งหมดที่ 'เอย่า' เล่ามานี้ เอย่ายังไม่เห็นแสงทองผ่องอำไพบนแผ่นดินกอทูเลเลย มีแต่ความวินาศของชาวกะเหรี่ยงที่เหมือนถูกซ่อนกลอีกชั้นหนึ่งในหมากที่ฝ่ายพม่าวางไว้ และสุดท้ายคือ คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลยแต่ต้องมารับผลกระทบด้วย นั่นคือประเทศไทยนั่นเอง