แฉยับ!! เบื้องหลังบริษัทน้ำมัน 'สหรัฐฯ - ยุโรป' โกยกำไรงาม จากสัมปทานน้ำมันของ รบ.เมียนมา

หลังจากเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 66 ที่เป็นวันครบรอบ 2 ปีเหตุการณ์รัฐประหารในพม่า ก็ได้มีการสรุปรายงานโดยเจ้าหน้าที่พิเศษขององค์การสหประชาชาติ ว่าตั้งแต่ที่มีการยึดอำนาจโดย นายพล มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารคนปัจจุบันเป็นต้นมา มีการกระทำความผิดที่เข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,490 ราย โดยในจำนวนนั้น มีทั้งเด็กและเยาวชน กลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และพลเรือนพม่ามากมาย

ในขณะที่ทั่วโลกร่วมกันประณาม และคว่ำบาตรรัฐบาลพม่า แต่กลับมีการนำเสนอเอกสารลับ โดยกลุ่ม Distributed Denial of Secrets กลุ่มนักเคลื่อนไหวในพม่า Justice For Myanmar ร่วมกับสำนักข่าวชื่อดัง  Finance Uncovered และ The Guardian ซึ่งพบหลักฐานการเสียภาษีจำนวนมหาศาลของกลุ่มบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของทั้ง สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และ ไอร์แลนด์ ที่ได้ผลประโยชน์จากสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในแหล่งก๊าซธรรมชาติของพม่า ที่บ่งชี้ว่าบริษัทเหล่านี้ยังสามารถแสวงหาผลกำไรมหาศาล แม้จะเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในพม่าไปแล้วก็ตาม

เอกสารลับนี้ ยังชี้ว่า บริษัทนัำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาบางแห่ง ยังคงดำเนินกิจการในบริษัทสาขาของตนในพม่าตามปกติ แม้จะมีคำเตือนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ถึงความเสี่ยงในการทำธุรกิจภายใต้สถานการณ์การเมืองในพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทำธุรกิจร่วมกับ บริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติของเมียนมา (MOGE) ที่เป็นแหล่งเงินทุนหลักของรัฐบาลทหารพม่า 

เมื่อปรากฏหลักฐานว่ายังมีบริษัทน้ำมันจากชาติมหาอำนาจ ที่ยังมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทหารพม่าเช่นนี้ ทางสหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา จึงได้ออกมาแก้เกี้ยวด้วยการประกาศมาตรการคว่ำบาตรพม่าเพิ่ม รวมถึงคณะผู้บริหารระดับสูงของ MOGE ด้วย 

แต่กลับเลือกที่จะเลี่ยง ไม่ยอมคว่ำบาตร MOGE ทุกองค์กรทั้งระบบ ซึ่งยังเปิดช่องให้กิจการเอกชนสามารถทำธุรกิจร่วมกับ MOGE ได้อยู่ ซึ่งตรงข้ามกับทางกลุ่มสหภาพยุโรป ที่ได้ออกมาประกาศคว่ำบาตร MOGE ทั้งองค์กรแล้ว ในประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในพม่า และมีการห้ามบริษัทเอกชนในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปทำธุรกิจร่วมกับ MOGE ใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม

ทั้งนี้ ในเอกสารด้านภาษีที่หลุดออกมามีระบุรายชื่อบริษัทน้ำมันเอกชนของชาติตะวันตกที่ยังร่วมสัมปทานใน MOGE ดังนี้...

- Halliburton บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน ที่เปิดสาขาในสิงคโปร์ แจงผลกำไรก่อนเสียภาษีในไตรมาศที่ 3 ของปี พ.ศ. 2564 รวมผลประกอบการ 8 เดือนหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ที่ 6.3 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 207 ล้านบาท)  

- Baker Hughes บริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกัน ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมือง ฮูสตัน รัฐเท็กซัส และเปิดสำนักงานในเมืองย่างกุ้ง มีผลกำไรก่อนภาษี ตลอด 6 เดือนจนถึงมีนาคม พ.ศ. 2565 ที่ 2.64 ล้านดอลลลาร์ (ประมาณ 87 ล้านบาท)

บริษัทขุดเจาะน้ำมัน Diamond ของสหรัฐฯ จ่ายภาษีให้รัฐบาลพม่าเป็นเงิน 37 ล้านดอลลาร์ในเดือนกันยายน 2564 และจ่ายอีกรอบในเดือนมีนาคมปีต่อมาอีก 24.2 ล้านดอลลาร์ 

Schlumberger Logelco บริษัทรับสัปทานขุดเจาะน้ำมันอีกแห่งของสหรัฐฯ ทำรายได้จากธุรกิจในพม่าสูงถึง 51.7 ล้านดอลลาร์ เฉพาะในปี 2564 และมีบันทึกว่ายังติดค้างค่าธรรมเนียมกับกระทรวงพลังงานของพม่าอยู่อีก 2 แสนดอลลาร์

บันทึกเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่แสดงว่า ยังมีบริษัทน้ำมันของชาติมหาอำนาจตะวันตกจำนวนไม่น้อยที่ยังหาผลประโยชน์ได้จากสัมปทานของรัฐบาลทหารพม่า แม้หน้าฉากจะมีการประกาศคว่ำบาตรจากรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ แล้วก็ตาม

ซึ่งบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติของเมียนมา ถือเป็นเส้นเลือดหลักที่สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลทหารพม่า พิจารณาจากตัวเลขรายได้ของ MOGE ในระยะเวลา 6 เดือน จนถึง มีนาคม 2565 รัฐบาลทหารพม่าเก็บรายได้จากภาษี และค่าสิทธิเป็นเงินตราต่างประเทศได้ถึง 1.72 พันล้านดอลลาร์ 

จากเหตุการณ์นี้ จึงทำให้นักสิทธิมนุษยชน และกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองของพม่าออกมาเรียกร้องให้ชาติตะวันตกร่วมคว่ำบาตร MOGE ทั้งเครือข่าย เพื่อตัดวงจรท่อน้ำเลี้ยงแก่รัฐบาลของนายพล มิน อ่อง หล่าย แต่ทั้งนี้ มูลค่าในธุรกิจพลังงานอันมหาศาลจะสามารถเปลี่ยนใจชาติมหาอำนาจได้หรือไม่ ทุกท่านก็คงรู้คำตอบกันดี


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: The Guardian