รถยนต์ไฟฟ้าใน 'เมียนมา' 'ถึงเวลา' หรือ 'มาก่อนกาล'

ถ้ากล่าวถึงประเทศไทยวันนี้ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรานั้นมาถึงยุคของรถไฟฟ้าแล้ว เพราะยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยนับได้ว่าดีวันดีคืนจนค่ายรถเกือบทุกสำนักต้องเข็นรถยนต์ไฟฟ้าออกมายึดหัวหาดในตลาดนี้ และด้วยเหตุผลทางเศรษฐสถานะของคนไทยไม่ว่าจะเรื่องค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ไม่สามารถลดลงได้ ทำให้การเลือกเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ

แต่ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่สามารถใช้ได้กับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในเมียนมาได้เลย เพราะประเด็นของเมียนมา ณ วันนี้คือ ต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อในประเทศไม่ใช่จากภาวะต้นทุนน้ำมัน และภาวะการขาดแคลนไฟฟ้า รวมถึงภาวะการที่รัฐไม่สามารถจ่ายไฟให้มีระดับโวลต์ที่คงที่ได้ นี่ต่างหากที่คืออุปสรรคของการทำตลาดรถไฟฟ้าในเมียนมา

แต่อย่างไรก็ดีค่ายรถจีน ก็ยังมองว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพสำหรับที่จะเปิดตลาดรถไฟฟ้า โดยค่ายรถยักษ์ใหญ่อย่าง NETA ที่เข้าไปเปิดตลาดในเมียนมาร์ก่อนแล้วตอนนี้ตามมาด้วย BYD ซึ่งเอาใจผู้ใช้รถชาวพม่าโดยออกรถ SUV ที่เป็นรถยอดนิยมในหมู่ชาวพม่าออกมาเพื่อแย่งตลาดผู้ใช้รถ SUV ในเมือง ด้วยราคาเปิดตัวที่ประมาณ 100 ล้านจ๊าตหรือประมาณ 1.2 ล้านบาทไทยซึ่งเท่าๆ กับราคา ของ BYD ในไทย น่าจะทำให้เศรษฐีเมืองพม่าหลายคนที่ไม่ได้มีปัญหาเรื่องไฟตก ไฟเกิน เข้าถึงได้ไม่ยากนัก

แต่อย่างที่กล่าวมาข้างต้น แม้รถยนต์ไฟฟ้าจะมุ่งเป้าไปยังลูกค้าเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง, เนปิดอว์, มัณฑะเลย์ แต่ปัญหาความเสถียรของไฟฟ้าในย่างกุ้งหรือมัณฑะเลย์ก็คงไม่ต่างกันมากนักและถ้าหากรัฐบาลทหารแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้ลดลงได้สำเร็จ ราคาน้ำมันในประเทศก็จะลดลงด้วยเช่นกัน

ดังนั้นสำหรับเมียนมาแล้ว รถยนต์ไฟฟ้าจะมาก่อนกาลไหม? สำหรับเอย่าคงบอกได้ว่า น่าจะมาก่อนกาลไปสักนิด และหากมองในมุมธุรกิจแล้ว มาตอนนี้มันลำบากด้วย แต่หากผ่านไปได้ แบรนด์จะแข็งแกร่งและเป็นที่ติดตลาดของคนพม่าก็เป็นไปได้ ดังที่ Beijing Automotive Group Co., Ltd ได้ทำสำเร็จมาแล้วกับแบรนด์ BAIC


เรื่อง: AYA IRRAWADEE