Thursday, 19 June 2025
WORLD

ฝรั่งหัวทองเมินช่วยไทย ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ต่างจากเพื่อนเอเชีย ยื่นมือพยุงเศรษฐกิจไทย

(7 มิ.ย. 68) ย้อนกลับไปในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะเงินทุนไหลออก ค่าเงินบาทพังทลาย ธนาคารล้มหลายแห่ง รัฐบาลไทยในขณะนั้นต้องกู้เงินกว่า 17.2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงเศรษฐกิจ

เงินช่วยเหลือนั้นส่วนใหญ่มาจาก IMF (4 พันล้านดอลลาร์), ญี่ปุ่น (4 พันล้าน), จีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน รวมถึงธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย โดยเป็นเงินที่ไทยมีสิทธิเข้าถึงในฐานะประเทศสมาชิก แต่สิ่งที่หลายคนยังจำฝังใจคือ สหรัฐอเมริกาและยุโรป ไม่ได้ช่วยเหลือไทยเลยแม้แต่สลึงเดียว

ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาบริษัทการเงินจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะกองทุนเฮดจ์ฟันด์และบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง GE Capital กลับรีบเข้ามาซื้อกิจการไทยในราคาต่ำเหมือน "แร้งลง" ช่วงวิกฤต บางรายทำกำไรมหาศาลจากการเข้าซื้อหนี้เสียและหุ้นในตลาดทุนไทย ขณะที่ประชาชนและธุรกิจไทยจำนวนมากล้มละลาย

อีกหนึ่งจุดที่ถูกวิจารณ์หนักคือ การเก็งกำไรโจมตีค่าเงินบาทของกลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะ “จอร์จ โซรอส” ที่ถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการถล่มค่าเงินบาท สร้างความเสียหายให้เศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง และจุดชนวนให้เกิดวิกฤตในเอเชียเป็นลูกโซ่

‘เยอร์มัค’ ลั่นรัสเซียไม่มีวันชนะ ยูเครนยังเข้มแข็งแม้สงคราม 3 ปี เร่ง ‘สหรัฐ-อียู’ คว่ำบาตรรัสเซียเต็มกำลัง

(7 มิ.ย. 68) อันดรีย์ เยอร์มัค หัวหน้าสำนักงานประธานาธิบดียูเครน ยืนยันว่ารัสเซียไม่มีทางชนะในสงครามครั้งนี้ แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 3 ปี แต่ยูเครนยังคงยืนหยัดและต่อสู้ได้อย่างเข้มแข็ง พร้อมเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มข้นและประสานงานร่วมกันเพื่อเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย

เยอร์มัค เน้นย้ำว่าการคว่ำบาตรต่อรัสเซียควรครอบคลุมภาคพลังงาน น้ำมัน และภาคการธนาคาร ซึ่งจะทำให้ประธานาธิบดีปูตินต้องเผชิญกับ “ราคาที่แท้จริง” และถูกบีบให้เข้าสู่โต๊ะเจรจาอย่างจริงจัง นอกจากนี้เขายังกล่าวถึงแผนการขอความช่วยเหลือทางทหารเพิ่มเติมจากสหรัฐ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและการป้องกันประเทศของยูเครน

ในด้านปฏิบัติการทางทหาร เยอร์มัคชี้แจงว่ากองกำลังยูเครนโจมตีเฉพาะเป้าหมายทางทหารเท่านั้น เช่น ฐานทัพอากาศที่รัสเซียใช้ในการโจมตีพลเรือน ขณะที่รัสเซียยังคงโจมตีเป้าหมายพลเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยยูเครนพยายามหลีกเลี่ยงความสูญเสียในหมู่ประชาชน

เยอร์มัคยังได้พบปะหารือกับเจ้าหน้าที่สหรัฐในวอชิงตันเกี่ยวกับสถานการณ์ในแนวรบ ความคืบหน้าการเจรจาที่อิสตันบูล และความจำเป็นในการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร พร้อมย้ำความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างสหรัฐและยุโรปเพื่อสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่

ถอดรหัสความเงียบของชายแดน เมื่อเขมรแสดงสิทธิ์ แต่คนไทยกลับถอย

(7 มิ.ย. 68) เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเอย่าได้นัดแนะกับพี่ทหารที่ชายแดนแม่สอด พี่เค้าบอกว่าจะพาเอย่าไปที่ปราสาทตาเมือนธมและช่องบก 

พอไปถึงพี่แกก็พาเอย่าไปพบเพื่อนเขาที่เป็นทหารคุมชายแดนแถวนั้น เอย่าก็ไม่รอช้าถามพี่เขาเลยว่าทำไมไม่เห็นมีคนไทยมาเที่ยวเลย มีแต่คนเขมรมาและคำตอบที่ได้ก็ทำให้เอย่าอดจะตกใจไม่ใช่น้อย พี่เขาบอกว่า

“คนเขมรเขาไม่คิดหรอกว่าจะมีสงคราม เขารู้ว่าฝั่งไทยไม่อยากรบ” เอย่าเลยถามต่อ

“อ้าวงั้นทำไมคนไทยไม่มาเที่ยวละ”

คำตอบที่ได้นั้นน่าสนใจยิ่ง พี่เขาบอกว่า คนไทยไม่ไว้ใจพวกเขมร มีแต่คนเขมรเท่านั้นที่เขาคิดว่าทหารเขมรจะไม่ยิง แต่คนไทยไม่มีใครพร้อมสู้นะ คนไทยนะเอาจริงๆเก่งก็แค่ในโซเชียล มาถึงวันนี้ความใจกล้า บ้าบิ่นต่างจากฝั่งเขมรเยอะ ต้องยอมรับว่าหลายสิบปีมานี้ที่ฮุนเซนมีอำนาจ เขาได้สร้างชุดความคิดหนึ่ง การเคลมซอฟต์พาวเวอร์ต่างๆ จากไทย เป็นแผนการสร้างชาติของเขมรยุคใหม่ที่ใช้ทฤษฎีแบบขโมยเอามาแบบดื้อๆ ส่วนผู้ใหญ่ในบ้านเมืองไทย ณ วันนี้ก็เห็นแค่ผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนบางกลุ่มแต่กลับไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมด้วยซ้ำ

เอย่าแย้งต่อทันทีคะ ว่าก็นี่เขาประชุม JBC กันไงคะ พี่ทหารส่วนกลับทันทีเช่นกัน ว่าฝั่งพม่าประชุม TBC มากี่รอบแล้วแก้ปัญหาอะไรได้บ้าง ถามว่าฝั่งไทยรู้ทั้งรู้ว่ายาเสพติดอยู่จุดไหน ค้ามนุษย์ตรงไหน แล้วแก้อะไรได้บ้าง สิ่งที่โชคดีของฝั่งชายแดนพม่าคือพวกกะเหรี่ยงยังไม่มายึดดินแดนไทยแบบเอิกเกริกเท่านั้นเอง เขาใช้วิธีกองทัพมดเปลี่ยนสัญชาติแทน

คำตอบนี้ยอมรับว่าทำให้เอย่าอึ้งไปไม่น้อย สุดท้ายก่อนจากกันพี่ทหารย้ำว่า คนไทยเก่งแต่บริจาคแต่ให้มาช่วยปกป้องทำสิ่งที่ถูกต้องน้อยคนจะทำ เก่งสุดคือในโซเชียล ดูได้จากยามเขมรที่ทำงานในไทยมันโพสต์เฟซบุ๊กขู่ฟ่อๆ รัฐบาลไทยไม่เห็นทำอะไรเลย ลองไปทำในประเทศอื่นสิป่านนี้มันโดนดำเนินคดีและเนรเทศไปนานแล้ว คนไทยพึ่งพาพวกแรงงานชาติข้างๆ จนลืมไปว่าคนพวกนี้เขาอยากมีตัวตนในประเทศเรามากแค่ไหน และนั่นทำให้การแก้ปัญหาของไทยถึงป้อแป้เแบบนี้ไง 

คำตอบนี้แม้เป็นการสะท้อนความเห็นของคนเพียงคนเดียวแต่มันเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า คนไทยเรากำลังถูกคนต่างชาติเข้ามาลิดรอนสิทธิ์หรือไม่ บางทีการใช้นโยบาย Thai First แก้การจัดการกับพวกคนต่างชาติอย่างจริงจังอาจจะแก้ปัญหาเหล่านี้ในระยะยาว ก่อนที่คนไทยจะสิ้นชาติและสูญพันธุ์

จีนเปิดข้อมูลลับ ขีปนาวุธข้ามทวีป DF-5 ครั้งแรก ยิงไกล 12,000 กม. ครอบคลุมแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ

(6 มิ.ย. 68) สื่อทางการจีน CCTV เปิดเผยรายละเอียดสำคัญของขีปนาวุธข้ามทวีปแบบติดหัวรบนิวเคลียร์ DF-5 เป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายครั้งสำคัญ หลังจากจีนเคยเก็บงำข้อมูลด้านยุทธศาสตร์นิวเคลียร์มาอย่างเข้มงวด โดยนักวิเคราะห์มองว่าการเปิดเผยครั้งนี้อาจเป็นการส่งสัญญาณว่า จีนมีขีดความสามารถด้านนิวเคลียร์ที่เหนือกว่าที่โลกเคยรับรู้

รายงานระบุว่า ขีปนาวุธ DF-5 เป็นจรวดสองขั้นตอนที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ลูกเดียว ซึ่งมีอานุภาพระเบิดสูงถึง 3-4 เมกะตัน หรือมากกว่าระเบิดปรมาณูที่สหรัฐฯ ใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงกว่า 200 เท่า มีพิสัยยิงไกลถึง 12,000 กิโลเมตร ครอบคลุมทั้งแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตก พร้อมค่าความแม่นยำเฉลี่ยภายในรัศมี 500 เมตร

จรวดรุ่นนี้มีความยาว 32.6 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.35 เมตร และน้ำหนัก 183 ตัน โดยพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1970 และเข้าประจำการในปี 1981 นายซ่ง จงผิง อดีตผู้ฝึกสอนในกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ระบุว่า DF-5 เป็นรากฐานสำคัญของการสร้าง “อำนาจยับยั้งนิวเคลียร์” ของจีน และเป็นสัญลักษณ์ว่า จีนมีศักยภาพตอบโต้ในระดับสากล

นักวิเคราะห์คาดว่า การเปิดเผยข้อมูล DF-5 อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการทยอยปลดระวางระบบเก่า และเตรียมเปิดตัวยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เช่น DF-31 และ DF-41 ซึ่งสามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์หลายลูก และมีระบบเคลื่อนที่ได้ ขณะที่เพนตากอนประเมินว่า ปัจจุบันจีนมีหัวรบนิวเคลียร์พร้อมใช้งานกว่า 600 ลูก และอาจทะลุ 1,000 ลูกภายในปี 2030

ทั้งนี้ จีนยังคงยืนยันนโยบาย 'ไม่ใช้ก่อน' ต่ออาวุธนิวเคลียร์ และจะไม่ใช้งานกับประเทศที่ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ ท่ามกลางการแข่งขันด้านยุทโธปกรณ์ระหว่างชาติมหาอำนาจที่ทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

‘ยูเครน’ เจอขีปนาวุธ โดรนถล่ม ดับ-เจ็บเพียบ หลังโจมตีฐานทัพ และสนามบินของ ‘รัสเซีย’

(6 มิ.ย. 68) รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนระลอกใหญ่ในช่วงเช้ามืดวันศุกร์ โดยใช้ทั้งโดรนและขีปนาวุธพิสัยไกลพุ่งเป้าหลายเมืองทั่วประเทศ รวมถึงกรุงเคียฟ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน และบาดเจ็บราว 40 คนทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน ยูเครนระบุว่าเป็นการตอบโต้หลังจากที่เคียฟโจมตีฐานทัพทิ้งระเบิดของรัสเซียลึกเข้าไปในแดนศัตรูเมื่อต้นสัปดาห์

การโจมตีสร้างความเสียหายในกรุงเคียฟ โดยมีอาคารที่พักอาศัยหลายหลังถูกไฟไหม้และผนังถล่ม ขณะที่หน่วยกู้ภัยเร่งค้นหาผู้รอดชีวิตท่ามกลางซากปรักหักพัง รายงานระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 3 นาย ส่วนเมืองเชอร์นีฮิฟใกล้ชายแดนเบลารุสถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธรวม 14 ลูก และเมืองลุตสค์ทางตะวันตกเฉียงเหนือใกล้โปแลนด์มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย

กองทัพอากาศยูเครนระบุว่า รัสเซียยิงขีปนาวุธครูซอย่างน้อย 38 ลูก ขีปนาวุธพิสัยใกล้ 6 ลูก และโดรนอีกกว่า 400 ลำ ขณะที่ในวันเดียวกัน ยูเครนใช้โดรนโจมตีโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองเอนเกลส์ของรัสเซีย สร้างความเสียหายบริเวณฐานทัพทางใต้ ซึ่งอยู่ห่างจากพรมแดนยูเครนถึง 460 กิโลเมตร

การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังจากยูเครนโจมตีสะพานเคิร์ช จุดเชื่อมหลักระหว่างรัสเซียกับแหลมไครเมีย ด้วยวัตถุระเบิดน้ำหนักกว่า 1 ตันที่ซุกไว้ใต้น้ำ ด้านประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ให้คำมั่นว่าจะตอบโต้ และย้ำจุดยืนในสายตรงกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่ได้แสดงท่าทีห้ามปรามผู้นำรัสเซีย

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์เตือนว่ารัสเซียอาจใช้ขีปนาวุธรุ่นใหม่ที่มีหัวรบหลายลูกโจมตียูเครนอีกในอนาคต โดยที่ผ่านมาเคยใช้อาวุธชนิดนี้ถล่มเมืองดนิโปรมาแล้ว การขยายการผลิตโดรนและขีปนาวุธในรอบปีของรัสเซีย ทำให้สามารถเปิดฉากโจมตีขนาดใหญ่พร้อมกันหลายแนวรบ ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์ใหม่เพื่อเจาะระบบป้องกันทางอากาศของยูเครนที่ยังพึ่งพาเทคโนโลยีสหรัฐฯ เป็นหลัก

‘ทรัมป์’ ตอบตกลงเยือนจีน ตามคำเชิญ ‘สี จิ้นผิง’ ถกการค้า-ลดภาษี หลังโทรคุยกันในรอบหลายเดือน

(6 มิ.ย. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันเตรียมเยือนประเทศจีน หลังได้รับคำเชิญจาก สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ที่เน้นเรื่องการค้าเป็นหลัก ทั้งสองฝ่ายยังเชิญกันไปเยือนประเทศของอีกฝ่ายด้วย

การสนทนาในวันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน 2568 ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้นำทั้งสองประเทศพูดคุยโดยตรง นับตั้งแต่เริ่มสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ โดยสำนักข่าวซินหัวของจีนระบุว่า การพูดคุยนี้เกิดขึ้นตามคำขอของฝ่ายสหรัฐฯ

ทรัมป์โพสต์บน Truth Social ว่าการพูดคุยเป็นเวลา 1 ชั่วโมงครึ่งเน้นเรื่องการค้าและมีผลลัพธ์เชิงบวกสำหรับทั้งสองประเทศ พร้อมระบุว่าเขาจะเดินทางไปจีนพร้อมสุภาพสตรีหมายเลข 1 และเชิญสี จิ้นผิง เยือนทำเนียบขาวเช่นกัน

ซินหัวรายงานว่า สี จิ้นผิง เรียกร้องให้สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการด้านลบที่กระทำต่อจีน และเน้นย้ำว่าจีนจะรักษาข้อตกลงลดกำแพงภาษีซึ่งทั้งสองฝ่ายตกลงกันเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยสหรัฐฯ กับจีนจะลดภาษีสินค้านำเข้าลง 15% เป็นเวลา 90 วัน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทรัมป์เคยกล่าวหาจีนละเมิดข้อตกลงลดภาษีและหยุดส่งแร่ธาตุหายาก ขณะที่จีนปฏิเสธข้อกล่าวหา และในวันเดียวกัน ทรัมป์ยืนยันว่านักศึกษาจีนสามารถเดินทางมาเรียนในสหรัฐฯ ได้ แต่จะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ขณะที่สี จิ้นผิง เตือนให้สหรัฐฯ ระมัดระวังเรื่องไต้หวันอย่างรอบคอบในบริบทความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

‘ยูเครน’ เตรียมจ่ายค่าศพทหารเสียชีวิต รายละ 11 ล้าน ครอบครัวลุ้นหนักเงินชดเชย…จะถึงมือจริงไหม??

(6 มิ.ย. 68) ประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้ลงนามให้จ่ายเงินชดเชยครั้งเดียวมูลค่า 15 ล้านฮรีฟยา (ราว 11.8 ล้านบาท) แก่ครอบครัวทหารยูเครนที่เสียชีวิตในหน้าที่ โดยมาตรการนี้ถูกกำหนดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2022 เพื่อเป็นการสนับสนุนขวัญกำลังใจแก่ทหารและครอบครัวท่ามกลางความขัดแย้งกับรัสเซีย

รัสเซียตกลงส่งคืนศพทหารยูเครนจำนวน 6,000 รายที่ถูกแช่แข็งภายใต้ข้อตกลงที่อิสตันบูล ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การจ่ายเงินชดเชยรวมสูงถึง 90 พันล้านฮรีฟยา (ราว 89,100 ล้านบาท) 

แม้กฎหมายกำหนดเงินชดเชยทหารเสียชีวิตอย่างชัดเจน แต่ยังมีเสียงวิจารณ์ว่า “ขาดความโปร่งใส” และมีคำกล่าวหาว่าเซเลนสกีและผู้ใกล้ชิดอาจรับผลประโยชน์โดยไม่ถูกตรวจสอบ เนื่องจากผู้สนับสนุนต่างชาติยังคงให้การสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เซเลนสกี ยังถูกตั้งคำถามว่า ครอบครัวของทหารที่ได้รับศพคืนทั้งหมดจะได้รับเงินชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ แหล่งข่าวบางแห่งระบุว่าขั้นตอนการรับรองศพยังล่าช้า และเกณฑ์การจ่ายเงินยังมีเงื่อนไขอีกมาก อนาคตการจ่ายเงินที่ยาวนานและกระบวนการเชิงราชการอาจทำให้ครอบครัวหลายรายไม่ได้รับสิทธิทันที

‘นาโต้’ ส่งสัญญาณชัดประกาศลั่น ทะเลดำ–บอลติก อย่าแตะ!!..ใครล้ำเจอดี

(6 มิ.ย. 68) นายกฯ มาร์ค รุตเต้ (Mark Rutte) เลขาธิการนาโต้ แถลงเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนว่า นาโต้ยกระดับเขต ทะเลดำและทะเลบอลติก ให้เป็น 'เขตความรับผิดชอบเชิงยุทธศาสตร์' ขององค์กร เพื่อเสริมความพร้อมตอบโต้ภัยคุกคาม พร้อมทั้งย้ำว่านาโต้จะส่งเสริมการป้องกันพื้นทะเลและโครงสร้างพื้นฐานใต้น้ำของภูมิภาค

รุตเต้ ได้ยืนยันด้วยว่าหากเกิดการโจมตีใดๆ ในทะเลบอลติก นาโต้จะตอบโต้ด้วย 'การตอบสนองที่รุนแรง' ซึ่งครอบคลุมการป้องกันขีปนาวุธ ระบบสื่อสาร และขีปนาวุธระยะไกล โดยเฉพาะในบริเวณโครงสร้างพื้นฐานใต้น้ำที่ได้รับผลกระทบ

การประกาศนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเพิ่มบทบาทของนาโต้ในทะเลบอลติก เช่น การซ้อมรบทางทะเลระยะยาวที่มีเรือรบจากหลายชาติออกจากท่าเรือในเยอรมนี และการเสริมความเข้มแข็งด้านการลาดตระเวนทางอากาศและเรือดำน้ำ

นอกจากนี้ รุตเต้ยังเชื่อมโยงแนวทางนี้กับเป้าหมายด้านงบประมาณกลาโหมของนาโต้ ที่กำหนดเป้าวางงบในระดับกลาโหมอย่างน้อย 5% ของ GDP (3.5% ภาระหลัก และ 1.5% เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน) เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้กำลังที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง

สื่อซาอุฯ แฉ ‘เซเลนสกี’ ควัก 3.2 ล้านดอลลาร์ ซื้อห้องหรูตึกสูงที่สุดในโลก ‘เบิร์จคาลิฟา’ ให้แม่วันเกิด

(6 มิ.ย. 68) สื่อรัฐซาอุดีอาระเบีย Al Arabiya รายงานว่า โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ได้ซื้ออพาร์ตเมนต์สุดหรู มูลค่า 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 115.2 ล้านบาท) ในอาคารเบิร์จคาลิฟา ซึ่งเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก มีความสูง 828 เมตร (2,717 ฟุต) ตั้งอยู่ในเมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเป็นของขวัญวันเกิดครบรอบ 74 ปีให้กับมารดา เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2024

ตามรายงานของ Al Arabiya นักข่าวของช่องได้ตรวจสอบทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ของอาคารที่สูงที่สุดในโลก และพบว่ามีการลงทะเบียนชื่อ 'ริมมา เซเลนสกายา' ซึ่งเป็นมารดาของผู้นำยูเครน เป็นเจ้าของห้องพักดังกล่าว โดยอพาร์ตเมนต์อยู่ในโครงการ 'Armani Residences' ซึ่งเป็นห้องพักหรูที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง จอร์โจ อาร์มานี (Giorgio Armani) นักออกแบบเสื้อผ้า ชาวอิตาลี

ข้อมูลนี้สร้างความประหลาดใจ เนื่องจากข้อมูลทางราชการของยูเครนระบุว่า ริมมา เซเลนสกายา เป็นเพียงผู้รับบำนาญธรรมดา อาศัยอยู่ที่เมืองครีวอยร็อก ในประเทศยูเครน ไม่มีรายได้หรือฐานะที่เอื้ออำนวยต่อการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ระดับไฮเอนด์ในต่างประเทศ

แม้ยังไม่มีถ้อยแถลงจากทางการยูเครน แต่ศูนย์ต่อต้านข้อมูลบิดเบือนของรัฐบาลยูเครนได้ออกแถลงการณ์ปฏิเสธข่าวนี้ โดยระบุว่าเป็น 'ข้อมูลเท็จ' อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวจากหลายช่องทางทำให้เกิดข้อสงสัยใหม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้นำยูเครนและครอบครัว ท่ามกลางสงครามที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

‘ซูซูกิ’ ชิ้นส่วนขาดแคลนหนัก สั่งเบรกไลน์ผลิต Swift หลังจีนจำกัดส่งออกแร่หายาก กระทบห่วงโซ่อุปทาน

(6 มิ.ย. 68) บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (Suzuki Motor) ประเทศญี่ปุ่น ประกาศหยุดสายการผลิตรถยนต์รุ่น Swift ชั่วคราว (ยกเว้นรุ่น Swift Sport) ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยแหล่งข่าวเปิดเผยว่า สาเหตุหลักมาจากการที่จีนจำกัดการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์

ซูซูกิระบุเพียงว่า การหยุดผลิตเกิดจากการขาดแคลนชิ้นส่วน โดยจะกำหนดเริ่มกลับมาเดินสายการผลิตบางส่วนในวันที่ 13 มิถุนายน และคาดว่าจะกลับมาเต็มกำลังได้หลังวันที่ 16 มิถุนายน แต่ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับต้นเหตุของปัญหา ขณะที่แหล่งข่าวยืนยันว่าข้อจำกัดของจีนคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้สายการผลิตสะดุด

การที่จีนระงับการส่งออกแร่หายากและแม่เหล็กที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนเมษายน ได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์ อากาศยาน เซมิคอนดักเตอร์ และการทหารทั่วโลก หลายบริษัทเตือนว่าอาจต้องหยุดผลิต หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย

นอกจากนี้ มีรายงานว่าโรงงานชิ้นส่วนบางแห่งในยุโรปเริ่มหยุดผลิตแล้ว และเมอร์เซเดส-เบนซ์ (Mercedes-Benz) กำลังพิจารณามาตรการป้องกันการขาดแคลนแร่หายาก ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมเสนอมาตรการความร่วมมือกับสหรัฐฯ ด้านห่วงโซ่อุปทานแร่หายากในการเจรจาการค้ารอบใหม่เร็ว ๆ นี้

จับตา!!..ทรัมป์อาจใช้อำนาจยึด SpaceX เป็นของรัฐ อีลอน มัสก์ แก้เกมขู่ถอดยานอวกาศ Dragon พ้นวงโคจร

(6 มิ.ย. 68) ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับอีลอน มัสก์ จุดกระแสกังวลใหม่ว่า ทรัมป์อาจใช้อำนาจประธานาธิบดีเข้าควบคุมหรือยึด SpaceX เป็นของรัฐ หากการตอบโต้ทางการเมืองลุกลามถึงขั้นสุด หลังมัสก์วิจารณ์นโยบายการคลังของรัฐบาลจนถูกขู่ตัดสัญญารัฐมูลค่ากว่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์

อีลอน มัสก์ โต้กลับอย่างรุนแรง โดยประกาศเตรียมปลดประจำการยานอวกาศ Dragon ซึ่งเป็นยานลำเดียวของสหรัฐฯ ที่สามารถรับ-ส่งนักบินอวกาศขึ้นสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ภายใต้สัญญามูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์กับ NASA ซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงเสถียรภาพและความมั่นคงของโครงการอวกาศสหรัฐฯ

แหล่งข่าวใกล้ทำเนียบขาวเผยว่า มีการหารือภายในเกี่ยวกับการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น พระราชบัญญัติการผลิตเพื่อการป้องกันประเทศ (Defense Production Act) เพื่อควบคุมทรัพย์สินของ SpaceX หากมัสก์เดินหน้าทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านอวกาศของประเทศ ซึ่งอาจถูกตีความว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ

แม้ SpaceX จะเป็นบริษัทเอกชนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก แต่หากความขัดแย้งกับรัฐบาลลุกลามจนถึงขั้นรัฐเข้าควบคุมกิจการ จะถือเป็นเหตุการณ์สะเทือนวงการเทคโนโลยีครั้งใหญ่ และอาจเปลี่ยนสมการอำนาจระหว่างรัฐกับมหาเศรษฐีผู้ครอบครองเทคโนโลยีล้ำยุคในศตวรรษที่ 21 อย่างสิ้นเชิง

จีนออกหมายจับแฮ็กเกอร์ไต้หวัน 20 ราย พร้อมแบนบริษัทโยงขบวนการหนุนเอกราช

(5 มิ.ย. 68) ทางการจีนออกหมายจับชาวไต้หวัน 20 ราย ฐานต้องสงสัยเป็นผู้ดำเนินภารกิจแฮ็กข้อมูลในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยอ้างว่ากระทำในนามพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนเอกราชไต้หวัน

ตำรวจเมืองกวางโจวระบุว่าผู้ต้องหาอยู่ภายใต้การนำของบุคคลชื่อ 'หนิง เอินเหว่ย' แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความผิดทางอาญา ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังได้สั่งห้ามการติดต่อทางธุรกิจกับบริษัทไต้หวันชื่อ Sicuens International Company Ltd.

โดยบริษัทดังกล่าวถูกกล่าวหาว่ามีความเชื่อมโยงกับนายพูม่า เสิ่น (Puma Shen) และบิดา ซึ่งทางการจีนเรียกว่าเป็น “ผู้สนับสนุนเอกราชไต้หวันระดับฮาร์ดคอร์” โดยนายเสิ่นยังเป็นหัวหน้าของ Kuma Academy ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมการเตรียมความพร้อมของพลเรือนในกรณีเกิดสงคราม

โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันของจีนระบุว่า “จีนจะไม่อนุญาตให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มสนับสนุนเอกราชไต้หวันมาแสวงหาผลกำไรในแผ่นดินใหญ่” ขณะที่ หวันยังคงตอบโต้ด้วยการเสริมกำลังทางทหาร และส่งเสริมการฝึกอบรมด้านสงครามกองโจรในภาคประชาชน

รัสเซียขึ้นบัญชีดำ British Council อ้างเป็นภัยต่อความมั่นคงชาติ

(5 มิ.ย. 68) สำนักงานอัยการสูงสุดรัสเซียประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ได้รับรองให้กิจกรรมของ British Council องค์กรนานาชาติของสหราชอาณาจักร เป็น 'กิจกรรมที่ไม่พึงประสงค์' ภายในประเทศ โดยระบุว่าองค์กรนี้แม้จะอ้างตัวว่าเป็นหน่วยงานอิสระ แต่กลับดำเนินงานสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลสหราชอาณาจักร และได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ

ด้านหน่วยงานความมั่นคงแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (FSB) ออกแถลงการณ์แนะประเทศพันธมิตรให้ปิดกิจกรรมของ British Council เช่นกัน โดยอ้างว่าหน่วยงานนี้พยายามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจของรัสเซียในช่วงปฏิบัติการพิเศษในยูเครน

FSB ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ได้ตรวจพบการทำงานด้านข่าวกรองของกองทุน Oxford Russia Fund จากสหราชอาณาจักร ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ถูกจัดให้เป็นองค์กรไม่พึงประสงค์เช่นกัน โดยกล่าวว่าเป็นกิจกรรมแทรกแซงและบ่อนทำลายเสถียรภาพของประเทศ

ท่าทีล่าสุดนี้สะท้อนถึงความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างรัสเซียและสหราชอาณาจักรที่ยังคงเพิ่มขึ้น ท่ามกลางสงครามในยูเครน และข้อกล่าวหาเรื่องแทรกแซงทางการเมืองและข่าวกรองระหว่างประเทศ

สำหรับ British Council เป็นองค์กรระหว่างประเทศของสหราชอาณาจักร ก่อตั้งขึ้นในปี 1934 โดยมีภารกิจหลักในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประเทศผ่านการแลกเปลี่ยนด้านภาษา วัฒนธรรม และการศึกษา โดยทำงานในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมถึงรัสเซีย ซึ่งเริ่มดำเนินงานในประเทศตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยมีบทบาทในการส่งเสริมภาษาอังกฤษและความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างรัสเซียกับสหราชอาณาจักร

‘ทรัมป์’ หมดความอดทน ‘อีลอน มัสก์’ โจมตีร่างงบฯ ทำสัมพันธ์เริ่มสั่นคลอน และศึกนี้อาจไม่จบง่าย

(5 มิ.ย. 68) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เริ่มหมดความอดทนแต่ยังคงเงียบ ไม่ตอบโต้แม้อีลอน มัสก์ จะวิจารณ์ร่างกฎหมายงบประมาณหลักอย่างหนัก โดยเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวเผยว่า ทรัมป์ยังไม่ถือเป็นเรื่องส่วนตัว แม้จะรู้สึกไม่พอใจที่ถูกพาดพิง ซึ่งช่วยให้สถานการณ์ยังไม่ลุกลามเป็นความขัดแย้งใหญ่

อย่างไรก็ตาม การโจมตีของมัสก์ที่ยืดเยื้อเข้าสู่วันที่สอง ทำให้เจ้าหน้าที่บางรายเริ่มกังวลว่าทรัมป์อาจเปลี่ยนท่าที หากมัสก์ยังเดินหน้าโจมตี โดยเฉพาะผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นบททดสอบใหญ่ของความสัมพันธ์ระหว่างทั้งคู่ที่เคยแน่นแฟ้น

มัสก์ใช้เวที X (เดิมคือ Twitter) วิจารณ์ร่างกฎหมายว่าเป็น 'ความน่ารังเกียจ' แม้เพิ่งได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทรัมป์ในทำเนียบขาวเมื่อไม่กี่วันก่อน ขณะเดียวกันฝ่ายทรัมป์พยายามลดกระแส โดยชี้ว่ามัสก์โกรธเพราะร่างกฎหมายตัดสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เป็นประโยชน์ต่อ Tesla

แม้ที่ปรึกษาบางคนของทรัมป์เริ่มเสนอแนวทางตอบโต้ แต่ทรัมป์ยังไม่แสดงท่าทีสาธารณะใด ๆ โดยคาดว่าหากมีการตอบโต้ จะเกิดขึ้นบน Truth Social สื่อส่วนตัวของเขาเท่านั้น อย่างไรก็ตามความเงียบนี้อาจไม่ยั่งยืน หากมัสก์ประกาศสนับสนุนผู้ท้าชิงจากพรรครีพับลิกันในอนาคต

นักวิเคราะห์การเมืองมองว่า แรงกดดันจากมัสก์อาจสร้างปัญหาให้ฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องเลือกระหว่างความจงรักภักดีต่อทรัมป์ กับอิทธิพลของมหาเศรษฐีที่มีทั้งแพลตฟอร์มและเงินทุนมหาศาล

‘เซเลนสกี’ ปัดข้อเสนอหยุดยิงจากรัสเซีย ชี้เป็นแค่ ‘ละครการเมือง’ เรียกร้องเจรจาโดยตรงกับปูติน

(5 มิ.ย. 68)  ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ปฏิเสธข้อเสนอหยุดยิงจากรัสเซีย พร้อมเรียกร้องให้มีการเจรจาโดยตรงกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพื่อยุติสงครามที่ยืดเยื้อเกือบ 3 ปีครึ่ง โดยระบุว่าการเจรจารอบที่สองในนครอิสตันบูลเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เป็นเพียงการถ่วงเวลาและสร้างภาพว่ารัสเซียต้องการสันติภาพ

เซเลนสกีกล่าวว่า เอกสารที่รัสเซียยื่นเสนอนั้นไม่มีสาระสำคัญและเปรียบเสมือน 'สแปมทางการทูต' ซึ่งมีเนื้อหาเหมือนกับการเจรจาล้มเหลวในช่วงเริ่มต้นของสงคราม พร้อมเสนอแนวคิดหยุดยิงชั่วคราวก่อนการจัดประชุมสุดยอดกับปูติน และอาจรวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ไกล่เกลี่ยหลัก

ผู้นำยูเครนย้ำว่า การหยุดยิงควรเป็นเงื่อนไขก่อนการเจรจาผู้นำ เพื่อแสดงความจริงใจของทุกฝ่าย หากไม่มีความพร้อม การหยุดยิงจะสิ้นสุดทันทีหลังการประชุม แต่หากมีท่าทีร่วมมือ ก็สามารถขยายระยะเวลาหยุดยิง พร้อมการรับประกันจากฝ่ายสหรัฐ

ในอีกด้านของสมรภูมิ ยูเครนยังเดินหน้าโจมตีฐานทัพรัสเซีย โดยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ได้ปฏิบัติการ 'ใยแมงมุม' โจมตีสนามบิน 4 แห่ง ทำให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของรัสเซียเสียหายราวหนึ่งในสาม ขณะที่รัสเซียยังคงตอบโต้ด้วยการยิงถล่มพื้นที่ชุมชนในยูเครน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 28 รายในเมืองซูมือ ใกล้ชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top