(11 พ.ย.67) บลูมเบิร์กรายงานว่าดุลการค้าของจีนกำลังจะทำลายสถิติใหม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมากขึ้น โดยความไม่สมดุลทางการค้านี้อาจสร้างแรงกดดันให้กับโดนัลด์ ทรัมป์
รายงานระบุว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 จีนมียอดเกินดุลการค้ากว่า 785,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 26.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับปี 2023 ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้บลูมเบิร์กคาดการณ์ว่าจีนอาจเกินดุลแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34.32 ล้านล้านบาท) หากแนวโน้มยังคงเติบโตไปจนถึงสิ้นปีนี้
แบรด เซ็ตเซอร์ นักวิชาการอาวุโสจากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ความเห็นว่า แม้ว่าราคาสินค้าส่งออกของจีนจะลดลง แต่ปริมาณการส่งออกกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จีนจึงสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการส่งออกอย่างแข็งแกร่ง
ภาวะเกินดุลการค้าของจีนที่เพิ่มขึ้นนี้ก่อให้เกิดแรงกดดันจากนานาประเทศ เช่น สหรัฐภายใต้รัฐบาลทรัมป์ที่อาจขึ้นกำแพงภาษีเพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากจีน นอกจากนี้ หลายประเทศทั้งในอเมริกาใต้และยุโรปยังเริ่มกำหนดภาษีสินค้าจีน เช่น เหล็กและรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) แล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ บริษัทต่างชาติต่างถอนการลงทุนจากจีนตามข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีนลดลงต่อเนื่องในช่วง 9 เดือนแรกของปี และหากยังคงลดลงเรื่อย ๆ ก็จะนับเป็นปีแรกที่เงินทุนไหลออกมากกว่าทุกปีนับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 1990
รัฐบาลจีนให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนเพิ่มเติมแก่บริษัทต่าง ๆ โดยเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน คณะมนตรีรัฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ประกาศแผนสนับสนุนทางการเงินแก่ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน รวมถึงการส่งเสริมการค้า
ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา บริษัทจีนได้เพิ่มศักยภาพในการส่งออก แม้ภายในประเทศเศรษฐกิจจะชะลอตัว และมีการใช้สินค้าภายในประเทศทดแทนการนำเข้ามากขึ้นอีกด้วย ส่งผลให้อุปสงค์ต่อการนำเข้าลดลง
ดุลการค้าในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาถือเป็นการเกินดุลมากเป็นอันดับสาม โดยดุลการค้าสูงสุดเคยเกิดขึ้นในปี 2015 และเมื่อคำนวณในสกุลเงินหยวน จีนมีดุลการค้าเกินดุลที่ 5.2% ของ GDP ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
ตั้งแต่ต้นปี 2024 จีนมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐเพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อนหน้า เกินดุลกับสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 9.6% และเกินดุลกับชาติอาเซียนเพิ่มขึ้นเกือบ 36%
ปัจจุบัน จีนเกินดุลการค้ากับประเทศเกือบ 170 ประเทศ ซึ่งสูงสุดตั้งแต่ปี 2021 และแนวโน้มยังคงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สงครามสกุลเงินอาจปะทุขึ้นได้ ธนาคารกลางอินเดียเผยว่าจะพร้อมอ่อนค่าเงินรูปีหากจีนเลือกตอบโต้สหรัฐด้วยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลง
หากเงินหยวนอ่อนลงต่อไปจะทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาถูกลง ส่งผลให้ดุลการค้าระหว่างจีนกับอินเดียอาจเกินดุลเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยปีนี้จีนเกินดุลการค้ากับอินเดียกว่า 85,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 2.92 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 3% จากปีก่อนหน้า และมากกว่าสองเท่าเมื่อเทียบกับ 5 ปีที่แล้ว