Tuesday, 3 December 2024
WORLD

พอใจในเซ็กส์-เสพติดความโรแมนติก ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ รั้งท้าย

(20 พ.ย. 67) IPSOS หน่วยงานวิจัยของฝรั่งเศสออกมาเปิดเผยที่เกี่ยวข้องกับความรักความสัมพันธ์ใน 3 ด้าน จากการสำรวจประชากรกลุ่มตัวอย่างจำนวน 24,269 ราย ที่ไม่เกิน 75 ปี ใน 31 ประเทศ โดยด้านแรกเป็นการประเมินความพึงพอใจในความโรแมนติกและเซ็กส์ โดยพบว่า ชาวอินเดียร้อยละ 76% พอใจในชีวิตเซ็กส์และชอบความโรแมนติกของคู่รักของตัวเอง ตามด้วยเม็กซิโก 76% จีน 75% และประเทศไทยในอันดับ 4 ที่ 75% 

ขณะที่การสำรวจความพึงพอใจในด้านการรู้สึกรักหรือถูกรัก พบว่า ประเทศโคลอมเบียมากสุดที่ 86% ตามด้วย เปรู 86% อินเดีย 84% เนเธอร์แลนด์ 82% เม็กซิโก 81% ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 80%

และการสำรวจความพึงพอใจในด้านความสัมพันธ์กับคู่ชีวิตหรือคู่สมรส ประเทศไทยมาเป็นอันดับหนึ่งที่ 92% ตามด้วย เนเธอร์แลนด์ 91% อินโดนีเซีย เปรู มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ได้คะแนนเท่ากันที่ 88% 

ทั้งนี้ จากการจัดอันดับผลสำรวจทั้ง 3 ด้านพบว่า เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อยู่ในอันดับรั้งท้ายของการสำรวจ โดยผู้ตอบแบบสอบถามชาวญี่ปุ่นเพียง 37% เท่านั้นที่ได้รับความพึงพอใจในเรื่องเซ็กส์และความรัก  ขณะที่ชาวเกาหลีใต้ก็ไม่พอใจในเรื่องเซ็กส์และความรักน้อยเช่นเดียวกัน โดยความพึงพอใจในเรื่องเซ็กส์เป็นอันดับสองเพียง 45%

เช่นเดียวกับเมื่อถามว่าพวกเขารู้สึก "ได้รับความรัก" ในชีวิตมากเพียงใด ชาวญี่ปุ่น 51% ตอบว่ารู้สึกเช่นนั้น ซึ่งถือเป็นอันดับต่ำที่สุด โดยอยู่อันดับรองลงมาเล็กน้อยจากชาวเกาหลีใต้ 

ผลสำรวจนี้สะท้อนสภาพสังคมของทั้งเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ที่กำลังเผชิญภาวะประชากรหดตัวเนื่องจากอัตราการเกิดที่น้อยลงในทั้งสองชาติ  ซึ่ง IPSOS ระบุถึงหนึ่งในเหตุผลที่ชาวญี่ปุ่นมีอันดับความไม่พอใจดังกล่าวในระดับต่ำเป็นเพราะ "บุคลิกภาพของคนญี่ปุ่นที่ไม่เก่งในการแสดงอารมณ์และทัศนคติเมื่อเป็นเรื่องของความรัก" 

'Ralph Lauren' แบรนด์อเมริกัน ขายดีในจีน สะท้อนคนแผ่นดินใหญ่นิยมเทรนด์ Quiet Luxury

(20 พ.ย.67) ในช่วงเวลาที่ตลาดสินค้าหรูหราในจีนกำลังซบเซา แบรนด์ดังระดับโลกอย่าง 'LVMH' และ 'Kering' ต่างต้องเผชิญกับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปของชาวจีน แต่ในท่ามกลางกระแสนี้ กลับมีหนึ่งแบรนด์ที่โดดเด่นและสวนทางกับกระแสความท้าทายเหล่านั้น นั่นคือ 'Ralph Lauren' แบรนด์หรูจากสหรัฐฯ ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในแดนมังกร

เมื่อไม่นานมานี้ Ralph Lauren รายงานผลประกอบการในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2025 โดยมียอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10% และภูมิภาคเอเชียเป็นผู้นำการเติบโต ด้วยยอดขายที่เพิ่มขึ้นถึง 11% แม้รายได้จากจีนยังคงเป็นเพียงสัดส่วนเล็กน้อย (ประมาณ 8% ของยอดขายทั้งหมด) แต่แบรนด์มองว่านี่คือก้าวแรกที่สำคัญสำหรับการขยายตลาดในประเทศนี้

นีล ซอนเดอร์ส กรรมการผู้จัดการของ GlobalData Retail ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Ralph Lauren ยังคงครองใจผู้บริโภคในจีนได้ นั่นคือ 'ความเรียบหรูและความคลาสสิก' ที่แตกต่างจากแบรนด์สินค้าหรูหราทั่วไป ในยุคที่ชาวจีนบางส่วนเริ่มลดความสนใจในสินค้าหรูที่แสดงถึงความมั่งคั่งเกินจำเป็น Ralph Lauren กลับนำเสนอสไตล์ที่ไม่โอ้อวด แต่ยังคงสะท้อนถึงคุณภาพและความคงทน ซึ่งตรงกับความต้องการของตลาด

มาร์ติน โรล นักยุทธศาสตร์ธุรกิจจาก McKinsey อธิบายเพิ่มเติมว่า แนวคิด 'วิถีชีวิตแบบอเมริกันคลาสสิก' ของแบรนด์นี้ สอดรับกับความสนใจของผู้บริโภคชาวจีนที่กำลังมองหาความหรูหราที่ประณีตและยั่งยืน คุณภาพและประวัติศาสตร์ของแบรนด์กลายเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่าง และทำให้แบรนด์สามารถยืนหยัดในตลาดจีนได้อย่างมั่นคง

Ralph Lauren ไม่ได้หยุดอยู่แค่การนำเสนอสินค้าคลาสสิก แต่ยังใช้กลยุทธ์ Omnichannel อย่างชาญฉลาดในการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ยอดนิยม เช่น Tmall, JD.com และ WeChat รวมถึงการเปิดร้านป๊อปอัปเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า อีกทั้งยังเจาะกลุ่ม Gen Z ชาวจีน ที่มีแนวโน้มซื้อสินค้าหรูผ่านช่องทางดิจิทัล

นอกจากนี้ การเน้นความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ช่วยเสริมความสำเร็จ Ralph Lauren สื่อสารถึงความมุ่งมั่นในการรักษ์โลกอย่างชัดเจน ซึ่งตรงกับความสนใจของผู้บริโภครุ่นใหม่ในจีน ที่เริ่มให้ความสำคัญกับการเลือกใช้สินค้าที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แม้ Ralph Lauren จะสามารถฝ่ากระแสและทำตลาดได้อย่างแข็งแกร่งในจีน แต่อนาคตยังคงมีความท้าทายรออยู่ ทั้งเรื่องภาษีศุลกากรและกระแสชาตินิยมในจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของแบรนด์ อย่างไรก็ตาม นี่คือบทพิสูจน์สำคัญว่า Ralph Lauren สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ และจะรักษาความนิยมในตลาดจีนได้อย่างยั่งยืนแค่ไหน

ปูติน ไม่แคร์แซงก์ชั่น เล็งเยือนอินเดีย หารือนายกฯโมดี ชี้สองผู้นำเป็น 'เพื่อนสนิท'

(20 พ.ย.67) ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย เตรียมเดินทางเยือนอินเดียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เขามีคำสั่งให้รัสเซียรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2565 โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การเยือนนี้เป็นสัญญาณสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของความพยายามจากสหรัฐฯ ในการกีดกันปูตินจากเวทีโลก

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียกล่าวกับสำนักข่าวเอเอ็นไอ (ANI) ของอินเดีย และยืนยันกับบลูมเบิร์กว่า แม้ยังไม่ได้กำหนดวันเดินทางเพื่อพบกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย แต่รัสเซียตั้งตารอที่จะได้พบปะในเร็ว ๆ นี้

เปสคอฟกล่าวว่า “หลังจากที่นายกรัฐมนตรีโมดีเดินทางเยือนรัสเซียถึง 2 ครั้ง ตอนนี้ปธน.ปูตินเตรียมเยือนอินเดียแล้ว … เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการติดต่อเหล่านี้”

ก่อนหน้านี้นายกโมดี เคยยอมรับปูตินและเรียกเขาว่า “เพื่อน” ในการหารือดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเพียง 1 วันหลังจากที่รัสเซียโจมตีโรงพยาบาลเด็กในกรุงเคียฟด้วยขีปนาวุธจนมีผู้เสียชีวิต ซึ่งสร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับนานาประเทศ

ทั้งนี้ อินเดียและรัสเซียเคยจัดการประชุมสุดยอดประจำปีระหว่างผู้นำสองประเทศก่อนที่การรุกรานยูเครนจะเริ่มขึ้น โดยแหล่งข่าวในขณะนั้นเผยว่า นายกรัฐมนตรีโมดีหลีกเลี่ยงการพบปะกับปูตินแบบตัวต่อตัวในเดือนธันวาคม 2565 หลังจากที่ปูตินขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงคราม

แม้จะมีความวิตกกังวลจากสหรัฐฯ เกี่ยวกับการพบปะของผู้นำทั้งสอง ซึ่งอาจทำให้ปูตินได้รับการยอมรับในเวทีโลกจากสงครามในยูเครน แต่ทางการสหรัฐฯ ก็ยังตระหนักถึงความสำคัญของการที่อินเดียจะเข้ามามีบทบาทในการคานอิทธิพลของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

หากปูตินเดินทางไปอินเดียจริง จะถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของเขาในการเดินทางไปต่างประเทศ หลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ออกหมายจับเขาในข้อหาอาชญากรรมสงครามในยูเครนเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

บราซิลจับนายทหาร-ตำรวจ 5 นาย เตรียมวางยาพิษลอบสังหาร ปธน.ลูลา ดา ซิลวา

(20 พ.ย.67) ตำรวจบราซิลเปิดเผยว่าได้ทำการจับกุมผู้ต้องสงสัย 5 ราย จำนวนนี้เป็นตำรวจ 1 ราย และนายทหารอีก 4 ราย ในข้อหาวางแผนพยายามลอบสังหารประธานาธิบดี ลูลา ดา ซิลวา ผู้นำบราซิล เมื่อ 2 ปีก่อน

รายงานจากสื่อท้องถิ่นระบุว่า ทั้ง 5 รายมีส่วนเกี่ยวข้องในความพยายามลอบสังหารประธานาธิบดีลูลาในปี 2022 พร้อมกับนายเจอรัลโด อัลค์มิน ว่าที่ผู้สมัครรองประธานาธิบดี ซึ่งในปี 2022 เป็นปีที่ลูลาและนายอัลค์มิน เพิ่งชนะการเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย โดยแผนลอบสังหารจะมีขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2022 เพียง 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่นายลูลา และนายอัลค์มิน จะทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

สำหรับประธานาธิบดีลูลา ดา ซิลวา เคยรับตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิลในสมัยแรกระหว่างปี 2003-2011 ก่อนจะเว้นช่วงทางการเมืองแล้วได้รับชัยชนะกลับมาเป็นผู้นำบราซิลสมัยที่สอง ในศึกการเลือกตั้งเดือนตุลาคม 2022 โดยเอาชนะนาย ฌาอีร์ โบลโซนารู คู่ท้าชิงฝ่ายขวาจัดไปได้อย่างหวุดหวิด ซึ่งหลังการเลือกตั้งในครั้งนั้นนายโบลโซนารู ได้กล่าวหานายลูลา ว่าโกงการเลือกตั้งและไม่ยอมรับผลการแพ้การเลือกตั้ง

เหตุการณ์ในครั้งนั้นนายโบลโซนารู ได้ปลุกระดมกลุ่มผู้สนับสนุนนับพันคนบุกเข้าทำเนียบประธานาธิบดีและอาคารรัฐสภา ภายในกรุงบราซิลเลีย เมืองหลวงจนได้รับความเสียหาย ซึ่งเหตุการณ์นี้หลายฝ่ายมองว่าคล้ายกับเหตุการณ์บุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021

เหตุการณ์บุกรัฐสภาบราซิลถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของฝ่ายตรงข้าม ในความพยายามขัดขวางไม่ได้นายลูลาได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นครั้งแรกที่ตำรวจเปิดเผยถึงความพยายามลอบสังหารลูลา

ภายหลังจากข่าวการจับกุมดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารสังคม นายเปาโล ปิเมนตา กล่าวว่า การวางแผนลอบสังหารลูลาและอัลค์มินเกือบจะดำเนินไปแล้ว

“เราเปิดเผยรายละเอียดได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น" รัฐมนตรีกล่าว เว็บไซต์ข่าวของบราซิล G1 รายงานว่า สิ่งที่น่าเป็นกังวลเป็นพิเศษก็คือ ผู้ที่ถูกจับกุม 4 รายเป็นทหารประจำการ และคนที่ 5 เป็นตำรวจประจำการ

สำนักข่าว AFP รายงานอ้างแหล่งข่าวจากตำรวจรัฐบาลกลางว่าทหารทั้ง 4 นาย "ถูกจับกุมในเมืองริโอ ซึ่งพวกเขากำลังเข้าร่วมปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยสำหรับการประชุมผู้นำกลุ่ม G20" ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในเมืองของบราซิลในขณะนี้ ตามรายงานของ G1 ทหารทั้ง 4 นาย ที่ได้รับการฝึกเป็นหน่วยรบพิเศษ ถูกกล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอาชญากรที่วางแผนลอบทำร้ายลูลา

ตำรวจกล่าวว่าผู้วางแผนได้ตั้งชื่อปฏิบัติการนี้ว่า 'มีดสีเขียวและเหลือง' ซึ่งเป็นสีเดียวกับธงชาติบราซิล ตามรายงานของตำรวจรัฐบาลกลาง ผู้วางแผนได้ถกเถียงกันถึงวิธีที่ดีที่สุดในการ 'กำจัด' ลูลาและเจอรัลโด อัลค์มิน และได้ข้อสรุปว่าจะต้องวางยาพิษว่าที่ประธานาธิบดี แทนการใช้อาวุธลอบสังหาร

ปูตินสั่งแก้กฎยิงนิวเคลียร์ง่ายขึ้น หลังยูเครนใช้มิสไซส์สหรัฐฯ โจมตีแดนหมีขาว

(20 พ.ย. 67) สำนักข่าวสปุตนิกได้เปิดเผยเอกสารแปลฉบับไม่เป็นทางการ หลังจากที่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ได้ลงนามปรับลดระดับข้อจำกัดการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ส่งผลให้รัสเซียสามารถใช้นิวเคลียร์เพื่อตอบโต้การโจมตีได้ง่ายขึ้น แม้จะเป็นการโจมตีจากประเทศที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศมหาอำนาจที่ครอบครองนิวเคลียร์

ระเบียบใหม่ของรัสเซียระบุว่า สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ในกรณีที่รัสเซียถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธร่อน ขีปนาวุธวิถีโค้ง หรือการโจมตีทางอากาศโดยอากาศยาน โดรน หรือพาหนะบินได้อื่น ๆ  

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เกิดขึ้นหลังยูเครนยิงขีปนาวุธ ATACMS ที่ผลิตโดยสหรัฐฯ เข้าไปในแคว้นไบรอานส์กของรัสเซีย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลในลักษณะนี้ สร้างความเสียหายต่อคลังกระสุนในพื้นที่ดังกล่าว  

การโจมตีเกิดขึ้นในวันครบรอบ 1,000 วันของสงคราม โดยฝ่ายยูเครนระบุว่า ขีปนาวุธสามารถทำลายกระสุนปืนใหญ่จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมรัสเซียแถลงว่าสามารถยิงขีปนาวุธตกลงมาได้ 5 ลำ และอีก 1 ลำถูกทำลายในอากาศ  

สถาบันเพื่อการศึกษาสงคราม (ISW) เผยว่ามีเป้าหมายทางการทหารและกึ่งทหารกว่า 250 จุดในรัสเซียที่อยู่ในระยะทำการของ ATACMS  

ในอีกด้านหนึ่ง รัสเซียเริ่มผลิตหลุมหลบภัยนิวเคลียร์เคลื่อนที่ชื่อ "คับ-เอ็ม" (KUB-M) เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยหลุมหลบภัยดังกล่าวสามารถรองรับคนได้ถึง 54 คน เป็นเวลา 2 วัน พร้อมป้องกันคลื่นกระแทกและรังสี  

กระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินมอสโกว์ยืนยันว่า การพัฒนาหลุมหลบภัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรับมือทั้งอันตรายจากธรรมชาติและเหตุการณ์ที่เกิดจากมนุษย์  

ท่ามกลางการปรับเปลี่ยนนโยบายและการตอบโต้ด้วยกำลังทางการทหาร ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่นานาชาติยังคงจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ทางรถไฟขนสินค้าสาย จีน-ยุโรป เชื่อมการค้าสองทวีป แล้วกว่า 11,380 เที่ยว

เมื่อวันที่ (18 พ.ย. 67) ที่ผ่านมา ขบวนรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป เส้นทางจากเมืองอี้อู มณฑลเจ้อเจียง ทางตะวันออกของจีน ไปยังกรุงมาดริด ประเทศสเปน ได้ให้บริการครบ 10 ปี โดยขบวนล่าสุดได้ออกเดินทางจากเมืองอี้อูพร้อมสินค้าต่างๆ รวมทั้งสิ้น 110 ตู้คอนเทนเนอร์ (TEU) ไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา และมีกำหนดเดินทางถึงกรุงมาดริดภายในระยะเวลา 16-18 วัน

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขบวนรถไฟนี้ได้ดำเนินการเดินทางทั้งหมด 11,380 เที่ยว และขนส่งสินค้ากว่า 932,200 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยขบวนรถไฟสินค้าจีน-ยุโรปได้ขยายการเชื่อมต่อไปยัง 50 ประเทศและภูมิภาคในเอเชียและยุโรป ครอบคลุมเมืองกว่า 160 แห่ง รวมถึงเส้นทางหลักทั้งจีน-ยุโรป, จีน-รัสเซีย และจีน-เอเชียกลาง นอกจากนี้ โครงสร้างสินค้าส่งออกก็ได้เปลี่ยนแปลงจากสินค้าขนาดเล็กและสินค้าบริโภคทั่วไป มาเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น อะไหล่รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ แผงโซลาร์เซลล์ และรถยนต์พลังงานใหม่ ซึ่งเป็นสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย

ขบวนรถไฟนี้ถือเป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีระยะทางยาวที่สุดในจีน และได้ขยายอิทธิพลอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการการขนส่ง โดยตั้งแต่ปี 2018 สถานีรถไฟอี้อูได้ติดตั้งระบบจัดการอัจฉริยะสำหรับคอนเทนเนอร์ ทำให้การจัดการและตรวจสอบการขนส่งมีความแม่นยำและรวดเร็วขึ้น เช่น การกำหนดตำแหน่งคอนเทนเนอร์ การย้ายคอนเทนเนอร์ และการขนถ่าย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจากบริษัทการรถไฟแห่งประเทศจีน จำกัด รายงานว่า ขบวนรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป ได้ออกเดินทางจากอี้อูมากกว่า 6,700 เที่ยว และขนส่งสินค้ากว่า 670,000 ตู้คอนเทนเนอร์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยรถไฟเหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขนส่งโลจิสติกส์ของเมืองอี้อู ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "ซูเปอร์มาร์เก็ตของโลก" และช่วยสนับสนุนการเข้าถึงตลาดทั่วโลก

ตลอด 10 ปี ขบวนรถไฟนี้ไม่เพียงแต่ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม แต่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศต่างๆ และความร่วมมือที่ยั่งยืนที่จะทำให้การค้าระหว่างประเทศเติบโตและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ข้อมูลจากศุลกากรอี้อูเผยว่าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2024 อี้อูมีมูลค่าการนำเข้ามากถึง 65.7 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 19.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสินค้านำเข้าจากยุโรปผ่านขบวนรถไฟอี้ซิน อาทิ เครื่องสำอาง เครื่องดูแลสุขภาพ อาหาร และเครื่องครัว ได้กลายเป็นสินค้าหลักในครัวเรือนของชาวจีน

ญี่ปุ่นเล็งใช้รถรางไฮโดรเจนจากจีน ขึ้นภูเขาฟูจิ เมินบริษัทในประเทศ หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อม

(19 พ.ย.67) รัฐบาลท้องถิ่นจังหวัดยามานาชิ เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาใช้ระบบขนส่งพลังงานไฮโดรเจนจากบริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลเวย์ วีฮิเคิลส์ ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐจากจีน เพื่อพัฒนาระบบขนส่งแทนการเดินเท้าขึ้นภูเขาไฟฟูจิ แทนการใช้ระบบรถรางจากบรรดาบริษัทในท้องถิ่นของญี่ปุ่น เนื่องจากบริษัทผู้วางระบบรถรางในญี่ปุ่นยังไม่สามารถตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการให้บริการของรถรางบนภูเขาไฟฟูจิได้เท่ากับระบบของทางจีน

ระบบขนส่งรถไฟอัจฉริยะไร้รางของจีน หรือ Autonomous Rail Rapid Transit (เออาร์ที) มีลักษณะคล้ายกับรถรางและรถบัส โดยเคลื่อนที่ด้วยล้อยางและวิ่งบนถนนแทนการใช้ราง ขับเคลื่อนด้วยการใช้พลังไฮโดรเจนเป็นหลัก ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบทั้งในช่วงการวางระบบ และการให้บริการ ต่างจากบรรดาผู้พัฒนารถรางญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เสนอให้ใช้รถรางระบบไฟฟ้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบในช่วงการก่อสร้างและระหว่างการให้บริการ

นายโคทาโร นางาซากิ ผู้ว่าราชการจังหวัดยามานาชิ กล่าวว่า 'โครงการรถรางฟูจิ' จะช่วยลดต้นทุนในการก่อสร้างได้มาก และยังสามารถช่วยลดความแออัดในช่วงฤดูร้อน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

แม้ว่าโครงการนี้จะได้รับการสนับสนุนจากจีน แต่เขาหวังว่า บริษัทญี่ปุ่นจะเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบโครงการนี้ พร้อมเสริมว่า การตั้งฐานการผลิตของบริษัทที่ได้รับสัมปทานในจังหวัดยามานาชิจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

ทางการจังหวัดยามานาชิได้ประกาศแผนการสร้างระบบขนส่งรางเบาไปยังสถานีที่ 5 บนภูเขาฟูจิซึ่งอยู่ที่ระดับความสูง 2,305 เมตร ตั้งแต่ปี 2021 โดยปัจจุบัน นักท่องเที่ยวสามารถขับรถขึ้นทางด่วนไปยังจุดดังกล่าวแล้วเดินเท้าต่อไปยังยอดภูเขาฟูจิที่อยู่สูง 3,776 เมตร

มีการประเมินว่าต้นทุนการก่อสร้างอาจอยู่ที่ 140,000 ล้านเยน (ราว 31,000 ล้านบาท) ในขณะที่รายงานระหว่างกาลเมื่อเดือนที่แล้วได้เน้นย้ำถึงความท้าทายทางเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงเบรกและแบตเตอรี่ที่ทำงานได้ในสภาพอากาศหนาวเย็น หากมีการเลือกใช้ระบบรถรางไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศ

โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มใช้งานได้ในปี 2034 โดยรถรางจะเชื่อมต่อภูเขาฟูจิกับสถานีระดับภูมิภาค และในระหว่างนี้จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ในทุกมิติ รวมถึงการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

รัสเซียยินดี 'อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย' ร่วมเป็นชาติพันธมิตรกลุ่ม BRICS

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า นายอเล็กซานเดอร์ ปันกิน รองรัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวว่า แสดงความยินดีต่อ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ที่กลายเป็นชาติพันธมิตรรายใหม่ของกลุ่ม BRICS แล้ว

นายปันกิน กล่าวว่า การประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของกลุ่มประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่จะสร้างระเบียบโลกที่ยุติธรรม ปฏิรูปสถาบันระดับโลก และสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียม อีกทั้งมีการบรรลุข้อตกลงชุดหนึ่งที่มั่นคงเกี่ยวกับการค้า การลงทุน ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานและสภาพอากาศ และโลจิสติกส์

พวกเรามีเพื่อนร่วมงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) เพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ได้กลายเป็นหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการของกลุ่มเราแล้ว

ทั้งนี้ กลุ่ม BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานกลุ่มแบบหมุนเวียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา โดยปีนี้มีสมาชิกใหม่ที่เข้าร่วมเป็นชาติพันธมิตรกับกลุ่มมากขึ้นหลายประเทศ

วิจัยชี้ อเมริกาโครงสร้างพื้นฐานแย่ ทำรถ EV ในสหรัฐฯ ปีนี้ชะลอตัว

(19 พ.ย. 67) คอกซ์ ออโตโมทีฟ (Cox Automotive) บริษัทวิจัยตลาดของสหรัฐฯ เปิดเผยว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในสหรัฐฯ เติบโตช้าลงในปี 2024 โดยคาดการณ์ว่ายอดจำหน่ายในไตรมาสสาม (กรกฎาคม-กันยายน) อยู่ที่ 346,309 คัน คิดเป็นเกือบร้อยละ 9 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมด

ห้องปฏิบัติการแห่งชาติอาร์กอนน์ ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินในสหรัฐฯ ช่วงปี 2023 รวมอยู่ที่ 1.4 ล้านคัน คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 9 ของยอดจำหน่ายยานยนต์ทั้งหมดในปีดังกล่าว และเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากปี 2022

เดอะ นิวยอร์ก ไทม์ส รายงานว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตช้าลงในปี 2024 อาจเป็นผลจากความลังเลจะซื้อขายแลกเปลี่ยนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันของผู้ขับขี่ เพราะกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จ ซึ่งเพิ่มขึ้นช้ากว่ายอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า

ขณะการวิจัยที่นำโดยนักวิจัยของโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (HBS) พบว่าอุปกรณ์ชาร์จที่พังเสียหายถือเป็นปัญหา โดยหนึ่งในห้าของอุปกรณ์ชาร์จไม่ทำงานเมื่อผู้ขับขี่มาถึง

ทีมนักวิจัยของห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนแห่งชาติสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าสหรัฐฯ มีเสาชาร์จสาธารณะกว่า 2 แสนต้น กระจายอยู่ทั่วสถานีชาร์จราว 74,000 แห่ง แต่สหรัฐฯ จะต้องมีเสาชาร์จอีกมากกว่า 1 ล้านต้นภายในปี 2030 เพื่อตอบสนองได้ทันกับยอดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า

Apple ง้อ อิเหนา!! ทุ่มเงินลงทุนอีก 100 ล้านดอลลาร์ หวังอินโดนีเซียปลดแบนขายไอโฟน 16

บริษัทแอปเปิล (Apple) ยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวนถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,400 ล้านบาท) ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อพยายามโน้มน้าวให้รัฐบาลอินโดนีเซียยกเลิกคำสั่งห้ามขายไอโฟน 16

ตามรายงานจากบลูมเบิร์ก (Bloomberg) วันนี้ (19 พ.ย.67)  แหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อกล่าวว่า ข้อเสนอใหม่นี้มีเป้าหมายเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นจำนวนเงิน 10 เท่าจากแผนการลงทุนเดิม

ก่อนหน้านี้ แอปเปิลเคยมีแผนการลงทุนมูลค่าเกือบ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 346 ล้านบาท) ในการตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์เสริมและส่วนประกอบในเมืองบันดุง ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงจาการ์ตา

อย่างไรก็ตาม หลังจากแอปเปิลยื่นข้อเสนอใหม่เพื่อเพิ่มการลงทุน กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียที่เคยสั่งห้ามการขายไอโฟน 16 ได้เรียกร้องให้แอปเปิลปรับแผนการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซียมากขึ้น กระทรวงยังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอล่าสุดจากแอปเปิล

การห้ามขายไอโฟน 16 เกิดขึ้นหลังจากที่กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียระบุว่าแอปเปิลไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในการใช้วัสดุภายในประเทศในการผลิตสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตอย่างน้อย 40 เปอร์เซ็นต์

ข้อมูลจากรัฐบาลอินโดนีเซียระบุว่า แอปเปิลลงทุนในประเทศนี้เพียง 95 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,200 ล้านบาท) ผ่านศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งยังไม่ถึงข้อตกลงที่กำหนดไว้ที่ 107 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 3,700 ล้านบาท) โดยมีกรณีเดียวกันเกิดขึ้นกับการระงับการขายโทรศัพท์พิกเซลของกูเกิล

การดำเนินนโยบายเข้มงวดของอินโดนีเซียดูเหมือนจะประสบผลสำเร็จ โดยการห้ามจำหน่ายไอโฟน 16 ได้กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ใช้กดดันให้บริษัทต่างชาติลงทุนและเพิ่มการผลิตในประเทศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ปักกิ่งชิงเดินเกมเหนือสหรัฐ เสริมสัมพันธ์เมียนมา

(19 พ.ย. 67) จีนชิงลงมือก่อนสร้างพันธมิตรกับเมียนมาก่อนสหรัฐ ไม่นานมานี้มีข่าวบนสื่อสังคมออนไลน์ฝั่งเมียนมาว่าทางรัฐบาลจีนได้จับกุม เผิง ต้า ซุน ผู้นำกองกำลังโกกั้ง (MNDAA) ที่บ้านพักในเมืองคุนมิง ประเทศจีน. ตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  เนื่องจากทางจีนต้องการให้ทางกองกำลังโกกั้งคืนเมืองล่าเสี้ยวให้กับรัฐบาลเมียนมา  นอกจากนี้ เป่า จุน เฟิง รองผู้บัญชาการกองกำลังว้า (UWSA) ที่ถูกควบคุมตัวจากปฏิบัติการ1027 ก็มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มจีนเทาในเมืองเล้าก์ก่าย  ซึ่งขณะนี้ก็ยังถูกควบคุมตัวต่อไปเพื่อกดดันกลุ่มกองกำลังว้าที่คอยให้การช่วยเหลือกแงกำลังโกกั้ง เข้ายึดเมืองล่าเสี้ยวจากกองทัพเมียนมา

การแสดงของเช่นนี้เป็นการแสดงออกที่ชัดเจนที่สุดแล้วถึงรัฐบาลจีนที่พยายามจะดึงรัฐบาลทหารเมียนมาเข้ามาเป็นพวกโดยพยายามที่จะสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าว  ซึ่งต่างจากในอดีตที่รัฐบาลจีนจะเป็นผู้สนับสนุนกองกำลังโกกั้งและว้า

ผมเปลี่ยนทิศของจีนครั้งนี้เป็นการเลือกข้างที่ชัดเจนครั้งแรกตั้งแต่มีการรัฐประหารแม้จีนจะเอ่ยปากกับทางเมียนมาว่าจีนยอมรับรัฐบาลทหารเมียนมาและพยายามช่วยเหลือด้านต่างๆให้แก่เมียนมา  แต่ก็ยังไม่มีครั้งใดที่ชัดเจนเท่าครั้งนี้ที่ถึงกับยอมหักคอพันธมิตรเก่าอย่างว้าและโกกั้งเพื่อให้ศิโรราบต่อกองทัพเมียนมา

จากข่าวสารที่ปรากฏออกมาหากทางจีนสามารถกดดันจนกองกำลังโกกั้ง ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงกับกองทัพเมียนมาได้เมื่อไร ทางกองทัพเมียนก็จะสามารถเข้ายึดคืนเมืองล่าเสี้ยวและพื้นที่สำคัญในยุทธศาสตร์ในรัฐฉานตอนเหนือได้อย่างเบ็ดเสร็จเป็นอันปิดฉากการรบทางเหนืออย่างถาวรและก็เป็นไปได้ว่าสิ่งที่จีนจะได้ตอบกลับมานั้นย่อมเป็นผลประโยชน์อันมหาศาลที่ทางรัฐบาลเมียนมาจะให้ในอนาคตนี่ไม่นับกับการลงทุนที่จีนได้ลงทุนไปแล้วในนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ที่จะเปิดเส้นทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียผ่านเมียนมาลงสู่ทะเลทางอ่าวเบงกอล

ล่าสุดฝั่งอินเดียก็มีข่าวเรื่องกดดันขับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่อยู่ในเมืองชายแดนเมียนมาอย่างรัฐมิโซรัม มณีปุระ นาคาแลนด์ และอรุณาจัลประเทศให้กลับสู่มาตุภูมิเช่นกัน  คงเหลือเพียงแนวรบฝั่งไทยว่าหลังการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีสหรัฐทางฝ่ายความมั่นคงไทยจะเลือกปฏิบัติต่อเมียนมาอย่างไร

"ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ควรเป็นเกมการช่วงชิงอำนาจ ของชาติร่ำรวยและบรรดามหาเศรษฐี"

ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง
กล่าวในการประชุม G20 ที่เมืองริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล

(19 พ.ย. 67) สำนักข่าวซินหัวรายงาน ว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนได้กล่าวเตือนในการประชุมสุดยอดกลุ่ม G20 ที่รีโอเดจาเนโรว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ควรเป็น “เกมของประเทศร่ำรวยและคนมั่งมี” นอกจากนี้ รายงานระบุว่า ปธน.สียังเรียกร้องให้มีการกำกับดูแลและความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับ AI มากขึ้นอีกด้วย

ก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน ปธน.สีได้กล่าวถึงการสนับสนุนของจีนที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนา และให้คำมั่นว่าจะมีโครงการช่วยเหลือเพิ่มเติม รวมถึงการเสนอโครงการร่วมกับสมาชิก G20 อีก 3 ประเทศ เพื่อช่วยให้กลุ่มประเทศในซีกโลกใต้สามารถเข้าถึงนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ดียิ่งขึ้น

ในการประชุมเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันการกำกับดูแลระดับโลก ปธน.สีได้กล่าวเตือนถึงการกีดกันทางการค้าในนามของการพัฒนาสีเขียวและคาร์บอนต่ำ โดยอ้างถึงภาษีศุลกากรที่สมาชิก G20 เรียกเก็บกับสินค้าจีน เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและไบโอดีเซล ซึ่งสมาชิก G20 กังวลว่าการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวอาจทำให้ประเทศของตนต้องพึ่งพาจีน

“เราจำเป็นต้องปรับปรุงการกำกับดูแลการค้าโลก และสร้างเศรษฐกิจโลกที่มีลักษณะเปิดกว้าง” ปธน.สีกล่าว

ปธน.สีซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางเยือนลาตินอเมริกาเพื่อการทูต ยังได้วิพากษ์วิจารณ์การกีดกันทางการค้าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วขณะเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู

คำกล่าวของผู้นำจีนมีขึ้นก่อนหน้าที่จีนเตรียมเป็นเจ้าภาพจัด การประชุม AI โลกในปี 2025 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์ 

ผู้นำอิเหนาเปิดแผนดันอินโดนีเซียเป็นชาติสมาชิก เผยอยากเข้าร่วม BRICS ตั้งแต่ 10 ปีก่อน

(19 พ.ย.67) สำนักข่าว sputnik รายงานว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ปราโบโว ซูเบียนโต กล่าวต่อสื่อรัสเซียว่า เขามีแผนอยากให้ประเทศเข้าร่วมสมาชิกกลุ่ม BRICS ตั้งแต่ปี 2014 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน ในสมัยที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียสมัยแรก

"จริง ๆ แล้ว ผมเคยประกาศในช่วงตอนหาเสียงปี 2014 ว่าหากผมได้เป็นประธานาธิบดี ผมจะพาอินโดนีเซียเข้าร่วมกลุ่ม BRICS” ซูเบียนโตกล่าวต่อสื่อรัสเซียในระหว่างการประชุม G20 ที่ประเทศบราซิล

ซูเบียนโตย้ำถึงความตั้งใจของอินโดนีเซียที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS และเสริมว่าเรื่องนี้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่ซูเบียนโตได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาเผยว่าเขาได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง พร้อมส่งรัฐมนตรีต่างประเทศบินไปยังเมืองคาซาน เพื่อเข้าร่วมประชุมสุดยอด BRICS ในฐานะรัฐผู้สังเกตการณ์ ... ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ว่าเราต้องการเข้าร่วมกับ บราซิล อินเดีย และประเทศ BRICS อื่น ๆ เราคิดว่านี่จะเป็นองค์ประกอบใหม่ที่สำคัญในเศรษฐกิจโลก” ประธานาธิบดีกล่าว 

ผลการเข้าร่วมประชุมที่คาซาน ส่งผลให้อินโดนีเซียได้กลายเป็นรัฐพันธมิตรกลุ่ม BRICSในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งที่ 16 ของกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซานของรัสเซีย

ในฐานะชาติหุ้นส่วนจะช่วยให้อินโดนีเซีย สามารถเข้าร่วมการประชุมในวาระต่าง ๆ ของ  BRICS และการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่มชาติ BRICS ได้มากขึ้น อาทิ การค้าและความมั่นคงแห่งชาติ และฟอรัมรัฐสภา ซึ่งในฐานะชาติหุ้นส่วนถือว่าเป็นก้าวแรกสู่การเข้าเป็นชาติสมาชิก BRICS ได้อย่างเต็มตัว

BRICS เป็นสมาคมระหว่างรัฐบาลที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 รัสเซียรับตำแหน่งประธานหมุนเวียนของกลุ่มเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024 ปีเริ่มต้นด้วยการเข้าร่วมของสมาชิกใหม่เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม นอกจากรัสเซีย บราซิล อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้แล้ว ปัจจุบัน BRICS ยังมีชาติหุ้นส่วนคือ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย ตามเว็บไซต์ของตำแหน่งประธาน BRICS ของรัสเซียในปี 2024 มีรายงานว่าซาอุดีอาระเบียไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการเข้าร่วม แต่ได้เข้าร่วมการประชุม BRICS ที่เมืองคาซานที่ผ่านมา

ไทยนำเข้า ATK ตรวจไข้เลือดออก จากญี่ปุ่น เริ่มจำหน่าย ม.ค. ปีหน้า

(19 พ.ย.67) นิเคอิรายงานว่า บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติญี่ปุ่นเตรียมแผนเริ่มวางจำหน่ายชุดตรวจไข้เลือดออกแบบรู้ผลเร็วใน 15 นาที ในตลาดประเทศไทยช่วงเดือนมกราคมปีหน้า หลังจากที่บริษัทดังกล่าวได้รับการอนุญาตให้นำเข้าชุดตรวจมาจัดจำหน่ายได้อย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของทางการไทยแล้ว

รายงานระบุว่าบริษัท VisGene ซึ่งเป็นหน่วยงานที่แยกตัวจากสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยโอซาก้า ได้คิดค้นชุดตรวจไข้เลือดออกแบบรู้ผลเร็วภายใน 15 นาที ซึ่งให้ผลการตรวจที่แม่นยำ อีกทั้งยังประหยัดเวลาการตรวจไข้เลือดออกแบบเก่า ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4 ชั่วโมงจึงจะรู้ผล

ข้อมูลจากเว็บไซต์ VisGene บริษัทได้พัฒนาชุดตรวจที่สามารถวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก โดยผสานเทคโนโลยีการผลิตชุดตรวจแบบอิมมูโนโครมาโทกราฟีเข้ากับแอนติบอดีจำเพาะสำหรับเชื้อไข้เลือดออก  

โรคไข้เลือดออกเป็นโรคไวรัสที่มียุงเป็นพาหะ ทำให้เกิดอาการไข้และผื่นขึ้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นแทบไม่มีรายงานการติดเชื้อภายในประเทศ มีเพียงไม่กี่สิบถึงร้อยรายที่เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศ  

อย่างไรก็ตาม ในระดับโลก การติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยราว 100 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่อยู่ในประมาณ 100 ประเทศในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ในจำนวนนี้ 250,000 คนมีอาการรุนแรง  

โรคไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ และเป็นที่ทราบกันว่าความเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการติดเชื้อครั้งที่สองจากสายพันธุ์ที่ต่างจากการติดเชื้อครั้งแรก ชุดตรวจวินิจฉัยจำเพาะสำหรับสายพันธุ์ไข้เลือดออกนี้เป็นชุดตรวจแรกที่สามารถแยกแยะสายพันธุ์ได้ด้วยชุดนี้ในเดียว ซึ่งก่อนหน้านี้สามารถทำได้เฉพาะการตรวจแบบ PCR เท่านั้น นอกจากนี้ยังเป็นชุดตรวจเดียวที่สามารถช่วยป้องกันไม่ให้การติดเชื้อครั้งที่สองมีอาการรุนแรง  

ก่อนหน้านี้ บริษัทมีการทดลองทางคลินิกได้ดำเนินการที่โรงพยาบาลนครนายก ประเทศไทย ในช่วงฤดูร้อนปี 2021 และได้รับผลลัพธ์ที่น่าพอใจ จากผลการทดลองดังกล่าว ทำให้บริษัทตัดสินใจดำเนินการตามแผนเพื่อขยายตลาดในประเทศไทยในปี 2025 

บริษัททัวร์หัวใสจัดทริปเอาใจอเมริกัน ใช้ชีวิตกลางทะเลหนีเงารัฐบาลทรัมป์

(18 พ.ย. 67) บริษัทวิลลา วี เรสซิเดนซ์ในรัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เปิดตัวโปรแกรมท่องเที่ยวเอาใจชาวอเมริกันที่ไม่พอใจกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา หลัง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 2 และต้องการหลีกหนีจากสถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 4 ปีข้างหน้า โดยโปรแกรมนี้จะพาลูกค้าเดินทางล่องเรือสำราญเป็นเวลา 4 ปี ท่องเที่ยวไปยัง 425 เมืองในกว่า 140 ประเทศ

ราคาค่าทริปเริ่มต้นที่ 160,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 ล้านบาท) สำหรับห้องพักเดี่ยวตลอด 4 ปี หรือห้องพักคู่เริ่มต้นที่ 320,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11 ล้านบาท) รวมบริการอาหาร เครื่องดื่ม ไวไฟ และบริการทางการแพทย์บนเรือ พร้อมทั้งแม่บ้านทำความสะอาดห้องและบริการซักรีด

โปรแกรมท่องเที่ยวมีให้เลือก 4 แบบ ได้แก่ "หนีจากความเป็นจริง" ล่องเรือ 1 ปี, "เลือกตั้งกลางเทอม" เดินทาง 2 ปี, "ที่ใดก็ได้ที่ไม่ใช่บ้าน" ล่องเรือ 3 ปี, และ "ข้ามเวลา 4 ปี" ที่ท่องเที่ยว 4 ปีเต็ม ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้าชาวอเมริกันอย่างรวดเร็วหลังจากเปิดตัวทริป 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top