Sunday, 12 May 2024
COLUMNIST

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 1

วิธีเดินทางไปปักษ์ใต้บ้านเราอันสุดแสนคลาสสิก คือการโดยสารไปกับขบวนรถไฟอ้อยอิ่งแห่งรฟท. ขนาดระบุว่าเป็น “ด่วนพิเศษ” แต่ก็ไม่น่าจะต่างจากวิถีสโลว์ไลฟ์สักเท่าไหร่ นี่ไม่ใช่การค่อนแคะเหน็บแนม ต้องบอกว่าเป็นคำชมมากกว่า คำที่ทุกวันนี้โลกหมุนติ้วเหวี่ยงด้วยอัตราเร่งสูง การนำพาร่างเข้าสู่โหมด “ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง” จึงนับเป็นวิธีปรับสมดุลที่ดีมากทีเดียว 

จุดหมายการเดินทางรอบนี้ คือพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ต้องการไปสัมผัสยะลาและปัตตานี ด้วยรูปแบบการเดินทางที่แตกต่าง วางแผนไว้ว่าจะพายเรือล่องจากต้นน้ำถึงปลายแม่น้ำปัตตานีนั่นเอง แน่นอน มีเสียงทัดทานในหัวตัวเองดังก้องไม่ให้ไป เพราะมักมีข่าวออกมาเนือง ๆ ว่ามีการดักยิง มีระเบิด มีการก่อการร้ายต่าง ๆ แต่ผมตัดสินใจว่าจะยังคงไปไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ส่วนหนึ่งเพราะโหยหาพื้นที่แปลกแยก กระหายการออกนอกพื้นที่สบาย ไอ้เจ้าคอมฟอร์ทโซนมันสามารถฆ่าคนบางประเภทได้ มนุษย์บางกลุ่มอาจจะเรียกโลกกว้างและการเร่ร่อนว่าเป็น “บ้าน” มากกว่าการจับเจ่าอยู่กับที่เดิม ๆ พบปะผู้คนเดิม ๆ ทำกิจกรรมชีวิตเดิม ๆ

และไม่แน่ ว่าสื่อต่าง ๆ อาจประโคมข่าวเพียงเพื่อเรียกเรตติ้งก็เป็นได้ การเขียนเสือให้วัวกลัวสื่อมวลชนถนัดนักล่ะ !

ปลายทางสถานียะลา ลงจากรถไฟพร้อมสัมภาระพะรุงพะรัง ไม่เฉพาะเสื้อผ้า เต็นท์ เครื่องนอน และข้าวของเครื่องใช้สำหรับรอนแรมเท่านั้น อุปกรณ์น้ำหนักมากสุด คือเรือคายักสูบลมร่วม 15 กิโลกรัมนั่นเอง มีเพื่อนคนยะลามารับ รู้จักกันผ่านโลกโซเชียลในฐานะพวกบ้าเดินทางด้วยกัน เขาเป็นชายร่างใหญ่เคราครึ้ม ชื่อเสียงเรียงนามคือ ‘ฮาบิ๊บ’ เรียกอย่างเป็นกันเองว่า ‘บังบิ๊บ’ รอบนี้เขาจะร่วมเดินทางไปด้วย มีเรือกันคนละลำ และจะไปเริ่มกันที่ต้นน้ำปัตตานี ซึ่งอยู่แถวเมืองเบตงใกล้ชายแดนประเทศมาเลเซีย พวกเรามีเวลาซักซ้อมเตรียมความพร้อมการเดินทางกันจริง ๆ เพียงวันเดียวเพราะวันรุ่งขึ้นก็จะไปยังจุดเริ่มต้นแล้ว

นอกจากจะเป็นการพายเรือผจญภัยแล้ว ยังมีสิ่งที่เพื่อนกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการและคนท้องถิ่น พวกเขาวานให้ช่วยเก็บข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับแม่น้ำสายนี้ เช่น ความลึกของน้ำ สภาพตลิ่งและการกัดเซาะ เป็นต้น ทั้งนี้ เพราะไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมใหญ่ สาเหตุหลักมาจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนบางลางซึ่งกั้นแม่น้ำปัตตานี สร้างผลกระทบและความเสียหายในวงกว้าง ต่อทั้งชุมชนและพื้นที่เพาะปลูก

สาย ๆ วันรุ่งขึ้นแท็กซี่ยี่ห้อเบนซ์รุ่นโบราณ ที่โทรเรียกให้มารับจอดเทียบหน้าบ้านบังบิ๊บ สัมภาระต่าง ๆ ขนขึ้นท้ายรถ เรียบร้อยแล้วก็ออกเดินทางกัน อากาศค่อนข้างอบอ้าว ลมอุ่นโกรกผ่านเข้ามาพอจะช่วยได้บ้าง มีด่านตรวจเป็นระยะ ๆ ตลอดเส้นทาง บางด่านมีแผ่นป้ายใหญ่พิมพ์ภาพใบหน้าและชื่อของผู้ชายหลายคน ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นคนที่หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะตำรวจและทหารกำลังติดตามหาตัวอยู่ สองข้างทางผ่านหมู่บ้านร้านรวง และเรือกสวนชาวบ้าน รถราแล่นบนท้องถนนขวักไขว่กันเป็นปกติ เมื่อผ่านเข้าสู่พื้นที่ภูเขาถนนก็เลียบไปตามเขื่อนบางลาง อากาศเย็นกว่าอย่างเห็นได้ชัด โซนนี้มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อหลายแห่ง ที่โด่งดังระดับประเทศ เป็นจุดเช็คอินห้ามพลาดเลยก็คือ สกายวอล์ค และทะเลหมอกอัยเยอร์เวงนั่นเอง ความสูงของยอดเขาต่าง ๆ ในละแวกนี้ไม่น่าจะเกินพันเมตร แต่จุดเด่นคือมีทะเลหมอกให้ชมทั้งปี แตกต่างจากทิวเทือกเขาในภาคอื่น ๆ ของไทย

บ่ายต้น ๆ ถึงเบตง เมืองชายแดนเล็ก ๆ ซึ่งไม่คึกคักขวักไขว่าเอาเสียเลย อาจจะเพราะด่านยังไม่เปิด การข้ามไปมาระหว่างประเทศยังทำไม่ได้ การท่องเที่ยวค้าขายจึงชะงัก คงต้องรอจนกว่าสถานการณ์โควิดจะผ่านพ้นไปเสียก่อน อะไรต่อมิอะไรจึงจะฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง โรคนี้ “หยุดโลก” ได้ชะงัดจริง ๆ

ความตั้งใจแรกคือจะเริ่มพายเรือกันที่เบตง แต่ต้องเปลี่ยนใจเมื่อเห็นสภาพคลองสาขาของแม่น้ำปัตตานี ณ จุดนั้น เพราะนอกจากตื้นเขินเกินกว่าจะล่องเรือได้แล้ว สีและกลิ่นของน้ำก็ช่างไม่พึงประสงค์เอาเสียเลย น้ำทิ้งจากอาคารบ้านเรือนปล่อยลงมาตามท่อ จึงตัดสินใจไปเริ่มกันที่อีกคลองหนึ่งซึ่งน้ำใสกว่า ริมคลองนั้นพวกเราจัดการสูบลมเรือ นำสัมภาระยังชีพคายัก เหมือนเป็นเรื่องบังเอิญที่เจอคุณตาคนหนึ่งกำลังอาบน้ำซักผ้าอยู่ พูดคุยกันจึงรู้ว่าแกชื่ออิสเฮาะ บอกว่าตั้งแต่อยู่ที่นั่นมายังไม่เคยเจอใครมาพายเรือล่องแม่น้ำสักครั้ง สร้างความฉงนประหลาดใจ เมื่อพวกเราบอกว่าจะพายเรือไปถึงเมืองปัตตานี ซึ่งอยู่ห่างออกไปราวร้อยกิโลเมตรเศษ แกจึงสวดขอพรจากพระเป็นเจ้า อวยชัยให้การเดินทางราบรื่นปลอดภัย... ขอบคุณครับคุณตาอิสเฮาะ


สนับสนุนโดย : รับข้อเสนอพิเศษมอเตอร์โชว์ ในงาน Mazda Motor Show สัมผัสปิกอัพใหม่ All-New Mazda BT-50 และยนตรกรรมสกายแอคทีฟจากมาสด้า ดอกเบี้ยต่ำสุด 0%* รับประกันคุณภาพรถสูงสุด 5 ปี* และบัตรเติมน้ำมัน 10,000 บ.* 24 มี.ค. 64 - 4 เม.ย. 64 ที่บูธและโชว์รูมทั่วประเทศ

Soft Power ไทย ... อะไรดี ???

ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมวงสนทนาเกี่ยวกับเรื่อง “Soft Power ไทยในอุตสาหกรรมสื่อ” โดยมุมมองของนิสิต เอกการสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยว วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มศว ที่จัดงานเสวนาครั้งนี้ขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยหากจะพูดถึงที่มาของคำว่า Soft Power จากแนวคิดของ Joseph Nye ต้นตำรับแนวคิดเรื่อง Soft Power คำที่เราใช้ทับศัพท์กันจนติดปาก และเหมือนจะเข้าใจกลาย ๆ กันไปแล้วว่าหมายถึงอะไร เมื่อแปลเป็นภาษาไทยแล้วแอบจั๊กจี้หูอยู่เหมือนกัน กับความหมายว่า “อำนาจละมุน” หรือ “อำนาจอ่อน” โดยใช้หลักการโน้มน้าวใจเพื่อสร้างอิทธิพลในการควบคุมผู้อื่นด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่การบังคับ ซึ่งถ้าจะพูดถึงอำนาจอ่อน

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นเองกับผู้เขียนในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้านเมื่อปีที่แล้ว คือ มีโอกาสได้ดูซีรีส์ของเกาหลีเรื่อง Itaewon class จบในแต่ละตอน อยากจะลุกไปหาโซจูมาดื่มพร้อมกับสวมวิญญาณเป็นเถ้าแก่พัคแซรอย ลุกขึ้นไปทำเมนูซุปกิมจิเต้าหู้อ่อน และเชื่อว่าถ้าไม่ติดสถานการณ์โควิด เกาหลีน่าจะลุกเป็นไฟเพราะคนไทยน่าจะไปเดินกันอยู่ในย่าน Itaewon ที่เกาหลีใต้เพราะซีรีส์เรื่องนี้ รวมถึงผู้เขียนด้วย นี่น่าจะเป็น Soft Power จากซีรีส์ที่ผู้เขียน โดนตกไปเต็ม ๆ แบบถอนตัวไม่ขึ้นในช่วงนั้น จนต้องบอกตัวเองว่า หยุด ... เราต้องหยุดการดูซีรีส์เกาหลีไว้ก่อน ไม่อย่างนั้น ได้นอนเกือบเช้าทุกวันแน่ ๆ ซึ่งตัวอย่างของผู้เขียนที่หยิบยกมา เชื่อว่าอาจจะเกิดขึ้นกับผู้อ่านหลาย ๆ คน เมื่อได้ดูละคร ซีรีส์ หรือภาพยนตร์สักเรื่องแล้วรู้สึกอิน อินจนอยากจะลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างหลังซีรีส์หรือละครจบ ... ใช่เลย เรากำลังโดนพลังของ Soft Power กันไปเต็ม ๆ

หากจะพูดถึงอุตสาหกรรมบันเทิงที่ประสบความสำเร็จด้วยการผลักดัน Soft Power ตัวอย่างที่เรายกมาพูดอย่างเห็นได้ชัดและจับต้องได้อย่างต่อเนื่องมาหลายปี ก็ต้องยกให้ Soft Power จากแดนกิมจิ เพราะนอกจากซีรีส์ที่โด่งดัง สร้างรายได้ และต่อยอดเศรษฐกิจให้กับประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงกระแสดนตรี K-pop ที่มีวงบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป อย่าง BTS และ BLACKPINK ที่โด่งดังและสร้างอิทธิพลให้แฟนเพลงได้ทั่วโลก จนเกิดเป็นกรณีศึกษามากมายถึงความสำเร็จของทั้ง 2 วง

หากกลับมามองถึง Soft Power ผลงานในเชิงวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมบันเทิงของไทยเรา มีความน่าสนใจอยู่หลาย ๆ ประเด็น เพราะจากการจัดอันดับของนิตยสาร CEOWORLD นิตยสารด้านธุรกิจของอเมริกา ที่จัดให้ไทยอยู่ในอันดับ 5 ด้านมรดกวัฒนธรรมประจำปี 2021 จาก 165 ประเทศทั่วโลก วิเคราะห์และเปรียบเทียบข้อมูล 9 ด้าน ได้แก่ สถาปัตยกรรม มรดกงานศิลป์ แฟชั่น อาหาร ดนตรี วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และการเข้าถึงทางวัฒนธรรม ซึ่งทั้งหมด คือจุดเด่นของประเทศไทยเราที่สามารถขายได้ และเราก็พยายามมาตลอดในการผลักดันให้วัฒนธรรมไทยถูกขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรมโลก แต่ดูเหมือนว่าจะยังไปในมิติของผลงานที่เกิดจากภาคเอกชนเป็นผู้ผลิต

สิ่งหนึ่งในวงสนทนาที่ได้พูดคุยกันกับแขกรับเชิญในวันนั้น จากการถอดบทเรียนตัวอย่างผลงานที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยที่สามารถส่งออกอุตสาหกรรมต่างประเทศไทยได้ เช่น ภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง ที่ประสบความสำเร็จจากรายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาทำเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์ในประเทศไทย และการถูกนำไปรีเมคฉบับฮอลลีวูด ซึ่งคุณภานุ อารี ผอ.ฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศของสหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ได้วิเคราะห์ไว้ว่า ฉลาดเกมส์โกง มีเนื้อเรื่องการมองข้ามความเป็นไทยในแบบเดิม ๆ ที่เราเคยเห็น ไปสื่อสารกับโลก คุยในเรื่องที่โลกกำลังคุยกัน เช่น การพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหาทางโครงสร้างสังคม ความแตกต่างทางฐานะของครอบครัว ซึ่งเป็นการก้าวข้ามในการนำเสนอเรื่องที่หลาย ๆ คนไม่กล้านำเสนอ พูดในภาษาที่โลกกำลังสนใจอยู่ และมีหนังไทย ละครไทยที่พยายามกำลังนำเสนอทางเลือกแบบนี้ให้พวกเราได้ดูกัน

ทางด้านครูทอม จักรกฤต โยมพยอม ได้เพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า เราต้องก้าวข้ามความคิด ความรู้สึกความเป็นไทยในแบบเดิม ๆ ต้องมองว่าเราคือพลเมืองโลก และเรากำลังคุยกับโลก โดยหาทางแทรกความเป็นไทยใส่เข้าไป หรือกรณีอย่างวรรณคดีไทย มันคือสื่อบันเทิง เราควรมองให้เป็นความบันเทิง อย่าพยายามทำให้เป็นของสูงที่เปลี่ยนแปลงหรือแตะต้องไม่ได้ ส่วนค่านิยม แง่คิด ความเป็นไทยที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องก็ค่อย ๆ ให้เด็ก เยาวชน หรือคนที่อ่านได้ซึมซับเข้าไปเองทีละนิดในแบบที่เราไม่ได้ยัดเยียด โดยเก่ง ธชย ได้นำเสนออีกคำที่น่าสนใจในการทำงานเพลงที่ต้องการสอดแทรกความเป็นไทยลงไปว่ามันคือการ “ประนีประนอม” โดยการผสมผสานกับเทคโนโลยีและแฟชั่นในแบบปัจจุบันที่เสิร์ฟให้กับคนดูคนฟังและค่อย ๆ ซึมซับไปเอง จากที่คุยกันในวงเสวนา ทางผู้ผลิตเอง ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นไทยไปในการนำเสนอ เพียงแต่มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอให้เข้ากับยุคปัจจุบัน มองว่าโลกตอนนี้พัฒนาไปทางด้านใด ประชากรโลก พลเมืองโลกกำลังสนใจในประเด็นไหน และผลิตงานที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นี่คือสิ่งที่ผู้ผลิตสามารถทำได้อย่างเต็มที่ในฝั่งที่ตนมีส่วนร่วม

แต่การได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ น่าจะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญ ที่จะทำให้ Soft Power ได้รับความสำเร็จและก้าวไปสู่ระดับโลกได้ สิ่งที่สำคัญในยุคปัจจุบันที่ผู้ผลิตงานต้องการคือ ฐานข้อมูลของคนดูหรือข้อมูลของผู้รับสาร เพื่อเอามาวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตความสนใจของผู้รับสาร เพราะโลกเคลื่อนไหวเร็วขึ้นมาก การผลิตงานในวันนี้คือการเดาทางคนดูในอีก 3 - 4 เดือน หรือ 1 ปีข้างหน้าที่งานจะออกมา ดังนั้นการทำงานในทุกวันนี้คือการเดาทางของผู้รับสารควบคู่กันไป และสิ่งสำคัญคือการสร้างระบบการพัฒนา Soft Power ไทยที่ชัดเจนในระดับมหภาคจากทางภาครัฐ และการเปิดใจรับผลงานในหลากหลายมิติมากกว่าแค่ยัดเยียดความเป็นไทยในแบบเดิม ๆ ใส่ลงไป เพราะมาถึง ณ วันนี้ เราเห็นแล้วว่าผลงานของคนไทยไม่น้อย ที่ถูกส่งออกไปต่างประเทศและประสบความสำเร็จ แต่ถ้าจะให้ Soft Power ของไทยแข็งแกร่ง ส่งออกตลาดโลกได้อย่างต่อเนื่อง อาจจะต้องอาศัยปัจจัยและแรงสนับสนุนจากภาครัฐช่วยขับเคลื่อนไปอีกทาง  เพื่อให้อำนาจละมุน เป็นหมัดฮุกที่แข็งแกร่งในการสร้างชาติและต่อยอดไปถึงการหาประโยชน์ในเชิงพานิชย์ได้อีกด้วย


ข้อมูลอ้างอิง

https://news.ch7.com/detail/468351

https://www.facebook.com/deetalk.official/videos/1138094553307685

ทำไมประเทศเศรษฐีน้ำมันในตะวันออกกลาง ยังต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์? พลังงานทางเลือกที่แฝงด้วยหายนะ

เมื่อไม่นานมานี้ ตุรกีเพิ่งเดินหน้าเปิดตัวเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 3 ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ที่ตั้งอยู่ในเมืองเมอร์ซิน เมืองท่าชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่สำคัญของตุรกี ทางฝั่งทวีปเอเชีย

โรงงานไฟฟ้า Akkuyu ของตุรกีนี้เป็นโปรเจกต์ที่รัสเซียออกทุนสร้างให้ ผ่านบริษัทบริหารพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐที่เรียกว่า Rosatom ซึ่งวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นผู้ก่อตั้ง และจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2018 และคาดว่าน่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป

และโรงงานไฟฟ้า Akkuyu มีศักยภาพพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 3.5 หมื่นล้านกิโลวัตต์ต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 10% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ ส่วนงบประมาณการลงทุนในการก่อสร้าง ใช้เม็ดเงินสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์

เท่ากับว่า ตุรกีและรัสเซียเป็นหุ้นส่วนพลังงานที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้แนบแน่นยิ่งกว่าเดิม แม้นักวิเคราะห์หลายคนจะมองว่า จะทำให้ตุรกีต้องพึ่งพารัสเซียด้านพลังงานมากเกินไป ถึงขนาดออกทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยงบมหาศาลให้ นี่ยังไม่นับรวมท่อก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมันที่ส่งตรงมาจากรัสเซียเช่นเดียวกัน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทางตุรกีก็มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่สอง ที่เมืองซีนอปที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลดำ ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างตุรกีและญี่ปุ่น แต่โปรเจกต์โรงไฟฟ้าที่ซีนอป มาหยุดชะงักตั้งแต่บริษัทมิตซูบิชิ ที่จะเข้ามารับสัมปทานก่อสร้างถอนตัวไป ตอนนี้จึงยังไม่มีอะไรคืบหน้า

จึงมีการตั้งคำถามมากมายจากผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา และ นักสิ่งแวดล้อมว่า การที่รัฐบาลตุรกีจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 2 แห่ง ได้ศึกษาความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวบ้างหรือไม่ เนื่องจากตุรกีก็ตั้งอยู่บนแนวแผ่นดินไหวรุนแรงบ่อยครั้ง

และอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และฟุกุชิมะ ยังไม่น่ากลัวเพียงพอที่จะทำให้ตุรกีต้องคิดให้หนักๆ กับการครอบครองพลังงานนิวเคลียร์หรอกหรือ?

แต่ดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่ประเทศ 2 ทวีปอย่างตุรกีที่ตัดสินใจยอมรับความเสี่ยงในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ประเทศมหาอำนาจในย่านตะวันออกกลางก็เริ่มขยับขยายเข้าสู่เส้นทางพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน

ประเทศในดินแดนตะวันออกกลางที่เริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นประเทศแรกในย่านนี้ ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คืออิหร่าน ที่เริ่มต้นงานก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองบูเชห์ตั้งแต่ปี 1975 โดยให้สัมปทานบริษัทก่อสร้างจากเยอรมันมาสร้างให้

แต่พอหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติอิหร่าน ในปี 1979 ตามมาด้วยสงครามอิรัก-อิหร่าน ในปี 1980  โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ก็หยุดชะงักไปนานมากกว่า 10 ปี แต่ในที่สุดก็กลับมาเดินหน้าต่อ โดยผู้รับสัมปทานรายใหม่ที่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน  รัสเซียเจ้าเก่าของเรานี่เอง จนเสร็จสมบูรณ์ในปี 2011 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย พร้อมกับผู้บริหารสูงสุดของ Rosatom ยังไปร่วมพิธีเปิดโรงงานถึงอิหร่าน

จึงนับได้ว่า โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ของอิหร่าน เป็นโครงการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อพลเรือนแห่งแรกในย่านตะวันออกกลาง ที่ชาติตะวันตกบางชาติอาจมองว่าเป็นโครงการบังหน้าที่มีแผนการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีรัสเซียอยู่เบื้องหลังก็ตาม

แต่เมื่อมีประเทศแรกนำร่องแล้ว ก็ย่อมมีประเทศที่สองตามมา แถมเป็นหนึ่งในประเทศผู้ทรงอิทธิพลในย่านตะวันออกกลางเสียด้วย ไม่ต้องเดาไปไกล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE นั่นเอง

โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์ของ UAE เริ่มมีการเจรจากันตั้งแต่ปี 2009 ร่วมกับรัฐบาลของเกาหลีใต้ ด้วยงบประมาณก่อสร้างเหลือเฟือถึง 2.44 หมื่นล้านดอลลาร์ และเพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

ซึ่งกำลังการผลิตเต็มสูบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์นี้ จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 25% ของปริมาณการใช้งานเพื่อประชากร 10 ล้านคนในประเทศ และเป็นเป้าหมายสำคัญของการใช้พลังงานทางเลือกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนของ UAE และใช้เทคโนโลยีใหม่ที่จะยกระดับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อสันติไปสู่มาตรฐานใหม่

ถึงจะรับประกันสวยหรูอย่างไรก็ตาม ก็หนีไม่พ้นข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างการ์ต้า ที่มองว่าการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์ ที่อยู่ไม่ห่างจากพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามทั้งด้านสันติภาพและสิ่งแวดล้อมในดินแดนย่านนี้ทั้งหมด

และดูเหมือนว่าความวิตกกังวล ก็เริ่มไต่ระดับกลายเป็นความตึงเครียด เมื่อซาอุดิอาระเบียก็เริ่มสนใจโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์กับเขาด้วยเหมือนกัน โดยเริ่มต้นจากการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิง อับดุลลาซิส ที่ชานกรุงริยาด เพื่อทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ และคาดว่าน่าจะมีการขยายเพิ่ม เนื่องจากมีข่าวการพูดคุยข้อตกลงร่วมมือกับบริษัทเอกชนของเกาหลีใต้ จีน และ สหรัฐอเมริกา

แต่ประเด็นที่หลายคนยังสงสัยคือ การเดินหน้าพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในหลายประเทศย่านตะวันออกกลาง ว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด ปลอดภัย และเพื่อสันติจริงหรือไม่

เพราะหากมาดูงบลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 แห่ง และงบบริหารจัดการทั้งหมดเพื่อผลิตพลังงาน กับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากพิษของกากสารกัมมันตรี และความยุ่งยากในการกำจัดน้ำปนเปื้อนจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้ยาวนานหลายสิบปี ก็อาจจะไม่คุ้ม

หากไม่นับทรัพยากรน้ำมันของประเทศในย่านนี้ที่มีเป็นจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆของโลก การใช้พลังงานจากธรรมชาติทางเลือกอื่นๆ อย่างพลังงานจาก ลม หรือแสงแดด ในดินแดนแห่งนี้ก็มีอย่างเหลือเฟือสุดๆ ที่สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานสะอาด ปลอดภัย ไร้กังวลกว่ามาก แถมใช้งบประมาณน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้ จึงเกิดข้อสงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่ต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์

ถึงเรื่องงบประมาณอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ของประเทศเศรษฐีน้ำมัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือมาตรการความปลอดภัย และความโปร่งใส

อย่างที่ทราบกันดี การตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อผลิตพลังงานสักแห่งปัจจัยเรื่องความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันในเขตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สิ่งที่จะตามมาคงหนีไม่พ้น "ความหายนะ"

แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในย่านนี้บางแห่ง ก็ยังตั้งอยู่ในเขตแนวแผ่นดินไหวที่เสี่ยงมาก อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ในตุรกี หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ ในอิหร่าน

การเสี่ยงจากภัยธรรมชาติก็เรื่องหนึ่ง แต่ภัยที่เกิดจากปัญหาความมั่นคงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งภูมิภาคนี้ก็มีความอ่อนไหวด้านการเมืองสูง รายล้อมไปด้วยพื้นที่สีแดงที่ยังคุกรุ่นด้วยไฟสงคราม ที่ยังมีการลอบโจมตีทางทหารซึ่งๆหน้า และการลอบโจมตี โดย กลุ่มก่อการร้าย

ซึ่งก็เคยมีข่าวการเล็งเป้าโจมตีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของ UAE โดยกลุ่มกบฏฮูติในเยเมน หรือการลอบโจมตีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ในอิหร่านที่เมือง Natanz โดยกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ การบุกโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในดินแดนซีเรียโดยอ้างว่ามีโรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ลับของรัฐบาลบาซาร์ อัล-อัสซาดซ่อนอยู่

จึงเห็นได้ว่าบริเวณพื้นที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของแต่ละประเทศในย่านตะวันออกกลางกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม ที่เล็งผลให้เกิดความเสียหายได้เป็นวงกว้างหากทำสำเร็จ ซึ่งมันไม่ใช่จุดประสงค์ของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติเลยแม้แต่น้อย

แล้วทำไมประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางยังคงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งๆที่รู้ว่ามีความเสียงไม่ต่างจากการกอดระเบิดไว้ข้างที่นอน

และหากพิจารณาโมเดลของอิหร่าน ที่เริ่มต้นจากโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ก่อนยกระดับสู่งานวิจัยพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จนกลายเป็นประเด็นที่โดนสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรจนถึงวันนี้  จึงมองได้ว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นบันไดขั้นแรกที่พร้อมจะพัฒนาต่อยอดเป็นอาวุธร้ายแรงได้ทันที เมื่อถึงเวลาจำเป็น

เนื่องจากการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ใช้พื้นฐานเดียวกันคือการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมในเตาปฏิกรณ์ให้ได้ระดับที่ต้องการ หากใช้เป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า ก็เสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้ได้ 3-5% แต่ถ้าต้องการไปให้ถึงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ต้องเสริมสมรรถนะให้ได้สูงเกิน 90% ขึ้นไป

ดังนั้นการยอมทุ่มงบประมาณก้อนโตในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ของดินแดนเศรษฐีน้ำมันตะวันออกกลาง จึงถูกมองว่ามีนัยยะซ่อนเร้นภายใต้ป้ายพลังงานเพื่อสันติ ที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์ด้านความมั่นคง การประกาศแสนยานุภาพ การสร้างพันธมิตรของประเทศมหาอำนาจ ในทางตรงข้ามก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความไม่ไว้ใจกัน และพร้อมจะเปิดเป็นประเด็นสงครามเมื่อใดก็ได้

ดังนั้น การกระโดดเข้าสู่กระแสการลดภาวะโลกร้อนของโลกตะวันออกกลางด้วยการพัฒนาโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์จึงกลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างเฝ้ามองห่างๆ อย่างห่วงๆว่าจะสร้างบรรยากาศการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสันติอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรกได้นานแค่ไหน


อ้างอิง 

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Energy_in_Turkey

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Nuclear_energy_in_Saudi_Arabia

https://m.dw.com/en/uae-launches-arab-worlds-first-nuclear-power-plant/a-54402851

https://www.csmonitor.com/World/Middle-East/2020/0903/Why-US-wants-Saudis-to-follow-UAE-s-path-to-nuclear-energy

https://www.dailysabah.com/mideast/2017/12/03/yemens-houthis-claim-targeting-nuclear-reactor-in-abu-dhabi-with-missile-attack-uae-denies

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-53305940

https://www.npr.org/2019/05/06/719590408/as-saudi-arabia-builds-a-nuclear-reactor-some-worry-about-its-motives

เผยความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายการเมือง ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา

ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังดำเนินเรื่องอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ ผู้คนมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือ การรื้อทิ้งทำใหม่ทั้งฉบับ

ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า "การแก้ไขนั้นทำได้" หากแต่เมื่อรัฐธรรมนูญมาจากเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศที่ร่วมกันลงคะแนนเสียงรับ-ไม่รับ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559

ดังนั้นการแก้ไขก็ควรต้องกลับไปถามประชาชนก่อน

เพราะหากดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเลือก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คนเพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น คาดว่าต้องใช้เวลา 15 เดือนและใช้งบประมาณถึง 11,000-15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น

- ค่าทำประชามติแก้ - ไม่แก้ 3,000 - 4,000 ล้านบาท

- [หากแก้ไข] ค่าเลือกตั้ง ส.ส.ร. 3,000 - 4,000 ล้านบาท

- เงินเดือน ส.ส.ร. 200 คน ซึ่งอ้างอิงจากฐานเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว. ตกคนละแสนกว่าบาท/เดือน และเงินเพิ่มอีกคนละ 9 แสนถึง 1 ล้านบาท

- ค่าเบี้ยประชุม ส.ส.ร. รายบุคคล ในทุกครั้งที่มีการประชุมกรรมาธิการ

- ค่าจัดทำประชามติใหม่เพื่อรับ-ไม่รับ รธน.ใหม่ อีก 3,000 - 4,000 ล้านบาท

-------------------

หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

-------------------

- ข้อดี : มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ทำให้ข้อครหาหรือข้ออ้างว่า รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตย” นั้นหมดไป (หรืออย่างน้อยก็ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม)

- ข้อเสีย : ใช้งบประมาณเยอะ และไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนในยุคการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 รวมถึงในความเป็นจริง น้อยคนมากที่จะนั่งอ่าน รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดยเฉพาะข้อที่ไม่ได้เกี่ยวกับปากท้องหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ประชาชนก็มักจะไม่สนใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ฝ่ายการเมืองแอบยัดใส่ความต้องการของตน(ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ต่อประชาชน)ไว้ได้

-------------------

หากแก้ รธน.เป็นรายมาตราในรัฐสภาฯ

-------------------

- ข้อดี : ประหยัดงบประมาณ ได้นำมาตราที่แต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นปัญหาขึ้นมาหารือกัน สื่อมวลชนรายงานเจาะได้เป็นรายมาตรา และประชาชนได้เห็น "ความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายการเมือง" อย่างชัดเจน ว่ามาตราที่ต้องการแก้ไขนั้น เกี่ยวกับปากท้องประชาชน การรักษาอำนาจของตน การเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมือง หรือการมุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ กันแน่?

- ข้อเสีย : แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามกระบวนการในสภาผู้แทนฯ แต่ฝ่ายค้านและม็อบนอกสภาฯ ยังก็คงนำเรื่อง รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตยมาใช้เป็นประเด็นเพื่อเครื่องไหวทางการเมืองต่อไป

-------------------

สิ่งที่สังคมไทยควรตั้งคำถามก่อนตัดสินใจเรื่อง รธน. 

-------------------

1.) ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และ ความวุ่นวายทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ปัญหามาจากรัฐธรรมนูญ หรือมาจากการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส ?

2.) กฎหมายที่มีอยู่ เพียงพอในการจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและโปร่งใสหรือไม่ ?

3.) หากกฎหมายมีประสิทธิภาพพอสมควร เหตุใดการบริหารงานราชการแผ่นดินหลายอย่างจึงมีปัญหา และไม่มีประสิทธิภาพดังกฎหมายที่เขียนไว้ ?

4.) หากเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง การตรวจสอบและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ การจะแก้ไขหรือ "ปฏิรูป" ระบบการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพขึ้นต้องทำอย่างไร ?

คำตอบที่ได้ในคำถามทั้ง 4 ข้อนั้น ต้องเป็นคำตอบที่มาจาก "ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในแง่ของกระบวนการทำงาน" ไม่ใช่เป็นโวหารหลักการลอยๆ อย่างที่ฝ่ายการเมืองใช้โจมตีกันไปมาตลอดหลายปีนี้

*** ในคอลัมน์ตอนต่อไป ผมจะมาเขียนเจาะลึกลงไปถึงปัญหาที่คนไทยทุกคนต่างเคยพบเจอและอยากให้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางเท้า สัญญาณไฟจราจร การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ความซ้ำซ้อนในการขออนุญาตของหน่วยงานราชการ ปัญหาด้านการศึกษาที่ขาดประสิทธิภาพ และอื่นๆ

*** เพื่อวิเคราะห์กันให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงของ การขาดประสิทธิภาพ” นั้น มันต้องแก้ไขหรือ ปฏิรูป” กันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ตามเกมการเมืองที่ฝ่ายการเมืองทั้งในและนอกสภาฯ ทำกันอยู่แบบทุกวันนี้แน่นอนครับ


ข่าวอ้างอิงประกอบ:

https://www.posttoday.com/politic/news/631007

https://www.thairath.co.th/news/politic/2048532

https://www.prachachat.net/politics/news-621654

ปลดล็อก!! ‘นิ้วล็อก’

ในโลกยุคดิจิทัล เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสก็สามารถเนรมิตทุกสิ่งได้ตามที่ต้องการ ผลที่ตามมาคือมีผู้ประสบปัญหา ‘นิ้วล็อก’ จำนวนมากขึ้นและที่สำคัญคือช่วงอายุที่เป็นน้อยลง เนื่องจากการใช้งานของนิ้วมือที่เปลี่ยนไป จากที่เคยใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ พัฒนาเป็นการแตะเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์มือถือแทน นอกจากนี้ยังติดเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานอีกด้วย จึงส่งผลให้ชะลอการเจริญเติบโตทางโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อในร่างกาย วัยรุ่นหลายคนมีอาการกระดูกสันหลังคด หลังค่อม เสียบุคลิกภาพ และเมื่อถึงวัยทำงานก็อาจเกิดออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

‘นิ้วล็อก’ เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ ‘งอ’ หรือ ‘เหยียด’ ได้อย่างปกติ ต้องใช้นิ้วมือด้านตรงข้ามมาแกะนิ้วที่ล็อกออกจนเกิดเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว หากเป็นมาก นิ้วอาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 - 4 เท่า และ พบในนิ้วมือข้างที่ถนัดมากกว่า

ใครที่เสี่ยงต่อการเป็น ‘นิ้วล็อก’ !?!

  • แม่บ้านที่ชอบหิ้วถุงพลาสติกหนักๆเวลาจ่ายตลาด หรือ ทำอาหาร
  • ชอบยกของหนัก เช่น หม้อแกง กะละมังใส่น้ำจนเต็ม
  • ทำอาชีพรับจ้างซักผ้า หรือ ต้องบิดผ้า โดยมักจะเป็นนิ้วล็อกที่นิ้วชี้
  • แม่ค้าขายข้าวแกงที่ต้องใช้ตะหลิวหรือทัพพีทำกับข้าวปริมาณเยอะ ๆ
  • นักเรียน นักศึกษา ต้องจับดินสอปากกาบ่อย ๆ หรือ อาชีพนักเขียน จิตรกร
  • เล่นเกม หรือ พิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์
  • นักกีฬาประเภทที่ต้องออกแรงกำมือมากกว่าปกติ เช่น กอล์ฟ เทนนิส ปิงปอง หรือ แบดมินตัน
  • ทำอาชีพที่ต้องใช้มือทำงานหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น ช่างที่ต้องใช้ไขควง ใช้เครื่องเจาะถนน คนส่งน้ำ คนส่งแก๊ส คนสวนที่ต้องใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้, ใช้จอบเสียมขุดดิน
  • ทำอาชีพขายเนื้อสัตว์ จะมีการใช้มือซ้ำๆในการสับเนื้อสัตว์
  • ทันตแพทย์
  • ช่างงานฝีมือเย็บปักถักร้อย ช่างตัดเสื้อผ้า
  • ช่างตัดผม ช่างทำผม

ความเสี่ยงต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการใช้งานนิ้วมือซ้ำ ๆ ทำให้เอ็นในนิ้วมือเสียดสีกับอุโมงค์หุ้มเอ็นในขณะใช้งานครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบซ้ำ ๆ เอ็นในนิ้วมือหรืออุโมงค์หุ้มเอ็นมีการปรับตัวหนาขึ้นจนเกิดเป็นพังผืด เป็นเหตุให้เอ็นในนิ้วมือสูญเสียความยืดหยุ่น ประกอบกับเมื่อช่องอุโมงค์หุ้มเอ็นหนาตัวแคบเข้า ส่งผลให้เอ็นในนิ้วมือลอดผ่านอุโมงค์ได้ยากเรียกว่า “นิ้วล็อก”

อาการของ ‘นิ้วล็อก’ 4 ระยะ

ระยะแรก มีการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ เมื่อกดแล้วเจ็บปวดมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด ส่วนใหญ่ปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรืออากาศเย็น

ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดของนิ้วเวลางอหรือเหยียดนิ้วมือ เวลากำมือหรือแบมือจะรู้สึกตึงๆ เหยียดนิ้วได้ไม่คล่อง อาจได้ยินเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น เกิดจากเอ็นที่เคลื่อนผ่านอุโมงค์หุ้มเอ็น โดยมีการปวดรุนแรงมากขึ้นเมื่อทำงานหนัก

ระยะที่ 3 เกิดอาการ “นิ้วล็อก” พร้อมกับการเจ็บปวด บวม ชา ไม่สามารถเหยียดนิ้วมือออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยเหยียด นิ้วมืออาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) หรืออาจติดล็อกในท่าเหยียดนิ้วมือจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

ระยะที่ 4 มีการอักเสบบวมและเจ็บปวดมาก นิ้วมือบวมและติดอยู่ในท่างอไม่สามารถเหยียดออกได้ ถ้าใช้มืออีกข้างช่วยเหยียดจะปวดมาก สร้างความเจ็บปวดและความยากลำบากในการใช้งานมือ

การรักษา “นิ้วล็อก”

ในระยะแรกที่เริ่มปวด ควรพักการใช้งานมือจนอาการปวดทุเลาลง อาจใช้เวลาหลายวัน ในช่วงนี้อาจประคบด้วยความเย็น 15 นาทีใน 1 - 2 วันแรก หลังจากนั้นแช่น้ำอุ่น 15 นาทีในวันถัดมา ทำวันละ 3 - 4 ครั้ง อาจร่วมกับการกินยาต้านการอักเสบหรือวิตามินบีด้วย

ระยะที่ 2 ถ้ามีอาการปวดมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันสามารถกินยาระงับปวดได้ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดการปวดและภาวะตึงของเอ็นนิ้วมือ

ระยะที่ 3 แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ที่อุโมงค์หุ้มเอ็น ซึ่งเป็นการรักษาแบบชั่วคราว ช่วยลดการอักเสบได้ดี อาการจะดีขึ้นใน 2 - 3 วันหลังจากฉีดยา แต่ไม่ควรฉีดมากกว่า 3 ครั้งต่อปี

ระยะที่ 4 การผ่าตัดเพื่อเปิดอุโมงค์หุ้มเอ็นให้กว้างขึ้นให้เอ็นนิ้วมือเคลื่อนผ่านได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม ‘นิ้วล็อก’ อาจเกิดซ้ำได้อีก โดยการดูแลเพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิด ‘นิ้วล็อก’ มีดังนี้

1.) พักการใช้งานมือ เมื่อต้องใช้มือทำงานหนักเป็นเวลานาน

2.) หมั่นเคลื่อนไหวข้อมือและข้อนิ้วมือทุกข้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและป้องกันไม่ให้เกิดการคั่งค้างของของเสียบริเวณข้อต่อ

3.) ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขน, ข้อมือและนิ้วมือ ช่วยให้กล้ามเนื้อและเอ็นต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายดังนี้

ยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมืออีกข้างหนึ่งกระดกขึ้น - ลง

ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

  

ฝึกกำ - แบมือ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือและเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อภายในมือ

หรืออาจบีบลูกบอลในฝ่ามือก็ได้

สามารถเพิ่มกำลังกล้ามเนื้องอ-เหยียดนิ้วมือโดยการใช้หนังยางเป็นแรงต้าน

เหยียดนิ้วมืออ้าออกพร้อมออกแรงต้านกับยางยืดค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

4.) นวดและดูแลมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อพบอาการติดขัดหรือเคลื่อนไหวลำบากของนิ้วมือ โดยเฉพาะช่วงหลังตื่นนอน สามารถใช้นิ้วมืออีกข้างนวดและช่วยยืดเหยียดนิ้ว

วางนิ้วโป้งขวาไว้ที่โคนนิ้วโป้งซ้าย จากนั้นเคลื่อนนิ้วโป้งขวากดนวดจากโคนนิ้วจนสุดข้อมือ

ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

ใช้นิ้วโป้งขวานวดคลึงกล้ามเนื้อฝ่ามือซ้ายในลักษณะวงกลมเล็ก ๆ ซ้อนกัน

เริ่มจากทางด้านนิ้วก้อยไปหานิ้วโป้ง

ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับนิ้วที่ต้องการนวด ออกแรงนวดจากปลายนิ้วไปยังโคนนิ้ว ทั้งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างของทุกนิ้ว

ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับด้านข้างของนิ้วที่ต้องการนวด

ออกแรงดึงจากโคนนิ้วไปยังปลายนิ้ว

ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

5.) เมื่อต้องทำงานลักษณะกำมือหรือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น จับตะหลิว หิ้วของ จับปากกา ควรดัดแปลงอุปกรณ์ที่ใช้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและเหมาะสม เพื่อช่วยกระจายน้ำหนัก หรือ หาอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรง เช่น ใช้เสียมด้ามใหญ่ทำให้ไม่ต้องกำมือแน่นเกินไป หรือ ใช้ผ้าจับช่วยหมุนเปิดขวด เป็นต้น

6.) ระมัดระวังการใช้งานมือและไม่ใช้มือทำงานผิดประเภท เช่น ขุดดิน ปอกเปลือกมะพร้าว เป็นต้น และถ้ามีการบาดเจ็บให้รีบรักษาทันที


เอกสารอ้างอิง

รศ.นวลอนงค์ ชัยปิยะพร. (2556). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.

นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล. (2548). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้ากรุ๊ป.

กนกอร บุญพิทักษ์. (2555). นิ้วล็อกกับโรคของกระดูกและเอ็น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์ feel good.

ฤา…‘พม่า’ จะประวัติศาสตร์ ซ้ำรอย!

วันที่ผมเขียนบทความนี้ ผมได้เห็นประกาศของคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา ได้ออกประกาศว่า ประชาชนมีสิทธิ์ในการปกป้องตนเองจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปราบปรามของคณะรัฐประหาร ซึ่งในความคิดของงผมมองว่า ‘นี่มันไม่ใช่แล้ว’ เพราะการประกาศแบบนี้เสมือนการสั่งให้ประชาชนไปตาย

ผมไม่เห็นประโยชน์อันใดจากคนที่ตายไปแล้ว ยกเว้นคนที่ต้องการหาประโยชน์จากจำนวนศพที่มากขึ้น ผมถามเพื่อนพม่าของผมว่า คนพม่าจะได้ประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าไม่มีชีวิตเข้าคูหาไปเลือกตั้ง เพราะโลกมันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เมียนมาไม่ใช่ประเทศพม่าในอดีต

เมื่อพูดถึงหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ถามว่าดีไหม ผมบอกได้เลยว่าการไม่ยอมแพ้นั้นเป็นสิ่งที่ดีและอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อยุธยาต้องเสียกรุงถึงสองครั้งก็เป็นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการที่สู้อย่างไม่ยอมแพ้อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก หากย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์คองบองครั้งเมื่อสงครามพม่า - อังกฤษครั้งที่หนึ่ง การที่พม่ายกทัพไปปราบกบฏยะไข่ หากหากพม่าไม่ได้ยกทัพเข้าไปถึงอัสสัมหรือจิตตะกอง นั่นก็ไม่สามารถทำให้อังกฤษอ้างเหตุผลในการรบกับพม่า และหากในช่วงเวลารบนั้น นายพลมหาพันธุละ เลือกที่จะยอมจำนนเมื่อรู้ว่าตนเพลี่ยงพล้ำ ท่านก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตในสนามรบ และย่างกุ้ง, พะโค จนไปถึงเมืองแปร ก็อาจจะไม่ต้องตกไปเป็นของอังกฤษทั้งหมดก็เป็นได้

เช่นเดียวกันกับในช่วงสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 หากฝั่งพม่าเลือกดำเนินนโยบายอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับทางบริษัท บอมเบย์ เบอร์มาร์ เทรดดิ้ง คอมปะนี แม้จะเสียบ้าง แต่หัวใจยังอยู่ นั่นก็อาจจะทำให้แผนการเข้ายึดพระราชวังมัณฑะเลย์ไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้

กรณียอมหักไม่ยอมงอของพม่า จะเรียกได้ว่าเป็นนิสัยหรือสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของคนพม่าที่ภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีแต่ในขณะเดียวกันหากเราต้องสู้กับศัตรูที่มีพลังทำลายล้างเหนือเรามาก การยอมหักไม่ยอมงอ มันคือกำแพงที่สูงจนนำพาความล่มสลายมายังชีวิตผู้คนและอาณาจักร หากไม่เหลือแม้กระทั่งชีวิตจะใช้วิธีใดไปทวงคืนเอกราชที่ต้องการกันเล่า

หากย้อนมองดูประเทศไทยในยุคที่ยังเป็นสยามประเทศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในช่วง รศ. 112 ไทยเองก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกับพระเจ้าธีบอ นั่นคือการถูกรุกรานโดยศัตรูที่มีแสงยานุภาพเกินต้านทาน แต่แทนที่ท่านจะเลือกที่จะสู้จนตัวตายสิ้นเอกราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงกลับเลือกเส้นทางที่รักษาหัวใจแห่งแผ่นดินไทย โดยการเฉือนตัดแผ่นดินให้แก่เหล่าประเทศผู้ล่าอาณานิคมไป ดังปรากฏข้อความในพระราชปรารภที่ว่า “—การเสียเขตแดนแต่เพียงเล็กน้อยตามชายพระราชอาณาจักร ซึ่งเราเองก็ทำนุบำรุงรักษาให้เจริญเต็มที่ไม่ได้นั้น ก็เปรียบเหมือนกับเสียปลายนิ้วของเราไป ยังไกลอยู่รักษาหัวใจกับตัวไว้ให้ดีก็แล้วกัน—”

ในวันนี้ผมก็หวังว่าชาวพม่าที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศเมียนมานั้น ขอให้ใช้สติตรึกตรองให้ถี่ถ้วน ว่าเรากำลังไปสู้เพื่อผลประโยชน์ของใครหรือเปล่า..?

ทำไมต้องนำชีวิตไปทิ้งในขณะที่คนปลุกระดมไม่เคยออกมานำทัพเองปล่อยให้พวกคุณนำทัพไปตายกันเอง กลับกันหากวันนี้คนพม่าจะถอยสักหนึ่งก้าว อาจจะไม่ใช่การยอมศิโรราบให้แก่ระบบเผด็จการ แต่เป็นการเปิดทางไปสู่หนทางประชาธิปไตยตามที่คณะรัฐประหารได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี

Philippa of Hainaut และ Charlotte of Mecklenburg-Strelitz สองราชินีผิวสีแห่งราชสำนักอังกฤษ

สัปดาห์ที่แล้วข่าวสงครามสื่อระหว่างสะใภ้หลวงคนดังกับราชสำนักอังกฤษถูกปั่นจนกลายเป็นข่าวใหญ่ดังสนั่น ด้วยบรรดาสื่อต่าง ๆ พากันได้ประโยชน์มากมายมหาศาลจากเรื่องในครอบครัวที่ถือได้ว่าเป็นครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งสหราชอาณาจักร นั่นคือข่าวการให้สัมภาษณ์ของเจ้าชายแฮร์รี และเมแกน ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกส์ กับพิธีกรหญิงชื่อดังชาวอเมริกัน โอปราห์ วินฟรีย์ และได้เผยแพร่สู่สายตาผู้คนทั่วโลกเมื่อต้นสัปดาห์ จนกลายเป็นดราม่าในประเด็นเหยียดเชื้อชาติและสีผิว อันอาจนำมาซึ่งความสั่นสะเทือนครั้งสำคัญสู่ราชสำนักอังกฤษ

แต่ราชสำนักอังกฤษไม่ได้ไร้ซึ่งประสบการณ์ ด้วยผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาแล้วมากมายแล้ว และตกผลึกจนแกร่งกล้าสามารถ จึงได้ส่งจดหมายสั้น ๆ ขนาด สี่ประโยค สามย่อหน้า กับหนึ่งคำขาด เพื่อสยบดราม่าจากการสัมภาษณ์สองชั่วโมงดังนี้ : 

- ย่อหน้าแรก หนึ่งประโยค : เพิ่งจะรู้จากการสัมภาษณ์ในทีวีหรือที่นสพ.ถูกเอามาประโคมข่าวเองว่า พระชายาของเจ้าชายแฮร์รี่ต้องทุกข์ระทมขนาดไหนตลอดเวลาที่ผ่านมา น่าสงสารจังเลย (แต่ก็ทำให้คนที่พอจะมีปัญญาเข้าใจว่า นี่เป็นคำถามซึ่งถามว่า แล้วทำไมตอนนั้นไม่เห็นบอกหรือพูดอย่างนี้เลย ทั้ง ๆ ที่อยู่ในราชสำนักตั้งสองสามปี)

- ย่อหน้าที่สอง สองประโยค : เรื่องที่พระองค์พูดนี่ร้ายแรงนะ แต่ทำไมพวกเราไม่รู้เรื่องเลย และจำไม่ได้ด้วยซํ้าว่า มีเรื่องที่พระองค์พูดเกิดขึ้นด้วย แต่เดี๋ยวพวกเราจะคุยกันเองในครอบครัว (อันเป็นการปฏิเสธอย่างกึ่งสุภาพกึ่งเลือดเย็นว่า เป็นเรื่องไม่จริง และคนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับราชสำนักไม่สมควรที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย)

- ย่อหน้าสุดท้าย หนึ่งประโยค : พวกเราจะรักพระองค์ทั้งสามคนเสมอ (ซึ่งเป็นการตัดบัวแบบไม่เหลือใย กลายเป็นคำไว้อาลัยราวกับทั้งสามคนได้ตายจากไปแล้ว ซํ้ายังจงใจละเลยไม่กล่าวถึงลูกคนที่กำลังจะเกิดเลย)

- และที่สำคัญที่สุดคือ คำขาดที่ระบุว่า ENDS” ตัวพิมพ์ใหญ่ให้เห็นกันชัดๆ (ซึ่งหมายความว่า สำหรับพวกเราแล้วเรื่องนี้ถือว่าจบ และจะไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป)

อันที่จริงแล้วตามลำดับการสืบราชสันตติวงศ์แห่งสหราชอาณาจักร (Succession to the British throne) มีพระบิดาของเจ้าชายแฮร์รี เจ้าชายชาร์ลส์ (เจ้าชายแห่งเวลส์) ทรงเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่ง และพระเชษฐาของเจ้าชายแฮร์รี เจ้าชายวิลเลียม (ดยุกแห่งเคมบริดจ์) ทรงเป็นรัชทายาทอันดับที่สอง ส่วนเจ้าชายแฮร์รีทรงเป็นรัชทายาทอันดับที่หก ถัดจาก พระโอรส พระธิดา ของเจ้าชายวิลเลียมอีกสามพระองค์ โดย 20 ลำดับแรกในการสืบราชสันตติวงศ์แห่งสหราชอาณาจักรล้วนแล้วแต่เป็นพระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา สายตรงในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทั้งสิ้น และหากได้ทำการศึกษาไล่เรียงประวัติศาสตร์ราชสำนักอังกฤษแล้ว จะพบว่าราชสำนักอังกฤษมีสะใภ้หลวงซึ่งมีเชื้อสายผิวสีมาแล้วถึงสองพระองค์ และทั้งสองพระองค์ต่างทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ อันได้แก่ Philippa of Hainaut และ Charlotte of Mecklenburg-Strelitz

Philippa of Hainaut (24 มิถุนายน ค.ศ. 1310 (หรือ ค.ศ. 1315) - 15 สิงหาคม ค.ศ. 1369) ทรงเป็นธิดาของ William I (Count of Hainaut) และ เจ้าหญิง Joan of Valois ผู้ทรงเป็นพระปนัดดาใน พระเจ้า Philip III แห่งฝรั่งเศส สืบเนื่องด้วยพระเจ้า Edward II แห่งอังกฤษทรงตัดสินพระทัยว่า การเป็นพันธมิตรกับ Flanders (ปัจจุบันหมายถึงพื้นที่ทางตอนเหนือของเบลเยียม ซึ่งใช้ภาษาดัตช์ ในทางประวัติศาสตร์ ครอบคลุมบางส่วนของ เบลเยียม ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์) จะเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษ และได้ทรงส่ง Bishop Stapledon of Exeter เป็นราชทูตให้เดินทางข้ามเข้าไปในเขต Hainaut ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองโดยชนเผ่ามัวร์ เพื่อพิจารณาว่า ธิดาของ Count of Hainaut ผู้ใดจะเหมาะสมที่สุดในการเป็นเจ้าสาวของเจ้าชาย Edward พระราชโอรส 

รายงานของ Bishop Stapledon ซึ่งถวายต่อพระเจ้า Edward II ได้อธิบายรายละเอียดธิดาคนหนึ่งของ Count of Hainaut ถึง Philippa ในวัยเด็กว่า หญิงที่ข้าพระองค์พบเห็น ไม่ใช่หญิงที่มีผมเรียบๆ ธรรมดาทั่วไป แต่เป็นสีน้ำเงิน - ดำและน้ำตาล ... ใบหน้าของพระองค์ได้สัดส่วนดี ระหว่างดวงตาและส่วนล่างแคบกว่าส่วนหน้าผากของพระองค์ ดวงตาของพระองค์มีสีน้ำตาลอมดำและลึก จมูกของพระองค์ค่อนข้างเรียบและสม่ำเสมอ ปลายจมูกค่อนข้างกว้างและแบน... รูจมูกและปากค่อนข้างกว้าง ริมฝีปากของพระองค์อวบอิ่มโดยเฉพาะริมฝีปากล่าง ... ฟันล่างของพระองค์ยื่นออกมาเล็กน้อย ฟันบนเห็นได้น้อยมาก ... รูปร่างของพระองค์ทั้งหมดดูดีมาก ๆ จนไม่มีใครสามารถเทียบได้ และไม่มีสิ่งใด ๆ ผิดปกติเท่าที่ชายคนหนึ่งจะสังเกตเห็น

“นอกจากนี้พระองค์ยังมีผิวสีน้ำตาลทั้งตัวเหมือนกับบิดาของพระองค์ โดยพระองค์จะมีอายุเก้าปีในวัน St. John ที่กำลังจะมาถึงตามที่มารดาของพระองค์กล่าว พระองค์ไม่สูงเกินไปหรือเตี้ยเกินไปสำหรับวัยเช่นนี้ พระองค์ดูวางตัวได้อย่างเหมาะสม หญิงคนนี้ได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดีในทุก ๆ เรื่องที่สมควร ด้วยเพราะตำแหน่งของพระองค์ และบิดา มารดา และครอบครัวได้รับการยกย่องและเป็นที่รัก ทั้งหมดเท่าที่เราสามารถสอบถามและเรียนรู้จากความจริงในทุกสิ่ง สำหรับข้าพระองค์แล้วพระองค์เป็นหญิงที่น่าพอใจมาก” ซึ่ง Philippa น่าจะมีเชื้อสายทางพันธุกรรมของผู้ปกครองในอดีต (ชนเผ่ามัวร์ : ชนมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่คาบสมุทรไอบีเรียและแอฟริกาเหนือซึ่งเดิมเป็นชนอาหรับ หรือ เบอร์เบอร์) ซึ่งมีสีผิวที่เข้มกว่าชาวยุโรป

Philippa of Hainault ได้หมั้นกับเจ้าชาย Edward of Windsor รัชทายาทของ พระเจ้า Edward II แห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1326 ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้า Edward III แห่งอังกฤษ ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1327 และหนึ่งปีหลังจากการขึ้นครองราชย์ พระเจ้า Edward III กษัตริย์หนุ่มแห่งอังกฤษก็ได้ทรงอภิเษกกับ Philippa of Hainault ในมหาวิหารยอร์ก ขณะพระชนมายุสิบห้าชันษา และเจ้าสาวอายุสิบสี่ปี สองสามปีแรกหลังการอภิเษกเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ด้วยในช่วงที่ยังทรงเยาว์วัยของพระเจ้า Edward III สมเด็จพระราชินี Isabella พระราชมารดาได้ทรงปกครองอาณาจักร และทรงปฏิเสธที่จะพระราชทานดินแดนหรือพื้นที่ใด ๆ ให้กับพระสุณิสาซึ่งทำให้ Philippa ไม่มีรายได้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1330 สองปีหลังจากการอภิเษก Philippa ก็ได้รับการสวมมงกุฎให้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษในมหาวิหาร Westminster ในที่สุดเมื่อ Philippa ตั้งครรภ์เจ้าชาย Edward (The Black Prince : เจ้าชายดำ) ได้ 5 เดือน จากนั้นสมเด็จพระราชินี Philippa ทรงให้ประสูติพระราชโอรส 5 พระองค์และพระราชธิดา 7 พระองค์ รวม 12 พระองค์

นอกจากทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ ยังทรงงานเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองแก่พระสวามี และเคยทรงเป็นผู้สำเร็จราชการในคราวที่พระเจ้า Edward III พระสวามีเสด็จไปทรงทำการรบในสงครามร้อยปีอีกด้วย ในช่วงปี ค.ศ. 1346 และ 1347 ในขณะที่ พระเจ้า Edward III ทรงปิดล้อมท่าเรือและเมือง Calais พระองค์ทรงตั้งใจที่จะแขวนคอนายกเทศมนตรีและกลุ่มหัวขโมยเพื่อเป็นการลงโทษที่ชาวเมืองต่อต้านกองทัพของพระองค์เป็นเวลาหลายเดือน สมเด็จพระราชินี Philippa ทรงคุกเข่าต่อหน้าพระสวามี และทรงขอร้องให้พระเจ้า Edward III ทรงไว้ชีวิตชายเหล่านั้น ด้วยคำวิงวอนของพระองค์ พระเจ้า Edward III จึงทรงยอมจำตามที่จะไม่ประหารชีวิต ทำให้มีผู้เรียก สมเด็จพระราชินี Philippa ว่า ราชินีผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา” พระองค์ทรงตกจากหลังม้าขณะเสด็จออกล่าสัตว์กับพระสวามีในปี ค.ศ. 1358 และทำให้สะบักไหล่หัก และทรงใช้ชีวิตช่วงสองสามปีสุดท้ายด้วยความเจ็บปวด

สมเด็จพระราชินี Philippa สิ้นพระชนม์ที่พระราชวังวินด์เซอร์ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระสวามี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1369 และพระศพถูกฝังเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1370 ในมหาวิหาร Westminster ซึ่งปัจจุบันยังคงมีหลุมฝังพระศพและพระรูปจำลองของพระองค์อยู่ และ Queen's College แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1341 โดย Robert de Eglesfield หนึ่งในอนุศาสนาจารย์ของพระองค์ได้ตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระราชินี Philippa และอยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระองค์อีกด้วย

Charlotte of Mecklenburg-Strelitz (19 พฤษภาคม ค.ศ. 1744 - 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1818) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีซึ่งทรงมีเชื้อผิวสีอีกพระองค์หนึ่งแห่งราชสำนักอังกฤษ ทรงเป็นธิดาสุดท้องของดยุก Charles Louis Frederick of Mecklenburg ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูล Martim Afonso Chichorro และ เจ้าหญิง Elisabeth Albertine of Saxe-Hildburghausen พระนามเดิมคือ Sophia Charlotte แม้จะทรงเป็นเจ้าหญิงเยอรมัน แต่พระองค์ก็มีเชื้อชาติส่วนเสี้ยวหนึ่งเป็นแอฟริกัน ด้วยทรงมีเสด็จย่าเป็นเจ้าหญิงจากโปรตุเกส จึงทรงเป็นพระญาติห่างๆ ของพระเจ้า Alfonso III แห่งโปรตุเกส ซึ่งมีพระราชโอรสองค์หนึ่งกับ Madragana Ben Aloandro (Maior or Mór Afonso(ในภายหลัง) โดยสืบเชื้อสายจากชนเผ่ามัวร์) คือ Martim Afonso Chichorro อภิเษกสมรสกับพระชายาผิวสี และให้กำเนิดลูกหลานมากมาย

เมื่อพระเจ้า George III ขึ้นครองบัลลังก์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ด้วยการสวรรคตของเสด็จปู่ พระเจ้า George II ขณะทรงมีพระชนมายุ 22 ชันษา และทรงยังไม่ได้อภิเษกสมรส พระราชมารดาแม่และที่ปรึกษาต่างกระตือรือร้นที่จะให้พระองค์ทำการอภิเษกสมรส โดยเลือกเอาเจ้าหญิง Charlotte of Mecklenburg-Strelitz วัย 17 ชันษา ด้วยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหญิง Charlotte ทรงถูกเลี้ยงดูมาในดินแดนเยอรมันเหนือซึ่งไม่ค่อยมีนัยสำคัญทางการเมืองกับอังกฤษ ดังนั้นจึงอาจไม่มีประสบการณ์หรือความสนใจในการเมือง เพื่อให้แน่ใจว่า พระเจ้า George III จะกำกับเจ้าหญิง Charlotte ได้ จึงมีกฎ "ไม่เข้าไปยุ่ง" ซึ่งเป็นกฎที่เจ้าหญิง Charlotte ยินดีที่จะทรงปฏิบัติตาม

พระเจ้า George III ทรงประกาศต่อรัฐสภาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1761 ว่า ทรงตั้งใจที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง Charlotte of Mecklenburg-Strelitz หลังจากนั้นคณะผู้ดูแลคุ้มกันซึ่งนำโดยเอิร์ล Simon Harcourt เดินทางไปเยอรมนีเพื่อนำเสด็จเจ้าหญิง Charlotte มายังอังกฤษ พวกเขาไปถึง Strelitz ในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1761 และได้รับการต้อนรับในวันรุ่งขึ้นโดยดยุก Adolphus Frederick IV ผู้ครองราชย์ผู้เป็นพระเชษฐาของเจ้าหญิง Charlotte ซึ่งดยุก Adolphus Frederick IV ได้ลงนามในสัญญาการอภิเษกสมรสกับเอิร์ล Harcourt หลังจากครบสามวันของการเฉลิมฉลอง

ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1761 เจ้าหญิง Charlotte เสด็จออกเดินทางไปอังกฤษพร้อมกับพระเชษฐาคือ ดยุก Adolphus Frederick IV และคณะผู้ดูแลคุ้มกันของอังกฤษ ในวันที่ 22 สิงหาคมพวกเขาไปถึงเมืองท่า Cuxhaven ซึ่งมีกองเรือขนาดเล็กรอที่จะส่งคณะไปยังอังกฤษ การเดินทางนั้นค่อนข้างยากลำบากมาก กองเรือเจอกับพายุกลางทะเลถึงสามครั้ง และเข้าเทียบท่าที่เมืองท่า Harwich ในวันที่ 7 กันยายน คณะเดินออกเดินทางต่อไปกรุงลอนดอน แวะพักที่เมือง Witham หนึ่งคืนที่บ้านพักของ Lord Abercorn และมาถึงพระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน เวลา 15.30 น. ในวันรุ่งขึ้น โดย พระเจ้า George III และพระบรมวงศานุวงศ์รอต้อนรับที่ประตูสวน ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกของเจ้าสาวและเจ้าบ่าว เวลา 21.00 น. ในเย็นวันเดียวกันนั้น (8 กันยายน พ.ศ. 2304) ภายในเวลาไม่ถึงหกชั่วโมงหลังจากเจ้าหญิง Charlotte เสด็จมาถึงก็ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้า George III พระราชพิธีจัดขึ้นที่ Chapel Royal พระราชวังเซนต์เจมส์ โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี Thomas Secker มีเพียงฝ่ายราชวงศ์ของเจ้าหญิง Charlotte ที่เดินทางมาจากเยอรมนีและแขกอีกไม่กี่คนเท่านั้นที่ร่วมเป็นสักขีพยาน และเจ้าหญิง Charlotte ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี Charlotte แห่งอังกฤษ

ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสนั้นเจ้าหญิง Charlotte ยังตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้เลย จึงทรงต้องเรียนภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน ตามเงื่อนไขในสัญญาการอภิเษกสมรสคือ "เจ้าหญิงต้องทรงเข้าร่วมเป็นสมาชิกคริสตจักรแองลิกัน และอภิเษกสมรสกันตามพิธีกรรมของชาวอังกฤษ และต้องไม่ข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย" แม้ว่าสมเด็จพระราชินี Charlotte จะสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามอิสรภาพระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและชาวอาณานิคมในอเมริกา แต่พระองค์ก็ทรงทำตามข้อตกลงในสัญญาการอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาสิบห้าพระองค์ โดยสิบสามพระองค์ทรงอยู่รอดจนวัยผู้ใหญ่ พระราชโอรสพระองค์โตคือ พระเจ้า George IV และพระราชโอรสพระองค์ที่สี่คือ เจ้าชาย Edward ดยุกแห่ง Kent และ Strathearn ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย

สมเด็จพระราชินี Charlotte ทรงสร้างคุณูปการให้กับอังกฤษไว้อย่างมากมาย ทรงรักการอ่าน และทรงสนพระทัยในศิลปกรรม เป็นที่รู้กันว่า สมเด็จพระราชินี Charlotte ได้ทรงสนับสนุน Johann Christian Bach ทั้งยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ภรรยาของ Bach หลังจากการเสียชีวิตของ Bach อีกด้วย พระองค์ยังทรงได้อุปถัมภ์ Wolfgang Amadeus Mozart ซึ่งตอนอายุแปดขวบได้ถวายบทประพันธ์เพลง 3 ชิ้นให้กับสมเด็จพระราชินี Charlotte ตามพระสงค์ สมเด็จพระราชินี Charlotte ยังทรงเป็นนักพฤกษศาสตร์สมัครเล่นอีกด้วย ทั้งยังทรงช่วยก่อตั้ง Kew Gardens โดยทรงนำต้น Strelitzia reginae (Bird of Paradise) ซึ่งเป็นไม้ดอกจากแอฟริกาใต้ ซึ่งสมเด็จพระราชินี Charlotte ทรงเป็นพระองค์แรกที่ทรงมีดอกไม้พันธุ์นี้ในพระตำหนักที่ประทับ ในปี พ.ศ. 2343 ได้ทรงแนะนำต้นคริสต์มาสให้กับอังกฤษ และกล่าวกันว่า ทรงเป็นผู้นำในการตกแต่งเทศกาลคริสมาสด้วย 'ขนมหวาน อัลมอนด์ ลูกเกด ผลไม้และของเล่น นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งโรงพยาบาล Queen Charlotte Maternity ในกรุงลอนดอน อันเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็กที่เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ

สมเด็จพระราชินี Charlotte สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2361 ที่พระตำหนักดัตช์ในเซอร์เรย์ ปัจจุบันคือ พระราชวังคิว เบื้องพระพักตร์พระราชโอรสพระองค์โต เจ้าชาย Regent ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมศพถูกฝังอยู่ที่โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ งานเขียนส่วนพระองค์เพียงชิ้นเดียวที่คงอยู่รอดมาได้คือพระราชหัตถเลขา 444 ฉบับของสมเด็จพระราชินี Charlotte Queen Charlotte ถึงพระเชษฐาที่สนิทสนิทที่สุด Charles II (Grand Duke of Mecklenburg-Strelitz) ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง สมเด็จพระราชินี Charlotte รับบทโดย Helen Mirren ในภาพยนตร์เรื่อง The Madness of King George ปี พ.ศ. 2557 และโดย Golda Rosheuvel ใน Bridgerton ภาพยนตร์ซีรีส์ของ Netflix ในปี พ.ศ. 2563 ที่บอกเล่าชีวิตสังคมชั้นสูงของอังกฤษในยุคปี พ.ศ. 2356 โดยย้อนยุคโรแมนติกทั้งหมด 8 ตอน

มีสถานที่มากมายซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระราชินี Charlotte ได้แก่ สถานที่ที่ตั้งชื่อตามพระองค์ ได้แก่ หมู่เกาะ Queen Charlotte (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Haida Gwaii) ในมณฑลบริติชโคลัมเบีย แคนาดา และ Queen Charlotte City บน Haida Gwai i; Queen Charlotte Sound (ไม่ไกลจากหมู่เกาะ Haida Gwaii); Queen Charlotte Channel (ใกล้นครแวนคูเวอร์ มณฑลบริติชโคลัมเบีย แคนาดา); Queen Charlotte Bay ใน West Falkland; Queen Charlotte Sound เกาะใต้ นิวซีแลนด์; ป้อมปราการหลายแห่งรวมทั้งป้อมชาร์ลอตต์เซนต์วินเซนต์; ชาร์ลอตส์วิลล์เวอร์จิเนีย; ชาร์ลอตต์ทาวน์, เกาะปรินซ์เอ็ดเวิร์ด; ชาร์ล็อต นอร์ทแคโรไลนา เมคเลนบูร์กเคาน์ตี้ นอร์ทแคโรไลนา; เมคเลนบูร์กเคาน์ตี้ เวอร์จิเนีย; Charlotte County, Virginia, Charlotte County, Florida, Port Charlotte, Florida, Charlotte Harbor, Florida และ Charlotte รัฐเวอร์มอนต์ Queen Street หรือ Lebuh Queen ตามที่รู้จักกันในภาษามาเลย์เป็นถนนสายหลักในปีนัง มาเลเซีย ซึ่งก็ตั้งชื่อตามพระองค์ ในตองกาพระราชวงศ์รับพระนามว่า Sālote (Charlotte ในภาษาตองกา) เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์ได้แก่ Sālote Lupepauʻu และSālote Tupou III

ดอกแบบเบี้ยใหม่ ได้ใจลูกหนี้เต็ม ๆ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะเห็นข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงเรื่องดอกเบี้ยในรอบเกือบ ๆ 100 ปีนับแต่ที่ ป.พ.พ. เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468

โดยสาระสำคัญของการแก้ไขดังกล่าว คือ การปรับลดดอกเบี้ยในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันไว้จากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 3 ต่อปี และปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 5 ต่อปี รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้คิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง ไม่รวมส่วนของเงินต้นหรือค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

แต่ลูกหนี้ทั้งหลายอย่าพึ่งดีใจไปนะครับ เพราะ กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับในตอนนี้ เพราะหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การนำร่างกฎหมายนั้นเข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของดังกล่าวยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีก 3 วาระ แล้วหลังจากนั้นถึงจะมีผลเป็นกฎหมายออกมาให้เราได้ใช้กัน ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. จะยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อปีที่แล้ว (2563) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกประกาศ เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ออกมาโดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2563 แล้ว

แปลว่า การกู้ยืมเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินใด ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. จะต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวแล้ว ไม่ต้องรอให้สภาผู้แทนมีมติแก้ไข ป.พ.พ. แต่อย่างใด

สาระสำคัญของประกาศ ธปท. นั้นจะคล้ายกับร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. นั่นแหละครับ คือ มีการปรับปรุงแก้ไขวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน รวมถึงกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้มีความเป็นธรรมกับลูกหนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งประกาศของ ธปท. ดังกล่าวจะมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้ครับ

หนึ่ง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะ “ต้องคิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง” ห้ามนำเงินต้นที่คงค้างทั้งหมด หรือเงินค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเข้ามารวมเพื่อคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว

มาลองดูตัวอย่างกันครับ สมมุติว่านายสมชายกู้เงินซื้อบ้าน 5 ล้านบาท กำหนดผ่อนชำระ 20 ปี คิดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 8 ต่อปี ตกลงค่างวดไว้ 42,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันนายสมชายผ่อนชำระไปแล้ว 24 งวด งวดที่ 25 เกิดผิดนัด และมาชำระล่าช้าไป 1 เดือน ทั้งนี้ ในสัญญาได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ร้อยละ 10 ต่อปี นายสมชายจะต้องชำระหนี้ดอกเบี้ยผิดนัด ดังนี้

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม แม้นายสมชายผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง แต่ธนาคารจะถือว่านายสมชายผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมด การคิดดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ธนาคารจะนำเงินต้นคงค้างทั้งหมดมาคิดดอกเบี้ยจากนายสมชาย เช่นกรณีนี้ นายสมชายยังเหลือหนี้เงินต้นอีก 4.77 ล้านบาท นายสมชายจะต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 10 ต่อปี จากยอดเงินต้น 4.77 ล้านบาท

ดังนั้น นายสมชายจะต้องชำระเงินดอกเบี้ยผิดนัด 1 เดือน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น

                                     4,770,000 x 2% x 30/365 = 7,841.10 บาท

และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยค้างชำระในงวดที่ 25 นายสมชายจะต้องชำระดอกเบี้ยรวม 32,000 + 7,841.10 = 39,841.10 บาท

แบบใหม่ ตามประกาศของ ธปท. ที่แก้ไขใหม่ ธนาคารจะไม่สามารถนำเงินต้นคงค้าง 4.77 ล้านบาทมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ ธนาคารจะต้องพิจารณาก่อนว่าในงวดที่ 25 ที่นายสมชายผิดนัดชำระหนี้นั้น งวดดังกล่าวมีเงินต้นที่นายสมชายจะต้องชำระอยู่เท่าไหร่ แล้วหลังจากนั้นธนาคารค่อยเงินต้นในงวดดังกล่าวมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

จากตัวอย่าง งวดที่ 25 ที่นายสมชายผิดนัดชำระหนี้นั้น ความจริงแล้วมีเงินต้นที่ค้างชำระเพียง 10,000 บาท แปลว่าธนาคารจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับนายสมชายได้เพียง

                                           10,000 x 2% x 30/365 = 16.44 บาท

และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยค้างชำระในงวดที่ 25 นายสมชายจะต้องชำระดอกเบี้ยรวม 32,000 + 16.44 = 32,016.44 บาท แปลว่าตามประกาศใหม่ของ ธปท. นายสมชายจะสามารถประหยัดดอกเบี้ยผิดนัดลงได้เกือบ ๆ 8 พันบาทเลยทีเดียว

สอง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้แค่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เท่านั้น ไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้เองอีกต่อไป

สมมุติว่านายสมชายกู้เงินธนาคาร 1 แสนบาท โดยตกลงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ร้อยละ 8 ต่อปี หากนายสมชายผิดนัดชำระหนี้

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม ธนาคารสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดชำระหนี้เท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่น ธนาคารอาจกำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็ได้

แบบใหม่ ตามประกาศของ ธปท. ที่แก้ไขใหม่ ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวก 3% ดังนั้นในกรณีตามตัวอย่างที่ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นายสมชายไว้ร้อยละ 8 ต่อปี ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากนายสมชายได้สูงสุดเพียงร้อยละ 8 + 3 = 11 ต่อปีเท่านั้น

สาม กำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะ “ต้องตัดชำระค่างวดที่ค้างขำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก” ไม่ใช่นำเงินที่ชำระเข้ามาไปตัดค่าธรรมเนียม ตามด้วยดอกเบี้ยก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือไปตัดเงินต้นแบบในอดีต

ตัวอย่างเช่น นายสมชายขอสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคาร และตกลงกันชำระเงินค่างวดกัน 10,300 บาทต่อเดือน โดยค่างวด 10,300 บาทนั้น ความจริงแล้วเป็นการชำระคืนเงินต้น 6,000 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และค่าธรรมเนียม 300 บาท หากนายสมชายค้างชำระ 3 งวด แล้วนำเงินมาชำระ 10,300 บาท

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม ธนาคารจะนำเงิน 10,300 บาทนั้นไปชำระค่าธรรมเนียมที่ค้าง 3 งวดก่อน จากนั้นนำเงินส่วนที่เหลือไปชำระดอกเบี้ย และถ้ามีเหลือถึงจะไปชำระคืนเงินต้น

                             เงินที่นายสมชายชำระเข้ามา                   10,300 บาท

                             ชำระค่าธรรมเนียม 3 งวด                     10,300 – (300 x 3)   =   9,400 บาท

                             ชำระดอกเบี้ยที่ค้าง 3 งวด                     9,400 – (4,000 x 3)  = - 2,600 บาท

แปลว่าเงิน 10,300 บาทนั้นจะชำระได้เพียงค่าธรรม 900 บาท และดอกเบี้ย 9,400 บาทเท่านั้น นายสมชายยังคงค้างดอกเบี้ยอีก 2,600 บาท และที่สำคัญ คือ เงินที่นายสมชายชำระเข้ามาดังกล่าว ไม่ได้ไปชำระคืนเงินต้นเลยแม้แต่บาทเดียว

แบบใหม่ ธนาคารจะต้องนำเงิน 10,300 บาท นั้นไปชำระค่างวดที่ค้างชำระเก่าที่สุดก่อน ซึ่งค่างวดนั้นจะหมายความรวมถึงค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้น

แปลว่าตามประกาศ ธปท. ฉบับใหม่ เงิน 10,300 บาทที่นายสมชายจ่ายเข้ามานั้นจะไปชำระค่าธรรมเนียม 300 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และเงินต้น 6,000 บาท ของงวดเก่าสุดที่ค้างอยู่ ซึ่งจะต่างจากแบบเดิมที่เงิน 10,300 บาท ของนายสมชายจะไม่ถูกนำไปชำระคืนเงินต้นเลย

จะเห็นได้ว่าประกาศของ ธปท. ฉบับใหม่นี้ช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสชำระหนี้คืนได้มากขึ้น ไม่เจอสภาวะหนี้สินแบบดินพอกหางหมู ที่ชำระเข้าไปเท่าไหร่ เงินนั้นก็ถูกนำไปชำระแต่ค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ย โดยเงินต้นไม่ลดลงเลย ทำให้ไม่รู้ว่าจะสามารถชำระหนี้คืนทั้งหมดได้เมื่อไหร่ และสุดท้ายก็อาจถูกฟ้องบังคับยึดทรัพย์สิน หรือต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายไป

สุดท้ายนี้ ผมก็ต้องขอฝากท่านผู้อ่านเอาไว้ว่า แม้กฎหมายจะออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราจะต้องไม่ก่อหนี้เกินตัว และเมื่อมีหนี้แล้วเราก็ต้องมีวินัยในการชำระหนี้คืนด้วย เพราะปัญหาหนี้สินนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของคนจำนวนมากจริง ๆ

ศึกษาประกาศ ธปท. เพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/FPG/2563/ThaiPDF/25630272.pdf

อย่ามองข้าม “ตลาดชนบทอินเดีย”

คนทั่วไปมักจะมองว่าอินเดียมีแต่ผู้คนที่ยากจนไม่มีกำลังซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริโภคอินเดียในเขตชนบทย่อมมีกำลังซื้อต่ำกว่าคนในเขตเมือง แต่ถ้าคิดให้ดีจะพบว่าไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ยังไงๆก็ต้องกินต้องใช้สินค้าที่จำเป็นขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งก็คือสินค้าอุปโภคบริโภคที่นิยมเรียกกันว่า FMCG หรือ Fast-Moving Consumer Goods นั่นเอง โดย FMCG จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขายได้เร็วเพราะคนทั่วไปต้องใช้ในชีวิตประจำวันและเป็นสินค้าที่ใช้แล้วหมดไป

ที่สำคัญก็คือ แนวโน้มการบริโภคสินค้า FMCG ในเขตชนบทของอินเดียกลับมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดชนบทอินเดียประกอบไปด้วยหมู่บ้านประมาณ 650,000 หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ 850 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ของประชากรทั้งหมดของอินเดียและมีสัดส่วนของ GDP อยู่ที่ประมาณ 50% ของ GDP รวมทั้งประเทศ

และด้วยแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องรวมทั้งมีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล ก็เลยส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทจําหน่ายสินค้า FMCG  หลายบริษัทในอินเดียกลับมาบุกตลาดชนบทอินเดียอีกครั้ง โดยคาดการณ์ว่าผู้บริโภคในชนบทจะเลือกซื้อสินค้าที่มีแบรนด์แทนสินค้าขายปลีกที่ไม่มีแบรนด์ ซึ่งถือเป็นโอกาสของบริษัทเหล่านี้ในการผลักดันผลิตภัณฑ์อาทิ สบู่ แชมพู บิสกิต เครื่องดื่ม และอาหารแปรรูปในบรรจุภัณฑ์ แม้ว่าอาจจะต้องตั้งราคาต่ำกว่าก็ตาม โดยอุปสงค์ในสินค้า FMCG จากตลาดชนบทเติบโตเร็วกว่าจากตลาดในเมืองมาหลายไตรมาสแล้ว และคาดว่าอุปสงค์ในเมืองเล็กและเขตชนบทจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Nestle India วางแผนที่จะขยายการเข้าถึงผู้บริโภคในเขตชนบทเพิ่มขึ้น 120,000 หมู่บ้านภายในปี 2567 โดย Nestle India พยายามที่จะขยายตลาดไปยังเขตชนบทมาหลายปีแล้ว โดยในปี 2560 สินค้าของบริษัทฯ วางจําหน่ายอยู่ในหมู่บ้านราว 1,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ แต่ในปี 2561 ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 89,000 หมู่บ้าน ทั้งนี้ ยอดขายราว 75% ของ Nestle India มาจากเขตเมือง และที่เหลือมาจากเขตชนบท เพราะฉะนั้นการขยายตลาดไปยังเขตชนบทเพิ่มขึ้นย่อมหมายถึงการปรับสัดส่วนสินค้าหรือการออกสินค้าใหม่ที่ตรงตามความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท Nielsen ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยตลาดระบุว่ายอดขายสินค้า FMCG ในเขตชนบทคิดเป็น 39% ของยอดขายสินค้า FMCG ในอินเดียทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าตลาดชนบทอินเดียยังเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้ Nielsen ยังระบุอีกว่าตลาด FMCG ในเขตชนบทยังขยายตัวอยู่ในอัตราสูงราว 14.2% ในเดือนธันวาคม 2563 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนในเขตเมืองเติบโตเพียง 0.8% เท่านั้น ซึ่งตลาดชนบทในช่วงก่อน COVID-19 เติบโตอย่างเชื่องช้าเนื่องจากข้อจํากัดด้านรายได้ แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทําให้มีการอพยพออกจากเมืองใหญ่มากขึ้น และการบริโภคในเขตเมืองเล็กและชนบทก็เติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการขยายตัวของรายได้ต่อหัวในตลาดเหล่านี้อาจมีความท้าทายอยู่ บริษัท FMCG จึงอาจจะใช้กลยุทธ์ในการออกสินค้าแบบเน้นความคุ้มค่า (Value Pack) เพื่อที่จะแข่งขันกับคู่แข่งในท้องถิ่นได้

Marico เป็นอีกหนึ่งบริษัท FMCG ของอินเดียที่ได้เพิ่มจํานวนผู้ค้าส่งในเขตชนบท ซึ่งทําให้บริษัทฯอาจจะสามารถขยายการกระจายสินค้าได้ถึง 20% ในอีกไม่กีปีข้างหน้า เช่นเดียวกับบริษัทผลิตบิสกิต Britannia Industries ที่ได้เพิ่มจํานวนผู้จัดจําหน่ายในตลาดชนบทจาก 19,000 รายในเดือนมีนาคม 2563 เป็น 23,000 รายในเดือนธันวาคม 2563

ทั้งนี้ การบริโภคในเขตชนบทอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลมาจากระดับรายได้และความต้องการสินค้าใหม่ๆที่เพิ่มขึ้น โดยตลาดสินค้า FMCG ในเขตชนบทคาดว่าจะเติบโตจาก 2.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ  ในปี 2561 เพิ่มเป็น 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 อย่างไรก็ตาม การซื้อขายในตลาดชนบทส่วนใหญ่ยังเป็นการค้าขายแบบค้าปลีกตามร้านค้าขนาดเล็กและไม่เป็นระบบ (Kirana Store) หรือเรียกง่ายๆแบบบ้านเราก็คือร้านโชห่วยนั่นเอง ผู้ค้าสินค้า FMCG ขนาดใหญ่ที่เป็นระบบจึงอาจจะวางแผนเจาะตลาดโดยการสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านร้านค้าปลีกที่ทันสมัย และมีการกระจายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซไปพร้อมกัน เนื่องจากคาดว่าการจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้า FMCG ในอินเดียในปี 2563 กว่า 40% จะเป็นการซื้อขายออนไลน์ ทั้งยังคาดว่าตลาด FMCG ออนไลน์ในอินเดียในปี 2563 มีมูลค่ากว่า 4.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วจาก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560

อย่างไรก็ตาม แม้การบริโภคสินค้า FMCG ส่วนใหญ่จะมาจากเขตเมือง แต่การบริโภคสินค้า FMCG บางประเภท ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย ผลิตภัณฑ์ดูแลเสื้อผ้า และเครื่องดื่มร้อนราว 40% มาจากเขตชนบท ส่วนสินค้าประเภทอาหาร เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม คาดว่าจะเติบโตทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท โดยผู้เล่นสําคัญในตลาด FMCG อินเดียในปัจจุบัน ได้แก่ HUL (Hindustan Unilever Ltd.), ITC (Indian Tobacco Company), Nestle India, GCMMF (AMUL), Dabur India, Asian Paints (India), Cadbury India, Britannia Industries, Procter & Gamble (P&G) Hygiene and Health Care, Marico Industries, Nirma, Coca-Cola และ Pepsi เป็นต้น โดย HUL และ Dabur India มียอดขายกว่าครึ่งมาจากเขตชนบทของอินเดียซึ่งมีประชากรราว 850 ล้านคน และเป็นคนที่อยู่ในวัยทํางานราว 400 ล้านคน

โดยเฉลี่ยแล้วชาวอินเดียในเขตชนบทมีกําลังซื้อน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของชาวอินเดียในเขตเมือง แต่ก็ถือเป็นตลาดใหม่ (Untapped Market) ที่ผู้เล่น FMCG หลายรายกําลังพยายามเข้าไปตีตลาดให้ได้ และด้วยสาเหตุที่หลายบริษัทยังคงมีมาตรการให้พนักงานทํางานที่บ้าน ประกอบกับการอพยพย้ายกลับเมืองเล็กหลังมาตรการล็อคดาวน์ในเดือนมีนาคม 2563 ทําให้การบริโภคในเมืองรองและชนบทเติบโตขึ้น นอกจากนี้ การเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตรวมถึงความนิยมในอีคอมเมิร์ซก็เพิ่มขึ้นอีกด้วย ทําให้ตลาดชนบทเป็นที่น่าสนใจไม่แพ้ตลาดในเมืองใหญ่เช่นกัน

ก็ขอฝากส่งท้ายไว้ว่าอินเดียยังมีอะไรให้เราแสวงหาอีกมากมายโดยเฉพาะ “โอกาส” ที่รอให้เราเปิดใจที่จะพบและคว้าไว้...แม้แต่ “ตลาดชนบท” ที่เรารู้สึกว่ายากจน แต่สุดท้ายก็ยังมี “โอกาส” ให้ทุกคนวิ่งเข้าไปแย่งชิงกันในที่สุด

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 2

ในตอนแรกได้กล่าวถึงสาเหตุหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจในการคอร์รัปชั่น คือ ทรัพย์แผ่นดินหรือสาธารณสมบัติ ซึ่งรัฐหรือประชาชนเป็นเจ้าของร่วมกัน ผู้อ่านก็คงสงสัยว่า บ้านเมืองมีขื่อมีแป ซึ่งหมายถึง มีกฎหมาย กฎเกณฑ์ในสังคม ก็น่าจะเป็นเครื่องมือที่คอยยับยั้งการกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบได้ ในตอนนี้จึงขอกล่าวถึง ช่องว่างของกฎหมาย โดยใช้แว่นขยายทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อชี้ให้เห็นว่า กฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวง ยิ่งไปกว่านั้น การคอร์รัปชั่นโดยถูกกฎหมายนั้น “เบ่งบาน” มากขึ้นเนื่องจากความไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมหรือกลโกงของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ

มีสุภาษิตเยอรมันบทหนึ่งกล่าวว่า “Der Teufel steckt im Detail.”  ซึ่งใกล้เคียงกับสำนวนในภาษาอังกฤษว่า “The devil is in the details.” แปลเป็นไทยว่า “ปีศาจอยู่ในรายละเอียด” เมื่อนำมาประยุกต์กับการคอร์รัปชั่นมักจะพบว่า กฎหมายหรือระเบียบที่ออกมามักจะให้อำนาจในกฎหมายลูก หลายครั้งต้องตามไปดูว่า รายละเอียดที่แท้จริงเป็นอย่างไร และให้อำนาจใดกับใคร แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนทั่วไปในการทำความเข้าใจตัวบทกฎหมาย

ความไม่เท่าเทียมในข้อมูลข่าวสาร (Incomplete Information) ความไม่รู้กฎหมาย จึงเป็นปัจจัยเสริมทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นที่ง่ายและเร็วมากขึ้น

ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม คือ การฟ้องคดีทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืน ไม่ว่าจะเพื่อการสร้างรถไฟฟ้า ถนน ทางด่วน สะพานลอย เสาไฟ หรือการกำหนดรูปแบบรายการ รายละเอียดอุปกรณ์ เครื่องมือประกอบแบบ ล้วนต้องอาศัยอำนาจรัฐและกฎหมายในการดำเนินการ หากผู้ใช้อำนาจนั้นกระทำการโดยสุจริตปัญหาการฟ้องร้อง ร้องเรียน จะมีไม่มาก แต่หากลองสวมหมวกเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ตรงไปตรงมาแล้ว การใช้อำนาจรัฐและกฎหมาย สามารถสร้างประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นโดยง่าย การเรียกรับผลประโยชน์จากการกำหนดจุด การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรูปแบบรายการโดยมิชอบ เป็นกรณีที่พบมากในการร้องเรียนแต่มีช่องว่างทางกฎหมาย

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร โดยมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันบัญญัติว่า “การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี หรือนับแต่วันที่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและไม่ได้รับหนังสือชี้แจงจากหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือได้รับแต่เป็นคำชี้แจงที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่มีเหตุผล แล้วแต่กรณี เว้นแต่จะมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น”

การกำหนดจุดเสาตอม่อรถไฟฟ้า สะพานลอย ทางออกของถนน มีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนและเกี่ยวพันทั้งด้านวิศวกรรม ความปลอดภัย ความสวยงาม แต่มีช่องว่างที่เอื้อต่อการฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยถูกกฎหมาย เพราะในขั้นตอนสำรวจจะมีทีมลงพื้นที่ก่อนการเวนคืน มีกระบวนการทางเอกสารและการเวนคืน ทำให้หากเกิดการกระทำทุจริตประพฤติมิชอบแล้วประชาชนทั่วไปจะฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ แต่สุ่มเสี่ยงในการถูกยกฟ้องเพราะพ้นกำหนดการฟ้องคดีที่มีระยะเวลา 90 วัน

วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี อาจถูกนับตั้งแต่วันที่ทีมสำรวจมาแจ้งด้วยวาจา หรือหน่วยงานออกเอกสารว่าอยู่ในเขตทางแต่ยังไม่เวนคืน เป็นต้น “รายละเอียด” เหล่านี้ ประชาชนทั่วไปไม่มีทางรู้เท่าทันกลโกงเล่ห์เหลี่ยมของเจ้าหน้าที่รัฐที่คดโกง และสำคัญที่สุดคือ ประชาชนไม่อยากเป็นความ ถึงกับมีคำกล่าวว่า “กินขี้หมาดีกว่าเป็นความ” ก็ได้แต่นึกโทษโชคชะตา ทั้งที่การทุจริตประพฤติมิชอบเป็นกรรมปัจจุบันและเป็นการกระทำผิดของทุรชน

ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรูปแบบรายการโดยมิชอบและขู่กรรโชกเรียกผลประโยชน์จากผู้รับเหมาโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบโครงการหรือเป็นกรรมการตรวจรับ เป็นกรณีที่ผู้รับเหมาพบบ่อยครั้ง และปล่อยผ่านเพราะไม่อยากมีเรื่องราว ทำให้การกระทำทุจริตประพฤติมิชอบเติบโตขึ้นและแทรกซึมลงไปใน “รายละเอียด”

อีกเรื่องหนึ่งคือ ประเด็นเรื่อง การงด หรือ ลดค่าปรับ หรือ การขยายเวลา ของโครงการรัฐนั้น ที่ปรากฏว่า ผู้มีอำนาจที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานมักใช้ช่องทางนี้ในการเอื้อประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น จะใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ทั้งที่กฎหมายระบุรายละเอียดชัดแจ้งตั้งแต่เป็น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ จนพัฒนามาเป็น พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

มาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า

“การงดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้มีอํานาจที่จะพิจารณาได้ตามจํานวนวันที่มีเหตุเกิดขึ้นจริง เฉพาะในกรณี ดังต่อไปนี้

(๑) เหตุเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐ

(๒) เหตุสุดวิสัย

(๓) เหตุเกิดจากพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่คู่สัญญาไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย

(๔) เหตุอื่นตามที่กําหนดในกฎกระทรวง

หลักเกณฑ์และวิธีการของดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือการขยายเวลาทําการตามสัญญาหรือข้อตกลง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกําหนด”

ยังมีประเด็นเรื่อง “ค่าโง่” ซึ่งมีรายละเอียดมาก และน่าจะนำขึ้นมาเขียนเพราะสังคมควรได้เรียนรู้เรื่องการบริหารสัญญาภาครัฐ ที่เจือด้วยการทุจริตประพฤติมิชอบ นำไปสู่การเสียประโยชน์ของรัฐโดยไม่ควรเสีย ซึ่งพบว่าพัวพันกับผู้มีอำนาจและนักกฎหมายที่เลว

ผู้สันทัดในทางกฎหมายเคยให้ความรู้ผู้เขียนว่า “นักกฎหมายที่เลว จะบิดเบือนข้อกฎหมาย หรือ บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือ ทำทั้งสองอย่าง” เช่น การขยายเวลาให้เนื่องจาก ฝนตกเยอะ เป็นต้น เพราะนักกฎหมายที่เลวจะรู้ว่า ผู้มีอำนาจที่อาจสมรู้ร่วมคิดมักจะตัดตอนคดีให้ได้และปกปิดนั่งทับเอาไว้ได้ ตัวอย่างที่ผู้มีอำนาจร่วมกับนักกฎหมายที่เลว หรืออาจเป็นคนเดียวกันได้ ก็คือ การกล่าวอ้างว่ามีอำนาจทั้งที่ไม่มี การละเว้นการพิจารณาของคณะกรรมการที่ราชพัสดุโดยอ้างว่าเอกชนให้ผลประโยชน์เหมาะสม เป็นต้น

ดังนั้น การกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบที่มีนักกฎหมายที่เลวผสมโรง หรือมีคราบนักกฎหมายนั้น จึงมักจะจับได้ไล่ทันยาก เพราะความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสาร ความไม่รู้ของหน่วยงานตรวจสอบและกำกับดูแล รวมถึงทัศนคติของประชาชนทั้งเรื่อง การเป็นความ และความเชื่อเรื่องกรรมเก่า

ในความเป็นจริง ยังมีทางออก สำหรับการทุจริตและประพฤติมิชอบที่เกิดจาก “ช่องว่างทางกฎหมาย” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเผยข้อมูล เพราะ “ผีกลัวแสงสว่าง” ซึ่งคอลัมน์นี้จะมาลงรายละเอียดในภายหลัง

ทิ้งท้ายด้วยการขอน้อมนำพระบรมราโชวาท ของรัชกาลที่ 9 มาไว้เพื่อเตือนสติว่า

“...กฎหมายมิใช่ตัวความยุติธรรม หากแต่เป็นบทบัญญัติหรือปัจจัยที่ตราไว้เพื่อรักษาความยุติธรรม

ผู้ใดก็ตามแม้ไม่รูกฎหมายแต่ถ้าประพฤติปฏิบัติด้วยความสุจริตแล้วควรจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเต็มที่

ตรงกันข้าม คนที่รู้กฎหมาย แต่ใช้กฎหมายไปในทางทุจริต ควรต้องถือว่าทุจริต...”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top