ทำไมประเทศเศรษฐีน้ำมันในตะวันออกกลาง ยังต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์? พลังงานทางเลือกที่แฝงด้วยหายนะ

เมื่อไม่นานมานี้ ตุรกีเพิ่งเดินหน้าเปิดตัวเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 3 ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ที่ตั้งอยู่ในเมืองเมอร์ซิน เมืองท่าชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่สำคัญของตุรกี ทางฝั่งทวีปเอเชีย

โรงงานไฟฟ้า Akkuyu ของตุรกีนี้เป็นโปรเจกต์ที่รัสเซียออกทุนสร้างให้ ผ่านบริษัทบริหารพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐที่เรียกว่า Rosatom ซึ่งวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเป็นผู้ก่อตั้ง และจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2018 และคาดว่าน่าจะเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป

และโรงงานไฟฟ้า Akkuyu มีศักยภาพพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 3.5 หมื่นล้านกิโลวัตต์ต่อปี คิดเป็นสัดส่วน 10% ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ ส่วนงบประมาณการลงทุนในการก่อสร้าง ใช้เม็ดเงินสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์

เท่ากับว่า ตุรกีและรัสเซียเป็นหุ้นส่วนพลังงานที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้แนบแน่นยิ่งกว่าเดิม แม้นักวิเคราะห์หลายคนจะมองว่า จะทำให้ตุรกีต้องพึ่งพารัสเซียด้านพลังงานมากเกินไป ถึงขนาดออกทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ด้วยงบมหาศาลให้ นี่ยังไม่นับรวมท่อก๊าซธรรมชาติ และ น้ำมันที่ส่งตรงมาจากรัสเซียเช่นเดียวกัน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ทางตุรกีก็มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่สอง ที่เมืองซีนอปที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลดำ ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกันระหว่างตุรกีและญี่ปุ่น แต่โปรเจกต์โรงไฟฟ้าที่ซีนอป มาหยุดชะงักตั้งแต่บริษัทมิตซูบิชิ ที่จะเข้ามารับสัมปทานก่อสร้างถอนตัวไป ตอนนี้จึงยังไม่มีอะไรคืบหน้า

จึงมีการตั้งคำถามมากมายจากผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา และ นักสิ่งแวดล้อมว่า การที่รัฐบาลตุรกีจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 2 แห่ง ได้ศึกษาความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวบ้างหรือไม่ เนื่องจากตุรกีก็ตั้งอยู่บนแนวแผ่นดินไหวรุนแรงบ่อยครั้ง

และอุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล และฟุกุชิมะ ยังไม่น่ากลัวเพียงพอที่จะทำให้ตุรกีต้องคิดให้หนักๆ กับการครอบครองพลังงานนิวเคลียร์หรอกหรือ?

แต่ดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่ประเทศ 2 ทวีปอย่างตุรกีที่ตัดสินใจยอมรับความเสี่ยงในโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่ประเทศมหาอำนาจในย่านตะวันออกกลางก็เริ่มขยับขยายเข้าสู่เส้นทางพลังงานนิวเคลียร์เช่นกัน

ประเทศในดินแดนตะวันออกกลางที่เริ่มต้นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นประเทศแรกในย่านนี้ ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คืออิหร่าน ที่เริ่มต้นงานก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองบูเชห์ตั้งแต่ปี 1975 โดยให้สัมปทานบริษัทก่อสร้างจากเยอรมันมาสร้างให้

แต่พอหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติอิหร่าน ในปี 1979 ตามมาด้วยสงครามอิรัก-อิหร่าน ในปี 1980  โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ก็หยุดชะงักไปนานมากกว่า 10 ปี แต่ในที่สุดก็กลับมาเดินหน้าต่อ โดยผู้รับสัมปทานรายใหม่ที่ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน  รัสเซียเจ้าเก่าของเรานี่เอง จนเสร็จสมบูรณ์ในปี 2011 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของรัสเซีย พร้อมกับผู้บริหารสูงสุดของ Rosatom ยังไปร่วมพิธีเปิดโรงงานถึงอิหร่าน

จึงนับได้ว่า โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ของอิหร่าน เป็นโครงการพลังงานนิวเคลียร์เพื่อพลเรือนแห่งแรกในย่านตะวันออกกลาง ที่ชาติตะวันตกบางชาติอาจมองว่าเป็นโครงการบังหน้าที่มีแผนการถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ โดยมีรัสเซียอยู่เบื้องหลังก็ตาม

แต่เมื่อมีประเทศแรกนำร่องแล้ว ก็ย่อมมีประเทศที่สองตามมา แถมเป็นหนึ่งในประเทศผู้ทรงอิทธิพลในย่านตะวันออกกลางเสียด้วย ไม่ต้องเดาไปไกล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ UAE นั่นเอง

โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์ของ UAE เริ่มมีการเจรจากันตั้งแต่ปี 2009 ร่วมกับรัฐบาลของเกาหลีใต้ ด้วยงบประมาณก่อสร้างเหลือเฟือถึง 2.44 หมื่นล้านดอลลาร์ และเพิ่งเปิดใช้งานเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

ซึ่งกำลังการผลิตเต็มสูบของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์นี้ จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 25% ของปริมาณการใช้งานเพื่อประชากร 10 ล้านคนในประเทศ และเป็นเป้าหมายสำคัญของการใช้พลังงานทางเลือกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อย เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนของ UAE และใช้เทคโนโลยีใหม่ที่จะยกระดับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อสันติไปสู่มาตรฐานใหม่

ถึงจะรับประกันสวยหรูอย่างไรก็ตาม ก็หนีไม่พ้นข้อพิพาทกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างการ์ต้า ที่มองว่าการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์บารากาห์ ที่อยู่ไม่ห่างจากพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ ถือเป็นภัยคุกคามทั้งด้านสันติภาพและสิ่งแวดล้อมในดินแดนย่านนี้ทั้งหมด

และดูเหมือนว่าความวิตกกังวล ก็เริ่มไต่ระดับกลายเป็นความตึงเครียด เมื่อซาอุดิอาระเบียก็เริ่มสนใจโครงการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์กับเขาด้วยเหมือนกัน โดยเริ่มต้นจากการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ที่ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คิง อับดุลลาซิส ที่ชานกรุงริยาด เพื่อทดลองผลิตกระแสไฟฟ้าใช้ และคาดว่าน่าจะมีการขยายเพิ่ม เนื่องจากมีข่าวการพูดคุยข้อตกลงร่วมมือกับบริษัทเอกชนของเกาหลีใต้ จีน และ สหรัฐอเมริกา

แต่ประเด็นที่หลายคนยังสงสัยคือ การเดินหน้าพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในหลายประเทศย่านตะวันออกกลาง ว่าเป็นพลังงานทางเลือกที่สะอาด ปลอดภัย และเพื่อสันติจริงหรือไม่

เพราะหากมาดูงบลงทุนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 1 แห่ง และงบบริหารจัดการทั้งหมดเพื่อผลิตพลังงาน กับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากพิษของกากสารกัมมันตรี และความยุ่งยากในการกำจัดน้ำปนเปื้อนจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อทั้งคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมได้ยาวนานหลายสิบปี ก็อาจจะไม่คุ้ม

หากไม่นับทรัพยากรน้ำมันของประเทศในย่านนี้ที่มีเป็นจำนวนมากเป็นอันดับต้นๆของโลก การใช้พลังงานจากธรรมชาติทางเลือกอื่นๆ อย่างพลังงานจาก ลม หรือแสงแดด ในดินแดนแห่งนี้ก็มีอย่างเหลือเฟือสุดๆ ที่สามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานสะอาด ปลอดภัย ไร้กังวลกว่ามาก แถมใช้งบประมาณน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้ จึงเกิดข้อสงสัยว่าจำเป็นด้วยหรือที่ต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์

ถึงเรื่องงบประมาณอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ของประเทศเศรษฐีน้ำมัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงกว่านั้นคือมาตรการความปลอดภัย และความโปร่งใส

อย่างที่ทราบกันดี การตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อผลิตพลังงานสักแห่งปัจจัยเรื่องความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรก เพราะหากเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันในเขตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สิ่งที่จะตามมาคงหนีไม่พ้น "ความหายนะ"

แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในย่านนี้บางแห่ง ก็ยังตั้งอยู่ในเขตแนวแผ่นดินไหวที่เสี่ยงมาก อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Akkuyu ในตุรกี หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์บูเชห์ ในอิหร่าน

การเสี่ยงจากภัยธรรมชาติก็เรื่องหนึ่ง แต่ภัยที่เกิดจากปัญหาความมั่นคงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งภูมิภาคนี้ก็มีความอ่อนไหวด้านการเมืองสูง รายล้อมไปด้วยพื้นที่สีแดงที่ยังคุกรุ่นด้วยไฟสงคราม ที่ยังมีการลอบโจมตีทางทหารซึ่งๆหน้า และการลอบโจมตี โดย กลุ่มก่อการร้าย

ซึ่งก็เคยมีข่าวการเล็งเป้าโจมตีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของ UAE โดยกลุ่มกบฏฮูติในเยเมน หรือการลอบโจมตีศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ในอิหร่านที่เมือง Natanz โดยกลุ่มก่อการร้ายในประเทศ การบุกโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในดินแดนซีเรียโดยอ้างว่ามีโรงงานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ลับของรัฐบาลบาซาร์ อัล-อัสซาดซ่อนอยู่

จึงเห็นได้ว่าบริเวณพื้นที่ตั้งเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของแต่ละประเทศในย่านตะวันออกกลางกลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากฝ่ายตรงข้าม ที่เล็งผลให้เกิดความเสียหายได้เป็นวงกว้างหากทำสำเร็จ ซึ่งมันไม่ใช่จุดประสงค์ของการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติเลยแม้แต่น้อย

แล้วทำไมประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลางยังคงเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งๆที่รู้ว่ามีความเสียงไม่ต่างจากการกอดระเบิดไว้ข้างที่นอน

และหากพิจารณาโมเดลของอิหร่าน ที่เริ่มต้นจากโครงการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ก่อนยกระดับสู่งานวิจัยพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ จนกลายเป็นประเด็นที่โดนสหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรจนถึงวันนี้  จึงมองได้ว่า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เป็นบันไดขั้นแรกที่พร้อมจะพัฒนาต่อยอดเป็นอาวุธร้ายแรงได้ทันที เมื่อถึงเวลาจำเป็น

เนื่องจากการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า หรือเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ใช้พื้นฐานเดียวกันคือการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมในเตาปฏิกรณ์ให้ได้ระดับที่ต้องการ หากใช้เป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้า ก็เสริมสมรรถนะยูเรเนียมให้ได้ 3-5% แต่ถ้าต้องการไปให้ถึงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ต้องเสริมสมรรถนะให้ได้สูงเกิน 90% ขึ้นไป

ดังนั้นการยอมทุ่มงบประมาณก้อนโตในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ของดินแดนเศรษฐีน้ำมันตะวันออกกลาง จึงถูกมองว่ามีนัยยะซ่อนเร้นภายใต้ป้ายพลังงานเพื่อสันติ ที่แฝงไปด้วยสัญลักษณ์ด้านความมั่นคง การประกาศแสนยานุภาพ การสร้างพันธมิตรของประเทศมหาอำนาจ ในทางตรงข้ามก็เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความไม่ไว้ใจกัน และพร้อมจะเปิดเป็นประเด็นสงครามเมื่อใดก็ได้

ดังนั้น การกระโดดเข้าสู่กระแสการลดภาวะโลกร้อนของโลกตะวันออกกลางด้วยการพัฒนาโครงการไฟฟ้านิวเคลียร์จึงกลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต่างเฝ้ามองห่างๆ อย่างห่วงๆว่าจะสร้างบรรยากาศการใช้พลังงานสะอาด เพื่อสันติอย่างที่ตั้งใจไว้แต่แรกได้นานแค่ไหน


อ้างอิง 

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Energy_in_Turkey

https://en.m.wikipedia.org/wiki/Nuclear_energy_in_Saudi_Arabia

https://m.dw.com/en/uae-launches-arab-worlds-first-nuclear-power-plant/a-54402851

https://www.csmonitor.com/World/Middle-East/2020/0903/Why-US-wants-Saudis-to-follow-UAE-s-path-to-nuclear-energy

https://www.dailysabah.com/mideast/2017/12/03/yemens-houthis-claim-targeting-nuclear-reactor-in-abu-dhabi-with-missile-attack-uae-denies

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-53305940

https://www.npr.org/2019/05/06/719590408/as-saudi-arabia-builds-a-nuclear-reactor-some-worry-about-its-motives