ฤา…‘พม่า’ จะประวัติศาสตร์ ซ้ำรอย!
วันที่ผมเขียนบทความนี้ ผมได้เห็นประกาศของคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพเมียนมา ได้ออกประกาศว่า ประชาชนมีสิทธิ์ในการปกป้องตนเองจากเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปราบปรามของคณะรัฐประหาร ซึ่งในความคิดของงผมมองว่า ‘นี่มันไม่ใช่แล้ว’ เพราะการประกาศแบบนี้เสมือนการสั่งให้ประชาชนไปตาย
ผมไม่เห็นประโยชน์อันใดจากคนที่ตายไปแล้ว ยกเว้นคนที่ต้องการหาประโยชน์จากจำนวนศพที่มากขึ้น ผมถามเพื่อนพม่าของผมว่า คนพม่าจะได้ประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าไม่มีชีวิตเข้าคูหาไปเลือกตั้ง เพราะโลกมันไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว เมียนมาไม่ใช่ประเทศพม่าในอดีต
เมื่อพูดถึงหัวใจที่ไม่ยอมแพ้ถามว่าดีไหม ผมบอกได้เลยว่าการไม่ยอมแพ้นั้นเป็นสิ่งที่ดีและอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้อยุธยาต้องเสียกรุงถึงสองครั้งก็เป็นได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปการที่สู้อย่างไม่ยอมแพ้อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก หากย้อนไปถึงสมัยราชวงศ์คองบองครั้งเมื่อสงครามพม่า - อังกฤษครั้งที่หนึ่ง การที่พม่ายกทัพไปปราบกบฏยะไข่ หากหากพม่าไม่ได้ยกทัพเข้าไปถึงอัสสัมหรือจิตตะกอง นั่นก็ไม่สามารถทำให้อังกฤษอ้างเหตุผลในการรบกับพม่า และหากในช่วงเวลารบนั้น นายพลมหาพันธุละ เลือกที่จะยอมจำนนเมื่อรู้ว่าตนเพลี่ยงพล้ำ ท่านก็อาจจะไม่จำเป็นต้องเสียชีวิตในสนามรบ และย่างกุ้ง, พะโค จนไปถึงเมืองแปร ก็อาจจะไม่ต้องตกไปเป็นของอังกฤษทั้งหมดก็เป็นได้
เช่นเดียวกันกับในช่วงสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 3 หากฝั่งพม่าเลือกดำเนินนโยบายอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกับทางบริษัท บอมเบย์ เบอร์มาร์ เทรดดิ้ง คอมปะนี แม้จะเสียบ้าง แต่หัวใจยังอยู่ นั่นก็อาจจะทำให้แผนการเข้ายึดพระราชวังมัณฑะเลย์ไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้
กรณียอมหักไม่ยอมงอของพม่า จะเรียกได้ว่าเป็นนิสัยหรือสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของคนพม่าที่ภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีแต่ในขณะเดียวกันหากเราต้องสู้กับศัตรูที่มีพลังทำลายล้างเหนือเรามาก การยอมหักไม่ยอมงอ มันคือกำแพงที่สูงจนนำพาความล่มสลายมายังชีวิตผู้คนและอาณาจักร หากไม่เหลือแม้กระทั่งชีวิตจะใช้วิธีใดไปทวงคืนเอกราชที่ต้องการกันเล่า
หากย้อนมองดูประเทศไทยในยุคที่ยังเป็นสยามประเทศ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ในช่วง รศ. 112 ไทยเองก็ประสบชะตากรรมไม่ต่างกับพระเจ้าธีบอ นั่นคือการถูกรุกรานโดยศัตรูที่มีแสงยานุภาพเกินต้านทาน แต่แทนที่ท่านจะเลือกที่จะสู้จนตัวตายสิ้นเอกราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านทรงกลับเลือกเส้นทางที่รักษาหัวใจแห่งแผ่นดินไทย โดยการเฉือนตัดแผ่นดินให้แก่เหล่าประเทศผู้ล่าอาณานิคมไป ดังปรากฏข้อความในพระราชปรารภที่ว่า “—การเสียเขตแดนแต่เพียงเล็กน้อยตามชายพระราชอาณาจักร ซึ่งเราเองก็ทำนุบำรุงรักษาให้เจริญเต็มที่ไม่ได้นั้น ก็เปรียบเหมือนกับเสียปลายนิ้วของเราไป ยังไกลอยู่รักษาหัวใจกับตัวไว้ให้ดีก็แล้วกัน—”
ในวันนี้ผมก็หวังว่าชาวพม่าที่ต้องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศเมียนมานั้น ขอให้ใช้สติตรึกตรองให้ถี่ถ้วน ว่าเรากำลังไปสู้เพื่อผลประโยชน์ของใครหรือเปล่า..?
ทำไมต้องนำชีวิตไปทิ้งในขณะที่คนปลุกระดมไม่เคยออกมานำทัพเองปล่อยให้พวกคุณนำทัพไปตายกันเอง กลับกันหากวันนี้คนพม่าจะถอยสักหนึ่งก้าว อาจจะไม่ใช่การยอมศิโรราบให้แก่ระบบเผด็จการ แต่เป็นการเปิดทางไปสู่หนทางประชาธิปไตยตามที่คณะรัฐประหารได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี