Tuesday, 1 July 2025
COLUMNIST

เรียกร้องประชาคมโลก จัดการรัฐบาล-ตระกูลผู้นำกัมพูชา หลังรายงานชี้ชัดมีเอี่ยวฟอกเงิน - อาชญากรรมข้ามชาติ

แถลงการณ์ในนามประชาชนไทย
ถึงประชาคมโลก

(17 มิ.ย. 68) เรื่อง การเรียกร้องให้ดำเนินมาตรการต่อรัฐบาลกัมพูชาและตระกูลผู้นำที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ

ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนไทยผู้ตระหนักถึงศักดิ์ศรีของมนุษยชาติ ความยุติธรรม และความมั่นคงของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอใช้โอกาสนี้ในการส่งสารไปยังสหประชาชาติ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ องค์กรสิทธิมนุษยชน และประชาคมโลก เพื่อแสดงความกังวลอย่างลึกซึ้งต่อพฤติกรรมของรัฐบาลกัมพูชาและเครือข่ายอำนาจที่ปกครองประเทศดังกล่าว โดยเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้าน

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า รัฐบาลกัมพูชา ภายใต้การนำของตระกูลฮุน เซน และผู้ใกล้ชิด ได้สร้างเครือข่ายผลประโยชน์ที่เกี่ยวพันกับอาชญากรรมระดับโลก ทั้งในรูปของการฟอกเงินและสนับสนุนธุรกรรมผิดกฎหมายผ่านบริษัทอย่าง Huione Group ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นศูนย์กลางเครือข่ายฟอกเงินระดับโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ตามรายงานของสื่อสหรัฐฯ และบริษัท Elliptic ที่วิเคราะห์บล็อกเชน พบว่า Huione Group และแอปพลิเคชัน Huione Pay ถูกใช้เป็นเครื่องมือหลักในการโอนเงินผิดกฎหมายจากขบวนการ แฮกเกอร์, กลุ่มสแกมเมอร์ รวมถึง การค้ามนุษย์ โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ใน Telegram ซึ่งเป็นแหล่งหลักของการโฆษณาและติดต่อของเครือข่าย Huione มีการพบกลุ่มนายหน้าหลายร้อยกลุ่มที่เสนอ “บริการจัดหาแรงงาน” ซึ่งแท้จริงแล้วคือการบังคับคนจากจีน เวียดนาม มาเลเซีย ให้ทำงานเป็น สแกมเมอร์ในสภาพบังคับ และยังมีผู้หญิงจำนวนมากถูกนำไป Human Trafficking  เช่น ค้าประเวณี หรือ บังคับถ่ายทำภาพยนตร์ลามก

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดมาจากกลุ่มทุน(จีนเทาโพ้นทะเล) ที่หนีการปราบปรามในจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะภายใต้นโยบายเข้มงวดของสี จิ้นผิง พวกเขาเลือกย้ายฐานมายังประเทศกัมพูชา ที่เปิดรับการลงทุนจีนโดยแทบไม่มีเงื่อนไข เขตเศรษฐกิจพิเศษนี้จึงกลายเป็นแหล่งตั้งรกรากใหม่ของกิจกรรมผิดกฎหมาย ทั้งสแกม ฟอกเงิน และค้ามนุษย์ โดยรัฐบาลกัมพูชาแห่งยอมผ่อนปรนเพื่อแลกกับรายได้ เหมือนภาพซ้ำของจีนโพ้นทะเลในอดีตที่ตั้งอั๊งยี่และค้าฝิ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยุคนี้ซับซ้อนและอันตรายกว่าหลายเท่า

จากสถิติของ United Nations Inter-Agency Project on Human Trafficking (UNIAP) พบว่า การค้ามนุษย์จากต่างประเทศในกัมพูชา เพิ่มขึ้นในอัตรากว่าร้อยละ 400 เลยทีเดียว

งานวิจัย Behind Closed Doors: Debt-Bonded Sex Workers in Sihanoukville, Cambodia โดย ลาริสซา แซนดี (Larissa Sandy) ระบุว่า อาชญากรรมด้าน "กามารมณ์" คือรูปแบบการค้ามนุษย์อันดับ 1 ที่เกิดขึ้นใน เมืองสีหนุวิลล์

หญิงขายบริการจำนวนมากเป็น “โสเภณีขัดดอก” ที่ต้องใช้ร่างกายชดใช้หนี้แทนตนเองหรือสมาชิกในครอบครัว โดยไม่มีเสรีภาพหรือทางเลือกใดในการหลีกหนี

ระบบดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้สายตาของรัฐ ด้วยการเอื้อพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เครือข่ายนายทุนและอิทธิพลดำเนินการโดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง

นอกจากนี้ บุคคลที่อยู่ในเครือบริษัทดังกล่าว เช่น ฮุน โต ลูกพี่ลูกน้องของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดและการค้ามนุษย์ระดับภูมิภาค

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลกัมพูชากลับไม่เพียงละเลย แต่ยังมีพฤติกรรมส่อว่าให้ ความคุ้มครองทางอ้อม แก่เครือข่ายเหล่านี้ โดยเฉพาะการที่ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาเพิกถอนใบอนุญาตของ Huione Group ในลักษณะที่เป็นการ “ปลดเปลื้องภาระทางกฎหมาย” มากกว่าการเอาผิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าเป็นเพียงการเตรียมการ “ควบรวมบริษัท” มากกว่าการยุติกิจกรรมอาชญากรรม

ความไม่โปร่งใสของรัฐบาลกัมพูชาไม่เพียงจำกัดอยู่ในระดับภายในประเทศ หากแต่ได้ขยายตัวเป็นพฤติกรรมของรัฐที่เอื้ออำนวยต่อการก่ออาชญากรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในกรณี การลอบสังหารนายลิม กิมยา อดีต ส.ส.ฝ่ายค้านกัมพูชาที่ลี้ภัยทางการเมืองและถือสัญชาติกัมพูชา-ฝรั่งเศส ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตกลางกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 กรณีนี้ชี้ชัดถึงการใช้ความรุนแรงเพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้าม แม้จะอยู่ในต่างแดน ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ คนร้ายได้หลบหนีเข้ากัมพูชา แต่รัฐบาลกัมพูชากลับไม่ดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างจริงจัง สะท้อนท่าทีที่ไม่เพียงละเลยต่อหลักนิติธรรมระหว่างประเทศ แต่ยังเป็นการสนับสนุนมือปืนและการก่อการร้ายทางการเมืองข้ามชาติอย่างชัดเจน

ล่าสุด รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลก (ICJ) เพื่อกล่าวโทษไทยในข้อพิพาทชายแดน โดยพยายามแสดงตนว่าเป็นฝ่ายถูกกระทำ ทั้งที่ความจริงคือ ไทยไม่มีท่าทีคุกคามใด ๆ ตรงกันข้าม กลับเป็นฝ่ายกัมพูชาที่เริ่มยั่วยุ เช่น การขุดแนวรบในพื้นที่พิพาทซึ่งเป็นต้นเหตุของการปะทะ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้จึงน่ากังวลว่าเป็นแผนยั่วยุเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของโลกจากความเป็น “รัฐอาชญากรรม” ที่กัมพูชากำลังถูกมองว่าเป็นอยู่

ข้าพเจ้าขอตั้งคำถามต่อประชาคมโลกว่า แท้จริงแล้ว กัมพูชาควรอยู่ในฐานะ “โจทก์” หรือ “จำเลย” กันแน่
ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงขอเรียกร้องให้:

ประชาคมโลกตรวจสอบ และพิจารณาดำเนินคดีอาญาระหว่างประเทศ กับผู้นำและเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมข้ามชาติจากกัมพูชา โดยเฉพาะในระดับศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC)

ประเทศสมาชิกสหประชาชาติพิจารณามาตรการทางการทูตและการเงิน ต่อหน่วยงานและบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน การค้ามนุษย์ และการค้าประเวณี

องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเข้ามาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานกับภาคประชาสังคมในภูมิภาคเพื่อปกป้องผู้ลี้ภัย นักกิจกรรม และประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า หากละเลยพฤติกรรมเหล่านี้ให้ดำรงอยู่โดยไม่ถูกตรวจสอบและลงโทษ ย่อมเป็นการเปิดทางให้ ความชั่วร้ายแฝงเร้นในคราบของรัฐเผด็จการดำรงอยู่ต่อไป และอาจลุกลามกลายเป็นภัยคุกคามระดับโลกในที่สุด ด้วยความเคารพในศักดิ์ศรีแห่งมนุษย์
ประชาชนไทยผู้รักสันติภาพและยืนหยัดต่อความยุติธรรม

‘สงครามไซเบอร์ไทย – กัมพูชา’ ปะทุเงียบ!! เจาะกลุ่ม NDTSEC 2.0: IO เขมรถล่มไทย

(16 มิ.ย. 68) ปราชญ์ สามสี โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กว่า.. “สงครามไซเบอร์ไทย–เขมร” ปะทุเงียบ! รู้จัก NDTSEC 2.0: แฮกเกอร์กัมพูชาที่จ้องถล่มโครงสร้างไทยจากหลังคีย์บอร์ด

ไม่ต้องใช้รถถัง ไม่ต้องปะทะหน้าด่าน แต่ใช้บอท–ไวรัส–ดาร์กเว็บเป็นอาวุธ “NDTSEC 2.0” คือชื่อที่กำลังถูกจับตาในวงการความมั่นคงไซเบอร์ของไทย

เพราะนี่ไม่ใช่แค่กลุ่มแฮกเกอร์ธรรมดา…แต่มันคือ “หน่วยรบ IO” ที่แฝงเจตนาโจมตีไทยอย่างเป็นระบบ

ใครคือ NDTSEC 2.0?

NDTSEC 2.0 คือกลุ่มแฮกติวิสต์สัญชาติกัมพูชาที่ปรากฏตัวตั้งแต่ปี 2023 โดยอ้างตัวว่าเป็น “ทีมไซเบอร์ของชาวเขมร” มีเป้าหมายตรงไปตรงมาคือ “โจมตีประเทศไทย” ในนามแคมเปญ #OpThailand กลุ่มนี้ไม่ใช่แค่เล่นแฮ็กเอาสนุก แต่พวกเขาทำอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน มีเป้าหมาย และ “ประกาศศึกอย่างเป็นทางการ” ผ่าน Telegram ทุกครั้งที่โจมตีสำเร็จ

เป้าหมายของการโจมตี
กลุ่มนี้มี แนวคิดชาตินิยมแบบสุดโต่ง ใช้ประเด็นขัดแย้งวัฒนธรรม เช่น การสร้างวัดไทยที่มีลักษณะคล้าย “ปราสาทนครวัด” เป็นจุดเริ่มต้น แต่สิ่งที่ตามมาคือการโจมตีหน่วยงานไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะ…

เว็บไซต์ราชการไทย (กระทรวงการคลัง, กรมบัญชีกลาง, การบินไทย, ท่าอากาศยานอู่ตะเภา)  ธนาคารพาณิชย์ (ถูกระบุ 9 แห่งว่าเป็น “เป้าหมายทางยุทธศาสตร์” บนดาร์กเว็บ)

บริษัทเอกชน เช่น Delta Electronics, Mega Planet (ซึ่งกลุ่มอ้างว่าได้ข้อมูลผู้ใช้กว่า 1GB ไปเผยแพร่แล้ว)

วิธีการรบ: มากกว่าแค่ DDoS

กลุ่มนี้ไม่ได้ยิงทราฟฟิกจนเว็บล่มแล้วจบ แต่มีการใช้เทคนิคขั้นสูง เช่น SQL Injection: เจาะฐานข้อมูลดึงข้อมูลภายใน Doxing: เปิดเผยข้อมูลบัญชี–รหัสผ่าน–ข้อมูลลูกค้า Defacement: เปลี่ยนหน้าเว็บเพื่อประกาศชัยชนะ IO (Information Operations): ใช้ Telegram เป็นสื่อประกาศผลงาน แสดงภาพการแฮ็ก สร้างความหวาดกลัว

“ปืนไม่ได้ยิง แต่ใจไทยสะเทือน”
แม้หลายการโจมตีของ NDTSEC 2.0 จะส่งผลให้เว็บไซต์ไทยล่มเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่ผลกระทบเชิง จิตวิทยา–ความเชื่อมั่น–ภาพลักษณ์ กลับรุนแรงกว่าที่คิด เพราะ... ทำให้ประชาชนเริ่ม “หวั่นไหว” กับความปลอดภัยไซเบอร์ไทย

ถูกบางสื่อไทยขยายความ จนเกิด “กระแสเกลียดเขมร” บนโซเชียล (เป็น IO ซ้อน IO) บีบให้หน่วยงานไทยต้องลงทุนกับระบบป้องกันไซเบอร์ในเวลาอันรวดเร็ว

เชื่อมโยงกับกลุ่มอื่น?

NDTSEC 2.0 ไม่ได้ทำงานคนเดียว พวกเขา ร่วมมือกับ: Anonymous Cambodia: กลุ่มเก่าที่เคยโจมตีรัฐบาลกัมพูชาเอง แต่ตอนนี้หันมาเล่นบท “ชาตินิยมเขมร”

Cyber Skeleton: กลุ่มเงียบๆ ที่เป็นแนวร่วมสนับสนุนด้านเทคนิค ทั้งหมดใช้ #OpThailand เป็นชื่อปฏิบัติการ พร้อมกันกับการโพสต์ผลงานใน Telegram แบบ “ปูพรมข่าวรบ”

วิชาการเบื้องหลัง: นี่คือ “สงครามข่าวสารสมัยใหม่”

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การแฮ็กเพื่อเงิน ไม่ใช่การขู่เรียกค่าไถ่ แต่คือการใช้ไซเบอร์เป็นเครื่องมือในปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (IO) เพื่อ…บ่อนทำลายความเชื่อมั่น ของรัฐไทย สร้างกระแสชาตินิยม ให้คนเขมรเห็นว่ามีคน "ลุกขึ้นสู้" ปลุกปั่นสังคมไทย ให้เกิดความแตกแยกในเรื่องวัฒนธรรม–เชื้อชาติ
นี่คือ “ไซเบอร์นารเรทีฟ” ที่ใช้เรื่องเล่าและการโจมตีเป็นเครื่องมือปลุกกระแส ทั้งในโลกออนไลน์และในหัวประชาชน

แล้วไทยจะรับมือยังไง?

ไทยมีการแจ้งเตือนจากศูนย์ TTC-CERT อย่างทันท่วงที และหน่วยงานด้านความมั่นคงไซเบอร์กำลังเสริมเกราะให้กับระบบของรัฐและเอกชน แต่สิ่งที่ต้องตระหนักเพิ่มคือ…

อย่าแชร์ข่าวแบบไร้แหล่ง เพราะอาจเป็นการช่วยขยาย IO ให้กลุ่มแฮกเกอร์เอง อย่าเหมารวมชาวกัมพูชา ทั้งประเทศว่าคือผู้ร้าย เพราะ NDTSEC มีสมาชิกเพียงหยิบมือ รัฐต้องสร้างความรู้เท่าทันไซเบอร์ ให้ประชาชน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาข้อมูลส่วนตัว

สรุป: สงครามครั้งนี้อยู่ในมือถือคุณ

ถ้าเมื่อก่อนสงครามอยู่ในสนามรบ วันนี้ “สงครามอยู่ในแอป Telegram” กลุ่มแฮกเกอร์ไม่ได้มาด้วยปืน แต่มาด้วยโปรแกรม เป้าหมายไม่ใช่เพื่อยึดพื้นที่ แต่เพื่อ “ยึดพื้นที่ในใจคุณ”

ประเทศไทยต้อง ตื่นรู้และตื่นตัว เพราะภัยไซเบอร์ในวันนี้คืออาวุธแห่งอนาคต และมันเริ่มต้นแล้ว…จากชายแดนจรดโลกดิจิทัล

‘เครือข่ายทุนผิดกฎหมาย’ อาวุธใหม่!! ของอำนาจในอินโดจีน รัฐคู่ขนานทางไซเบอร์และการเงิน ที่ไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐดั้งเดิม

(15 มิ.ย. 68) หลายคนอาจยังไม่เห็นภาพว่า “เครือข่ายทุนผิดกฎหมาย” ที่เชื่อมกัมพูชา เวียดนาม และไทยนั้นร้ายแรงเพียงใด แต่หากเรามองให้ทะลุ เราจะพบว่า มันไม่ใช่แค่เรื่อง "บ่อนพนัน" หรือ "คอลเซ็นเตอร์" อีกต่อไป — มันคือ การสร้างรัฐคู่ขนานทางไซเบอร์และการเงิน ที่ไม่เกรงกลัวอำนาจรัฐดั้งเดิม

เครือข่ายนี้มีสามหัวใจใหญ่

1. ตระกูลฮุนและ LYP Group ที่ควบรวมอำนาจรัฐกับทุนท้องถิ่น
2. Huione Group ซึ่งทำหน้าที่คล้าย “ธนาคารของโจร” ให้ฟอกเงินทั่วเอเชีย
3. ตลาด Guarantee บน Telegram ที่เป็นเหมือน “ตลาดมืดอีคอมเมิร์ซ” ขนาดยักษ์
วันนี้พวกเขาไม่ได้แค่โกงคนไทยจากคอลเซ็นเตอร์ แต่เขากำลังสร้างระบบการเงินใต้ดินคู่ขนาน ที่รัฐบาลจับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน และที่สำคัญ—มีคนใน "ภาครัฐและการเมือง" บางส่วนในแต่ละประเทศร่วมมือกับพวกเขาอย่างลับ ๆ

แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร?
หากไม่มีการตอบโต้จริงจังจากรัฐไทยและภูมิภาค อินโดจีนจะกลายเป็น “Safe Haven” สำหรับทุนผิดกฎหมาย
1. ประชาชนไทย จะถูกดูดเงินจากกลโกงออนไลน์มากขึ้น เงินออมถูกเปลี่ยนมือให้กลุ่มทุนมืด
2. สถาบันการเงินไทย จะถูกมองว่า “ฟอกเงินให้กลุ่มแฮกเกอร์เกาหลีเหนือ” และอาจโดนมาตรการกดดันจากสหรัฐหรือ FATF
3. ความมั่นคงไซเบอร์ไทย จะอ่อนแอลงทุกวัน หากรัฐยังนิ่งเฉยกับกลุ่มแฮกเกอร์ที่เริ่มปฏิบัติการแบบ IO
4. ความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน จะตึงเครียด ไทยต้องคุมด่านเข้ม ทำให้เศรษฐกิจชายแดนทรุด
และในท้ายที่สุด หากไทยยังไม่ลงมือจัดการจริงจังกับผู้มีอิทธิพลที่สมรู้ร่วมคิดในประเทศ — ไทยจะกลายเป็น "จุดอ่อนของภูมิภาค" ที่แก๊งอาชญากรรมใช้เป็นทางผ่านและแหล่งพักเงิน

ข้อเสนอแนะเบื้องต้น
ไทยต้องเลิกอายที่จะ “พูดความจริงกับกัมพูชา” ว่ากำลังปล่อยให้แก๊งหลอกลวงทำลายคนในภูมิภาค
ต้องใช้ “ปฏิบัติการแบบ 2 ด้าน” คือทั้งเจรจาในเวทีระหว่างประเทศ และ ปราบปรามผู้สมรู้ร่วมคิดในไทยเอง
ต้องกล้ายื่นมือร่วมมือกับชาติใหญ่ในเรื่องข่าวกรองไซเบอร์และเส้นทางเงิน — อย่าปล่อยให้ฮุน โต หรือ Huione ลอยนวล นี่ไม่ใช่แค่เรื่องอาชญากรรม แต่มันคือ “การสู้รบทางเศรษฐกิจและข้อมูลข่าวสาร” ที่กำลังเกิดขึ้นในเงามืดของอินโดจีน

หากท่านผู้อ่านยังคิดว่าเรื่องนี้ไกลตัว ลองย้อนดูในมือถือของท่าน มีใครเคยแชตมาหลอกให้ลงทุนไหม?
ถ้าเคย — แสดงว่าศึกนี้…เข้าบ้านท่านแล้ว
“ปราชญ์ สามสี”
เพื่อความเข้าใจของประชาชน...ก่อนที่ทุกอย่างจะสายไป

‘อิหร่าน’ ยิงเครื่องบินขับไล่ F-35 ของ ‘อิสราเอล’ ตกอีกลำ ระหว่างการปะทะกัน!! อย่างต่อเนื่อง ‘เตหะราน-เทลอาวีฟ’

(15 มิ.ย. 68) หน่วยประชาสัมพันธ์กองทัพอิหร่านระบุในแถลงการณ์ว่า กองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของตนประสบความสำเร็จในการโจมตีและทำลายเครื่องบินขับไล่ F-35 ของอิสราเอลอีกลำหนึ่งในพื้นที่ทางตะวันตกของประเทศ โดยชะตากรรมของนักบินยังคงไม่ทราบแน่ชัด และอยู่ระหว่างการสอบสวน จะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมในโอกาสต่อไป

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหนึ่งวันหลังจากกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่านประสบความสำเร็จในการยิงเครื่องบินรบ F-35 จำนวน 2 ลำ พร้อมด้วยโดรนหลายลำของอิสราเอลตก อิสราเอลได้ส่งเครื่องบินล้ำสมัยเหล่านี้มาใช้ในการรุกรานสาธารณรัฐอิสลามในช่วงเช้าวันศุกร์ ซึ่งส่งผลให้ผู้บัญชาการทหารระดับสูงของอิหร่าน นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ และพลเรือนรวมทั้งผู้หญิงและเด็กถูกสังหาร

เครื่องบินรบ F-35 ที่ของอิสราเอลถือเป็นเครื่องบินรบที่ล้ำหน้าที่สุดในรุ่นเดียวกัน อิสราเอลซื้อเครื่องบินรบเหล่านี้จากสหรัฐอเมริกา โดยเครื่องบิน F-35 Lightning II ผลิตโดย Lockheed Martin ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินอวกาศสัญชาติอเมริกัน อิสราเอลเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ได้รับอนุญาตจากสหรัฐอเมริกาให้ใช้งานเครื่องบินรบสเตลท์รุ่นที่ 5 ล้ำสมัยนี้ 

F-35 เครื่องบินขับไล่ล่องหนของอิสราเอลเป็นรุ่นปรับปรุงพิเศษ ได้รับการออกแบบมาเพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับของเรดาร์ ช่วยให้นักบินอิสราเอลสามารถปฏิบัติภารกิจเจาะลึกในดินแดนศัตรู โดยมีความเสี่ยงที่จะถูกสกัดกั้นหรือติดตามน้อยลง กองทัพอิหร่านจึงเป็นหน่วยรบแรกของโลกที่สามารถยิงเครื่องบินขับไล่ล่องหนแบบ F-35 ตก (รวม 3 ลำ) โดยกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศของอิหร่าน ซึ่งมีกำลังพลราว 15,000 นาย และเป็นเหล่าทัพหนึ่งในสี่เหล่าทัพของกองทัพอิหร่าน อันประกอบด้วย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และกองกำลังป้องกันภัยทางอากาศ

แฮ็กเกอร์เขมร อ้างความรับผิดชอบ!! โจมตีเว็บไซต์ ราชการไทย ทีมไอที เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ โชว์เจ๋ง!! กู้คืนได้ ภายในไม่กี่นาที

กลุ่มแฮ็กเกอร์ชื่อ 'NXBBSEC' ซึ่งอ้างตัวว่าเป็นผู้นำกลุ่ม AnonSecKh จากประเทศกัมพูชา ได้โพสต์ข้อความผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) ระบุว่า …

ได้ทำการโจมตีระบบเว็บไซต์ราชการของไทย โดยอ้างว่าเว็บไซต์ 'buriramcity.go.th' หรือเว็บไซต์ของเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ได้ถูกทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว ข้อความในโพสต์ระบุว่า …

> “We are NXBBSEC Hacker Group Leaders of AnonSecKh. We Not Surrender. We Fighting OpThailand. We From Cambodia”

พร้อมแสดงภาพหน้าเว็บไซต์ที่ปรากฏข้อความ 'Bad Gateway' ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเซิร์ฟเวอร์ขัดข้อง

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ดังกล่าวสามารถกู้คืนและกลับมาออนไลน์ได้ตามปกติภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากนั้น แสดงถึงความพร้อมของทีมไอทีในพื้นที่ในการรับมือเหตุการณ์ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของ 'สงครามไซเบอร์' ที่กำลังก่อตัวขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างไทย–กัมพูชาในช่วงนี้

ปืนลูกซอง...อาวุธระยะประชิด ที่ดีที่สุดในการพิฆาตโดรนสังหาร

ในสงครามสมัยใหม่ อากาศยานควบคุมระยะไกลหรือโดรน จัดว่าเป็นหนึ่งในอาวุธที่ทรงอานุภาพ ปัจจุบันมีการนำโดรนมาใช้การรบทุกสมรภูมิ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2025 ยูเครนได้ใช้โดรนติดอาวุธโจมตีฐานทัพอากาศรัสเซียเสียหายไป 4 แห่ง ทำให้เครื่องบินรบของรัสเซียเสียหายไปหลายลำ เหตุการณ์นี้ยิ่งสร้างความตระหนักแก่กองทัพของชาติต่าง ๆ ในการคิดค้นออกแบบยุทธวิธีและอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรับมือจากการโจมตีของ “โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”

“โดรนติดอาวุธ” หรือ “โดรนสังหาร”หมายถึง อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ทางทหารที่ออกแบบมาเพื่อการรบ โดยเฉพาะโดรนประเภทนี้สามารถบรรทุกอาวุธ เช่น ขีปนาวุธ ระเบิด หรือแม้แต่อุปกรณ์ระเบิดแสวงเครื่อง (IED) เพื่อโจมตีเป้าหมาย โดยถูกควบคุมจากระยะไกล แต่จะมีระดับการทำงานอัตโนมัติที่มีระบบปฏิบัติการที่มีความแตกต่างกัน

“โดรนสังหาร” มีบทบาทสำคัญในสมรภูมิรบสมัยใหม่ จากการใช้งานโดรนอย่างแพร่หลายในยูเครนสามารถเป็นเครื่องยืนยันได้ และแม้ว่าสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จะมีศักยภาพในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” แต่โดรนสังหารขนาดเล็กจำนวนมากสามารถหลบเลี่ยงแนวป้องกันที่ดีที่สุดได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาในทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านขีดความสามารถของ “โดรนสังหาร”

อุปกรณ์ที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในขณะนี้คือ “ปืนต่อต้านโดรน (Anti-drone gun)” ซึ่งเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีรูปร่างคล้ายปืนยาวใช้ในการปล่อยสัญญาณรบกวนการทำงานของโดรน โดยเฉพาะ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง ปืนเหล่านี้จะรบกวนความถี่ที่ใช้ในการควบคุมโดรน ทำให้โดรนลงจอด ลอยนิ่ง หรือกลับสู่จุดเริ่มต้น นอกจาก นี้บางรุ่นยังรบกวนสัญญาณ GPS ซึ่งทำให้โดรนทำงานช้าลงอีกด้วย

แต่พัฒนาการของ “โดรนสังหาร” นั้นก้าวไปไกลมากจนกระทั่งประสิทธิภาพในการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” ลดลงจนอาจไม่ได้ผลเลย เมื่อมีการนำ สัญญาณการสื่อสาร และระบบนำทาง แบบพิเศษมาใช้ใน “โดรนพิสังหาร” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทำงานของ “ปืนต่อต้านโดรน” กอปรกับบทเรียนจากสงครามยูเครน-รัสเซียได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีค่าเกี่ยวกับวิธีการที่ “โดรนสังหาร” กำหนดรูปแบบของสนามรบสมัยใหม่ โดยเฉพาะความสามารถของ “โดรนสังหาร” ในการโจมตีหน่วยทหารราบ ยานพาหนะ ตลอดจนยุทโธปกรณ์ ยุทธภัณฑ์ ข้าวของเครื่องใช้ และเสบียงต่าง ๆ ตลอดจนทรัพยากรสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อแนวรบของทั้งสองฝ่าย

“โดรนสังหาร” สามารถซุ่มโจมตีเหนือพื้นที่ปฏิบัติการและโจมตีอย่างแม่นยำ โดยสามารถส่งวัตถุระเบิดพร้อมกับถ่ายทอดข้อมูลสำคัญ หรือ “โดรนสังหาร” สามารถโอบล้อมพื้นที่เพื่อให้กำลังทหารเข้าใกล้เป้าหมายโดยไม่ถูกตรวจพบ กองกำลังทั้งยูเครนและรัสเซียต่างใช้ “โดรนสังหาร” ในการขัดขวางการเคลื่อนไหวของศัตรู ลดขีดความสามารถของยานเกราะ และสร้างอุปสรรคด้านโลจิสติกส์ ฯลฯ

ดังนั้นจึงมีการหยิบเอาอาวุธที่มีอยู่มาใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ซึ่ง “ปืนลูกซอง” จัดว่าเป็นอาวุธที่ใช้ในการต่อต้าน “โดรนสังหาร” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ “โดรนสังหาร” ขนาดเล็ก ทหารของยูเครนได้ใช้วิธีการต่าง ๆ ในการต่อต้านภัยคุกคามจาก “โดรนสังหาร” ด้วยปืนลูกซองกึ่งอัตโนมัติซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่า มีประสิทธิภาพอย่างน่าทึ่งในการขัดขวางการปฏิบัติการของ “โดรนสังหาร” รัสเซีย แม้ว่า “ปืนลูกซอง” อาจไม่ใช่อาวุธหลักในการป้องกัน “โดรนสังหาร” แต่ก็สามารถใช้เพื่อเป็นแนวป้องกันสุดท้ายที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะปืนลูกซองมีความทนทาน สามารถปรับใช้งานได้ง่าย และกลุ่มกระสุนกระจายเป็นวงกว้าง จึงทำให้แม้แต่ทหารที่ได้รับการฝึกฝนมาเพียงเล็กน้อยก็มีโอกาสยิง “โดรนสังหาร” ถูกได้ อย่างไรก็ตาม การฝึกฝนในการใช้ “ปืนลูกซอง” จะเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้มากยิ่งขึ้น

ประเทศพันธมิตรของยูเครน เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี และเบลเยียม ต่างทราบดีถึงบทเรียนของทหารยูเครน และได้เริ่มนำปืนลูกซองมาใช้ในยุทธวิธีในการป้องกัน “โดรนสังหาร” โดยทั้งกองทัพทั้ง 3 ชาติต่างเลือกใช้ปืนลูกซองยี่ห้อเบเนลลี่หลายแบบที่ใช้ทั้งกระสุนลูกซองแบบดั้งเดิมและแบบพิเศษ ในระหว่างการทดสอบภาคสนาม อาวุธเหล่านี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพอย่างมากในการยิง “โดรนสังหาร” ในระยะ 80–120 เมตร ทำให้สามารถนำไปใช้ในการป้องกันกองกำลังในขณะปฏิบัติการได้ กองทัพสหรัฐฯ เองจำเป็นต้องมีการฝึกฝนอย่างเต็มที่ในการใช้ปืนลูกซองเพื่อยิง “โดรนสังหาร” ซึ่งเป็นเป้าหมายทางอากาศในระยะประชิด

“ปืนลูกซอง” จึงเป็นอาวุธที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับ “โดรนสังหาร” ในระยะประชิด แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายประการ อาทิ การยิง “โดรนสังหาร” ที่กำลังบินมาหานั้น ผู้ที่ทำการยิงต้องมีความกล้าหาญเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้ว “โดรนสังหาร” เหล่านี้ยังสังเกตได้ยากมากอีกด้วย ถึงแม้ “โดรนสังหาร” แบบ Quadrocopter มักจะส่งเสียงดังตลอดเวลา แต่ในสนามรบซึ่งเป็นสถานที่ที่มีเสียงดังมากและมีความวุ่นวายตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องปกติที่ทหารที่เคยเจอโดรนเหล่านี้เล่าว่า เราจะไม่ทันสังเกตเห็น “โดรนสังหาร” จนกว่ามันจะบินอยู่เหนือเรา ซึ่งมีหลักฐานวิดีโอที่สนับสนุนในเรื่องนี้

ข้อดี:
- ความสะดวกในการใช้งานและความพร้อมใช้งานของปืนลูกซอง: สามารถเรียนรู้และใช้งานได้ค่อนข้างง่าย
- กลุ่มกระสุนครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง: กระสุนปืนลูกซองที่กระจายตัวจะเพิ่มโอกาสในการยิงถูกเป้าหมายขนาดเล็กที่เคลื่อนที่เร็ว เช่น “โดรนสังหาร” ได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในขณะที่บินต่ำหรือลอยตัวนิ่ง
- ความคุ้มค่า: โดยทั่วไป “ปืนลูกซอง” จะราคาไม่แพงไปกว่าเทคโนโลยีต่อต้านโดรนขั้นสูงอย่าง “ปืนต่อต้านโดรน” จึงทำให้ปืนลูกซองเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

ข้อจำกัด:
- ปืนลูกซองมีระยะยิงที่จำกัด ราว 80-100 เมตร และอาจไม่มีประสิทธิภาพในการยิง “โดรนสังหาร” ที่บินในระดับความสูงที่พ้นระยะหรือในระยะไกลมาก

กระสุน:
- กระสุนปืนลูกซองมีมากมายหลายแบบ สามารถเลือกใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการต่อต้านโดรนได้ รวมไปถึงกระสุนพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อจับหรือทำลายใบพัดของโดรน เช่น กองทัพอากาศสหรัฐฯ ได้ทดสอบกระสุนปืนลูกซองแบบ SkyNet Mi-5 ซึ่งสามารถปล่อยตาข่ายออกกลางอากาศเพื่อให้พันรอบใบพัดของโดรน
ทางเลือกสุดท้าย:
- แม้ “ปืนลูกซอง” จะไม่ใช่อาวุธสำหรับการป้องกันหลัก แต่ “ปืนลูกซอง” ก็สามารถใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายเมื่อระบบป้องกัน “โดรนสังหาร” อื่น ๆ ไม่สามารถใช้การได้

สำหรับกองทัพไทยและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการพัฒนาการใช้โดรนสำหรับภารกิจต่าง ๆ แต่การต่อต้านโดรนนั้น กองทัพบกได้พัฒนาปืนเล็กยาว M-16 ประกอบฐานยิง เพื่อใช้ในการต่อต้านโดรน ส่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจัดซื้อจัดหา “ปืนต่อต้านโดรน” มาใช้ ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า หน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ควรได้ทำการศึกษาแนวทางในการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรนที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ ทั้งวิธีการใช้ “ปืนลูกซอง” ในการต่อต้านโดรน โดยเฉพาะการพัฒนากระสุนปืนลูกซองที่เหมาะสมต่อการทำลานโดรนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและให้ประสิทธิผลมากที่สุด รวมทั้งอุปกรณ์ต่อต้านโดรนอื่น ๆ อาทิ ปืนเล็กกลสำหรับยิงโดรนขนาด .22 ซึ่งราคากระสุนจะถูกกว่ากระสุนขนาดมาตรฐานของกองทัพ และยิงได้ไกลกว่าปืนลูกซอง ฯลฯ โดยผู้เขียนยินดีให้ความรู้และคำแนะนำแก่หน่วยงานทุกหน่วยที่ต้องการเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อนำไปใช้ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติต่อไป

ขอบคุณ 2 ทหารกล้า ‘พล.อ.พนา - พล.ท.บุญสิน’ ผู้ยืนหยัดแสดงภาวะผู้นำในวันที่รัฐบาลไร้ท่าที

(11 มิ.ย. 68) ขอบคุณ “พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์” และ “พลโท บุญสิน พาดกลาง”

> พวกเขาอาจไม่พูดมาก แต่การตัดสินใจของเขาทำให้ชาติไทย…ยังยืนอยู่ได้
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องรบ ไม่ใช่แค่เรื่องชายแดน
แต่เป็นเรื่องของ “หัวใจคนที่ยืนอยู่หน้าประเทศ”
และในวิกฤตที่ผ่านมา คนไทยทั้งประเทศควรจดจำชื่อของชายสองคนนี้ไว้ให้มั่น

— พลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์
ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
— พลโท บุญสิน พาดกลาง
แม่ทัพภาคที่ 2
---
🕓 บันทึกเหตุการณ์:
ก่อนเกิดเหตุ (ปลาย พ.ค. 68)
– กัมพูชาขุด "คูเลต" ล้ำเข้าพื้นที่พิพาท ส่อเจตนาเชิงรุก
– ฝ่ายการเมืองไทยเงียบ ไม่มีการตอบโต้
– พลโท บุญสิน ตัดสินใจ ตรึงกำลังทันที แม้ไร้คำสั่งทางการเมือง

วันที่ 29 พ.ค. เป็นต้นมา
– กัมพูชาเพิ่มกำลัง ใกล้แนวชายแดน
– รัฐบาลพยายามเจรจา แต่ถูกเมิน
– พลเอก พนา ยืนยันชัดเจน: “ไม่ถอย ไม่ยั่ว ไม่ยอม”
– สั่งตรึงแนวรบเต็มรูปแบบ

ต้นเดือน มิ.ย.
– การเมืองยังนิ่ง แต่ทหาร สั่งปิดด่าน ตัดไฟฟ้า น้ำ และอินเทอร์เน็ต
– การตัดสินใจที่ไม่ใช่แค่กล้า แต่ “เปลี่ยนเกม”

วันที่ 7–9 มิ.ย.
– กัมพูชายอมลดระดับบางจุด
– เปิดเจรจากับ “กองทัพไทย” โดยตรง
– และ “ลบคูเลต” บางส่วน

🎖️ ถ้าชาติปลอดภัย — เพราะมีคนแบบนี้ยืนอยู่
ขอบคุณพลเอก พนา แคล้วปลอดทุกข์
ที่แสดงภาวะผู้นำในวันที่รัฐบาลไร้ท่าที
ขอบคุณพลโท บุญสิน พาดกลาง
ที่ยืนแนวหน้าแบบไม่กลัวความเงียบข้างหลัง
🙏🏼 ประเทศไทยต้องจดจำ

ถอดชุดครุย สวมแจ็คเก็ตไรเดอร์ เทรนด์โลกออนไลน์นักศึกษาจีนจบใหม่ ตลกร้ายที่อาจดูขำแต่น้ำตาตกใน จุดเปลี่ยนขาลงของระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม

“Every joke is a tiny revolution.”

“ทุกมุกตลกคือการปฏิวัติขนาดเล็ก”

— George Orwell (1903–1950)

(10 มิ.ย. 68) เข้าสู่ฤดูรับปริญญาของจีน ซึ่งตรงกับช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค. ของทุกปี เป็นช่วงที่จะได้เห็นคอนเทนท์รับปริญญาของนักศึกษาจบใหม่มากมายบนสื่อโซเชียล เช่นเดียวกับที่อื่น ๆ บนโลก การรับปริญญาเป็นเรื่องที่น่ายินดี สำหรับตัวนักศึกษาจบใหม่เอง หรือจากคนรอบตัวที่แห่แสดงความยินดีในรูปแบบต่าง ๆ กลายเป็นเทรนด์บนโลกโซเชียลมากมายที่สะท้อนสังคมในยุคปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่นคลิปไวรัลของนักศึกษาจบใหม่ที่ทำคลิปขอบคุณ ChatGPT ที่ช่วยเขาในการทำการบ้าน ที่ถ้าหากผมเป็นนายจ้างหรือเจ้าของบริษัท ก็คงจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าเด็กยุคนี้ใช้ ChatGPT จนเรียนสามารถเรียนจบได้ ถ้างั้นแทนที่เราจะจ่ายเงินจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ เราจ่ายเงินค่า subscribtion รายเดือนให้ ChatGPT ทำงานให้ไปเลยไม่ดีกว่าหรือ ถูกกว่า เร็วกว่า ฟังก์ชั่นกว่า เพราะหากจ้างเด็กจบใหม่ในยุคนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าเขาก็จะใช้ ChatGPT ทำงานให้อยู่ดี

แม้จะเป็นแค่มุกตลก แต่ว่ากันว่ามุกตลกนั้นสะท้อนภาพสังคมในแต่ละยุคสมัยได้เช่นกัน

ในกรณีที่ยกตัวอย่างตามข้างต้นนี้ สะท้อนภาพเศรษฐกิจสังคมยุคใหม่ และการแทนที่มนุษย์โดย AI

นี่เป็นเพียงหนึ่งในหลายเทรนด์คอนเทนท์รับปริญญาบนโลกโซเชียล ทั้งในจีนและทั่วโลก ที่สะท้อนสภาพสังคมและปัญหาที่แก้ได้ยาก ยังมีอีกหลายเทรนด์ที่ยังเป็นไวรัลอย่างต่อเนื่องอีกมากมาย….

“To truly laugh, you must be able to take your pain, and play with it.”

“เพื่อที่จะหัวเราะได้อย่างแท้จริง คุณต้องกล้าเอาความเจ็บปวดของคุณมาเล่นกับมันให้ได้”

— Charlie Chaplin

"毕业快乐!欢迎加入美团。"

“ยินดีด้วยที่เรียนจบ ยินดีต้อนรับสู่เหม่ยถวน (Meituan)”

— หนึ่งในคำโปรยจากวิดีโอสั้นใน Douyin (Tiktok ของจีน) ที่ถูกแชร์นับล้านครั้ง

เนื้อหาในวิดีโอความยาวไม่ถึง 30 วินาที เป็นภาพนักศึกษาจีนหนุ่มคนหนึ่งเดินออกจากพิธีรับปริญญาในชุดครุย เขาหยุดกลางถนน ถอดชุดครุยออก ก่อนจะเผยให้เห็นเสื้อของแพลตฟอร์มส่งอาหาร “Meituan - เหม่ยถวน” อยู่ข้างใน ใส่หมวกกันน็อก หิ้วกระเป๋าส่งของ แล้วหันมายิ้มกล้องพร้อมพูดออกมาว่า “หางานได้แล้ว!”

เทรนด์ดังกล่าวถูกเรียกว่าเทรนด์ “毕业即失业 - เรียนจบแต่ตกงาน” ซึ่งมักปรากฏในรูปแบบของวิดีโอเปลี่ยนชุดครุยเป็นชุดไรเดอร์ พนักงานร้านสะดวกซื้อ หรือแรงงาน Gig economy อื่น ๆ นี่เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงในจีน และจะเป็นกรณีหลักในการวิเคราะห์ของบทความนี้

คลิปเหล่านี้ไม่ได้แค่เป็นไวรัล แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ผู้ชมใช้ในการระบาย เช่นคอมเมนต์ทำนองว่า “ฉันก็จบจากมหาวิทยาลัย 985 (คล้าย ๆ กับ Ivy League ในสหรัฐฯ) เหมือนกัน ตอนนี้ส่งอาหารอยู่” คอนเทนท์ในเทรนด์นี้ค่อนข้างหลากหลาย มีผู้คนนำมาดัดแปลงรูปแบบการตัดต่อ ใส่เพลง และวิธีเล่า และไม่ได้มีแค่อาชีพส่งอาหาร ยังมีอาชีพอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นส่วนหนึ่งของคอนเทนท์ในเทรนด์ ตัวอย่างเช่นกรณีหนุ่มเรียนจบมหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยอันดับที่ 1 ของจีน (จากการจัดอันดับในปี 2024) แต่กลับต้องเป็นคนขายเต้าหู้เหม็น

ซึ่งจริง ๆ เทรนด์การทำคลิปประมาณนี้ก็ฮิตมาถึงที่ไทย ผมเห็นคลิปคนไทยถอดชุดครุยแล้วสวมแจ็กเก็ตแอปสั่งอาหารสีเขียว บ้างก็ขายหมูปิ้ง บ้างก็ใส่ชุดพนักงาน 7-11 แตกต่างกันไป

วิดีโอเหล่านี้ กลายเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้เสียงหัวเราะเป็นเกราะป้องกันความเจ็บปวด และเป็นการสะท้อนปัญหาที่ฝังรากลึกในโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนยุคใหม่ ความตลกกลายเป็นสื่อกลางในการสะท้อนความสิ้นหวัง — หรืออย่างที่นักแสดงตลกชาวอังกฤษ ผู้มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งอย่าง Charlie Chaplin เคยกล่าวเอาไว้ว่า “To truly laugh, you must be able to take your pain, and play with it. – เพื่อที่จะหัวเราะได้อย่างแท้จริง คุณต้องกล้าเอาความเจ็บปวดของคุณมาเล่นกับมันให้ได้”

หรืออีกหนึ่งเทรนด์ไวรัลที่เรียกว่า “孔乙己文学” (วรรณกรรมข่งอี้จี๋) ซึ่งกลายเป็นคำฮิตในโลกออนไลน์จีนในช่วงปี 2023–2024 โดยพูดถึงตัวละคร “ข่งอี้จี๋” จากเรื่องสั้นของหลู่ซิ่น ซึ่งเป็นชายมีการศึกษา แต่ยากจน ถูกสังคมเย้ยหยัน และไร้ที่ยืน เปรียบเทียบคนรุ่นใหม่ที่มีการศึกษา แต่ไม่สามารถหางานที่เหมาะสมได้

โดยเยาวชนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นเพราะโครงสร้างสังคมไม่เปิดทางให้พวกเขา และพวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากมองให้เป็นเรื่องตลกและนำมาทำเป็นคอนเทนท์ประชดสังคม

เทรนด์นี้คือการที่เยาวชนนำเอาเรื่องราวชีวิตของตัวเองมาเขียนเล่าในแบบวรรณกรรม โดยดัดแปลงจากเรื่อง “ข่งอี้จี๋” ใช้ภาษาแบบกวี แต่เล่าให้เป็นเรื่องราวของตัวเอง ใช้ตัวเองเป็นตัวละครหลัก บอกเล่าถึงการเรียนอย่างหนักตั้งแต่เด็กจนจบมหาวิทยาลัย แต่ไม่สามารถหางานทำได้ ชีวิตมีอุปสรรคมากมาย ทำได้แค่เกาะพ่อแม่กิน แม้ต้องทนได้ยินคำดูถูกจากป้าข้างบ้าน

บางคนเอามาอัดคลิป ลงเสียง ตัดต่อเป็นเรื่องเป็นราว แต่งเป็นเพลงแร็พแสดงความเข้าอกเข้าใจ “ข่งอี้จี่” กลายเป็นสีสันช่วงวันรับปริญญาในปีที่แล้วไป….

“We were poor, but we didn’t know it. Then I got a degree, and I was broke — now I knew it.”

“เราเคยยากจนตอนเด็ก ๆ แต่เราไม่รู้ตัว หลังจากนั้นผมก็ได้ใบปริญญา ตอนนี้ผมรู้แล้วว่าผมมันจน”

—Chris Rock

ในอดีต ใบปริญญาถือเป็น "ตั๋วทอง" สู่อนาคตที่มั่นคง โดยเฉพาะในสังคมจีนที่ให้คุณค่ากับการศึกษาอย่างสูง แต่ในยุคที่มหาวิทยาลัยขยายจำนวนรับนักศึกษาอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “การศึกษาสำหรับทุกคน” แต่ในทางกลับกัน ตลาดแรงงานไม่สามารถดูดซับผู้สำเร็จการศึกษาได้เท่าทัน ทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้าที่ล้นตลาด

จากรายงาน 2023 China College Graduates Employment Competitiveness Report ของ Tencent Research Institute ระบุว่า ในปี 2023 จีนมีผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาจำนวน 11.58 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่อัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชนอายุ 16–24 ปีพุ่งสูงถึง 21.3% ในเดือนมิถุนายน 2023 การสำรวจยังพบว่า 64% ของนักศึกษาจีนต้องการทำงานในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่สนใจอาชีพที่ให้ความมั่นคง มากกว่าอาชีพที่ให้ความมั่งคั่งแต่การแข่งขันสูง

ซึ่งหากมองให้สอดคล้องกับยุคสมัยนั้น สองตัวแปรสำคัญที่ควรนำมาตั้งคำถามเพื่อศึกษาปัญหาปัญหานี้ คือเรื่องระบบการศึกษา และกระแสความต้องการของตลาดแรงงาน

ประเด็นคน “จบปริญญา” แต่ทำงาน “รายได้ต่ำ” หรือการที่ผู้สำเร็จการศึกษาจำนวนมากต้องประกอบอาชีพที่ไม่ได้สอดคล้องกับสาขาที่เรียนมา ไม่ใช่เพราะขาดความสามารถ แต่เพราะตลาดแรงงานมีข้อจำกัดในการรองรับทักษะและความหลากหลายของแรงงานในยุคเปลี่ยนผ่าน ในขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาเองก็ไม่ได้ผลิตบุคคลากรที่ตรงกับความต้องการตลาดเสมอไป

รายงานของ Tencent Research Institute ระบุถึงความคาดหวังของบัณฑิตรุ่นใหม่ว่าบัณฑิตระดับปริญญา บัณฑิตระดับปริญญาตรีคาดหวังเงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ย 10,792 หยวน (ประมาณ 50,000 บาท) ต่อเดือน

ในรายงานยังระบุอีกว่า ความต้องการบัณฑิตระดับปริญญาเอกเพิ่มขึ้น 202.1% และปริญญาโทเพิ่มขึ้น 142.6% ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ในทางตรงกันข้าม ความต้องการสำหรับบัณฑิตระดับอนุปริญญาหรือต่ำกว่าลดลงเกือบ 40%

ส่วนความต้องการบัณฑิตระดับปริญญาตรีในตำแหน่งงานใหม่เพิ่มขึ้นจาก 28.8% ในปี 2021 เป็น 42.9% ในปี 2023 ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มที่ตลาดแรงงานยังคงให้ความสำคัญกับบัณฑิตระดับปริญญาตรี

หากเป็นยุคสมัยก่อน สาขาอย่างเช่น วรรณกรรม ปรัชญา ประวัติศาสตร์ การจัดการ ภาษาศาสตร์ หรือรัฐศาสตร์ ซึ่งเป็นสาย Social/Humanities ผู้ที่จบสาขาเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นปัญญาชน หารายได้ได้มากกว่าชนชั้นแรงงาน แต่ในปัจจุบัน คนที่เรียนจบจากสายสังคม แม้จะมีความรู้รอบด้าน มีทักษะการสื่อสารที่แข็งแรง แต่ขาดทักษะและความเชี่ยวชาญในการสร้างหรือผลิตสินค้าตลาดใหม่หรือและบริการด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงในปัจจุบัน

เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลในตลาดแรงงานของจีน จะพบว่าสาขาที่มีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่องคือสาย STEAM ได้แก่ Science, Technology, Engineering, Arts และ Mathematics โดยเฉพาะในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI), วิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Science), เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech), วิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Automation)

จากรายงานของ Tencent ยังมีการระบุว่าบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่เสนอเงินเดือนระดับเริ่มต้นให้กับนักศึกษาจบใหม่ในสาย Data Science สูงถึง 20,000 หยวนต่อเดือน ในขณะที่สาย Humanities ได้เริ่มต้นเฉลี่ยเพียง 6,000–8,000 หยวน แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของตลาดแรงงาน โดยมีความต้องการสูงในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในขณะที่สาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มีความต้องการลดลง

ผลกระทบของความไม่สมหวังทางวิชาชีพของเหล่าเด็กจบใหม่ กลายเป็นกระแสที่คนรุ่นใหม่เริ่มลดแรงจูงใจในการแสวงหาความก้าวหน้า และเข้าสู่โหมด "躺平" (นอนราบ) หมายถึง การใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย หลีกเลี่ยงการแข่งขัน ไม่พยายามไล่ตามมาตรฐานความสำเร็จตามระบบ เช่น ไม่ซื้อบ้าน ไม่แต่งงาน ไม่ทำงานหนัก หรือโหมด "摆烂" (ปล่อยให้พัง) ซึ่งเป็นการยอมแพ้แบบประชดตัวเอง คือแม้รู้ว่าทุกอย่างกำลังแย่ ก็ไม่พยายามจะแก้ไขอีกแล้ว คล้าย ๆ กับการ “ปล่อยวางแบบขมขื่น”

"They say follow your dreams. So I went back to bed."

"เขาบอกให้ทำตามความฝัน… งั้นฉันก็เลยกลับไปนอนต่อ"

— Some viral Internet meme

ในทางทฤษฎี คำถามสำหรับตลาดแรงงานในวันนี้คือ : เป็นเพราะ “เศรษฐกิจไม่ดี” หรือ “เทคโนโลยีแย่งงาน” ที่ทำให้ความต้องการนักศึกษาจบใหม่ในตลาดแรงงานลดลง ?

คำตอบคือ : ทั้งสองอย่างผสมกัน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด

แน่นอนว่าปัญหาในภาพรวมเกิดขึ้นจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว และความล้ำหน้าของเทคโนโลยีที่สามารถแทนที่แรงงานบางประเภทได้แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ผมกลับมองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างตลาดแรงงานเปลี่ยนเร็วมากในปัจจุบัน เราอาจอาจเลือกเรียนในคณะหรือสาขาที่คิดว่ามีความสำคัญและหาเงินได้ แต่ภายใน 4 ปีที่เรียนนั้น เกิดนวัตกรรมใหม่ที่ส่งผลต่อตลาด ทำให้คณะหรือสาขาที่เลือกเรียนไปมีความสำคัญน้อยลง ความรู้จากการเรียน 4 ปีที่ผ่านมาอาจไม่สำคัญอีกต่อไป ในจุดนี้ เป็นสิ่งที่ต้องนำไปตั้งคำถามต่อกับระบบการศึกษาที่ผลิตบุคคลากรป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน

อีกหนึ่งคำถามสำคัญ : “เรียนจบแล้วหางานไม่ได้” – แล้วการระบบศึกษายังสำคัญอยู่หรือไม่ ?

คำตอบคือ : ยังสำคัญอยู่ แต่ไม่ใช่ในแบบเดิม

กล่าวคือ ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อ “ได้ใบปริญญา” แต่ต้องเรียนเพื่อ “พัฒนาทักษะ + ความสามารถที่ตลาดต้องการ”

แม้ระบบการเรียนเพื่อ “ได้ใบปริญญา” ซึ่งเน้นวิชาการ ท่องจำ และการวัดผลตามระบบ จะเคยตอบโจทย์ในอดีต เพราะด้วยโครงสร้างทางสังคม จำนวนคนเรียนสูงยังไม่มาก คนมีปริญญาจึง “มีค่าหายาก” ในจังหวะที่ เศรษฐกิจขยายตัว สร้างตำแหน่งงานใหม่ ต้องการคนมีความรู้จำนวนมาก

แต่ในปัจจุบัน เกิด “academic inflation” การมีใบปริญญากลายเป็นเรื่องธรรมดา ใคร ๆ เขาก็มีกัน ในขณะที่เศรษฐกิจก็ชะลอตัว ตำแหน่งงานลดลง เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่การแข่งขันก็ยังสูง ทำให้ตลาดต้องการคนที่ “ทำได้จริง” ไม่ใช่แค่ “สอบได้ดี”

สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่ “คุณค่าของความรู้” แต่คือ “วิธีเรียนรู้” และ “สิ่งที่ต้องรู้” ที่จะต้องเน้นภาคปฏิบัติมากขึ้น ที่สำคัญ คือต้องไม่สอนให้เด็กเป็น “เครื่องมือของระบบเดิม”

'ในส่วนนี้ รัฐบาลจีนพยายามใช้นโยบายปฏิรูปการศึกษาด้วยแนวคิด Key Competencies-Based Education Reform และ TVET Reform สนับสนุนให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกงานมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในสนามจริง ทั้งยังส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะข้ามสาย เพื่อรับมือกับตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงความต้องการทางทักษะอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ให้เด็กมีความสามารถในการแก้ปัญหาใหม่ ๆ พร้อมปรับตัวกับอาชีพที่ยังไม่เคยมีในโลกวันนี้

อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญคือ ประเทศไทยสามารถถอดบทเรียนจากเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง ? เพราะจริง ๆ แล้วทั่วโลก รวมถึงเราเองก็เผชิญกับปัญหาในลักษณะที่คล้ายกัน อาจต่างกันในเชิงบริบท แต่ในเมื่อใจความสำคัญของระบบการศึกษาคือการสร้างบุคคลากรที่มี “ทักษะ” (skill) แล้วทักษะไหนสำคัญที่สุด ระหว่าง “ทักษะแข็ง” (hard skills) ที่เน้นความสามารถเชิงเทคนิค หรือ “ทักษะอ่อน” (soft skills) ที่เน้นความสามารถทางสังคมและการสื่อสาร ?

ส่วนตัวผม ไม่ว่าจะทักษะไหนก็สำคัญทั้งนั้น แต่ในวันนี้ มีอีกหนึ่งทักษะที่ต้องบรรจุเพิ่มเข้าไปใน capacity ของคนรุ่นใหม่ นั่นก็คือ “ทักษะระดับเหนือ” หรือ “ทักษะกรอบใหญ่” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Meta Skills” ซึ่งนอกจากจะเน้นเรื่องการเรียนรู้ด้วยตนเอง ยังต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับความล้มเหลว การรู้จักตัวเอง การรู้จุดแข็ง จุดอ่อน สามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบ รวมถึงความสามารถในการปรับตัวต่อสถานการณ์ใหม่ ความสามารถและเจตจำนงในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long learning) และความเชื่อว่าความสามารถสามารถพัฒนาได้ (Lifelong Learning)

โดยสรุป แม้ว่าวิดีโอแนวไวรัลที่เปลี่ยนจากชุดครุยเป็นเสื้อไรเดอร์จะดูขบขันในแวบแรก แต่มันสะท้อนเสียงเงียบของคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ความหวังที่เคยผูกไว้กับการเรียนสูงเริ่มสั่นคลอน กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่จีนเองก็จำเป็นต้องปฏิรูปหลักสูตร ส่งเสริมความยืดหยุ่นในการแนะแนวอาชีพ

ที่สำคัญ คือต้องสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสังคม โดยลดทัศนคติแบบ “มีปริญญา = ประสบความสำเร็จ” และให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะในสนามจริงที่เป็นที่ต้องการในปัจจุบัน

"The only thing that interferes with my learning is my education."

"สิ่งเดียวที่ขัดขวางการเรียนรู้ของฉันคือการศึกษา"

— Albert Einstein

The Restaurant of Mistaken Orders เมื่อการเสิร์ฟอาหารไม่ซ้ำ-จำเมนูไม่ได้ คือ ‘จุดขาย’

ลองนึกดูนะครับ หากคุณเดินเข้าไปในร้านอาหารร้านหนึ่งซึ่งมีพนักงานในร้านเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด แล้วสั่งราดหน้า แต่พนักงานกลับเดินกระย่องกระแย่ง ค่อย ๆ เอาข้าวผัดมาวางให้คุณบนโต๊ะแทนที่ราดหน้าที่คุณอยากทาน สั่งชาเย็น แต่ได้โค้กมาแทน สั่งคิดเงิน แต่กลับได้เมนูอาหารมาอีกรอบ (ซึ่งพอคุณสั่งอาหารจานใหม่ไป มันก็จะมาแบบผิดๆอีกนั่นแหละ) หรือพูดง่าย ๆ ว่า อาหารทุกอย่างที่คุณสั่งไปมีโอกาสที่คุณจะได้รับอาหารไม่ตรงตามที่คุณต้องการถึงกว่า 35% คุณจะหงุดหงิดหัวเสีย หรือโกรธพนักงานในร้านรวมไปถึงเจ้าของร้านด้วยหรือไม่ ลูกค้าบางคนอาจถึงขั้นหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเขียนคอมเม้นต์ด่าในหน้าโซเชียลมีเดียของทางร้าน หรือเขียนรีวิวให้คะแนนแย่ ๆ เลยด้วยซ้ำ 

แต่……
ถ้าคุณรู้ว่าพนักงานเสิร์ฟอาหารสูงอายุในร้านทุกคนเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมทั้งหมดคุณยังจะหงุดหงิดหัวเสียอยู่รึเปล่า?? 
ร้านอาหารแบบนี้มีอยู่จริงในประเทศญี่ปุ่นครับ 

ใดๆ digest ep.นี้ชวนคุณผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จัก 'Restaurant of Mistaken Orders' ร้านอาหารในญี่ปุ่นที่มีพนักงานเสิร์ฟทั้งหมดไม่เพียงแต่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งชายหญิงแล้ว แต่คุณตาคุณยายทุกท่านที่ทำงานในร้านยังเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมกันทุกคนอีกด้วยครับ 

ร้านอาหาร concept แปลกๆ นี้ก่อตั้งขึ้นโดยคุณ ชิโระ โอกุนิ ผู้กำกับรายการโทรทัศน์ชาวญี่ปุ่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนมุมมองการรับรู้และสร้างความเข้าใจของผู้คนทั่วไปที่มีต่อผู้สูงอายุและความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งเป็นสภาวะเสื่อมถอยของสมอง ส่งผลให้ความจำ การเรียนรู้ และทักษะในการสื่อสารลดลง คุณโอกุนิได้เกิดปิ๊งไอเดียนี้มาจากตอนที่เขาได้ไปเยี่ยมบ้านพักคนชรา แล้วได้รับ 'เกี๊ยว' ทั้งที่เขาสั่ง 'เบอร์เกอร์' จากพนักงานที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งในตอนแรกเขาตั้งใจจะเปลี่ยนอาหารที่ได้รับให้ถูกต้องตรงกับที่ตัวเองสั่ง แต่ก็เกิดเปลี่ยนใจเมื่อคิดขึ้นมาได้ว่าแท้จริงแล้วนี่เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น และเขายังรู้สึกนับถือพนักงานเสิร์ฟที่ยังสามารถทำงานได้อยู่ แม้จะมีข้อบกพร่องทางร่างกาย พอคิดได้แบบนั้น คุณโอกุนิจึงรับอาหารจานนั้นไว้และทานจนหมดเพื่อแสดงความเคารพและขอบคุณ จากนั้นเขาจึงได้มีความคิดที่จะเปิดร้านอาหารที่พนักงานเสิร์ฟทั้งหมดเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมขึ้นมา

แต่กว่าร้านอาหารจะเกิดขึ้นและเป็นรูปเป็นร่างไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะจำเป็นต้องมีการวางแผนและขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านร้านอาหาร การออกแบบภายใน การดูแลด้านสวัสดิการสังคม และความร่วมมือขององค์กรต่าง ๆ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม แต่ในที่สุดร้านก็ได้เปิดขึ้นครั้งแรกได้สำเร็จเมื่อปี 2560 ด้วยเงินระดมทุนประมาณ 115,000 ดอลลาร์ ซึ่งไอเดียที่แปลกใหม่ทำให้ใคร ๆ ก็พร้อมจะร่วมลงทุนด้วย และเปิดมาจนถึงปัจจุบัน โดยชูแนวคิดสำคัญเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคทางสมองนี้ และสร้างภาพจำใหม่ว่าผู้ป่วยไม่ได้เศร้า หดหู่แบบที่หลายคนเข้าใจ และอันที่จริงแล้วลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการในร้านนี้ต่างก็อยากจะมาเพื่อรับประสบการณ์ประหลาดใจ และอยากรู้ว่าตนเองจะได้รับเมนูอะไรจากพนักงานเสิร์ฟจนกลายเป็นจุดขายของร้าน มากกว่าการได้มาลองรสชาติอาหารในร้านเสียอีก 

จากการเก็บข้อมูลของร้านพบว่า มีรายการอาหารที่เกิดข้อผิดพลาด ไม่ว่าจะจดเมนูผิด หรือ เสิร์ฟผิดประมาณ 37% แต่เมื่อสำรวจความพึงพอใจของแขกที่มาทานอาหารกลับพบว่าผู้ได้รับบริการถึง 99% รู้สึกพอใจกับมื้ออาหารของพวกเขา แม้ว่าบางครั้งพนักงานจะนั่งพูดคุยกับลูกค้าจนลืมให้บริการ หรือไหว้วานให้ลูกค้าจดเมนูให้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจ เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอเหตุการณ์อะไรบ้าง จึงเข้าใจข้อจำกัดของพนักงานเป็นอย่างดีจนกลายเป็นความเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  จนในหลาย ๆ ครั้งทำให้เกิดปรากฏการณ์พิเศษที่อบอุ่นหัวใจที่พนักงานในร้านและลูกค้าที่มารับประทานอาหารเกิดการสลับบทบาทกัน กลายเป็นลูกค้าให้ความสำคัญและดูแลเอาใจใส่พนักงานไปเสียแทน สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า นอกจากอาหารที่เป็นบริการสำคัญของร้านแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับลูกค้าถือเป็น 'จุดขาย' ของ Restaurant of Mistaken Orders เพราะจุดประสงค์ของลูกค้าที่มาร้านอาหารแห่งนี้ก็เพื่อสนับสนุนและให้โอกาสเหล่าผู้มีความบกพร่องทางสมอง 

ดังนั้น ผู้ที่มารับประทานอาหารจึงไม่สนใจว่าพวกเขาจะได้รับอาหารตามที่สั่งหรือไม่ ตราบใดที่พวกเขามีโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์และได้รับรู้ถึงความแตกต่างของผู้สูงอายุที่มีอาการความบกพร่องทางสมอง และเมื่อลูกค้าเห็นรอยยิ้มและความร่าเริงของพนักงานที่เป็นโรคสมองเสื่อมซึ่งสร้างพลังงานเชิงบวกให้บรรดาลูกค้าได้รับแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตกลับไป บางคนสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเหล่านี้ที่พยายามยืนหยัดทำงานเพื่อสร้างความรู้สึกมีคุณค่าให้กับตัวเอง บ่อยครั้งที่ลูกค้าก็ตื้นตันใจจนน้ำตาไหล นอกจากนี้ร้านอาหารแห่งนี้ยังเป็น 'พื้นที่ปลอดภัย' ให้ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการชะลอการลุกลามของภาวะสมองเสื่อม 

จากกระแสตอบรับที่มีต่อร้าน แสดงให้เห็นว่า “สายสัมพันธ์ที่สวยงามระหว่างลูกค้าและพนักงานในร้านอาหารแห่งนี้ นับเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็เป็นการพิสูจน์ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ความเมตตา และมิตรภาพ สามารถเป็นทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ โดยที่ทั้งผู้ให้บริการและลูกค้า ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ทำให้จิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ได้ถูกเติมเต็ม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของผู้คนที่มีความแตกต่างกันด้วยความเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกันนั่นเองครับ

รัฐกลายเป็น ‘เจ้าบ้าน’ ของอาชญากรรมข้ามชาติ ไทยไม่ควรนิ่งเฉย!! ปัญหาด้านความมั่นคง

(8 มิ.ย. 68) ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชื่อของกัมพูชาเริ่มปรากฏขึ้นบ่อยครั้งในฐานะ “แหล่งหลอกลวง” ของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเชื่อมโยงกับการฟอกเงิน การพนันออนไลน์ และเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ล่าสุด รายงานจาก Humanity Research Consultancy ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า อุตสาหกรรมสีเทาเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่ “พื้นที่อาชญากรรม” หากแต่มีลักษณะของ การได้รับการอุปถัมภ์จากภาครัฐ อย่างเป็นระบบ

โครงสร้างทุนเหล่านี้ฝังรากอยู่ในเมืองชายแดนอย่างปอยเปต สีหนุวิลล์ และอุดรมีชัย โดยมีบุคคลระดับสูงในรัฐบาลกัมพูชาเกี่ยวข้องโดยตรง เช่น ลูกพี่ลูกน้องของฮุน มาเนต ที่นั่งเป็นบอร์ดบริหารแพลตฟอร์มฟอกเงิน, รัฐมนตรีมหาดไทยที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมทุนกับกาสิโน รวมถึงมหาเศรษฐีสายการเมืองที่มีบทบาทในพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) หลายคน

ความน่ากังวลไม่ใช่แค่ในระดับภายในกัมพูชา แต่ยังขยายผลมาสู่ประเทศไทยโดยตรง เพราะโครงสร้างสีเทาเหล่านี้ พึ่งพาไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทย ใช้แรงงานผ่านชายแดนไทย และในบางกรณี ยังใช้ไทยเป็น “ทางผ่าน” ของกระบวนการฟอกเงินอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจมองปัญหานี้เป็นแค่ “เรื่องอาชญากรรม” แต่ควรถือเป็นปัญหาด้าน ความมั่นคงเชิงโครงสร้าง ที่กำลังบั่นทอนศีลธรรมทางการเมืองของภูมิภาคไปพร้อมกัน

ไทยจึงควรทบทวนบทบาทของตนในฐานะ “ผู้ส่งทรัพยากรให้ทุนเทา” อย่างจริงจัง การตัดไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่เสี่ยงอาจเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้น แต่ในภาพรวม ไทยควรใช้สถานะของตนในเวทีระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ (UN) หรืออาเซียน ในการยกประเด็นนี้ให้เป็น ภัยต่อความมั่นคงสากล ไม่ต่างจากปัญหาค้ามนุษย์หรือยาเสพติด

หากไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ การเพิกเฉยของรัฐไทยอาจกลายเป็นการร่วมสร้างระบบที่เอื้อให้ทุนสีเทาแปรสภาพเป็นทุนการเมือง และท้ายที่สุด ไม่ว่าด่านจะเปิดหรือปิด ประเทศไทยก็อาจเป็นเพียง “ผู้เฝ้าชายแดนให้ทุนมืด” โดยไม่รู้ตัว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top