Tuesday, 1 July 2025
COLUMNIST

ไทย–จีน ความสัมพันธ์บนเส้นทางไมตรี กับตำนานใช้ลูกผูกใจของ ‘สังข์ พัธโนทัย’

(24 เม.ย. 68) ในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกทั้งใบกำลังอยู่ในห้วงแห่งการสั่นสะเทือน ประเทศมหาอำนาจล้วนแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนระหว่างโลกเสรีและกลุ่มคอมมิวนิสต์ เวลานั้นประเทศไทยภายใต้การนำของจอมพลปพิบูลสงครามได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะทำสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยในเวลานั้นมีความสัมพันธ์กับจีนที่เบาบางมากเนื่องจากไม่ลงรอยกัน

จนกระทั่งในที่สุดวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ญี่ปุ่นลงนามยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ถือเป็นการสิ้นสุดของสงครามโลกอย่างเป็นทางการ สำหรับประเทศไทย แม้จะเคยประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) แต่ภายหลังได้ประกาศว่าการประกาศสงครามนั้นเป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ใช่เจตจำนงของประชาชนชาวไทย

ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 ขณะมีพระชนมพรรษาเพียง 9 พรรษา โดยประทับอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

พระองค์เสด็จนิวัติพระนครครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ก่อนจะเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อ ดังนั้นการตัดสินใจเข้าร่วมสงครามในปี 2485 ภายใต้การนำของจอมพลป.ถึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 8 นั่นเอง

รัชกาลที่ 8 นั้นเสด็จนิวัติอีกครั้งเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 การเสด็จกลับครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการกลับมาขององค์พระประมุขผู้ทรงบรรลุนิติภาวะ หากแต่ยังเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการฟื้นฟูศักดิ์ศรีของชาติไทยในสายตาประชาคมโลก หลังการยุติสงครามและการถูกครอบงำโดยญี่ปุ่น

แม้จะยังทรงพระเยาว์ แต่รัชกาลที่ 8 ทรงสามารถเอาชนะใจประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พระราชกรณียกิจที่เป็นที่กล่าวถึงมากคือ การเสด็จเยือนย่านสำเพ็งเพื่อสมานรอยร้าวระหว่างชาวไทยกับชาวจีนหลังสงคราม นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงรับเสด็จ ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบตเทน ผู้บัญชาการทหารฝ่ายสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการตรวจพลสวนสนามที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489 โดยทรงฉลองพระองค์จอมทัพไทยอย่างสง่างาม เป็นการแสดงออกว่าประเทศไทยไม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นหรืออยู่ในสถานะพ่ายแพ้สงคราม

เหตุการณ์นี้ได้เปลี่ยนทัศนคติของประชาชนชาวไทยที่มีต่อสงครามและต่อสถานะของชาติอย่างมาก นับเป็นช่วงเวลาที่รัชกาลที่ 8 ทรงมีบทบาทในเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองและการทูตระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงสงคราม ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ในข้อหาเป็นอาชญากรสงคราม เนื่องจากบทบาทของเขาในการนำประเทศไทยเข้าสู่สงครามเคียงข้างญี่ปุ่น เขาถูกควบคุมตัว ณ เรือนจำศาลาแดง ร่วมกับผู้ใกล้ชิดทางการเมืองคนสำคัญ — สังข์ พัธโนทัย ที่ปรึกษาและนักโฆษณาชวนเชื่อผู้ทรงอิทธิพล

ทั้งสองอยู่ในห้องขังด้วยกันราว 6 เดือน ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวในช่วงต้นปี พ.ศ. 2489 โดยเห็นว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ และคำประกาศสงครามของไทยในยุคสงครามนั้นเป็นโมฆะตามรัฐธรรมนูญ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ตามมาหลังสงคราม และการเสด็จกลับของรัชกาลที่ 8 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรยากาศของความขัดแย้งในประเทศผ่อนคลายลง

หลังจากนั้น สังข์ พัธโนทัย กลับมาทำงานด้านสื่อและกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมสัมพันธ์กับจีน เขาไม่ได้มีตำแหน่งทางการทูต แต่กลายเป็นผู้นำเสนอแนวทาง "การทูตสองหน้า" เพื่อเปิดประตูไปยังจีนโดยไม่ขัดกับท่าทีที่ไทยใกล้ชิดกับสหรัฐ

ในปี พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) สังข์ทำสิ่งที่โลกในเวลานั้นแทบไม่เข้าใจ — เขาส่ง ลูกชายและลูกสาว ไปอยู่ภายใต้การอุปการะของ โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีน เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “มิตรภาพที่ฝากทั้งชีวิตไว้ได้”

สิรินทร์ พัธโนทัย วัย 8 ขวบในขณะนั้น เป็นหนึ่งในเด็กสองคนนั้น เธอเติบโตอยู่ในประเทศจีน 14 ปี และได้รับความรักเฉกเช่นสมาชิกในครอบครัวของโจว เธอให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า “ได้รับความรักและความเมตตาอย่างแท้จริงจากโจวเอินไหล” ปัจจุบันเธอยังพูดภาษาจีนได้คล่อง และถ่ายทอดภาษานั้นไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

สายสัมพันธ์นี้เป็นมากกว่าการทูต — มันคือความไว้วางใจที่ลงลึกในระดับครอบครัว

ในเวลาเดียวกัน สังข์พยายามอย่างเงียบ ๆ ที่จะฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างอดีตคณะราษฎรสองสาย — จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับ ปรีดี พนมยงค์ ให้กลับมาจับมือกันอีกครั้ง โดยหวังว่าความร่วมมือของทั้งสองอาจเปลี่ยนอนาคตของประเทศได้

ทั้งสองเริ่มติดต่อกันผ่านรหัสลับ พูดถึงการกลับมาดื่มไวน์ด้วยกันที่กรุงเทพฯ เหมือนเมื่อครั้งยังเรียนอยู่ที่ปารีส

แต่...วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 (ค.ศ. 1964) จอมพล ป. เสียชีวิตกะทันหันด้วยโรคหัวใจ สะพานที่สังข์ปูไว้จึงจบลงก่อนที่ใครจะทันข้าม

ต่อมาในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) ความพยายามเหล่านั้นได้ออกดอกผล เมื่อ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีของไทย ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนอย่างเป็นทางการ และจีน...คือฝ่ายที่จำได้ดีว่า คนไทยคนแรกที่กล้าไว้ใจเขาคือใคร

สังข์ พัธโนทัย ไม่ได้มีชื่ออยู่ในรายนามเอกอัครราชทูต หรือรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่ชื่อของเขา คือไม้แผ่นแรกของสะพานที่ทุกคนเดินตามในภายหลัง

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#13 'จีน' พันธมิตรสำคัญของเวียตนามเหนือ

สงครามเวียตนามเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลต่อทิศทางของโลกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 แม้ว่าจะเป็นความขัดแย้งระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรอินโดจีน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียต รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจเหล่านี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 'จีน' ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสงครามเวียตนาม โดยจีนให้การสนับสนุนทางการทหารแก่เวียตนามเหนือในการสู้รบกับเวียตนามใต้และสหรัฐฯ ในสงครามเวียตนาม

เดือนตุลาคม 1949 สาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ได้ก่อตั้งขึ้น และเดือนมกราคม 1950 สาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียตนาม (DRV) ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน สิ่งนี้เปลี่ยนสถานการณ์ในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่งกับเวียตมินห์ และส่งผลโดยตรงต่อสงครามเวียตนามในเวลาต่อมา รัฐบาลจีนภายใต้การบริหารของเหมาเจ๋อตุงมีบทบาทสำคัญในสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ในเดือนเมษายน 1950 เวียตมินห์ได้ร้องขอความช่วยเหลือทางทหารจากจีนอย่างเป็นทางการรวมทั้งอุปกรณ์ที่ปรึกษาและการฝึกอบรม จีนเริ่มส่งที่ปรึกษาของตนและต่อมาได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาทางทหารของจีน (CMAG) เพื่อช่วยเหลือเวียตมินห์ ซึ่งนำโดยนายพลเว่ยกัวชิง กับพลเอกอาวุโสเฉินเกิง นี่คือจุดเริ่มต้นของความช่วยเหลือของจีน

ตลอดช่วงทศวรรษ 1950 และช่วงส่วนใหญ่ของทศวรรษ 1960 เหมาเจ๋อตุงเหมาถือว่าสหรัฐอเมริกาเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงและการปฏิวัติของจีน และอินโดจีนถือเป็นหนึ่งในสามแนวรบ (อีกสองแนวรบคือ เกาหลี และไต้หวัน) ซึ่งเหมาเจ๋อตุงมองว่า เสี่ยงต่อการรุกรานโดยประเทศจักรวรรดินิยม  ดังนั้นการสนับสนุนโฮจิมินห์ของเหมาเจ๋อตุง จึงเริ่มต้นด้วยความกังวลด้านความมั่นคงของจีน ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และต้นทศวรรษ 1970 เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพโซเวียตเสื่อมถอยลงในปี 1968 สภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ของจีนเปลี่ยนไปเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหภาพโซเวียตเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากความขัดแย้งชายแดนจีน-โซเวียตในเดือนมีนาคม 1969 เหมาเจ๋อตุงได้กล่าวว่า สหภาพโซเวียตเป็นภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงแห่งชาติของจีน จากนั้นได้เริ่มปรับนโยบายของจีนให้เข้ากับสหรัฐฯ และสนับสนุนให้เวียตนามเหนือบรรลุข้อตกลงสันติภาพ อย่างเด็ดขาด เมื่อจีนพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับอเมริกา “เวียดนามเหนือยังคงต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างสิ้นหวังกับอเมริกา” ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี และ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและเวียตนามเหนือ และทำให้จีนลดความช่วยเหลือทางทหารต่อเวียดนามเหนือลงตั้งแต่ช่วงปี 1969-1970 เป็นต้นมา

การสนับสนุนของจีนสำหรับเวียตนามเหนือเมื่อสหรัฐฯ เริ่มเข้าแทรกแซงในเวียตนาม รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และบทบาทในการสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรทางทหารหลายแสนคน ฤดูร้อนปี 1962 เหมาเจ๋อตงได้ตกลงที่จะจัดหาอาวุธปืนจำนวน 90,000 กระบอกให้กับเวียตนามเหนือโดยเป็นการให้เปล่า ต่อมาในปี 1965 จีนส่งหน่วยต่อสู้อากาศยานและกองพันวิศวกรรมไปยังเวียตนามเหนือเพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากการทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ทหารจีนสร้างถนนและทางรถไฟขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกองทัพเวียตนามเหนือสำหรับการสู้รบในเวียตนามใต้ จีนส่งกองกำลัง 320,000 นาย และส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่าปีละ 180 ล้านดอลลาร์ ระหว่างปี 1964 ถึง 1975 จีนได้มอบความช่วยเหลือทางทหารให้กับเวียดนามเหนือประกอบด้วย อาวุธปืนเล็ก 1,922,897 กระบอก ปืนใหญ่ 64,529 กระบอก กระสุนปืนเล็ก 1,048,207,000 นัด กระสุนปืนใหญ่ 17,074,000 นัด เครื่องรับ-ส่งวิทยุ 30,808 เครื่อง โทรศัพท์สนาม 48,922 เครื่อง รถถัง 560 คัน เครื่องบินรบ 164 ลำ ยานยนต์ 15,771 คัน กองกำลังจีนชุดสุดท้ายถอนตัวออกจากเวียตนามเหนือในเดือนสิงหาคม 1973 โดยทหารจีน 1,100 นายเสียชีวิต และบาดเจ็บอีก 4,200 นาย

ทั้งนี้กองทัพปลดแอกประชาชนจีนได้อ้างว่า ระหว่างสงครามเวียตนามกองกำลังต่อสู้อากาศยานของจีนสามารถสร้างความสูญเสียแก่กองกำลังทางอากาศของสหรัฐฯ มากถึง 38% ในปี 1967 รัฐบาลจีนได้เปิดตัวโครงการลับทางทหาร "โครงการ 523" ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อหาทางรักษาโรคมาลาเรียเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กองกำลังเวียตนามเหนือ (PAVN) ซึ่งได้รับความทุกข์ทรมานจากโรคมาลาเรีย เป็นผลให้ Tu Youyou นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนและทีมงานค้นพบ Artemisinin TU สำหรับการรักษาโรคมาลาเรีย จนได้รับรางวัลโนเบลในปี 2015 นอกจากเวียตนามเหนือแล้ว จีนยังได้ให้การสนับสนุนเขมรแดงเพื่อเป็นการถ่วงดุลกับเวียตนามเหนือ โดย จีนได้มอบอาวุธยุทโธปกรณ์และให้การฝึกฝนทางทหารแก่เขมรแดงในช่วงสงครามกลางเมือง และยังคงช่วยเหลือต่อเนื่องมาอีกเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น เขมรแดงได้เปิดฉากโจมตีเวียตนามอย่างดุเดือดในปี 1975-1978 และเมื่อเวียตนามตอบโต้ด้วยการบุกโค่นรัฐบาลเขมรแดง จีนก็ได้เปิดตัวบุกเวียตนามในปี 1979

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#12 พันธมิตรของเวียตนามเหนือ : ลาว-เขมรแดง -สหภาพโซเวียต

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาทุ่มเท กำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และงบประมาณมากมายมหาศาลเข้าสู่เวียตนามใต้ สหภาพโซเวียตก็มีทั้งบทบาทและส่วนร่วมในเวียตนามเหนือเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ในฐานะที่เป็นอำนาจคอมมิวนิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สหภาพโซเวียตขณะที่ยังไม่ขัดแย้งแตกคอกับสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากไปยังเวียตนามเหนือ ทั้งมอสโกและปักกิ่งหวังที่จะรวมและขยายคอมมิวนิสต์ในเอเชีย ไม่เพียงแต่การเติบโตขึ้นของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียจะช่วยให้สร้างสมดุลกับตะวันตกในสงครามเย็นเท่านั้น แต่ยังเกิดผลประโยชน์ต่อทั้งรัสเซียและจีน การสนับสนุนของโซเวียตและจีนมีความสำคัญต่อฮานอยและมีส่วนทำให้เวียตนามเหนือประสบชัยชนะในที่สุด

ปารีส ในปี 1920 โฮจินมินห์ได้กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส สามปีต่อมาเขาเดินทางไปมอสโก ซึ่งเขาได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับทฤษฎีคอมมิวนิสต์และการเคลื่อนไหวระหว่างประเทศ นอกจากนี้เขายังเป็นตัวแทนของเวียตนามประสานงานกับองค์การคอมมิวนิสต์สากล (Communist International : Comintern) ซึ่งเป็นองค์การที่ทำหน้าที่เผยแพร่แนวความคิดปฏิวัติ ล้มล้างนายทุนและจักรวรรดินิยมตามแบบการปฏิวัติของบอลเชวิก จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าโฮจิมินห์มีอุดมการณ์คอมมิวนิสต์เต็มตัว

หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง สหภาพโซเวียตให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ในเวียตนามเพียงเล็กน้อย เพราะ โจเซฟ “สตาลิน” พยายามที่จะรักษาสัมพันธภาพที่ดีกับพันธมิตรสงครามฝ่ายตะวันตกอย่างน้อยเป็นการชั่วคราว และเลือกที่จะไม่เป็นปฏิปักษ์พวกเขาด้วยการสนับสนุนเวียตมินห์ ในปี 1946-47 “สตาลิน” ยังคงไม่ไว้วางใจในกลุ่มคอมมิวนิสต์ของเอเชีย โดยมองว่าอ่อนแอ ไม่มีวินัย และชื่อเสียงไม่ดี อันเนื่องมาจากผลประโยชน์ของตนเองและความเป็นชาตินิยม ปลายปี 1949 สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน ความตึงเครียดของสหรัฐอเมริกา-โซเวียตเพิ่มขึ้น และชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์นำโดย “เหมาเจ๋อตง” ในจีน (ตุลาคม 1949) เป็นพัฒนาการที่มีความรุนแรงที่สุดในยุคสงครามเย็น มกราคมปี 1950 มอสโกได้ให้การยอมรับ “โฮจิมินห์และเวียดมินห์” ในฐานะ ‘ผู้ปกครอง’ และ 'เจ้าหน้าที่' ของเวียตนาม โฮจิมินห์ได้เดินทางไปมอสโกและแสวงหาการสนับสนุนทางทหารจากสหภาพโซเวียตเพื่อสงครามอิสรภาพกับฝรั่งเศส แต่ “สตาลิน” ซึ่งยังมีความสนใจอยู่ในยุโรปได้ปฏิเสธการพูดคุยเจรจา โดยสนับสนุนให้ “เหมาเจ๋อตง” เป็นพันธมิตรคอมมิวนิสต์สนับสนุนเวียคมินห์แทน

ในเบื้องต้นจีนให้การสนับสนุนทั้งเงินและอาวุธยุทโธปกรณ์ แต่ปัญหาระหว่างเวียตนามเหนือและจากความพยายามที่จะครอบงำของจีน ทำให้ในที่สุดก็ทำให้เวียตนามเหนือหันไปหาสหภาพโซเวียตเพื่อขอความช่วยเหลือ ก่อนปี 1967 สหภาพโซเวียตให้ความช่วยเหลือทางทหารโดยการฝึกอบรมบุคลากรกองทัพอากาศเวียตนามเหนือ ต่อมาสหภาพโซเวียตได้จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็น รถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ปืนใหญ่, ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางทหารอื่น ๆ ให้เวียตนามเหนือ กล่าวกันว่า ทีมงานชาวโซเวียตรัสเซียเป็นผู้ยิงเครื่องบินรบไอพ่นแบบ F-4 Phantoms ของสหรัฐฯ ตกที่เมือง Thanh Hóa ในปี 1965 ภายหลังจากการสลายตัวของสหภาพโซเวียตในปี 1991 เจ้าหน้าที่ของสหพันธรัฐรัสเซียยอมรับว่า ในช่วงสงครามเวียตนาม สหภาพโซเวียตได้ส่งทหารราว 3,300 นายประจำการในเวียตนามเหนือ

นอกจากนี้เรือหาข่าวของสหภาพโซเวียตในทะเลจีนใต้ได้ส่งคำเตือนล่วงหน้าแก่เวียตนามเหนือ โดยทำการตรวจหาเครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 อเมริกันที่บินจากเกาะโอกินาวาและเกาะกวม เครื่องบินและทิศทางจะถูกบันทึกไว้แล้วส่งไปทำการวิเคราะห์ละคำนวณเป้าหมายการทิ้งระเบิด เพื่อแจ้งเตือนให้ย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญ คำเตือนล่วงหน้าเหล่านี้ทำให้เวียตนามเหนือมีเวลาพอที่จะย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์สำคัญต่าง ๆ ให้ปลอดภัยจากเครื่องบินทิ้งระเบิด และในขณะที่มีการทิ้งระเบิดซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปี 1968-1970 ด้วยการแจ้งเตือนทำให้เวียตนามเหนือไม่สูญเสียผู้นำทหารหรือพลเรือนเลยแม้แต่คนเดียว นอกจากนี้ยังมีการขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อช่วยให้เวียตนามเหนือพัฒนาวิธีโฆษณาชวนเชื่อในการต่อต้านสหรัฐฯ

ระหว่างปี 1953 ถึง 1991 สหภาพโซเวียตส่งมอบอาวุธยุทโธปกร์ให้เวียตนามเหนือประกอบด้วยรถถัง 2,000 คัน รถหุ้มเกราะลำเลียงพล 1,700 คัน ปืนใหญ่ 7,000 กระบอก ปืนต่อสู้อากาศยานมากกว่า 5,000 กระบอก ขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ 158 ระบบ และเฮลิคอปเตอร์ 120 ลำ ในช่วงสงครามสหภาพโซเวียตส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เวียตนามเหนือมูลค่าปีละ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ โรงเรียนทหารและสถาบันการศึกษาของโซเวียตได้ฝึกบุคลากรทางทหารของเวียตนามเหนือมากกว่า 10,000 คน ในปี 1964 นักบินเครื่องบินขับไล่เวียตนามเหนือและพลปืนต่อต้านอากาศยานได้รับการฝึกฝนในสหภาพโซเวียต โดยมีที่ปรึกษาโซเวียตยังถูกส่งไปประจำการในเวียตนามเหนือ ในช่วงต้น ๆ เมื่อกองทหารเวียตนามเหนือยังคงไม่คุ้นเคยกับอาวุธต่อสู้อากาศยานของสหภาพโซเวียต ทีมอาวุธต่อสู้อากาศยานของโซเวียตได้เข้าจัดการระบบปืนด้วยตัวเองและทีมงานได้ยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ตกด้วย มีรายงานว่า ทีมอาวุธต่อสู้อากาศยานของโซเวียตทีมหนึ่งสามารถยิงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ตกถึง 6 ลำ

KGB ยังช่วยพัฒนาความสามารถของ Signals Intelligence (SIGINT) ของเวียตนามเหนือผ่านการดำเนินการที่รู้จักกันใน “โปรแกรม Vostok” ซึ่งเป็นโปรแกรมข่าวกรองและการจารกรรม โปรแกรมเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญในการตรวจจับและเอาชนะทีมคอมมานโดของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ที่ส่งไปยังเวียตนามเหนือ โซเวียตยังช่วยกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียตนามเหนือรับสมัครชาวต่างชาติในวงการทูตระดับสูงในหมู่พันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯ ภายใต้โครงการลับ "B12, MM" ซึ่งสามารถจัดทำเอกสารความลับระดับสูงนานเกือบทศวรรษหลายพันรายการ รวมถึงเป้าหมายของการทิ้งระเบิดของเครื่องบิน B-52 ในปี 1975 SIGINT ได้ทำลายข้อมูลจากพันธมิตรตะวันตกของสหรัฐฯ ในช่วงสงครามแม้ว่าทหารและเจ้าหน้าที่ของสหภาพโซเวียตจะถูกระบุให้เป็น“ ผู้เชี่ยวชาญทางทหารของโซเวียต” เนื่องจากสหภาพโซเวียตอ้างว่าไม่มี “ทหาร” ในสงครามเวียตนาม แต่ก็สูญเสียเจ้าหน้าที่ไป 16 นาย แม้การมีส่วนร่วมของสหภาพโซเวียตนั้นจะไม่มากเท่ากับกรณีสหรัฐฯ กับเวียตนามใต้ แต่สำหรับเวียตนามเหนือแล้ว ถือเป็นความช่วยเหลือที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง สำหรับสหภาพโซเวียตได้ถือโอกาสนี้ในการทดสอบทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธวิธีการรบที่ดำเนินการในสถานการณ์จริง

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

ภาษีคือภาษี ความผิดคือความผิด เสียงสะท้อนถึง…พี่ชาย ‘ดร. พอล แชมเบอร์ส’ ปมขอให้สหรัฐฯ กดดันไทย

(22 เม.ย. 68) จากกรณีที่ คิท แชมเบอร์ส (Kit Chambers) พี่ชายของ ดร. พอล แชมเบอร์ส (Dr. Paul Chambers) นักวิชาการชาวอเมริกันซึ่งกำลังเผชิญคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ ในประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความผ่าน The Oklahoman สื่อท้องถิ่นของรัฐโอคลาโฮมา เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ระงับการเจรจาการค้าด้านภาษีกับไทยจนกว่า “น้องชายของเขาจะได้กลับบ้าน”

ในบทความดังกล่าว คิท แชมเบอร์ส กล่าวหาว่าการกักขังน้องชายของตนนั้น “ไม่เป็นธรรม” และยืนกรานว่านี่ไม่ใช่ปัญหาทางการค้า แต่คือ “เรื่องสิทธิมนุษยชน”

ล่าสุด “ปราชญ์ สามสี” ได้ออกมาโพสต์แสดงความเห็นถึงกรณีนี้ว่า

คำถามคือ — แล้วการกระทำผิดกฎหมายในประเทศหนึ่ง สามารถกลายเป็น "ของต่อรอง" ได้จริงหรือ?

ถ้าคนไทยสักคนเดินทางไปสหรัฐฯ แล้วไปละเมิดกฎหมายของอเมริกา เช่น ละเมิดสัญลักษณ์ทางการเมือง ข่มขู่บุคคลสาธารณะ หรือทำผิดทางไซเบอร์ ประเทศไทยควรจะ "ขู่ขึ้นภาษีสินค้าอเมริกัน" เพื่อให้สหรัฐฯ ยอมปล่อยตัวกลับบ้านหรือไม่?

การใช้ข้อเรียกร้องทางอารมณ์ มาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของรัฐอื่น นอกจากจะบ่อนทำลายหลักนิติธรรมแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในอธิปไตยของแต่ละประเทศอย่างร้ายแรง

ไทยไม่ได้กักขังพอลเพราะเขาเป็นอเมริกัน แต่เพราะเขาทำผิดกฎหมายไทย และกระบวนการที่เกิดขึ้น ก็อยู่ภายใต้สิทธิในการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ไม่ต่างจากประชาชนไทยทั่วไป

การเจรจาภาษีควรเดินหน้าอย่างอิสระ เพราะเศรษฐกิจคือผลประโยชน์ของคนทั้งชาติ ไม่ใช่เวทีต่อรองเพื่อปล่อยตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อย่าเอาน้ำหนักของ “สายเลือด” ไปทับถม “หลักนิติธรรม” ที่ประเทศอื่นพยายามรักษาไว้ด้วยความยากลำบาก

โลกจะอยู่ไม่ได้ หากอำนาจทางการค้าใหญ่กว่าหลักแห่งความยุติธรรม

เมื่อ ‘เวลา’ กลายเป็นของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ก่อเกิดเมล็ดพันธุ์แห่งน้ำใจที่มนุษย์จะมอบให้แก่กัน

ในโลกยุคที่ผู้คนต่างเร่งรีบแข่งขันกันกับเวลา 'เวลา' กลายเป็นสิ่งล้ำค่าที่มักไม่มีใครเหลือให้กันมากนัก แต่ในประเทศเล็ก ๆ กลางเทือกเขาแอลป์อย่างสวิตเซอร์แลนด์ กลับมีแนวคิดหนึ่งที่เปลี่ยนความหมายของคำว่า 'เวลา' ไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ 'ธนาคารเวลา' ครับ 

ธนาคารเวลา ไม่ใช่สถานที่ที่เก็บเงินทอง หรือดอกเบี้ยทางการเงิน แต่เป็นระบบที่ให้ผู้คน "ฝากเวลาแห่งการช่วยเหลือ" เอาไว้ แล้วถอนคืนมาใช้เมื่อถึงวันที่ตนเองต้องการความช่วยเหลือ แนวคิดเรียบง่ายนี้กลับมีพลังมหาศาลครับ เพราะมันทำให้เราเห็นว่า แม้ไม่มีเงินทอง เราก็สามารถดูแลกันและกันได้ด้วยความตั้งใจและการลงมือทำ

เรื่องราวของชายชราคนหนึ่งในเมือง St. Gallen สร้างความประทับใจให้คนทั้งประเทศ หลังเกษียณ เขาใช้เวลาว่างไปช่วยดูแลผู้สูงวัยในชุมชน พาไปหาหมอ ทำอาหารให้ หรือแค่นั่งฟังพวกเขาเล่าเรื่องชีวิตเก่า ๆ เขาบันทึกทุกชั่วโมงแห่งความเมตตานั้นไว้ในระบบธนาคารเวลา  

หลายปีผ่านไป เขาเองก็เริ่มอ่อนแรง เดินไม่ไหวเหมือนเดิม และนั่นคือวันที่ 'เวลา' ที่เขาเคยมอบให้ผู้อื่น กลับมาดูแลเขาในแบบเดียวกัน เด็กหนุ่มสาวในวัย 20 กว่ามาหาเขาทุกเย็น ช่วยทำอาหาร นั่งคุย และพาไปเดินเล่นริมทะเลสาบ แม้จะไม่ใช่ลูกหลานแท้ ๆ แต่เขาก็ได้กล่าวไว้ว่า “หัวใจฉันอบอุ่นกว่าเดิมทุกครั้งที่เขามาเยี่ยม เหมือนฉันไม่เคยแก่เกินไปสำหรับใครเลย”

ธนาคารเวลาไม่เพียงแค่เป็นระบบการแลกเปลี่ยนบริการ แต่เป็นการปลูกเมล็ดพันธุ์ของน้ำใจ ความห่วงใย และการไม่ทอดทิ้งกันในสังคม มันทำให้เรารู้ว่า แม้วันหนึ่งเราจะอ่อนแอ แต่สิ่งที่เราเคยหยิบยื่นให้คนอื่น จะย้อนกลับมาดูแลเราในวันที่เราต้องการมากที่สุด

และบางที ของขวัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด อาจไม่ใช่เงินทอง หรือทรัพย์สมบัติใด ๆ แต่อาจเป็นเพียงสิ่งที่เรียบง่ายที่สุดอย่าง "หนึ่งชั่วโมงแห่งน้ำใจ" ที่เรามอบให้กันเท่านั้น

หากจะอธิบายระบบการทำงานให้เข้าใจอย่างง่าย ๆ 'ธนาคารเวลา' (Time Bank) ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากครับ แนวคิดนี้เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนบริการโดยใช้ 'เวลา' เป็นสกุลเงินแทนเงินตรา และแนวคิดนี้มีการนำมาใช้จริงในหลายๆพื้นที่เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุหรือการดูแลซึ่งกันและกันในสังคม

หลักการและแนวคิดของธนาคารเวลาในสวิตเซอร์แลนด์นั้นแสนจะเรียบง่ายดังนี้ครับ 

1. การแลกเปลี่ยนบริการด้วยเวลา
ผู้คนจะ 'ฝากเวลา' โดยให้บริการกับผู้อื่น เช่น ดูแลผู้สูงอายุ, ช่วยทำความสะอาดบ้าน, สอนภาษา ฯลฯ และจะได้รับ 'เครดิตเวลา' ที่สามารถนำไปใช้ขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นในอนาคต

2. ส่งเสริมสังคมแห่งการดูแล
แนวคิดนี้ถูกใช้ในโครงการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้คนวัยเกษียณมีคุณค่าและรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม ขณะเดียวกันยังได้รับการดูแลเมื่อพวกเขาต้องการในภายหลัง

3. ดำเนินการโดยองค์กรหรือภาครัฐ
ในบางเขต เช่น เมือง St. Gallen รัฐบาลท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้งระบบธนาคารเวลานี้ โดยใช้ระบบบันทึกชั่วโมงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

4. ไม่มีการวัดมูลค่าตามทักษะ
ทุกคนมีค่าเท่ากันในแง่เวลา นั่นหมายความว่า 1 ชั่วโมงของการทำสวน = 1 ชั่วโมงของการช่วยสอนหนังสือ เป็นต้น

กล่าวโดยสรุปสิ่งที่ธนาคารเวลาได้มอบให้กับผู้คนก็คือ
- สร้างความสัมพันธ์ในชุมชน
- สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืน
- ลดภาระของรัฐในด้านสวัสดิการ
- ส่งเสริมความเท่าเทียม

ในท้ายที่สุด ธนาคารเวลาอาจไม่ได้เปลี่ยนโลกทั้งใบในชั่วข้ามคืนครับ แต่สิ่งที่มันทำได้คือการเปลี่ยน 'หัวใจของผู้คน' ให้กลับมาเห็นค่าของกันและกันอีกครั้ง มันเตือนเราว่า บางครั้งสิ่งที่คนเราต้องการไม่ใช่เงิน หรือสิ่งของราคาแพง หากแต่เป็น "เวลา" เวลาที่เราตั้งใจมอบให้กันด้วยความเข้าใจและเมตตา และหากสังคมของเรามีพื้นที่แบบนี้มากขึ้น มนุษย์เราอาจจะเห็นได้ว่า แท้จริงแล้วว่าผู้คนอาจไม่ต้องการสิ่งใดมากไปกว่า หนึ่งชั่วโมงแห่งความห่วงใย ที่ไม่มีดอกเบี้ยใดๆแต่เต็มไปด้วยความหมายและความเอื้ออาทรที่มนุษย์เรามอบให้กันในวันที่อีกฝ่ายต้องการมากที่สุด 

เท่านี้ก็พอครับ

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#11 พันธมิตรของสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : “ไทย” (2)

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของจอมพลถนอม กิตติขจรได้ไห้การสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในเวียตนามใต้ตั้งแต่แรกเริ่ม โดยไทยยืนยันว่า การช่วยเหลือเวียตนามใต้เป็นการหยุดยั้งการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ อีกทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากสหรัฐฯ จากการสนับสนุนรัฐบาลไซง่อนเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งการมีส่วนร่วมของไทยเป็นประโยชน์ต่อพันธมิตรโลกเสรีของสหรัฐฯ เป็นอย่างยิ่ง

คำร้องขอของประธานาธิบดีจอห์นสัน ถึง จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีไทยในปี 1964 : “ข้าพเจ้าตระหนักดีและซาบซึ้งอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของท่านกับรัฐบาลของท่าน อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าหวังว่าประเทศไทยจะหาวิธีเพิ่มขอบเขตและขนาดของความช่วยเหลือแก่เวียตนามใต้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของโลกเสรีที่จะร่วมมือกันต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์” และ “แถลงการณ์ของรัฐบาลไทย 3 มกราคม 1967” ความว่า “ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้กับเวียตนามใต้ และจะเป็นเป้าหมายต่อไปของคอมมิวนิสต์ตามที่ได้ประกาศไปแล้ว นี่คือเหตุผลที่ประเทศไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการส่งหน่วยทหารไปช่วยต่อต้านการรุกรานของคอมมิวนิสต์เมื่อยังอยู่ห่างไกลจากประเทศของเรา รัฐบาลจึงตัดสินใจส่งหน่วยรบหนึ่งกองพันเพื่อมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสู้รบในเวียดนามใต้ในอนาคตอันใกล้”

ปัจจัยที่โดดเด่นหลายประการทำให้ไทยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้
ประการแรก รัฐบาลไทยเชื่ออย่างยิ่งว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคามไม่เพียงแต่ต่อประเทศของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมดด้วย พวกเขาตั้งใจที่จะปราบปรามภัยคุกคามนี้ก่อนที่มันจะทำลายล้างพวกเขา ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของอเมริกาในภูมิภาคนี้
ประการที่สอง ไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ของไทย ลัทธิอาณานิคมไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในจิตใจของคนไทยแต่อย่างใด เพราะไทยไม่เคยถูกปกครองโดยมหาอำนาจชาติเจ้าอาณานิคม และแม้ว่าไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากอังกฤษในพม่าทางด้านตะวันตก และจากฝรั่งเศสในอินโดจีนทางด้านตะวันออก แต่ไทยก็ไม่เคยยอมสละอำนาจอธิปไตยของชาติไป ส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่มีความรู้สึกต่อต้านและความไม่ไว้วางใจชาวยุโรปและอเมริกาน้อยกว่าชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชาติอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด 
ประการที่สาม ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยนั้นเหมาะสมที่สุดสำหรับการปฏิบัติภารกิจทางอากาศในเวียตนามเหนือและเวียตนามใต้ (รวมทั้งลาวและกัมพูชาด้วย) อาทิ สามารถลดค่าใช้จ่ายของเครื่องบิน B-52 ที่ต้องบินจากฐานทัพอากาศในเกาะกวมถึงเที่ยวบินละ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เครื่องบินรบของกองทัพอากาศสหรัฐฯ เริ่มทำการบินจากฐานทัพต่าง ๆ 7 แห่งในประเทศไทย (อุดรธานี อุบลราชธานี นครราชสีมา (โคราช) นครสวรรค์ (ตาคลี) นครพนม อู่ตะเภา และดอนเมือง (กรุงเทพฯ))  ตั้งแต่ปี 1961 จนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี 1975 สหรัฐฯ ใช้เงิน 250 ล้านดอลลาร์ในการปรับปรุงฐานทัพเหล่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ที่จ่ายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของไทยตลอดช่วงสงคราม ในเดือนตุลาคม 1967 กำลังรบชุดแรกของไทยเดินทางมาถึงเวียตนามใต้เพื่อร่วมรบกับทหารออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐฯ โดยได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยขึ้นตรงกองพลทหารราบที่ 9 สหรัฐฯประจำการอยู่ที่ค่ายแบร์แคท ใกล้เมืองเบียนฮัว กองกำลังเหล่านี้ได้แก่ กรมทหารอาสาสมัคร (กองกำลังจงอางศึก) ซึ่งเป็นกำลังรบชุดแรก ในปี 1968 กองกำลังจงอางศึกถูกแทนที่ด้วยกองพลทหารอาสาสมัครของกองทัพบกไทย (กองพลเสือดำ) ผู้สังเกตการณ์ทางทหารในเวียตนามใต้ส่วนใหญ่ระบุในรายงานว่า กองกำลังของไทยทำการรบในเวียตนามใต้อย่างองอาจและกล้าหาญ เป็นที่ชื่นชอบของกองทัพอเมริกัน ทหารไทยหลายนายได้นำเครื่องรางมากมายหลายชนิดติดตัวมาเพื่อป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ตามความเชื่อของตน ซึ่งทหารอเมริกันหลายนายที่ได้รับการแบ่งปันเครื่องรางเหล่านั้นต่างก็มีความเชื่อเช่นนั้นด้วย

วีรกรรมสำคัญของทหารไทยในเวียตนามใต้ อาทิ (1)สมรภูมิฟุกโถ (Phuoc Tho) ในคืนวันที่ 20 ธันวาคม 1967 เวลาประมาณ 22.00 น. ขณะที่กำลังพลของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 กรมทหารอาสาสมัคร จำนวน 3 หมวด (ประมาณ 90 นาย) กำลังตั้งฐานปฏิบัติการควบคุมเส้นทาง ถนนสายสมเกียรติ (สาย 319) ซึ่งเป็นถนนยุทธศาสตร์สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายเวียตกงใช้เป็นเส้นทางส่งกำลังบำรุง และเข้าไปมีอิทธิพลในหมู่บ้านฟุกโถ ปรากฏว่าฝ่ายเวียตกงได้ส่งกำลังจำนวน 11 กองพัน (เพิ่มเติมกำลัง) เข้ามาในบริเวณที่ทหารไทยตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ และเริ่มการโจมตีโดยใช้เครื่องยิงลูกระเบิดยิงปืนใหญ่ ซึ่งอยู่ห่างจากฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 ไปทางตะวันตกประมาณ 3.5 ก.ม. เพื่อตรึงมิให้ปืนใหญ่ฝ่ายไทยยิงสนับสนุนกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 นอกจากนี้ยังได้ระดมยิงฐานที่ตั้งของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 อย่างรุนแรง

หลังจากนั้นข้าศึกได้ส่งหน่วย ทหารราบจำนวน 1 กองพันบุกเข้าโจมตีรอบฐานของกองร้อยอาวุธเบาที่ 1 โดยเข้าตี 3 ทิศทาง คือ ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ, ทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก ฝ่ายไทยได้ใช้อาวุธทุกชนิดที่มีเข้าสนับสนุน เพื่อผลักดันการเข้าตีของข้าศึก แต่เนื่องจากข้าศึกมีจำนวนมากกว่า จึงสามารถฝ่าแนวลวดหนามเข้ามาได้ ทหารไทยในแนวรบได้ตอบโต้อย่างรุนแรง ตลอดเวลา โดยไม่ยอมผละจากที่มั่น ส่วนกำลังทหารปืนใหญ่ และเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของฝ่ายไทยพยายามยิงสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา การรบได้ดำเนินมาจนถึงเวลาประมาณ 03.00 น. ข้าศึกเห็นว่าคงไม่สามารถยึดที่มั่นของไทยได้จึงเริ่มถอนกำลังกลับ การรบได้ยุติลงเมื่อเวลาประมาณ 05.30 น. ภายหลังการสู้รบยุติลง ฝ่ายไทยเสียชีวิต 8 นาย บาดเจ็บสาหัสอีก 23 นาย และบาดเจ็บเล็กน้อย 48 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 95 ศพ เสียชีวิตแต่นำศพกลับไปได้ 90 ศพ (ตามคำให้การของเชลยศึก สรุปแล้วสามารถสังหารเวียตกงได้กว่า 185 ศพ) และบาดเจ็บ 80 คน ถูกจับเป็นเชลยอีก 2 คน พร้อมกับยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก

(2)การรบที่บินห์สัน (Binh Son) ครั้งที่ 1 วันที่ 21 กันยายน 1968 เวลาประมาณ 03.15 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าโจมตีที่ตั้งกองร้อยที่ 2 และ 3 ของกองพันทหารราบที่ 3 ของไทย โดยเข้าตี 5 ทิศทางเป็น 2 ระลอก โดยใช้การยิงนำด้วยเครื่องยิงลูกระเบิด แล้วโจมตีด้วยจรวดอาร์พีจี ฝ่ายเราขอกำลังสนับสนุนจากปืนใหญ่กองพล จากฐานยิงสนับสนุน และชุดเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธปืนใหญ่สามารถยิงขัดขวางฝ่ายเวียตกง แนวหน้าที่มั่นฝ่ายไทยเพียง 180 – 200 หลา สามารถยังยั้งและสังหารข้าศึกได้เป็นจำนวนมากจนต้องถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยเสียชีวิต 5 นาย บาดเจ็บสาหัส 11 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 15 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 65 ศพ คาดว่านำศพกลับไปประมาณ 30 ศพ ยึดอาวุธได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 2 วันที่ 12 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 01.35 น. เวียตกงประมาณ 1 กองพันได้เข้าตีที่ตั้งกองร้อยที่ 3 กองพันทหารราบที่ 3 ของไทย เป็น 2 ทิศทาง ฝ่ายไทยเตรียมวางกำลังต่อสู้ในทางลึก เพื่อให้สามารถทำลายข้าศึกได้ตั้งแต่ระยะไกลได้ใช้ปืนใหญ่กองพลยิงสนับสนุน ขัดขวางการรุกของข้าศึกสมทบ ด้วยการยิงของเครื่องบินสปุ๊กกี้พร้อมกับทิ้งพลุส่องสว่าง ทำให้เวียตกงประสบกับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก และยุติการรบลงในเวลาอันสั้นเมื่อเวลา 03.00 น. ผลปรากฏว่า ฝ่ายไทยเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บสาหัส 1 นาย บาดเจ็บไม่สาหัส 4 นาย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับได้ 41 ศพ ยึดอาวุธยุโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก ครั้งที่ 3 คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 1969 เวลาประมาณ 00.25 น. เวียตกงได้เข้าโจมตีกองร้อยที่3 กองพันทหารราบที่ 3 โดยแบ่งกำลังเข้าตีพร้อมกัน 3 ทิศทาง กรมทหารราบที่ 31 ได้ใช้ปืนใหญ่กองพลและเครื่องบินสปุ๊กกี้สนับสนุนอย่างได้ผลฝ่ายเวียตกงได้รับความเสียหายหนัก จนรุ่งเช้าจึงได้ร่นถอยกลับไป ผลการรบ ฝ่ายไทยทุกคนปลอดภัย ฝ่ายเวียตกงเสียชีวิตนับศพได้ 87 ศพ ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นกองกำลังของไทยได้ทำการรบในอีกหลาย ๆ สมรภูมิ และในทุกสมรภูมินั้นทหารไทยทำการรบจนประสบชัยชนะด้วยดีสร้างความเสียหายแก่ฝ่ายตรงกันข้ามมากมาย 

ในช่วงสงครามเวียตนาม รัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศจากสหรัฐฯ มากกว่าประเทศอื่นใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยกเว้นเวียดนามใต้ เช่นเดียวกับทหารเวียตนามใต้ ทหารไทยได้รับการฝึกฝนและจัดเตรียมอุปกรณ์โดยสหรัฐฯ ขนส่งด้วยเรือและเครื่องบินของสหรัฐฯ และได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอเมริกัน แต่ไทยก็ต้องแบกรับภาระอันหนักหน่วงในสงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในเวียตนามใต้ ลาว และกัมพูชาในเวลาต่อมา แม้ว่าในที่สุดแล้วทั้งสามประเทศจะตกอยู่ภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ แต่ยุทธศาสตร์ของไทยในการควบคุมภัยคุกคามนอกประเทศก็นับว่าประสบความสำเร็จ เป็นอย่างดี ทักษะและความเชี่ยวชาญในการต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ของกองทัพไทยสามารถหยุดยั้งการแพร่กระจายของลัทธิคอมมิวนิสต์เข้ามาในประเทศของตนเป็นผลสำเร็จ สงครามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินต่อไประหว่างเดือนกันยายน 1967 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 1972 มีทหารไทยเกือบ 40,000 นายหมุนเวียนประจำการในเวียตนามใต้ ในจำนวนนี้ 351 นายเสียชีวิต และอีก 1,358 นายได้รับบาดเจ็บ แต่ความช่วยเหลือทางทหารจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้กองทัพไทยผูกติดกับระบบอาวุธยุทโธปกรณืของสหรัฐฯ และพันธมิตรต่อเนื่องมาอีกหลายสิบปี การรบตามแบบของกองทัพสหรัฐฯ นั้นต้องใช้อาวุธยุทโธปกรณ์และค่าใช้จ่ายอย่างมหาศาล ซึ่งปัจจุบันกองทัพไทยก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบการรบ อาวุธยุทโธปกรณ์ ฯลฯ ให้เป็นไปตามบริบทของไทยเองอย่างสมบูรณ์ แม้ว่า ยังต้องมีการซื้อนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ แต่ก็ไม่ได้พึ่งพิงสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว และยังมีการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์จากประเทศต่าง ๆ รวมทั้งขั้วตรงข้ามกับสหรัฐฯ อีกด้วย

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน 
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

การยึดกิจการ ‘Glavprodukt’ ของรัสเซีย สู่หมุดหมายการจัดเสบียงในสงครามอย่างเพียงพอ

(21 เม.ย. 68) ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซีย โดยคำสั่งของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินได้ประกาศยึดกิจการของบริษัท Glavprodukt «Главпродукт» ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาหารกระป๋องรายใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยให้เหตุผลด้าน "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ" ในบริบทของสงครามยูเครนและการเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศตะวันตก แม้ว่า Glavprodukt จะมีฐานการผลิตหลักอยู่ในรัสเซียและดำเนินธุรกิจมานานหลายสิบปี แต่บริษัทถูกระบุว่ามีความเกี่ยวข้องกับโครงสร้างการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะจากกลุ่มนักลงทุนที่มีถิ่นฐานในสหรัฐอเมริกา รัฐบาลรัสเซียจึงอ้างอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมทรัพย์สินของ "รัฐที่ไม่เป็นมิตร" (unfriendly states) ซึ่งผ่านการแก้ไขในช่วงหลังปี ค.ศ. 2022 เพื่อยึดกิจการและทรัพย์สินของต่างชาติที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ

การดำเนินการครั้งนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศใช้ Glavprodukt เป็นฐานการจัดหาเสบียงให้กับกองทัพรัสเซียในแนวหน้าโดยเฉพาะในยูเครนตะวันออก การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจของรัสเซียเข้าสู่รูปแบบ “เศรษฐกิจสงคราม” ที่รัฐมีบทบาทสูงในการควบคุมการผลิตสินค้าเชิงยุทธศาสตร์ ในขณะเดียวกันฝ่ายตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้แสดงความไม่พอใจต่อการกระทำดังกล่าวโดยมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ในทรัพย์สินของนักลงทุน และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจที่ลึกขึ้นในระดับพหุภาคี

Glavprodukt «Главпродукт» เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปรายใหญ่ของรัสเซียก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1991 หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดยสืบทอดโรงงานและสายการผลิตจากระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนกลางเดิมของโซเวียต บริษัทมีฐานการผลิตหลักอยู่ในกรุงมอสโกและแคว้นใกล้เคียง และได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารสำเร็จรูปจนกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในตลาดรัสเซียและประเทศในเครืออดีตสหภาพโซเวียต โดย Glavprodukt มีชื่อเสียงจากผลิตภัณฑ์อาหารประเภทเนื้อกระป๋อง (Stewed meat) «тушёнка»  นมข้นหวาน (Condensed milk) «сгущёнка» และอาหารประเภทซุป (Soups) อาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) รวมถึงซีเรียล (cereals) ในช่วงทศวรรษที่ 2000 บริษัทเริ่มเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศผ่านกองทุนที่มีความเชื่อมโยงกับนักลงทุนจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งในภายหลังกลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อรัฐบาลรัสเซียต้องการแทรกแซงการบริหารกิจการ

หลังการรุกรานยูเครนในปี ค.ศ. 2022 และมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกกลุ่มธุรกิจอาหารรวมถึง Glavprodukt ได้รับบทบาทใหม่ในฐานะผู้จัดหาเสบียงให้กับหน่วยงานความมั่นคงและกองทัพรัสเซีย รัฐจึงเข้ามามีบทบาทควบคุมมากขึ้น โดยเฉพาะหลังปี ค.ศ. 2023 ที่มีการเร่งฟื้นระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ภายใต้นโยบาย “เศรษฐกิจแห่งอธิปไตย” «суверенная экономика» ในปี ค.ศ. 2025 รัฐบาลรัสเซียได้ประกาศยึดกิจการของ Glavprodukt อย่างเป็นทางการ โดยให้เหตุผลว่าบริษัทมีทรัพยากรสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจาก "ประเทศที่ไม่เป็นมิตร"«недружественные государства»  

สถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้เป็นเพียงแค่การยึดกิจการของบริษัทเอกชนที่มีประวัติยาวนานในรัสเซียเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงในยุทธศาสตร์ความมั่นคงและการเตรียมพร้อมสำหรับการต่อสู้ในสงครามที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาสินค้าสำคัญสำหรับการเสริมสร้างเสบียงกองทัพรัสเซียในช่วงเวลาสงคราม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของนักวิชาการหลายท่าน เช่น แดเนียล ฟรีดริช ลิสต์ (Daniel Friedrich List, 1841) นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมันที่มองว่า “รัฐควรปกป้องเศรษฐกิจในยามวิกฤตเพื่ออธิปไตยแห่งชาติ” โดยเฉพาะมุมมองของเคนเนธ เอ็น. วอลทซ์ (Kenneth N. Waltz, 1979) ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียผู้คิดค้นและพัฒนาแนวคิดสัจนิยมใหม่ (Neorealism) ที่มองว่าความมั่นคงไม่อาจแยกออกจากเศรษฐกิจ — เศรษฐกิจที่ถูกควบคุมได้ คือ “อาวุธเชิงยุทธศาสตร์” ในทฤษฎี Neorealism ของวอลทซ์ รัฐถือเป็นผู้เล่นหลัก (primary actors) ในระบบระหว่างประเทศที่ไร้ศูนย์กลาง (anarchic structure) ซึ่งการอยู่รอด (survival) คือเป้าหมายสูงสุดของรัฐทุกแห่ง นั่นหมายความว่า ทุกกลไกภายในรัฐต้องถูกจัดสรรเพื่อสนับสนุน “อำนาจแห่งรัฐ” (power of the state) ในกรอบนี้เศรษฐกิจไม่ได้ถูกมองว่าเป็นระบบอิสระเชิงตลาดเท่านั้น แต่สามารถเป็น “เครื่องมือของอำนาจรัฐ” (instrument of state power) ได้ หากรัฐสามารถควบคุมมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การที่รัสเซียเข้ายึดครองกิจการของ Glavprodukt ซึ่งเดิมมีสถานะเป็นกิจการเอกชน (และเคยมีการลงทุนหรือถือหุ้นโดยนักธุรกิจต่างชาติหรือผู้มีความเกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ) ถือเป็นตัวอย่างของการ "ทำให้รัฐควบคุมห่วงโซ่อุปทานอาหารเชิงยุทธศาสตร์" อย่างสมบูรณ์ การยึดกิจการเช่น Glavprodukt เป็นหนึ่งในแนวทางการ “ระดมทรัพยากรพลเรือนเพื่อสนับสนุนการทำสงคราม” หรือที่ในรัสเซียเรียกว่า “การวางแผนการระดมกำลังในยามสงคราม” «военное мобилизационное планирование» แนวโน้มของการทหารควบคุมพลเรือน (military-civilian fusion) แนวคิดนี้เกิดขึ้นในบริบทของสงครามยืดเยื้อที่รัฐต้องอาศัยทรัพยากรของภาคเอกชน เช่น โรงงานอาหาร, คลังสินค้า, ระบบขนส่งเพื่อหนุนภารกิจของกองทัพ ในขณะที่การควบคุมทรัพย์สินภาคเอกชนในนามของ “ความมั่นคงแห่งชาติ” กลายเป็นวิธีหนึ่งในการตอบโต้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากตะวันตกและสร้าง “เศรษฐกิจสงคราม” ภายในประเทศ

ยุทธศาสตร์รัฐนิยมทางเศรษฐกิจที่ดึงกิจการอาหารรายใหญ่เข้าสู่การควบคุมโดยรัฐสะท้อนแนวทางเศรษฐกิจที่มุ่งสู่ “รัฐควบคุมยุทธศาสตร์หลัก” โดยเฉพาะในช่วงสงคราม โดยหลังการยึดครองมีรายงานว่า Glavprodukt อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานด้านการส่งกำลังบำรุงของกองทัพ «Минобороны» หรืออาจอยู่ภายใต้การควบคุมร่วมกับกระทรวงเกษตรหรือหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ «ОПК» 
ซึ่งลักษณะดังกล่าวคล้ายกับสหภาพโซเวียตซึ่งเคยมีระบบโรงงานอาหาร “รัฐวิสาหกิจ” ที่ผลิตอาหารเฉพาะสำหรับทหาร เช่น в/ч 83130  หรือจีนที่มีระบบ “บริษัทอาหารกึ่งทหาร” ภายใต้การควบคุมของกองทัพปลดปล่อยประชาชน ในขณะที่สหรัฐฯ การผลิต MRE (Meals Ready to Eat) มีบริษัทเอกชนเช่น Sopakco, Wornick Group แต่สัญญาผลิตถูกควบคุมโดยรัฐบาลกลาง ในยูเครนยูเครนมีการประสานงานกับผู้ผลิตท้องถิ่นเพื่อผลิตอาหารให้ทหารแนวหน้าโดยได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชน

Glavprodukt มีสายการผลิตอาหารกระป๋องประเภทโปรตีน เช่น เนื้อวัวกระป๋อง, สตูว์, ซุป และอาหารพร้อมรับประทาน (ready-to-eat meals) ซึ่งเหมาะสมกับระบบโลจิสติกส์ของกองทัพรัสเซียที่ต้องการอาหารคงทนและสะดวกในสนามรบ โดยมีการปรับสูตรหรือบรรจุภัณฑ์ให้ตรงตามมาตรฐานทหาร เช่น บรรจุในภาชนะทนแรงกระแทกหรือพร้อมเปิดในภาคสนาม โรงงานของ Glavprodukt กลายเป็นฐานผลิตเสบียงหลักให้กับกองทัพรัสเซียในแนวรบยูเครน โดยมีรายงานว่ามีคำสั่งผลิตล่วงหน้าเพื่อสำรองเป็นคลังยุทธปัจจัย (mobilization reserve)

การยึด Glavprodukt จึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารของรัสเซีย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1) จากการผลิตเพื่อผู้บริโภคทั่วไปสู่การเสริมสร้างเสบียงทางทหาร
เมื่อรัฐบาลรัสเซียเข้าควบคุมกิจการของ Glavprodukt บริษัทที่เดิมเน้นการผลิตอาหารกระป๋องและอาหารแปรรูปสำหรับผู้บริโภคทั่วไปกลับต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกองทัพรัสเซีย โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศกำลังเผชิญกับสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ผลิตภัณฑ์ของ Glavprodukt เช่น stewed meat «тушёнка»  และซุปกระป๋อง «консервы» ซึ่งเป็นอาหารที่มีอายุการเก็บรักษานานได้กลายเป็นเสบียงหลักสำหรับทหารในพื้นที่สงคราม การเปลี่ยนผ่านจากการผลิตอาหารสำหรับประชาชนทั่วไปสู่การผลิตเสบียงทางทหารเป็นการตอบสนองอย่างชัดเจนต่อนโยบายของรัฐบาลรัสเซียในการจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นในสงคราม

2) ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการพึ่งพาตนเอง
การเข้ามาควบคุมกิจการของ Glavprodukt โดยรัฐบาลรัสเซียไม่เพียงแค่การสนับสนุนการผลิตเสบียงสำหรับกองทัพเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาวที่มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง (self-reliance) ท่ามกลางมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตอาหารและเสบียงทหารในรัสเซีย นอกจากนี้ยังเป็นการปรับเปลี่ยนระบบการจัดหาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศให้เป็นระบบภายในประเทศ โดย Glavprodukt กลายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของรัสเซีย ซึ่งทำให้สามารถรักษาความมั่นคงของเสบียงและลดการพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศตะวันตก

3) การป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร
การยึด Glavprodukt ยังสะท้อนถึงความพยายามของรัฐบาลรัสเซียในการป้องกันผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทต่างชาติในรัสเซีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่สำคัญสำหรับภาคทหารและภาคการผลิตทั่วไป การลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศทำให้ Glavprodukt สามารถพัฒนาการผลิตอาหารภายในประเทศได้มากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพา
ซัพพลายเออร์จากประเทศที่ "ไม่เป็นมิตร" ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในยุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงของรัสเซีย

4) การควบคุมเศรษฐกิจสงครามและการจัดหาทรัพยากร
การยึด Glavprodukt ยังเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมเศรษฐกิจในช่วงสงครามที่รัฐบาลรัสเซียพยายามจัดสรรทรัพยากรไปยังพื้นที่ที่สำคัญที่สุด เช่น กองทัพและการสนับสนุนการดำเนินการทางทหาร โดย Glavprodukt ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลิตเสบียงทหาร จึงได้รับความสำคัญสูงสุดในแผนการจัดหาทรัพยากรของรัฐ

5) มุมมองในระดับภูมิรัฐศาสตร์
การยึดกิจการของ Glavprodukt ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียในยุคปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการรักษาความมั่นคงทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ ท่ามกลางการปะทะกับประเทศตะวันตก การควบคุมกิจการสำคัญ เช่น Glavprodukt ที่ผลิตอาหารสำคัญสำหรับการทำสงคราม กลายเป็นการแสดงออกถึงการสร้างอำนาจของรัฐในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำและมีการคว่ำบาตรจากภายนอก

ผลกระทบของการยึดกิจการของ Glavprodukt
1) ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารภายในประเทศ การเข้ายึดกิจการ Glavprodukt ไม่ได้เป็นเพียงการเพิ่มศักยภาพด้านเสบียงให้กับกองทัพ แต่ยังส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อระบบอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ได้แก่ 1) การควบรวมทรัพยากร การที่รัฐเข้ายึดโรงงานอาหารรายใหญ่ทำให้เกิดการควบคุมห่วงโซ่อุปทานในระดับสูง ตั้งแต่วัตถุดิบ (เนื้อสัตว์ พืชผัก) ไปจนถึงกระบวนการผลิต บรรจุภัณฑ์ และการกระจายสินค้า 
2) กระทบการแข่งขัน ผู้ประกอบการรายย่อยในอุตสาหกรรมอาหารอาจเผชิญการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับรัฐ เนื่องจากรัฐสามารถเข้าถึงทรัพยากรและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ที่เหนือกว่า 3) อุปสงค์พิเศษในช่วงสงครามเมื่ออุปสงค์สำหรับการจัดหาอาหารกองทัพพุ่งสูงขึ้น อุตสาหกรรมอาหารภาคพลเรือนอาจถูกเบียด ส่งผลต่อราคาสินค้าและความมั่นคงด้านอาหารของประชาชน

4) ผลกระทบต่อการจัดการกับบริษัทต่างชาติในบริบทสงคราม Glavprodukt เคยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติอเมริกันหรือกลุ่มทุนที่มีความเกี่ยวข้องกับตะวันตก การยึดครองกิจการจึงสะท้อนกลยุทธ์ของรัสเซียในการจัดการ “ทรัพย์สินศัตรู” หรือ “ทรัพย์สินที่ไม่เป็นมิตร” «недружественные активы» รัสเซียได้วางหลักการต่าง ๆ เกี่ยวกับกรณีนี้เอาไว้ภายใต้กฎหมายฉุกเฉิน (เช่น «Указ Президента РФ №302/2023»)   รัฐสามารถเข้ายึดกิจการของบริษัทต่างชาติที่ “ถอนตัว” จากรัสเซีย หรือที่ “คุกคามความมั่นคงของชาติ”นอกจากนี้รัสเซียยังมีการตอบโต้การคว่ำบาตรซึ่งเป็นการ “ตอบโต้กลับ” ทางเศรษฐกิจต่อการคว่ำบาตรของตะวันตก โดยใช้วิธี mirror sanctions หรือการยึดทรัพย์สินบริษัทต่างชาติ ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนทำให้บรรยากาศการลงทุนในรัสเซียยิ่งตึงเครียด นักลงทุนต่างชาติที่ยังคงอยู่ในรัสเซียอาจต้องเลือก “ทำงานร่วมกับรัฐ” หรือยอม “ถอนตัวโดยเสียทรัพย์สิน”

5) เป็นการส่งสัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์โดยการใช้รัฐเป็นเครื่องมือเศรษฐกิจในภาวะสงคราม
การยึดกิจการอาหารกระป๋องอย่าง Glavprodukt ไม่ใช่เพียงการเคลื่อนไหวภายในประเทศ แต่เป็นการส่ง “สัญญาณทางภูมิรัฐศาสตร์” อย่างชัดเจนไปยังตะวันตก แสดงให้เห็นถึงรัฐเป็นเครื่องมือสงครามทางเศรษฐกิจ (Economic Warfare) โดยรัสเซียใช้รัฐเป็นกลไกควบคุมทรัพยากรยุทธศาสตร์ ตอบโต้การคว่ำบาตร และสร้าง “เศรษฐกิจแบบปิดล้อม” (Autarky) เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับรัฐ โดยรัสเซียมีแนวทางหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ยึดกิจการต่างชาติและเปลี่ยนการควบคุมไปสู่รัฐ 2) พัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศแทนสินค้าเทคโนโลยีตะวันตก และ 3) ใช้ระบบการเงินทางเลือก เช่น การซื้อขายพลังงานด้วยรูเบิลหรือเงินหยวน 
การยึดบริษัท Glavprodukt ยังบ่งชี้ว่า รัสเซียพร้อม “ใช้เศรษฐกิจเป็นอาวุธ” เช่นเดียวกับที่ตะวันตกใช้ระบบการเงินและการค้าเป็นเครื่องมือควบคุมนอกจากนี้ยังการสร้างแนวร่วมทางเศรษฐกิจใหม่โดยรัสเซียอาจเชื่อมต่อ Glavprodukt กับตลาดในกลุ่ม BRICS หรือ SCO เช่น ส่งอาหารให้จีน อิหร่าน หรือประเทศแอฟริกาเพื่อลดการพึ่งพาตะวันตก

บทสรุป
กรณีการเข้ายึดกิจการบริษัท Glavprodukt โดยรัฐรัสเซียมิได้เป็นเพียงการเคลื่อนไหวในเชิงอุตสาหกรรมอาหารเท่านั้นแต่ยังสะท้อนถึงยุทธศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่านั้น ซึ่งครอบคลุมทั้งมิติทางเศรษฐกิจ ความมั่นคง และภูมิรัฐศาสตร์ในบริบทของสงครามยืดเยื้อกับตะวันตก ในระดับภายในการผนวกกิจการของภาคเอกชนเข้าสู่โครงสร้างของรัฐช่วยให้รัสเซียสามารถควบคุมระบบเสบียงของกองทัพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อตลาดภาคพลเรือน ทั้งในแง่การแข่งขันและเสถียรภาพด้านอาหาร โดยเฉพาะในบริบทของเศรษฐกิจที่ถูกคว่ำบาตรอย่างหนัก ในระดับระหว่างประเทศการเข้ายึด Glavprodukt เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ตอบโต้ตะวันตกผ่านการใช้ “เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือของรัฐ” ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจรัสเซียที่เน้นการพึ่งตนเอง การตัดขาดจากทุนต่างชาติ และการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจใหม่ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ตะวันตก กล่าวโดยสรุป กรณีของ Glavprodukt ชี้ให้เห็นว่า “อาหาร” ไม่ได้เป็นเพียงปัจจัยสี่สำหรับประชาชนเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น “อาวุธยุทธศาสตร์” ในการต่อรอง สู้รบ และรักษาอธิปไตยในยุคที่สงครามถูกขยายออกจากสนามรบสู่สนามเศรษฐกิจและการทูต

จดหมายจาก ‘แกรนด์ดยุกอดอล์ฟ’ แห่งลักเซมเบิร์กสู่บางกอก ร่องรอยแห่งมิตรภาพข้ามทวีปในยุคสมัย ‘รัชกาลที่ 5’

(21 เม.ย. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี เผยแพร่เรื่องราวน่าทึ่งจากประวัติศาสตร์ซึ่งเชื่อมโยงโลกตะวันตกกับสยามในยุครัชกาลที่ 5 ผ่านจดหมายจากแกรนด์ดยุกอดอล์ฟแห่งลักเซมเบิร์กถึงกรุงเทพฯ โดยมีผู้รับคือ “F. Grahlert” ช่างอัญมณีหลวงผู้มีบทบาทสำคัญในการออกแบบและสร้างเครื่องราชูปโภคให้กับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในปี ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449) โปสการ์ดตอบกลับจากแกรนด์ดยุกอดอล์ฟแห่งลักเซมเบิร์ก ถูกส่งข้ามทวีปมายังชายฝั่งบางกอก โดยมีปลายทางคือบริษัท “F. Grahlert & Co.” - ช่างอัญมณีผู้ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการให้ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งสยาม

โปสการ์ดดังกล่าวลงวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1906 จากเมืองลักเซมเบิร์ก และเดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 8 สิงหาคมของปีเดียวกัน นี่ไม่ใช่เพียงแค่หลักฐานทางไปรษณีย์ แต่เป็นหน้าต่างที่เปิดให้เรามองเห็นโลกแห่งความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามกับโลกตะวันตกผ่านเส้นทางการค้าและศิลปะ

ตามบันทึกในหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam (1908) โดย Arnold Wright และ Oliver T. Breakspear F. Grahlert ได้เดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ ประมาณปี ค.ศ. 1890 ในฐานะช่างอัญมณีหลวง ก่อนจะเปิดร้านของตนเองใกล้พระบรมมหาราชวัง ซึ่งถือเป็นร้านจำหน่ายและออกแบบเครื่องประดับแห่งแรกของกรุงเทพฯ ในสไตล์ยุโรป

Grahlert ไม่เพียงแต่รับใช้ราชสำนักเท่านั้น แต่ยังมีช่างฝีมือชาวไทยมากกว่า 50 คนในร้าน ซึ่งสามารถรังสรรค์เครื่องประดับทองและเงินด้วยศิลปะที่ประณีต ทั้งในแบบไทยดั้งเดิมและแบบตะวันตก งานของ Grahlert ได้รับการยอมรับว่าเป็นที่สุดของความวิจิตรในยุคนั้น

ความสัมพันธ์ระหว่างราชสำนักสยามกับ Grahlert ไม่ใช่เพียงเรื่องของเครื่องประดับหรือสินค้าแฟชั่น หากแต่คือความไว้วางใจระดับสูงสุด ในการรังสรรค์สัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ - ไม่ว่าจะเป็นมงกุฎ พานทอง หรือเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ต้องใช้ในพระราชพิธีต่าง ๆ

วันนี้ อาคารร้าน F. Grahlert ได้เลือนหายไปตามกาลเวลา แต่โปสการ์ดจากแกรนด์ดยุกอดอล์ฟ ในนามแห่งยุโรป กลับยังเป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าครั้งหนึ่ง ช่างอัญมณีจากต่างแดนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของราชสำนักไทย และฝากร่องรอยศิลปะไว้ในประวัติศาสตร์แห่งรัชกาลที่ 5 อย่างงดงาม

“อัญมณีไม่ได้เป็นเพียงเครื่องประดับ หากเป็นความศรัทธาที่ร้อยเรียงความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับโลก” — ปราชญ์ สามสี

มหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน EP#10 พันธมิตรฝั่งสหรัฐฯ และเวียตนามใต้ : 'ไทย' (1)

ไทยมีบทบาทในภูมิภาคอินโดจีนมายาวนาน เริ่มจาก “เวียตนาม” ตั้งแต่สมัย “องเชียงสือ (เจ้าอนัมก๊ก ตามพงศาวดารไทย)” มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ที่กรุงเทพฯ ต่อมาสามารถกู้คืนอำนาจ รวมแผ่นดินเวียดนามได้สำเร็จ เฉลิมพระนาม “จักรพรรดิซาล็อง” ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เหงวียน ราชวงศ์สุดท้ายของเวียดนาม และสามารถโค่นล้มราชวงศ์เต็ยเซินอย่างสมบูรณ์ใน พ.ศ. 2345 ด้วยความช่วยเหลือจากสยามหลายครั้ง เป็นที่มาของการส่งต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายรัชกาลที่ 1 ถึง 6 ครั้งตลอดรัชกาล โดยไทย (“ราชอาณาจักรสยาม” ในสมัยนั้น) ต้องเสียดินแดน “สิบสองจุไทย (สิบสองเจ้าไท)” ให้กับฝรั่งเศสซึ่งส่งกำลังเข้ามายึดเอาดื้อ ๆ ในปี 1888

“ลาว” เป็นดินแดนในปกครองของไทยมายาวนานเช่นกันก่อนที่จะถูกฝรั่งเศสใช้อำนาจและสารพัดเล่ห์กลสร้างเหตุเพื่อยึดเอาดินแดนเหล่านี้ไป ได้แก่ ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในปี 1893 ดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในปี 1904 เช่นเดียวกันกับ “กัมพูชา” ซึ่งได้แก่ ดินแดนกัมพูชาตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1867 เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณในปี 1907 กระทั่งเกิด “กรณีพิพาทอินโดจีน” หรือ “สงครามฝรั่งเศส-ไทย”  เหนือดินแดนบางส่วนของอินโดจีนฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสต้องยกดินแดนจากกัมพูชาและลาวคืนให้ไทย ได้แก่ จังหวัดพระตะบองและจังหวัดไพลิน (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพระตะบอง) จังหวัดเสียมราฐ จังหวัดบันทายมีชัย และจังหวัดอุดรมีชัย (จัดตั้งใหม่เป็นจังหวัดพิบูลสงคราม) จังหวัดพระวิหาร ผนวกเข้ากับแขวงจำปาศักดิ์ของลาวที่อยู่ตรงข้ามปากเซ เพื่อสร้างจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ แขวงไชยบุรี รวมแขวงหลวงพระบางบางส่วน ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดลานช้าง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของประเทศมหาอำนาจและฝรั่งเศสซึ่งเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยต้องทำความตกลงระงับกรณีระหว่างไทยกับฝรั่งเศส “ความตกลงวอชิงตัน” ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 1946 มีผลให้ไทยต้องคืนดินแดน อินโดจีน ที่ได้มาทั้งหมดให้กับฝรั่งเศส ดังนั้นไทยจึงเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในภูมิภาคนี้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ไทยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ขบวนการเสรีไทย และได้กลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยเป็นหนึ่งประเทศซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญของสหรัฐฯ ในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนสต์ การส่งกองกำลังไปร่วมรบกับสหประชาชาติภายใต้การนำของสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลี

สำหรับสงครามอินโดจีนที่สหรัฐฯ เข้ามามีบทบาทนั้น สืบเนื่องจากภัยคุกคามของไทยในขณะนั้นประสบกับการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ในช่วงต้นเดือนกันยายน 1958 กองทัพบกไทยได้เริ่มทำการฝึกให้กับกองทัพลาวที่ค่ายเอราวัณ ต่อมาเดือนเมษายน 1959 ค่ายฝึกทหารลาวแห่งแรกในประเทศไทยได้เปิดตัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย มีชื่อรหัสว่า "โครงการเอกราช (Unity)" กองทัพบกไทยยังได้จัดตั้งกองบัญชาการ 333 (HQ 333) เพื่อควบคุมการปฏิบัติการลับที่เกี่ยวข้องกับลาว โดยสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ได้จัดตั้งหน่วยประสานงานร่วมเพื่อประสานงานกิจกรรมกับ HQ 333 มีการจัดส่งนักบินไทยและเจ้าหน้าที่เทคนิคไปทำการบินให้กับกองทัพอากาศลาว เดือนธันวาคมปี 1960 มีการส่งตำรวจพลร่ม (Police Aerial Reinforcement Unit : PARU) ชุดแรกเข้าไปในลาวเพื่อร่วมในปฏิบัติการด้านสงครามพิเศษ การทำสงครามแบบกองโจร และการฝึกทหารลาวม้ง การปฏิบัติการจิตวิทยา จัดตั้งกองกำลัง และการร่วมปฏิบัติการรบ

หลังจากลงนามสงบศึกที่เจนีวา แต่สงครามในลาวไม่ได้หยุดลง และกลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น CIA และ HQ 333 จึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตการรบในลาว จึงมีการจัดระบบเตรียมการและจัดส่งกำลังพลทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน) เข้าไปในลาว เริ่มจากทหารปืนใหญ่ของกองทัพไทยเข้าร่วมการรบในแนวใกล้ทุ่งไหหินในปี 1964 เพื่อต่อสู้กับกองกำลังของประเทดลาว (ลาวแดง) ในโปรแกรมการฝึกพิเศษของสหรัฐฯ ต่อมาในปี 1969 หน่วยปืนใหญ่อีกหน่วยหนึ่งได้ทารรบป้องกันเมืองสุยเพื่อต่อต้านกองกำลังคอมมิวนิสต์ (ลาวแดงและเวียตนามเหนือ) และกลายเป็นหน่วยรบแรกของไทยที่สู้รบในลาว จากนั้นก็มีหน่วยอื่น ๆ ตามมา ในปี 1970 ฝ่ายอเมริกันได้โน้มน้าวฝ่ายไทยให้ใช้กำลังอาสาสมัครติดอาวุธในลาว (ทหารรับจ้างไทย (ทหารเสือพราน)) และต่อมาอาสาสมัครที่ได้รับการฝึกและใช้งานเหล่านี้ก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายอเมริกัน กองกำลังที่ได้รับการฝึกใหม่ได้รับการจัดเป็นกองพัน กองพันละ 495 นาย ภายใต้สัญญาจ้าง 1 ปี จากนั้นก็สามารถขยายต่อไปได้ กองพันเริ่มต้นด้วยเลข "6" ซึ่งเป็นความแตกต่างในการกำหนดหน่วยของไทยจากหน่วยลาว กองพันแรกเริ่มจาก 601, 602 การเตรียมการของสองกองพันดังกล่าวสิ้นสุดลงในต้นเดือนธันวาคม 1970 และในกลางเดือนธันวาคม กองพันเหล่านี้ก็ถูกส่งเข้าสู่สนามรบแล้ว CIA ซึ่งเคยชินกับความไร้ประสิทธิภาพของทหารลาวรู้สึกประหลาดใจอย่างยินดีกับผลลัพธ์ของการโจมตีของไทย

บทบาทและจำนวนทหารรับจ้างไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง CIA ต้องการทหารให้ได้มากที่สุด จึงเริ่มรับสมัครชายไทยที่ไม่มีประสบการณ์ทางการทหารเข้าค่ายฝึก เป็นผลให้ในเดือนมิถุนายน 1971จำนวนหน่วยทหารรับจ้างไทยที่ไปทำสงครามในลาวเท่ากับ 14,028 นาย และสิ้นเดือนกันยายน 1971 มากถึง 21,413 นาย เมื่อทหารลาวและทหารลาวม้งลดจำนวนลง สัดส่วนของทหารไทยก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสิ้นสุดปี 1972 ทหารไทยได้กลายมาเป็นกำลังรบหลักของลาวภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลวางเปา ทหารรับจ้างไทยถือเป็นกองกำลังที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการต่อสู้กับลาวแดงและเวียตนามเหนือในลาว ทหารม้งซึ่งบางครั้งสามารถทำลายกองกำลังคอมมิวนิสต์บางส่วนด้วยการสนับสนุนทางอากาศจากอเมริกันด้อยกว่าทหารรับจ้างไทยอย่างเห็นได้ชัดในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตาม การรบในปี 1971 กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้สร้างความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ให้กับกองกำลังทหารรับจ้างไทย เป็นครั้งแรกที่เครื่องบิน MiG ของเวียดนามได้เปิดฉากโจมตีในลาวเพื่อสนับสนุนกองกำลังภาคพื้นดินของเวียตนามเหนือและลาวแดง  เนื่องจากคุ้นเคยกับการสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐฯ ทั้งกองกำลังของลาวและไทยจึงไม่สามารถรักษาที่มั่นเอาไว้ได้ เมื่อฝ่ายศัตรูสามารถครองอากาศ และกองกำลังทหารรับจ้างไทยถูกบังคับให้หลบหนีจากสนามรบ ก่อนที่จะมีการสงบศึกในเดือนกุมภาพันธ์ 1973 ทหารรับจ้างไทยเกือบครึ่งหนึ่งหลบหนีกลับไทย ทหารรับจ้างไทยที่เหลือประมาณ 10,000 นายก็ถูกส่งตัวกลับไทยและแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนา ไม่มีข้อมูลยืนยันถึงตัวเลขของทหารรับจ้างไทยที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้ ซึ่งน่าจะถึงหลักพัน สงครามในลาวถือว่าเป็น “สงครามลับ” สำหรับสหรัฐฯ ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 1997 สหรัฐฯ พึ่งจะยอมรับอย่างเป็นทางการว่าตนมีส่วนร่วมในสงครามลับดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้เขียนใช้คำว่า “เวียตนาม” ตัว ‘ต’ สะกด เพราะเอกสารสมัยก่อนใช้เช่นนี้ ต่อมาภายหลังจึงเปลี่ยนมาเป็น “เวียดนาม” สะกดด้วยตัว ‘ด’

ตลอดเดือนเมษายน 2568 พบกับเรื่องราวของมหากาพย์แห่งสงครามอินโดจีน
ในโอกาสครบ 50 ปีแห่งการสิ้นสุดสงคราม วันที่ 30 เมษายน 2518

‘อินทนิล’ นักรบนิรนามในเงาสงคราม 333 วีรกรรมที่ไม่มีใครเขียนถึง ในบทไพร่พล

(20 เม.ย. 68) ท่ามกลางเสียงปืนที่ไม่เคยปรากฏในหน้าหนังสือเรียน และวีรกรรมที่ไม่มีใครเขียนถึงในบทไพร่พล - มีชื่อหนึ่งที่แฝงตัวอยู่ในความเงียบ คือ “อินทนิล”
อินทนิล ไม่ใช่ชื่อบุคคลธรรมดา แต่คือชื่อจัดตั้งของ ร้อยโทชูเกียรติ สินค้าเจริญ นายทหารยุทธการแห่งกองพันรหัส BC.609 ซึ่งประจำการอยู่บนยอด ภูเทิง - หนึ่งในแนวสันเขายุทธศาสตร์กลางทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง ประเทศลาว ที่ใช้ควบคุมเส้นทางเคลื่อนพลในสงครามลับยุคสงครามเย็น

ปฏิบัติการของอินทนิล อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2514–2518 ภายใต้รหัสลับ “333” เป็นภารกิจสนับสนุนการสกัดกั้นลัทธิคอมมิวนิสต์ร่วมกับฝ่ายราชการในลาว โดยมีไทย-สหรัฐฯ เป็นผู้หนุนหลัง ผ่านการรบแบบไร้สัญชาติ ไร้เหรียญตรา และบางครั้ง…ไร้ทางรอด

ณ ใจกลางสมรภูมิแห่งนี้ นักรบไทยได้ตั้งฐานรบระดับกองพันไว้ 3 แห่งรอบทุ่งไหหิน ได้แก่ ภูเทิง, ภูห่วง และ ภูเก็ง — ทั้งหมดตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่ถูกจัดชั้นว่า Key Terrain หรือพื้นที่ยุทธศาสตร์สูงสุด หากควบคุมได้ ย่อมควบคุมทั้งแนวรบ

แนวสนับสนุนจากแนวหลังคือฐานยิงปืนใหญ่ของไทยในรหัสลับ มัสแตง, ไลอ้อน, คิงคอง, สติงเรย์ และ แพนเธอร์ ที่คอยยิงสนับสนุนทุกครั้งที่ฐานแนวหน้าส่งสัญญาณขอ “ไฟ” จากฟ้า

ปี พ.ศ. 2515 ฐาน BC.609 ถูกกองกำลังฝ่ายตรงข้ามโอบล้อมจากทุกทิศ เส้นทางส่งกำลังบำรุงถูกตัดขาด อากาศเลวร้ายจนเครื่องบินไม่อาจฝ่าเข้าไปได้ สถานการณ์เต็มไปด้วยสัญญาณแห่งความตาย

ในที่สุด ภูเทิงตกอยู่ในวงล้อมอย่างสมบูรณ์ ทหารเวียดนามเหนือระดมยิงปืนใหญ่ใส่ฐานไทยตั้งแต่เช้าจรดเย็น บังเกอร์ถูกถล่มกระจุยทุกแนวเพลาะ ลูกปืนของศัตรูดูไม่มีวันหมด ...

ร้อยโทชูเกียรติ — หรือ “อินทนิล” — จึงตัดสินใจประกาศคำสั่งสุดท้ายผ่านวิทยุ:

> “ขอให้ปืนใหญ่ไทย ยิงแตกอากาศใส่ฐานของเราเอง”

คำว่า “แตกอากาศ” คือคำสั่งให้ยิงลูกกระสุนระเบิดกลางอากาศเหนือฐาน เพื่อให้สะเก็ดกระจายลงมา ทำลายอาวุธ แผนที่ เอกสารลับ และ…ชีวิตของผู้ที่อยู่ในวงล้อม ไม่ให้ตกไปในมือศัตรูแม้แต่นัดเดียว

เสียงระเบิดในวันนั้น คือเสียงของคนที่เลือกตายอย่างมีศักดิ์ศรี มากกว่าจะยอมเป็นเชลยโดยไร้เกียรติ
และหลังการตรวจสอบภายหลังสงครามจบลง — เราจึงได้ทราบว่า
กำลังพลไทยที่ยังปักหลักอยู่ในฐานภูเทิง ณ วินาทีสุดท้าย มีเพียง 8 นาย
ในจำนวนนั้นคือ ร้อยโทชูเกียรติ สินค้าเจริญ, ร้อยโทโรม ชัยมงคล และทหารกล้าทั้งหมดอีก 6 นาย ส่วนที่เหลือถอยออกจากสนามรบทำให้เป็นผู้รอดชีวิต...
หลายปีผ่านไป ไม่มีพิธีรำลึก ไม่มีบันทึกในตำราทหาร ไม่มีแม้แต่ชื่อของอินทนิลอยู่ในรายนามของผู้กล้า… จนกระทั่งมีการสร้าง “อนุสาวรีย์วีรกรรมทหาร 333” ขึ้น ณ ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี แท่นหินที่ตั้งสงบแต่หนักแน่นอยู่ริมถนนแห่งนี้ คือคำยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ลืมวีรบุรุษที่เลือกสละแม้กระทั่งชื่อเสียง เพื่อรักษาแผ่นดิน

> อินทนิล คือเสียงของผู้ไม่พูด
คือแสงสว่างจากเงามืด
คือผู้ที่ยอมแตกเป็นผุยผง ดีกว่าให้แผ่นดินแตกเป็นเสี่ยง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top