Tuesday, 1 July 2025
COLUMNIST

เมื่อ ‘ผู้นำเขมรผยอง’ สั่งหยุดนำเข้าน้ำมันจากไทย ราคาหน้าปั๊มดีดจาก 30 -31 บาท/ลิตร แตะ 39–45 บาท/ลิตร

หลังจากรัฐบาลกัมพูชาประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันจากไทยตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2568 ราคาน้ำมันในประเทศก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่เคยอยู่ในช่วงประมาณ 30–31 บาทไทยต่อลิตร กลายเป็นแตะระดับกว่า 39–45 บาทในเวลาเพียงไม่กี่วัน โดยล่าสุด ราคาหน้าปั๊มในเมืองชายแดนอย่างปอยเปตแสดงว่าดีเซลอยู่ที่ 4,800 เรียล (ประมาณ 39.00 บาท) และเบนซินพรีเมียมสูงถึง 5,550 เรียล หรือประมาณ 45.05 บาทไทย

โดยในวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ตามป้ายราคาหน้าปั๊มน้ำมัน PTT Station และ L.H.R ที่ปรากฏในพื้นที่ชายแดนใกล้ตลาดปอยเปต ปรากฏราคาน้ำมันดังนี้:

ประเภทน้ำมัน ราคากัมพูชา (KHR) คำนวณเป็นบาทไทย (ประมาณ)
ดีเซล (Diesel) 4,800 ~39.00 บาท
เบนซิน Regular 4,950 ~40.20 บาท
เบนซิน Super 5,550 ~45.05 บาท

แม้รัฐบาลกัมพูชาจะอ้างว่ามีแหล่งพลังงานสำรองจากประเทศเพื่อนบ้านและไม่จำเป็นต้องพึ่งไทย แต่โครงสร้างการค้าระหว่างประเทศที่พึ่งพาชายแดนตะวันตกเป็นหลักกลับสะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่ง เมื่อขาดซัพพลายจากฝั่งไทย ตลาดน้ำมันภายในจึงเกิดภาวะชะงักงันทันที ราคาจึงดีดตัวตามกลไกและความกังวลของผู้บริโภคที่เร่งกักตุน

บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ชัดเจนว่า การใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ทางการเมือง อาจสร้างภาพลักษณ์เข้มแข็งให้กับรัฐบาลในระยะสั้น แต่ผลลัพธ์ระยะยาวกลับเป็นภาระหนักอึ้งที่ตกอยู่กับประชาชนโดยตรง ซึ่งต้องแบกรับราคาค่าครองชีพที่สูงขึ้นในทุกมิติของชีวิตประจำวัน

รู้จัก ‘ฉนวนกาซา’ ความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ สู่การเรียนรู้!! ผลลัพธ์อันเหี้ยมโหดของสงคราม

(29 มิ.ย. 68) ใดๆdigest ep.นี้ พามารู้จักกับหนึ่งในพื้นที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และการสู้รบที่ทำให้เกิดความสูญเสียกับทุกฝ่ายมาอย่างยาวนานครับ 

ดินแดนที่เรียกกันว่า "ฉนวนกาซา" มีขนาดความยาวเหนือจรดใต้ 41 กิโลเมตร ขณะที่มีความกว้างเพียง 10 กิโลเมตร ขนาบข้างพื้นที่ทางเหนือและตะวันออกด้วยเขตแดนของอิสราเอล ชายแดนทางใต้ติดกับอียิปต์ ส่วนชายทะเลด้านตะวันตกเป็นทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มีขนาดพื้นที่ประมาณ 360 ตร.กม.เล็กกว่า จ.สมุทรสงคราม ของประเทศไทย ที่มีขนาด 416.7 ตร.กม. เพียงเล็กน้อย 

"กาซา"เป็นที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์มีผู้คนอาศัยอยู่ในฉนวนกาซากว่า 2.3 ล้านคนโดยประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กถึงร้อยละ 75 และเป็นผู้อพยพลี้ภัยที่อาศัยอยู่ตามแคมป์ที่สหประชาชาติจัดไว้ให้ ส่วนใหญ่ของผู้ลี้ภัยเหล่านี้เกิดในพื้นที่ฉนวนกาซา แต่ก็มีบางส่วนที่อพยพมาตั้งแต่หลังช่วง สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งแรกในปี 1948  และถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สาเหตุที่ถูกเรียกว่า "ฉนวนกาซา" เนื่องจากเขตแดนส่วนนี้ถูกกำหนดขึ้นจากข้อตกลงระหว่างอิสราเอลกับอียิปต์หลัง สงครามอาหรับ-อิสราเอล ครั้งแรก เมื่อปี 1948 ให้เป็นคล้ายกับเขตกันชนระหว่าง 2 ฝ่าย ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า กว่า 80% ของผู้ที่อาศัยในฉนวนกาซาต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากนานาชาติ และประมาณ 1 ล้านคนต้องขอรับความช่วยเหลือด้านอาหารในแต่ละวัน

หลังปี 1948 ฉนวนกาซ่าถูกปกครองโดยอียิปต์ แต่อียิปต์ก็ไม่ได้ผนวกรวมเอาดินแดนส่วนนี้เป็นของตน จนกระทั่งอิสราเอลชนะสงครามหกวัน ในปี 1967 ทำให้ฉนวนกาซ่าเป็นหนึ่งในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง อย่างไรก็ตาม อิสราเอลและปาเลสไตน์ได้ทำสนธิสัญญาออสโลร่วมกันในปี 1993 ซึ่งส่วนหนึ่งในข้อตกลงนั้นคือ การอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์มีอำนาจในการปกครองตัวเอง (อย่างจำกัด) ในเขตฉนวนกาซ่า

ต่อมาในปี 2005 อิสราเอลจึงได้ดำเนินการถอนทหารและนิคมชาวยิวที่ผิดกฏหมาย ออกจากฉนวนกาซ่าทั้งหมด จากนั้น เมื่อกลุ่มฮามาสชนะการเลือกตั้งปี 2006 ฉนวนกาซ่าจึงเป็นเขตอิทธิพลของรัฐบาลฮามาสจนกระทั่งถึงปัจจุบัน กลุ่มฮามาสมีจุดยืนแข็งกร้าวไม่ยอมรับการยึดครองของอิสราเอลอย่างเด็ดขาดและมักก่อเหตุโจมตีอิสราเอลทั้งการส่งมือปืนและมือระเบิดฆ่าตัวตายเข้าไปในอิสราเอลบ่อยครั้ง การบุกจู่โจมอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัว  กลุ่มฮามาสนี้ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ซึ่งนับถือนิกายชีอะห์และสืบทอดอุดมการณ์จากขบวนการภราดรภาพมุสลิม ซึ่งก่อตั้งขึ้นในอียิปต์ช่วงทศวรรษ 1920

ลักษณะทางกายภาพของฉนวนกาซานั้นเป็นดินแดนแห้งแล้งทุรกันดาร แถมยังเป็นที่อยู่ของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์ที่ไม่มีงานทำ เสียเป็นส่วนใหญ่  สภาพอย่างนี้ โดยปกติชาวกาซ่าก็มีความเป็นอยู่ที่ลำบากอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลายปีหลังนับตั้งแต่ 2007 อิสราเอลยังใช้มาตรการปิดล้อมกาซ่า จำกัดการนำเข้าอาหารการกิน ยารักษาโรค วัสดุก่อสร้าง และสิ่งอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ด่านพรมแดนต่างๆ ทั้งที่จะข้ามไปอียิปต์และอิสราเอลก็ถูกปิด สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนเปรียบเสมือนถูกลงโทษอยู่ใน ‘คุกเปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก’ ยิ่งนานวัน ก็ยิ่งมีคนตายจำนวนมากในกาซ่าอันเกิดจากมาตรการปิดล้อมดังกล่าวนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากการโจมตีของอิสราเอลครั้งต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต หรือการตายอันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บเพราะไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และยารักษา โรคเพียงพอ ที่แย่กว่านั้นคือ เด็กปาเลสไตน์กว่าครึ่งในฉนวนกาซ่าเป็นโรคขาดสารอาหาร ทั้งหมดเป็นผลมาจากการปิดล้อมกาซ่าของอิสราเอลตลอด 7 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ อิสราเอลยังเป็นผู้ควบคุมน่านฟ้าเหนือเขตกาซา รวมถึงตลอดแนวชายฝั่งทะเลของกาซาด้วย โดยจำกัดผู้คนและสินค้าทั้งขาเข้าและขาออกตามแนวพรมแดน เช่นเดียวกับอียิปต์ที่ควบคุมการเข้าออกของผู้คนบริเวณพรมแดนที่ติดกับกาซา โดยอิสราเอลและอียิปต์ให้เหตุผลว่าที่ต้องทำเช่นนี้เป็นเพราะเหตุผลด้านความมั่นคง

สถานการณ์ดูเหมือนจะย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อทางการอิสราเอลประกาศที่จะยึดครองเขตฉนวนกาซาแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ เพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสต่ออิสราเอลที่เกิดขึ้นหลายครั้ง  ซึ่งนั่นหมายถึงการตัดขาดการลำเลียงอาหาร น้ำ และเชื้อเพลิงเข้าไปยังเขตกาซาด้วย

มาตรการปิดล้อมกาซ่ามีเป้าหมายประการหนึ่ง คือ ต้องการโดดเดี่ยวกาซ่าภายใต้การปกครองของกลุ่มฮามาส อิสราเอลตั้งใจให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าเจอปัญหาความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ จากนโยบายปิดล้อม และตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกอิสราเอลโจมตีอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมดนี้เพื่อให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซ่าลุกฮือต่อต้านกลุ่มฮามาส แต่ผลที่ปรากฏออกมากลับตรงข้าม นับวันฮามาสยิ่งมีคะแนนนิยมมากขึ้น บ้านเมืองในฉนวนกาซ่ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น หลักนิติธรรมถูกนำมาใช้อย่างเคร่งครัด แม้ประชาชนจะได้รับความทุกข์ยากจากการถูกกีดกันทางเศรษฐกิจก็ตาม ที่สำคัญคือ กองกำลังฮามาสมีความเข้มแข็งและถูกจัดตั้งอย่างเป็นระบบมากขึ้น 

จุดยืนที่ชัดเจนของ "กลุ่มฮามาส" คือ ไม่ยอมรับการยึดครองของอิสราเอล และมักใช้วิธีการรุนแรงโจมตีอิสราเอล จนทำให้นานาชาติทั้ง อิสราเอล สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อังกฤษ และแคนาดา ประกาศขึ้นบัญชีกลุ่มฮามาสเป็น "องค์กรก่อการร้าย" แต่ขณะเดียวกันฮามาสก็มีพันธมิตรที่คอยหนุนหลัง ได้แก่ อิหร่าน ซีเรีย และกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธมุสลิม นิกายชีอะห์ในเลบานอน ซึ่งในระยะหลังกลุ่มฮามาสกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาท และใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องมากที่สุดกลุ่มหนึ่งของโลก

สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้อิสราเอลต้องใช้กำลังเข้ามาโจมตีกาซ่าอย่างที่เราเห็นกันในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน แม้อิสราเอลเคยบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับอียิปต์และจอร์แดน แต่อิสราเอลและปาเลสไตน์ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้ายได้ ความไม่ไว้วางใจระหว่างสองฝ่ายยังคงลึกซึ้งนำไปสู่การสู้รบที่ยังคงคุกกรุ่นอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซามาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง 

ไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส จะสิ้นสุดเมื่อใด ดูตามปัจจัยหลายข้อจากสถานการณ์ความรุนแรงระดับภูมิภาคนี้ ความขัดแย้งนี้มีรากฐานจากความตึงเครียดทางประวัติศาสตร์อันยาวนานทั้งทางการเมือง ศาสนา และชาติพันธุ์ในภูมิภาค การเจรจาสันติภาพในอดีตก็มักล้มเหลวเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน 

ส่วนองค์กรระหว่างประเทศและประเทศที่มีอำนาจ ก็ได้พยายามเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในกาซา แต่การเจรจาเหล่านี้มักเผชิญกับความล้มเหลวเนื่องจากข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกัน เช่น ฮามาสเรียกร้องให้มีการยุติการปิดล้อมกาซา ขณะที่อิสราเอลยืนกรานว่าต้องมีการหยุดการโจมตีจากฮามาสอย่างสิ้นเชิง ในขณะเดียวกัน ความรุนแรงทางทหารก็ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ และผู้ที่รับผลจากการสู้รบที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนี้ก็คือประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั่นเอง 

สิ่งที่เราทุกคนควรเรียนรู้จากเรื่องความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ และการสู้รบในฉนวนกาซานี้ก็คือ สงครามไม่เคยเป็นการแก้ปัญหาอย่างแท้จริงและยั่งยืนให้กับฝ่ายใดได้เลย ความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งสองฝ่ายมีแต่จะฝังรากลึกลงไปในจิตใจของผู้สูญเสียและเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังให้เจริญเติบโตต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ทุกร่างที่ทิ้งตัวลงทับถมบนแผ่นดินเปื้อนเลือดและถูกพรากเอาชีวิตไปล้วนเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง เพื่อนของใครสักคนเสมอ ลูกที่สูญเสียพ่อไปจากความเกลียดชังก็จะโตขึ้นไปพรากเอาชีวิตของพ่อใครซักคนไปด้วยความเกลียดชังเป็นวังวนต่อไปอีกหากมนุษย์ไม่เรียนรู้ที่จะให้อภัยและไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน 

ใดๆdigest หวังว่าทุกท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้จะเข้าใจภัยร้ายแรงของสงคราม และปรารถนาการแก้ไขทุกความขัดแย้งด้วยสันติวิธีในทุกกรณีโดยตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ในตัวของผู้อื่นอย่างเท่าเทียมกันและแสวงหาการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขในทุกๆความขัดแย้งเป็นสำคัญครับ 

ขอไว้อาลัยและแสดงความคารวะต่อดวงวิญญาณทุกดวงที่จาก ไป และขอให้สันติสุขบังเกิดขึ้นโดยเร็ว

‘ฮุน เซน’ ขอทวง ‘ตาเมือนธม’ จากไทย อ้าง!! ประวัติศาสตร์ เคยเป็นของกัมพูชา

(29 มิ.ย. 68) ฮุน เซนอ้างขอทวง “ตาเมือนธม” จากไทย โดยใช้ประวัติศาสตร์เป็นข้ออ้างว่าเคยเป็นของกัมพูชา

ถ้าจะเปิดช่องให้ “อดีต” กลายเป็นเหตุผลในการอ้างสิทธิ์

ไทยก็มีสิทธิเช่นกันที่จะพูดถึง “มณฑลบูรพา” ที่เราเคยเสียให้ฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2449 

ฝากไว้ให้คิด

‘ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรี’ สหรัฐฯ บุกอิหร่านครั้งแรก เป้าช่วยตัวประกันแต่ผลลัพธ์พังพาบสังเวยทหาร 8 นาย

ปฏิบัติการครั้งนี้ประสบกับความล้มเหลว ทำให้ต้องสูญเสียทหารอเมริกันไป 8 นาย และต้องล้มเลิกแผนการในการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อช่วยเหลือนักการทูตอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันในอิหร่าน

ห้วงเวลานี้สงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเข้ามายุ่งเกี่ยวพัวพันด้วยกำลังเป็นประเด็นที่โลกต้องจับตามอง จึงขอนำเอาเรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากการปฏิวัติอิหร่าน 1979 ซึ่งเป็นการโค่นราชวงศ์ปาห์ลาวีภายใต้ “ชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี (Shah Pahlavi)” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และการแทนที่ด้วยสาธารณรัฐอิสลามภายใต้ “อยาโตลาโคมัยนี” ผู้นำการปฏิวัติ ผู้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การฝ่ายซ้าย และองค์การอิสลามหลายแห่ง รวมทั้งขบวนการนักศึกษาอิหร่าน

ต่อมา วันที่ 4 พฤศจิกายน 1979 กลุ่มนักศึกษาปฏิวัติมุสลิมเคร่งศาสนา โกรธแค้นที่รัฐบาลสหรัฐฯ รับอดีตกษัตริย์ชาห์ ปาห์เลวี (Shah Pahlavi) แห่งอิหร่านให้ลี้ภัยในนสหรัฐอเมริกาได้ จึงได้บุกเข้ายึดและจับตัวผู้ที่ทำงานในสถานทูตสหรัฐในกรุงเตหะราน (Tehran) โดยนักการทูตอเมริกัน 52 คน ถูกกักตัวไว้นานถึง 444 วัน และที่สุดตัวประกันซึ่งเป็นนักการทูตของสหรัฐฯ ก็ได้รับการปล่อยตัว แต่การกักตัวทูตและนักการทูตในครั้งนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องความละเมิดที่มิได้เกี่ยวกับสถานที่ของคณะผู้แทนทางการทูต ตามข้อ22 แห่งอนุสัญญากรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายทางการทูต ปี 1961

โดยช่วงเวลาที่มีการกักตัวประกันไว้ในสถานทูตนั้น รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีความพยายามช่วยตัวประกัน โดยมี “ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์” (Operation Eagle Claw) ในวันที่ 24 เมษายน 1980 อันเป็นปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ต่ออิหร่านเป็นครั้งแรก ซึ่งปฏิบัติการนี้น่าจะเป็น “ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีหัก” (Operation Eagle Claw Broken) เสียมากกว่า เพราะว่าปฏิบัติการครั้งนี้ประสบกับความล้มเหลว ทำให้ต้องสูญเสียทหารอเมริกันไป 8 นาย และต้องล้มเลิกแผนการในการใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อช่วยเหลือนักการทูตอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันในอิหร่าน

ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์ (Operation Eagle Claw) เป็นปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐฯ ตามคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นคือ Jimmy Carter ซึ่งพยายามยุติวิกฤติการณ์ตัวประกันในอิหร่านด้วยการส่งกำลังเข้าไปช่วยเหลือนักการทูต 52 คนที่ถูกควบคุมตัวภายในสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ณ กรุงเตหะราน เมื่อวันที่ 24 เมษายน 1980 ความล้มเหลวนำไปสู่การขายหน้าที่เกิดขึ้นเป็นการทำลายชื่อเสียงของสหรัฐฯ ไปทั่วโลก ทำให้ประธานาธิบดี Jimmy Carter ถูกตำหนิ จนเป็นผลให้พ่ายแพ้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ในปี 1980 อันเนื่องมาจากความล้มเหลวในการช่วยเหลือตัวประกันสหรัฐฯ ให้เป็นอิสระ

“ปฏิบัติการกรงเล็บอินทรีย์” ถูกวางแผนไว้เป็นภารกิจ 2 คืน ในคืนแรกเครื่องบินทหารของสหรัฐฯ จะบินเข้าอิหร่านทางพื้นที่ชายฝั่งห่างไกล 60 ไมล์ (100 กม.) ทางตะวันตกของเมือง Chabahar และบินไปยังจุดรวมพล Desert One (พิกัด 33 ° 04′23″ N 55 ° 53′33″ E) ผ่านทางทะเลทราย Dasht-e Lut โดยจุดรวมพล Desert One จะได้รับการจัดตั้งและคุ้มกันโดยมีกองกำลังป้องกัน และมีน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 6,000 แกลลอนสหรัฐ (22,700 ลิตร) เตรียมไว้สำหรับอากาศยาน ซึ่งถูกนำเข้าพื้นที่โดยบรรจุในถังเชื้อเพลิงที่สามารถยุบตัวได้ ซึ่งโดยกองทัพอากาศสหรัฐฯ โดยเครื่องบินลำเลียงแบบ C-130 มีเครื่องบินสงครามอิเล็กทรอนิกส์แบบ EC-130Es 3 ลำ (นามเรียกขาน : Republic 4, 5, และ 6) ทำหน้าที่ส่งยุทโธปกรณ์และเสบียง และ MC-130E Combat Talons (นามเรียกขาน : Dragon 1 ถึง 3) นำหน่วย Delta Force พร้อมกับอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ เข้าไปยังพื้นที่ปฏิบัติการ

ระหว่างการวางแผนมีการเตรียมเฮลิคอปเตอร์ชองกองทัพเรือสหรัฐฯแบบ RH-53D Sea Stallion ไว้ที่เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Nimitz โดยลูกเรือของ Nimitz ไม่ทราบสาเหตุของการปรากฏตัวของเฮลิคอปเตอร์ 8 ลำบนเรือของพวกเขาเป็นเวลาหลายเดือน พวกเขาได้รับเพียงการบอกเล่าว่า เฮลิคอปเตอร์ใช้ในภารกิจปฏิบัติการกวาดทุ่นระเบิด แผนดังกล่าวกำหนดให้เฮลิคอปเตอร์รับการเติมเชื้อเพลิงและบินนำทหารหน่วย Delta Force เป็นระยะทาง 260 ไมล์ (420 กม.) ไปยังจุดนัดพบ Desert Two (พิกัด 35 ° 14′00″ N 52 ° 09′00″ E) อยู่ห่างจากกรุงเตหะรานราว 52 ไมล์ (84 กม.) ด้วยเวลาที่ใกล้เช้ารุ่งเช้า เฮลิคอปเตอร์และกองกำลังภาคพื้นดินจะถูกซ่อนพรางตัวในระหว่างกลางวัน ณ จุด Desert Two โดยการปฏิบัติการกู้ภัยจะเกิดขึ้นในคืนที่สอง เริ่มจากสายของ CIA ในอิหร่านจะนำรถบรรทุกไปยังจุด Desert Two ร่วมกับกองกำลังภาคพื้นดิน (หน่วย Delta Force) จากนั้นจะขับรถจากจุด Desert Two ไปยังกรุงเตหะราน ในขณะที่กองกำลังจู่โจมหลักกำลังเคลื่อนไปยังกรุงเตหะราน กองกำลังสหรัฐหน่วยอื่น ๆ จะตัดกระแสไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อชะลอการตอบโต้ใด ๆ จากกองกำลังของอิหร่าน ยิ่งไปกว่านั้นเครื่องบิน Gunship แบบ AC-130 จะบินไปยังกรุงเตหะรานเพื่อทำการยิงสนับสนุนในกรณีที่จำเป็น

ท้ายสุดแล้ว กองกำลัง Ranger จะทำการยึดฐานทัพอากาศ Manzariyeh ที่อยู่ใกล้เคียง (พิกัด 34 ° 58′58″ N 50 ° 48′20″ E) เพื่อให้เครื่องบิน C-141 Starlifter ลงจอด กองกำลังภาคพื้นดินจะทำการโจมตีสถานทูต และกำจัดผู้คุม หลังจากนั้นจะพาตัวประกันและกองกำลังไปยังจุดนัดพบกับเฮลิคอปเตอร์ในฝั่งตรงข้ามบริเวณสนามกีฬา Amjadieh แล้วเฮลิคอปเตอร์จะพาทุกคนไปยังฐานทัพอากาศ Manzariyeh ขึ้น C-141s เพื่อบินพาทุกคนกลับไปยังดินแดนที่เป็นมิตร การป้องกันทางอากาศจะให้ กองบินนาวีที่ 8 (CVW-8) ปฏิบัติการจาก USS Nimitz และ กองบินนาวีที่ 14 (CVW-14) ปฏิบัติการจาก USS Coral Sea ในปฏิบัติการนี้เครื่องบินรบจะติดแถบพิเศษเพื่อระบุตัวตนที่ปีกขวา ประกอบด้วย กองบินนาวีที่ 14 (CVW-14) เครื่องบินรบแบบ F-4Ns ติดแถบสีแดงสำหรับกองบินขับไล่โจมตีนาวิกโยธินที่ 323 (VMFA-323) หรือสีเหลืองสำหรับกองบินขับไล่โจมตีนาวิกโยธินที่ 323 (VMFA-531) แถบสีดำ 2 แถบของกองบินนาวีที่ 14 (CVW-14) เครื่องบินจู่โจมแบบ A-7s และ A-6s มีแถบสีส้มล้อมรอบด้วยแถบสีดำ 2 แถบ เพราะมีเครื่องบินซึ่งคล้ายกัน (เพื่อช่วยแยกแยะเครื่องบินสหรัฐจากเครื่องบินอิหร่านที่ซื้อจากสหรัฐอเมริกา) คือ เครื่องบินขับไล่แบบ F-14 Tomcats และ F-4 Phantoms

แต่เมื่อมีการปฏิบัติจริง มีเพียงการส่งหน่วยระวังป้องกัน/ทีมกู้ภัย อุปกรณ์ และเชื้อเพลิงโดยเครื่องบิน C-130 เท่านั้นที่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หน่วยปฏิบัติการพิเศษออกจากฐานบินบนเกาะ Masirah ประเทศโอมาน และบินไปยังจุด Desert One โดย Dragon 1 บินถึงเวลา 22:45 ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากมีการเปิดไฟที่ซ่อนอยู่ การลงจอดภายใต้สภาพที่มืดมิดโดยใช้ระบบแสงอินฟราเรดบนลานบิน ซึ่งสามารถเห็นได้ด้วยแว่นมองกลางคืนเท่านั้น ด้วย Dragon 1 บรรทุกน้ำหนักมหาศาล ในการลงจอด แม้จะมีตรวจสอบว่าไม่มีสิ่งกีดขวางบนทางวิ่ง แต่ก็เกิดความเสียหายต่อปีกเครื่องบินจากการปะทะสิ่งกีดขวาง และต้องทำการซ่อมบนภาคพื้นดินในภายหลัง แต่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ และเครื่องบินยังคงบินได้

กองกำลังภาคพื้นดินประกอบด้วยหน่วย Delta Force 93 นายเตรียมบุกโจมตีสถานทูต โดยหน่วยจู่โจมพิเศษ 13 คนจากหน่วย "A" กองพล Berlin จะเข้าจู่โจมกระทรวงการต่างประเทศ Ranger อีก 12 นาย จะจัดตั้งแนวกีดขวาง และกำลังผสมอิหร่านและอเมริกันซึ่งพูดฟาร์ซีได้ 15 นาย ซึ่งส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นคนขับรถบรรทุก ทีมควบคุมการปฏิบัติการรบ (Combat Control Team : CCT) จัดตั้งเขตลงจอดขนานทางตอนเหนือของถนนลูกรัง และติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณ TACAN เพื่อเป็นแนวลงจอดของเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบิน MC-130s ลำที่ 2 และ 3 ลงจอดโดยใช้ทั้งรันเวย์ และปล่อยส่วนที่เหลือของหน่วย Delta Force หลังจากที่ Dragon 1 และ 2 บินออกในเวลา 23:15 เพื่อให้มีพื้นที่ว่างสำหรับ EC-130 และ ฮ. RH-53D 8 ลำ และกลับไปที่ ฐานบิน ซึ่งจะอนุญาตให้ลูกเรือเตรียมพร้อมสำหรับการปฏิบัติการในคืนที่สอง

ไม่นานหลังจากที่ลูกเรือคนแรกลงพื้น และเริ่มเฝ้าระวัง จุด Desert One มีรถบรรทุกซึ่งขนน้ำมันเถื่อนวิ่งผ่านจึงถูกยิงจนระเบิดด้วยจรวดประทับไหล่โดยทีมกั้นถนนของหน่วย Ranger ขณะพยายามหลบหนีออกจากพื้นที่ คนในรถบรรทุกเสียชีวิต แต่คนขับพยายามหลบหนีด้วยรถกระบะที่มาด้วยกัน ในขณะที่รถบรรทุกน้ำมันที่ถูกประเมินว่า มีส่วนร่วมในการลักลอบขนน้ำมันโดยตัวคนขับรถก็ไม่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของภารกิจ แต่เปลวไฟที่เกิดขึ้นสว่างมากในยามค่ำคืนเห็นได้ในระยะหลายไมล์ จึงเป็นการชี้ทางไปยังจุด Desert One สำหรับเฮลิคอปเตอร์ที่ยังไม่ลงจอด รถบัสพร้อมคนขับและผู้โดยสารพลเรือนชาวอิหร่าน 43 คน ซึ่งเดินทางบนถนนสายเดียวกัน ซึ่งตอนนั้นเป็นรันเวย์สำหรับเครื่องบินถูกบังคับให้จอด และทั้งหมดถูกควบคุมตัวในเครื่องบิน Republic 3

ระหว่างทาง เฮลิคอปเตอร์ Bluebeard 6 ต้องลงจอดฉุกเฉินกลางทะเลทราย เมื่อนักบินอ่านค่าของเซ็นเซอร์ซึ่งระบุว่า ใบพัดร้าว โดย ฮ. Bluebeard 8 ได้รับเอาลูกเรือของฮ. Bluebeard 6 ออกจากพื้นที่ เฮลิคอปเตอร์ที่เหลือบินเข้าไปในสภาพอากาศที่ไม่คาดคิดที่รู้จักกันในชื่อ Haboob (เมฆฝุ่นขนาดมหึมาที่เกือบจะทึบแสงซึ่งเกิดตามพายุฝนฟ้าคะนอง) Bluebeard 5 บินเข้า haboob ต้องละภารกิจ และบินกลับไปยัง USS Nimitz เมื่ออุปกรณ์เครื่องวัดประกอบการบินทำงานผิดปกติ ทำให้ต้องบินโดยปราศจากอุปกรณ์ฯ แต่การบินด้วยสายตาก็เป็นไปไม่ได้ การก่อตัวกระจัดกระจายมาถึงจุด Desert One นาน 50 ถึง 90 นาที ตามกำหนดการ Bluebeard 2 มาถึง Desert One เมื่อเวลา 01:00 น. ด้วยระบบไฮดรอลิกชุดหนึ่งเกิดขัดข้อง แต่ระบบดังกล่าวมี 2 ชุด จึงทำให้มีระบบไฮดรอลิกเพียงชุดเดียวในการควบคุมเฮลิคอปเตอร์ให้บินได้

ดังนั้นจึงเหลือเฮลิคอปเตอร์เพียง 5 ลำเท่านั้นที่จะบินส่งทหารและอุปกรณ์ไปยัง Desert Two ซึ่งผบ.ภาคสนามคิดว่า ภารกิจคงต้องยกเลิก และแล้วภารกิจก็มาถึงจุดจบ เมื่อนักบินปฏิเสธที่จะใช้เฮลิคอปเตอร์ Bluebeard 2 ในภารกิจ ขณะที่ผบ.ภาคสนามเองก็ปฏิเสธที่จะลดขนาดทีมกู้ภัย ซึ่งคาดว่า อาจจะสูญเสียเฮลิคอปเตอร์เพิ่มในเวลาต่อมา จึงมีการแจ้งขอยกเลิกภารกิจผ่านวิทยุสื่อสารดาวเทียมถึงประธานาธิบดี หลังจากนั้นสองชั่วโมงครึ่งก็ได้รับคำสั่งให้ยกเลิกภารกิจ

ขณะถอนกำลังเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งชนเข้ากับเครื่องบินลำเลียงโดยใบพัดหลักฟันกับแพนหางของเครื่องบินและลำตัวชนเข้ากับโคนปีกจนเกิดเพลิงไหม้ เป็นเหตุให้ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ซึ่งสังกัดกองกำลังนาวิกโยธิน 3 ใน 5 นายเสียชีวิต ลูกเรือเครื่องบินลำเลียงของกองทัพอากาศเสียชีวิต 5 จาก 14 นาย ระหว่างการอพยพไปยังเครื่องบินลำเลียงแบบ EC-130s ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์พยายามในการค้นเอกสารภารกิจลับ และทำลายเฮลิคอปเตอร์ ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ทั้งหมดขึ้นเครื่อง EC-130s โดยทิ้งเฮลิคอปเตอร์ RH-53 ทั้ง 5 ลำไว้ข้างหลัง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสภาพไม่บุบสลาย และบางส่วนได้รับความเสียหายจากกระสุน ต่อมาเฮลิคอปเตอร์ Bluebeards 2 และ 8 ถูกกองทัพเรือแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านนำไปใช้งาน เครื่องบิน EC-130E (Republic 5) ซึ่งกลับมาอย่างปลอดภัย และถูกปลดจากกองทัพอากาศสหรัฐในเดือนมิถุนายน 2013 ปัจจุบันตั้งแสดง ณ พิพิธภัณฑ์การบิน Carolinas

เครื่องบิน EC-130s ได้นำกำลังที่เหลือกลับไปยังสนามบินที่เกาะ Masirah โอมาน โดยมีเครื่องบินลำเลียงทางการแพทย์แบบ C-141 2 ลำจากฐานทัพอากาศ Wadi Abu Shihat, อียิปต์ เพื่อรอรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ลูกเรือเฮลิคอปเตอร์ สมาชิกหน่วย Rangers และ หน่วย Delta Force ถูกพากลับไปฐานทัพอากาศ Wadi Kena ส่วนผู้บาดเจ็บถูกส่งไปยังฐานทัพอากาศ Ramstein ในเยอรมันตะวันตก (ขณะนั้น) ทีม CIA ประจำกรุงเตหะรานถอนตัวออกจากอิหร่านโดยไม่ทิ้งร่องรอย

ทำเนียบขาวประกาศว่า ปฏิบัติการช่วยเหลือตัวประกันล้มเหลวเมื่อเวลา 01:00 น. ของวันถัดไป ตัวประกันในสถานทูตได้ถูกกระจายไปทั่วประเทศอิหร่านในภายหลังเพื่อให้การช่วยเหลือครั้งที่ 2 เป็นไปไม่ได้ เจ้าหน้าที่ของกองทัพอิหร่านพบศพ 9 ศพ เป็นชาวอเมริกัน 8 ศพ และพลเรือนอิหร่านอีก 1 ศพ ส่วนพลเรือนชาวอิหร่าน 44 คนบนรถบัสที่ถูกกักตัวก็ได้เล่าเรื่องราวของปฏิบัติการนี้ให้เจ้าหน้าที่ของกองทัพอิหร่าน มีการจัดทำแผ่นป้ายรำลึกถึงทหารรสหรัฐ 8 นาย ซึ่งเสียชีวิตระหว่างการปฏิบัติภารกิจ ในสุสานแห่งชาติ Arlington วันที่ 25 เมษายน 1980 พลตรี Robert M. Bond ได้อ่านคำสดุดีของประธานาธิบดี Jimmy Carter ที่พิธีศพเพื่อแสดงความระลึกถึงพวกเขาเหล่านั้น พลเรือเอก James L. Holloway III (เกษียณ) อดีตผู้บัญชาการฝ่ายปฏิบัติการกองทหารเรือ ได้ทำการสอบสวนอย่างเป็นทางการในปี 1980 อ้างถึงข้อบกพร่องในการวางแผนของภารกิจ คำสั่ง และการควบคุม และความสามารถในการปฏิบัติการร่วม และกลายเป็นตัวเร่งให้มีการจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม และรัฐบัญญัติ Goldwater-Nichols ในปี 1986

ความล้มเหลวของการปฏิบัติการร่วม ซึ่งขาดความพร้อมเพรียงทำให้เกิดการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ๆ ในอีกหลายปีต่อมา ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐอเมริกา (USSOCOM) เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1987 โดยแต่ละเหล่าทัพมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตนเองภายใต้การควบคุมปฏิบัติการร่วมโดย USSOCOM การขาดนักบินเฮลิคอปเตอร์ที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี มีความสามารถในการบินกลางคืนระดับต่ำ ซึ่งจำเป็นสำหรับภารกิจในปฏิบัติการของหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ทันสมัย ทำให้เกิดหน่วยบินปฏิบัติการพิเศษที่ 160 (SOAR) (Night Stalkers) นอกจากหน่วยบินปฏิบัติการพิเศษที่ 160 (SOAR) แล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังได้ฝึกนักบินเฮลิคอปเตอร์จำนวนมากให้สามารถบินเจาะทะลุในระดับต่ำ สามารถเติมน้ำมันกลางอากาศ และใช้แว่นมองกลางคืน ทำการบินเฮลิคอปเตอร์แบบ MH-47, CH-53E, MH-60 และ MV-22 รวมถึงเพิ่มความสามารถในการบินเพื่อปฏิบัติการพิเศษ ความล้มเหลวนำมาสู่การพัฒนาเทคนิควิธีในการปฏิบัติการพิเศษมากมาย ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจประจำของ USSOCOM่

ประธานาธิบดี Carter ยังคงพยายามให้ตัวประกันถูกปล่อยตัว ก่อนการสิ้นสุดของสมัยของประธานาธิบดี Carter วันที่ 20 มกราคม 1981 ไม่กี่นาทีหลังจากสิ้นสุดวาระของ Carter ตัวประกัน 52 คนที่ถูกกักขังในอิหร่านได้รับการปล่อยตัว สิ้นสุด 444 วันวิกฤติตัวประกันอเมริกันในอิหร่าน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ Cyrus R. Vance เชื่อว่า ปฏิบัติการนี้จะไม่ประสบผล และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของตัวประกัน จึงเลือกที่จะลาออก โดยไม่คำนึงว่าภารกิจสำเร็จหรือไม่ Ruhollah Khomeini ประณามประธานาธิบดี Carter และในคำพูดหลังจากเหตุการณ์โดยอ้างพระเจ้าโยนทรายเพื่อปกป้องอิหร่าน เขากล่าวว่า "ใครเป็นคนทำลายเฮลิคอปเตอร์ของ Carter? เราทำ? ทรายทำ! ตัวแทนของพระเจ้า ลมเป็นตัวแทนของพระเจ้า ... ทรายเหล่านี้เป็นตัวแทนของพระเจ้า พวกเขา (อเมริกัน) สามารถลองของได้อีก!

เหตุวิกฤติจบลงในที่สุด เมื่อมีการลงนามในสัญญา Algiers Accords ในประเทศอัลจีเรียในวันที่ 19 มกราคม 1981 และมีการปล่อยตัวประกันเมื่อวันที่ 21 มกราคม 1981 ในข้อตกลง มีการปล่อยตัวคนอเมริกันที่ถูกกักตัวในอิหร่าน และอีกด้านหนึ่ง มีการปล่อยตัวคนสัญชาติอิหร่านที่ต้องโทษในสหรัฐอเมริกา แต่สนธิสัญญานี้ครอบคลุมเพียงด้านกฎหมาย แต่ในวันที่ 7 เมษายน 1980 สหรัฐอเมริกาได้ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่านในวันที่ 24 เมษายน 198เรื่อง: ดร.ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล 

‘กัมพูชา’ เมื่อเกมการเมืองกลายเป็นการทำร้ายตัวเอง ผยองตัดไฟฟ้าประชดไทยสุดท้ายเศรษฐกิจชายแดนเจ๊ง

จากที่เฝ้าติดตามมาตลอดตั้งแต่ช่วงต้นจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่ากัมพูชาเดินเกมทางการเมืองเหมือนจะดูดุดันนะครับ แต่จริง ๆ แล้วกลับออกแนว 'ร้อน' เหมือนคนแก่เล่น Facebook อารมณ์ไม่นิ่ง เดี๋ยวดิ้น เดี๋ยววีน แล้วก็พลาดซ้ำซาก ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? เดี๋ยวผมจะอธิบายให้ฟังครับ

เริ่มกันที่กรณี 'ตัดไฟฟ้าประชดไทย' ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด และตอนนี้กำลังย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองอย่างชัดเจน

การที่กัมพูชาตัดไฟในเขตปอยเปตนั้น แม้จะดูเหมือนเป็นมาตรการตอบโต้ทางการเมืองที่แข็งกร้าว แต่เบื้องหลังก็เต็มไปด้วยการประเมินสถานการณ์ผิดพลาดซ้ำซ้อน และความพยายามเล่นเกมทูตแบบย้อนแย้งไร้แผนรองรับ

ต้องย้อนกลับไปดูช่วงแรกของวิกฤตชายแดน กัมพูชามีท่าที 'ชะล่าใจ' ค่อนข้างมาก ขุดคูเลตทหาร โชว์กำลัง กดดันไทยว่าเขามีสิทธิ์ในพื้นที่ โดยเชื่อว่าไทยจะไม่กล้าตอบโต้แรง เพราะตอนนั้นรัฐบาล โดยเฉพาะคุณแพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ยังนิ่ง ๆ เงียบ ๆ ไม่แสดงท่าทีแข็งกร้าวใด ๆ ทำให้ฝั่งเขาเชื่อไปว่าไทยไม่กล้าปิดด่านจริงจัง

ในทางกลับกัน ฝ่ายทหารและความมั่นคงของไทยกลับแสดงท่าทีขึงขัง ชัดเจนว่า “อธิปไตยไทยไม่ใช่ของเล่น” มีการใช้มาตรการเบื้องต้น เช่น ปรับเวลาเข้า–ออกด่าน และเตือนว่า “หากกัมพูชายังคุกคาม จะตัดไฟ”

แต่ฝั่งกัมพูชากลับคิดว่าไทยไม่กล้า ด้วยความมั่นใจที่อาจมาจากความสัมพันธ์ทางเครือญาติ จึงตัดสินใจบลัฟกลับ โดยอ้างว่าไทยเป็นฝ่ายจะปิดด่านก่อน แล้วก็เลยตัดไฟฟ้าเอง เป็นการ “ประชดกลับ” แบบไม่คิดหน้าคิดหลัง

แต่การ “อ่านเกมผิด” ครั้งนี้ ทำให้พังทั้งกระดาน

แม้รัฐบาลไทยจะลังเลในตอนแรก แต่เมื่อแรงกดดันจากสังคมและภาครัฐเพิ่มขึ้น การปิดด่านก็เกิดขึ้นอย่างฉับพลันในคืนวันที่ 23 มิ.ย. 68

สิ่งที่ตามมาคือ “ภาวะช็อก” ของผู้นำกัมพูชา ที่ประเมินผิดทุกจุด

แก๊งพนันออนไลน์ในปอยเปตเริ่มอพยพออกจำนวนมาก ระบบเศรษฐกิจชายแดนกลายเป็นอัมพาตทันที

แม้กัมพูชาจะพยายามปล่อยข่าวว่าตัวเองมีไฟฟ้าใช้ได้ตามปกติ แต่ข้อเท็จจริงคือ ไฟฟ้าในประเทศมีไม่เพียงพอ (ไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศถูกนำเข้ามาจากประเทศไทย  การตัดไฟที่โชว์ไปแต่แรกก็เป็นเพียงแค่การบลัฟ เพียงเล็กน้อย เพราะยังซื้อไฟฟ้าจากประเทศไทยอยู่อีกหลายจุดแต่ไม่ปรากฏเป็นข่าว) และการจะหันไปซื้อไฟจากเวียดนามก็เป็นไปไม่ได้ ทั้งจากข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและปริมาณกำลังผลิต

การบลัฟว่ามีไฟสำรองจ่ายนั้น หลอกได้แค่คนที่ไม่รู้ข้อเท็จจริง เพราะ…
1. ไฟฟ้าในเวียดนามผลิตได้พอใช้แค่ภายในประเทศ
2. ไม่มีเส้นทางส่งไฟฟ้าจากเวียดนามมายังฝั่งตะวันตกของกัมพูชา
3. หากจะสร้างโครงข่ายสายส่งใหม่ ต้องใช้เวลาหลายปีและเงินมหาศาล
และที่พังยิ่งกว่าคือ การกระทำของกัมพูชา กลับไปกระทบเวียดนามอย่างจัง

ข้อมูลบางส่วนระบุว่า กัมพูชาอาจปิดด่านล่วงหน้าโดยหวังโยนความผิดให้ไทย แล้วหวังว่าไทยจะเปิดก่อน เพื่อรักษาภาพลักษณ์ตัวเองในสายตาต่างประเทศ

แต่กลายเป็นว่า “ไทยไม่เดือดร้อน” กลับเป็น “เวียดนามซวยแทน”

เพราะเส้นทางนำเข้าสินค้าจากไทยไปเวียดนามจำนวนมากต้องผ่านกัมพูชา เมื่อด่านปิด เวียดนามก็ถูกตัดเส้นทางทันที ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวกับความขัดแย้งนี้เลยแม้แต่นิดเดียว

อีกด้านหนึ่ง กัมพูชาก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่าไทยลังเลจะปิดด่าน จึงรีบ “แสดงบทแข็ง” หวังจะชิงพื้นที่สื่อและปลุกกระแสภายในประเทศ เพื่อเอาใจฐานเสียงเดิมและฟื้นภาพลักษณ์ของตระกูลฮุน

แต่ผลที่ได้ คือ คนเวียดนามและไทย “พร้อมใจกันไม่ประทับใจ”

สิ่งที่สำคัญคือ การปิดด่านนี้ทำลายเศรษฐกิจของกัมพูชาเองอย่างจัง เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของฝั่งปอยเปต มาจากระบบเศรษฐกิจ “สีเทา” ไม่ว่าจะเป็นบ่อนพนันออนไลน์, call center, hacker ฯลฯ ซึ่งเมื่อช่องทางเข้า–ออกถูกตัด รายได้พวกนี้ก็เหือดหายไปทันที และหากปิดยาว ก็ยิ่งเจ็บลึก

ขณะที่การคว่ำบาตรไม่ซื้อน้ำมันจากไทยก็เป็นอีกการตัดสินใจที่ย้อนแย้ง เพราะน้ำมันไม่ใช่สินค้าที่สั่งวันนี้ได้พรุ่งนี้

ในตลาดโลกตอนนี้ ประเทศต่าง ๆ เริ่มอั้นน้ำมันเพื่อใช้ภายใน การจะหาน้ำมันจากแหล่งอื่นต้องใช้เวลา 3–6 เดือน เพราะเป็นระบบสัญญาล่วงหน้า ราคาก็สูงกว่าไทยอย่างเห็นได้ชัด

แม้จะหันไปสิงคโปร์ ก็ยังต้องรอขนส่งอีกหลายเดือน ขณะที่กัมพูชาไม่มีระบบน้ำมันสำรองเหมือนไทย จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นคนเขมรแห่กักตุนจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่เรื่อย ๆ

สุดท้าย ท่าทีของกัมพูชาที่ดึงดันเดินเกมนี้นานขึ้น ยิ่งทำให้เพื่อนบ้านในภูมิภาคหมดความอดทน โดยเฉพาะเวียดนามและลาว

การกระทำของกัมพูชาจึงไม่ใช่แค่พลาดทางยุทธศาสตร์ แต่กำลังเร่งให้ภูมิภาคหมดความเกรงใจในตัวเขา

สุดท้ายแล้ว คนที่ควรได้รับผลกระทบจากเรื่องทั้งหมดนี้ ไม่ควรเป็นแค่ประชาชนตาดำ ๆ ที่หาเช้ากินค่ำ จำเป็นต้องเดินทางข้ามแดนไทย–กัมพูชาเพื่อเอาตัวรอด แต่กลับต้องกลายเป็นผู้รับกรรมในเกมการเมืองที่ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย

ไม่ใช่พวกชนชั้นนำหรือครอบครัวตระกูลฮุนหรอกครับที่จะลำบากอะไร
พวกเขายังอยู่ในคฤหาสน์ มีไฟฟ้าใช้ มีรถกันกระสุน มีน้ำมันเติม

แต่ชาวบ้าน? ต้องอยู่กับความเสี่ยง ไฟดับ น้ำไม่ไหล น้ำมันแพง และข้าวของขึ้นราคาแบบทวีคูณ
ทั้งหมดนี้เพียงเพราะ 'อีโก้' ของผู้นำประเทศ ที่อยากเอาชนะให้ได้ในเกมที่ตัวเองเป็นคนเริ่ม

และหากพูดถึงเรื่อง 'ดินแดน' — ถ้าไทยยืนยันหนักแน่นว่านั่นคือแผ่นดินไทย กัมพูชาก็ไม่มีวันได้อยู่ดี ต่อให้กดดันแค่ไหน ก็เท่ากับทำร้ายตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่านั้นเอง

‘ซาน่า เอ็นริเก้’ เด็กหญิงตัวน้อยผู้กลายเป็นดวงดาว ส่องนำทางสู่ชัยชนะให้แก่พ่อผู้หัวใจแตกสลายของเธอ

(25 มิ.ย. 68) หากใครได้ชมการแข่งขันฟุตบอล UEFA Champions League นัดชิงชนะเลิศเมื่อค่ำคืนวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา ระหว่างทีมอินเตอร์มิลานจากอิตาลี vs ปารีสแซงแชร์กแมง (PSG) จากฝรั่งเศส ก็คงจะสังเกตเห็นแผ่นป้ายผ้าใบขนาดยักษ์อันสวยงาม หรือ Tifo บนอัฒจันทร์ฝั่งกองเชียร์ทั้งสองฝั่ง 

ปกติแล้วภาพผืนผ้าใบยักษ์หรือ Tifo นี้จะเป็นภาพที่แสดงออกถึงความฮึกเหิม หรืออัตลักษณ์สำคัญของทีมนั้นๆ เพื่อเป็นการส่งพลังไปให้กับนักฟุตบอลในสนามเพื่อลงไปใส่ให้เต็มที่กับคู่แข่ง 

และเมื่อบวกกับเสียงเชียร์อันดังสนั่นจากกองเชียร์แล้วก็เหมือนเป็นการ “ข่ม” คู่แข่งและกองเชียร์ฝั่งตรงข้ามไปด้วยในตัวนั่นเอง เช่น Tifo จากทางฝั่งอินเตอร์มิลานก็เป็นรูปงูดูดุดันน่าเกรงขาม ซึ่งงูก็เป็นสัญลักษณ์อันโด่งดังที่รู้จักกันดีของสโมสรอินเตอร์มิลานในขณะที่ Tifo บนอัฒจันทร์ฝั่ง PSG กลับเป็นรูปที่ไม่ได้แสดงออกถึงความขึงขัง ฮึกเหิม ดุดันอะไรแม้แต่น้อย แต่กลับเป็นรูปชายคนหนึ่งกำลังปักธงของ PSG บนพื้นสนาม โดยมีเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งใส่ชุดแข่งของ PSG เบอร์ 8ยืนมองอยู่

บนหลังของเธอสลักชื่อว่า Xana 

ชายที่กำลังปักธงก็คือ หลุยส์ เอ็นริเก้ เฮดโค้ชคนปัจจุบันของ PSG ที่ทำผลงานในฤดูกาลนี้ได้อย่างยอดเยี่ยม นำ PSG คว้า 2 แชมป์ใหญ่ในประเทศและกำลังพาทีมของเขาสร้างประวัติศาสตร์เข้าชิงชนะเลิศถ้วยที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปเพื่อเป็น Treble Champs หรือคว้า 3 ถ้วยสำคัญได้ภายในปีเดียวเหมือนที่เขาเคยทำได้ครั้งหนึ่งกับสโมสรบาเซโลนาเมื่อปี 2015 มาแล้ว 

ส่วนเด็กผู้หญิงในภาพก็คือ ซาน่า เอ็นริเก้ ลูกสาวคนสุดท้องของเขานั่นเอง โดยภาพๆนี้ เป็นภาพที่เคยเกิดขึ้นจริงในปี 2015 เมื่อหลุยส์ เอ็นริเก้ นำสโมสรบาเซโลนาคว้า 3 แชมป์ได้สำเร็จ ในค่ำคืนแห่งการเฉลิมฉลองการขึ้นสู่จุดสูงสุดของโลกฟุตบอลของหลุยส์ ซาน่าในวัย 5 ขวบได้วิ่งเข้าไปหาพ่อของเธอเป็นคนแรก และก็อยู่กับพ่อของเธอด้วยตลอดการเฉลิมฉลองอันยาวนานในค่ำคืนนั้น 

โดยเธอใส่เสื้อบาเซโลน่าเบอร์ 8 และโมเม้นท์สำคัญสำหรับคนทั้งคู่ก็คือ ซาน่าได้ช่วยพ่อของเธอปักธงบาเซโลน่าลงบนพื้นสนาม โดยภาพๆนี้ได้กลายเป็นภาพจำของซาน่าในฐานะนางฟ้าแห่งชัยชนะของหลุยส์ และบรรดาแฟน ๆ ของ PSG ก็ได้นำเอาภาพนี้มาทำเป็น Tifo โดยเปลี่ยนแค่ชุดของซาน่าและธงในมือของหลุยส์จากบาเซโลนาเป็น PSG เท่านั้น โดยคงรายละเอียดอื่นๆของภาพไว้ครบถ้วน หากแต่ว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเดิมจากค่ำคืนอันสวยงามนั้นก็คือ ในวันที่หลุยส์ เอ็นริเก้กำลังจะนำ PSG สร้างประวัติศาสตร์คว้า Treble Champ เป็นครั้งแรก และเป็นครั้งที่สองในอาชีพกุนซือของเขานั้น ซาน่ากลับไม่ได้อยู่ตรงนั้นกับพ่อของเธออีกแล้ว…. 

ซาน่า เอ็นริเก้ จากโลกนี้ไปในปี 2019 ด้วยวัยเพียง 9ขวบจากอาการของโรคมะเร็งกระดูกชนิดหายาก ในช่วงระหว่างการต่อสู้กับโรคมะเร็งของซาน่านั้น หลุยส์และครอบครัวได้ดูแลเธออย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เขาพาเธอไปรักษากับหมอที่เชี่ยวชาญเรื่องมะเร็งกระดูกที่เก่งที่สุดคนหนึ่งของโลก ทุ่มเงินทั้งหมดที่เขามี มอบเวลาแทบจะทั้งหมดที่เขามีให้กับเธอโดยวางฟุตบอลไว้เป็นเรื่องรอง 

แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครสามารถฝืนชะตาได้ ในวันที่ซาน่าจากไปอย่างสงบนั้น หลุยส์ได้ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า เหมือนกับว่าแสงสว่างทั้งหมดในชีวิตของเขานั้นได้ดับมืดลงไปพร้อมกับชีวิตของซาน่าด้วย เขาเปรียบการสูญเสียลูกสาวว่าเหมือนกับการสูญเสียดวงดาวนำทางของชีวิตไปอย่างไม่มีวันหวนคืน 

แต่อย่างไรก็ดี สำหรับหลุยส์แล้ว ซาน่าจากไปเพียงแค่ร่างกายเท่านั้น แต่ความรักและจิตวิญญาณของเธอยังคงอยู่กับเขาเสมอ รวมถึงความทรงจำอันสวยงามตลอด 9 ปี ที่เธอเกิดมาเป็นลูกสาวอันแสนงดงามและสดใสของเขาก็ยังคงเป็นพลังและแรงส่งให้เขาเสมอมาไม่เปลี่ยนแปลง มีอยู่ครั้งหนึ่งที่หลุยส์ได้ไปเยี่ยมแม่ของเขาภายหลังจากที่ซาน่าจากไปไม่นานแล้วพบว่าที่บ้านแม่ของเขาไม่มีรูปของซาน่าเหลืออยู่อีกเลย 

เขาจึงได้ถามแม่ของเขาว่า รูปของซาน่าทั้งหมดในบ้านหายไปไหน แม่ของหลุยส์ก็ได้ตอบว่าเธอได้เก็บรูปของซาน่าทั้งหมดไว้ในห้องเก็บของเพราะเธอทำใจไม่ได้และร้องไห้ด้วยความเสียใจทุกครั้งที่ได้เห็นรูปของซาน่า หลุยส์ตอบแม่ของเขาไปว่าสิ่งที่เธอทำนั้นไม่ถูกต้อง เพราะถึงแม้ว่าซาน่าจะได้จากไปแล้ว แต่เธอก็ได้ฝากความทรงจำที่มีความสุขและพลังงานดี ๆ มากมายไว้ให้กับคนที่เธอรักและรักเธอ 

ดังนั้นพวกเราจึงไม่ควรจะจมอยู่กับความเศร้าโศกเสียใจ และกำจัดความเศร้านั้นด้วยการพยายามลืมเธอหรือไม่นึกถึงเธอ นั่นไม่ใช่วิธีที่ถูกในการบำบัดหัวใจที่แตกร้าวเพราะการสูญเสีย ในทางกลับกันพวกเราควรระลึกถึงเธอเสมอโดยเฉพาะความสุขและความรักที่เธอมอบให้เราอย่างเต็มเปี่ยมมาตลอดชีวิตอันสว่างไสวของเธอ และเราควรจะระลึกอยู่เสมอว่าเราโชคดีเพียงไรที่ได้มีโอกาสได้รับความสุขนั้นจากเธอถึง 9 ปี นั่นต่างหากถึงจะเป็นการตอบสนองที่ถูกต้องและแสดงความเคารพต่อตัวตนของเธอ ความทรงจำของเธอ และความรักที่เธอฝากไว้ให้กับพวกเรา 

และในค่ำคืนแห่งฟุตบอลนัดสำคัญที่สุดนัดหนึ่งในชีวิตของหลุยส์ แฟนบอลของ PSG ได้เลือกที่จะแสดงความรักต่อผู้นำทัพของพวกเขาด้วยการแสดงออกถึงความเคารพและระลึกถึงซาน่าประดุจแสงดาวนำทางสู่ความสำเร็จตามที่หลุยส์เคยกล่าวถึงเธอไว้ด้วยความรักอย่างที่สุด 

ผลการแข่งขันในค่ำคืนแห่งโชคชะตานี้ปรากฏว่า PSG ชนะไปถึง 5-0 ชนิดที่อินเตอร์มิลานสู้ไม่ได้ในทุกเหลี่ยมมุม ทำให้ PSG ภายใต้การนำของหลุยส์เถลิงบัลลังก์จุดสูงสุดของยุโรปเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสโมสรและเป็นการทำ Treble Champ เป็นครั้งที่ 2 ในชีวิตของหลุยส์ 

ส่งผลให้ชื่อของเขาได้ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ของฟุตบอลทันทีว่าเป็นโค้ชคนที่ 6 ในโลกนี้ที่ทำทีมเป็นแชมป์สโมสรยุโรปได้จาก 2 สโมสร (บาเซโลนา และ PSG) 

และในวินาทีที่กรรมการเป่านกหวีดยาวหมดเวลาการแข่งขันเป็นการย้ำชัดเจนถึงการเป็นเจ้ายุโรปและ Treble Champ ของ PSG หลุยส์ก็ได้เปลี่ยนเสื้อเตรียมขึ้นรับถ้วยรางวัลที่สำคัญที่สุดถ้วยหนึ่งในชีวิตของเขาเป็นเสื้อยืดลายการ์ตูนของมูลนิธิซาน่า เอ็นริเก้ที่เขาและครอบครัวก่อตั้งขึ้นภายหลังการจากไปของซาน่า 

โดยมูลนิธินี้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ป่วยด้วยโรคร้ายแรงทุกโรคไม่เพียงแต่มะเร็งเท่านั้น เพราะหลุยส์รู้ซึ้งดีถึงความเจ็บปวดจากการสูญเสียซาน่าและเขาไม่ต้องการให้ใครต้องรู้สึกแตกสลายเช่นเดียวกันกับเขาอีก

หลุยส์ เอ็นริเก้ แม้จะเศร้าโศกจากการสูญเสียลูกสาวอันเป็นที่รักสักเพียงใด แต่เขาก็ไม่เคยยอมแพ้และลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง เพราะเขามีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าลูกสาวอันเป็นที่รัก จะเฝ้ามองเขาอยู่จากที่ใดที่หนึ่งอันไกลแสนไกลและเธอจะรับรู้ได้ถึงความสุขและความทุกข์ของเขาดังเช่นที่เคยเป็นมา 

ดังนั้น ถึงแม้ว่าการจากไปของซาน่าจะทิ้งบาดแผลขนาดใหญ่ไว้ในหัวใจของเขา แต่เขาก็เลือกที่จะเก็บเอาความทรงจำอันสว่างไสวของลูกสาวมาเป็นพลัง และเอาความรักอันเปี่ยมล้นที่มีต่อเธอเป็นดั่งแสงดาวนำทางให้ชีวิตของเขาก้าวเดินต่อไปสู่ความสำเร็จ เพราะเขารู้ว่าในวันที่เขามีความสุขและประสบความสำเร็จซาน่าก็จะมีความสุขและร่วมยินดีไปกับเขาด้วยเหมือนที่เป็นมาเสมอนั่นเอง 

หลุยส์ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนนัดชิงถ้วยสโมสรยุโรปในครั้งนี้ไว้ว่า "ผมจำภาพถ่ายที่น่าทึ่งภาพหนึ่งได้ เป็นภาพที่ผมถ่ายกับเธอหลังคว้าแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก ที่กรุงเบอร์ลิน ขณะกำลังปักธง บาร์เซโลน่า ลงบนสนาม"

"ผมหวังว่าจะได้ทำแบบนั้นอีกครั้งกับ เปแอสเช แม้ว่าลูกสาวของผมจะไม่ได้อยู่ที่นั่นทางร่างกาย แต่เธอจะอยู่ที่นั่นในทางจิตวิญญาณ และนั่นสำคัญกับผมมากจริงๆ"

และแฟนบอล PSG ก็ตอบสนองต่อความรักระหว่างหลุยส์กับซาน่าได้อย่างงดงามและน่าจดจำอย่างที่สุด และเป็นอีกครั้งที่พวกเราได้เห็นว่าฟุตบอลนั้นสวยงามเพียงไร 

ใดๆdigest หวังว่าเรื่องราวของหลุยส์กับซาน่า เอ็นริเก้ คงจะช่วยปลอบโยนใครก็ตามที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และขอแสดงความเคารพต่อดวงจิตทุกดวงที่สร้างความทรงจำอันสว่างไสวและมอบความรักอันสวยงามให้กับผู้คน 

ขอให้ความรักนำทางทุกท่านครับ 

Xana Enrique 
ด้วยจิตคารวะ

ร.7 กับข้อกล่าวหาอยู่เบื้องหลัง ‘กบฏบวรเดช’ ความเข้าใจผิดและเกมการเมืองหลังปี 2475

(24 มิ.ย. 68) ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คือรอยต่อสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย และผู้ที่ตกอยู่ท่ามกลางแรงสั่นสะเทือนจากทั้งสองฝั่งของอำนาจ คือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ผู้ซึ่งต้องเผชิญกับแรงกดดันจากฝ่ายอนุรักษนิยมและกลุ่มปฏิรูปใหม่อย่างคณะราษฎร

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น หนึ่งในบุคคลสำคัญที่เคยมีบทบาทในกองทัพและแสดงออกถึงความใฝ่ฝันในการปฏิรูปประเทศมาตั้งแต่ก่อน 2475 คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช ผู้มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ระบบเก่าและเคยเป็นที่จับตาของราชสำนักเองในฐานะ “ผู้ที่อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ด้วยซ้ำ

จนถึงขั้นที่ว่า ในวันที่คณะราษฎรทำการยึดอำนาจในรุ่งเช้า 24 มิถุนายน 2475 ราชสำนักยังเข้าใจผิดว่าหัวหน้าคณะราษฎรคือพระองค์เจ้าบวรเดช ไม่ใช่พระยาพหลพลพยุหเสนา หรือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม

จากผู้ใฝ่ปฏิรูป สู่ผู้นำกบฏ: ความพลิกผันของบวรเดช
พระองค์เจ้าบวรเดช ในฐานะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เคยรับราชการใกล้ชิดราชสำนักและเป็นบุคคลมีอิทธิพลในกองทัพสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 เคยมีแนวคิดที่ต้องการปรับปรุงประเทศให้ก้าวหน้ามาก่อนใครในหมู่ขุนนางร่วมสมัย จนเคยถูกกล่าวขานว่าเป็น “เสรีนิยมในเครื่องแบบ” คนหนึ่ง

ทว่าเมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง กลับเป็นพระองค์เจ้าบวรเดชเสียเองที่ไม่อาจยอมรับความเคลื่อนไหวของคณะราษฎรได้ เพราะทรงเห็นว่ารัฐบาลหลัง 2475 นั้นกำลังพาประเทศเข้าสู่ความโกลาหล ขาดความเคารพต่อสถาบัน และใช้อำนาจรัฐโดยปราศจากความรับผิดชอบ จึงนำไปสู่การตัดสินใจของพระองค์ในปี 2476 ที่จะนำกองทัพบางส่วนออกทำการ "กบฏบวรเดช" โดยมีข้ออ้างว่าเพื่อกอบกู้ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์”

ข้อกล่าวหาต่อรัชกาลที่ 7: เกมโต้กลับของการเมืองใหม่
ท่ามกลางความรุนแรงและความวุ่นวายที่ตามมา รัฐบาลของคณะราษฎรนำโดยพระยาพหลฯได้กล่าวหาว่า รัชกาลที่ 7 ทรงอยู่เบื้องหลังการสนับสนุนบวรเดช ข้อกล่าวหานี้มีน้ำหนักอยู่ช่วงหนึ่งโดยเฉพาะในระดับสื่อและวงการทหารที่ใกล้ชิดกับคณะราษฎร โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า “รัชกาลที่ 7 ทรงพระราชทานเงินจำนวน 200,000 บาทให้แก่กองกำลังบวรเดช”

แต่เมื่อพิจารณาในเชิงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ กลับพบว่าข้อกล่าวหานี้ ไม่สามารถยืนยันได้ด้วยเอกสารที่เชื่อถือได้ และนักวิชาการจำนวนมาก รวมถึงเอกสารจากสำนักพระราชวังและราชเลขาธิการในเวลานั้น ต่างยืนยันว่าพระองค์ “ไม่ทรงเกี่ยวข้องโดยตรง” กับการกบฏแต่อย่างใด

รัชกาลที่ 7: ความเป็นกลางอันน่าชื่นชม
ในช่วงเหตุการณ์กบฏบวรเดช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพำนักอยู่ที่หัวหิน ไม่ได้เสด็จไปยังพื้นที่ความขัดแย้ง และทรงมีพระราชดำรัสหลายครั้งผ่านราชเลขาธิการแสดงจุดยืนว่า ไม่ทรงเลือกข้าง และขอให้ทุกฝ่ายยุติความรุนแรงและหาทางเจรจา

พระองค์ไม่เพียงแต่ไม่สนับสนุนการใช้กำลัง แต่ยังทรง เสนอพระองค์เป็นคนกลางไกล่เกลี่ย หากคู่ขัดแย้งยินดีเปิดใจ

แนวทางของพระองค์จึงชัดเจนว่า ทรงวางพระองค์ไว้เหนือความขัดแย้ง และยังคงยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญที่พระองค์ทรงมีพระราชวินิจฉัยเห็นชอบด้วยตั้งแต่แรก

บทสรุป: การป้ายสีที่ไม่อาจลบพระบารมี

เหตุการณ์กบฏบวรเดชและข้อกล่าวหาที่ตามมานั้น เป็นผลพวงของเกมการเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านที่ตึงเครียด ฝ่ายรัฐพยายามลดทอนความน่าเชื่อถือของสถาบัน เพื่อรักษาอำนาจของตน และใช้อารมณ์ชาตินิยมเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมประชาชน

แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ประวัติศาสตร์ได้ชำระข้อเท็จจริงอย่างชัดเจนว่า

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับกบฏบวรเดช และทรงปฏิบัติพระองค์อย่างมีเกียรติ ในฐานะประมุขของชาติที่เคารพต่อเจตจำนงของประชาชน

พระองค์จึงมิใช่เพียง “กษัตริย์ผู้สละราชบัลลังก์”

แต่คือ “กษัตริย์นักประชาธิปไตย” ผู้วางรากฐานแห่งความคิดให้ประเทศไทยเดินหน้าไปด้วยสติ ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง

วันที่ 24 มิถุนายน 2568 เป็นวันครบรอบ 93 ปี ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศไทย  ทีมงาน 2475 รุ่งอรุณเหตุการณ์ปฏิวัติ ได้จัดทำหนังสือการ์ตูนปกใหม่(jacket) เพื่อ เทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ผู้เป็นศูนย์รวมใจคนไทยในห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงทางการปกครองและเป็นผู้บุกเบิกประชาธิปไตยที่แท้จริง

ผู้ใดสนใจหนังสือการ์ตูน 2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ ปกหุ้มเพื่อเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ 7 สามารถติดตามข้อมูลและสั่งซื้อได้ที่ https://www.facebook.com/share/1AnBbfHkaE/

‘กัมพูชา’ เผชิญ 3 วิกฤตหลังปิดด่านประชดไทย โรคระบาด – พลังงาน - เสื่อมศรัทธาทางการทูต

(23 มิ.ย. 68) กัมพูชากำลังเข้าสู่ “สามวิกฤต” ซ้อน - สุขภาพ พลังงาน และศรัทธาระหว่างประเทศ หลังปิดด่านประชดไทย

ณ เวลานี้ กัมพูชากำลังเผชิญกับวิกฤตหลายด้านพร้อมกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนอาจกล่าวได้ว่าประเทศกำลังก้าวเข้าสู่ “สามวิกฤตรุมเร้า” ซึ่งประกอบด้วยภัยสาธารณสุข ภัยเศรษฐกิจ และภัยทางการทูตอย่างรุนแรง

1. ไข้หวัดนกระบาดหนัก – ชายแดนไทย–กัมพูชาส่อปิดยาว
สถานการณ์ไข้หวัดนกในกัมพูชากำลังทวีความรุนแรง โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ติดต่อสู่คนได้ ทำให้อัตราการตายสูงเกิน 50% ในหลายกรณี (เช่น H5N1)มีความเป็นไปได้สูงครับว่า ภาครัฐของไทยมีแนวโน้มจะพิจารณาปิดด่านชายแดนเพื่อจำกัดการแพร่ระบาด ถ้าเกิดขึ้นไม่เพียงแต่กระทบแรงงานข้ามชาติ แต่ยังทำให้เศรษฐกิจชายแดนของกัมพูชาแทบหยุดชะงักไปยาวๆอีกสักพักนึงเลยครับ

2. วิกฤตน้ำมัน – ราคาพุ่งจากการปิดช่องแคบฮอร์มุซ
จากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ทำให้ช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูงแบบฉับพลัน กัมพูชาในฐานะประเทศที่พึ่งพาน้ำมันนำเข้าเกือบทั้งหมดต้องรับผลเต็ม ๆ โดยเฉพาะเมื่อชายแดนไทยที่เคยเป็นเส้นทางลำเลียงพลังงานทางบกกลับมีแนวโน้มจะปิดตามมาตรการสาธารณสุข วิกฤตพลังงานจึงกลายเป็นวิกฤตต้นทุนชีวิตของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้เนี่ยมือถือเป็นนโยบายที่ผิดพลาดโดยกัมพูชาโดยตรงเพราะว่าคนที่ออกนโยบายสกัดกั้นน้ำเป็นน้ำมันจากไทยนั้นก็ไม่ออกเลยรัฐบาลกัมพูชาซึ่งเพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อวานนี้เอง

3. เสียหน้าในเวทีระหว่างประเทศ – พฤติกรรมทางการทูตสะท้อนความไม่เป็นมืออาชีพ
แม้รัฐบาลกัมพูชาจะพยายามใช้การเปิดคลิปเสียงโจมตีผู้นำไทยเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมือง แต่ผลที่ตามมากลับกลายเป็นภาพลักษณ์ที่ตกต่ำในสายตานานาชาติ การนำข้อมูลลับทางการทูตออกมาเปิดเผยเพื่อหวังผลทางการเมืองภายใน ถือเป็นการทำลายความเชื่อถือของระบบการทูตระหว่างประเทศโดยตรง ประเทศใดที่ไม่เคารพหลักการพื้นฐานของการทูต ย่อมถูกมองว่า “ไม่สามารถไว้วางใจได้”

เรื่องนี้อย่าทำให้เห็นภาพชัดว่าฮุนเซนกำลังเผชิญกับการสูญเสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือโดยเฉพาะการทำลายมิตรภาพที่ยาวนานกว่าหลาย 10 ปีเพียงเพื่อการเอาชนะในสรภูมิการเมืองเพียงไม่กี่ก้าวเท่านั้นเอง

บทสรุป
ในขณะที่ประชาคมโลกเผชิญกับความผันผวนจากภูมิรัฐศาสตร์ กัมพูชากลับเผชิญ “ไฟสามด้าน” พร้อมกัน ทั้งโรคระบาด วิกฤตพลังงาน และความเสื่อมศรัทธาทางการทูต

คำถามสำคัญคือ—ผู้นำกัมพูชาจะรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้อย่างไร โดยไม่ยิ่งซ้ำเติมประชาชน และไม่พาประเทศให้ถลำลึกสู่ความโดดเดี่ยวทางการเมืองมากไปกว่านี้?

ส่องขีดความสามารถกำลังรบ – ยุทโธปกรณ์อิหร่าน ในวันที่ต้องเปิดแนวรบเต็มรูปแบบกับ ‘อิสราเอล’

ปัจจุบันทุกวันนี้ กรณีพิพาทระหว่างประเทศได้ขยายตัวยกระดับกลายเป็นสงครามในหลายภูมิภาคบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็น รัสเซียกับยูเครน อิหร่านกับอิสราเอล กรณีพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน หรือ กระทั่งกรณีพิพาทระหว่างไทยกับเขมร ซึ่งมีการเผชิญหน้าด้วยกำลังทหารตลอดแนวชายแดนของสองประเทศ

สงครามคือ การต่อสู้ของคู่พิพาทหรือคู่ขัดแย้งด้วยกองกำลังติดอาวุธ ในสภาวะที่ปกติแล้วมีการสู้รบด้วยอาวุธอย่างเปิดเผยและประกาศระหว่างรัฐหรือประเทศต่าง ๆ โดยการทำสงครามนั้น คู่ขัดแย้งทั้ง 2 ฝ่ายจำเป็นต้องมีกำลังอำนาจทางทหาร ซึ่งประกอบด้วย (1) กำลังรบ กำลังทหาร หรือกองกำลังติดอาวุธ (ที่จัดเตรียมไว้แล้ว) และ (2) ศักย์สงคราม

ศักย์สงคราม (War potential) ได้แก่ ขีดความสามารถที่จะผลิตกำลังรบเพิ่ม ผลิตอำนาจการรบเพิ่ม โดยองค์ประกอบของศักย์สงครามอาจแบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1) กำลังอำนาจทางเศรษฐกิจ 2) กำลังอำนาจทางการเมือง 3) ขวัญและกำลังใจเมื่อเกิดการสู้รบขึ้น และ 4) การสนับสนุนจากพันธมิตร

นอกจากองค์ประกอบ 4 ประเภทที่กล่าวมาแล้ว ยังรายละเอียดตามเงื่อนไขปัจจัยดังต่อไปนี้ คือ (1) ขนาด ที่ตั้ง และลักษณะของประเทศ (2) จำนวน อายุ ลักษณะประชากร ขีดความสามารถทางแรงงานและขวัญของพลเมือง (3) จำนวนและชนิดของอาหารและวัตถุดิบ ตลอดจนจำนวนสำรองของวัตถุดิบรวมทั้งขีดความสามารถที่จะนำเข้ามาทั้งยามสงบและยามสงคราม (4) ขีดความสามารถทางอุตสาหกรรม (5) ขีดความสามารถในด้าน Logistics (6) ทรัพยากรด้านวัตถุและกำลังคนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ (7) คุณภาพของผู้นำและผู้บริหารของชาติ รวมทั้งขีดความสามารถในการระดมสรรพกำลังที่มีอยู่ด้วย

ศักย์สงครามของอิหร่าน ในขณะนี้ โลกกำลังจับตาดูความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านว่า จะพัฒนาไปอย่างไร จะกลายเป็นสงครามที่มีการขยายพื้นที่เป็นสงครามขนาดใหญ่ หรือสงครามจำกัดขอบเขตพื้นที่เช่นที่เป็นมา บทความนี้จะขอพูดถึงศักย์สงครามของอิหร่านในสองมิติ โดยจัดเรื่องของอำนาจกำลังรบของอิหร่านไว้ในมิติแรก และมิติที่ 2 คือ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

(1) อำนาจกำลังรบของอิหร่าน กำลังทหารอิหร่านประกอบด้วยสามหน่วยหลักได้แก่ (1.1) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolutionary Guard Corps (Sepah)) และ (1.2) กองทัพ(บก)สาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Army (Artesh)) และ (1.3) กองกำลังบังคับใช้กฎหมาย (ตำรวจ) โดยสองหน่วยแรกมีกำลังพลราว 530,000 นาย ส่วนตำรวจมีกำลังพลราว 500,000 นาย และตำรวจอาสาสมัครอีก 35,000 นาย กองกำลังทุกหน่วยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของคณะเสนาธิการแห่งกองทัพฯ ภายใต้สำนักงานผู้นำสูงสุดแห่งอิหร่าน โดยกระทรวงกลาโหม และหน่วยส่งกำลังบำรุงของกองทัพรับผิดชอบในการวางแผนส่งกำลังบำรุง และการจัดการงบประมาณของกองทัพ และไม่เกี่ยวข้องกับการบังคับบัญชาสั่งการตลอดจนปฏิบัติการทางทหารในสนามรบ

กองทัพของอิหร่านได้รับการจัดอันดับให้เป็นกองทัพที่มีความแข็งแกร่งลำดับที่ 16 ของโลก จากการจัดอันดับของ Global Firepower ในปี 2025 ประกอบด้วย (1.) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามประกอบด้วย (1.1) กองกำลังภาคพื้นดิน เป็นกองกำลังปฏิวัติอิสลาม(IRGC) ซึ่งปฏิบัติการคู่ขนานกับกองทัพบกอิหร่าน นอกเหนือจากบทบาททางการทหารของพวกเขาแล้ว ยังมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยภายใน มีกำลังพลประมาณ 100,000 นาย (1.2) กองกำลัง Basij (องค์การเพื่อการเคลื่อนไหวของผู้ถูกกดขี่) เป็นกองทหารอาสาสมัครที่จัดตั้งขึ้นปี 1979 ตามคำสั่งของ Ayatollah Khomeini เดิมประกอบด้วยอาสาสมัครพลเรือนเข้าร่วมสู้รบในสงครามอิหร่าน-อิรัก และถูกระบุว่า เป็นองค์กรก่อการร้ายโดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกา, บาห์เรน และซาอุดิอาระเบีย มีกำลังพลประมาณ 90,000 นาย อาสาสมัครอีก 11.2ล้านนาย รวมอาสาสมัครพร้อมปฏิบัติการ 600,000 นาย (1.3) กองกำลัง Quds เป็นหน่วยหนึ่งในกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (IRGC) เป็นกองกำลังที่เชี่ยวชาญในการทำสงครามนอกแบบ และปฏิบัติการทางการข่าวทางทหาร รับผิดชอบการปฏิบัติการนอกประเทศ กองกำลัง Quds ได้ให้การสนับสนุนกองกำลังในหลายประเทศรวมถึง Hezbollah, Hamas ในเลบานอน และญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์, Houthis ในเยเมน และ Shia militias ในอิรัก ซีเรีย และ อัฟกานิสถาน มีการประเมินว่า Quds มีกำลังพลราว 10,000-20,000 คน ขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดของอิหร่าน Ayatollah Khamenei (1.4) กองกำลังทางอากาศ (การบินและอวกาศ) แห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (AFAGIR) 

ซึ่งปฏิบัติการคู่ขนานไปกับกองทัพอากาศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารร่วมกับ กองทัพอากาศของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) และ (1.5) กองกำลังทางเรือแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามประกอบด้วยกำลังพลประมาณ 20,000 นาย เรือรบ 1,500 ลำ มีการพัฒนาขีดความสามารถอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการรบทางน้ำนอกแบบ และคุ้มครองผลประโยชน์นอกชายฝั่ง แนวชายฝั่ง และเกาะต่าง ๆ ในอ่าวเปอร์เซียที่เป็นของอิหร่าน

(2) กองทัพสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (Islamic Republic of Iran Army (Artesh)) ประกอบด้วย (2.1) กองกำลังภาคพื้นดิน หรือ กองทัพบก เป็นกองกำลังภาคพื้นดินของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน กองทัพ ในภาษาฟาร์ซีเรียกว่า อาร์เทช (Artesh : ارتش) ซึ่งแปลว่า "กองทัพบก" ในปี 2007 ประมาณว่า กองทัพบกอิหร่าน มีบุคลากรราว 350,000 นาย (ทหารเกณฑ์ 220,000 นาย และทหารประจำการ 130,000 นาย) และทหารกองหนุนอีกประมาณ 350,000 นาย รวม 700,000 นาย ทหารเกณฑ์เป็นเวลา 21 เดือนและมีการฝึกฝนเพื่อเป็นทหารอาชีพ อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย รถถัง 3,000 คัน รถหุ้มเกราะ 1,550 คัน ปืนใหญ่ลากจูง 2,118 ระบบ ปืนใหญ่อัตตาจร 365 ระบบ เครื่องยิงจรวด 1,500+ ระบบ เฮลิคอปเตอร์ 260 ลำ เฮลิคอปเตอร์โจมตี 80+ ลำ และ UAV 400 ลำ (2.2) กองกำลังป้องกันทางอากาศ แยกออกมาจาก IRIAF ทำหน้าที่ควบคุมและปฏิบัติการในการป้องกันทางอากาศ (ภาคพื้น) ของอิหร่าน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2008 มีกำลังพลราว 15,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย ปืนและจรวดต่อสู้อากาศยานหลายแบบจำนวนมาก (2.3) กองทัพอากาศสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน (IRIAF) มีกำลังพลราว 37,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วยเครื่องบินรบ 348 ลำ  และเครื่องบิน/เฮลิคอปเตอร์แบบต่าง ๆ รวมทั้งหมด 741 ลำ และ (2.4)กองทัพเรือของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน มีกำลังพลราว 18,000 นาย อาวุธยุทโธปกรณ์ประกอบด้วย เรือผิวน้ำ 86 ลำ เรือดำน้ำ 19 ลำ และอากาศยานอีก 54 ลำ

ศักย์สงครามของอิหร่านในมิติของ "อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ" ท่านอายุน้อยกว่าห้าสิบอาจจะยังไม่ทราบว่า สี่สิบปีก่อนอิหร่านรบกับอิรักนานเกือบแปดปี ในตอนนั้นสหรัฐฯ และพันธมิตรได้ให้การสนับสนุนอิรักอย่างเต็มที่ ทหารของทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บตายฝ่ายละหลายแสนนาย (ตัวเลขจากหลายแหล่งไม่ปรากกฏตรงกันเลย) กองทัพอิหร่านหลังสงครามอ่อนแอลงมาก สูญเสียอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาล แต่ก็สามารถยันอิรักไว้ได้ ก่อนการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน กองทัพอิหร่านแข็งแกร่งด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์มหาศาลที่กษัตริย์ชาห์ปาเลวีสั่งซื้ออย่างมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สุดล้ำในยุคนั้น อาทิ เครื่องบินขับไล่แบบ F-14 Tomcat ซึ่งนอกจากกองทัพเรือสหรัฐฯ แล้ว มีเพียงกองทัพอากาศอิหร่านเท่านั้นที่มีใช้

ความอ่อนแอของกองทัพอิหร่านเกิดขึ้นภายหลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ปี 1979 เพราะแม่ทัพนายกองของกองทัพอิหร่านส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ภักดีต่อกษัตริย์ชาห์ปาเลวี ดังนั้นเมื่ออยาตอลาห์โคไมนีได้อำนาจการปกครองประเทศ จึงมีการกวาดล้างผู้ภักดีต่อราชวงศ์ปาเลวี รวมทั้งอดีตข้าราชการและแม่ทัพนายกองถูกสังหารร่วม 8,000 คน หลังจากสงครามอิหร่านกับอิรัก อิหร่านได้การพัฒนากิจการทหารอย่างมากมายทั้งบุคลากร อาวุธยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมป้องกันประเทศด้วย อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยของกษัตริย์ชาห์โมฮัมหมัดเรซาปาห์ลาวี ในปี 1973 โดยบริษัทอิหร่านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (IEI) ก่อตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมและซ่อมแซมอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยอาวุธยุทโธปกรณ์ของอิหร่านส่วนใหญ่ก่อนการปฏิวัติอิสลามนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและยุโรประหว่างปี 1971 และ 1975 กษัตริย์ชาห์ได้สั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์มูลค่ากว่า 8 พันล้านดอลลาร์เฉพาะจากสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้สร้างความตื่นตระหนกแก่รัฐสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เพิ่มความเข้มงวดกับกฎหมายว่าด้วยการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ในปี 1968 และเปลี่ยนชื่อเป็นรัฐบัญญัติควบคุมการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ ถึงกระนั้นก็ตามสหรัฐอเมริกายังคงขายอาวุธจำนวนมากให้แก่อิหร่านจนกระทั่งเกิดการปฏิวัติอิสลามใน ปี 1979

1977 อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านได้ร่วมมือกับอิสราเอลในการผลิตขีปนาวุธตามโครงการ Flower และขอเข้าร่วมโครงการพัฒนาขีปนาวุธร่วมกับสหรัฐฯ แต่ถูกปฏิเสธ ในปี 1979 อิหร่านเริ่มก้าวแรกสู่การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เองโดยเริ่มจากการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse engineering) กับจรวดแบบต่าง ๆ ของสหภาพโซเวียต อาทิ RPG-7, BM21 และ SA-7 หลังจากการปฏิวัติอิสลาม และเริ่มสงครามอิหร่าน – อิรัก การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการคว่ำบาตรทางอาวุธระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐอเมริกา ประกอบกับความต้องการอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารมากขึ้น ทำให้อิหร่านต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในประเทศ เพื่อซ่อมแซมและผลิตอะไหล่ชิ้นส่วน กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามได้รับหน้าที่ให้ทำการจัดระเบียบอุตสาหกรรมป้องกันประเทศอีกครั้ง ภายใต้การกำกับดูแลของกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม อุตสาหกรรมป้องกันประเทศของอิหร่านสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และกระทรวงกลาโหมได้สนับสนุนงบประมาณมหาศาลเน้นไปที่อุตสาหกรรมขีปนาวุธ ในไม่นานนักอิหร่านก็กลายเป็นชาติที่มีขีปนาวุธมากมาย

ปี 1992 อิหร่านสามารถผลิตรถถังเอง รวมทั้งรถหุ้มเกราะ ขีปนาวุธ เรือดำน้ำ และเครื่องบินรบ 2006 เหตุการณ์ต่าง ๆ จากโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติประกาศคว่ำบาตรอิหร่านโดยห้ามไม่ให้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ทุกรูปแบบ แม้จะมีบทลงโทษเหล่านี้อิหร่านก็ขายอุปกรณ์ทางทหารให้กับประเทศต่าง ๆ เช่น ซูดาน ซีเรีย และเกาหลีเหนือ อิหร่านก็ไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์ทางทหาร เช่น S-300 จากรัสเซีย แต่ก็ออกแบบและสร้างเองแทน เช่น Bavar- 373 และส่งออกอาวุธไปยังกว่า 50 ประเทศ

เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2012 กองทัพอิหร่านได้แถลงว่า ประสบความสำเร็จในการผลิตอุปกรณ์ทางทหารและความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิหร่านทำให้ประเทศมีความก้าวหน้าอย่างมากในด้านนี้ "ต่างจากประเทศตะวันตกที่ซ่อนอาวุธและยุทโธปกรณ์ใหม่ แต่กองทัพสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านไม่กลัวที่จะแสดงความสำเร็จทางทหารล่าสุดและทุกประเทศจะต้องตระหนักถึงความก้าวหน้าของอิหร่านในการผลิตอาวุธ" ตั้งแต่ปี 2016 กระทรวงกลาโหมอิหร่านได้ร่วมมือกับบริษัทระดับชาติมากกว่า 3,150 แห่ง และมหาวิทยาลัยอีก 92 แห่ง อีกทั้งความสามารถในการทำวิศวกรรมย้อนกลับทำให้อิหร่านสามารถพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ที่ยึดได้จากอิรัก กระทั่งในปัจจุบันอิหร่านสามารถยิงอากาศยานไร้คนขับ (UAV) ของสหรัฐฯ ได้หลายแบบ และใช้เทคนิควิศวกรรมย้อนกลับในการผลิต UAV หรือโดรนเพื่อทำการรบที่มีประสิทธิภาพได้มากมายหลายแบบ

เราคงต้องติดตามกันต่อไปว่า “ศักย์สงครามของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน” ที่มีอยู่จะทำให้ “อิหร่าน” สามารถรับมือ หรือเอา “อิสราเอล” อยู่หรือไม่ เพราะ “อิสราเอล” นั้น ถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ดีและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งพระนโรดมเป็น ’กษัตริย์เขมร’ พร้อมตั้งชื่อให้เลือก - ให้อยู่ในกรอบของสยามไม่ใช่เอกราช

รู้หรือไม่? 'กรุงเทพฯ' เป็นคนตั้ง 'กษัตริย์เขมร'
เรื่องนี้ไม่ใช่เล่าเล่น ๆ นะครับ มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจนจากสมัย รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงสยาม ที่พระองค์ทรง ตั้งองค์พระนโรดม ให้เป็น 'เจ้ากรุงกัมพูชา' แต่ต้องเป็นกษัตริย์ที่ อยู่ในบังคับบัญชา ของกรุงเทพฯ เท่านั้น ในเอกสารราชการเขียนไว้ชัดว่า...

> “ให้มีอำนาจอิศริยศ เป็นอธิบดีบ้านเมืองฝ่ายเขมรทั้งปวง บรรดาที่องค์สมเด็จพระหริรักษารามมหาอิศราธิบดีผู้พระบิดา ได้ครอบครองเป็นใหญ่ใต้บังคับบัญชา…”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ พระนโรดมได้ขึ้นเป็นกษัตริย์เขมรแทนพ่อ แต่จะทำอะไรก็ต้องอยู่ใต้คำสั่งหรืออนุญาตจากกรุงเทพฯ จะตั้งขุนนาง จะตั้งข้าราชการในเมืองไหนก็ได้ แต่ต้องรักษาน้ำใจและแสดงความนอบน้อมต่อพระมหากษัตริย์ไทยและเพื่อให้เป็นทางการ พระเจ้าแผ่นดินไทยยังเขียนพระนามเต็ม ๆ มาให้พระนโรดมเลือกเอง 2 แบบ (ชื่อยาวมาก ขนาดพระยังเลือกได้เองว่าอยากใช้ชื่อไหน!) หนึ่งในชื่อที่ส่งไปให้เลือกมีความว่า:

> “องค์สมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวดารคุณ สารสุนทรฤทธิ์ มหิศวราธิบดี... พระเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี พระปรีชาวิเศษ”

แล้วก็มีบทสอนคุณอีกยาวเหยียดให้ปกครองคนเขมรให้ดี อย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน รู้จักแยกแยะเรื่องของบ้านเมืองให้อยู่รอด อย่าให้เสียการปกครอง แล้วก็ให้ซื่อสัตย์กับกรุงเทพฯ เหมือนที่พ่อเขาทำมาก่อน

ที่สำคัญ ตอนท้ายของเอกสารยังมีคำอวยพรว่า ขอให้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเทวดาทั้งหลายคุ้มครองพระนโรดมให้มีความสุขด้วย

สรุปสั้น ๆ แบบชาวบ้าน กษัตริย์เขมรไม่ได้ขึ้นมาเองนะ กรุงเทพฯ ตั้งให้เขมรเคยเป็นเมืองในบังคับของสยาม มีเจ้าเมืองก็ต้องขอกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 4 ทรงตั้งพระนโรดมขึ้นเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา พร้อมตั้งชื่อให้เลือก และ ทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบของสยาม ไม่ใช่เอกราช

บทความนี้ไม่ได้จะไปดูถูกใครนะครับ แต่เขียนเพื่อให้เข้าใจตาม หลักฐานราชการโบราณ ที่มีอยู่จริง เราไม่ได้ใส่สีตีไข่ แค่เล่าให้เข้าใจง่ายว่าในอดีตใครเป็นใคร ใครตั้งใคร และใครอยู่ใต้อำนาจใคร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top