Tuesday, 1 July 2025
COLUMNIST

บทเหยื่อปลอมบนชายแดน : เกมเดิมของฮุน เซน กับการปะทะ 10 นาทีเพื่อเช็คเคลมดินแดน

ในโลกของความขัดแย้งระหว่างรัฐ การยิงปะทะกันเพียงไม่กี่นาทีก็อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนของอธิปไตยได้ — โดยเฉพาะเมื่อมันเกิดในพื้นที่ที่ยังไม่มีเส้นแบ่งเขตที่ชัดเจน และยิ่งอันตรายมากขึ้น หากฝ่ายหนึ่งพยายามเปลี่ยน 'กระสุน' ให้กลายเป็น 'เครื่องมือทางกฎหมาย' บนเวทีโลก

เหตุปะทะที่ 'ช่องบก' จ.อุบลราชธานี ระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาในช่วงเช้าวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ใช้เวลาเพียงแค่ 10 นาที ตั้งแต่เวลา 05.45 น. ถึง 05.55 น. แต่สิ่งที่ตามมาหลังเสียงปืนเงียบลงกลับไม่เงียบตามไปด้วย เพราะทันทีที่เกิดเหตุการณ์ กองทัพบกไทยชี้แจงชัดเจนว่า เหตุปะทะเริ่มจากการที่ทหารกัมพูชาเข้ามาวางกำลังในเขต 'พื้นที่ทับซ้อน' ซึ่งยังไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศว่าฝ่ายใดเป็นเจ้าของที่แน่ชัด ฝ่ายไทยจึงส่งชุดประสานงานเข้าไปเจรจาตามแนวปฏิบัติปกติ แต่กลับถูกเข้าใจผิดและถูกยิงใส่ก่อน ฝ่ายไทยจึงจำเป็นต้องตอบโต้เพื่อป้องกันตนเอง ก่อนที่ผู้บัญชาการทั้งสองฝ่ายจะโทรศัพท์และตกลงหยุดยิงในเวลาเพียงไม่ถึงสิบนาที

ในชั่วโมงแรก ฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างแถลงตรงกันว่า “ไม่มีผู้เสียชีวิต” ท่าทีดูเหมือนจะคลี่คลาย แต่ในเวลาไม่นาน ฝ่ายกัมพูชากลับคำ และระบุว่ามีทหารของตนเสียชีวิต 1 นาย และในเวลาต่อมา สมเด็จฮุน เซน อดีตนายกฯ กัมพูชา ก็ออกแถลงการณ์ประณามไทย พร้อมทั้งเปรียบเหตุการณ์นี้กับการรุกรานในช่วงปี 2008–2011 ซึ่งเคยนำไปสู่การฟ้องร้องในศาลโลกกรณีวัดพระวิหาร โดยกล่าวชัดว่าจะใช้ “ทหาร การทูต และกฎหมาย” ในการต่อสู้เพื่ออธิปไตย

ถ้าอ่านให้ลึก นี่ไม่ใช่เพียงแค่แถลงการณ์ตามพิธีการ แต่เป็น 'หมากชุดใหม่' ที่มีเป้าหมายชัดเจนมากกว่าแค่สร้างกระแสในประเทศ ฮุน เซนกำลังพยายาม 'เช็คเคลม' พื้นที่ทับซ้อนบริเวณช่องบก ซึ่งเป็นจุดที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์มายาวนาน แต่ยังไม่มีข้อยุติทางการทูตและยังไม่ได้ตีเส้นแบ่งบนแผนที่อย่างเป็นทางการ ซึ่งในทางระหว่างประเทศนั้น การ “ครอบครองที่ดินโดยพฤติกรรม” เช่น การส่งทหาร การตั้งฐาน หรือแม้แต่การมี “เหตุปะทะที่ฝ่ายตนถูกกระทำ” ล้วนสามารถถูกใช้เป็น “พฤติการณ์ประกอบ” ในการอ้างสิทธิ์ในชั้นศาลได้

นี่คือเหตุผลว่าทำไมกัมพูชาจึงต้องกลับคำมาอ้างว่ามีผู้เสียชีวิต และทำไมฮุน เซนจึงต้องรีบโยงเรื่องนี้กลับไปยังคำวินิจฉัยของศาลโลกในอดีต เพราะในสายตาของเขา การปะทะครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของความเข้าใจผิดชั่วคราว แต่คือการ 'สร้างพยานหลักฐาน' เพื่อใช้ในกระบวนการพิพาทเขตแดนในระดับระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจุดปะทะอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีการปักปันเขตแดนถาวร

แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่ประเทศไทยต้องตระหนักก็คือ ไม่ว่าใครจะเล่นเกมอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ 'การรู้ทัน' และ 'การบันทึกข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบ' เพราะเราไม่สามารถห้ามฝ่ายตรงข้ามจากการกล่าวหาได้ แต่เราสามารถป้องกันผลลัพธ์ของคำกล่าวหานั้นได้ หากเรามีข้อมูลที่ชัดเจนและหลักฐานที่เพียงพอ

เหตุปะทะครั้งนี้อาจกินเวลาแค่ 10 นาที แต่สำหรับเวทีศาลโลก มันอาจถูกขยายความให้ยาวเป็นปี สิ่งที่ไทยต้องทำตอนนี้ไม่ใช่การโต้แย้งด้วยถ้อยคำ แต่คือการรวบรวมทุกวินาทีของความจริง ตั้งแต่การเคลื่อนกำลัง จุดปะทะ รูปแบบการตอบโต้ ไปจนถึงการเจรจาหลังเหตุการณ์ เพื่อให้โลกเห็นว่า ไทยไม่ได้รุกราน ไม่ได้เริ่มก่อน และไม่ได้ตั้งใจให้เรื่องนี้ขยายตัว

เรารู้ว่าเราทำอะไร ที่ไหน และทำเพื่ออะไร นี่ไม่ใช่การหลบหลีกความรับผิดชอบ แต่คือการยืนยันในความสุจริตของการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กรอบของความสงบ และการรู้ทันเกมเดิมที่อีกฝ่ายพยายามเล่นซ้ำ — เพียงเปลี่ยนเวทีจากพระวิหาร มาเป็นช่องบกเท่านั้น

‘ม. ฟู่ตั้น’ คว้าถ้วยแข่งเรือมังกรเซี่ยงไฮ้สำเร็จ เหนือผลรางวัลคือการได้ร่วมกิจกรรมอันทรงเกียรติ

A great story of my life.

(26 พ.ค. 68) ตั้งแต่ได้รับอุบัติเหตุไหล่หลุดระหว่างการซ้อมพายเรือ Dragon Boat ก่อนการแข่งขัน Shanghai International Dragon Boat Competition เมื่อ 6 ปีที่แล้ว จนทำให้ไม่สามารถลงเป็นตัวจริงในการแข่งขันได้ แม้ในวันนั้นจะคว้ารางวัลรองชนะเลิศมาครองได้ แต่ลึก ๆ ในใจก็เซ็งมากเพราะอยากลงเป็นตัวจริงในการแข่งขัน

ในวันนั้น (กลางปี 2019) ผมยังอายุ 21 เรียนอยู่ ป.ตรี ปี 1 ที่มหาวิทยาลัย East China Normal University ซึ่งเป็นทีมตัวตึงที่มักจะได้ที่หนึ่งและเป็นแชมป์ในการแข่งขันแทบทุกปี ผมได้ตั้งมั่นในใจว่าจะรีบฟื้นฟูร่างกายจากการบาดเจ็บ ฝึกร่างกายเพิ่ม และกลับมาใหม่ในปีต่อไป (2020) แบบแข็งแกร่งกว่าเดิม

ทว่า ชะตาไม่เป็นใจ การโจมตีของโควิด-19 ในช่วงปิดเทอมฤดูหนาวตอนปลายปีนั้น ทำให้ผมไม่ได้กลับจีน และเรียนออนไลน์จนจบ ป.ตรี และไม่ได้กลับไปเรียนที่ ECNU ต่ออีกเลย ทิ้งความตั้งใจที่จะลงแข่งขันและคว้าแชมป์กีฬาเรือมังกรให้เป็นปมค้างคาในใจมาร่วม 6 ปี ก้าวเข้าสู่วัยทำงานเต็มตัวโดยที่คิดว่าคงจะไม่ได้มีโอกาสให้แก้มือได้ง่าย ๆ แน่

จนกระทั่งปี 2024 หลังจากที่ผมได้รับทุนรัฐบาลจีนให้กลับมาเรียนที่เซี่ยงไฮ้อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เปลี่ยนมหาวิทยาลัยจาก ECNU มาเป็น Fudan University ซึ่งเป็น ม. ระดับท็อปของจีนและของโลก ซึ่งจะมีการจัดงาน Club Festival ในทุก ๆ เทอม เพื่อดึงดูดนักศึกษาให้เข้าชมรมต่าง ๆ ของ ม. และร่วมทำกิจกรรมนอกห้องเรียน ในวันนั้น ฝนตกหนัก ผมทิ้งกระเป๋าไว้ในห้องเรียน และวิ่งตากฝนตามหาบูธของทีม Dragon Boat ของฟู่ตั้น เพื่อที่จะเข้ากลุ่มวีแชท และสมัครเข้าไปทดสอบร่างกายคัดตัวเข้าทีม Fudan International Dragon Boat

การคัดตัวเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2025 จากวันแรกที่ได้เข้าทีม ECNU Dragon Boat เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมอายุ 21 ตอนนี้ผม 27 แล้ว ผลลัพธ์ของการออกกำลังกายหนักแบบไม่เคยหยุดเลยในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ผมทำคะแนนสูงสุดในการทดสอบร่างกายของทีมฟู่ตั้น จนได้รับการจับตามองโดยกัปตันทีม โค้ช และอาจารย์ที่ดูแลทีม

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ผมบอกว่าเคยอยู่ทีม ECNU ที่ก่อนหน้านี้ได้แชมป์ติดกันมาตลอดตั้งแต่ช่วงหลังโควิด ทำให้เมื่อได้รับเลือกเข้าทีมแล้ว ก็ได้เลื่อนขั้นไปนั่งฝั่งขวาแถว 2 จากหัวเรือ ซึ่งเป็นตำแหน่งค่อนข้างสำคัญ เพราะแถวหน้า 2 แถวแรกของเรือนั้นเป็นแถวที่สำคัญที่สุด และใช้แรงเยอะ ทีมส่วนใหญ่จะเลือกมือดีที่สุดของทีมให้นั่ง 2 แถวแรก ไล่ลำดับความแข็งแรงไปจนถึงแถวสุดท้าย ซึ่งตอนผมอยู่ทีม ECNU นั้น ผมอยู่แถวที่ 6

แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าทีม Fudan นั้นไม่ได้แข็งแรงเท่าทีม ECNU ในปีที่ผ่านมาก็อยู่ในลำดับกลาง ๆ ได้เข้ารอบ Final แค่บางปีเท่านั้น แต่เมื่อผม join the game แล้ว ก็ยังรู้สึกว่าอยากชนะ อยากได้ที่ 1 อยู่ดี หรืออย่างน้อยขออยู่ในลำดับสูง ๆ ยิ่งถ้าชนะ ECNU ได้ ก็คงจะดี (ไม่ได้มีความโกรธแค้นใด ๆ กับ ECNU นะครับ แค่อยากชนะเฉย ๆ)

การซ้อมของทีมฟู่ตั้นต่างจากทีม ECNU ที่เน้นการใช้พลังและความทนทาน ด้วยความที่ทีมฟู่ตั้นไม่ได้กล้ามใหญ่หรือแข็งแรงแบบ ECNU เราจึงต้องพึ่งพาการคำนวณ การใช้เทคนิคและการวางแผน (สมกับเป็น ม. ที่มีแต่หัวกะทิ 😂) โดยการจ้างโค้ชที่มีประสบการณ์มาช่วยวิเคราะห์ตั้งแต่การจัดตำแหน่งของคนบนเรือ น้ำหนักรวมบนเรือ การแบ่ง phase การพายในแต่ละช่วงของการแข่ง 200 เมตร…

Phase 1 : First big 5 (5 ไม้แรก)
Phase 2 : 30 ไม้แรก
Phase 3 : 50 ไม้แรก
Phase 4 : Last dash (พลังเฮือกสุดท้าย)

โดยแต่ละ phase จะพายไม่เหมือนกัน โดยจะคำนวนระยะทางที่ทำได้ด้วยความเร็วในการพายที่แตกต่างกันในแต่ละ phase โดยจะมีมาตรฐานชัดเจนว่า 50 ไม้แรกต้องพายได้ 150 เมตร 

ถ้าพายไกลเกิน 150 เมตร ใน 50 ไม้ อาจไม่ใช่เรื่องดีเสมอไป เพราะอาจหมายความว่าใช้แรงมากไป และไม่เหลือแรงพายในช่วง Last dash ได้ อาจทำให้หมดแรง จังหวะพัง และถูกแซงในช่วงท้าย

หรือหากพายไม่ถึง 150 เมตรใน 50 ไม้แรก อาจหมายความว่าใช้แรงน้อยไป ทำให้ไม่สามารถขึ้นนำ หรือตามคนอื่นทันในช่วง Last dash ได้

150 เมตรคือระยะทางและความเร็วที่ลงตัวที่สุดสำหรับ 50 ไม้แรกตามศักยภาพของทีมฟู่ตั้น และเราก็ยึดตามแผนนี้ในการแข่งจริง (มาตรฐาน 50 ไม้สำหรับทีมคนจีนหรือทีมเก่ง ๆ อาจจะไปถึง 170-180 เมตรได้เลย) 

ถึงเวลาแข่งจริง การแข่งในรอบแรก เราทำเวลาได้ 54.28 วินาที ได้อันดับ 5 จากทุกทีม และผ่านเข้ารอบไฟนอลไป ส่วน ECNU ทำเวลาได้ 53 กว่า ๆ ครองอันดับ 2 ในรอบแรกไป

ในรอบไฟนอล 8 ทีมสุดท้าย เป็นรอบที่ตัดสินผู้ชนะโดยจะ reset เวลาใหม่ทั้งหมด รอบนี้ทีมเราทำเวลาได้ 54.31 วินาที (ห่างจากรอบแรกแค่ 3 เสี้ยววินาที) ในขณะที่ทีม ECNU ทำพลาดในช่วงท้าย ทำเวลาเสียไปหลายวินาที จนเวลาทะลุ 56 วินาที ซึ่งผิดมาตรฐานไปมาก และตกไปอยู่อันดับ 7 จาก 33 มหาวิทยาลัย

ส่วน 2 มหาวิทยาลัยม้ามืดในปีนี้ ที่เข้ามาพลิกเกม คว้าอันดับ 1 และอันดับ 2 ไปด้วยเวลา 53.69 วินาที และ 54.03 วินาที อย่าง Shanghai Normal University และ Jiangsu University of Science and Technology ก็ได้เฮกันไป

ส่วนทีมฟู่ตั้นของผมได้อันดับ 3 ไปครอง ถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่เหนือความคาดหมายสำหรับทุกคน แม้จะไม่ได้อันดับหนึ่ง แต่บรรยากาศความสุขและความดีใจที่เกิดขึ้นในทีมนั้นก็ถือว่าเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เพราะจริง ๆ นี่ก็เป็นครั้งแรกที่ฟู่ตั้นได้ top 3 ในรอบหลายปี 

ยิ่งไปกว่านั้น เราชนะ ECNU ได้ หลายคนบอกว่าถ้า ECNU ไม่พลาดทำเละก็อาจจะได้ที่ 1 หรือ 2 อย่างไรก็ดี การซ้อมทั้งหมดที่ผ่านมานั้น ก็เพื่อให้ไม่ทำพลาดในการแข่งจริง ผลลัพธ์ในการแข่งจริง ก็คือภาพสะท้อนการเตรียมตัวและการฝึกซ้อม ซึ่งฟู่ตั้นไม่พลาด และทำผลงานได้ดีกว่าที่คาดหมาย

ผมเดินไปหาเพื่อนเก่าบางคนในทีม ECNU เพื่อให้กำลังใจ และไปสวัสดีอาจารย์ที่เคยดูแลผม จนโดนแซวนิดหน่อยเรื่องที่ย้ายค่าย โดยรวม ทั้งเพื่อนและอาจารย์ต่างชื่นชมว่าทีมฟู่ตั้นทำได้ดีมากในปีนี้ ได้ที่สามนับว่าเหนือความคาดหมายในระดับหนึ่ง

ในแง่ของทีม ก็นับว่าเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ในทางส่วนตัวผมเอง มันคือการที่ผมสามารถแก้ปมในใจที่ค้างคามานานไปได้ ได้แข่งแบบไม่บาดเจ็บ ได้เป็นตัวสำคัญของทีม และได้รางวัลจากการแข่งขัน ซึ่งทำให้ผมมีความสุข และพึงพอใจกับผลลัพธ์ของการฝึกฝนร่างกายและการขัดเกลาจิตใจมาตลอดชีวิต

แต่ให้พอแค่นี้ก็ไม่ได้หรอกครับ ปีหน้าผมจะลุยต่อ ความสำเร็จในปีนี้จะเป็นรากฐานสำคัญให้ต่อยอดได้ในปีหน้า เคมีของสมาชิกในทีมตอนนี้คือดีสุด ๆ พลังใจเต็มเปี่ยม ร่างกายก็ได้พัฒนา ค่าประสบการณ์ก็เพิ่มขึ้น แถมโดยรวม ด้วยโมเมนตั้มตอนนี้ ถ้าปีหน้าได้ซ้อมมากกว่านี้ เราต้องได้ดีกว่าอันดับ 3 แน่นอน

ถึงเวลานั้น ผมจะ finish the story เรื่องราวการเรียนต่อในประเทศจีนของผมได้อย่างสมบูรณ์แบบ

สายศิลป์จบมาอาจเคว้ง สาย STEM จบไปตลาดต้องการ ‘Apple-IBM’ ไม่สนปริญญา เเต่ง้อคนมีฝีมือทำงานได้จริง

(25 พ.ค. 68) ปราชญ์ สามสี โพสต์ผ่านเฟสบุ๊กว่า..ผมไปเจอข่าวนี้มา น่าสนใจมาก อยากชวนทุกคนมาดูกัน
วันนี้ผมบังเอิญไปอ่านเจอบทความจาก Forbes มันไม่ใช่ข่าวใหม่หรอกนะครับก็ถูกเขียนราวๆเมษายนที่ผ่านมานี่เองโดยมีหัวข้อคือ "หลายปริญญาในปัจจุบันกำลังไร้ค่า—แล้วอะไรล่ะที่ยังคุ้มเงิน?" ( Many College Degrees Are Now Useless—Here’s What Is Worth Your Money) ฟังดูแรงนิดๆ แต่มันสะท้อนสภาพสังคมและตลาดแรงงานยุคใหม่ได้อย่างน่าคิดมากครับ

ข่าวนี้บอกชัดเลยว่าปัจจุบันบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Apple, IBM และ Hilton เริ่มลดความสำคัญของ "ใบปริญญา" ลง แล้วหันมาให้ความสำคัญกับ "ทักษะและประสบการณ์จริง" มากขึ้นเรื่อยๆ และผลสำรวจจาก Pew Research Center พบว่า เกือบครึ่งของชาวอเมริกันมองว่าปริญญาตรีไม่สำคัญในการหางานดีๆ เหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน และที่น่าตกใจคือ มากกว่าครึ่งของบัณฑิตมหาวิทยาลัยมีงานต่ำกว่าวุฒิที่จบมา แม้ผ่านไปแล้วกว่า 10 ปี

จากบทความนี้ Forbes ยังระบุชัดเลยว่าปริญญาที่ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไรมากในตลาดงานยุคนี้ ได้แก่:

ศิลปศาสตร์ทั่วไปที่ไม่มีความชัดเจนในการทำงาน

ศิลปะและการแสดง (ยกเว้นสถาบันชื่อดังหรือมีชื่อเสียงอยู่แล้ว)

การสื่อสารมวลชน (ที่ไม่ได้เฉพาะทาง)

สาขาสังคมศาสตร์เช่น สตรีศึกษา ชาติพันธุ์ศึกษา

จิตวิทยาและสังคมวิทยา ระดับปริญญาตรีล้วนๆ

ส่วนสาขาที่ตลาดยังต้องการสูงและมีรายได้ดี คือ

วิทยาการคอมพิวเตอร์และ IT (รายได้เฉลี่ย $120,000 ต่อปี)

พยาบาลและสาธารณสุข (รายได้เฉลี่ย $82,000 ต่อปี)

วิศวกรรมศาสตร์ (รายได้เฉลี่ย $95,000 ต่อปี)

ช่างฝีมือและสายอาชีพเทคนิค (รายได้เฉลี่ย $80,000 ต่อปี)

ธุรกิจเฉพาะทาง เช่น การเงิน โลจิสติกส์ Analytics (รายได้เฉลี่ย $100,000 ต่อปี)

ครูเฉพาะทาง เช่น STEM และการศึกษาพิเศษ (รายได้เฉลี่ย $50,000–70,000 ต่อปี)

สรุปชัดๆ จากบทความนี้คือ ในยุคปัจจุบัน "โลกไม่ได้ถามว่าเราเรียนจบอะไรมา แต่ถามว่าเราทำอะไรได้บ้าง"

อ่านจบแล้วผมเลยอดสงสัยไม่ได้ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะมองการศึกษาและปริญญากันใหม่ ให้ตรงกับความจริงของโลกยุคนี้?

วิพากษ์คำถาม BBC Thai ชี้นำ ‘ศ.โรบินสัน’ เตือนสติ!!..อย่าเปรียบเทียบไทย-เวียดนามโดยไร้บริบท

(25 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี โพสต์ข้อความว่า…ข้อทบทวนต่อบทสัมภาษณ์ ศ.เจมส์ เอ. โรบินสัน และคำถามนำจาก BBC ไทย

ข้าพเจ้าได้ติดตามบทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์เจมส์ เอ. โรบินสัน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลและผู้ร่วมเขียนหนังสือ Why Nations Fail ซึ่งเผยแพร่ผ่าน BBC Thai อย่างละเอียด ด้วยความเคารพในองค์ความรู้และเจตนารมณ์ของท่านในการวิพากษ์โครงสร้างของสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าขออนุญาตแสดงความเห็นต่างในสองประเด็นหลัก ทั้งในส่วนของคำตอบจากศาสตราจารย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทิศทางของคำถามที่มาจากผู้ดำเนินรายการ ซึ่งมีลักษณะ “ชี้นำ” ไปสู่การเปรียบเทียบที่ข้าพเจ้าเห็นว่าไม่เหมาะสม

1. คำถามนำที่สร้างกรอบเปรียบเทียบอย่างไม่เป็นธรรม

ประเด็นที่ข้าพเจ้ารู้สึกกังวลเป็นพิเศษ คือการที่ผู้สัมภาษณ์ของ BBC Thai พยายามตั้งคำถามในลักษณะ “ยกเวียดนามขึ้นเปรียบเทียบกับไทย” โดยเฉพาะในช่วงที่ระบุว่า “เวียดนามกำลังจะโตแซงไทย” และเปิดให้ศาสตราจารย์โรบินสันให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าว

แม้การเปรียบเทียบประเทศจะเป็นเรื่องปกติในงานวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ แต่การโยงเวียดนามมาเป็น “คู่แข่งโดยตรง” ของไทยในลักษณะคำถามแบบนำ (leading question) โดยไม่ปูพื้นบริบทของแต่ละประเทศให้ชัดเจน เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้ามองว่าไม่ยุติธรรม และอาจชักนำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนในหมู่ผู้อ่านทั่วไป

2. การเติบโตของประเทศไม่สามารถวัดด้วยไม้บรรทัดเดียวกัน

ข้าพเจ้าขอชี้ให้เห็นว่า ประเทศแต่ละประเทศมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม เกาหลีใต้ หรือประเทศไทย ทั้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์การเมือง สงคราม ภัยคุกคามจากภายนอก รวมถึงทิศทางการพัฒนาเชิงสถาบัน

เวียดนามโตเร็วจริง หากดูจาก GDP ปี 2025 แต่เป็นการเติบโตที่ยังอิงกับการพึ่งพาภาคการผลิตส่งออกและการลงทุนต่างชาติเป็นหลัก ในขณะที่ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน การกระจายรายได้ และระบบสวัสดิการยังคงเป็นโจทย์ระยะยาวที่ไม่อาจละเลย

สิ่งที่เกิดขึ้นในเวียดนามคือผลจากเจตจำนงของผู้นำในห้วงประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ผลจาก "ความเหนือชั้นของระบบพรรคเดียว" อย่างที่บางคนอาจเข้าใจ และแน่นอนว่าไม่ใช่ "โมเดลที่ไทยควรเดินตาม" อย่างไม่มีเงื่อนไข

3. ประชาธิปไตยอาจช้า แต่ไม่หลงทาง

ประเทศไทยมีความท้าทายของตัวเอง ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมทางสังคม ข้าพเจ้าไม่ปฏิเสธว่าเรายังมีหนทางอีกไกลในการทำให้สถาบันต่าง ๆ มีความครอบคลุมและตรวจสอบได้อย่างแท้จริง

แต่สิ่งที่ควรมองเห็นเช่นกันคือ พลวัตของการตั้งคำถาม การเปลี่ยนแปลงจากภายใน และความพยายามของประชาชนในการผลักดันให้เกิดสังคมที่ดีขึ้น — แม้จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

การวัดประเทศจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงปีใดปีหนึ่ง หรือใช้ประเทศเพื่อนบ้านมาเป็น “เงาเปรียบเทียบ” โดยไม่มีบริบทที่รอบด้าน จึงเป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าเห็นว่าควรหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะในเวทีสื่อสารสาธารณะเช่น BBC ซึ่งมีอิทธิพลต่อทัศนคติของประชาชนในวงกว้าง

บทส่งท้าย — โตแบบไทยในแบบของเรา

ศาสตราจารย์โรบินสันได้กล่าวไว้ว่า “หากคุณจินตนาการสิ่งใหม่ ๆ ไม่ได้ คุณก็จะไม่มีวันเดินหน้าไปไกลได้เลย” ข้าพเจ้าเห็นพ้องในหลักการนั้น และขอเสริมว่า

“หากคุณไม่เข้าใจว่าตนเองยืนอยู่ตรงไหน คุณก็จะไม่รู้เลยว่าควรเดินไปทางใด”

ประเทศไทยอาจไม่ได้โตเร็วเหมือนใคร แต่เรามีสิทธิ์โตในแบบของเรา — โดยไม่ต้องยืมไม้บรรทัดของใครมาวัด

Kowloon Walled City อดีตสลัมที่ไร้ระเบียบแออัดและสกปรกที่สุดในโลก ก่อนจะกลายมาเป็นสวนสวยของฮ่องกง

เราท่านอาจนึกไปว่า 'ฮ่องกง' เป็นศูนย์กลางทางการเงินที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเต็มไปด้วยตึกระฟ้าทันสมัย ถนนในเมือง และผู้คนมีวิถีชีวิตที่ล้ำสมัย แต่ฮ่องกงก็มีด้านมืดเช่นเดียวกันกับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก บทความนี้จึงขอเล่าเรื่องราวของ Kowloon Walled City (KWC) หรือ 'เมืองกำแพงเกาลูน' ซึ่งเคยเป็นชุมชนที่ไร้ระเบียบ แออัด และสกปรกที่สุดในโลกของฮ่องกง

KWC ตั้งอยู่ในเขตเกาลูนของอดีตฮ่องกงของอังกฤษ KWC ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นป้อมปราการทางทหาร ของจักรพรรดิจีน และกลายเป็นดินแดนที่ถูกปกครอง โดยกฎหมายหลังจากที่ดินแดนใหม่ถูกเช่าโดยสหราชอาณาจักรในปี 1898 ประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมากหลังจากญี่ปุ่นยึดครองฮ่องกงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งดึงดูดผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ที่หลบหนีสงครามกลางเมืองในจีนที่ปะทุขึ้นใหม่ จนทำให้มีประชากรราว 4-50,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่อย่างแออัดเบียดเสียดในพื้นที่ 6.4 เอเคอร์ หรือ 26,000 ตร.ม. หรือ ประมาณสนามฟุตบอลสี่สนาม ทำให้เป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรมากที่สุดในโลก โดยมีความหนาแน่นของประชากรเกือบ 2 ล้านคนต่อตารางกิโลเมตร ลองนึกดูว่า หากมนุษย์ทุกคนเริ่มใช้ชีวิตอย่างอัดแน่นกันเท่ากับคนใน KWC จะเท่ากับพลโลกทั้ง 7.7 พันล้านคนสามารถอาศัยอยู่ในมลรัฐโรดไอแลนด์ของสหรัฐอเมริกาได้

KWC เมืองที่มีกำแพงล้อมรอบเป็นศูนย์กลางของกลุ่มอาชญากรและกลุ่มอาชญากรในพื้นที่ และมีอัตราการค้าประเวณี การพนัน การลักลอบขนของ และการใช้ยาเสพติดสูง ผลจากการขาดระเบียบและระบบกฎหมาย ผู้อยู่อาศัยและธุรกิจในเมืองจึงไม่มีกฎหมายเทศบัญญัติเข้ามาควบคุม เนื่องมาจากความไร้ระเบียบของ KWC ทำให้การค้าสินค้าต้องห้ามผิดกฎหมายเฟื่องฟูตั้งแต่ยาเสพติดไปจนถึงเนื้อสุนัข ในช่วงทศวรรษ 1950 ถึง 1970 KWC ถูกควบคุมโดยองค์กรที่เรียกว่า 'แก๊งสามก๊ก' อาทิ 14K และ Sun Yee On ตั้งแต่ช่วงปี 1950 เป็นต้นมา ทำให้มีอัตราการค้าประเวณี การพนัน และการใช้ยาเสพติดสูง จนแม้แต่ตำรวจฮ่องกงก็ยังเกรงกลัวที่จะเข้ามาในพื้นที่นี้ จนกลายเป็นสวรรค์สำหรับอาชญากร ตำรวจฮ่องกงจะกล้าเข้าไปเฉพาะเมื่อไปเป็นกลุ่มใหญ่เท่านั้น กระทั่งในปี 1973 และ 1974 ตำรวจฮ่องกงได้บุกเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยมากกว่า 3,500 ราย ส่งผลให้จับกุมผู้ต้องหาในคดีต่าง ๆ ได้กว่า 2,500 ราย และยึดยาเสพติดได้กว่า 1,800 กิโลกรัม (4,000 ปอนด์) อำนาจของแก๊งสามก๊กจึงเริ่มลดน้อยลง ด้วยการสนับสนุนจากประชาชน โดยเฉพาะจากผู้อยู่อาศัยที่อายุน้อย การบุกเข้าจับกุมอย่างต่อเนื่องทำให้การใช้ยาเสพติดและอาชญากรรมรุนแรงลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในปี 1983 ผู้บัญชาการตำรวจประจำเขตได้ประกาศว่าอัตราการก่ออาชญากรรมในเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว

ด้านล่างของ KWC เต็มไปด้วยคลินิกแพทย์และทันตแพทย์ที่ดำเนินงานโดยไม่มีใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ ร้านอาหารเสิร์ฟอาหารที่ย่ำแย่มาก ๆ เช่น เนื้อสุนัข ไม่มีการใส่ใจเรื่องสุขอนามัยและการทำความสะอาดเลย ,uตรอกซอกซอยมากมายใน KWC ที่ทั้งมืดและสกปรกเชื่อมต่อห้องพักที่อยู่อาศัยที่อยู่ลึกเข้าไปในเขตที่มีกำแพงล้อมรอบ ท่อน้ำรั่วตลอดเวลา และผู้คนต่างทิ้งขยะบนระเบียงหรือตรอกซอกซอยด้านล่าง พื้นที่หนาแน่นมากและปิดกั้นแสงที่ส่องมาจากด้านบนเกือบทั้งหมด จนทำให้พื้นที่ด้านล่างมืดสนิท รัฐบาลฮ่องกงไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวเลย KWC จึงเป็นเขตที่เป็นเสมือนเป็นเมืองที่มีกำแพงล้อมรอบ และทำให้สถานที่แห่งนี้เต็มไปด้วย นักเลง อันธพาล แมงดา และพ่อค้ายาเสพติด ผู้คนที่อยู่อาศัยใน KWC ใช้จ่ายเงินเฉลี่ย 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนสำหรับห้องขนาดเล็กเพียง 40 ตารางฟุต มีห้องเล็ก ๆ เช่นนี้หลายพันห้องอยู่ติดกันทอดยาวออกไปทั่วเขต KWC ที่มีกำแพงล้อมรอบ มีอาคารประมาณ 500 หลังที่สร้างขึ้นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอย่างถูกกฎหมาย ชั้นต่าง ๆ จะถูกเพิ่มแบบสุ่มตามความต้องการจนกว่าอาคารจะถึงชั้นที่ 14 ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียและสุขาภิบาล 

แม้ว่า KWC จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อาชญากรรมมายาวนานแล้วก็ตาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมใด ๆ และใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ภายใน KWC มีโรงงานและธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ และชาวเมืองบางส่วนได้รวมกลุ่มกันเพื่อจัดระเบียบและปรับปรุงชีวิตประจำวันในเมือง ความพยายามของรัฐบาลในปี 1963 ที่จะรื้อถอนอาคารบางหลังในมุมหนึ่งของเมืองทำให้เกิด 'คณะกรรมการต่อต้านการรื้อถอน' ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นฐานของสมาคมไคฟง ทำให้องค์กรการกุศล สมาคมศาสนา และกลุ่มสวัสดิการอื่น ๆ ค่อย ๆ เข้ามาในเมือง ในขณะที่คลินิกและโรงเรียนก็ยังไม่ได้รับการควบคุม รัฐบาลฮ่องกงได้ให้บริการบางอย่าง เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา และกิจการไปรษณีย์

แม้ว่า KWC จะเต็มไปด้วยความน่ากลัว แต่ก็ยังมีลานด้านในซึ่งเป็นที่เดียวในระดับถนนที่ดวงอาทิตย์สามารถมองเห็นได้ KWC ตั้งอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติ Kai Tak (สนามบินหลักของฮ่องกงในอดีต) เพียงครึ่งไมล์ จึงก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางเสียงอันเนื่องมาจากเครื่องบินบินผ่าน มีทฤษฎีว่า เมืองหยุดเติบโตหลังจากมีอาคารสูง 14 ชั้น เนื่องจากจะทำให้เครื่องบินชนอาคารเหล่านั้นได้ ชีวิตใน KWC นั้นคับแคบ สกปรก เสียงดัง และไม่เป็นมิตร แต่ผู้คนก็ยังคงดึงดูดให้เข้ามาในเมืองนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ 

คุณภาพชีวิตในเมือง โดยเฉพาะสภาพสุขาภิบาล ยังคงตามหลังเขตอื่น ๆ ของฮ่องกงยู่มาก แถลงการณ์ร่วมระหว่างจีนและอังกฤษในปี 1984 ได้วางรากฐานสำหรับการรื้อถอน KWC การตัดสินใจร่วมกันของรัฐบาลทั้งสองในการรื้อถอน KWC ได้รับการประกาศเมื่อวันที่ 14 มกราคม 1987 ในวันที่ 10 มีนาคม 1987 หลังจากมีการประกาศว่า KWC จะถูกเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ เลขาธิการฝ่ายบริหารของเขตจึงได้ร้องขออย่างเป็นทางการให้สภาเมืองเข้ามาดูแล KWC หลังจากการรื้อถอน เนื่องจากมีพื้นที่สีเขียวอื่น ๆ มากมายในพื้นที่ จึงมีความสงสัยถึงความจำเป็นในการมี 'สวนสาธารณะอีกแห่ง' จากมุมมองการวางแผนและการดำเนินการ แต่ที่สุดสภาเมืองก็ตกลงที่จะยอมรับข้อเสนอของรัฐบาลฮ่องกงโดยมีเงื่อนไขว่า รัฐบาลฮ่องกงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างสวนสาธารณะ

รัฐบาลฮ่องกงได้จ่ายเงินชดเชยจำนวน 2.7 พันล้านเหรียญฮ่องกง (350 ล้านเหรียญสหรัฐ) ให้แก่ประชาชนและธุรกิจประมาณ 33,000 ราย ตามแผนที่คณะกรรมการพิเศษของสำนักงานที่อยู่อาศัยฮ่องกงได้วางแผนไว้ แม้ว่า ประชาชนบางส่วนจะไม่พอใจกับเงินชดเชยและถูกขับไล่โดยใช้กำลังระหว่างเดือนพฤศจิกายน 1991 ถึงกรกฎาคม 1992 ทำให้ KWC กลายเป็นสถานที่รกร้างว่างเปล่า และถูกใช้ถ่ายทำฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง Crime Storyใน ปี 1993 หลังจากการวางแผนที่ใช้เวลา 4 เดือน การรื้อถอน KWC ก็เริ่มต้นในวันที่ 23 มีนาคม 1993 และเสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 1994 งานก่อสร้างสวนสาธารณะ KWC เริ่มต้นในเดือนถัดมา 

โครงสร้างทางประวัติศาสตร์บางส่วนภายในสวนสาธารณะเดิมได้รับการอนุรักษ์และผนวกเข้ากับ 'Kowloon Walled City Park' สวนสาธารณะแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ติดกับ Carpenter Road Park มีขนาด 31,000 ตารางเมตร( 330,000 ตารางฟุต หรือ 7.7 เอเคอร์) สร้างเสร็จในเดือนสิงหาคม 1995 และส่งมอบให้กับสภาเมืองได้มีการเปิดอย่างเป็นทางการโดยผู้ว่าการเกาะฮ่องกง คริส แพตเทน ในวันที่ 22 ธันวาคม 1995 การก่อสร้างสวนสาธารณะนี้มีค่าใช้จ่ายรวม 76 ล้านเหรียญฮ่องกง การออกแบบของสวนสาธารณะนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากสวน Jiangnan ของราชวงศ์ชิงตอนต้น สวนสาธารณะแห่งนี้แบ่งภูมิทัศน์ออกเป็น 8 ส่วน โดยมี Yamen ที่ได้รับการบูรณะอย่างสมบูรณ์ เป็นจุดศูนย์กลาง ทางเดินและ ศาลาของสวนสาธารณะตั้งชื่อตามถนนและอาคารต่าง ๆ ของ KWC นอกจากนี้ สิ่งประดิษฐ์จาก KWC เช่น หินสลัก 5 ก้อน และบ่อน้ำเก่า 3 บ่อ ยังจัดแสดงอยู่ในสวนสาธารณะอีกด้วย สวนสาธารณะแห่งนี้ได้รับการออกแบบโดยแผนกบริการสถาปัตยกรรมซึ่งได้รับรางวัลอันทรงเกียรติจาก Central Society of Horticulture of Germany สำหรับการพัฒนาขึ้นใหม่ 

สวนสาธารณะ 'Kowloon Walled City Park' ประกอบด้วย:
- ทางเดินแห่งดอกไม้ทั้ง 8 แห่ง ซึ่งแต่ละแห่งตั้งชื่อตามพืชหรือดอกไม้ที่แตกต่างกัน
- สวนหมากรุกที่มี กระดานหมากรุกจีนขนาด 3x5 เมตร (9.8x16.4 ฟุต) จำนวน 4 กระดาน
- สวนนักษัตรจีนที่มีรูปปั้นหินรูปนักษัตรทั้ง 12 ของจีน
- สวน 4 ฤดู (จตุรัส Guangyin ตามชื่อพื้นที่เปิดโล่งขนาดเล็กใน KWC) เป็นสวนขนาด 300 ตารางเมตร (3,200 ตารางฟุต) ที่มีต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของ 4 ฤดู
- Six Arts Terrace พื้นที่จัดงานแต่งงาน ขนาด 600 ตารางเมตร (6,500 ตารางฟุต) ที่มีสวนและศาลาไม้ไผ่
- ศาลากุยซิง ซึ่งรวมถึงประตูพระจันทร์ที่ล้อมรอบด้วยแผ่นหินสองแผ่น และหินกุยบี้ที่สูงตระหง่าน ซึ่งเป็นตัวแทนของการกลับคืนสู่จีนของฮ่องกง
- ศาลาชมวิวภูเขา เป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงคล้ายเรือจอดเทียบท่า มองเห็นทัศนียภาพของสวนสาธารณะทั้งหมดได้อย่างชัดเจน
- ศาลาลุงซุน ยุกตง และศาลาลุงนัม
- ย่าเหมินและซากประตูทางทิศใต้

‘ปราชญ์ สามสี’ โต้ ‘เจมส์ โรบินสัน’ ชี้ชัด ‘กองทัพไทย’ คือผู้ร่วมพิทักษ์ชะตากรรมของชาติ ในห้วงวิกฤต มิเพียง “เข้าแทรกแซง” หากแต่พยายาม “แสวงหาความมั่นคง” เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ

ในการวิเคราะห์ของ ศ.เจมส์ เอ. โรบินสัน นักเศรษฐศาสตร์ผู้ร่วมเขียน Why Nations Fail กองทัพไทยถูกมองว่าเป็นกลไกหนึ่งที่ขัดขวางการพัฒนาทางประชาธิปไตย อันเป็นหนึ่งในลักษณะของ 'สถาบันแบบแสวงหาผลประโยชน์' หรือ extractive institutions ทว่า มุมมองเช่นนี้แม้จะมีจุดยืนในทางทฤษฎี แต่เมื่อมองจากรากฐานทางประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมการเมืองของไทย กลับอาจไม่สะท้อนภาพความจริงในบริบทไทยอย่างถูกต้องครบถ้วน

รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยคือรัฐที่ไม่เคยตกเป็นอาณานิคม ...จุดนี้คือหัวใจสำคัญที่ทำให้โครงสร้างอำนาจของไทยแตกต่างจากประเทศอื่นในภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย หรือแม้แต่เกาหลีใต้ — ประเทศเหล่านั้นล้วนเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาติตะวันตกหรือมหาอำนาจต่างชาติ ทำให้การจัดวางบทบาทของกองทัพในภายหลัง ถูกจำกัดให้อยู่ในกรอบของ 'พลเรือนเป็นใหญ่' เพื่อลดปัจจัยที่เคยนำไปสู่การล่าอาณานิคม

ในทางตรงกันข้าม กองทัพไทยไม่ได้ถูกสถาปนาเพื่อรับใช้กลุ่มชนชั้นนำ หรือรัฐอาณานิคม หากแต่เป็นผลผลิตของการปกป้องเอกราชและอธิปไตยของชาติด้วยมือของคนไทยเอง กองทัพไม่ได้ถูกสร้างเพื่อ 'ควบคุมประชาชน' หากแต่ถูกหล่อหลอมในฐานะ 'ผู้ร่วมหุ้นชะตากรรมของแผ่นดิน' ที่ร่วมผ่านศึก ผ่านภาวะเปลี่ยนแปลง และพิทักษ์มาตุภูมิมาโดยตลอด

กรณีของเกาหลีใต้ ยิ่งตอกย้ำความต่างนี้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เกาหลีเคยตกเป็นประเทศราชของจีนในช่วงราชวงศ์โชซอน ก่อนจะถูกญี่ปุ่นผนวกเป็นอาณานิคมเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 1910 ถึง 1945 กว่า 35 ปีของการสูญเสียอธิปไตยและการล้มล้างโครงสร้างทางสังคม ทำให้เกาหลีหลังสงครามโลกจำเป็นต้องรับ 'รัฐที่สร้างใหม่' จากอิทธิพลของสหรัฐฯ ในฝั่งใต้ และโซเวียตในฝั่งเหนือ ความเป็นอิสระของรัฐเกาหลีใต้จึงถือกำเนิดใหม่บนฐานของสงครามเย็นและการแทรกแซงของอภิมหาอำนาจ ซึ่งต่างจากไทยที่รักษาเอกราชไว้ได้ด้วยตนเอง

ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกัน กองทัพเกาหลีใต้ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับการเป็น “เจ้าของบ้าน” เช่นเดียวกับกองทัพไทย หากแต่เป็น “ลูกหลานของระบบรัฐที่ถูกออกแบบใหม่หลังอาณานิคม” กรอบความชอบธรรมของกองทัพทั้งสองชาติจึงไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง

การวิเคราะห์บทบาทกองทัพในฐานะ 'อุปสรรคต่อประชาธิปไตย' จึงอาจไม่ครอบคลุมความจริงทั้งหมดในบริบทไทย เพราะในช่วงเวลาวิกฤต — ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 วิกฤตการณ์คอมมิวนิสต์ หรือวิกฤตการเมืองปี 2535, 2553 หรือ 2557 — กองทัพมิได้เพียง 'เข้าแทรกแซง' หากแต่พยายาม 'แสวงหาความมั่นคง' เพื่อรักษาอธิปไตย เสถียรภาพ และความเป็นราชอาณาจักรที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ในทางหลักการ รัฐธรรมนูญไทยไม่เคยให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่กองทัพ แต่กองทัพก็ไม่เคยละทิ้งหน้าที่ที่จะยืนเคียงข้างชาติยามเผชิญวิกฤต ความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์นี้ก่อให้เกิดความเข้าใจเฉพาะของสังคมไทยว่า 'ทหารคือส่วนหนึ่งของชาติ' 

กองทัพไทยไม่ได้เกิดจากกลไกของรัฐอาณานิคมหรือสงครามเย็น แต่เกิดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อปกป้องชาติบ้านเมือง และสืบสานแนวคิดของรัฐที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด กองทัพจึงไม่เคยอยู่ในสถานะ 'ผู้รับคำสั่งจากต่างชาติ' หากแต่คือ 'ผู้ร่วมหุ้นชะตากรรม' ในการรักษาเอกราช รัฐธรรมนูญ และความเป็นราชอาณาจักรไทย

เมื่อเกิดวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากภายนอกหรือความขัดแย้งภายใน กองทัพไทยจึงมักจะมีบทบาทเป็น 'ผู้กำหนดทางออก' — ไม่ใช่ในฐานะผู้ถืออำนาจถาวร แต่ในฐานะผู้รักษาเสถียรภาพของบ้านเมือง และรักษาระบบราชอาณาจักรภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

การเปรียบเทียบบทบาทกองทัพไทยกับกองทัพในประเทศที่มีประวัติศาสตร์การสูญเสียอธิปไตยจึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะเมื่อรากเหง้าการเกิดรัฐแตกต่างกัน ย่อมไม่อาจวัดผลได้ด้วยมาตรวัดชุดเดียวกัน

ทั้งนี้ ศ.เจมส์ เอ. โรบินสัน ผู้ร่วมเขียนหนังสือ Why Nations Fail และผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปี 2024 ให้สัมภาษณ์กับทาง BBC Thai โดยชี้ว่า เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เกาหลีใต้ ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศร่ำรวยได้ ทั้งที่ในอดีตเคยอยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้กับไทย เนื่องจากเกาหลีใต้สามารถเปลี่ยนผ่านให้กองทัพออกจากการเมือง และสร้างสังคมที่ครอบคลุมและเป็นประชาธิปไตยขึ้นมาได้ในที่สุด

ความเหนื่อยล้าทางการเมือง กรณีคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเลือก “อยู่กับจีน” เพื่อชีวิตที่ดีกว่า

ช่วงเร็ว ๆ มานี้ ระหว่างที่ผมใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ ผมได้เห็นสิ่งที่น่าสนใจในชีวิตประจำวันมากมายที่สอดคล้องกับประเด็นการเมืองที่เป็นเนื้อหาในชั้นเรียน ทำให้ได้ขบคิด ค้นคว้า และสนทนา เพื่ออัปเดตข้อมูลใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการเมืองจีนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน

ประเด็นที่ผมนำมาเล่าในบทความนี้ เกิดจากการที่ผมได้มีพบกับเพื่อนนักศึกษาจากฮ่องกงและไต้หวันที่เดินทางมาเรียนต่อระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งบางคนเป็น classmate ของผมด้วย ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือ คนฮ่องกงทุกคนที่ผมรู้จักที่นี่ อายุประมาณ 19 -23 แต่มีแนวคิด ‘Pro-China’ คือหนุนแนวคิดให้ฮ่องกงเข้าร่วมกับจีน หรือบางคนก็เป็นไม่ได้ถึงขั้นนั้น แต่ก็ไม่มีท่าทีต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับแนวคิด One China ของจีน

ผมต้องกลับมา reset มุมมองเรื่องคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงทั้งหมดอีกครั้ง เนื่องจากเดิมทีผมคิดว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจะต้องมีแนวคิดต่อต้านจีน แต่พอได้สนทนากับเพื่อนในคลาสและนอกคลาสแล้ว ก็พบว่ามีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไป...

ในตอนนี้ ใครที่ยังคิดว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงน่าจะนิยมตะวันตก และอยากแยกประเทศมากกว่ารวมเข้ากับจีน อันนี้เริ่มเก่าแล้ว เดี๋ยวเรามา update patch กันครับนะครับ

ช่วงปี 2014 - 2019 เป็นช่วงเวลาที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก เห็นได้ movement ต่าง ๆ ทั้งการออกมารวมตัวกันประท้วง และการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วม Umbrella Movement ปี 2014 หรือการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในปี 2019 จนเป็นข่าวใหญ่ที่ขบวนการประชาธิปไตยทั่วโลกต้องติดตามและคอยสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม หลังจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติในปี 2020 สถานการณ์เปลี่ยนไปอย่างมาก นักเคลื่อนไหวจำนวนมากถูกจับกุม องค์กรภาคประชาชนถูกสลาย สื่ออิสระถูกปิดตัว การเมืองกลายเป็นพื้นที่ที่อันตราย และข้อพิสูจน์ที่ชี้ว่าการเคลื่อนไหวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ส่งผลกระทบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวโน้มทางความคิดของคนรุ่นใหม่ จาก “การตื่นตัวทางการเมือง” สู่การ “ถอนตัวทางการเมือง” หลายคนเลือกที่จะ "ไม่พูด ไม่ยุ่ง ไม่เสี่ยง" กับประเด็นทางการเมืองอีกต่อไป โดยผลสำรวจจากสถาบันวิจัยเอเชียแปซิฟิก มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ในปี 2023 พบว่า 62.9% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าตนเองไม่ค่อยสนใจหรือไม่สนใจการเมืองเลย โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึง 7.4% ในขณะที่การศึกษาของ Hong Kong Federation of Youth Groups (HKFYG) ในปี 2019 พบว่า 41.7% ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษารู้สึกเครียดอย่างมาก และ 24% รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับบรรยากาศทางสังคมที่ตึงเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพวกเขา

การไม่ต้องการยุ่งกับการเมืองนั้นอาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเท่า ประเด็นที่น่าสนใจในตอนนี้คือการที่คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจำนวนมากกำลังแสวงหาโอกาสนอกบ้านเกิด บ้างเลือกไปเรียนต่อต่างประเทศ บ้างย้ายไปอยู่ประเทศตะวันตก หรือแม้บางคนก็ย้ายไปอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่

โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เลือกมาเรียนหรือทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่ อย่างเช่นเพื่อนของผม 3 คนที่ได้ทุนรัฐบาลจีนมาเรียนที่ฟู่ตั้น มีคนหนึ่งได้ทุนทั้ง ป.ตรี และ ป.โท ติดต่อกันเลย อีก 2 คนบอกกับผมว่าจะเข้ารับราชการหลังเรียนจบ ซึ่งการรับราชการที่ฮ่องกงนั้น จริง ๆ แล้วแทบจะเป็นการเลือกข้างไปแล้วกราย ๆ แล้วครับ

สำหรับหลายปีก่อน การเป็นคนรุ่นใหม่แล้วเข้ารับราชการนั้นจะเป็นภาพลักษณ์ที่ค่อนข้างแย่ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยกัน เพราะต้องทำงานภายใต้รัฐบาลกลาง ภายใต้นโยบาย One China ซึ่งทำให้เรื่องนี้น่าสนใจครับ เพราะในปัจจุบันคนรุ่นใหม่บางคนไม่ได้เลือกที่จะต่อต้านจีน หรือหนีจากจีนเท่านั้น แต่กลับเลือกที่จะ "อยู่กับจีน" โดยมีเหตุผลที่น่าสำรวจในเชิงลึกอยู่หลายประเด็น

คำถามที่น่าศึกษาหาคำตอบคือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความคิดเกิดขึ้นได้อย่างไร ? เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากความตั้งใจของใคร?

แน่นอนว่าแทบจะทุกการเปลี่ยนแปลงทางความคิดในเชิงระบบล้วนเริ่มต้นจากบริบททางเศรษฐกิจและสังคมที่กดดัน โดยเฉพาะในฮ่องกง หนึ่งในแรงขับสำคัญที่ผลักดันคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงให้เปลี่ยนแนวทางชีวิต คือความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงลิ่วของฮ่องกงที่อยู่ในระดับท็อปของโลก โดยเฉพาะราคาบ้านและที่อยู่อาศัยที่สูงจนคนวัยทำงานทั่วไปไม่มีทางเป็นเจ้าของบ้านได้ โดยดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) ของฮ่องกงที่วัดโดย Numbeo Index 2024 นั้นอยู่ที่ 76.6 ในขณะที่ เซินเจิ้น, กว่างโจว และจูไห่นั้นอยู่ที่ 42.1, 39.5 และ 37.0 ตามลำดับ

รวมถึงตลาดแรงงานที่ตึงตัวในยุคหลังโควิด โอกาสการจ้างงานสำหรับคนรุ่นใหม่ยิ่งลดลง อัตราว่างงานของคนอายุ 20–29 ปี อยู่ที่ 6.1% ซึ่งสูงกว่าอัตราการว่างงานเฉลี่ยของประชากรทั้งหมดที่อยู่ที่ 3.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน

รวมถึงแรงกดดันจากสังคมในด้านอื่น ๆ ที่มีการแข่งขันสูง ทั้งความเครียดในระบบการศึกษา แรงกดดันจากครอบครัว เมื่อรวมทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันแล้ว ความคิดเห็นทางการเมืองเห็นจะเป็นแค่สิ่งที่เพิ่มความวุ่นวายให้ชีวิต

ในขณะที่ความหวังในการสร้างชีวิตในฮ่องกงลดลงเรื่อย ๆ ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มพิจารณาทางเลือกอื่นในการสร้างอนาคต

โอกาสใหม่จากจีนแผ่นดินใหญ่

ในทางกลับกัน จีนแผ่นดินใหญ่ โดยเฉพาะเมืองในเขตเศรษฐกิจอย่าง Greater Bay Area (GBA) เช่น เซินเจิ้น กว่างโจว และจูไห่ ที่อยู่ใกล้กับฮ่องกงนั้น กลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง โดยเฉพาะการเปิดพรมแดนและระบบรถไฟความเร็วสูงในเขต GBA ที่ทำให้การเดินทางระหว่างฮ่องกง–เซินเจิ้น–กว่างโจวง่ายและรวดเร็วมาก สามารถเดินทางจากฮ่องกงข้ามไปแผ่นดินใหญ่ได้ภายใน 30-45 นาที (เท่ากับเวลาที่ผมเดินทางไปเรียนตอนเช้า หรือขับรถไปทำงานตอนอยู่ไทย) เอื้อต่อการไปทำงาน เรียน หรือแม้แต่ใช้ชีวิตในจีน ขณะยังมีบ้านอยู่ในฮ่องกง ก็ยังสามารถทำงานในจีนแต่กลับมานอนที่บ้านในฮ่องกงได้

ในขณะเดียวกัน เมืองอย่างเซินเจิ้นหรือกว่างโจวซึ่งอยู่ใกล้ฮ่องกง มีค่าครองชีพต่ำกว่ามาก ทั้งค่าเช่าบ้าน อาหาร การเดินทาง ฯลฯ คนรุ่นใหม่บางส่วนเลือกไปทำงานหรือใช้ชีวิตในจีน เพราะเงินเดือนที่ใกล้เคียงกัน แต่ใช้จ่ายน้อยกว่า ทำให้สามารถซื้อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นหัวกะทิด้านเทคโนโลยี ที่มีความสามารถทางเทคนิคหรือธุรกิจที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานจีน กลับเริ่มมองว่าการเข้าไปอยู่ในแผ่นดินใหญ่ เป็นโอกาสในการเติบโตในอาชีพที่ดีกว่า โดยเฉพาะในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนจำนวนมากตั้งอยู่ใน GBA ที่เปิดรับคนรุ่นใหม่มือดีจากฮ่องกง

ทั้งนี้ นโยบายสนับสนุนจากรัฐจีนก็มีผลอย่างมาก สำหรับมุมมองต่อจีนของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแจกทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนฮ่องกงให้เข้ามาเรียนในแผ่นดินใหญ่ จัดสรรทุนการศึกษาและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เพื่อดึงดูดนักเรียนฮ่องกงให้มาศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยมีโครงการสนับสนุนที่มอบเงินช่วยเหลือต่อปีการศึกษาตั้งแต่ HK$5,900 ถึง HK$19,400 ซึ่งมีนักเรียนฮ่องกงได้รับประโยชน์จากโครงการนี้แล้วกว่า 20,000 คน (เพื่อนผม 3 คนเป็นหนึ่งในกลุ่มนี้)

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจ้างงานสำหรับเยาวชนฮ่องกงในหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจจีน ทุนเปิดธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจากฮ่องกง เช่น โครงการ Greater Bay Area Youth Employment Scheme (GBA YES) ที่รัฐบาลฮ่องกงอุดหนุนเยาวชนฮ่องกงที่มีอายุไม่เกิน 29 ปี และมีวุฒิการศึกษาระดับอนุปริญญาขึ้นไป จำนวนกว่า 1,000 คน โดยให้เงินอุดหนุนสูงสุด 60% ของเงินเดือนรายเดือนของผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นระยะเวลาสูงสุด 18 เดือน งบประมาณรวมโดยประมาณ 216 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง

หรือจะเป็นโครงการ Funding Scheme for Youth Entrepreneurship in the Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Area โดย Youth Development Commission (YDC) ของฮ่องกง ที่สนับสนุนเยาวชนฮ่องกงที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจในเมืองต่าง ๆ ในเขต GBA โดยมียอดงบประมาณที่ได้รับการอนุมัติรวมทั้งสิ้น 900 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ให้บริการสนับสนุนและบ่มเพาะธุรกิจแก่เยาวชนมากกว่า 4,000 คน โดนมีทีมสตาร์ตอัปจากโครงการนี้ที่ได้ขยายธุรกิจไปยังเมืองต่าง ๆ ในจีนแผ่นดินใหญ่มากกว่า 70 ทีม

ภายใต้บริบทนี้ ไม่น่าแปลกใจที่นักเรียนฮ่องกงจำนวนมากเลือกเรียนต่อหรือทำงานในจีนแผ่นดินใหญ่

ในมุมมองเชิงอัตลักษณ์นั้น คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงที่เติบโตขึ้นภายใต้ระบบการศึกษาที่รัฐบาลจีนส่งอิทธิพลมากขึ้นหลังปี 1997 และการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มจีน เช่น Xiaohongshu หรือ Bilibili ทำให้เยาวชนฮ่องกงบางส่วนรู้สึกใกล้ชิดกับวัฒนธรรมจีนมากขึ้น อย่าง classmate ชาวฮ่องกงของผม พูดใน class discussion ชัดเจน ว่าเขาเป็นคนจีน เพราะคนฮ่องกงก็คือคนจีน และแสดงออกอย่างเปิดเผยในห้องเรียนว่าเขาเคยต่อต้านจีนมาก่อน แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาต่อต้านอุดมการณ์แบบ woke ในจีนและในฮ่องกงแทน เขาพูดในขณะที่ใส่เสื้อยืดที่มีธงชาติจีนแปะอยู่บนหน้าอกซ้าย และตัวอักษรคำว่า CHINA ตัวใหญ่แปะอยู่ด้านหลัง ซึ่งชายคนนี้ครั้งหนึ่งเคยพูดเกินเลยไปถึงขั้นว่าหลังเรียนจบจะสอบเข้ารับราชการเป็นตำรวจ ถ้ามีม็อบในฮ่องกงจะได้เป็นคนไปปราบ ตอนที่เขาพูดเรื่องนี้ ผมสังเกตเห็นเพื่อนหลายคนในห้องเริ่ม “มองบน” กัน เพราะอาจจะฟังดูก้าวร้าวโดยไม่จำเป็น

กลับเข้าเรื่อง เมื่อผมไปค้นคว้าเพิ่มเติม ก็พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจริง ซึ่งก็คือการ Depoliticization หรือการเกิดความเฉยชาทางการเมือง หรือการที่บุคคลหรือสังคมค่อย ๆ เลิกสนใจ/เลิกมีส่วนร่วมทางการเมือง จนกลายเป็นกลุ่ม "ไม่แยแสทางการเมือง" (Political apathy) หรือแม้แต่ “ต่อต้านการเมือง” (anti-political) เป็นแนวคิดที่มองว่า “ไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้” หรือการมองว่า “พูดเรื่องการเมือง จะมีปัญหา อย่าไปยุ่งดีกว่า” หรือในบางกรณีคือเปลี่ยนฝ่ายทางการเมืองไปเลยแบบเพื่อนผม

ซึ่งตรงข้ามกับการ Politicization ที่มักจะอธิบายทุกปัญหาอย่างมีจิตสำนึกทางการเมือง และพยายามเสนอการแก้ปัญหาในเชิงระบบ แต่ก็เป็นแนวคิดที่นำมาซึ่งบรรยากาศการถกเถียง และความขัดแย้งจากฝ่ายต่าง ๆ ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง

ประเด็นนี้ เพื่อนชาวฮ่องกงอีกคน (ที่ไม่ใช่ตัวตึง)​ ของผมเล่าให้ฟังว่าเขาเบื่อที่จะต้องตอบคำถามกับเพื่อนเก่าหลายคนที่ชอบมาถามว่า “ทำไมถึงไปเรียนที่จีน ?” เพราะรู้เจตนาที่แท้จริงของคำถามแบบนี้ที่มักจะเป็นการ “แซะ” ยิ่งทำให้ไม่กล้าบอกเพื่อนว่าหลังเรียนจบแล้วจะเข้ารับราชการต่อ เพราะกลัวว่าจะมีปัญหาขัดแย้งกับเพื่อนบางคน ขอเรียนจบและทำงานอยู่เงียบ ๆ ดีกว่า เพราะไม่ต้องการให้มีเรื่อง toxic ในชีวิตมากเกินไป ส่วนเหตุผลที่ทำให้อยากเข้ารับราชการนั้น เพื่อนผมบอกว่า เงินเดือนค่อนข้างดี มีสวัสดิการ ทำให้มีชีวิตที่มั่นคงได้ แต่การรับราชการก็ต้องระวังเรื่องแนวคิดทางการเมืองเช่นกัน เพราะถ้ามีแนวคิดขัดกับรัฐบาลกลาง ก็อาจทำให้มีปัญหา เขาจึงมองว่าการไม่ต้องมีแนวคิดทางการเมืองเลยคือทางเลือกที่ดีต่อชีวิตและสุขภาพจิตที่สุด ไม่ต้องขัดแย้งกับกลุ่มเพื่อน ไม่ต้องมีปัญหากับที่ทำงาน

สิ่งที่ทำให้สำนึกทางการเมืองค่อย ๆ จางหายไปจากสังคมฮ่องกงนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีพื้นฐานทางสังคมศาสตร์และเศรษฐศาสตร์อย่าง “ทฤษฎีทางเลือกอย่างมีเหตุผล” (Rational Choice Theory) ที่เสนอว่า “มนุษย์ตัดสินใจบนพื้นฐานของการคำนวณผลประโยชน์–ต้นทุน เพื่อเลือกสิ่งที่ให้ผลลัพธ์ดีที่สุดต่อชีวิตตนเอง” ซึ่งการตัดสินใจต่าง ๆ อาจไม่ "ถูกต้องในเชิงศีลธรรม" หรือ "สอดคล้องกับอุดมการณ์" เสมอไป แต่บางครั้ง มนุษย์ก็เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองในสถานการณ์และความเป็นจริง (pragmatic)

สำหรับกรณีของฮ่องกงนั้น ในอดีต คนรุ่นใหม่ในฮ่องกงอาจเลือก "ต่อต้านจีน" ด้วยความเชื่อในประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นการตัดสินใจทางอุดมคติ  (ideological decision) แต่ภายหลังปี 2020 ที่การเมืองถูกปราบปราม การเคลื่อนไหวมีความเสี่ยงสูงมาก เช่น การถูกจับ ถูกแบนอาชีพ หรือถูกคุมขัง ประกอบกับความกดดันทางสังคมในฮ่องกง ทำให้คนฮ่องกงเริ่มมองหาโอกาสจากภายนอก ซึ่งจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีความใกล้ชิดทางดินแดน รากวัฒนธรรมและภาษา รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทางเทคโนโลยี ทำให้จีนตอบโจทย์ในการเป็นดินแดนแห่งโอกาสสำหรับคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง ส่งผลต่อการตัดสินใจของคนฮ่องกงในการ “ประเมินต้นทุน/ความเสี่ยง - ผลตอบแทน” ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง

โจทย์ในการเลือกนั้นมีอยู่ 2 โจทย์หลัก ๆ คือ

การเลือกว่าจะ “แสดงออกทางการเมืองต่อต้านจีน” หรือ “ไม่แสดงออกทางการเมืองต่อต้านจีน”
ถ้าเลือกไม่แสดงออกทางการเมือง จะเลือก “อยู่กับจีน” หรือ “ไม่อยู่กับจีน”

ต้นทุนของการ “เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านจีน” คือเสี่ยงติดคุก เสี่ยงตกงาน เสี่ยงไม่มีอนาคต ชีวิตวุ่นวาย ในขณะที่ผลลัพธ์ไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนได้จริงหรือไม่

ในขณะที่การ “ไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านจีน” อาจไม่มีต้นทุนอะไร ส่วนประโยชน์คือความสงบ การไม่เสี่ยงติดคุก และไม่ต้องเสียอนาคต

ส่วนการเลือกว่าจะ “อยู่กับจีน” นั้น อาจมีต้นทุนทางสังคมที่ต้องเสียบ้าง แต่ก็อาจได้ประโยชน์ทางอาชีพการงาน/การศึกษา และความมั่นคงของชีวิต

ดังนั้นทาง “เลือกที่ที่สมเหตุสมผลในเชิงปฏิบัติ” (pracmatic decision) หรือทางเลือกที่คุ้มที่สุดในเชิงมูลค่าที่จับต้องได้ของกรณีนี้นั้น คือการ “เลือกไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง และอยู่กับจีน” แม้อาจไม่สอดคล้องกับความดีงามทางอุดมการณ์

ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงส่วนใหญ่ ลึก ๆ แล้วยังมีความเชื่อทางการเมืองในใจ แต่เลือกเก็บไว้กับตัวเองเพื่อความปลอดภัย เพราะเห็นว่าต้นทุนสูง และโอกาสสำเร็จต่ำ ทำให้เข้าสู่ “ภาวะความเหนื่อยล้าทางการเมือง” (Political Burnout) สิ้นหวัง หลบเลี่ยง ถอนตัว ยอมจำนนต่อความเป็นจริง และแสวงหาหนทางใหม่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ในขณะเดียวกัน การที่คนรุ่นใหม่บางคนเลือก "อยู่กับจีน" ก็ไม่ใช่เพราะพวกเขาสนับสนุนรัฐบาลจีนโดยอุดมการณ์ หากแต่เป็นเพราะพวกเขา แสวงหาทางอยู่ได้ความมั่นคงในชีวิต มีคุณภาพชีวิตที่ดี ภายใต้บริบทที่มีทางเลือกไม่มากนัก โดยเฉพาะในสังคมที่แข่งขันสูงและกดดันอย่างฮ่องกง ความต้องการความมั่นคงของชีวิตพุ่งสูงขึ้นกว่าที่เคย

ความเข้าใจแบบนี้ไม่เพียงช่วยอธิบายพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มของเยาวชนในบริบทสังคมอื่น ๆ ที่เผชิญกับภาวะกดดันคล้ายคลึงกันทั่วโลกในยุคหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ

ซึ่งเมื่อขยายมุมมองนี้ไปสู่ประเทศหรือเมืองอื่น ๆ เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็น่าสนใจเช่นกัน ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก คลื่นฝ่ายขวารุ่นใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกสามารถอธิบายด้วยตรรกะเดียวกันนี้ได้หรือไม่ คงต้องศึกษากันต่อไป

สองคำถามสำคัญที่น่านำมาคุยกันต่อจากนี้

ข้อแรก การเปลี่ยนแปลงทางความคิดของคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงจะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ ? และสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เกิดขึ้นจากความตั้งใจในการใช้กลยุทธ์ Soft Power ของฝั่งจีนหรือไม่ ?

ในประเด็นนี้ ข้อสังเกตสำคัญที่น่าจับตาคือบทบาทของ GBA ที่เข้ามาที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการดูดคนรุ่นใหม่ฮ่องกงเข้ามาในจีน และเป็น “สะพาน” ที่เชื่อมต่อระหว่าง “ต้นทางที่สิ้นหวัง” กับ “ปลายทางที่สดใส” และ “ความเหนื่อยล้าทางการเมือง” กับ “ความมั่นคงและโอกาส” สิ่งนี้เกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ ?

ข้อสอง ในบริบทของไทย ปรากฏการณ์ทำนองนี้ จะเกิดขึ้นหรือไม่ ? หรือเกิดขึ้นแล้ว ? หรือจะไม่มีวันเกิดขึ้น ?

ส่วนตัวผมเห็นคนไทยจำนวนมากมีอาการ Political Burnout ก็จริง แต่ยังไม่เห็นภาพของโอกาสใหม่ ๆ ให้เลือก แบบที่เพื่อนฮ่องกง 3 คนของผมเลือกไป “อยู่กับจีน”

‘อังกฤษ’ หั่นสัมพันธ์การค้า ตอบโต้ปฏิบัติการกาซา คว่ำบาตรผู้นำนิคมเวสต์แบงก์–เรียกทูตอิสราเอลพบด่วน

(21 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี โพสต์ข้อความว่า…อังกฤษฟาดแรง! ระงับเจรจาการค้าอิสราเอล-คว่ำบาตรผู้นำตั้งถิ่นฐาน ตอบโต้ความโหดร้ายในกาซา

รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอิสราเอล พร้อมเรียกเอกอัครราชทูตอิสราเอลเข้าพบ เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติการทางทหารที่รุนแรงในฉนวนกาซา และการปิดกั้นความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ยืดเยื้อกว่า 11 สัปดาห์

นายเดวิด แลมมี รัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักร กล่าวในรัฐสภาว่า การกระทำของรัฐบาลอิสราเอลในกาซาและเวสต์แบงก์นั้น 'ไม่สามารถยอมรับได้' และ 'ขัดต่อค่านิยมของประชาชนชาวอังกฤษ'

พร้อมกันนี้ สหราชอาณาจักรได้ประกาศคว่ำบาตรบุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอิสราเอลในเวสต์แบงก์ รวมถึงอดีตนายกเทศมนตรีของนิคม Kedumim และองค์กรที่สนับสนุนการตั้งถิ่นฐานใหม่ในพื้นที่พิพาท

นายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ กล่าวเสริมว่า "ระดับความทุกข์ทรมานของเด็กๆ ในกาซานั้นไม่สามารถยอมรับได้" และเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที รวมถึงการเปิดทางให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่พื้นที่

ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลตอบโต้โดยระบุว่า "แรงกดดันจากภายนอกจะไม่ทำให้อิสราเอลเปลี่ยนเส้นทางในการต่อสู้เพื่อดำรงอยู่และความมั่นคงของตนจากศัตรูที่พยายามทำลายล้าง"

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างสหราชอาณาจักรและอิสราเอล ท่ามกลางวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่รุนแรงในฉนวนกาซา

‘วลาดิมีร์ เมดินสกี’ หนึ่งในขุนพลข้างกาย ‘ปูติน’ นักประวัติศาสตร์ผู้กำหนดอัตลักษณ์แห่งรัสเซีย

เมื่อกล่าวถึงการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หนึ่งในชื่อที่ปรากฏอย่างเด่นชัดบนโต๊ะเจรจาคือ วลาดิมีร์ เมดินสกี นักการเมือง นักประวัติศาสตร์และที่ปรึกษาประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายรัสเซียในหลายเวทีสำคัญ รวมถึงการเจรจา ณ กรุงอิสตันบูล

วลาดิมีร์ โรสตีสลาวิช เมดินสกี (Владимир Ростиславович Мединский) เกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1970 ที่เมืองสเมล่า (Smela) ในเขตสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน (ปัจจุบันอยู่ในยูเครนกลาง) ครอบครัวของเขาย้ายมาอยู่ในกรุงมอสโกตั้งแต่ยังเด็ก โดยมีพื้นฐานชีวิตในกลุ่มชนชั้นกลางสายเทคนิค (technical intelligentsia) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างยิ่งในยุคโซเวียต เส้นทางวิชาการของเมดินสกีเริ่มต้นอย่างจริงจังที่ Moscow State Institute of International Relations (MGIMO) สถาบันซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “โรงเรียนเตรียมผู้นำของรัสเซีย” หรือ “Harvard แห่งมอสโก” ที่ผลิตบุคลากรสำหรับการทูตและนโยบายระหว่างประเทศของสหภาพโซเวียตและต่อมาในยุครัสเซียหลังโซเวียต เมดินสกีศึกษาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 

แต่ในช่วงเวลานั้นเองเขาเริ่มให้ความสนใจพิเศษกับมิติของ “อัตลักษณ์ทางประวัติศาสตร์” และบทบาทของการรับรู้ทางจิตวิทยาในระดับมหภาค (mass psychology) หลังจบการศึกษาในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ในช่วงรัสเซียเผชิญภาวะสลายตัวทางอุดมการณ์หลังการล่มสลายของโซเวียต เมดินสกีกลับมาใช้เวลาในโลกวิชาการโดยเขียนวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิตในหัวข้อที่สะท้อนตัวตนทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน ในหัวข้อ “คุณลักษณะของภาพลักษณ์ของรัสเซียในต่างประเทศ: กลยุทธ์ของรัฐในการจัดการการรับรู้ทางประวัติศาสตร์” งานวิทยานิพนธ์ของเขามุ่งไปที่การวิเคราะห์ภาพลักษณ์ของรัสเซียในตะวันตกและเสนอว่า รัสเซียจำเป็นต้องสร้างกลไกเชิงรัฐเพื่อ “ควบคุมการรับรู้” ทั้งในและนอกประเทศ 

นับจากนั้นเมดินสกีได้ผลิตงานเขียนทางประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์จำนวนมาก โดยมีเป้าหมายไม่ใช่แค่การศึกษาอดีตแต่คือการ “จัดระเบียบอดีตเพื่อควบคุมอนาคต” แนวทางที่สะท้อนโลกทัศน์แบบรัฐนิยมอนุรักษนิยมอย่างชัดเจน ตัวอย่างผลงานของเขา เช่น “Война. Мифы СССР. 1939–1945” (สงคราม: ตำนานแห่งโซเวียต) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับความพยายามลบล้างการตีความตะวันตกเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และ“О правде истории” (ว่าด้วยความจริงของประวัติศาสตร์) ที่เสนอว่าประวัติศาสตร์ไม่ควรถูกทิ้งให้เป็นพื้นที่เสรีทางปัญญาแต่ควรถูกควบคุมโดยรัฐเพื่อรักษาอำนาจและความสามัคคี เมดินสกีมีลักษณะเฉพาะที่หาได้ยากในหมู่นักวิชากา คือความสามารถในการแปลงทฤษฎีเชิงวิเคราะห์ให้กลายเป็นนโยบายสาธารณะที่จับต้องได้ เขาไม่ได้เขียนงานเพื่อโต้วาทีกับนักวิชาการตะวันตกเพียงอย่างเดียวแต่เพื่อ “แปลงอดีตให้กลายเป็นเครื่องมือของรัฐ” ทำให้เขากลายเป็นหนึ่งใน “นักประวัติศาสตร์เชิงรัฐ” (state-aligned historian) ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของรัสเซียร่วมสมัย

วลาดิมีร์ เมดินสกี เป็นนักคิดที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ชาติอย่างลึกซึ้งโดยมีความเชื่อชัดเจนว่า “ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ข้อเท็จจริงนิ่งเฉยแต่สามารถถูกเล่าใหม่เพื่อประโยชน์ของรัฐ” ความเชื่อนี้นำไปสู่การสร้างงานเขียนเชิง “ประวัติศาสตร์ปกป้องตนเอง” (Defensive History) ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความชอบธรรมและปกป้องภาพลักษณ์ของรัสเซียบนเวทีระหว่างประเทศ เมดินสกีไม่ปฏิเสธว่าประวัติศาสตร์ควรเป็นเครื่องมือของรัฐในการรักษาอำนาจและความมั่นคง เขายืนยันว่าวิธีเล่าอดีตของชาติต้องสนับสนุนเป้าหมายในปัจจุบันไม่ใช่บ่อนทำลายศรัทธาหรือเปิดทางให้แนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตกเข้ามาแทรกแซง 

จากฐานคิดเชิงอุดมการณ์นี้เมดินสกีเดินหน้าสู่วงการเมืองอย่างมั่นคงด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมแห่งรัสเซีย (2012–2020) ซึ่งแม้จะดูเหมือนตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ไม่สูงมาก แต่สำหรับเขานี่คือสนามรบอันแท้จริงของสงครามอัตลักษณ์ชาติ เมดินสกีเปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมให้กลายเป็นแนวหน้าในการต่อสู้เชิงวาทกรรมและอุดมการณ์ ตลอดช่วงดำรงตำแหน่งเขาใช้กระทรวงเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันแนวคิด Russian cultural exceptionalism หรือความเชื่อว่ารัสเซียมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สูงส่งกว่าตะวันตก จึงต้องได้รับการปกป้อง ฟื้นฟูและเผยแพร่อย่างเข้มข้น วาทกรรมนี้ไม่เพียงสะท้อนผ่านวรรณกรรมและภาพยนตร์เท่านั้น แต่แทรกซึมเข้าไปในระบบการศึกษา พิพิธภัณฑ์ กิจกรรมรัฐพิธีและกองทุนสนับสนุนงานศิลปะ โดยมีเงื่อนไขว่าเนื้อหาต้อง “ไม่บ่อนทำลายศีลธรรมชาติหรือเกียรติภูมิของรัสเซีย” ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เมดินสกีเรียกว่า “วัฒนธรรมคือสมรภูมิ” เขาส่งเสริมภาพยนตร์รักชาติ เช่น 28 Panfilov Guardsmen และสารคดีเชิงโฆษณาชวนเชื่อที่พยายามสร้างภาพของรัสเซียในอดีตที่กล้าหาญและศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงการรื้อฟื้น “วันแห่งความทรงจำประจำชาติ” เพื่อเน้นย้ำบทบาทอันศักดิ์สิทธิ์ของรัสเซียในชัยชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางความชอบธรรมเชิงประวัติศาสตร์ในยุคปูติน

ภายใต้การนำของเมดินสกีรัฐบาลรัสเซียเดินหน้าโครงการสร้าง “ความทรงจำของชาติ” (national memory construction) ในทุกมิติของสังคมเพื่อปลูกฝังแนวคิดชาตินิยมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มแข็ง หลังพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี เขาไม่ได้ลดบทบาทลงกลับกลายเป็นที่ปรึกษาประธานาธิบดีด้านนโยบายประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ของรัฐซึ่งเปรียบเสมือน “เสนาบดีเงา” ของวลาดิมีร์ ปูติน ในการกำหนดกรอบวาทกรรมรัฐ เมดินสกีเป็นหนึ่งในแกนนำทีมใกล้ชิดเครมลินที่วางกรอบวาทกรรมความสัมพันธ์รัสเซีย–ยูเครน และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบทความสำคัญของปูติน ปี ค.ศ. 2021 เรื่อง On the Historical Unity of Russians and Ukrainians ที่ยืนยันว่ายูเครนไม่มีตัวตนทางประวัติศาสตร์เป็นรัฐแยกต่างหาก กรอบคิดนี้กลายเป็นพื้นฐานอุดมการณ์รองรับการรุกรานทางทหาร

บทบาทของเมดินสกียิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะเจรจารัสเซีย ในการประชุมอิสตันบูลปี ค.ศ. 2022 แม้ไม่ใช่ทหารหรือเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแต่การส่งนักประวัติศาสตร์ในฐานะตัวแทนเจรจาส่งสัญญาณชัดเจนว่าสงครามครั้งนี้ไม่ใช่แค่สนามรบทางกายภาพหากแต่ยังเป็นสงครามแห่งความหมายและความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ เมดินสกีทำหน้าที่เสมือน “นักบวชแห่งชาติ” ที่ประกาศว่ารัสเซียมีสิทธิเหนือยูเครน ไม่ใช่ด้วยพละกำลังแต่ด้วยประวัติศาสตร์ที่ถูกเล่าใหม่ บทบาทนี้สะท้อนชัดว่าเมดินสกีไม่ใช่แค่นักวิชาการอีกต่อไป แต่คือนักอุดมการณ์ของรัฐที่เป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างโลกปัญญาชนและอำนาจรัฐ เขาไม่ได้เพียงวิเคราะห์รัฐหากแต่กำหนดบทบาทและทิศทางของรัฐผ่านการเขียนประวัติศาสตร์ใหม่ที่หล่อหลอมโลกทัศน์ทางการเมืองยุครัสเซียปูตินให้มีรากฐานบนประวัติศาสตร์ร่วม อัตลักษณ์รัสเซียแท้และความชอบธรรมแบบจักรวรรดิอย่างแนบแน่น

ในยุคที่โลกาภิวัตน์และกระแสเสรีนิยมแบบตะวันตกทะลักเข้ามาทั่วทุกมุมโลก รัสเซียภายใต้การนำของเมดินสกีตระหนักดีว่าการต่อสู้เพื่อ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” คือสนามรบที่สำคัญไม่แพ้การเผชิญหน้าทางทหารและการเมือง อธิปไตยทางวัฒนธรรมในความหมายของเมดินสกีไม่ได้หมายถึงเพียงการอนุรักษ์วัฒนธรรมดั้งเดิมเท่านั้นแต่หมายถึงการควบคุมและกำหนดขอบเขตของ “ความจริง” และ “ความหมาย” ที่ประชาชนรัสเซียจะรับรู้และเชื่อถือ เมดินสกีและทีมงานรัฐบาลมองว่ากระแสวัฒนธรรมเสรีนิยมตะวันตก — ทั้งในรูปแบบแนวคิดประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เสรีภาพของสื่อ และค่านิยมเรื่องเพศ สิทธิชนกลุ่มน้อย — เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความมั่นคงของรัฐและเอกลักษณ์ของชาติ รัฐบาลรัสเซียจึงประกาศ “สงครามทางวัฒนธรรม” อย่างเปิดเผย เพื่อปกป้อง “จิตวิญญาณรัสเซีย” จากการถูกกลืนกลายและล้มละลายโดยวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์และลัทธิเสรีนิยมตะวันตก ยุทธศาสตร์ของเมดินสกีจึงมุ่งเน้นการผลักดันวาทกรรมที่ว่ารัสเซียเป็น “อารยธรรมที่แตกต่าง” และ “สูงส่งกว่าตะวันตก” โดยย้ำว่ารัสเซียต้องเป็นผู้กำหนดนิยามของตนเอง ไม่ใช่ยอมเป็น “ลูกไล่” หรือ “ผู้รับวัฒนธรรม” จากโลกตะวันตก 

กระบวนการนี้ไม่ใช่เพียงแค่การส่งเสริมงานศิลปะหรือวรรณกรรมรักชาติเท่านั้นแต่คือการสร้าง “เกราะทางความคิด” ให้กับสังคมรัสเซีย ผ่านการควบคุมสื่อ การตั้งกฎเกณฑ์เข้มงวดต่อสื่อสังคมออนไลน์และการรณรงค์ส่งเสริมค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น การต่อต้านค่านิยมตะวันตกในแง่นี้ยังสะท้อนในนโยบายทางการศึกษาที่บังคับให้โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต้องปลูกฝังหลักสูตรที่สนับสนุนอุดมการณ์รัฐโดยเฉพาะการเน้นย้ำบทบาทของประวัติศาสตร์รัสเซียในฐานะ “ผู้พิทักษ์ศีลธรรมโลก” และการแสดงออกถึงความเป็น “อารยธรรมออร์โธดอกซ์” ที่แตกต่างจากโลกเสรีนิยมตะวันตกอย่างสิ้นเชิง ยุทธศาสตร์ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” นี้มีความหมายในเชิงลึกเพราะมันกำหนดความชอบธรรมของอำนาจรัฐในยุคปูตินและวางรากฐานให้เกิดความเป็นเอกภาพทางสังคมที่มีอุดมการณ์เป็นศูนย์กลาง 

ความพยายามของเมดินสกีในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมให้เป็นเครื่องมือทางอุดมการณ์ทำให้รัสเซียสามารถใช้ “วัฒนธรรม” เป็นดาบสองคมทั้งปกป้องความมั่นคงภายในและขยายอิทธิพลเชิงนิ่มนวล (soft power) ไปยังโลกภายนอก ด้วยเหตุนี้ “อธิปไตยทางวัฒนธรรม” จึงไม่ใช่เพียงแค่นโยบายทางวัฒนธรรมธรรมดาแต่คือหัวใจของสงครามความหมายและการประกาศอิสรภาพทางอุดมการณ์ของรัสเซียในโลกที่สื่อสารข้ามพรมแดนอย่างเสรี การควบคุมวัฒนธรรมจึงกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดของรัฐในการต้านทานกระแสโลกาภิวัตน์และรักษาอำนาจอธิปไตยของชาติเอาไว้ได้อย่างยั่งยืน

ในยุทธศาสตร์วาทกรรมของรัสเซียยุคปูติน เมดินสกีคือผู้วางกรอบและขับเคลื่อนแนวคิด “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” (Great Russia) ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองและอุดมการณ์สำคัญที่หล่อหลอมความชอบธรรมของรัฐในการดำเนินนโยบายทั้งในและนอกประเทศโดยเฉพาะในบริบทของสงครามกับยูเครน “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ไม่ใช่แค่คำขวัญหรือความภาคภูมิใจทางชาติพันธุ์หากแต่เป็นวาทกรรมที่ยืนยันสถานะ “จักรวรรดิที่กลับมาผงาด” (resurgent empire) ที่มีภารกิจและชะตากรรมพิเศษในการรวมดินแดนและผู้คนที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์เดียวกันกลับคืนสู่ร่มเงาอำนาจมอสโก วาทกรรมนี้ทำหน้าที่สร้างภาพของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจที่ “มีสิทธิและหน้าที่” ในการปกป้องและเรียกคืนดินแดนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นดินแดนในยูเครน เบลารุส หรือประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ เมดินสกีและกลุ่มอุดมการณ์ของเครมลินได้ยกย่องบทบาทประวัติศาสตร์ของรัสเซียในฐานะ “ผู้พิทักษ์ความสงบเรียบร้อยและอารยธรรม” 

ซึ่งถูกคุกคามโดย “ลัทธิชาตินิยมยูเครน” และ “อิทธิพลลัทธิเสรีนิยมตะวันตก” ที่พยายามทำลายเอกลักษณ์และความมั่นคงของชาติรัสเซีย วาทกรรมนี้สร้างความชอบธรรมเชิงประวัติศาสตร์และจริยธรรมให้กับการ “แทรกแซง” และ “ปกป้อง” ประชากรรัสเซียในดินแดนยูเครนผ่าน “ภารกิจศักดิ์สิทธิ์” ที่เกินกว่าการรุกรานทางทหารธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบทความ “On the Historical Unity of Russians and Ukrainians” ที่เขียนโดยประธานาธิบดีปูตินในปี ค.ศ. 2021 เมดินสกีมีบทบาทสำคัญในการวางกรอบวาทกรรมที่ปฏิเสธความเป็นตัวตนของรัฐยูเครนอย่างแท้จริงและนิยามว่า “ยูเครนและรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของชาติพันธุ์เดียวกัน” ซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดที่เครมลินใช้สนับสนุนความชอบธรรมในการผนวกและควบคุมยูเครน การใช้วาทกรรม “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ในการรุกรานยูเครนจึงเป็นการเล่นเกมทางการเมืองที่ใช้

ประวัติศาสตร์เป็นอาวุธ เมดินสกีและฝ่ายอุดมการณ์พยายามสร้างภาพว่า รัสเซียไม่ใช่ผู้รุกรานแต่เป็นผู้คืนความยิ่งใหญ่และปกป้องชาติพันธุ์ของตนเองจากการล่าอาณานิคมแบบใหม่ของโลกตะวันตก ซึ่งนำไปสู่การตีความสงครามเป็น “สงครามศักดิ์สิทธิ์” ที่มีเป้าหมายทางอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งกว่าความขัดแย้งทางดินแดนทั่วไป อย่างไรก็ตามวาทกรรมนี้ไม่ได้หยุดเพียงแค่การชี้แจงความชอบธรรมแต่ยังเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนและกองกำลังทหารเพื่อกระตุ้นให้เห็นว่าการปกป้องและขยายอิทธิพลของรัสเซียในยูเครนคือภารกิจแห่งความรุ่งโรจน์และเกียรติภูมิของชาติ การทำสงครามจึงถูกนำเสนอในรูปแบบของ “หน้าที่ศักดิ์สิทธิ์” ที่เหนือกว่าการเมืองหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบโลกีย์ ในที่สุดวาทกรรม “รัสเซียผู้ยิ่งใหญ่” ภายใต้การขับเคลื่อนของเมดินสกีได้กลายเป็นฟันเฟืองหลักในเครื่องจักรสงครามของรัสเซีย เป็นทั้งโล่ป้องกันและดาบที่กรีดกรายเพื่อรักษาอำนาจของเครมลินและขยายอิทธิพลในเวทีโลก โดยเฉพาะในบริบทของความขัดแย้งกับโลกเสรีนิยมตะวันตกที่พยายามจำกัดบทบาทของรัสเซียในภูมิภาคยุโรป-ยูเรเชีย

ดังนั้นการที่วลาดิมีร์ เมดินสกีนักประวัติศาสตร์ที่กลายเป็นนักอุดมการณ์รัฐและนักเจรจาผู้ทรงอิทธิพลถูกส่งมายังเวทีอิสตันบูลในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาของรัสเซียในช่วงปี ค.ศ. 2025 เพื่อเป็นตัวแทนในการเจรจาสงครามยูเครนที่ซับซ้อนและเต็มไปด้วยความตึงเครียด นี่ไม่ใช่แค่การเจรจาทางการเมืองธรรมดา แต่นี่คือสนามรบของ “สงครามความหมาย” ที่เมดินสกีใช้ประวัติศาสตร์และวาทกรรมเป็นอาวุธในการขับเคลื่อนผลประโยชน์รัฐ บทบาทของเมดินสกีในอิสตันบูลสะท้อนความเชื่อมั่นอย่างลึกซึ้งของเครมลินว่า “สงครามไม่ได้จบลงที่สนามรบ” แต่เป็นการต่อสู้เพื่อชิงความชอบธรรมและอำนาจทางความคิด เมดินสกีไม่ได้ถูกส่งมาเป็นนักการทูตหรือทหาร แต่เป็น “นักบวชแห่งประวัติศาสตร์” ที่จะประกาศว่า รัสเซียมี “สิทธิ์เหนือยูเครน” ไม่ใช่เพียงด้วยกำลังอาวุธ 

แต่ด้วยความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ที่ขับเคลื่อนโดยวาทกรรมของเขาเอง ในเวทีอิสตันบูลเมดินสกีพยายามวางกรอบการเจรจาให้สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐรัสเซียผ่านการย้ำเตือนเรื่อง “รากเหง้าทางประวัติศาสตร์ร่วม” และ “ภัยคุกคามจากตะวันตก” ซึ่งใช้เป็นข้ออ้างสำคัญในการรักษาผลประโยชน์ของเครมลินและกดดันฝ่ายตรงข้ามให้ยอมรับเงื่อนไขที่รุนแรงและไม่เป็นธรรม เมดินสกียังใช้ประสบการณ์ด้านวาทกรรมเพื่อ “บรรจุหีบ” การเจรจาในรูปแบบที่ทำให้รัสเซียดูเหมือนเป็นฝ่ายที่มีเหตุผล และพร้อมเปิดทางสู่สันติภาพแต่ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องหลักของยูเครนอย่างเด็ดขาด เป็นการเล่นเกมเจรจาที่เน้นการสร้าง “ข้อเท็จจริงเชิงวาทกรรม” ก่อนที่จะยอมความในบางจุดเพื่อรักษาภาพลักษณ์และอำนาจ นอกจากนี้ เมดินสกียังเป็นตัวแทนของรัฐที่ใช้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็น “อาวุธทางอุดมการณ์” ในการเจรจา เพื่อสกัดกั้นแรงกดดันจากชาติตะวันตกและป้องกันไม่ให้เงื่อนไขการเจรจานำไปสู่การลดทอนอำนาจหรือสถานะของรัสเซียในภูมิภาค ดังนั้นบทบาทของเมดินสกีในอิสตันบูลจึงเป็นการผสมผสานระหว่าง “นักประวัติศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่” กับ “นักการทูตสงครามความหมาย” ที่มีภารกิจสำคัญในการรักษา “ความชอบธรรม” ของรัสเซียบนเวทีโลกผ่านการเจรจาในสนามการทูต โดยไม่ลดละเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐปูติน

บทสรุป วลาดิมีร์ เมดินสกีคือภาพสะท้อนชัดเจนของการเปลี่ยนผ่านจากนักวิชาการที่ใช้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมือในการสร้างอัตลักษณ์ชาติไปสู่ตัวแทนรัฐผู้ขับเคลื่อนวาทกรรมทางการเมืองและสงครามความหมายในระดับสูงสุดของเครมลิน เขาไม่ได้เป็นเพียงผู้บันทึกอดีตแต่กลายเป็นผู้แต่ง “บทประวัติศาสตร์” ให้กับรัฐรัสเซียยุคปูตินด้วยความเชื่อที่หนักแน่นว่าประวัติศาสตร์ต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อปกป้องและเสริมสร้างอำนาจรัฐไม่ใช่แค่สะท้อนความจริงที่เป็นกลาง ในฐานะรัฐมนตรีวัฒนธรรมเมดินสกีเปลี่ยนกระทรวงที่ดูเหมือนไม่สำคัญให้กลายเป็นแนวหน้าของสงครามอุดมการณ์และวัฒนธรรมที่ซึ่งเขาผลักดันแนวคิด “Russian cultural exceptionalism” เพื่อปิดกั้นและต่อต้านค่านิยมเสรีนิยมตะวันตก สร้างรากฐานทางวัฒนธรรมสำหรับนโยบายภูมิรัฐศาสตร์และความชอบธรรมทางประวัติศาสตร์ของรัสเซีย เมื่อเข้าสู่บทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาที่อิสตันบูล ในปีค.ศ. 2025 เมดินสกีไม่ได้มาเพียงเพื่อเจรจาสงครามเท่านั้นแต่เป็นตัวแทนของ “สงครามความหมาย” ที่รัสเซียใช้ประวัติศาสตร์และวาทกรรมปกป้องอธิปไตยและอำนาจในภูมิภาค ด้วยบทบาทนี้เขากลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกของปัญญาชนและอำนาจรัฐ ประสานความคิดและนโยบายให้ไปในทิศทางเดียวกันอย่างแนบเนียนและมีประสิทธิภาพ โดยรวมแล้วเมดินสกีไม่ใช่แค่รัฐมนตรีวัฒนธรรมหรือนักประวัติศาสตร์ทั่วไปแต่คือเครื่องจักรอุดมการณ์ของรัฐรัสเซียที่ผสมผสานความรู้เชิงวิชาการเข้ากับอำนาจทางการเมืองและการทูตเพื่อรักษาและขยายอิทธิพลของรัสเซียในศตวรรษที่ 21 ผ่านสงครามทั้งที่มองเห็นและที่อยู่ในเงามืดของวาทกรรม

รัสเซียเดือด! ตะเพิด ‘แอมเนสตี้’ พ้นแผ่นดิน ชี้เป็นหอกข้างแคร่ของรัฐและความมั่นคง

(21 พ.ค. 68) เพจเฟซบุ๊ก ปราชญ์ สามสี รายงานว่า รัสเซียประกาศลั่นกลางแดนหมีขาว สั่งแบน 'แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล' ให้พ้นแผ่นดิน! ระบุชัดเป็น 'องค์กรไม่พึงปรารถนา' พร้อมห้ามตั้งสำนักงานหรือขยับเขยื้อนทำกิจกรรมใด ๆ ในประเทศโดยเด็ดขาด!

กระทรวงยุติธรรมรัสเซียเผยแบบไม่ไว้หน้า ว่าแอมเนสตี้ไม่ได้มาเพื่อสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว แต่แอบแฝงเจตนา 'ปั่นป่วน-ยั่วยุ' สนับสนุนยูเครนในสงคราม พร้อมกล่าวหาแรงถึงขั้นว่าเป็น 'เครื่องมือของฝ่ายนีโอนาซี' ที่ตั้งใจซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้าย

ไม่ใช่แค่ห้ามอยู่ห้ามทำงานเท่านั้น แต่คนรัสเซียคนไหนเกี่ยวข้องกับองค์กรนี้ก็เสี่ยงคุกสูงสุดถึง 5 ปี กลายเป็นการปิดฉากเสียงสะท้อนด้านสิทธิมนุษยชนแบบสิ้นเชิง!

แม้แอมเนสตี้จะเป็นองค์กรเก่าแก่ระดับโลก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1961 และเคยรณรงค์เพื่อสิทธิของผู้ถูกกดขี่ทั่วโลก แต่ในสายตารัสเซียวันนี้กลับถูกมองเป็น 'ภัยคุกคามความมั่นคง'

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัสเซียใช้ไม้แข็ง ก่อนหน้านี้ก็เคยซัด 'WWF' ให้เป็น 'ตัวแทนต่างชาติ' และถีบ 'Greenpeace' ออกจากประเทศไปแล้ว คราวนี้ถึงคิวแอมเนสตี้ที่โดนเล่นแรงกว่าทุกองค์กร!

โลกกำลังจับตามองว่า มาตรการเด็ดขาดนี้จะพารัสเซียห่างไกลจากความเข้าใจของประชาคมโลกไปอีกไกลแค่ไหน หรืออาจเป็นเพียงบทเริ่มต้นของการปิดปากสังคมให้เงียบกริบอย่างถาวร


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top