Wednesday, 4 December 2024
COLUMNIST

‘Peace Corps’ หน่วยงานสันติภาพของ ‘สหรัฐอเมริกา’ ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา ผ่านอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกัน

กว่า 60 ปีมาแล้ว ในยุคที่สงครามเย็นยังคงคุกรุ่นและรุนแรง นอกจากการเสริมสร้างและพัฒนากำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตรแล้ว โดยรัฐบาลสหรัฐฯ ได้จัดตั้งหน่วยงานภาคพลเรือนเพื่อการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่นำโดยสหภาพโซเวียตขนานกันไปด้วย หน่วยงานพลเรือนหนึ่งซึ่งมีบทบาทในภารกิจนี้ และยังดำรงคงอยู่จนทุกวันนี้ก็คือ ‘Peace Corps’ ซึ่งแปลเป็นไทยว่า ‘หน่วยงานสันติภาพ’ แต่โดยทั่วไปแล้วมักนิยมเรียกชื่อหน่วยงานด้วยชื่อภาษาอังกฤษทับศัพท์

(ประธานาธิบดี John F. Kennedy กับเหล่าอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เมื่อ 28 สิงหาคม 1961) 

ทั้งนี้ ‘Peace Corps’ เป็นหน่วยงานและโครงการอิสระของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จัดหา ฝึกอบรม และจัดส่งอาสาสมัครเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม 1961 ตามคำสั่งผู้บริหาร 10924 (Executive order (10924)) ของประธานาธิบดี John F. Kennedy และได้รับฉันทานุมัติจากสภาคองเกรสในเดือนกันยายน 1962 โดยรัฐบัญญัติ ‘Peace Corps’ 

(‘Sargent Shriver’ ผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ กับประธานาธิบดี Kennedy)

โดยผู้อำนวยการคนแรกของ ‘Peace Corps’ คือ ‘Sargent Shriver’ ผู้เป็นน้องเขยของประธานาธิบดี John F. Kennedy เอง โดย ‘Shriver’ เขาเป็นสามีของ ‘Eunice Kennedy Shriver’ จึงเป็นบิดาของ ‘Maria Shriver’ อดีตภรรยาของ ‘Arnold Schwarzenegger’ พระเอกคนเหล็ก อดีตผู้ว่าการมลรัฐแคลิฟอร์เนีย

(‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ผู้เสนอแนวคิด ‘Peace Corps’)

แนวคิดของ ‘Peace Corps’ เกิดจากในปี 1950 ‘Walter Reuther’ ประธานสหภาพ Auto Workers ได้นำเสนอในบทความเรื่อง ‘ข้อเสนอสำหรับการปฏิบัติการเชิงรุกด้วยสันติภาพโดยรวม’ ว่า สหรัฐฯ ควรจัดตั้งหน่วยงานอาสาสมัครเพื่อส่งเยาวชนอเมริกันไปทั่วโลกเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรม และโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนา โดยสุนทรพจน์ของ ‘Reuther’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ระบุว่า...

“ผมพูดมานานแล้วว่าผมเชื่อว่าคนหนุ่มสาวชาวอเมริกันที่ได้รับการฝึกฝนให้ร่วมกับคนหนุ่มสาวอื่น ๆ ในโลกจะถูกส่งไปต่างประเทศมากขึ้นด้วย ตำราเรียน อุปกรณ์สำหรับการพัฒนาต่าง ๆ และชุดอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้คนช่วยเหลือให้สามารถพึ่งตนเองด้วยเครื่องมือแห่งสันติภาพ แทนที่คนอเมริกันหนุ่มสาวอีกจำนวนหนึ่งที่จะต้องถูกส่งไปพร้อมกับอาวุธสงคราม”

ในเดือนสิงหาคม 1960 หลังการประชุมแห่งชาติของพรรคเดโมแครตประจำปี ‘Walter Reuther’ ได้ไปพบกับ John F. Kennedy ที่เพื่อหารือเกี่ยวกับการเลือกตั้งของเคนเนดีและการจัดบุคลากรของฝ่ายบริหารในอนาคต ซึ่ง Kennedy ได้ให้คำมั่นที่จะสร้างหน่วยงานของฝ่ายบริหารที่จะกลายเป็นหน่วยสันติภาพ โดย Kennedy ได้ประกาศแนวคิดสำหรับองค์กรดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 1960 ในการกล่าวสุนทรพจน์ในการรณรงค์ในช่วงดึกที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนในเมืองแอนอาร์เบอร์บนบันไดของอาคาร Michigan Union ต่อมาเขาได้ขนานนามองค์กรนี้ว่า ‘Peace Corps’ 

วันที่ 1 มีนาคม 1961 ประธานาธิบดี Kennedy ลงนามคำสั่งบริหารที่ 10924 เพื่อเริ่มการก่อตั้งองค์กร ‘Peace Corps’ อย่างเป็นทางการ ด้วยความกังวลเกี่ยวกับกระแสความรู้สึกแห่งการต่อต้านสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้นในโลกที่สาม ประธานาธิบดี Kennedy มองว่า ‘Peace Corps’ เป็นวิธีการตอบโต้มุมมองแบบเหมารวมต่อกรณี ‘Ugly American’ (อเมริกันที่น่าชัง) และ ‘Yankee imperialism’ (ลัทธิจักรวรรดินิยมแยงกี้ ‘แยงกื้’ เป็นคำแสลงที่ใช้เรียกชาวอเมริกัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชียหลังจากได้รับเอกราชจากประเทศเจ้าอาณานิคม

จนกระทั่งประมาณปี 1967 ผู้สมัครเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะต้องผ่านการทดสอบวัดระดับ ‘ความถนัดทั่วไป’ (ความรู้ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับอาสาสมัคร ‘Peace Corps’) และความถนัดทางภาษา โดยวันที่ 28 สิงหาคม 1961 อาสาสมัครกลุ่มแรกได้ออกเดินทางไปยังกานาและแทนกันยิกา (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของแทนซาเนีย) โครงการนี้ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากสภาคองเกรสเมื่อวันที่ 22 กันยายน 1961 และภายในระยะเวลา 2 ปี มีอาสาสมัครมากกว่า 7,300 คน ทำงานใน 44 ประเทศ และเพิ่มขึ้นเป็น 15,000 คนในเดือนมิถุนายน 1966 ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ขององค์กรแห่งนี้

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ที่มีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ เข้ามาปฏิบัติงานอาสาสมัคร ตั้งแต่ปี 1962 มีอาสาสมัครมากกว่า 5,600 คนปฏิบัติงานในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ มากมาย ตั้งแต่การศึกษา การพัฒนาชนบท สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนี้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังทำงาน 2 โครงการหลักคือ การศึกษา และการพัฒนาเยาวชน การดำเนินการตามภารกิจของ Peace Corps สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างชาวไทยและชาวอเมริกันที่ทำงานร่วมกันในด้านมิตรภาพและการพัฒนา

โครงการการศึกษาในประเทศไทย อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะอยู่ในโรงเรียนประถมศึกษา โดยจะร่วมสอนกับครูชาวไทยในห้องเรียน ช่วยแนะนำแนวทางและกิจกรรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่มีความหลากหลาย และช่วยเหลือนักเรียนฝึกหัดการใช้ภาษาอังกฤษกับอาสาสมัครเจ้าของภาษา พื้นที่ปฏิบัติงานของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบทตามจังหวัดต่าง ๆ ยกเว้นกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลหรือมีทรัพยากรน้อยกว่าโรงเรียนอื่น ๆ โครงการนี้สนับสนุนความพยายามในการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ และมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ครูในโรงเรียนประถมศึกษาของไทยได้ปรับปรุงและประยุกต์ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในห้องเรียนภาษาอังกฤษและวิชาอื่น ๆ และเพื่อออกแบบบทเรียนและสื่อที่สร้างสรรค์เพื่อสนับสนุนหลักสูตรบูรณาการ นอกจากนี้แล้ว อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ยังมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันมากมายในด้านการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และอื่นๆ ในโครงการเชิงสร้างสรรค์ของโรงเรียนขนาดเล็ก

โครงการเยาวชนเพื่อการพัฒนา (The Youth in Development : YinD) อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดึงดูดเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เตรียมพร้อมสำหรับบทบาทผู้ใหญ่ของพวกเขา โครงการ YinD นี้สอดคล้องกับมุมมองของรัฐบาลไทยที่เห็นว่าเยาวชนเป็นทรัพยากรที่ต้องได้รับการพัฒนาให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีสุขภาพแข็งแรง และมีส่วนร่วม นอกจากนี้ โครงการนี้ยังช่วยให้เยาวชนได้รับรู้และพัฒนาทรัพยากรของตนอย่างเต็มที่ทั้งภายในและภายนอก นำไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จ เยาวชนหมายถึงผู้ที่มีอายุ 9-15 ปีสำหรับโครงการนี้ และได้รับความเห็นชอบจากพันธมิตรภาครัฐ อาสาสมัครทำงานในพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ซึ่งเยาวชนเข้าถึงทรัพยากรของเมืองใหญ่ได้น้อย ดังนั้น งานส่วนใหญ่ของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ในโครงการ YinD คือการช่วยให้เยาวชนเปิดใจและพัฒนาทักษะที่ช่วยเพิ่มโอกาสทางอาชีพและชีวิตสำหรับเยาวชนเหล่านั้น โดยปัจจุบันมีอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จำนวน 43 คนยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ในประเทศไทย

สำหรับเป้าหมายอย่างเป็นทางการของอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ คือการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา โดยการจัดหาชาวอเมริกันหนุ่มสาว ที่มีทักษะในสาขาต่าง ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ การเป็นผู้ประกอบการ การเสริมสร้างศักยภาพของสตรี และการพัฒนาชุมชน อาสาสมัครคือพลเมืองชาวอเมริกันซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ซึ่งได้รับการมอบหมายให้ทำโครงการเฉพาะในบางประเทศตามคุณสมบัติและประสบการณ์ของอาสาสมัครเหล่านั้น หลังจากการฝึกอบรมทางเทคนิคเป็นเวลา 3 เดือน สมาชิกอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ จะรับความคาดหวังให้ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 2 ปี หลังจากนั้นพวกเขาอาจขอขยายเวลาอาสาสมัครได้ อาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ได้รับคำแนะนำให้เคารพประเพณีท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง เรียนรู้ภาษาในพื้นที่ปฏิบัติงาน และปรับตัวใช้ชีวิตในสภาพที่ของประเทศที่ปฏิบัติงานได้

ในปีแรก ‘Peace Corps’ มีอาสาสมัคร 900 คนใน 16 ประเทศ และขึ้นถึงจุดมากที่สุดในปี 1966 ด้วยจำนวนอาสาสมัคร 15,556 คนใน 52 ประเทศ หลังจากการลดงบประมาณในปี 1989 จำนวนอาสาสมัครลดลงเหลือ 5,100 คน แม้ว่าเงินงบประมาณจะเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมาและนำไปสู่การเติบโตอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 ภายในวันครบรอบ 50 ปี ในปี 2001 มีอาสาสมัครมากกว่า 8,500 คนทำงานใน 77 ประเทศ นับตั้งแต่ก่อตั้งอาสาสมัครหนุ่มสาวชาวอเมริกันมากกว่า 240,000 คนได้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ และทำงานใน 142 ประเทศ

(Carol Spahn ผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน)

Carol Spahn ผู้เคยเป็นอาสาสมัคร ‘Peace Corps’ ปฏิบัติงานในประเทศโรมาเนียระหว่างปี 1994 ถึง 1996 เป็นผู้อำนวยการ ‘Peace Corps’ คนปัจจุบัน และ ‘Peace Corps’ ได้รับงบประมาณปีละ 410.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 15,114.61 ล้านบาท) น่าเสียดายที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ ‘Peace Corps’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงและให้ประสิทธิผลอย่างมากในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ด้วยยังคงยึดติดกับ ‘นโยบายเรือปืน’ (Gunboat Policy) อยู่จนทุกวันนี้ หากสหรัฐฯ ใช้งบประมาณสำหรับกิจการ ‘Peace Corps’ เพียง 10% ของงบประมาณทางทหาร มั่นใจว่า  แน่นอนที่สุด จะมีประเทศต่าง ๆ และประชาชนพลโลกเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ด้วยความเต็มใจและด้วยความจริงใจมากขึ้นอย่างมากมาย

รู้จัก Uptick Rules ที่จะใช้กับตลาดหุ้น 1 ก.ค.นี้ ช่วยให้หุ้นไทยไม่ถูกเทขายได้จริงไหม?

ในที่สุดบ้านเราก็มีความชัดเจนมากขึ้นในการจะนำเอากฎ ‘Uptick Rule’ มาใช้กับตลาดหุ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นี้ค่ะ 

‘Uptick Rule’ เป็นกฎเกณฑ์การซื้อขายหุ้นที่กำหนดว่า นักลงทุนสามารถขายชอร์ตหุ้นได้ก็ต่อเมื่อราคาเสนอซื้อ (Bid price) สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งล่าสุด (ขายชอร์ต คือการทำกำไรในขาลง เช่น ถ้าเรามองว่าหุ้น A จะลง ให้เราขายชอร์ตที่ราคาปัจจุบัน สมมติให้ราคาปัจจุบันคือ 10 บาท และต่อมาหุ้น A ลงไปอยู่ที่ 7 บาท เราก็จะได้กำไรส่วนต่างเท่ากับ (10-7)*จำนวนหุ้น) ซึ่งปัจจุบันการขายชอร์ตจะเป็นการขายชอร์ตได้ที่ราคาเท่ากันหรือสูงกว่า หรือเราเรียกวิธีนี้ว่า Zero-plus Tick ค่ะ 

ส่วนผู้ดูแลสภาพคล่อง หรือ Market Maker ที่ต้องขึ้นทะเบียนกับทาง ตลท. เท่านั้นที่จะยังสามารถส่งคำสั่ง Short เป็น Zero-plus Tick หรือราคาเท่ากับหรือสูงกว่าราคาสูงกว่าได้

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ อย่างเช่น จากเดิมหากเราต้องการขายชอร์ตหุ้น A ที่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 10 บาท ถ้านำเอากฎ Uptick Rule มาใช้เราจะไม่สามารถตั้งขายที่ราคา 10 บาทได้ แต่ต้องไปตั้งรอคิวที่ราคา 10.10 ขึ้นไปค่ะ

รวมถึงยังจะมีมาตรการกำกับดูแลพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการซื้อขายหุ้น เปิดเผยรายชื่อนักลงทุนที่ส่งคำสั่งที่ไม่เหมาะสม และในไตรมาส 4 จะมีการนำเอาการกำหนดเวลาขั้นต่ำก่อนที่จะสามารถยกเลิกคำสั่งซื้อได้ การหยุดเทรดชั่วคราวหากมีคำสั่งที่ไม่ปกติ รวมถึงยกระดับการตรวจสอบด้วยค่ะ 

การทำแบบนี้จะเป็นการลดแรงกดดันในการเทขายหุ้นเพราะก่อนหน้านี้เวลาที่หุ้นตัวไหนมีการขายจำนวนมาก ระบบ Algorithmic Trading หรือโปรแกรมเทรดจะทำการขายตามทันที ทำให้ราคาหุ้นตัวนั้นลงเร็วและแรงค่ะ 

การนำกฎ Uptick Rule มาใช้จะช่วยเรื่องความผันผวนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง และเพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนว่าหุ้นที่เขามีจะไม่โดนการทุบราคาอย่างรุนแรง แต่ก็ต้องแลกมากับสภาพคล่องที่จะหายไปด้วยค่ะ เพราะคนที่จะเข้ามาขายชอร์ตเพื่อเพิ่มสภาพคล่องก็จะทำได้ยากขึ้นด้วยค่ะ

ส่วน Uptick Rule จะช่วยให้หุ้นไทยไม่ถูกเทขายได้จริงไหม เราคงต้องมาดูว่าแรงขายที่เกิดในหุ้นตัวนั้น ๆ เกิดจากการเก็งกำไรหรือเป็นขายหุ้นเพราะปัจจัยพื้นฐานในหุ้นตัวนั้นที่เปลี่ยนแปลงไปค่ะ เพราะถึงแม้ว่าถ้าเอากฎ Uptick Rule มาใช้แต่แนวโน้มธุรกิจหรือเศรษฐกิจไม่ดี นักลงทุนก็ยังคงจะขายหุ้นตัวนั้นอยู่ดีค่ะ 

สุดท้ายแล้วถ้าตลาดหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยบวก เศรษฐกิจยังไม่โต GDP ยังถูกปรับลด และยังคงมีความไม่แน่นอนทางการเมือง ตลาดหุ้นไทยก็จะยังไม่มีปัจจัยบวกอะไรที่จะสามารถดึงเงินนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติให้กลับเข้ามาลงทุน Fund Flow ต่างชาติก็ยังไม่กลับมาค่ะ เพราะท้ายที่สุดแล้วการลงทุนในหุ้นก็จำเป็นต้องนำเอาปัจจัยพื้นฐานเข้ามาพิจารณาประกอบด้วยเสมอค่ะ

คู่บ้าน คู่เมือง พระแก้วนพรัตน์เมืองอุบล ๖ จาก ๙ พระพุทธรูปสำคัญ ตำนานความศักดิ์สิทธิ์แห่งราชธานีอีสาน (ภาค ๒)

จากครั้งที่แล้วได้เขียนเล่าถึงพระแก้วคู่บ้าน คู่เมือง ‘อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชฯ’ พระที่สร้างขึ้นจากแก้ว ๙ ประการ คือ เพชร มณี มรกต บุษราคัม โกเมน นิลกาฬ มุกดา เพทาย และไพฑูรย์ 

“เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต 
เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก 
สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว 
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” 

ซึ่งอุบลฯ มี ‘พระแก้ว’ ประดิษฐานอยู่ถึง ๖ องค์ ทั้งยังเชื่อว่าอีก ๓ องค์ก็มีอยู่เพียงแต่ยังค้นหาไม่พบ โดยตอนที่แล้วได้เล่าถึงพระแก้ว ๓ องค์สำคัญอันได้แก่...

องค์ที่ ๑ ‘พระแก้วบุษราคัม’ ประดิษฐาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) 
องค์ที่ ๒ ‘พระแก้วไพฑูรย์’ ประดิษฐาน ณ วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล 
องค์ที่ ๓ ‘พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง’ ประดิษฐาน ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร 

ในตอนนี้ผมจะมาเล่าถึงพระแก้วอีก ๓ องค์และข้อสันนิษฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับพระแก้วทั้ง ๙ ของอุบลราชธานี เชื่อว่าเมื่อคุณได้อ่านจบแล้วคงจะได้ไปสักการะพระปฏิมาทุกองค์ให้ครบถ้วนเป็นสิริมงคลเป็นแน่แท้ 

พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม 

องค์ที่ ๔ ‘พระแก้วโกเมน’ ประดิษฐาน ณ วัดมณีวนาราม (วัดป่าน้อย) ผู้สร้างวัดคือ อุปฮาดก่ำ โอรสของ ‘พระปทุมวรราชสุริยวงศ์’ (เจ้าคำผง) ซึ่งในอดีตเป็นวัดที่อยู่ห่างจากเขตเขื่อนคูเมือง จึงเรียกกันว่า วัดป่ามณีวันบ้าง วัดป่าน้อยบ้าง 

‘พระแก้วโกเมน’ ตามตำนานเล่ากันมาว่าเป็นพระแก้วที่สร้างขึ้นในยุคเดียวหรือในคราวเดียวกับพระแก้วบุษราคัม สร้างขึ้นจากแก้วสีน้ำหมอก (สีม่วง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง ๔ นิ้ว สูงประมาณ ๕ นิ้ว สถิต ณ วัดป่าน้อยมาแต่แรกเริ่ม จนในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ จึงได้นำพระแก้วโกเมนออกไปประดิษฐานไว้อย่างลับ ๆ ณ วัดแห่งหนึ่ง พร้อมทำผอบไม้จันทน์ครอบพระแก้วไว้  ภาษาอีสานเรียกว่า ‘งุม’ วัดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วโกเมนในครั้งนั้น จึงถูกเรียกว่า ‘วัดกุดละงุม’ ซึ่งอยู่ที่ อ.วารินชำราบ ในปัจจุบัน 

ครั้นเมื่อสงครามสงบจึงได้อัญเชิญ ‘พระแก้วโกเมน’ กลับมาประดิษฐาน ณ วัดมณีวนารามอีกครั้ง แต่ก็ยังรักษาความลับไว้ เนื่องจากพระแก้วโกเมนถือว่าเป็นสำคัญของเมืองอุบล จึงได้รักษาไว้อย่างห่วงแหน เจ้าอาวาสของวัดมณีวนาราม ทุกรูปจึงเก็บรักษาองค์พระไว้ในตู้นิรภัย มิได้นำมาญาติโยมทั่วไปได้สักการะกัน จนกระทั่งมาถึงยุคเมื่อสิ้น หลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมการวัดจึงได้ขออนุญาตอัญเชิญพระแก้วโกเมนลงมาประดิษฐานให้ประชาชนได้สักการะและได้สรงน้ำในวันวิสาขบูชาของทุกปี 

พระแก้วนิลกาฬ วัดเลียบ

องค์ที่ ๕ ‘พระแก้วนิลกาฬ’ ประดิษฐาน ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี ‘วัดเลียบ’ มีที่มาของชื่อวัดจากสถานที่การสร้างวัดที่สร้างเลียบคันคูเมือง เคยถูกปล่อยให้เป็นวัดร้างจนพระครูวิเวกพุทธกิจ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) ได้มาบุกเบิกบูรณะวัดขึ้นใหม่ นับเป็นวัดต้นธารแห่งการปฏิบัติธรรมสายวิปัสสนากรรมฐาน

‘พระแก้วนิลกาฬ’ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยทำจาก ‘แซฟไฟร์สีน้ำเงินเข้ม’ ถูกค้นพบอยู่ในกล่องไม้สักโบราณบนฝาเพดานกุฎิสุขสวัสดิ์มงคล กุฎิหลังเก่าของวัด โดย พระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือประมาณ ๒๐ กว่าปีมานี้เอง ซึ่งท่านได้พบพระพุทธรูป ๓ องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปบุเงิน ๒ องค์ และพระแก้วนิลกาฬ ๑ องค์  โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้อัญเชิญพระแก้วนิลกาฬออกมาให้ประชาชนได้สรงน้ำในทุกสงกรานต์ 

พระแก้วมรกต วัดเลียบ

องค์ที่ ๖ ‘พระแก้วมรกต’ ประดิษฐาน ณ วัดเลียบ อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระแก้วองค์นี้มีพุทธลักษณะคล้ายพระแก้วโกเมน วัดป่าน้อย แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่แน่ชัดนัก โดยพระครูอุบลคณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ บอกว่ามีโยมมาถวายไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕

จากที่ได้เล่าและนำเสนอมายังเป็นข้อมูลคร่าว ๆ ที่ยังไม่ได้เจาะลึกนัก ทั้งนี้พระแก้วบางองค์อาจจะมีที่มาที่ชัดเจน แต่บางองค์แม้จะเก่าแก่แต่ก็ยังมีแค่ตำนานรองรับ ส่วนพระแก้วองค์อื่น ๆ ในอุบลฯ และในอดีตเป็นอำเภอหนึ่งของอุบลราชธานีมีองค์พระที่น่าสนใจดังนี้ 

พระแก้วมณีแดง วัดมหาวนาราม 

‘พระแก้วมณีแดง’ ประดิษฐาน ณ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) อำเภอเมืองอุบลราชธานี พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ได้สร้างวัดแห่งนี้ขึ้นเนื่องจากดำริให้เป็นวัดที่เหมาะแก่การปฏิบัติสมณธรรมโดยเริ่มแรกจัดสร้างขึ้นเป็นสำนักสงฆ์ ในปีพ.ศ. ๒๓๒๒ แต่ยังมิแล้วเสร็จเป็นวัด พระปทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ก็ได้อนิจกรรมลงเสียก่อน พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าพรหม) จึงได้มาดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๕๐ โดยมีพระมหาราชครูศรีสัทธรรมวงศาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ซึ่งท่านเป็นผู้สร้างพระพุทธรูป ‘พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง’

‘พระแก้วมณีแดง’ ปกติจะประดิษฐานภายในกุฏิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ ป.ธ. ๙) แต่ในทุกสงกรานต์ได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นการชั่วคราวบริเวณข้างพระวิหารพระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง โดยเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล

สำหรับพระแก้วเก่าแก่ที่ประดิษฐานอยู่ในจังหวัดบ้านใกล้เรือนเคียงของอุบลราชธานี คือจังหวัดยโสธร ถ้าเราจะไม่นำมาเล่าก็คงจะกระไรอยู่ อย่ากระนั้นเลยผมจึงขอยกเรื่องราวสั้น ๆ ของ ‘พระพุทธบุษยรัตน์’ หรือ ‘พระแก้วหยดน้ำค้าง’ มาเพิ่มเติมด้วยดังนี้ 

พระพุทธบุษยรัตน์ วัดมหาธาตุ ยโสธร

‘พระพุทธบุษยรัตน์’ หรือ ‘พระแก้วหยดน้ำค้าง’ วัดมหาธาตุ จังหวัดยโสธร เป็นเป็นพระพุทธรูปโปร่งแสงปางสมาธิ เป็นศิลปะสมัยเชียงแสน ทำจากหินเขี้ยวหนุมาน ขนาดหน้าตักกว้าง ๑.๙ นิ้ว สูง ๒ นิ้ว ประวัติความเป็นมาของพระแก้วองค์นี้ มี ๒ เรื่อง คือ เรื่องที่ ๑ เล่ากันว่าว่าเป็นสมบัติของ ‘เจ้าพระวิชัยราชขัตติยวงศา’ เจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์ ได้รับมรดกจากบรรพบุรุษ นำมาประดิษฐานที่ยโสธร ตั้งแต่สมัยเป็นหมู่บ้านสิงห์ท่า เมืองยศสุนทร เพื่อเป็นพระพุทธรูปคู่กับ ‘พระแก้วบุษราคัม’ แห่งเมืองอุบลราชธานี ส่วนเรื่องที่ ๒ เล่าว่า สมัยรัชกาลที่ ๓ ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ มีพระยาราชสุภาวดี (ภายหลังเลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์)) เป็นแม่ทัพใหญ่ยกไปปราบ 

ในครั้งนั้นได้ตั้งกองทัพที่เมืองยโสธร และได้ความช่วยเหลือจากพระสุนทรราชวงศา (ฝ่าย) ร่วมรบจนมีชัยชนะ รัชกาลที่ ๓ จึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระแก้วหยดน้ำค้างองค์นี้พร้อมกับเจ้านางเมืองเวียงจันทน์ และปืนใหญ่ เพื่อเป็นรางวัล 

เดิมยโสธร ถูกรวมเข้าอยู่ในสังกัดมณฑลลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ (มณฑลลาวกาว) ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๓ และกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ จอมพลถนอม กิตติขจร ได้สั่งการตามประกาศของคณะปฏิวัติ ให้แยกอำเภอยโสธร อำเภอกุดชุม อำเภอเลิงนกทา อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอป่าติ้ว ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี แล้วรวมกันตั้งเป็นจังหวัดยโสธร

ในท้ายสุดนี้แม้ว่าพระแก้วบางองค์จะยังมีประวัติไม่ชัดเจนตามที่ผมได้เล่าไปแล้ว แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตจะมีความชัดเจนขึ้น และน่าจะมีพระแก้วศักดิ์สิทธิ์อีกหลายองค์ได้บังเกิดขึ้นอีกเป็นแน่ ตราบเท่าที่ศาสนาพุทธยังคงอยู่คู่บ้านเมืองเรา และตราบเท่าที่เมืองราชธานีแห่งอีสานอย่าง ‘อุบลราชธานี’ ยังคงเป็นดอกบัวใหญ่สวยสง่าคู่บ้านเมืองของเราสืบไป

เปิด ‘10 สถานที่’ ที่มีผู้คนไปเยือนน้อยที่สุด สอดแทรกความงาม - ควรค่าแก่การท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยสำคัญของการใช้ชีวิตยุคใหม่ และส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ มากมายหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สเปน อินเดีย กรีซ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนหลายล้านคนต่อปี ในขณะที่จุดหมายปลายทางอื่น ๆ มีนักท่องเที่ยวน้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด ในทุกปี ‘กรุงเทพมหานคร’ ประเทศไทย เป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก ประมาณ 22 ล้านคน และ ‘กรุงปารีส’ ประเทศฝรั่งเศส ตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 17.4 ล้านคนต่อปี

อย่างไรก็ตาม มีจุดหมายปลายทางที่มีความถี่ไม่มากนัก และมีปัจจัยหลายประการที่ทำให้จุดหมายปลายทางเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างจำกัด ตัวอย่างเช่น เกาะต่าง ๆ ที่กระจัดกระจายทั่วมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอาจเผชิญกับความท้าทายในเรื่องของระยะทางไกล ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงและใช้เวลานานกว่าจะเดินทางไปถึง หรือประเทศอื่น ๆ ที่แม้จะอยู่ใกล้ แต่ก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไปหรือขาดสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ รวมทั้งปัญหาจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ยังด้อยพัฒนาอาจเป็นอุปสรรคในด้านการคมนาคมขนส่งและขนาดที่เล็ก ทำให้มีการจำกัดจำนวนของนักท่องเที่ยว 

นอกจากนี้ บางประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ ถูกมองว่าการไปเยือนมีความเสี่ยง ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่แท้จริงที่เกิดจากความไม่มั่นคงทางการเมืองหรือความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ เช่น โซมาเลีย

สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศที่ดึงดูดนั้นไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กับความสมบูรณ์ของประสบการณ์การเดินทางเสมอไป นอกเหนือจากประเทศที่ก่อให้เกิดข้อกังวลด้านความปลอดภัยแล้ว ประเทศที่ไม่ค่อยมีคนไปเยือนนั้นมักจะสามารถรักษาความงาม ความเงียบสงบ ได้อย่างแท้จริง 

Tuvalu เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวน้อยที่สุดในโลก เพียง 3,700 คนในปี 2023 โดย Tuvalu เป็นประเทศหมู่เกาะอันเงียบสงบในมหาสมุทรแปซิฟิก ตามรายงานของนิตยสาร CEOWORLD ประเทศนี้มีประชากรเพียง 12,000 คน การท่องเที่ยวของประเทศมุ่งเน้นไปยังเรื่องราวของน้ำทะเลสีฟ้าสวยงาม ชายหาดที่มีต้นปาล์มพลิ้วไหว การดำน้ำตื้น และการดำน้ำลึก แนวปะการัง ทะเลสาบ และแหล่งที่อยู่อาศัยทางทะเลในพื้นที่อนุรักษ์ขนาด 33 กม.² (12.74 ไมล์²) ซึ่งเป็นที่ที่เต่าทะเลเจริญเติบโต ทำให้ที่นี่มีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น ชายหาดเหล่านี้เหมาะสำหรับการปิกนิก เดินเล่นสบาย ๆ ล่องเรือยอร์ช ทัวร์มอเตอร์ไซค์ เยี่ยมชมร้านเบเกอรี่ในท้องถิ่น เยี่ยมชมหอสมุดแห่งชาติ และสถานที่ประวัติศาสตร์จากยุคสงครามโลกครั้งที่สอง

หมู่เกาะ Marshall (Marshall Islands) มีนักท่องเที่ยวเพียง 6,100 คนในปี 2023 หมู่เกาะภูเขาไฟแห่งนี้ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ระหว่างฟิลิปปินส์และฮาวาย มีชื่อเสียงจากหาดทรายสีขาวบริสุทธิ์ น้ำทะเลใสดุจคริสตัล และสิ่งมีชีวิตทางทะเลและพืชพรรณที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงปะการังมากกว่า 160 สายพันธุ์ หมู่เกาะ Marshall มีประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่สองที่สำคัญเนื่องจากเคยเป็นฐานทัพของญี่ปุ่นก่อนที่จะกลายเป็นสถานที่สำหรับทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับ Tuvalu หมู่เกาะ Marshall กำลังตกอยู่ในสภาวะอันตรายอันเนื่องมาจากน้ำทะเลที่สูงขึ้น อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

เกาะ Niue ตั้งอยู่ในแปซิฟิกใต้และเป็นหนึ่งในประเทศที่เล็กที่สุดในโลก ด้วยสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะปะการังยกสูงที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว 10,200 คนในปี 2023 สิ่งที่ทำให้ Niue มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือการไม่มี “ผู้คนที่พลุกพล่าน คิวที่ยาวเหยียด สัญญาณไฟจราจร หรือชีวิตที่วุ่นวาย” นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ว่ายน้ำ ดำน้ำตื้น ดำน้ำลึก พายเรือคายัค ทัวร์ ATV ขับเคลื่อน 4 ล้อ และเดินป่าแบบสบาย ๆ ผ่านภูมิประเทศต่าง ๆ เช่น ชายหาด ป่าฝน สวน และฟาร์มวานิลลา มีเที่ยวบินเข้าและออกจากเกาะ Niue เพียงสัปดาห์ละเที่ยวบินเดียว ดังนั้นจึงต้องวางแผนการเดินทางให้เหมาะสม

Kiribati เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นประเทศเดียวที่ตัดผ่านซีกโลกทั้งสี่ มีนักท่องเที่ยวเพียง 12,000 คนในปี 2023 เป็นจุดหมายปลายทางที่ยอดเยี่ยมสำหรับการตกปลา เล่นกระดานโต้คลื่น สำรวจสถานที่สำคัญในยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และดูนก เกาะเล็กเกาะน้อย และเกาะปะการังทั้ง 33 เกาะของประเทศ เปิดโอกาสให้ดำน้ำลึกและดำน้ำตื้นในพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเกาะฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นเกาะพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก Kiribati เป็นจุดหมายปลายทางที่ยังคงความเป็นธรรมชาติแต่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งเหมาะสำหรับนักเดินทางผู้หลงใหลในการสำรวจและการผจญภัยนอกเส้นทางที่ไม่มีใครเคยรู้จัก สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งชาติ Kiribati ยืนยันว่า Kiribati เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการทำความเข้าใจกับประเทศ Kiribati ไม่ใช่เพียงเพื่อแวะผ่านเท่านั้น

Micronesia ตั้งอยู่ระหว่างหมู่เกาะ Marshall และ Palau มีนักท่องเที่ยว 18,000 คนในปี 2023 เป็นประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอีกแห่งหนึ่งที่เต็มไปด้วยเศษซากของสงครามโลกครั้งที่สอง ชายหาดที่มีแสงแดดส่องถึง เหมาะสำหรับการตกปลาและเล่นกระดานโต้คลื่น และสัมผัสความมหัศจรรย์ทางทะเลที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านแนวปะการังระดับโลกและซากเรืออับปางในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เส้นทางเดินป่าตัดผ่านภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยความงามอันเขียวชอุ่ม ในขณะที่ใจกลางเมืองใน Micronesia เต็มไปด้วยสถานบันเทิงยามค่ำคืนที่มีชีวิตชีวา

หมู่เกาะ Montserrat จะต่างจากหมู่เกาะแปซิฟิก โดยเป็นประเทศแรกที่มีผู้เยี่ยมชมน้อยภายนอกภูมิภาคนี้ ตั้งหมู่เกาะนิ้งอยู่ในแคริบเบียนทางตะวันออกของอเมริกากลาง มีนักท่องเที่ยว 19,300 คนในปี 2023 ซึ่งครั้งหนึ่ง Montserrat เคยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม แต่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงด้วยการระเบิดของภูเขาไฟในปี 1995 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะต่อเมืองหลวงอย่างกรุง Plymouth หายนะครั้งนี้ทำให้ประชากรประมาณสองในสามของเกาะ Montserrat ต้องย้ายไปอยู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ในขณะที่ภูเขาไฟของเกาะยังคงคุกรุ่นอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วสงบนิ่งมาตั้งแต่ปี 2010 tพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตอนใต้ของ Montserrat ยังคงเป็นเขตหวงห้าม    

หมู่เกาะ Solomon อดีตอาณานิคมของอังกฤษ อยู่ทางตะวันออกของปาปัวนิวกินี ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 29,000 คน หมู่เกาะประกอบด้วยเกาะมากกว่า 900 เกาะ แม้ว่าเสน่ห์ของการดำน้ำ การดำน้ำตื้น และการพายเรือคายัคจะมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่หลงเหลือจากสงครามโลกครั้งที่สองก็ยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ

Sao Tome and Principe ตั้งอยู่ในอ่าวกินีนอกชายฝั่งตะวันตกของแอฟริกากลาง ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวประมาณ 34,900 คน เป็นประเทศเกาะที่มีความสวยงามที่ไม่มีใครเทียบได้ ประกอบด้วยหมู่เกาะสองแห่งที่ล้อมรอบเกาะหลัก ประเทศนี้ถือเป็นกลุ่มแอฟริกาที่เล็กเป็นอันดับสอง โดยมีความหนาแน่นของประชากร 187 คนต่อตารางกิโลเมตร (4858o/ตารางไมล์) กรุง Sao Tome เมืองหลวงมีประชากรประมาณ 58,000 คน

Comoros หมู่เกาะภูเขาไฟที่อยู่นอกชายฝั่งแอฟริกาตะวันออก มีนักท่องเที่ยวมาเยือนเพียง 45,000 คนในปี 2023 ตั้งคั่นกลางระหว่างมาดากัสการ์และชายฝั่งโมซัมบิก มีความแตกแยกทางการเมืองระหว่างสหภาพ Comoros และ Mayotte ซึ่งเป็นหน่วยงานโพ้นทะเลของฝรั่งเศส ความวุ่นวายทางการเมืองได้ขัดขวางการเติบโตของการท่องเที่ยว เพราะทำให้หมู่เกาะนี้มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ค่อนข้างจำกัด

Guinea Bissau ครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส ตั้งอยู่ระหว่างเซเนกัลและกินี เป็นที่ซ่อนขุมทรัพย์แห่งประวัติศาสตร์ ชายหาดอันบริสุทธิ์ ป่าอันเขียวชอุ่ม และสัตว์ป่า ในปี 2023 มีนักท่องเที่ยวมาเยือน 52,000 คน อย่างไรก็ตาม ความไม่มั่นคงทางการเมืองและความท้าทายทางเศรษฐกิจกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการท่องเที่ยว คำแนะนำอย่างเป็นทางการสะท้อนถึงข้อควรระวัง โดยอ้างอิงถึงการเก็บกวาดทุ่นระเบิดและข้อกังวลด้านความปลอดภัยเป็นระยะ ๆ แม้จะมีอุปสรรคเหล่านี้ แต่ในปัจจุบันความสงบสุขได้แผ่ขยายไปทั่วประเทศ ทำให้เกิดความหวังสำหรับการท่องเที่ยวในอนาคตที่น่าจะสดใสยิ่งขึ้น

สำหรับบ้านเรา แม้ว่าปัจจุบัน ‘กรุงเทพมหานคร’ จะเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลก มากถึง 22 ล้านคน แม้การเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลกจะยากมากแล้ว แต่การรักษาตำแหน่งเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเยี่ยมชมมากที่สุดในโลกนั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้นพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนต้องร่วมมือและร่วมใจกันเพื่อเสริมสร้างความพึงพอใจให้กับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ‘ความปลอดภัย’ ‘การบริการ’ ‘สิ่งอำนวยความสะดวก’ และสำคัญที่สุดคือ ‘อัธยาศัยที่ดีที่เต็มเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพและน้ำใจไมตรี’

รู้จัก 'บทบาท-หน้าที่' ธนาคารโลก ทำไมถึงปรับเป้า GDP ไทย-ประเทศอื่นๆ ได้

จากข่าวล่าสุดที่ทาง World Bank หรือธนาคารโลกได้ออกมาประกาศปรับเป้า GDP ไทยปี 2024 ลง เหลือโตเพียงแค่ +2.4% หลังจากได้มีการปรับลดก่อนหน้าลงมาในเดือนเมษายนเหลือ +2.8% ทั้งๆ ที่ต้นปีธนาคารโลกเองเคยมองว่าไทยจะมีการเติบโตอยู่ที่ระดับสูงถึง +3.2% และปรับเป้า GDP ปี 2568 เหลือเพียงแค่ +2.9%

ว่าแต่ World Bank มีหน้าที่อะไร? ทำไมถึงมาปรับเป้า GDP ไทยและประเทศอื่นๆ ในโลก?

โดยประวัติความเป็นมาของธนาคารโลกนี้ ถูกจัดตั้งมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในตอนนั้น การจัดตั้งธนาคารโลก เป็นไปเพราะต้องการเป็น 'แหล่งกู้ยืมเงิน' ให้กับประเทศสมาชิก เพื่อนำเอาไปใช้ในการฟื้นฟูประเทศหลังจากสงครามโลกค่ะ แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการให้เงินกู้แก่ประเทศในโลกที่สามเป็นสำคัญ

ธนาคารโลกก่อตั้งขึ้นมาในปี ค.ศ.1944 ในการประชุมที่เบร็ตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมเชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในการประชุมดังกล่าวมีการร่างกฎบัตรขึ้นมาสองฉบับสำหรับธนาคารโลกหรืออีกชื่อหนึ่งคือ ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development-IBRD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) และได้มีการรวมสถาบันการเงินอื่นๆ อีก 3 หน่วยงานได้แก่ 1) บริษัทการเงินระหว่างประเทศ, 2) สมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ, 3) องค์การประกันการลงทุนหลายฝ่าย แล้วเรียกรวมกันว่า 'ธนาคารโลก' หรือ World Bank 

โดยในช่วงแรกมีประเทศสมาชิกเพียงแค่ 38 ประเทศ แต่ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 189 ประเทศ ซึ่งมี ซูดานใต้ เป็นประเทศที่ 189 ที่เข้าร่วมในปี 2012 ส่วนประเทศไทยเองเข้ามาเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 ด้วยลำดับสมาชิกที่ 47 ค่ะ

นอกจากธนาคารโลกจะมีหน้าที่ช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการให้กู้ยืมเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และระยะยาวแล้ว ยังช่วยค้ำประกันเงินกู้ทำให้ประเทศที่กู้เงินสามารถได้รับอัตราดอกเบี้ยในเรทที่ต่ำได้ และให้คำปรึกษารวมให้ความรู้กับประเทศสมาชิก รวมถึงกระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศค่ะ 

ดังนั้น สาเหตุหลักในการปรับเป้า GDP ไทย เพราะธนาคารโลก มองว่า การส่งออกและการลงทุนภาครัฐไทยดูมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เนื่องมาจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณปี 2567 และไทยเองก็ยังมีหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเรื่องความไม่แน่นอนทางการเมือง แถมยังมีปัญหาใหญ่ที่รออยู่นั่นก็คือ ปัญหาทางโครงสร้างประชากรที่ไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วยค่ะ โดยการปรับตัวเลข GDP นี้ ยังไม่ได้มีการรวมเอาโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เพราะถ้าเป็นไปตามที่รัฐบาลคาดไว้ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเข้ามาช่วยเพิ่ม GDP ไทยได้ราว 1% เพียงแต่จะแลกมาด้วยหนี้สาธารณะที่สูงขึ้นตามมา 

ส่วนในเรื่องการฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นกลไกหลักในการสร้างรายได้และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถูกมองว่าจะกลับไปที่ระดับก่อนโควิดระบาดได้ในช่วงกลางปี 2568 ขณะที่เรื่องการส่งออกไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออก ก็จะได้อานิสงส์จากการค้าโลกที่เติบโตดีขึ้นด้วยค่ะ

นอกจากประเทศไทยแล้ว ธนาคารโลกก็ยังปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียงแค่ 2.6% ในปีนี้ ซึ่งได้แรงหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market และประเทศกำลังพัฒนาจะขยายตัวลดลงจากปี 2566 มาอยู่ที่ระดับ 4.2% ... จีนจะขยายตัวลดลงจากปีที่แล้วที่ระดับ 5.2% มาอยู่ที่ระดับ 4.8% และเศรษฐกิจแถบยูโรโซนที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ระดับ 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 0.7% ค่ะ

ย้อนประวัติศาสตร์การล่มสลายของ ‘ราชอาณาจักรฮาวาย’ ถูกโค่นโดยนายทุน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ ‘สหรัฐอเมริกา’


มลรัฐฮาวาย (Hawaii) เป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะฮาวายในมหาสมุทรแปซิฟิก ฮาวายได้รวมเข้ากับสหรัฐอเมริกาเป็นมลรัฐลำดับสุดท้ายคือลำดับที่ 50 ในวันที่ 21 สิงหาคม 1953 โดยฮาวายอยู่ห่างจากชายฝั่งแผ่นดินใหญ่สหรัฐอเมริกาประมาณ 3,700 กม. (2,300 ไมล์) แต่เดิมฮาวายถูกเรียกว่า ‘หมู่เกาะแซนด์วิช’ (Sandwich Islands) ชื่อนี้ถูกตั้งโดย ‘เจมส์ คุก’ เมื่อเขาแล่นเรือมาพบเกาะในปี 1778) มีจำนวนประชากรราว 1,455,271 คน (ข้อมูลปี 2015) โดยมีนครโฮโนลูลูเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ ภาษาทางการของรัฐคือ ภาษาอังกฤษ และ ภาษาฮาวาย ฮาวายได้มีชื่อเล่นของรัฐว่า ‘รัฐอโลฮา’ (Aloha State) ซึ่งคำว่า ‘อโลฮา’ เป็นคำทักทายในภาษาฮาวาย มีความหมายถึง ‘สวัสดี’ หรือ ‘ลาก่อน’ (ใช้ตามแต่โอกาส)


อย่างไรก็ตาม มลรัฐฮาวายประกอบไปด้วยเกาะสำคัญๆ 8 เกาะ ซึ่งก็คือ (1) Ni’ihau, (2) Kauai, (3) Oahu เป็นที่ตั้งเมืองหลวงคือ นครฮอนโนลูลู เป็นเมืองใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของสหรัฐฯ, (4) Maui, (5) Molokai เนื้อที่ 260 ตารางไมล์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นคนพื้นเมืองฮาวาย, (6) Lanai, (7) Kaho’olawe และ (8) Hawaii หรือ Big Island เป็นเกาะที่มีเนื้อที่มากที่สุดคือ 4,000 ตารางไมล์


(ธงชาติของราชอาณาจักรฮาวาย)

โดย มลรัฐฮาวาย แต่เดิมคือราชอาณาจักรฮาวาย (Kingdom of Hawaii) เป็นราชอาณาจักรที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี 1795 และล่มสลายไปประมาณปี 1893 - 1894 ราชอาณาจักรฮาวายก่อตั้งขึ้นโดย พระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช หลังจากที่พระองค์ทรงชนะสงครามที่ยาวนานถึง 15 ปี พระองค์ได้ปราบดาภิเษกตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรก ราชอาณาจักรฮาวายมีระบอบการปกครองแบบมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่ปี 1795 จนกระทั่งปี 1840 และ ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี 1840 จนกระทั่งปี 1893 ราชวงศ์คาเมฮาเมฮาปกครองฮาวายในช่วงเวลาตั้งแต่ปี 1810 ถึงปี 1893 ราชอาณาจักรฮาวายปกครองโดยอีกสองราชวงศ์คือ ราชวงศ์คาเมฮาเมฮา และ ราชวงศ์คาลาคาอัว หลังจากพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 สวรรคต พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 2 พระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรสก็ทรงปกครองฮาวายต่อมาตามลำดับ ช่วงเวลานี้สมเด็จพระราชินีลิโฮลิโฮ พระอัครมเหสีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 1 ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการ และมีคูฮินา นูอิทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล (คล้ายกับนายกรัฐมนตรี)


(พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

ทั้งนี้ พระเจ้าลูนาลิโลแห่งฮาวาย (ราชวงศ์คาลาคาอัว) ทรงไม่มีรัชทายาท รัฐสภาแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงต้องเลือกระหว่างสมเด็จพระราชินีเอ็มมา นาเอ รูก พระราชินีในพระเจ้าคาเมฮาเมฮาที่ 4 กับเดวิด คาลาคาอัว ในระหว่างการตัดสินนั้นเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นมากมาย จนในที่สุด ‘เดวิด คาลาคาอัว’ ก็ได้ครองราชย์บัลลังก์ฮาวาย ทรงพระนามว่า ‘พระเจ้าคาลาคาอัวที่ 1 แห่งฮาวายง เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง พระองค์จึงต้องประกาศแต่งตั้งรัชทายาท พระองค์จึงทรงแต่งตั้งให้เจ้าหญิงลีลีโอกาลานี พระขนิษฐาของพระองค์ให้เป็นรัชทายาทสืบบัลลังก์


(สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวาย)

การล่มสลายของราชอาณาจักรฮาวาย เกิดขึ้นภายหลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายครองราชย์ ด้วยเพราะ นักธุรกิจชาวยุโรปและชาวอเมริกันส่วนใหญ่ต่างไม่พอใจการปกครองของพระองค์ เนื่องจากพวกเขาต้องการผนวกฮาวายให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเพื่อที่จะสามารถกอบโกยผลประโยชน์จากการค้าน้ำตาลในฮาวายให้ได้มาก ๆ  (สหรัฐฯ นำเข้าน้ำตาลจากฮาวายมากที่สุด โดยนายทุนใหญ่ ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นชาวอเมริกัน) จึงเริ่มกระบวนการการผนวกฮาวาย โดยเริ่มจากการจัดตั้ง ‘คณะกรรมาธิการความปลอดภัย’ ขึ้นเพื่อต่อต้านและต่อสู้กับสมเด็จพระราชินีฯ จนในที่สุดรัฐบาลสหรัฐได้ส่งเรือรบพร้อมนาวิกโยธินเข้ามายึดฮาวาย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy* ทำให้สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีและพระราชวงศ์ฮาวายไม่อาจต้านทานได้ การปฏิวัติฮาวาย เกิดขึ้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 1893 โดย ‘แซนฟอร์ด บี ดอล’ และพรรคพวกได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลฮาวายขึ้น เพื่อปกครองฮาวายจนกว่าจะถูกผนวกเข้ากับสหรัฐอเมริกา พวกเขาจับกุมพระราชินีและพระราชวงศ์และสั่งจำคุก จากนั้นก็ประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐฮาวาย ราชอาณาจักรฮาวายถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 7 กรกฎาคม 1898 โดยฮาวายได้รับการอนุมัติให้เป็นส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในสมัยประธานาธิบดีวิลเลียม แมกคินลีย์ จึงถือเป็นการสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการของราชอาณาจักรฮาวาย
*อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘นโยบายเรือปืนหรือ Gunboat policy’ https://thestatestimes.com/post/2024042211


(พิธีเชิญธงชาติสหรัฐฯ ขึ้นสู่ยอดเสาหน้าพระราชวังโอลานิ หลังจากสหรัฐฯ ยึดครองฮาวายได้สำเร็จ)

สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานี ทรงถูกจับกุมเมื่อ 16 มกราคม 1895 พระองค์ถูกตัดสินให้จำคุก 5 ปี ทำงานหนัก และปรับ 5,000 ดอลลาร์ โดยพระองค์ถูกขังในพระราชวังโอลานิ ผู้สนับสนุนพระองค์ถูกตัดสินจำคุกทั้งหมด รวมทั้งรัฐมนตรีโจเซฟ นาวาฮี เจ้าชายคาวานานาโคอา โรเบิร์ต วิลค็อก และเจ้าชายโจนาห์ คูฮิโอ พระองค์ทรงถูกกักบริเวณในที่พักเป็นเวลาหนึ่งปี และในปี 1896 สาธารณรัฐฮาวายก็คืนสิทธิการเป็นพลเมืองแก่พระองค์ หลังจากพ้นโทษ พระองค์ก็ทรงอาศัยอยู่ที่พระราชวังวอชิงตันจนกระทั่งเสด็จสวรรคตในเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 1917 เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดสมอง พระบรมศพของพระองค์ได้รับการจัดพิธีฝังอย่างสมพระเกียรติในฐานะอดีตประมุขแห่งรัฐ โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ถูกบริจาคให้ "กองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีเพื่อเด็กกำพร้าและยากจน" ซึ่งกองทุนสมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานียังคงมีอยู่ในปัจจุบัน สมเด็จพระราชินีนาถลีลีโอกาลานีแห่งราชอาณาจักรฮาวายจึงเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายที่ปกครองราชอาณาจักรฮาวาย โดยครองราชย์เพียง 2 ปี


(Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)


(Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele หนึ่งในสองของผู้อ้างสิทธิสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายในปัจจุบัน)

อย่างไรก็ตาม ต่อมา (1) Owana Kaʻōhelelani Mahealani-Rose Salazar บุตรีของเจ้าหญิง Helena Kalokuokamaile Wilcox แห่งราชวงศ์ Kalokuokamaile และ (2) Dennis ‘Bumpy’ Pu'uhonua Kanahele ผู้นำชาตินิยมฮาวาย และมีตำแหน่งเป็นประมุขแห่งรัฐของกลุ่ม Nation of Hawai'i เป็นหัวหอกในการก่อตั้ง Pu'uhonua o Waimānalo หมู่บ้านวัฒนธรรมฮาวาย และโครงการฟื้นฟูการเกษตรแบบดั้งเดิมของ Lo'i kalo (taro paddy) ใน Waimānalo, Hawai'i Pu'uhonua ซึ่งภาษาฮาวายมีความหมายว่า ‘สถานที่ศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘สถานที่หลบภัย’ โดยกลุ่ม Nation of Hawai'i ซึ่งทำหน้าที่บริหารหมู่บ้านถือว่าตัวเองเป็นรัฐบาลที่มีอธิปไตยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศโดยทำหน้าที่เป็นรัฐสืบต่อจากราชอาณาจักรฮาวายที่เป็นเอกราช ดังนั้นจึงไม่อยู่ภายใต้การปกครองของสหรัฐอเมริกา โดย Kanahele ได้อ้างตัวเป็นผู้สืบเชื้อสายของพระเจ้าคาเมฮาเมฮามหาราช ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980 และต้นทศวรรษที่ 1990 Kanahele กลายเป็นที่รู้จักกันในเรื่องของการเคลื่อนไหวเพื่ออำนาจอธิปไตยของฮาวาย ซึ่งต่อต้านกฎหมายของรัฐบาลกลางและความเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาอย่างเปิดเผย ทั้งสองต่างก็เป็นผู้อ้างสิทธิในการสืบสันตติวงศ์ของราชวงศ์ฮาวายจนปัจจุบัน 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 

เปิดตำนานพระแก้วนพรัตน์เมืองอุบลฯ (ตอน ๑) พระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์คู่ราชธานีแห่งอีสาน

หากจะพูดถึงจังหวัดอุบลราชธานี สิ่งแรกที่หลายคนคงนึกสงสัยก็คือทำไม? จังหวัดนี้ถึงมีคำว่า 'ราชธานี' ต่อท้าย 

เอาสั้น ๆ ก็เพราะก่อนจะมาเป็นส่วนหนึ่งของสยาม อุบลราชธานีเป็นนครเทียบเคียงได้กับจำปาศักดิ์และหลวงพระบาง มีเมืองบริวารขึ้นตรงหลายเมือง และผู้ครองเมืองก็เป็นเจ้านายสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเวียงจันทน์ ทั้งยังมีความดีความชอบในการปกครองและช่วยรบในช่วงกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ จึงได้รับการยกเป็นเมืองประเทศราชในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ว่า 'อุบลราชธานีศรีวนาลัยประเทศราชฯ' 

เอาประมาณนี้ก่อน ไว้จะมาเล่าให้ฟังในบทความถัด ๆ ไป 

สำหรับบทความนี้จะเล่าถึง 'พระแก้ว' คู่บ้าน คู่เมืองอุบลราชธานี พระที่สร้างขึ้นจากแก้ว ๙ ประการ คือ เพชร, มณี, มรกต, บุษราคัม, โกเมน, นิลกาฬ, มุกดา, เพทาย และไพฑูรย์ 

“เพชรดี มณีแดง เขื่องใสแสงมรกต 
เหลืองใสบุษราคัม ทองแก่กำโมเมนเอก 
สีหมอกเมฆนิลกาล มุกดาหารหมอกมัว 
แดงสลัวเพทาย สังวาลสายไพฑูรย์” 

ว่ากันว่าหากมีครบทั้ง ๙ บ้านเมืองนั้นจะเจริญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอุบลฯ มี 'พระแก้ว' ประดิษฐานอยู่ถึง ๖ องค์ ทั้งยังเชื่อว่าอีก ๓ องค์ก็มีอยู่ เพียงแต่ยังค้นหาไม่พบ การมีพระแก้วนพรัตน์อยู่อย่างครบถ้วน ก็อาจจะอนุมานได้ว่าการมี 'ราชธานี' ต่อท้ายก็เหมาะสมแล้ว ส่วนจะมีพระแก้วองค์ใดบ้างที่ประดิษฐานอยู่ในเมืองดอกบัวแห่งนี้ไปติดตามกัน

พระแก้วบุษราคัม

องค์ที่ ๑ 'พระแก้วบุษราคัม' ประดิษฐาน ณ วัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากบุษราคัมสีเหลือง ทึบทั้งแท่น ฐานหุ้มด้วยทองคำเป็นพระพุทธรูปโบราณ ฝีมือช่างสกุลเชียงแสน 

ตามประวัติเป็นสมบัติของ 'เจ้าปางคำ' แห่งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบน (ปัจจุบันคือ จังหวัดหนองบัวลำภู) เมื่อพระวอ พระตา อพยพจากเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน จึงอัญเชิญมาด้วย เดิมที 'พระประทุมวรราชสุริยวงศ์' (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองอุบลฯ คนแรก ซึ่งเป็นลูกหลานพระวอ พระตา  ได้สร้าง 'วัดหลวง' เป็นที่ประดิษฐาน 'พระแก้วบุษราคัม' พร้อมกับ 'พระแก้วไพฑูรย์' แต่เมื่อครั้งมีข้าหลวงจากกรุงเทพฯ มาตรวจราชการจึงได้นำพระพุทธรูปทั้ง ๒ ไปซ่อนไว้ เพราะเกรงว่าข้าหลวงจะอัญเชิญไปจากเมืองอุบลฯ 

ภายหลังเมื่อมีการสร้างวัดศรีทองแล้วเจ้าอุปฮาดโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงอัญเชิญพระแก้วทั้งสององค์ออกจากที่ซ่อน โดยถวาย 'พระแก้วบุษราคัม' แก่ อพระเทวธัมมี' (ม้าว) พระสงฆ์ชาวอุบลฯ ซึ่งเป็นลัทธิวิหารริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ซึ่งมาครองวัดเป็นรูปแรก เพราะเชื่อว่าข้าหลวง คงจะเกรงใจท่าน ไม่กล้าที่จะขอ 'พระแก้ว' ไปจากเมืองอุบลราชธานีเป็นแน่ ซึ่งในสมัยการปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้อัญเชิญ 'พระแก้วบุษราคัม' นี้เป็นประธานในการถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก 

พระแก้วไพฑูรย์

องค์ที่ ๒ 'พระแก้วไพฑูรย์' ประดิษฐาน ณ วัดหลวง ริมแม่น้ำมูล องค์พระแกะสลักจากหินธรรมชาติแสงส่องผ่านได้ ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง โดยอยู่ในความครอบครองของบรรพบุรุษเจ้านายเมืองอุบลมาแต่อดีต เดิมที 'พระปทุมวราชสุริยวงศ์' (เจ้าคำผง) ได้ถวาย 'พระแก้วไพฑูรย์' และ 'พระแก้วบุษราคัม' เพื่อประดิษฐานไว้คู่กัน ณ วัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแห่งแรกของอุบลราชธานี แต่ด้วยเหตุจากการมาของข้าหลวงดังที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงได้นำไปซ่อนไว้ เมื่อนำออกจากที่ซ่อนก็นำ 'พระแก้วบุษราคัม' ถวายแก่ 'พระเทวธัมมี' (ม้าว)

ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น เจ้านายเมืองอุบลราชธานีได้นำไปเก็บรักษาไว้เนื่องจากเป็นสมบัติอันล้ำค่าของบรรพบุรุษภายหลังจึงได้นำมาถวาย 'พระครูวิลาสกิจจาทร' (บัวสอน โอภาโส) เจ้าอาวาสวัดหลวงและประดิษฐานอยู่ที่วัดหลวงมาจนถึงปัจจุบันนี้ 

'พระแก้วไพฑูรย์' เป็นหนึ่งในแก้วรัตนชาติ คือ ไพฑูรย์ หากยกองค์พระขึ้นส่องจะเห็นเป็นคล้ายสายฝนหยาดอยู่ภายในองค์พระ อันมีนัยความหมายแห่ง 'ความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกตามฤดูกาล'

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง

องค์ที่ ๓ 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' ประดิษฐาน ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยแก้วผลึกสีขาว โดยในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๘๕ 'สมเด็จพระมหาวีรวงศ์'(อ้วน ติสโส) ได้ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏนาราม เพื่อควบคุมการก่อสร้างพระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม โดยท่านเจ้าพระคุณสมเด็จฯ  ได้รวบรวมพระพุทธธูปเก่าแก่จากหลายแห่ง เช่น พระพุทธรูปหินสมัยลพบุรี ๓ องค์ และโบราณวัตถุอื่นๆ จำนวนมาก โดยเฉพาะ 'พระแก้วขาว' องค์นี้ก็เป็นหนึ่งในพระที่ท่านรวบรวม แต่พิเศษจรงที่ท่านถือไว้อยู่เป็นประจำ ส่วนท่านจะได้มาอย่างไร ไม่ปรากฏชัด

จนมาในช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๕ เจ้าพระคุณสมเด็จ ฯ  ขึ้นมาจำพรรษาที่วัดสุปัฏนารามและได้มอบ 'พระแก้วขาว' องค์นี้ให้เป็นสมบัติของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร โดยมี 'พระครูปลัดสัมพิพัฒนวิริยาจารย์' (ญาณ ญาณชาโล) เป็นผู้รับมอบ 

พระรัตนมงคลมุนี อดีตอาวาสวัดสุปัฏนารามเคยสันนิษฐานพุทธลักษณะขององค์พระว่า 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' น่าจะเป็นพระรุ่นเดียวกับ 'พระแก้วบุษราคัม' โดยยึดเอาจากการมาตั้งถิ่นฐานของเมืองอุบลฯ เมื่อ ๒๐๐ ปี เศษมาแล้ว ตามที่บรรพบุรุษผู้มาสร้างเมืองอุบลฯ

ตอนนี้เรานับพระแก้วได้ ๓ องค์แล้วคือ 'พระแก้วบุษราคัม' / 'พระแก้วไพฑูรย์' / 'พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง' เป็น ๓ รัตนชาติคือ บุษราคัม, ไพฑูรย์ และ เพชร ซึ่งในอุบลราชธานีมีพระแก้วที่ปรากฏขึ้นแล้ว ๖ องค์ โดยในตอนหน้าผมจะนำเรื่องราวขอพระแก้วอีก ๓ องค์ได้แก่ 'พระแก้วโกเมน' / 'พระแก้วนิลกาฬ' / 'พระแก้วมรกต' ซึ่งแต่ละองค์มีประวัติที่น่าสนใจมากทีเดียว 

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อได้อ่านเรื่องราวเพลินๆ ของพระแก้วแห่งอุบลราชธานีแล้ว ท่านคงจะหาโอกาสไปกราบสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายกันสักครั้งหนึ่ง

Trillion Dollar Club Companies ของโลก มูลค่าสูงกว่าตลาดหุ้นไทย - GDP ประเทศยักษ์ใหญ่

จากราคาหุ้น Nvidia บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อเสียงในด้านการออกแบบและผลิตหน่วยประมวลผลกราฟฟิก (GPUs) ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ในคอมพิวเตอร์สำหรับเล่นเกมและเวิร์กสเตชันระดับมืออาชีพ ที่ยังคงร้อนแรงและเดินหน้าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบัน Nvidia มีมูลค่าตลาด (Market Cap) เบียดและผลัดกันแซงหน้าหุ้นพี่ใหญ่อย่าง Microsoft มาแบบชนิดไม่มีใครยอมใคร โดยที่ทั้งสองบริษัทเป็นบริษัทที่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดที่สูงกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (3 Trillion Dollar) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วค่ะ

ซึ่งในสหรัฐฯ เองจะมีการจัดอันดับบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงเกินกว่า 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเท่านั้นนะคะ แต่เพียงแค่บริษัทนอกตลาดหุ้นจะถูกนำมาประเมินมูลค่าได้ยากกว่าบริษัทในตลาดที่จดทะเบียนค่ะ 

แล้ว 1 ล้านล้านดอลลาร์ใหญ่ขนาดไหน? ถ้าเทียบกับมูลค่าตลาดหุ้นไทย 

ณ ปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 4 แสนกว่าล้านเหรียญเองค่ะ โดยบริษัทกลุ่มนี้ก็จะมีชื่อเรียกเฉพาะค่ะ เราจะเรียกบริษัทกลุ่มนี้ว่าเป็นบริษัทในกลุ่ม Trillion Dollar Club ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดบริษัทในคลับนี้มีด้วยกันอยู่ 6 บริษัทซึ่งทั้งหมดเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นค่ะ โดยทั้ง 6 บริษัทประกอบไปด้วย...

1. Apple (AAPL)
2. Microsoft (MSFT)
3. Alphabet (GOOG)
4. Amazon (AMZN)
5. Nvidia (NVDA) 
และ 6. Meta (META)

ก่อนหน้านี้ก็มีบริษัทหุ้นผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla (TSLA) และบริษัทผลิตน้ำมันสัญชาติซาอุดีอาระเบียอย่าง Saudi Aramco (2222) ที่เคยเข้ามา แต่ก็ถูกนำออกไปตอนที่มูลค่าตลาดของบริษัทพวกนั้นลดลงค่ะ โดยบริษัทแรกที่เข้าในคลับก็คือ AAPL โดย AAPL เข้ามาในคลับตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2018 และจนถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยออกจากคลับอีกเลยค่ะ 

ถ้าเทียบขนาดของ AAPL ก็เทียบได้เท่า ๆ กับ GDP ของแคนาดา และ ออสเตรเลียเลยทีเดียวค่ะ ส่วน Nvidia ที่กำลังร้อนแรงเข้ามาร่วมคลับในตอนเดือนพฤษภาคม 2023 เพราะตอนนั้นมูลค่าตลาดโตขึ้นมาถึง 200% เลยค่ะ 

จริง ๆ แล้วบริษัทที่แตะ 1 ล้านล้านเหรียญแห่งแรกของโลก คือบริษัทสัญชาติจีนอย่าง Petro China ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ค่ะ โดยเข้ามาแตะในกลุ่ม Trillion Club ในวันแรกของการซื้อขายในช่วงพฤศจิกายน 2007 ค่ะแต่ก็อยู่ได้ไม่นานก็หลุดไปค่ะ 

อย่างไรก็ตามบริษัทในคลับนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ โดยจะสลับเปลี่ยนหมนุนเวียนเข้าออกตามมูลค่าตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปค่ะ 

ย้อนรอยสงครามกลางเมืองศรีลังกา ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อนแพ้พ่าย ต้นตำรับปฏิบัติการ ‘ระเบิดพลีชีพ’ ที่ก่อการร้ายนำมาเลียนแบบทั่วโลก

เรื่องราวของกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม หรือ ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ และในอีกหลาย ๆ ชื่อได้แก่ สมาคมทมิฬระดับโลก สหพันธ์ของสมาคมทมิฬแคนาดา กองทัพเอลอัลลานี ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในประเทศศรีลังกา ระหว่างชาวทมิฬ (Tamil) ที่มีจำนวนราว 3 ล้านคน คิดเป็น 18% ของพลเมืองศรีลังกาและนับถือศาสนาฮินดูในเขตจาฟนา บริเวณภาคเหนือสุดของเกาะซีลอน กับชาวสิงหล (Sinhalese) พลเมืองส่วนใหญ่กว่า 16 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 จากประชากรทั้งหมดในศรีลังกา ซึ่งนับถือพุทธศาสนา โดยความขัดแย้งดังกล่าวไปสู่การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนที่รุนแรงที่สุดในโลก และเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลศรีลังกาจะสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างหมดสิ้นไปในปี 2009

‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อตั้งเมื่อปี 1976 มีเป้าหมายคือการแยกตัวจากศรีลังกาเพื่อตั้งรัฐทมิฬ เริ่มการต่อสู้ด้วยการก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1983 หัวหน้ากลุ่มคือ เวลูปิลลัย ประภากาเรา ชาวทมิฬผู้มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างรัฐที่ชาวทมิฬมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง และหลังจากศรีลังกาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว ชาวทมิฬที่นับถือฮินดูซึ่งมีสัดส่วนราว 10 % ของประชากรชาวศรีลังกาทั้งประเทศกลายเป็นพลเมืองชั้นสองไป เพราะโอกาสในทางการศึกษาและอาชีพการงานด้อยกว่าชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ 

ธงจักรวรรดิอังกฤษซีลอน

สาเหตุความขัดแย้งเกิดจากช่วงที่อังกฤษเข้ามาแทนที่ฮอลแลนด์ในการยึดครองศรีลังกา อังกฤษได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณเขตจาฟนา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวทมิฬมากมายทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ทำให้ชาวสิงหลซึ่งอยู่พื้นที่ส่วนอื่นของเกาะไม่พอใจ อันเป็นรูปแบบของกระบวนการ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ (Divide and Rule) ของอังกฤษผู้เป็นอดีตเจ้าอาณานิคม (วิธีปกครองโดยเอาใจคนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับ กีดกัน กดดัน คนอีกกลุ่มหนึ่ง) ซึ่งมักจะใช้กับอาณานิคมต่าง ๆ เช่น อินเดีย พม่า มลายู แม้อังกฤษจะช่วยวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งระบบการศึกษา ระบบขนส่ง และการทำการเกษตร แต่ภาคการเกษตรโดยเฉพาะไร่ชาขนาดใหญ่นั้นต้องการแรงงานจำนวนมาก ชาวสิงหล และชาวทมิฬเดิม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของซีลอน ต่างก็ไม่สนใจทำงานในไร่ชาของอังกฤษ อังกฤษจึงได้นำแรงงานชาวทมิฬอินเดีย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของอินเดียเข้ามาทำงานในไร่ชาที่เกาะซีลอนและสิ่งนี้เองที่สร้างรอยร้าวให้กับผู้คนบนเกาะแห่งนี้

ชาวทมิฬอินเดียที่ถูกนำเข้ามาทำงานในไร่ของอังกฤษมักได้รับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวพื้นเมืองเดิม โรงเรียนแบบตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งมีชาวทมิฬอาศัยอยู่หนาแน่น ชาวทมิฬจึงได้รับการศึกษาที่ดีกว่า นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากซีลอนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 แม้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาตามลําดับ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬยังมีคงอยู่ ชาวทมิฬซึ่งมีการศึกษาดีกว่า ฐานะดีกว่า ผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสิงหล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อรัฐบาลศรีลังกาที่ได้รับเลือกตั้งเป็นชาวสิงหล จึงมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘ซีลอน’ มาเป็น ‘ศรีลังกา’ ในปี 1972 พร้อมกับการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันชาวทมิฬ ทั้งการบังคับไม่ให้มีการเรียนการสอนภาษาทมิฬ การบรรจุเข้ารับราชการต้องใช้ภาษาสิงหลเท่านั้น ทำให้เกิดการต่อต้านรุนแรงจากชาวทมิฬ ชาวทมิฬจึงมารวมกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 1956 มีการประกาศนโยบายชาตินิยมสิงหล (Sinhalese only) โดยเปลี่ยนภาษาราชการเป็นภาษาสิงหลแทนที่ภาษาอังกฤษ ร่างกฎหมายนี้ชื่อ Sinhala Only Act ต่อมาในปี 1970 รัฐบาลศรีลังกาเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Ceylon มาเป็น Sri Lanka อันเป็นชื่อดั้งเดิมในภาษาสิงหล มาตรการเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวทมิฬ และมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ของสองชนชาตินี้เสื่อมลงเรื่อย ๆ 

ชาวทมิฬแม้จะมีความไม่พอใจต่อรัฐบาลศรีลังกาและมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาตลอด แต่ก็ไม่มีองค์กรนำและเป้าหมายการต่อสู้ที่ชัดเจน จนกระทั่งถึงปี 1972 เมื่อพรรคการเมืองของชาวทมิฬสามพรรคได้รวมตัวกันเป็น ‘แนวร่วมทมิฬ’ (Tamil United Front) การต่อสู้ของชาวทมิฬจึงได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและมีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้ที่ชัดเจน พรรคแนวร่วมทมิฬได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘แนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ’ (Tamil United Liberation Front) และผ่านมติต่อสู้เพื่อก่อตั้งประเทศทมิฬอีแลมเมื่อปี 1976 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปีถัดมา พรรคนี้สามารถกวาดที่นั่งส่วนใหญ่ในเขตชาวทมิฬ จนกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในรัฐสภาศรีลังกา ทำให้มองเห็นความหวังในการต่อสู้เพื่อให้ชาวทมิฬแยกตัวเป็นอิสระตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่แล้วไม่มีใครคาดคิดว่าชาวสิงหลหัวรุนแรงที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งได้ก่อเหตุจลาจลจนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน การปะทะครั้งนี้ทำให้ชาวทมิฬส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ พวกเขาจึงเลิกให้การสนับสนุนพรรคแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ แล้วหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ปลดปล่อยแห่งทมิฬอีแลม หรือพยัคฆ์ทมิฬ ที่ใช้วิธีต่อสู้ด้วยความรุนแรงแทน

กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยวัยรุ่นชาวทมิฬที่มีการศึกษาสูง โดยงานแรกของกลุ่มคือ การสังหารนายกเทศมนตรีเมืองจาฟนา เพราะนายกเทศมนตรีคนนี้แม้จะเป็นชาวทมิฬแต่กลับเห็นดีเห็นงามกับชาวสิงหล กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีการจัดบุคลากรเป็นระบบมากที่สุด มีการแยกส่วนสมาชิกเป็นแผนก ๆ เฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน ด้านการเมือง ด้านกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งใช้คนที่มีความรู้ความสามารถด้านนั้นจริง ๆ เข้ามาเป็นผู้นำ โดยมีแนวทางการต่อสู้ใน 3 แนว คือ การใช้กำลัง การประชาสัมพันธ์ และการระดมทุน เงินทุนในการดำเนินงานของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้มาจากการประชาสัมพันธ์และการระดมทุน โดยระดมทุนจากชาวทมิฬที่อยู่ต่างประเทศ (ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย) และชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่สนับสนุนเป็นเงินมหาศาล ทั้งพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยังมีรายได้จากการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ สินค้าผิดกฎหมาย และรับจ้างฝึกกองกำลังทหารรับจ้างตลอดจนกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ จากทั่วโลก จนทำให้ฐานะทางการเงินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนั้นจัดว่ามั่งคั่งแข็งแกร่งเลยทีเดียว ประมาณการว่ารายได้ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมน่าจะอยู่ที่ราว 200–300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ซากเครื่องบินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งถูกเครื่องบินรบของกองทัพอากาศศรีลังกายิงตก

ปฏิบัติการหลัก ๆ ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือ การสังหารบุคคลสำคัญ การก่อวินาศกรรม วางระเบิดสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกา และจัดกำลังรบตามแบบกับรัฐบาลโดยใช้กำลังทางบก เรือ และอากาศ (พยัคฆ์ทมิฬอีแลมมีกองเรือและฝูงบินจำนวนหนึ่งซึ่งได้ออกปฏิบัติการรบด้วย) และด้วยวิธีการลอบสังหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือการใช้เข็มขัดติดระเบิดพันรอบตัว แล้วจัดการกดชนวนระเบิดเป้าหมายไปพร้อมกับมือระเบิด หรือที่เรียกว่า ระเบิดพลีชีพ (Suicide bomb) นั่นเอง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ทั่วโลกนำไปเลียนแบบจนทุกวันนี้ พื้นที่หลักของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอยู่ตามแนวชายฝั่งตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกา แต่จะทำการก่อการร้ายทั่วประเทศศรีลังกา สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในศรีลังกา และเป็นนักรบราว 3,000 - 6,000 คน (สูงสุดถึงที่เคยมีคือ 7,000 ถึง 15,000 คน) โดยอินเดียก็มีส่วนในความขัดแย้ง ด้วยรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของชาวทมิฬ ได้ให้ความสนับสนุนการต่อสู้ของชาวทมิฬในศรีลังกา ขณะที่รัฐบาลกลางอินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสิงหลของศรีลังกาก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ด้วยเกรงจะกระทบคะแนนเสียงในการเลือกตั้งและอาจจะเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นภายในประเทศอินเดียเอง

ภาพสุดท้ายของ ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ก่อนถูกสังหารด้วยระเบิดพลีชีพ

ต่อมา ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ผู้ซึ่งกล้าแสดงจุดยืนว่าจะขัดขวางการสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมของรัฐบาลทมิฬนาฑู จึงต้องพบกับจุดจบโดยถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่รัฐทมิฬนาฑูจนเสียชีวิตจากฝีมือของหญิงชาวทมิฬ-ศรีลังกา ซึ่งเป็นสมาชิกของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเมื่อ 21 พฤษภาคม 1991 ต่อมากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมก็ใช้ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพสังการประธานาธิบดีศรีลังกา รณสิงห เปรมดาสา จนเสียชีวิตเมื่อ 1 พฤษภาคม 1993 ขณะที่มีการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ได้มีความพยายามในการเจรจาและทำสนธิสัญญาหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี 2009 มหินทา ราชาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังทมิฬจนได้รับชัยชนะ และบีบบังคับให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยอมวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอันนองเลือดในศรีลังกาที่ดำเนินมากว่า 25 ปีอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2009 ประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา ได้ประกาศชัยชนะของรัฐบาลศรีลังกาต่อกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม โดยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้สูญเสียดินแดนทางตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกาทั้งหมด หมดสิ้นอำนาจทางการเมืองการปกครองในดินแดนของตน และสิ้นสภาพในการต่อสู้ ไม่สามารถสู้รบกับกองทัพของรัฐบาลศรีลังกาได้อีก

ทหารรัฐบาลศรีลังกากับอาวุธที่ยึดจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

สมาชิกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจำนวน 11,664 คน รวมทั้งทหารเด็กอีก 595 คนยอมวางอาวุธและมอบตัวกับกองทัพศรีลังกา (ส่วนหนึ่งหลบหนีไปอินเดีย) ซึ่งต่อมามีทั้งข่าวและคลิปการสังหารคนเหล่านี้อย่างเหี้ยมโหด และหญิงชาวทมิฬถูกข่มขืนแล้วฆ่าอีกจำนวนมาก สิ่งที่กองทัพศรีลังกาทำกับชาวทมิฬก็ไม่แตกต่างจากพฤติกรรมขององค์การก่อการร้ายเลย แม้ปฏิบัติการของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะเหี้ยมโหดก็ตาม แต่เมื่อควบคุมตัวชาวทมิฬเหล่านี้แล้ว ควรนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีและบังคับใช้อยู่ให้ถูกต้อง โดยสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้รายงานตรงกันว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลศรีลังกานั้นเป็นการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ตลอดระยะเวลาการสู้รบที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 1983 - 2009 ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คน และผู้คนนับล้านต้องลี้ภัยและสูญเสียทรัพย์สิน เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต แม้ว่า พยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะสิ้นสภาพในศรีลังกาตั้งแต่ปี 2009 แล้วก็ตาม แต่สมาชิกพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในยุโรปและอเมริกาเหนือก็ยังคงมีความพยายามในการเคลื่อนไหวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อยู่จนทุกวันนี้

กลุ่มขั้วอำนาจ BRICs คืออะไร? แล้วทำไม 'ไทย' ต้องเข้าร่วม?

ช่วงสองสามวันนี้เราอาจจะเห็นข่าวที่ไทยกำลังจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มขั้วอำนาจ BRICS โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเปิดเผยถึงที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วมการเป็นสมาชิกประเทศกลุ่ม BRICs ประเทศในกลุ่มนี้เขาเป็นใครกันบ้าง เดี๋ยววันนี้มาเล่าให้ฟังค่ะ 

คำว่า BRICs ถูกบัญญัติขึ้นมาครั้งแรกในปี 2001 โดยในตอนแรกมีแค่เพียง 4 ประเทศคือ บราซิล (B) รัสเซีย (R) อินเดีย (I) และจีน (C) และต่อมาในปี 2011 ก็ได้รับประเทศแอฟริกาใต้ (s) เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่ม โดยประเทศในกลุ่มนี้จะเป็นการรวมตัวของประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว หรือที่เราเรียกว่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งในปัจจุบันนี้ BRICs มีประเทศสมาชิกด้วยกันทั้งหมด 10 ประเทศ

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะความพยายามในการดึงประเทศอย่างอาร์เจนตินาเข้ามาร่วมด้วย แต่ก็ล้มเหลวไปค่ะ โดยอีก 5 ประเทศหลัง ซึ่งได้แก่ สาธารณรัฐอียิปต์, ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย, สหพันธ์สาธารณรัฐ, ประชาธิปไตยเอธิโอเปีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567

โดย BRICs ก่อตั้งมาเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนขั้วอำนาจจากกลุ่ม G7 มาเป็น BRICs แทนค่ะ ซึ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่มนี้มีจำนวนมากถึง 40% ของประชากรโลกหรือราว ๆ 3,500 ล้านคน รวมถึงมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลกด้วยค่ะ 

การร่วมมือของประเทศในกลุ่ม Brics ไม่ใช่แค่เป็นการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินเท่านั้น แต่ประเทศเหล่านี้ยังร่วมมือกันทั้งทางด้านการเมือง วัฒนธรรม ความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงานด้วยค่ะ

นอกจากความร่วมมือต่าง ๆ แล้ว กลุ่ม BRICs ยังเคยมีการวางแผนที่จะใช้เงินสกุลท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อใช้เป็นข้อต่อรองกับเงินสกุลหลักของโลกอย่างเงินสกุลดอลลาร์ รวมถึงแผนการในการซื้อขายน้ำมันกับประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่โดยไม่ใช่เงินสกุลดอลลาร์ด้วยค่ะ 

ไทยเองแสดงความประสงค์ในการเข้าร่วม BRICs โดยเล็งเห็นว่าการเข้าร่วมกลุ่มจะสามารถช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและกระตุ้นให้เกิดการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้น อีกทั้งไทยเองก็จะได้เพิ่มบทบาทในเวทีระดับโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการพัฒนา ได้แลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีกับประเทศในกลุ่มด้วย โดยไทยเองก็ได้เดินหน้าอย่างเต็มที่เพื่อเข้าเป็นสมาชิกของ BRICs ก่อนที่จะถึงการประชุมสุดยอดประเทศผู้นำ BRICs ครั้งที่ 16 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-24 ตุลาคม 2567 นี้ ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซียค่ะ 

นอกจากไทยเราเองแล้วก็ยังมีอีก 2 ประเทศค่ะที่ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก ได้แก่ แอลจีเรียและโบลิเวียค่ะ และถ้าไทยได้เข้าเป็นสมาชิก เราก็จะเป็นประเทศแรกในประเทศแถบอาเซียนที่ได้เข้าเป็นสมาชิกค่ะ 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top