ดอกแบบเบี้ยใหม่ ได้ใจลูกหนี้เต็ม ๆ

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา หลายท่านอาจจะเห็นข่าวหนึ่งที่น่าสนใจ คือ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ซึ่งเป็นการแก้ไขปรับปรุงเรื่องดอกเบี้ยในรอบเกือบ ๆ 100 ปีนับแต่ที่ ป.พ.พ. เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468

โดยสาระสำคัญของการแก้ไขดังกล่าว คือ การปรับลดดอกเบี้ยในกรณีที่คู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันไว้จากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 3 ต่อปี และปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากร้อยละ 7.5 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 5 ต่อปี รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้คิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง ไม่รวมส่วนของเงินต้นหรือค่างวดในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

แต่ลูกหนี้ทั้งหลายอย่าพึ่งดีใจไปนะครับ เพราะ กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับในตอนนี้ เพราะหลังจากที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแก้ไขร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การนำร่างกฎหมายนั้นเข้าไปสู่กระบวนการพิจารณาของดังกล่าวยังต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีก 3 วาระ แล้วหลังจากนั้นถึงจะมีผลเป็นกฎหมายออกมาให้เราได้ใช้กัน ซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. จะยังไม่มีผลใช้บังคับ แต่เมื่อปีที่แล้ว (2563) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้ออกประกาศ เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ออกมาโดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2563 แล้ว

แปลว่า การกู้ยืมเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินใด ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. จะต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวแล้ว ไม่ต้องรอให้สภาผู้แทนมีมติแก้ไข ป.พ.พ. แต่อย่างใด

สาระสำคัญของประกาศ ธปท. นั้นจะคล้ายกับร่างแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. นั่นแหละครับ คือ มีการปรับปรุงแก้ไขวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบัน รวมถึงกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ให้มีความเป็นธรรมกับลูกหนี้มากยิ่งขึ้น ซึ่งประกาศของ ธปท. ดังกล่าวจะมีแนวปฏิบัติที่สำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้ครับ

หนึ่ง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะ “ต้องคิดบนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริง” ห้ามนำเงินต้นที่คงค้างทั้งหมด หรือเงินค่างวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเข้ามารวมเพื่อคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ดังกล่าว

มาลองดูตัวอย่างกันครับ สมมุติว่านายสมชายกู้เงินซื้อบ้าน 5 ล้านบาท กำหนดผ่อนชำระ 20 ปี คิดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 8 ต่อปี ตกลงค่างวดไว้ 42,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันนายสมชายผ่อนชำระไปแล้ว 24 งวด งวดที่ 25 เกิดผิดนัด และมาชำระล่าช้าไป 1 เดือน ทั้งนี้ ในสัญญาได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดไว้ร้อยละ 10 ต่อปี นายสมชายจะต้องชำระหนี้ดอกเบี้ยผิดนัด ดังนี้

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม แม้นายสมชายผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง แต่ธนาคารจะถือว่านายสมชายผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมด การคิดดอกเบี้ยผิดนัดนั้น ธนาคารจะนำเงินต้นคงค้างทั้งหมดมาคิดดอกเบี้ยจากนายสมชาย เช่นกรณีนี้ นายสมชายยังเหลือหนี้เงินต้นอีก 4.77 ล้านบาท นายสมชายจะต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดร้อยละ 10 ต่อปี จากยอดเงินต้น 4.77 ล้านบาท

ดังนั้น นายสมชายจะต้องชำระเงินดอกเบี้ยผิดนัด 1 เดือน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น

                                     4,770,000 x 2% x 30/365 = 7,841.10 บาท

และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยค้างชำระในงวดที่ 25 นายสมชายจะต้องชำระดอกเบี้ยรวม 32,000 + 7,841.10 = 39,841.10 บาท

แบบใหม่ ตามประกาศของ ธปท. ที่แก้ไขใหม่ ธนาคารจะไม่สามารถนำเงินต้นคงค้าง 4.77 ล้านบาทมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดได้ ธนาคารจะต้องพิจารณาก่อนว่าในงวดที่ 25 ที่นายสมชายผิดนัดชำระหนี้นั้น งวดดังกล่าวมีเงินต้นที่นายสมชายจะต้องชำระอยู่เท่าไหร่ แล้วหลังจากนั้นธนาคารค่อยเงินต้นในงวดดังกล่าวมาคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

จากตัวอย่าง งวดที่ 25 ที่นายสมชายผิดนัดชำระหนี้นั้น ความจริงแล้วมีเงินต้นที่ค้างชำระเพียง 10,000 บาท แปลว่าธนาคารจะคิดดอกเบี้ยผิดนัดกับนายสมชายได้เพียง

                                           10,000 x 2% x 30/365 = 16.44 บาท

และเมื่อรวมกับดอกเบี้ยค้างชำระในงวดที่ 25 นายสมชายจะต้องชำระดอกเบี้ยรวม 32,000 + 16.44 = 32,016.44 บาท แปลว่าตามประกาศใหม่ของ ธปท. นายสมชายจะสามารถประหยัดดอกเบี้ยผิดนัดลงได้เกือบ ๆ 8 พันบาทเลยทีเดียว

สอง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้แค่ “อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกไม่เกิน 3%” เท่านั้น ไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงสุดได้เองอีกต่อไป

สมมุติว่านายสมชายกู้เงินธนาคาร 1 แสนบาท โดยตกลงดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ร้อยละ 8 ต่อปี หากนายสมชายผิดนัดชำระหนี้

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม ธนาคารสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดชำระหนี้เท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด เช่น ธนาคารอาจกำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ก็ได้

แบบใหม่ ตามประกาศของ ธปท. ที่แก้ไขใหม่ ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวก 3% ดังนั้นในกรณีตามตัวอย่างที่ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้นายสมชายไว้ร้อยละ 8 ต่อปี ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดจากนายสมชายได้สูงสุดเพียงร้อยละ 8 + 3 = 11 ต่อปีเท่านั้น

สาม กำหนดลำดับการตัดชำระหนี้ (เริ่มมีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. 64) ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะ “ต้องตัดชำระค่างวดที่ค้างขำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก” ไม่ใช่นำเงินที่ชำระเข้ามาไปตัดค่าธรรมเนียม ตามด้วยดอกเบี้ยก่อน แล้วค่อยนำส่วนที่เหลือไปตัดเงินต้นแบบในอดีต

ตัวอย่างเช่น นายสมชายขอสินเชื่อส่วนบุคคลจากธนาคาร และตกลงกันชำระเงินค่างวดกัน 10,300 บาทต่อเดือน โดยค่างวด 10,300 บาทนั้น ความจริงแล้วเป็นการชำระคืนเงินต้น 6,000 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และค่าธรรมเนียม 300 บาท หากนายสมชายค้างชำระ 3 งวด แล้วนำเงินมาชำระ 10,300 บาท

ภาพจาก bot.or.th

แบบเดิม ธนาคารจะนำเงิน 10,300 บาทนั้นไปชำระค่าธรรมเนียมที่ค้าง 3 งวดก่อน จากนั้นนำเงินส่วนที่เหลือไปชำระดอกเบี้ย และถ้ามีเหลือถึงจะไปชำระคืนเงินต้น

                             เงินที่นายสมชายชำระเข้ามา                   10,300 บาท

                             ชำระค่าธรรมเนียม 3 งวด                     10,300 – (300 x 3)   =   9,400 บาท

                             ชำระดอกเบี้ยที่ค้าง 3 งวด                     9,400 – (4,000 x 3)  = - 2,600 บาท

แปลว่าเงิน 10,300 บาทนั้นจะชำระได้เพียงค่าธรรม 900 บาท และดอกเบี้ย 9,400 บาทเท่านั้น นายสมชายยังคงค้างดอกเบี้ยอีก 2,600 บาท และที่สำคัญ คือ เงินที่นายสมชายชำระเข้ามาดังกล่าว ไม่ได้ไปชำระคืนเงินต้นเลยแม้แต่บาทเดียว

แบบใหม่ ธนาคารจะต้องนำเงิน 10,300 บาท นั้นไปชำระค่างวดที่ค้างชำระเก่าที่สุดก่อน ซึ่งค่างวดนั้นจะหมายความรวมถึงค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้น

แปลว่าตามประกาศ ธปท. ฉบับใหม่ เงิน 10,300 บาทที่นายสมชายจ่ายเข้ามานั้นจะไปชำระค่าธรรมเนียม 300 บาท ดอกเบี้ย 4,000 บาท และเงินต้น 6,000 บาท ของงวดเก่าสุดที่ค้างอยู่ ซึ่งจะต่างจากแบบเดิมที่เงิน 10,300 บาท ของนายสมชายจะไม่ถูกนำไปชำระคืนเงินต้นเลย

จะเห็นได้ว่าประกาศของ ธปท. ฉบับใหม่นี้ช่วยให้ลูกหนี้มีโอกาสชำระหนี้คืนได้มากขึ้น ไม่เจอสภาวะหนี้สินแบบดินพอกหางหมู ที่ชำระเข้าไปเท่าไหร่ เงินนั้นก็ถูกนำไปชำระแต่ค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ย โดยเงินต้นไม่ลดลงเลย ทำให้ไม่รู้ว่าจะสามารถชำระหนี้คืนทั้งหมดได้เมื่อไหร่ และสุดท้ายก็อาจถูกฟ้องบังคับยึดทรัพย์สิน หรือต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายไป

สุดท้ายนี้ ผมก็ต้องขอฝากท่านผู้อ่านเอาไว้ว่า แม้กฎหมายจะออกมาช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เราจะต้องไม่ก่อหนี้เกินตัว และเมื่อมีหนี้แล้วเราก็ต้องมีวินัยในการชำระหนี้คืนด้วย เพราะปัญหาหนี้สินนั้นเป็นปัญหาใหญ่ของคนจำนวนมากจริง ๆ

ศึกษาประกาศ ธปท. เพิ่มเติมได้ที่ https://www.bot.or.th/Thai/FIPCS/Documents/FPG/2563/ThaiPDF/25630272.pdf