Philippa of Hainaut และ Charlotte of Mecklenburg-Strelitz สองราชินีผิวสีแห่งราชสำนักอังกฤษ
สัปดาห์ที่แล้วข่าวสงครามสื่อระหว่างสะใภ้หลวงคนดังกับราชสำนักอังกฤษถูกปั่นจนกลายเป็นข่าวใหญ่ดังสนั่น ด้วยบรรดาสื่อต่าง ๆ พากันได้ประโยชน์มากมายมหาศาลจากเรื่องในครอบครัวที่ถือได้ว่าเป็นครอบครัวหมายเลขหนึ่งแห่งสหราชอาณาจักร นั่นคือข่าวการให้สัมภาษณ์ของเจ้าชายแฮร์รี และเมแกน ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซกส์ กับพิธีกรหญิงชื่อดังชาวอเมริกัน โอปราห์ วินฟรีย์ และได้เผยแพร่สู่สายตาผู้คนทั่วโลกเมื่อต้นสัปดาห์ จนกลายเป็นดราม่าในประเด็นเหยียดเชื้อชาติและสีผิว อันอาจนำมาซึ่งความสั่นสะเทือนครั้งสำคัญสู่ราชสำนักอังกฤษ
แต่ราชสำนักอังกฤษไม่ได้ไร้ซึ่งประสบการณ์ ด้วยผ่านเรื่องราวต่าง ๆ มาแล้วมากมายแล้ว และตกผลึกจนแกร่งกล้าสามารถ จึงได้ส่งจดหมายสั้น ๆ ขนาด สี่ประโยค สามย่อหน้า กับหนึ่งคำขาด เพื่อสยบดราม่าจากการสัมภาษณ์สองชั่วโมงดังนี้ :
- ย่อหน้าแรก หนึ่งประโยค : เพิ่งจะรู้จากการสัมภาษณ์ในทีวีหรือที่นสพ.ถูกเอามาประโคมข่าวเองว่า พระชายาของเจ้าชายแฮร์รี่ต้องทุกข์ระทมขนาดไหนตลอดเวลาที่ผ่านมา น่าสงสารจังเลย (แต่ก็ทำให้คนที่พอจะมีปัญญาเข้าใจว่า นี่เป็นคำถามซึ่งถามว่า แล้วทำไมตอนนั้นไม่เห็นบอกหรือพูดอย่างนี้เลย ทั้ง ๆ ที่อยู่ในราชสำนักตั้งสองสามปี)
- ย่อหน้าที่สอง สองประโยค : เรื่องที่พระองค์พูดนี่ร้ายแรงนะ แต่ทำไมพวกเราไม่รู้เรื่องเลย และจำไม่ได้ด้วยซํ้าว่า มีเรื่องที่พระองค์พูดเกิดขึ้นด้วย แต่เดี๋ยวพวกเราจะคุยกันเองในครอบครัว (อันเป็นการปฏิเสธอย่างกึ่งสุภาพกึ่งเลือดเย็นว่า เป็นเรื่องไม่จริง และคนอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับราชสำนักไม่สมควรที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย)
- ย่อหน้าสุดท้าย หนึ่งประโยค : พวกเราจะรักพระองค์ทั้งสามคนเสมอ (ซึ่งเป็นการตัดบัวแบบไม่เหลือใย กลายเป็นคำไว้อาลัยราวกับทั้งสามคนได้ตายจากไปแล้ว ซํ้ายังจงใจละเลยไม่กล่าวถึงลูกคนที่กำลังจะเกิดเลย)
- และที่สำคัญที่สุดคือ คำขาดที่ระบุว่า “ENDS” ตัวพิมพ์ใหญ่ให้เห็นกันชัดๆ (ซึ่งหมายความว่า สำหรับพวกเราแล้วเรื่องนี้ถือว่าจบ และจะไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อีกต่อไป)
อันที่จริงแล้วตามลำดับการสืบราชสันตติวงศ์แห่งสหราชอาณาจักร (Succession to the British throne) มีพระบิดาของเจ้าชายแฮร์รี เจ้าชายชาร์ลส์ (เจ้าชายแห่งเวลส์) ทรงเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่ง และพระเชษฐาของเจ้าชายแฮร์รี เจ้าชายวิลเลียม (ดยุกแห่งเคมบริดจ์) ทรงเป็นรัชทายาทอันดับที่สอง ส่วนเจ้าชายแฮร์รีทรงเป็นรัชทายาทอันดับที่หก ถัดจาก พระโอรส พระธิดา ของเจ้าชายวิลเลียมอีกสามพระองค์ โดย 20 ลำดับแรกในการสืบราชสันตติวงศ์แห่งสหราชอาณาจักรล้วนแล้วแต่เป็นพระราชโอรส พระราชธิดา พระราชนัดดา และพระราชปนัดดา สายตรงในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทั้งสิ้น และหากได้ทำการศึกษาไล่เรียงประวัติศาสตร์ราชสำนักอังกฤษแล้ว จะพบว่าราชสำนักอังกฤษมีสะใภ้หลวงซึ่งมีเชื้อสายผิวสีมาแล้วถึงสองพระองค์ และทั้งสองพระองค์ต่างทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ อันได้แก่ Philippa of Hainaut และ Charlotte of Mecklenburg-Strelitz
Philippa of Hainaut (24 มิถุนายน ค.ศ. 1310 (หรือ ค.ศ. 1315) - 15 สิงหาคม ค.ศ. 1369) ทรงเป็นธิดาของ William I (Count of Hainaut) และ เจ้าหญิง Joan of Valois ผู้ทรงเป็นพระปนัดดาใน พระเจ้า Philip III แห่งฝรั่งเศส สืบเนื่องด้วยพระเจ้า Edward II แห่งอังกฤษทรงตัดสินพระทัยว่า การเป็นพันธมิตรกับ Flanders (ปัจจุบันหมายถึงพื้นที่ทางตอนเหนือของเบลเยียม ซึ่งใช้ภาษาดัตช์ ในทางประวัติศาสตร์ ครอบคลุมบางส่วนของ เบลเยียม ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์) จะเป็นประโยชน์ต่ออังกฤษ และได้ทรงส่ง Bishop Stapledon of Exeter เป็นราชทูตให้เดินทางข้ามเข้าไปในเขต Hainaut ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกปกครองโดยชนเผ่ามัวร์ เพื่อพิจารณาว่า ธิดาของ Count of Hainaut ผู้ใดจะเหมาะสมที่สุดในการเป็นเจ้าสาวของเจ้าชาย Edward พระราชโอรส
รายงานของ Bishop Stapledon ซึ่งถวายต่อพระเจ้า Edward II ได้อธิบายรายละเอียดธิดาคนหนึ่งของ Count of Hainaut ถึง Philippa ในวัยเด็กว่า “หญิงที่ข้าพระองค์พบเห็น ไม่ใช่หญิงที่มีผมเรียบๆ ธรรมดาทั่วไป แต่เป็นสีน้ำเงิน - ดำและน้ำตาล ... ใบหน้าของพระองค์ได้สัดส่วนดี ระหว่างดวงตาและส่วนล่างแคบกว่าส่วนหน้าผากของพระองค์ ดวงตาของพระองค์มีสีน้ำตาลอมดำและลึก จมูกของพระองค์ค่อนข้างเรียบและสม่ำเสมอ ปลายจมูกค่อนข้างกว้างและแบน... รูจมูกและปากค่อนข้างกว้าง ริมฝีปากของพระองค์อวบอิ่มโดยเฉพาะริมฝีปากล่าง ... ฟันล่างของพระองค์ยื่นออกมาเล็กน้อย ฟันบนเห็นได้น้อยมาก ... รูปร่างของพระองค์ทั้งหมดดูดีมาก ๆ จนไม่มีใครสามารถเทียบได้ และไม่มีสิ่งใด ๆ ผิดปกติเท่าที่ชายคนหนึ่งจะสังเกตเห็น
“นอกจากนี้พระองค์ยังมีผิวสีน้ำตาลทั้งตัวเหมือนกับบิดาของพระองค์ โดยพระองค์จะมีอายุเก้าปีในวัน St. John ที่กำลังจะมาถึงตามที่มารดาของพระองค์กล่าว พระองค์ไม่สูงเกินไปหรือเตี้ยเกินไปสำหรับวัยเช่นนี้ พระองค์ดูวางตัวได้อย่างเหมาะสม หญิงคนนี้ได้รับการอบรมสั่งสอนเป็นอย่างดีในทุก ๆ เรื่องที่สมควร ด้วยเพราะตำแหน่งของพระองค์ และบิดา มารดา และครอบครัวได้รับการยกย่องและเป็นที่รัก ทั้งหมดเท่าที่เราสามารถสอบถามและเรียนรู้จากความจริงในทุกสิ่ง สำหรับข้าพระองค์แล้วพระองค์เป็นหญิงที่น่าพอใจมาก” ซึ่ง Philippa น่าจะมีเชื้อสายทางพันธุกรรมของผู้ปกครองในอดีต (ชนเผ่ามัวร์ : ชนมุสลิมที่อาศัยอยู่ที่คาบสมุทรไอบีเรียและแอฟริกาเหนือซึ่งเดิมเป็นชนอาหรับ หรือ เบอร์เบอร์) ซึ่งมีสีผิวที่เข้มกว่าชาวยุโรป
Philippa of Hainault ได้หมั้นกับเจ้าชาย Edward of Windsor รัชทายาทของ พระเจ้า Edward II แห่งอังกฤษ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1326 ซึ่งต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้า Edward III แห่งอังกฤษ ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1327 และหนึ่งปีหลังจากการขึ้นครองราชย์ พระเจ้า Edward III กษัตริย์หนุ่มแห่งอังกฤษก็ได้ทรงอภิเษกกับ Philippa of Hainault ในมหาวิหารยอร์ก ขณะพระชนมายุสิบห้าชันษา และเจ้าสาวอายุสิบสี่ปี สองสามปีแรกหลังการอภิเษกเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก ด้วยในช่วงที่ยังทรงเยาว์วัยของพระเจ้า Edward III สมเด็จพระราชินี Isabella พระราชมารดาได้ทรงปกครองอาณาจักร และทรงปฏิเสธที่จะพระราชทานดินแดนหรือพื้นที่ใด ๆ ให้กับพระสุณิสาซึ่งทำให้ Philippa ไม่มีรายได้จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1330 สองปีหลังจากการอภิเษก Philippa ก็ได้รับการสวมมงกุฎให้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษในมหาวิหาร Westminster ในที่สุดเมื่อ Philippa ตั้งครรภ์เจ้าชาย Edward (The Black Prince : เจ้าชายดำ) ได้ 5 เดือน จากนั้นสมเด็จพระราชินี Philippa ทรงให้ประสูติพระราชโอรส 5 พระองค์และพระราชธิดา 7 พระองค์ รวม 12 พระองค์
นอกจากทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ ยังทรงงานเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองแก่พระสวามี และเคยทรงเป็นผู้สำเร็จราชการในคราวที่พระเจ้า Edward III พระสวามีเสด็จไปทรงทำการรบในสงครามร้อยปีอีกด้วย ในช่วงปี ค.ศ. 1346 และ 1347 ในขณะที่ พระเจ้า Edward III ทรงปิดล้อมท่าเรือและเมือง Calais พระองค์ทรงตั้งใจที่จะแขวนคอนายกเทศมนตรีและกลุ่มหัวขโมยเพื่อเป็นการลงโทษที่ชาวเมืองต่อต้านกองทัพของพระองค์เป็นเวลาหลายเดือน สมเด็จพระราชินี Philippa ทรงคุกเข่าต่อหน้าพระสวามี และทรงขอร้องให้พระเจ้า Edward III ทรงไว้ชีวิตชายเหล่านั้น ด้วยคำวิงวอนของพระองค์ พระเจ้า Edward III จึงทรงยอมจำตามที่จะไม่ประหารชีวิต ทำให้มีผู้เรียก สมเด็จพระราชินี Philippa ว่า “ราชินีผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา” พระองค์ทรงตกจากหลังม้าขณะเสด็จออกล่าสัตว์กับพระสวามีในปี ค.ศ. 1358 และทำให้สะบักไหล่หัก และทรงใช้ชีวิตช่วงสองสามปีสุดท้ายด้วยความเจ็บปวด
สมเด็จพระราชินี Philippa สิ้นพระชนม์ที่พระราชวังวินด์เซอร์ซึ่งเป็นที่ประสูติของพระสวามี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1369 และพระศพถูกฝังเมื่อวันที่ 9 มกราคม ค.ศ. 1370 ในมหาวิหาร Westminster ซึ่งปัจจุบันยังคงมีหลุมฝังพระศพและพระรูปจำลองของพระองค์อยู่ และ Queen's College แห่งมหาวิทยาลัย Oxford ซึ่งก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1341 โดย Robert de Eglesfield หนึ่งในอนุศาสนาจารย์ของพระองค์ได้ตั้งชื่อเพื่อถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระราชินี Philippa และอยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระองค์อีกด้วย
Charlotte of Mecklenburg-Strelitz (19 พฤษภาคม ค.ศ. 1744 - 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1818) ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีซึ่งทรงมีเชื้อผิวสีอีกพระองค์หนึ่งแห่งราชสำนักอังกฤษ ทรงเป็นธิดาสุดท้องของดยุก Charles Louis Frederick of Mecklenburg ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากตระกูล Martim Afonso Chichorro และ เจ้าหญิง Elisabeth Albertine of Saxe-Hildburghausen พระนามเดิมคือ Sophia Charlotte แม้จะทรงเป็นเจ้าหญิงเยอรมัน แต่พระองค์ก็มีเชื้อชาติส่วนเสี้ยวหนึ่งเป็นแอฟริกัน ด้วยทรงมีเสด็จย่าเป็นเจ้าหญิงจากโปรตุเกส จึงทรงเป็นพระญาติห่างๆ ของพระเจ้า Alfonso III แห่งโปรตุเกส ซึ่งมีพระราชโอรสองค์หนึ่งกับ Madragana Ben Aloandro (Maior or Mór Afonso(ในภายหลัง) โดยสืบเชื้อสายจากชนเผ่ามัวร์) คือ Martim Afonso Chichorro อภิเษกสมรสกับพระชายาผิวสี และให้กำเนิดลูกหลานมากมาย
เมื่อพระเจ้า George III ขึ้นครองบัลลังก์แห่งจักรวรรดิอังกฤษ ด้วยการสวรรคตของเสด็จปู่ พระเจ้า George II ขณะทรงมีพระชนมายุ 22 ชันษา และทรงยังไม่ได้อภิเษกสมรส พระราชมารดาแม่และที่ปรึกษาต่างกระตือรือร้นที่จะให้พระองค์ทำการอภิเษกสมรส โดยเลือกเอาเจ้าหญิง Charlotte of Mecklenburg-Strelitz วัย 17 ชันษา ด้วยส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าหญิง Charlotte ทรงถูกเลี้ยงดูมาในดินแดนเยอรมันเหนือซึ่งไม่ค่อยมีนัยสำคัญทางการเมืองกับอังกฤษ ดังนั้นจึงอาจไม่มีประสบการณ์หรือความสนใจในการเมือง เพื่อให้แน่ใจว่า พระเจ้า George III จะกำกับเจ้าหญิง Charlotte ได้ จึงมีกฎ "ไม่เข้าไปยุ่ง" ซึ่งเป็นกฎที่เจ้าหญิง Charlotte ยินดีที่จะทรงปฏิบัติตาม
พระเจ้า George III ทรงประกาศต่อรัฐสภาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1761 ว่า ทรงตั้งใจที่จะอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิง Charlotte of Mecklenburg-Strelitz หลังจากนั้นคณะผู้ดูแลคุ้มกันซึ่งนำโดยเอิร์ล Simon Harcourt เดินทางไปเยอรมนีเพื่อนำเสด็จเจ้าหญิง Charlotte มายังอังกฤษ พวกเขาไปถึง Strelitz ในวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1761 และได้รับการต้อนรับในวันรุ่งขึ้นโดยดยุก Adolphus Frederick IV ผู้ครองราชย์ผู้เป็นพระเชษฐาของเจ้าหญิง Charlotte ซึ่งดยุก Adolphus Frederick IV ได้ลงนามในสัญญาการอภิเษกสมรสกับเอิร์ล Harcourt หลังจากครบสามวันของการเฉลิมฉลอง
ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1761 เจ้าหญิง Charlotte เสด็จออกเดินทางไปอังกฤษพร้อมกับพระเชษฐาคือ ดยุก Adolphus Frederick IV และคณะผู้ดูแลคุ้มกันของอังกฤษ ในวันที่ 22 สิงหาคมพวกเขาไปถึงเมืองท่า Cuxhaven ซึ่งมีกองเรือขนาดเล็กรอที่จะส่งคณะไปยังอังกฤษ การเดินทางนั้นค่อนข้างยากลำบากมาก กองเรือเจอกับพายุกลางทะเลถึงสามครั้ง และเข้าเทียบท่าที่เมืองท่า Harwich ในวันที่ 7 กันยายน คณะเดินออกเดินทางต่อไปกรุงลอนดอน แวะพักที่เมือง Witham หนึ่งคืนที่บ้านพักของ Lord Abercorn และมาถึงพระราชวังเซนต์เจมส์ กรุงลอนดอน เวลา 15.30 น. ในวันรุ่งขึ้น โดย พระเจ้า George III และพระบรมวงศานุวงศ์รอต้อนรับที่ประตูสวน ซึ่งถือเป็นการพบกันครั้งแรกของเจ้าสาวและเจ้าบ่าว เวลา 21.00 น. ในเย็นวันเดียวกันนั้น (8 กันยายน พ.ศ. 2304) ภายในเวลาไม่ถึงหกชั่วโมงหลังจากเจ้าหญิง Charlotte เสด็จมาถึงก็ได้อภิเษกสมรสกับพระเจ้า George III พระราชพิธีจัดขึ้นที่ Chapel Royal พระราชวังเซนต์เจมส์ โดยอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี Thomas Secker มีเพียงฝ่ายราชวงศ์ของเจ้าหญิง Charlotte ที่เดินทางมาจากเยอรมนีและแขกอีกไม่กี่คนเท่านั้นที่ร่วมเป็นสักขีพยาน และเจ้าหญิง Charlotte ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี Charlotte แห่งอังกฤษ
ในพระราชพิธีอภิเษกสมรสนั้นเจ้าหญิง Charlotte ยังตรัสภาษาอังกฤษไม่ได้เลย จึงทรงต้องเรียนภาษาอังกฤษอย่างเร่งด่วน ตามเงื่อนไขในสัญญาการอภิเษกสมรสคือ "เจ้าหญิงต้องทรงเข้าร่วมเป็นสมาชิกคริสตจักรแองลิกัน และอภิเษกสมรสกันตามพิธีกรรมของชาวอังกฤษ และต้องไม่ข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย" แม้ว่าสมเด็จพระราชินี Charlotte จะสนใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามอิสรภาพระหว่างจักรวรรดิอังกฤษและชาวอาณานิคมในอเมริกา แต่พระองค์ก็ทรงทำตามข้อตกลงในสัญญาการอภิเษกสมรส ทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดาสิบห้าพระองค์ โดยสิบสามพระองค์ทรงอยู่รอดจนวัยผู้ใหญ่ พระราชโอรสพระองค์โตคือ พระเจ้า George IV และพระราชโอรสพระองค์ที่สี่คือ เจ้าชาย Edward ดยุกแห่ง Kent และ Strathearn ซึ่งเป็นพระราชบิดาของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย
สมเด็จพระราชินี Charlotte ทรงสร้างคุณูปการให้กับอังกฤษไว้อย่างมากมาย ทรงรักการอ่าน และทรงสนพระทัยในศิลปกรรม เป็นที่รู้กันว่า สมเด็จพระราชินี Charlotte ได้ทรงสนับสนุน Johann Christian Bach ทั้งยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ภรรยาของ Bach หลังจากการเสียชีวิตของ Bach อีกด้วย พระองค์ยังทรงได้อุปถัมภ์ Wolfgang Amadeus Mozart ซึ่งตอนอายุแปดขวบได้ถวายบทประพันธ์เพลง 3 ชิ้นให้กับสมเด็จพระราชินี Charlotte ตามพระสงค์ สมเด็จพระราชินี Charlotte ยังทรงเป็นนักพฤกษศาสตร์สมัครเล่นอีกด้วย ทั้งยังทรงช่วยก่อตั้ง Kew Gardens โดยทรงนำต้น Strelitzia reginae (Bird of Paradise) ซึ่งเป็นไม้ดอกจากแอฟริกาใต้ ซึ่งสมเด็จพระราชินี Charlotte ทรงเป็นพระองค์แรกที่ทรงมีดอกไม้พันธุ์นี้ในพระตำหนักที่ประทับ ในปี พ.ศ. 2343 ได้ทรงแนะนำต้นคริสต์มาสให้กับอังกฤษ และกล่าวกันว่า ทรงเป็นผู้นำในการตกแต่งเทศกาลคริสมาสด้วย 'ขนมหวาน อัลมอนด์ ลูกเกด ผลไม้และของเล่น นอกจากนี้ยังมีการก่อตั้งโรงพยาบาล Queen Charlotte Maternity ในกรุงลอนดอน อันเป็นโรงพยาบาลแม่และเด็กที่เก่าแก่ที่สุดในอังกฤษ
สมเด็จพระราชินี Charlotte สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2361 ที่พระตำหนักดัตช์ในเซอร์เรย์ ปัจจุบันคือ พระราชวังคิว เบื้องพระพักตร์พระราชโอรสพระองค์โต เจ้าชาย Regent ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมศพถูกฝังอยู่ที่โบสถ์เซนต์จอร์จ พระราชวังวินด์เซอร์ งานเขียนส่วนพระองค์เพียงชิ้นเดียวที่คงอยู่รอดมาได้คือพระราชหัตถเลขา 444 ฉบับของสมเด็จพระราชินี Charlotte Queen Charlotte ถึงพระเชษฐาที่สนิทสนิทที่สุด Charles II (Grand Duke of Mecklenburg-Strelitz) ภาพยนตร์ที่เกี่ยวข้อง สมเด็จพระราชินี Charlotte รับบทโดย Helen Mirren ในภาพยนตร์เรื่อง The Madness of King George ปี พ.ศ. 2557 และโดย Golda Rosheuvel ใน Bridgerton ภาพยนตร์ซีรีส์ของ Netflix ในปี พ.ศ. 2563 ที่บอกเล่าชีวิตสังคมชั้นสูงของอังกฤษในยุคปี พ.ศ. 2356 โดยย้อนยุคโรแมนติกทั้งหมด 8 ตอน
มีสถานที่มากมายซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติแด่ สมเด็จพระราชินี Charlotte ได้แก่ สถานที่ที่ตั้งชื่อตามพระองค์ ได้แก่ หมู่เกาะ Queen Charlotte (ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ Haida Gwaii) ในมณฑลบริติชโคลัมเบีย แคนาดา และ Queen Charlotte City บน Haida Gwai i; Queen Charlotte Sound (ไม่ไกลจากหมู่เกาะ Haida Gwaii); Queen Charlotte Channel (ใกล้นครแวนคูเวอร์ มณฑลบริติชโคลัมเบีย แคนาดา); Queen Charlotte Bay ใน West Falkland; Queen Charlotte Sound เกาะใต้ นิวซีแลนด์; ป้อมปราการหลายแห่งรวมทั้งป้อมชาร์ลอตต์เซนต์วินเซนต์; ชาร์ลอตส์วิลล์เวอร์จิเนีย; ชาร์ลอตต์ทาวน์, เกาะปรินซ์เอ็ดเวิร์ด; ชาร์ล็อต นอร์ทแคโรไลนา เมคเลนบูร์กเคาน์ตี้ นอร์ทแคโรไลนา; เมคเลนบูร์กเคาน์ตี้ เวอร์จิเนีย; Charlotte County, Virginia, Charlotte County, Florida, Port Charlotte, Florida, Charlotte Harbor, Florida และ Charlotte รัฐเวอร์มอนต์ Queen Street หรือ Lebuh Queen ตามที่รู้จักกันในภาษามาเลย์เป็นถนนสายหลักในปีนัง มาเลเซีย ซึ่งก็ตั้งชื่อตามพระองค์ ในตองกาพระราชวงศ์รับพระนามว่า Sālote (Charlotte ในภาษาตองกา) เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์ได้แก่ Sālote Lupepauʻu และSālote Tupou III