ปลดล็อก!! ‘นิ้วล็อก’

ในโลกยุคดิจิทัล เพียงใช้ปลายนิ้วสัมผัสก็สามารถเนรมิตทุกสิ่งได้ตามที่ต้องการ ผลที่ตามมาคือมีผู้ประสบปัญหา ‘นิ้วล็อก’ จำนวนมากขึ้นและที่สำคัญคือช่วงอายุที่เป็นน้อยลง เนื่องจากการใช้งานของนิ้วมือที่เปลี่ยนไป จากที่เคยใช้นิ้วกดแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ พัฒนาเป็นการแตะเลื่อนหน้าจอโทรศัพท์มือถือแทน นอกจากนี้ยังติดเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานอีกด้วย จึงส่งผลให้ชะลอการเจริญเติบโตทางโครงสร้างของกระดูกและกล้ามเนื้อในร่างกาย วัยรุ่นหลายคนมีอาการกระดูกสันหลังคด หลังค่อม เสียบุคลิกภาพ และเมื่อถึงวัยทำงานก็อาจเกิดออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome)

‘นิ้วล็อก’ เป็นความผิดปกติของนิ้วมือที่ไม่สามารถ ‘งอ’ หรือ ‘เหยียด’ ได้อย่างปกติ ต้องใช้นิ้วมือด้านตรงข้ามมาแกะนิ้วที่ล็อกออกจนเกิดเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น อาจเป็นนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว หากเป็นมาก นิ้วอาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 3 - 4 เท่า และ พบในนิ้วมือข้างที่ถนัดมากกว่า

ใครที่เสี่ยงต่อการเป็น ‘นิ้วล็อก’ !?!

  • แม่บ้านที่ชอบหิ้วถุงพลาสติกหนักๆเวลาจ่ายตลาด หรือ ทำอาหาร
  • ชอบยกของหนัก เช่น หม้อแกง กะละมังใส่น้ำจนเต็ม
  • ทำอาชีพรับจ้างซักผ้า หรือ ต้องบิดผ้า โดยมักจะเป็นนิ้วล็อกที่นิ้วชี้
  • แม่ค้าขายข้าวแกงที่ต้องใช้ตะหลิวหรือทัพพีทำกับข้าวปริมาณเยอะ ๆ
  • นักเรียน นักศึกษา ต้องจับดินสอปากกาบ่อย ๆ หรือ อาชีพนักเขียน จิตรกร
  • เล่นเกม หรือ พิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์
  • นักกีฬาประเภทที่ต้องออกแรงกำมือมากกว่าปกติ เช่น กอล์ฟ เทนนิส ปิงปอง หรือ แบดมินตัน
  • ทำอาชีพที่ต้องใช้มือทำงานหนัก ๆ ซ้ำ ๆ เช่น ช่างที่ต้องใช้ไขควง ใช้เครื่องเจาะถนน คนส่งน้ำ คนส่งแก๊ส คนสวนที่ต้องใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้, ใช้จอบเสียมขุดดิน
  • ทำอาชีพขายเนื้อสัตว์ จะมีการใช้มือซ้ำๆในการสับเนื้อสัตว์
  • ทันตแพทย์
  • ช่างงานฝีมือเย็บปักถักร้อย ช่างตัดเสื้อผ้า
  • ช่างตัดผม ช่างทำผม

ความเสี่ยงต่าง ๆ ล้วนเกิดจากการใช้งานนิ้วมือซ้ำ ๆ ทำให้เอ็นในนิ้วมือเสียดสีกับอุโมงค์หุ้มเอ็นในขณะใช้งานครั้งแล้วครั้งเล่า เกิดการบาดเจ็บหรืออักเสบซ้ำ ๆ เอ็นในนิ้วมือหรืออุโมงค์หุ้มเอ็นมีการปรับตัวหนาขึ้นจนเกิดเป็นพังผืด เป็นเหตุให้เอ็นในนิ้วมือสูญเสียความยืดหยุ่น ประกอบกับเมื่อช่องอุโมงค์หุ้มเอ็นหนาตัวแคบเข้า ส่งผลให้เอ็นในนิ้วมือลอดผ่านอุโมงค์ได้ยากเรียกว่า “นิ้วล็อก”

อาการของ ‘นิ้วล็อก’ 4 ระยะ

ระยะแรก มีการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ เมื่อกดแล้วเจ็บปวดมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการติดสะดุด ส่วนใหญ่ปวดมากหลังตื่นนอนตอนเช้าหรืออากาศเย็น

ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการสะดุดของนิ้วเวลางอหรือเหยียดนิ้วมือ เวลากำมือหรือแบมือจะรู้สึกตึงๆ เหยียดนิ้วได้ไม่คล่อง อาจได้ยินเสียงดัง ‘กึ้ก’ คล้ายเสียงไกปืนลั่น เกิดจากเอ็นที่เคลื่อนผ่านอุโมงค์หุ้มเอ็น โดยมีการปวดรุนแรงมากขึ้นเมื่อทำงานหนัก

ระยะที่ 3 เกิดอาการ “นิ้วล็อก” พร้อมกับการเจ็บปวด บวม ชา ไม่สามารถเหยียดนิ้วมือออกเองได้ ต้องเอามืออีกข้างมาช่วยเหยียด นิ้วมืออาจค้างอยู่ในท่างอ(ท่าเหนี่ยวไกปืน) หรืออาจติดล็อกในท่าเหยียดนิ้วมือจนไม่สามารถงอนิ้วลงได้เอง

ระยะที่ 4 มีการอักเสบบวมและเจ็บปวดมาก นิ้วมือบวมและติดอยู่ในท่างอไม่สามารถเหยียดออกได้ ถ้าใช้มืออีกข้างช่วยเหยียดจะปวดมาก สร้างความเจ็บปวดและความยากลำบากในการใช้งานมือ

การรักษา “นิ้วล็อก”

ในระยะแรกที่เริ่มปวด ควรพักการใช้งานมือจนอาการปวดทุเลาลง อาจใช้เวลาหลายวัน ในช่วงนี้อาจประคบด้วยความเย็น 15 นาทีใน 1 - 2 วันแรก หลังจากนั้นแช่น้ำอุ่น 15 นาทีในวันถัดมา ทำวันละ 3 - 4 ครั้ง อาจร่วมกับการกินยาต้านการอักเสบหรือวิตามินบีด้วย

ระยะที่ 2 ถ้ามีอาการปวดมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันสามารถกินยาระงับปวดได้ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัดเพื่อลดการปวดและภาวะตึงของเอ็นนิ้วมือ

ระยะที่ 3 แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาสเตียรอยด์ที่อุโมงค์หุ้มเอ็น ซึ่งเป็นการรักษาแบบชั่วคราว ช่วยลดการอักเสบได้ดี อาการจะดีขึ้นใน 2 - 3 วันหลังจากฉีดยา แต่ไม่ควรฉีดมากกว่า 3 ครั้งต่อปี

ระยะที่ 4 การผ่าตัดเพื่อเปิดอุโมงค์หุ้มเอ็นให้กว้างขึ้นให้เอ็นนิ้วมือเคลื่อนผ่านได้สะดวก

อย่างไรก็ตาม ‘นิ้วล็อก’ อาจเกิดซ้ำได้อีก โดยการดูแลเพื่อป้องกันหรือชะลอการเกิด ‘นิ้วล็อก’ มีดังนี้

1.) พักการใช้งานมือ เมื่อต้องใช้มือทำงานหนักเป็นเวลานาน

2.) หมั่นเคลื่อนไหวข้อมือและข้อนิ้วมือทุกข้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและป้องกันไม่ให้เกิดการคั่งค้างของของเสียบริเวณข้อต่อ

3.) ออกกำลังกายยืดเหยียดกล้ามเนื้อแขน, ข้อมือและนิ้วมือ ช่วยให้กล้ามเนื้อและเอ็นต่าง ๆ มีความยืดหยุ่นและผ่อนคลายดังนี้

ยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมืออีกข้างหนึ่งกระดกขึ้น - ลง

ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

  

ฝึกกำ - แบมือ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือและเพิ่มกำลังของกล้ามเนื้อภายในมือ

หรืออาจบีบลูกบอลในฝ่ามือก็ได้

สามารถเพิ่มกำลังกล้ามเนื้องอ-เหยียดนิ้วมือโดยการใช้หนังยางเป็นแรงต้าน

เหยียดนิ้วมืออ้าออกพร้อมออกแรงต้านกับยางยืดค้างไว้ 10 วินาที ทำ 10 ครั้งต่อชุด ทำ 3 ชุดต่อวัน

4.) นวดและดูแลมือให้สะอาดอยู่เสมอ เมื่อพบอาการติดขัดหรือเคลื่อนไหวลำบากของนิ้วมือ โดยเฉพาะช่วงหลังตื่นนอน สามารถใช้นิ้วมืออีกข้างนวดและช่วยยืดเหยียดนิ้ว

วางนิ้วโป้งขวาไว้ที่โคนนิ้วโป้งซ้าย จากนั้นเคลื่อนนิ้วโป้งขวากดนวดจากโคนนิ้วจนสุดข้อมือ

ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

ใช้นิ้วโป้งขวานวดคลึงกล้ามเนื้อฝ่ามือซ้ายในลักษณะวงกลมเล็ก ๆ ซ้อนกัน

เริ่มจากทางด้านนิ้วก้อยไปหานิ้วโป้ง

ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับนิ้วที่ต้องการนวด ออกแรงนวดจากปลายนิ้วไปยังโคนนิ้ว ทั้งด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างของทุกนิ้ว

ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ประกบเข้ากับด้านข้างของนิ้วที่ต้องการนวด

ออกแรงดึงจากโคนนิ้วไปยังปลายนิ้ว

ทำเช่นนี้ทีละนิ้วจนครบทุกนิ้ว สลับมืออีกข้างในลักษณะเดียวกัน

5.) เมื่อต้องทำงานลักษณะกำมือหรือจับสิ่งของแน่นๆ เช่น จับตะหลิว หิ้วของ จับปากกา ควรดัดแปลงอุปกรณ์ที่ใช้ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและเหมาะสม เพื่อช่วยกระจายน้ำหนัก หรือ หาอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรง เช่น ใช้เสียมด้ามใหญ่ทำให้ไม่ต้องกำมือแน่นเกินไป หรือ ใช้ผ้าจับช่วยหมุนเปิดขวด เป็นต้น

6.) ระมัดระวังการใช้งานมือและไม่ใช้มือทำงานผิดประเภท เช่น ขุดดิน ปอกเปลือกมะพร้าว เป็นต้น และถ้ามีการบาดเจ็บให้รีบรักษาทันที


เอกสารอ้างอิง

รศ.นวลอนงค์ ชัยปิยะพร. (2556). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน.

นพ.วิชัย วิจิตรพรกุล. (2548). นิ้วล็อก. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้ากรุ๊ป.

กนกอร บุญพิทักษ์. (2555). นิ้วล็อกกับโรคของกระดูกและเอ็น. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ:  สำนักพิมพ์ feel good.