เผยความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายการเมือง ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา
ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังดำเนินเรื่องอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ ผู้คนมีความเห็นที่แตกต่างกันไป ว่าควรแก้ไขเป็นรายมาตรา หรือ การรื้อทิ้งทำใหม่ทั้งฉบับ
ล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า "การแก้ไขนั้นทำได้" หากแต่เมื่อรัฐธรรมนูญมาจากเสียงประชามติของประชาชนทั้งประเทศที่ร่วมกันลงคะแนนเสียงรับ-ไม่รับ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559
ดังนั้นการแก้ไขก็ควรต้องกลับไปถามประชาชนก่อน
เพราะหากดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเลือก สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คนเพื่อมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น คาดว่าต้องใช้เวลา 15 เดือนและใช้งบประมาณถึง 11,000-15,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
- ค่าทำประชามติแก้ - ไม่แก้ 3,000 - 4,000 ล้านบาท
- [หากแก้ไข] ค่าเลือกตั้ง ส.ส.ร. 3,000 - 4,000 ล้านบาท
- เงินเดือน ส.ส.ร. 200 คน ซึ่งอ้างอิงจากฐานเงินเดือน ส.ส.และ ส.ว. ตกคนละแสนกว่าบาท/เดือน และเงินเพิ่มอีกคนละ 9 แสนถึง 1 ล้านบาท
- ค่าเบี้ยประชุม ส.ส.ร. รายบุคคล ในทุกครั้งที่มีการประชุมกรรมาธิการ
- ค่าจัดทำประชามติใหม่เพื่อรับ-ไม่รับ รธน.ใหม่ อีก 3,000 - 4,000 ล้านบาท
-------------------
หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
-------------------
- ข้อดี : มีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน ทำให้ข้อครหาหรือข้ออ้างว่า “รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตย” นั้นหมดไป (หรืออย่างน้อยก็ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิม)
- ข้อเสีย : ใช้งบประมาณเยอะ และไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนในยุคการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 รวมถึงในความเป็นจริง น้อยคนมากที่จะนั่งอ่าน รธน.ใหม่ทั้งฉบับ โดยเฉพาะข้อที่ไม่ได้เกี่ยวกับปากท้องหรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ประชาชนก็มักจะไม่สนใจ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ฝ่ายการเมืองแอบยัดใส่ความต้องการของตน(ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์ต่อประชาชน)ไว้ได้
-------------------
หากแก้ รธน.เป็นรายมาตราในรัฐสภาฯ
-------------------
- ข้อดี : ประหยัดงบประมาณ ได้นำมาตราที่แต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นปัญหาขึ้นมาหารือกัน สื่อมวลชนรายงานเจาะได้เป็นรายมาตรา และประชาชนได้เห็น "ความต้องการที่แท้จริงของฝ่ายการเมือง" อย่างชัดเจน ว่ามาตราที่ต้องการแก้ไขนั้น เกี่ยวกับปากท้องประชาชน การรักษาอำนาจของตน การเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมือง หรือการมุ่งเป้าไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ กันแน่?
- ข้อเสีย : แม้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ตามกระบวนการในสภาผู้แทนฯ แต่ฝ่ายค้านและม็อบนอกสภาฯ ยังก็คงนำเรื่อง รธน.ไม่เป็นประชาธิปไตยมาใช้เป็นประเด็นเพื่อเครื่องไหวทางการเมืองต่อไป
-------------------
สิ่งที่สังคมไทยควรตั้งคำถามก่อนตัดสินใจเรื่อง รธน.
-------------------
1.) ปัญหาเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และ ความวุ่นวายทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมานี้ ปัญหามาจากรัฐธรรมนูญ หรือมาจากการบริหารงานที่ขาดประสิทธิภาพและไม่โปร่งใส ?
2.) กฎหมายที่มีอยู่ เพียงพอในการจะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีประสิทธิภาพและโปร่งใสหรือไม่ ?
3.) หากกฎหมายมีประสิทธิภาพพอสมควร เหตุใดการบริหารงานราชการแผ่นดินหลายอย่างจึงมีปัญหา และไม่มีประสิทธิภาพดังกฎหมายที่เขียนไว้ ?
4.) หากเป็นเพราะการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มแข็ง การตรวจสอบและการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนที่ไม่มีประสิทธิภาพ การจะแก้ไขหรือ "ปฏิรูป" ระบบการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินให้มีประสิทธิภาพขึ้นต้องทำอย่างไร ?
คำตอบที่ได้ในคำถามทั้ง 4 ข้อนั้น ต้องเป็นคำตอบที่มาจาก "ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ในแง่ของกระบวนการทำงาน" ไม่ใช่เป็นโวหารหลักการลอยๆ อย่างที่ฝ่ายการเมืองใช้โจมตีกันไปมาตลอดหลายปีนี้
*** ในคอลัมน์ตอนต่อไป ผมจะมาเขียนเจาะลึกลงไปถึงปัญหาที่คนไทยทุกคนต่างเคยพบเจอและอยากให้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางเท้า สัญญาณไฟจราจร การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ความซ้ำซ้อนในการขออนุญาตของหน่วยงานราชการ ปัญหาด้านการศึกษาที่ขาดประสิทธิภาพ และอื่นๆ
*** เพื่อวิเคราะห์กันให้เห็นว่าปัญหาที่แท้จริงของ “การขาดประสิทธิภาพ” นั้น มันต้องแก้ไขหรือ “ปฏิรูป” กันอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่ตามเกมการเมืองที่ฝ่ายการเมืองทั้งในและนอกสภาฯ ทำกันอยู่แบบทุกวันนี้แน่นอนครับ
ข่าวอ้างอิงประกอบ:
https://www.posttoday.com/politic/news/631007