Monday, 13 May 2024
COLUMNIST

ตำนานลูกมะพร้าว ที่มาของเจ้าที่ในบ้านของคนเมียนมาร์

ใครที่เคยมีเพื่อนที่เป็นคนเมียนมาร์เวลาไปเยี่ยมเพื่อนเขาที่บ้าน นอกจากจะเห็นหิ้งพระใหญ่โตแล้ว หากคุณเป็นคนสายตาดีคุณจะสังเกตเห็นมุมหนึ่งที่เขาจะตั้งลูกมะพร้าวไว้บนแท่นบูชาหรือแขวนไว่มุมหนึ่งของบ้าน จนเราต้องสงสัยว่าจะแขวนมะพร้าวไว้ที่บ้านทำไม แต่นี่คือเทพหรือนัท ที่คนเมียนมาร์กราบไว้บูชามีพลังอำนาจในการปกป้องบ้านเรือนจากเหล่าภูตผีและวิญญาณชั่วร้ายต่าง ๆ นัทองค์นี้มีชื่อว่า “เมงมหาคีรี”

นัทองค์นี้ มีตำนานเริ่มที่ยุคพุกาม ก่อนที่พุกามจะรวมเป็นราชอาณาจักรเดียว ที่เมืองตะโกง ใกล้ ๆ กับเทือกเขาโปป้า มีชายหนุ่มคนหนึ่งถือกำเนิดขึ้น เขามีนามว่า ‘ติน เต’ เขาเกิดมาพร้อมกับพลังมหาศาลและร่างกายอันแข็งแกร่ง อาวุธต่าง ๆ ไม่สามารถทำอันตรายเขาได้ เมื่อเขาโตขึ้นเขาทำงานเป็นช่างตีดาบในเมืองนี้ และเขายังมีน้องสาวอีก 2 คน เมื่อเรื่องราวของชายหนุ่มผู้มีพละกำลังมหาศาลรู้ไปถึงหูของกษัตริย์เมืองตะโกง ทางกษัตริย์ก็กลัวว่านายติน เต คนนี้สักวันจะมาชิงราชบัลลังก์ กษัตริย์จึงออกอุบายให้ไปจับนายติน เต มาเพื่อสังหารซะ แต่สุดท้ายทหารก็ไม่สามารถจับเขาได้ แต่นายติน เต ผู้นี้ก็หนีไปได้ ทางกษัตริย์จึงบอกให้ทหารไปจับน้องสาวทั้งสองของเขาที่อาศัยอยู่ที่บริเวณหุบเขาโปป้ามา แต่แทนที่จะออกอุบายจับน้องสาวทั้งสองมาสังหาร แต่กษัตริย์เมืองตะโกงกลับออกอุบายว่าจะอภิเษกกับน้องสาวทั้งสองของติน เต แทน และบอกให้น้องสาวทั้งสองของติน เต ขอร้องให้พี่ชายของเขามาพบในฐานะผู้กล้า หลายครั้งที่กษัตริย์ตรัสกับเมียสองพี่น้องว่าถ้าพี่ชายเขามาเป็นแม่ทัพให้เมืองตะโกง เมืองตะโกงจะยิ่งใหญ่ไพศาลมีอำนาจมากมาย จนทำให้น้องสาวของติน เต ทั้งสองหลงเชื่อใจกษัตริย์ ดังนั้นน้องสาวทั้งสองของติน เต จึงชวนพี่ชายเขาให้มาเข้าวังเพื่อพบกับกษัตริย์

เมื่อติน เต เขามาในวังแล้วกษัตริย์ก็วางอุบายจับเขามัดไว้กับต้นจำปีไว้ แต่พอทหารใช้ศาสตราวุธใด ๆ ก็ไม่สามารถเจาะผ่านผิวของติน เต ได้ กษัตริย์จึงออกคำสั่งให้เผาติน เต ทั้งเป็น เมื่อน้องสาวทั้งสองเห็นพี่ชายตนเองกำลังจะตายอย่างทุรนทุราย ทั้งสองจึงได้กระโดดไปในกองไฟตายร่วมกับพี่ชายของเขา

เมื่อ ติน เต และน้องสาวทั้งสองตายไปแล้ว วิญญาณของทั้งสามก็สิงสถิตย์ที่จุดที่เป็นต้นจำปีนั้น เมื่อมีใครผ่านไปผ่านมาก็มักจะปรากฎร่างให้เห็น จนผู้คนในเมืองตะโกงต่างกลัว เรื่องราวได้ยินไปถึงหูของกษัตริย์เมืองตะโกงอีกครั้ง กษัตริย์จึงสั่งให้ทหารไปถอนรากต้นจำปีที่ไหม้ไปแล้วขึ้นมาเอาไปลอยในแม่น้ำอิรวดี รากไม้นี้ลอยไปจนถึงเมืองท่าของพุกามที่นั่น ก่อนที่รากไม้นี้จะลอยมาถึงกษัตริย์แห่งพุกามนามว่า เตเลเจาง์  ท่านทรงสุบินถึงรากจำปีนี้และเรื่องราวของติน เต และน้องสาวทั้งสอง เมื่อรากจำปีลอยมาติดที่ท่าเมืองพุกาม กษัตริย์เตเลเจาง์ จึงดำรัสให้นำรากจำปีขึ้นจากน้ำ จึงสร้างรูปสักการะ และมอบสถานที่ให้วิญญาณทั้งสามสถิตย์เพื่อที่พุกาม และประกาศให้ทุกบ้านสักการะในฐานะนัทผู้คุ้มครองภูเขาโปป้า รวมทั้งให้ภารกิจนัททั้งสามว่ามีหน้าที่ปกป้องบ้านเรือนของผู้คนจากวิญญาณร้ายและภูติผี และตั้งชื่อให้ใหม่ว่า ‘เมงมหาคีรี’

เมื่อถึงยุคพระเจ้าอโนรธามังช่อ เป็นยุคที่พุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลในพม่า ในตอนนั้นพระเจ้าอโนรธามังช่อไม่ชอบ จะลงโทษคนที่สักการะนัท ดังนั้นทุกบ้านจะต้องเอารูปสักการะนัทออกไปทิ้ง แต่ชาวบ้านยังศรัทธาในการสักกการะนัทเมงมหาคีรีแม้จะไม่สามารถมีองค์สักการะที่บ้านได้ ดังนั้นชาวบ้านจึงนำลูกมะพร้าวมาตกแต่งโดยการรวมคองบอง หรือ ผ้าโพกหัวและมีตาลปัตรที่เป็นสัญลักษณ์ของนัทเมงมหาคีรีไว้ที่บ้านเพื่อศรัทธา

การบูชานัทองค์นี้จะต้องมีผ้าแดงปิด โดยยามกลางวันจะเปิดผ้าแดงไว้ แต่เมื่อยามวิกาลมาถึง เมื่อแต่ละบ้านต้องจุดไฟ จะต้องปิดผ้าแดงคลุมลูกมะพร้าวไว้ เนื่องจากนัทเมงมหาคีรี ตายเพราะไฟ ดังนั้นท่านจึงไม่ถูกกับไฟนั่นเอง การบูชาเมงมหาคีรีนั้น ต้องห้ามจุดธูป จุดไฟ และถวายดอกจำปาเด็ดขาด สามารถถวายอาหารคาว ยกเว้นเนื้อสัตว์ น้ำ และผลไม้ ดอกไม้ทั่วไปยกเว้นจำปีได้ และในทุก ๆ ปีจะถวายมะพร้าวสักการะลูกใหม่พร้อมกับถวายเครื่องเซ่น อย่างเช่น  Mont San เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลและมะพร้าว ใบชา หมากพลู และกล้วยในวันก่อนวันเข้าพรรษาและหลังวันออกพรรษา และหลายครอบครัวก็มีการให้เครื่องเซ่นเมื่อมีสมาชิกเข้ามาอาศัยในบ้าน เช่น แต่งงานมีสะใภ้เข้าบ้าน หรือหลังจากลูกเกิด 49 วัน

และนี่เป็นอีกหนึ่งนัทที่อยู่คู่กับคนเมียนมาร์มานับพันปีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเชื่อว่าความเชื่อนี้ยังคงอยู่ต่อไปอีกแสนนานเช่นเดียวกับคนไทยเชื้อสายจีนบูชาตี่จู่เอี้ยนั่นเอง

ฟ้าผ่า ภัย(ไม่)เงียบ ที่มาพร้อมกับพายุ ฝนฟ้าคะนอง

ช่วงนี้เชื่อแน่ว่าหลายพื้นที่คงได้รับผลกระทบจากการเกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านลบ คือบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างเกิดความเสียหาย หรือด้านบวก คือทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับน้ำฝน ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืช แต่มีอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นภัยที่มากับพายุ และไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเวลาและสถานที่ไหน นั้นคือปรากฏการณ์ฟ้าผ่า และหนึ่งในนั้นเป็นเหตุการณ์ที่พึ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ที่หลายท่านคงได้ยินข่าว นั่นคือฟ้าผ่าลงกลางสนามฟุตบอลในขณะที่นักฟุตบอลกำลังเล่นฟุตบอลกันอย่างสนุกสนาน ส่งผลให้ผู้ที่กำลังเล่นฟุตบอลเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บด้วยกันหลายคน

ในวันนี้จะมาเล่าถึงการเกิดฟ้าผ่า สาเหตุของการเกิด และแนวทางในการป้องกันฟ้าผ่ากันครับ ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อน ตามหลักการทางฟิสิกส์แล้ว สสารทุกชนิดจะมีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่ โดยประจุไฟฟ้ามี 2 ชนิดคือประจุบวและประจุลบ คุณสมบัติของประจุไฟฟ้า ก็คือเมื่อเป็นประจุชนิดเดียวกันจะเกิดแรงผลักกัน แต่ถ้าเป็นประจุต่างชนิดกันจะเกิดแรงดูดกัน ทั้งนี้เมื่อประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่ก็จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้า หรือที่เราเรียกว่าไฟฟ้ากระแสที่มีการใช้งานทั่วไปนั่นเอง

โดยทั่วไปถ้าไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ เกิดขึ้น สสารทุกชนิดจะมีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า คือมีประจุบวกเท่ากับประจุลบ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีการทำปฏิกิริยาเกิดขึ้น เช่นการขัดหรือถูกันระหว่างสสาร ก็จะทำให้เกิดการถ่ายเทประจุจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทำให้สสารนั้นขาดความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า เช่นปรากฏการณ์ที่เราเห็นได้ง่ายคือการเอาไม้บรรทัดถูกับผ้าที่แห้ง ทำให้ประจุที่สะสมอยู่ในไม้บรรทัดสูญเสียความเป็นกลางทางไฟฟ้า ประจุบวกกับลบแยกกันอยู่คนละด้านของไม้บรรทัด เมื่อเรานำมาวางไว้ใกล้กระดาษ จะส่งผลให้ประจุที่ไม่เป็นกลางที่อยู่ในไม้บรรทัด พยามที่จะดึงเอาประจุตรงข้ามที่อยู่ที่กระดาษ ทำให้เกิดแรงดึงดูดระหว่างกระดาษกับไม้บรรทัด นั่นคือกระดาษเคลื่อนเข้าหาไม้บรรทัดนั่นเอง เรียกปรากฏการณ์ลักษณะนี้ว่า การเหนี่ยวนำให้เกิดประจุไฟฟ้า 

ทีนี้เมื่อมาเปรียบเทียบกับการเกิดฟ้าผ่า ตามหลักโดยทั่วไปแล้ว ก้อนเมฆซึ่งเป็นไอน้ำก็เป็นสสารชนิดหนึ่งเช่นกัน นั่นแสดงว่าต้องมีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่ ยิ่งก้อนเมฆมีขนาดใหญ่มากเท่าไร นั่นแสดงว่ามีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่เป็นจำนวนมากตามไปด้วย และเมื่อก้อนเมฆมีการเคลื่อนที่ ทั้งนี้สาเหตุเกิดจากลม ซึ่งโดยทั่วไปลมจะเกิดจากการเคลื่อนที่ของอนุภาคอากาศ และเมื่อก้อนเมฆที่มีขนาดใหญ่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงเกิดการเสียดสีกันระหว่างหยดน้ำ และน้ำแข็งที่อยู่ในก้อนเมฆ ทำให้เกิดการถ่ายเทประจุ ส่งผลให้ประจุไฟฟ้าที่อยู่ในก้อนเมฆ แยกตัวออกเป็นสองส่วน โดยประจุบวกจะสะสมอยู่ด้านบนหรือด้านยอดของเมฆ และประจุลบสะสมอยู่ด้านล่างหรือฐานของเมฆ เมื่อเกิดการสะสมประจุเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการถ่ายระหว่างประจุที่แตกต่างกัน ซึ่งก็คือเกิดการถ่ายเทกระแสไฟฟ้าที่มีจำนวนมหาศาล ถ้าเกิดระหว่างก้อนเมฆก็จะเป็นปรากฏการฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆ ที่เรามักได้ยินเสียงแต่นั่นเอง


โดยชนิดของเมฆที่ทำให้เกิดฟ้าผ่า คือเมฆที่เกิดฝน หรือเรียกว่าเมฆคิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus) ซึ่งจะมีฐานของเมฆที่สูงกว่าพื้นดินประมาณ 2 กิโลเมตรขึ้นไป และเมฆบางก้อนมีขนาดใหญ่จนยอดของเมฆสูงกว่าพื้นดินเกือบ 20 กิโลเมตร เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันเนื่องจากพื้นดินที่เราอาศัยอยู่ก็มีประจุไฟฟ้าสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก โดยทั่วไปจะมีความเป็นกลางทางประจุไฟฟ้า  แต่เมื่อถูกเหนี่ยวนำด้วยประจุต่างชนิดจากประจุของก้อนเมฆ ที่เคลื่อนที่เข้าใกล้พื้นดินมาก ก็อาจจะส่งผลให้ประจุบริเวณพื้นดินที่อยู่ใต้เงาก้อนเมฆ หรือบริเวณใกล้เคียงอาจเป็นประจุบวกหรือลบก็ได้ และเมื่อประจุไฟฟ้าที่อยู่บนก้อนเมฆเคลื่อนที่ลงมาหาประจุตรงข้ามที่อยู่บนพื้นดิน ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมากลงมายังพื้นดินด้วย พอเจอกับสิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ หรือต้นไม้ ก็จะทำให้เกิดการไหลของกระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมากในสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ดังนั้นลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่โดนฟ้าผ่าจึงมีลักษณะคล้ายกับสิ่งมีชีวิตที่ถูกกระแสไฟฟ้าแรงสูงช็อต นั่นเอง

ทั้งนี้ลักษณะการผ่าของฟ้าเกิดได้หลายแบบ ได้แก่ฝ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆเดียวกัน เกิดจากการถ่ายเทประจุในก้อนเมฆเดียวกัน โดยอาจเกิดจากฐานเมฆไปยังยอดเมฆ หรือยอดเมฆมายังฐานก็ได้ ฟ้าผ่าระหว่างก้อนเมฆหนึ่งไปยังอีกก้อนหนึ่ง เกิดจากการถ่ายเทประจุระหว่างก้อนเมฆแต่ละก้อน ทั้งนี้ฟ้าผ่าทั้งสองชนิดนี้จะไม่มีผลต่อมนุษย์เรา จะได้ยินแค่เสียงฟ้าร้องและฟ้าแลบเท่านั้น

ส่วนฟ้าผ่าที่มีผลต่อเราได้แก่ ฟ้าผ่าที่เกิดจากประจุลบบริเวณฐานเมฆที่ถ่ายเทประจุ มายังพื้นดินซึ่งเป็นประจุบวกที่เป็นเงาของเมฆทับอยู่ โดยทั่วไปจะเกิดเฉพาะบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองเท่านั้น 

และฟ้าผ่าจากประจุบวกที่อยู่บนยอดเมฆถ่ายเทประจุลงมายังพื้นดินที่เป็นลบ ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าลงบริเวณเกิดฝน อาจผ่าลงบริเวณใกล้เคียงก็ได้ ซึ่งลักษณะของฟ้าผ่าแบบนี้จะมีระยะผ่าที่ไกลกว่าบริเวณที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ ทั้งนี้ในเวลาที่ฟ้าผ่าเราจะเห็นแสงและได้ยินเสียงร้องคำรามของฟ้าที่มีความดังสูงนั้น เกิดจากการที่ประจุไฟฟ้า เคลื่อนที่ผ่านอากาศด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดการเสียดสีกับอากาศอย่างรุนแรง อากาศเกิดความร้อนขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดเป็นคลื่นกระแทก (shock wave) จึงเกิดทั้งแสงและเสียงที่ดังกึกก้องกัมปนาท คล้ายกับการเสียงของเครื่องบินรบที่บินด้วยความเร็วสูงนั่นเอง

ทั้งนี้เรามักจะมองเห็นแสงฟ้าแลบก่อนที่จะมีเสียงฟ้าร้อง เนื่องจากแสงมีความเร็วมากกว่าเสียงมาก ทำให้แสงวิ่งมาถึงตัวเราที่รับรู้ได้โดยสายตา ก่อนที่จะได้ยินเสียงที่รับรู้ได้ด้วยหูนั่นเอง การเกิดฟ้าผ่านั้นนอกจากเรารับรู้ได้ว่ามักจะเกิดบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรือบริเวณใกล้เคียงเท่านั้น นอกเหนือจากนี้เราไม่สามารถที่จะคาดเดาได้ว่าจะเกิดเวลาใด หรือบริเวณไหนของฝนฟ้าคะนองดังกล่าว

วิธีการป้องกันได้ดีที่สุดคือเวลาฝนตก ไม่ควรจะอยู่ในบริเวณที่โล่งแจ้งหรือต้นไม้ใหญ่ ควรอยู่ในบริเวณอาคารบ้านเรือน ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรสวมใส่โลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้า ถึงแม้จะยังไม่มีบทพิสูจน์อย่างชัดเจนได้ว่า การสวมใส่โลหะในขณะเกิดฝนตกจะเป็นตัวล่อให้เกิดการเหนี่ยวนำไฟฟ้าจากก้อนเมฆมายังโลหะตัวนำนั้น แต่ก็มีการค้นพบว่าเมื่อเกิดฟ้าผ่า บริเวณที่มีตัวนำไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด และในอาคารที่สูงควรจะมีการติดตั้งวัสดุที่เรียกว่าสายล่อฟ้า ซึ่งจะมีหน้าที่ในการเหนี่ยวนำให้ประจุจากก้อนเมฆวิ่งลงมายังสายล่อฟ้า แล้ววิ่งลงไปยังพื้นดินข้างล่างที่ต่อกับสายล่อฟ้าไว้ ซึ่งประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นอันตราย และที่สำคัญที่สุด เวลามีพายุ ฝนฟ้าคะนอง ควรงดทำกิจกรรมที่อยู่ในที่โล่งแจ้งทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมอะไรก็ตาม แค่นี้เราทุกคนก็จะปลอดภัยจากปรากฏการณ์ฟ้าผ่าได้ครับ

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 4

‘อัยเยอร์เวงและฆุนังซีลีปัต’ น่าจะเป็นชื่อคุ้นหูใครหลายคน คำที่โด่งดังจากทะเลหมอกและสกายวอร์คซึ่งเป็นจุดชมวิวเลื่องชื่อระดับประเทศ คนแห่กันไปถ่ายรูปและเช็คอินกันล้นหลาม ส่วนหนึ่งเพราะโดยตัวสถานที่เองที่มีความโดดเด่นและเป็นจุดขายในตัวมันเอง อีกส่วนหนึ่งคงเพราะมีการแชร์ข้อมูลต่อ ๆ กันไปผ่านโลกโซเชี่ยล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์และเน็ตไอดอลทั้งหลายนั่นเอง 

แต่ละแวกนี้ไม่ได้มีเฉพาะจุดชมวิวทะเลหมอกเท่านั้น ยังมีทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ อย่างเช่นสายน้ำปัตตานี รวมถึงขนบประเพณีของคนเชื้อสายมลายูให้ได้ซึมซับชื่นชมยามไปเยือนพื้นที่นี้ อย่างที่บังบิ๊บกับผมกำลังทำกันอยู่คือกิจกรรมพายเรือล่องแก่งก็เป็นสีสันอีกอย่างหนึ่ง บังบิ๊บเองนอกจากเป็นนักเดินทางท่องโลกแล้ว เขายังจัดกิจกรรมทัวร์ผจญภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนพื้นที่สามจังหวัดอีกด้วย กิจกรรมพายเรือคายักได้ดำเนินการอยู่แล้วในพื้นที่ ให้ทั้งความสนุกและมีความปลอดภัยสูง แถมยังสามารถทำได้แม้ในช่วงหน้าร้อนซึ่งแตกต่างจากการล่องแก่งในภาคเหนือซึ่งมักจะจัดกันเฉพาะฤดูน้ำหลากเท่านั้น แต่ล่องแก่งของที่นี่ยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง สาเหตุอาจเพราะขาดการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและด้วยวิธีการจัดการภายในท้องถิ่นเองก็เป็นได้

สำหรับผม การได้หนีหมอกควันที่เชียงใหม่มาพื้นที่สามจังหวัดแบบนี้ถือว่าเป็นรางวัลโดยตัวมันเองอยู่แล้ว อากาศบริสุทธิ์กว่าโดยประการทั้งปวง มองไปทางไหนก็ยังคงเขียวขจี (แม้จะเป็นสวนยางเสียเยอะก็ตาม) ที่ผิดคาดกว่าก็คือช่วงค่ำและกลางคืนอากาศเย็นกว่าที่คิดด้วยสิ ยิ่งได้มาพายเรือแล้วเจอแก่งน้ำเชี่ยวให้ได้ตื่นเต้นยิ่งเกินคุ้ม หากถามว่าปลอดภัยไหม สุ่มเสี่ยงในเรื่องการก่อการร้ายหรือไม่ ต้องบอกว่าตลอดช่วงเวลาที่อยู่ในพื้นที่นี้ไม่ได้รู้สึกไม่ปลอดภัยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ชาวบ้านที่ผ่านไปพบต้อนรับขับสู้ด้วยน้ำใจไมตรี ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงจากสิ่งที่ประโคมเขียนกันตามสื่อต่าง ๆ แน่นอน ยังคงมีความขัดแย้งและผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวระหว่างหน่วยงานรัฐกับคนในพื้นที่ แต่นักท่องเที่ยวก็ยังไปเที่ยวได้ตามปกติ ชาวบ้านที่นั่นเขาก็ยังคงดำเนินชีวิตกันเป็นปกติ ต่างทำมาหากิน จับจ่ายใช้สอย ท่องเที่ยวพักผ่อนไม่ต่างจากที่ไหนในประเทศไทยเช่นกัน


จากจุดพักแรมคืนที่ผ่านมา ยังคงต้องล่องแก่งกันต่ออีกหลายกิโลเมตร สนุกสนานตื่นเต้นกันไป พ้นจากช่วงนั้นน้ำจึงเริ่มนิ่งมากขึ้น สาเหตุเพราะข้างหน้ามีเขื่อนบางลางขวางลำน้ำ เขื่อนนี้สร้างมาได้หลายสิบปีแล้ว หน้าที่หลักคือผลิตกระแสไฟฟ้าและปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์เหนือเขื่อนรองรับการท่องเที่ยวบ้าง พวกเราต้องพายจ้ำกันมากขึ้น ยิ่งพายภูมิทัศน์ยิ่งเปลี่ยน พื้นน้ำกว้างออก กลายเป็นทะเลสาบ

ในขณะที่มองเห็นภูเขาล้อมรอบในระยะห่างออกไป ความท้าทายประจำวันนี้ คือลมปะทะแรง ยิ่งบ่ายคล้อยลมยิ่งทวีความรุนแรง เหมือนต้องพายเรือทวนน้ำยังไงยังงั้น เรียกว่าหยุดพายก็เท่ากับโดนลมตีให้ถอยหลัง เป็นความทรมานบันเทิงชนิดหนึ่งของคนประเภทไม่ชอบอยู่บ้านทำงานออฟฟิศ แต่ชอบหาเรื่องทำกิจกรรมโลดโผนโจนทะยานข้างนอกเช่นนี้แล แน่นอน การอยู่กับที่กับทางสบายกายกว่าอยู่แล้ว ไม่เถียง แต่กับคนบางจำพวก สบายกายไม่ได้สอดคล้องกับสบายใจ และลำบากกายอาจจะนำพาสู่ความสบายใจและความสุขของชีวิตมากกว่า

พายกันจนย่ำค่ำจนถึงท่าเรือตาพระเยา เพื่อนบางส่วนมารับไปพักบ้านพวกเขา ต้อนรับขับสู้ด้วยสำรับกับข้าว นอกจากพิซซ่าโฮมเมดแล้ว เมนูเชื่อมสัมพันธ์พิเศษของคนที่นี่คือซุปเป็ด เป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่มิตรผู้ชายทั้งหลาย เวลาจะสังสรรค์กันใครมีอะไรก็นำมาเพื่อต้มซุปด้วยกัน เครื่องปรุงหลัก ๆ ก็มีข่า กระเทียม หัวหอม มะนาว ตะไคร้ มะเขือเทศ ลักษณะคล้ายต้มยำน้ำใส รสชาติจัดจ้านคละเคล้าบทสนทนาออกรส ทำให้มื้ออาหารอร่อยมากขึ้นอีกหลายเท่า

อิ่มหมีพีมันและเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางมาทั้งวันแล้ว ก็อาบน้ำท่าแล้วเข้านอน เพื่อเรียกเรี่ยวแรงกลับคืนมาสำหรับออกลุยล่องแม้น้ำปัตตานีกันต่อในวันรุ่งขึ้น

สิงคโปร์ ท้าโลกร้อน ขอเปลี่ยนเมืองร้อนให้เป็นเมือง Cool ด้วยนวัตกรรม

สิงคโปร์ ประเทศเล็ก ๆ แต่รวยมากในย่าน อาเซียน มีความเจริญแทบทุกด้านติดอันดับต้น ๆ ของโลก และเป็นศูนย์กลางธุรกิจการเงินในภูมิภาค ที่หลายคนต่างมองด้วยความทึ่ง ในความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมืองนี้ 

แต่ถึงจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีจุดแข็งในหลาย ๆ ด้าน แต่ก็ยังมีปัญหาหนึ่งรัฐบาลสิงคโปร์พยายามแก้ไขมานานหลายสิบปี แต่ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงของปัญหาได้ นั่นก็คือ "ความร้อน" 

สิงคโปร์เป็นประเทศในเขตร้อน อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรเพียง 137 กิโลเมตร สภาพอากาศจัดอยู่ในโซนป่าฝนเขตร้อน จึงมีอากาศร้อนชื้น ตลอดทั้งปี แต่ส่วนใหญ่มักจะค่อนมาทางร้อน แดดจัด  อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 27 องศาเซลเซียส

แต่นอกเหนือตำแหน่งที่ตั้งของสิงคโปร์ อยู่ในโซนเส้นศูนย์สูตรที่ก็ร้อนอยู่แล้ว สิงคโปร์ยังเจอปัญหาจาก Urban Heat Island Effect หรือปรากฏการณ์โดมความร้อน อันเนื่องจากสิงคโปร์เป็นเกาะที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นตึกคอนกรีตสูงใหญ่เป็นจำนวนมาก ที่กักเก็บความร้อนให้ระอุอยู่ภายในเมือง จึงทำให้ตัวเมืองมีอากาศร้อนจัด

แต่ชาวสิงคโปร์ต้องขอบคุณวิสัยทัศน์ของอดีตรัฐบุรุษผู้ล่วงลับ ที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาผู้สร้างชาติสิงคโปร์  นาย ลี กวน ยู ที่มองเห็นว่า เมืองที่มีต้นไม้ร่มรื่นจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชาติ และส่งเสริมสุขภาพทั้งกาย และใจ ให้กับประชาชน 

จึงได้ริเริ่มแคมเปญปลูกต้นไม้ใหญ่บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้อย่างน้อยปีละ 10,000 ต้น ตั้งแต่ปี 1963  และต่อมา วัฒนธรรมการปลูกต้นไม้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชาวสิงคโปร์ ที่จะมีวันปลูกต้นไม้แห่งชาติ จัดในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายน ตั้งแต่ปี 1971 โดย นายลี กวน ยู เอง  ที่ชักชวนชาวสิงคโปร์ให้ออกมาปลูกต้นไม้ด้วยกันในวันนี้ ซึ่งเขารักการปลูกต้นไม้มาก และจะเจียดเวลามาปลูกต้นไม้ให้ได้อย่างน้อยปีละ 60 ต้น เป็นประจำ 

และแคมเปญการปลูกต้นไม้ของรัฐบาลสิงคโปร์ ยังคงเดินหน้ามาถึงใน ปัจจุบัน และในปีนี้ 2021 รัฐบาลสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันนำโดย นายกรัฐมนตรี ลี เซียน ลุง บุตรชายของนายลี กวน ยู ก็ประกาศเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้บนเกาะสิงคโปร์ให้ได้ถึง 1 ล้านต้นภายใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อให้สิงคโปร์เป็นเมืองกลางสวนเขียวชอุ่มอย่างแท้จริง ตามที่พ่อของเขาเคยตั้งเป้าหมายไว้ 

ถึงแม้การปลูกต้นไม้ใหญ่ และ สร้างสวนสาธารณะชุมชนเพิ่มขึ้น จะบรรเทาความร้อนจากผลกระทบของ Urban Heat Island Effect ไปได้บ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิภายในเมืองสิงคโปร์ลดลง ตรงกันข้าม จากข้อมูลสถิติกลับพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิโลกถึง 2 เท่า 

ซึ่งสิ่งที่มาเป็นตัวเร่ง และแรงเสริมที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในเมืองสิงคโปร์ยังคงพุ่งสูงอย่างน่ากลัว ก็คือปัญหาจากภาวะโลกร้อน  และคาดว่าอาจทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยในสิงคโปร์เพิ่มถึง 35-37 องศา ภายในไม่เกินศตวรรษหน้า 

และด้วยปัญหาความร้อนนี้ จึงทำให้ชาวสิงคโปร์จำเป็นต้องพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ ที่มักมีติดกันทุกบ้าน ทุกอาคาร เพื่อบรรเทาความร้อน ชื้นที่รุนแรงขึ้นทุกปี จึงไม่แปลกใจที่พบว่าในประเทศสิงคโปร์ มีจำนวนเครื่องปรับอากาศต่อประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

และยิ่งใช้เครื่องปรับอากาศมาก ก็ยิ่งไปเร่งให้เกิดปรากฏการณ์โดมความร้อน และยังเผาผลาญพลังงาน ปล่อยก๊าซคาร์บอนเพิ่มอีก กลายเป็นห่วงโซ่ของปัญหาภาวะโลกร้อน ที่ไม่อาจแก้ได้แค่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่ต้องลดการใช้พลังงานคาร์บอนและลดการพึ่งพาความเย็นจากเครื่องปรับอากาศ

หว่อง ยุก เหียน อาจารย์ประจำภาควิชาการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เห็นว่า การออกแบบอาคารในสิงคโปร์นับจากนี้ ต้องคำนึงเรื่องการลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ที่สิ้นเปลืองพลังาน และไม่เป็นผลดีต่อสภาพอากาศในสิงคโปร์  เพราะฉะนั้น จำเป็นต้องหานวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยทำให้อาคารเย็นลง ผู้อยู่อาศัยรู้สึกสบายโดยไม่จำเป็นต้องเปิดแอร์ และทางเลือกนั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

โจทย์นี้ กลายเป็นที่มาของโครงการ Cooling Singapore Project ทีมนักวิจัยที่ต้องการหาทางออกให้กับสิงคโปร์ ด้วยการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบ ที่ประกอบด้วยกุญแจสำคัญ 7 ประการ อันได้แก่ ความเขียวขจีของต้นไม้, เรขาคณิตของเมือง, การใช้น้ำลดความร้อน, การใช้วัสดุ พื้นผิวที่เหมาะสม. การสร้างร่มเงา, ระบบคมนาคม และการใช้พลังงาน

ดังจะเห็นได้จากรูปแบบสถาปัตยกรรมตึก และอาคารสมัยใหม่ของสิงคโปร์ จะเน้นความสำคัญของการออกแบบให้มีระดับความสูงต่ำ ที่แตกต่างกัน อาคารมีลักษณะโค้งมน และมีการเว้นช่องว่าง แทนที่จะเป็นทรงเหลี่ยม สร้างอย่างทึบแน่น เต็มพื้นที่ หรือเน้นความสูงระฟ้า เพื่อเปิดช่องทางลม ให้หมุนไหลเวียนภายในตัวเมือง ลดการสะสมความร้อนที่เป็นสาเหตุของ Urban Heat Island Effect

นอกจากนี้ยังมีการแทรกสวนหย่อม ต้นไม้ภายในอาคาร มีโซนบ่อน้ำเป็นฉนวนกันความร้อน ใช้วัสดุที่สะท้อนแสง และไม่เก็บความร้อน เน้นสีอ่อน เน้นความพริ้วเบา ที่ช่วยส่งเสริมการถ่ายเทลม

ยกตัวอย่างเช่นอาคาร โรงแรม Park Royal และ Oasis ในสิงคโปร์ ที่ผสานสวนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร  หรือโครงการ The Interlace คอนโดนิเนียมที่ได้รับรางวัลด้านสถาปัตย์ ที่ออกแบบเหมือนบล็อคที่ถูกนำมาวางซ้อนกัน แต่สับหว่างให้เกิดช่องลมไหลเวียนทั่วทั้งโครงการ 

นอกจากมุมมองด้านการออกแบบแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยี Cooling System ระบบทำความเย็นด้วยท่อน้ำเย็นขนาดใหญ่ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินของอาคาร และเดินท่อน้ำเย็นขึ้นไปภายในอาคาร เพื่อช่วยลดความร้อน แทนการใช้เครื่องปรับอากาศ แล้วไหลเวียนกลับสู่ระบบเพื่อปรับอุณหภูมิแล้ววนกลับไปใหม่ ตลอด 24 ชั่วโมง 

ซึ่งอาคารที่ใช้ระบบนี้ และมีชื่อเสียงอย่างมากก็คือ  Marina Bay District ที่มีศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อน้ำเย็นใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ดูแลระบบความเย็นทั้งภายในอาคารทั้งหมดใน Marina Bay District และ บริเวณใกล้เคียง ที่สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 40%  

และในอนาคต รัฐบาลสิงคโปร์มีแนวคิดที่จะขยายระบบท่อน้ำเย็นนี้ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งอาคารพาณิชย์ และ อาคารที่อยู่อาศัยของประชาชนด้วย และเชื่อว่าจะสามารถลดการใช้พลังงาน และเครื่องปรับอากาศได้อย่างมาก 

ส่วนขั้นต่อไปของ Cooling Singapore 2.0  คือการขับเคลื่อนเมืองไปสู่ยุค Smart City ด้วยการพัฒนาระบบตรวจสอบประสิทธิภาพของเมือง ด้วยโปรแกรม Digital Urban Climate Twin (DUCT)  ในการประเมินผลลัพธ์ด้านสถาปัตย์ ระบบความเย็น สวนสาธารณะ พลังงานทางเลือก รถยนต์ปลอดคาร์บอน ว่ามีผลต่อสิ่งแวดล้อมภายในเมืองมากน้อยเพียงใด เพื่อประกอบเป็นข้อมูลในการวางผังเมือง การออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการมลภาวะภายในสิงคโปร์ให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น

ซึ่งจะเรียกว่าเป็นการเปิดฉากต่อสู้กับภาวะโลกร้อนในแบบของสิงคโปร์ ประเทศที่ประกาศเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้ภายใน ปี 2050 กับความฝันที่อย่างเป็นเมืองแห่งสวนสุด Cool เย็นได้ ไม่ง้อแอร์  ให้ได้จริง ๆ สักวันหนึ่ง 


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.bloomberg.com/news/features/2020-12-01/singapore-climate-change-reducing-heat-takes-trees-and-technology

https://www.todayonline.com/singapore/plant-underground-district-cooling-network-marina-bay-commissioned

https://www.channelnewsasia.com/news/cnainsider/singapore-hot-weather-urban-heat-effect-temperature-humidity-11115384

https://www.straitstimes.com/singapore/environment/cooling-singapore-project-comes-up-with-new-ways-to-beat-the-heat

https://www.clc.gov.sg/events/lectures/view/Building-and-Cooling-Singapore-in-an-Era-of-Climate-Change

https://www.cnbc.com/2016/03/27/lee-kuan-yew-was-actually-singapores-chief-gardener.htm

เชื่อหรือไม่ ศิลปะบำบัด...แก้ปวดนิ้วจากการเล่นมือถือ

มือเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายและใช้ทำกิจวัตรประจำวัน เช่น จากการเล่นโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานการล้างหน้า การแปรงฟัน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ทำเป็นประจำทุกวัน เป็นต้น ทุกคนใช้มือเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ไปจนถึงการประกอบอาชีพ ดังนั้นมือจึงควรได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี เมื่อมือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือการใช้งาน อาจส่งผลให้มือชาหรืออ่อนแรง เช่น อาการชาจากการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) ส่งผลให้ความสามารถในการใช้งานของมือลดลง เช่น การหยิบจับสิ่งของ การฝึกทักษะของมือจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูให้มือกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดีเช่นเดิม

กิจกรรมฝึกทักษะมือ
โดยปกติแล้วนักกิจกรรมบำบัดมีบทบาทในการตรวจประเมิน ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟูความสามารถมือ เมื่อพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมือ เช่น ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อติด มีปัญหาการใช้งานของมือหรือการหยิบจับวัตถุ นักกิจกรรมบำบัดใช้กิจกรรมที่ผ่านการคิดวิเคราะห์มาเป็นสื่อในการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูให้เหมาะสมกับปัญหา โดยเริ่มปรับกิจกรรมจากง่ายไปยาก เพื่อพัฒนาความสามารถอย่างค่อยเป็นค่อยไปดังนี้

1.) การบริหารมือและนิ้วมือ
กำมือ-แบมือ-กางนิ้วมือ-หุบนิ้วมือ-นิ้วตูมเข้าหากัน-พับนิ้วมือ-จีบนิ้วมือ

2.) การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มกำลังมือและนิ้วมือ
ออกแรงบีบวัตถุต่าง ๆ เช่น ลูกบอล ดินน้ำมัน แป้งโดว์ ตัวหนีบผ้า

3.) การฝึกหยิบจับวัตถุรูปแบบต่างๆ จากวัตถุขนาดใหญ่ไปจนถึงวัตถุขนาดเล็ก

นอกจากนี้สามารถผสมผสานกิจกรรมต่างๆ เช่น ศิลปะ ดนตรี กีฬา การทำอาหาร มาร่วมในการฝึกทักษะมือ โดยใช้อุปกรณ์ที่หาได้ง่าย ทั้งนี้ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายและเป็นการกระตุ้นให้รู้สึกอยากทำกิจกรรมมากขึ้น 

ศิลปะบำบัดกับการบริหารมือ

1.) กิจกรรมปั้นดินน้ำมัน หรือแป้งโดว์

เริ่มจากออกแรงนวดดินน้ำมันเพื่อเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อมือ

ใช้นิ้วมือกดดินน้ำมันให้แบน

ใช้ปลายนิ้วบีบดินน้ำมันให้แบน

ปั้นดินน้ำมันเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

2.) กิจกรรมตัวหนีบผ้า

จับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและนิ้วชี้

    

ฝึกจับตัวหนีบผ้าด้วยปลายนิ้วโป้งและด้านข้างของนิ้วชี้

หนีบตัวหนีบผ้าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

3.) กิจกรรมตัวปั๊ม

เลือกตัวปั๊มที่ชอบและออกแรงกดตัวปั๊มลงบนแป้นหมึก

ออกแรงกดตัวปั๊มลงบนกระดาษ
ปั๊มเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ

4.) กิจกรรมเสียบหมุดให้เป็นรูปภาพ

ใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งหยิบหมุด

อาจใช้นิ้วกลางและนิ้วโป้งหรือนิ้วอื่น ๆ หยิบหมุด

เสียบหมุดเป็นรูปภาพหรือรูปทรงต่าง ๆ ตามจินตนาการ
 

5.) กิจกรรมระบายสี

เลือกรูปภาพและสีที่ชอบ ระบายสีให้สวยงามตามต้องการ 
 


ข้อมูลอ้างอิง 
นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ วัฒนา. (2531). ปัญหาของมือที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/998/Hand-Exercises

คำสารภาพของ วาเอล โกนิม (Wael Ghonim) ผู้นำอาหรับสปริง ในโลกโซเชียลของอียิปต์

ในปี ค.ศ. 2011 วิศวกรคอมพิวเตอร์หนุ่มวัย 28 ปี (ในขณะนั้น) วาเอล โกนิม ยังทำงานเป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือให้กับบริษัท Google แม้ว่าเขาจะเป็นชายหนุ่มที่อายุยังน้อยในความคิดของใคร ๆ แต่สิ่งที่เขาได้ทำนั้นกลับสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ได้อย่างเหลือเชื่อ เป็นผู้อยู่เบื้องหลังพลังแห่งโซเชียลมีเดียที่โค่นอำนาจเผด็จการในอียิปต์และโลกอาหรับ เมื่อเขาได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการปลุกกระแสปฏิวัติในอียิปต์ให้เกิดขึ้น จนกลายเป็นอาหรับสปริงในอียิปต์บ้านเกิดของเขา ด้วยการตั้งเพจ Facebook ง่าย ๆ โพสต์ข้อความเรียกร้องให้ประชาชนชาวอียิปต์ออกไปชุมนุมกันกว่า 1 ล้านคน ในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 จนสามารถขับไล่ประธานาธิบดีมูบารัคที่อยู่ในตำแหน่งนานกว่า 30 ปี ได้สำเร็จ

ต่อมาเขาได้เปิดเผยว่า เมื่อการปฏิวัติเกิดขึ้นบนท้องถนน มันกลับเปลี่ยนความหวังเป็นความยุ่งเหยิง จากนั้นก็เปลี่ยนเป็นความน่ารังเกียจเดียรฉันท์อันแสนจะเจ็บปวด และการใช้โซเชียลมีเดียที่ตามมาทำให้โลกอินเตอร์เน็ตซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งสำหรับ การรวบรวมข้อมูล การมีส่วนร่วม และการแบ่งปัน กลับกลายเป็นสมรภูมิที่มีการแบ่งขั้วแบ่งข้างอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา และหลังจากนั้นแล้วในที่สุดเขาได้ออกมาพูด และสารภาพถึงความผิดหวังต่อสิ่งที่เขาได้ทำลงไป จากคลิป “วาเอล โกนิม กับความจริงที่เขาตระหนักรู้หลังจากที่ช่วงเวลาแห่งความสำเร็จนั้นผ่านไป” ดังนี้

25 มกราคม ค.ศ. 2011 ชาวอียิปต์ก็ออกมาเดินจนเต็มถนนในกรุงไคโร และเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทำลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ และแล้วที่สุดมันก็ได้ผล

ผมเคยพูดว่า “ถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่เราจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต” แต่ผมคิดผิด ผมเคยพูดประโยคนี้เมื่อ ปี ค.ศ. 2011 ตอนที่ผมสร้างเพจบน Facebook โดยไม่เปิดเผยตัวตน แล้วมันก็ช่วยจุดชนวนการปฏิวัติในอียิปต์ เหตุการณ์อาหรับสปริงไม่เพียงเผยให้เห็นถึงความสามารถสูงสุดของสื่อสังคมออนไลน์ แต่ยังแสดงให้เห็นถึงจุดที่แย่ที่สุดของมันด้วย เครื่องมือเดียวกันที่ช่วยให้เราสามารถรวบรวมกำลังเพื่อล้มล้างเหล่าผู้นำเผด็จการ แต่สุดท้ายก็ทำให้เราต้องแตกแยกกัน ผมขอแชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง และพูดเกี่ยวกับความยากลำบาก และความท้าทายต่าง ๆ ที่ผมเจอมาเองกับตัว และเราสามารถทำอะไรกับมันได้บ้าง 

วาเอล โกนิม ได้สร้างเพจบน Facebook และตั้งชื่อเพจว่า “เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิส” (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนเข้ามาติดตามเพจนี้เกิน 100,000 คน

ในช่วงต้นปี 2000 บรรดาเว็บของชาวอาหรับกำลังปั่นป่วนเว็บ มีความรู้สึกกระหายความรู้และโอกาส และอยากติดต่อกับผู้คนทั่วโลก เราหนีความจริงเกี่ยวกับการเมืองอันหน้าผิดหวัง และไปใช้ชีวิตอยู่บนโลกเสมือนจริงซึ่งแตกต่าง ผมก็เหมือนชาวอาหรับเหล่านั้นที่ไม่เคยสนใจการเมืองจนกระทั่งปี ค.ศ. 2009 เมื่อผมได้ล็อกอินเข้าใช้สื่อสังคมออนไลน์ ผมเริ่มเห็นชาวอียิปต์มากขึ้นและมากขึ้นเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว ในเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2010 อินเตอร์เน็ตเปลี่ยนของชีวิตผมไปตลอดกาล ขณะที่กำลังเล่น Facebook ผมก็เห็นรูปถ่ายถ่ายอันน่าสยดสยอง ศพที่ผ่านทารุณกรรมของชายหนุ่มอียิปต์คนหนึ่ง เขาชื่อ “คาเลด ซาอิส” (Khaled Said) ชายหนุ่มวัย 29 ปี ชาวเมืองอเล็กซานเดรียซึ่งถูกตำรวจสังหาร ผมรู้สึกว่าเหมือนเห็นตัวเองในรูปเหล่านั้น ผมคิดว่า “เราก็อาจเป็นเหมือนคาเลดได้” คืนนั้นผมนอนไม่หลับ และตัดสินใจทำบางอย่าง ผมสร้างเพจบน Facebook และตั้งชื่อเพจว่า “เราทุกคนคือ คาเลด ซาอิส” (We are all Khaled Said) เพียงแค่ 3 วัน มีคนเข้ามาติดตามเพจนี้เกิน 100,000 คน ซึ่งเป็นเหล่ามิตรสหายชาวอียิปต์ที่มีความเห็นร่วมกันเช่นเดียวกับผมในประเด็นนี้ เราต้องหยุดการกระทำอะไรก็ตามที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ 

มกราคม ค.ศ. 2011 Zine El Abidine Ben Ali อดีตประธานาธิบดีของตูนีเซียต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง หลังจากพ่ายแพ้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาล

ผมรับเอา อับเดล ราห์มัน แมนเซอร์ (Abdel Rahman Mansour) มาช่วยดูแลเพจนี้ ผมทำงานร่วมกับเขาตลอดเวลา เราร่วมกันสร้างสรรค์กลุ่มคน เพื่อเสาะหาแนวคิดจากผู้คน เรายอมให้พวกเขาเข้ามามีส่วนร่วม เราได้รวมตัวกันเรียกร้องให้มีการทำอะไรสักอย่าง และแชร์ข่าวที่รัฐบาลไม่ต้องการให้ชาวอียิปต์รับรู้ จนกลายเป็นเพจที่คนติดตามมากที่สุดในโลกอาหรับ มีจำนวนลูกเพจมากกว่าองค์กรสื่อที่เคยจัดตั้งมาก่อนหน้านี้ และยังมากกว่าเพจคนดัง ๆ แถวหน้าเสียอีก ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2011 เมื่อ Zine El Abidine Ben Ali อดีตประธานาธิบดีของตูนีเซียต้องหนีออกจากประเทศตัวเอง หลังจากพ่ายแพ้ต่อกลุ่มผู้ชุมนุต่อต้านรัฐบาล ผมได้เห็นประกายแสงแห่งความหวัง ชาวอียิปต์ในสื่อสังคมออนไลน์กำลังสงสัยว่า “ถ้าตูนีเซีย ทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้?” ผมจึงโพสต์งานกิจกรรมการเคลื่อนไหวลงใน  Facebook โดยตั้งชื่อว่า “การปฏิวัติต่อต้าน การคอรัปชั่น ความไม่เป็นธรรม และอำนาจเผด็จการ” ผมตั้งคำถามกับผู้ใช้งานในเพจจำนวน 300,000 คน ณ ตอนนั้นว่า วันนี้คือ วันที่ 14 มกราคม และวันที่ 25 มกราคมเป็นวันตำรวจแห่งชาติ เป็นวันหยุดประจำชาติ ถ้าพวกเรา 100,000 คนออกไปเดินบนท้องถนนทั่วกรุงไคโร คงไม่มีใครเข้ามาหยุดเราได้ ผมอยากรู้ว่า พวกเราจะทำได้มั้ย เพียงแค่ไม่กี่วัน มีการส่งคำเชิญนี้ไปยังผู้คนกว่า 1 ล้านคน และมีผู้คนกว่า 100,000 คน ตอบยืนยันการเข้าร่วมกิจกรรม โดยสื่อสังคมออนไลน์มีความสำคัญต่อการรณรงค์ครั้งนี้เป็นอย่างมาก มันช่วยปลุกระดมการเคลื่อนไหวของผู้คนตามจุดต่าง ๆ ทำให้ผู้คนตระหนักว่า พวกเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ทำให้เห็นว่า เรามีโอกาสหยุดรัฐบาลได้ แม้ว่าเวลานั้นพวกเขายังไม่เข้าใจนักว่า มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร และวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 2011 ชาวอียิปต์ก็ออกมาเดินจนเต็มถนนในกรุงไคโร และเมืองอื่น ๆ เรียกร้องให้มีการปฏิรูป ทำลายกำแพงแห่งความกลัว และประกาศศักราชใหม่ และแล้วที่สุดมันก็ได้ผล

ประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกกดดันให้ลงจากตำแหน่ง

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนรัฐบาลจะทำการตัดสัญญาณ โทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ต ประมาณเที่ยงคืน ขณะที่ผมกำลังเดินบนถนนที่มืดมิดในกรุงไคโร ผมพึ่งจะทวิตไปว่า “ขอพระเจ้าคุ้มครองอียิปต์ รัฐบาลคงเตรียมการสังหารหมู่ในวันพรุ่งนี้แน่ ๆ” ผมก็ถูกตีเข้าที่หัวอย่างแรง ผมสูญเสียการทรงตัวและล้มลง ทำให้รู้ว่า มีชายติดอาวุธ 4 คนล้อมผมอยู่ คนหนึ่งปิดปากผม ส่วนคนอื่น ๆ จับผมไว้ ผมรู้ตัวว่า กำลังโดนอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล ผมรู้ตัวอีกทีก็อยู่ในคุกแล้ว ถูกสวมกุญแจมือ ปิดตา ผมรู้สึกกลัวมาก ครอบครัวผมก็เช่นกัน พวกเขาพยายามตามหาผม ทั้งโรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือแม้แต่ในห้องดับจิต เพื่อนร่วมงานผมส่วนหนึ่งที่รู้ว่า ผมเป็นแอดมินของเพจนั้น ได้บอกกับสื่อเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของผมกับเพจนั้น และผมน่าจะถูกอุ้มโดยเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาล เพื่อนร่วมงานของผมที่บริษัท Google เริ่มการรณรงค์เพื่อหาตัวผม และเพื่อน ๆ ซึ่งชุมนุมที่จัตุรัสก็เรียกร้องให้ปล่อยตัวผม หลังจาก 11 วันที่ต้องอยู่กับความมืดมิด ผมถูกปล่อยเป็นอิสระ และ 3 วันให้หลังประธานาธิบดี Hosni Mubarak ถูกกดดันจนต้องลงจากตำแหน่ง มันเป็นช่วงเวลาที่ให้แรงบันดาลใจ และทำให้ผมมีพลังมากที่สุดในชีวิต มันเป็นเวลาของความหวังอันยิ่งใหญ่ ชาวอียิปต์ใช้เวลาอันสงบสุขบนสังคมในอุดมคติเป็นเวลา 18 วันในระหว่างการปฏิวัติ พวกเขามีความเชื่อร่วมกันว่า พวกเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้ แม้ว่าพวกเราจะแตกต่างกัน อียิปต์หลังจากยุค Mubarak จะเป็นของทุก ๆ คน

13 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทหารก็เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตย หลังจากสามวันที่มีการชุมนุมประท้วงอันดุเดือด และเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง

แต่โชคร้าย เหตุการณ์หลังการปฏิวัติเหมือนกับการถูกตุ้ยท้อง ความสงบได้หายไป เราไม่สามารถทำประชามติกันได้ และความขัดข้องทางการเมืองนำไปสู่การแบ่งขั้วอำนาจ สื่อสังคมออนไลน์ก็แค่ทำให้สถานการณ์ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยใช้เป็นที่เผยแพร่ ข้อมูลเท็จ ข่าวลือ การรับข้อมูลด้านเดียว และการใช้คำในการสร้างความเกลียดชัง สภาพแวดล้อมตอนนั้นเป็นพิษอย่างรุนแรง โลกออนไลน์ของผมกลายเป็นสนามรบ เต็มไปด้วย พวกเกรียน คำโกหก และการใช้คำในการสร้างความเกลียดชัง ผมเริ่มกังวลในความปลอดภัยของครอบครัวของผม แต่ที่แน่ ๆ มันไม่ได้เป็นเรื่องของผมคนเดียว การแบ่งขั้วอำนาจเดินไปจนถึงขีดสุดระหว่างสองขั้วอำนาจหลัก คือ ผู้สนับสนุนทหาร กับกลุ่มมุสลิม คนที่อยู่ตรงกลางเช่นผม เริ่มรู้สึกไร้ที่พึ่ง ทั้งสองกลุ่มต้องการให้เราเลือกข้าง ไม่อยู่ฝั่งเดียวกับพวกเขาก็ต้องอยู่ฝั่งตรงข้าม และวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 ทหารก็เข้ายึดอำนาจจากประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยระบอบประชาธิปไตย หลังจากสามวันที่มีการชุมนุมประท้วงอันดุเดือด และเรียกร้องให้เขาลงจากตำแหน่ง 

วันนั้นผมต้องตัดสินใจเรื่องที่ยากอย่างหนึ่ง ผมตัดสินใจที่จะเงียบ เงียบสนิท มันเป็นช่วงเวลาแห่งความพ่ายแพ้ ผมอยู่เงียบ ๆ เป็นเวลานานกว่า 2 ปี และผมได้ใช้เวลานั้นครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด พยายามทำความเข้าใจว่า มันเกิดขึ้นได้ยังไง มันทำให้ผมได้เข้าใจว่า ขณะที่มันเป็นเรื่องจริงที่หลัก ๆ แล้วการขับเคลื่อนจนเกิดการแบ่งขั้วอำนาจนั้น มาจากพฤติกรรมของมนุษย์ สื่อสังคมออนไลน์นั้นทำให้พฤติกรรมดังกล่าวกลายเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น และขยายผลกระทบเป็นวงกว้าง สมมติว่า คุณอยากพูดบางอย่างซึ่งไม่ได้มาจากข้อเท็จจริง การรับคำท้าหรือเมินเฉยต่อคนบางคนที่คุณไม่ชอบ เหล่านี้คือ แรงกระตุ้นโดยธรรมชาติของมนุษย์ แต่เพราะด้วยเทคโนโลยี การสนองตอบต่อแรงกระตุ้นนี้ก็แค่ใช้เพียงคลิกเดียวเท่านั้น 

ผมมองว่า มีความท้าทายที่เข้าขั้นวิกฤตอยู่ 5 เรื่อง ในการเผชิญต่อสื่อสังคมออนไลน์เช่นทุกวันนี้ 

เรื่องแรก พวกเราไม่รู้ว่า จะจัดการพวกข่าวลือยังไง ข่าวลือที่ออกมาสนองตอบต่ออคติของผู้เสพ กลายเป็นข่าวที่คนเชื่อและแพร่กระจายไปยังผู้คนนับล้าน 

เรื่องที่สอง เราสร้างการรับข่าวสารข้างเดียวของเราเอง เรามักเลือกที่จะสื่อสารเฉพาะกับกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับเรา และต้องขอบคุณสื่อสังคมออนไลน์ เพราะ เราสามารถ ปิดการแจ้งเตือน ยกเลิกการติดตาม และปิดกั้นใครก็ได้ 

เรื่องที่สาม การสนทนาออนไลน์ลุกลามรวดเร็วจนกลายเป็นกลุ่มผู้ประท้วงที่เกี้ยวกราด เราทุกคนน่าจะรู้อยู่แก่ใจว่า มันเหมือนราวกับ พวกเราลืมไปแล้วว่า คนที่อยู่เบื้องหลังจอนั้น ก็คือคนจริง ๆ นั่นแหละ ไม่ใช่แค่รูปตัวแทน 

เรื่องที่สี่ มันยากมากมากที่จะเปลี่ยนความคิดเห็นของพวกเรา เพราะว่า ความรวดเร็วและกระชับของสื่อสังคมออนไลน์ เราถูกบังคับให้พุ่งประเด็นไปที่ข้อสรุป และเขียนความเห็นสั้น ๆ ไม่เกิน 140 ตัวอักษร เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ซับซ้อนบนโลก และเมื่อเราเขียนมันแล้ว มันจะปรากฏอยู่บนอินเตอร์เน็ตตลอดกาล และเรามีแรงน้อยมากในการเปลี่ยนแปลงมุมมองเหล่านี้ แม้ว่าจะมีการค้นพบหลักฐานใหม่ ๆ ก็ตาม 

เรื่องที่ห้า และในมุมมองของผมนี่คือ เรื่องที่วิกฤตที่สุด ทุกวันนี้ประสบการณ์ในการใช้สังคมออนไลน์ถูกออกแบบด้วยแนวทางที่เน้นการแพร่กระจายข่าวสารมากกว่าการมีส่วนร่วมกับผู้ชม ชอบการโพสต์มากกว่าการถกประเด็น ชอบความเห็นอันตื้นเขินมากกว่าการสนทนาที่ลึกซึ้ง เหมือนกับเรายอมรับว่า เราอยู่ตรงนี้เพื่อพูดจาใส่กัน แทนที่จะพูดคุยร่วมกัน ผมได้เห็นเป็นพยานแล้วว่า เรื่องท้าทายนี้ส่งผลอย่างไรต่อสังคมอียิปต์ที่แตกแยกไปเรียบร้อยแล้ว แต่นี่ไม่ใช่เรื่องของอียิปต์เพียงประเทศเดียว การแบ่งขั้วอำนาจ แบ่งข้าง แบ่งฝ่าย กำลังเกิดขึ้นในทั่วทุกมุมโลก 

ในปี ค.ศ. 2011 นิตยสารไทม์ได้ใส่ วาเอล โกนิม ไว้ในรายชื่อ 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดประจำปี ค.ศ. 2011

เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อหาวิธีว่า จะนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร มากกว่าที่จะให้เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา ทุกวันนี้มีการโต้กันมากมายว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถต่อสู้กับการคุกคามทางออนไลน์ และต่อกรกับพวกเกรียนได้ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่มีใครไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่เราจำเป็นต้องคิดด้วยว่า จะออกแบบประสบการณ์ในการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างไร จึงจะส่งเสริมความเป็นพลเมืองดี และให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ ผมทราบความจริงอย่างหนึ่งว่า ถ้าหากผมเขียนโพสต์ที่กระทบความรู้สึกมากขึ้น เขียนในมุมมองด้านเดียวมากขึ้น และในบางครั้งโกรธและก้าวร้าวมากขึ้น ผมต้องได้คนมาเห็นโพสต์นั้นเป็นแน่ ผมจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราเน้นคุณภาพมากขึ้น อะไรสำคัญกว่า : จำนวนคนอ่านโพสต์ที่คุณเขียน หรือ ใครคือคนที่ได้รับผลกระทบหลังจากอ่านที่คุณเขียน ทำไมเราไม่ทำเพียงแค่กระตุ้นให้ผู้คนเข้าร่วมในบทสนทนามากขึ้น แทนที่จะเอาแต่เผยแพร่ความคิดเห็นอยู่ตลอด หรือให้รางวัลกับคนที่อ่าน และตอบกลับในมุมมองที่พวกเขาก็ไม่เห็นด้วย และทำให้มันเป็นที่ยอมรับของสังคมด้วยว่า เราเปลี่ยนความคิดเขา หรืออาจแม้แต่จะให้รางวัล ถ้าเรามีเงื่อนไขที่วัดได้ว่า มีคนจำนวนกี่คนที่เปลี่ยนความคิด และกลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเรา ถ้าผมสามารถติดตามว่า มีจำนวนคนกี่คนที่กำลังจะเปลี่ยนความคิด ผมอาจจะเขียนโพสต์บนสื่อโซเชียลอย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น ผมจะพยายามทำอย่างนั้นแทนที่จะดึงดูดกลุ่มคนที่เห็นด้วยกับผมอยู่แล้ว “กดไลค์” จะกลายเป็นด้วยว่า ผมไปสนองอคติของเขา

เราจำเป็นต้องคิดกลไกการร่วมสร้างกลุ่มคนที่มีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลที่แพร่กระจายเป็นวงกว้างในโลกออนไลน์ และให้รางวัลแก่ผู้คนเหล่านั้นที่เข้ามามีส่วนร่วม สิ่งสำคัญคือ เราต้องคิดเรื่องระบบนิเวศน์ของสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบันใหม่ และออกแบบประสบการณ์การใช้งานใหม่ด้วย  เพื่อให้รางวัลแก่ความมีวิจารณญาณ ความเป็นพลเมืองดี และความเข้าใจร่วมกัน ในฐานะที่ผมเชื่อในอินเตอร์เน็ต ผมรวบรวมทีมจากกลุ่มเพื่อนไม่กี่คน เพื่อพยายามหาคำตอบและสำรวจความเป็นไปได้ ผลิตภัณฑ์แรกของเราคือ แพลตฟอร์มของสื่อแบบใหม่เพื่อการสนทนา เรากำลังให้บริการการสนทนาที่ส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน และหวังว่า จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิด เราไม่อวดอ้างว่า เราได้พบคำตอบ แต่เราได้เริ่มทดลองกับการสนทนาที่แตกต่างกันเกี่ยวกับปัญหาการแตกแยกที่รุนแรงต่าง ๆ เช่น การโต้วาทีในเรื่อง ชาติพันธุ์ การควบคุมอาวุธปืน ผู้ลี้ภัย ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมและการก่อการร้าย เหล่านี้คือ บทสนทนาที่สำคัญ ทุกวันนี้อย่างน้อยหนึ่งในสามของคนบนโลกสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ แต่ส่วนหนึ่งของอินเตอร์เน็ตกำลังถูกจองจำโดยด้านที่มืดบอดของคุณธรรมด้วยพฤติกรรมของมนุษย์เรา เมื่อก่อนผมเคยพูดว่า “ถ้าคุณต้องการปลดปล่อยสังคม สิ่งที่คุณจำเป็นต้องมีก็แค่อินเตอร์เน็ต” แต่วันนี้ผมเชื่อว่า “ถ้าเราต้องการปลดปล่อยสังคม เราต้องเริ่มจากการปลดปล่อยอินเตอร์เน็ตก่อน” ขอบคุณมากครับ

ตอนนี้เราทำอะไรได้บ้างเกี่ยวกับพฤติกรรมออนไลน์ เราจะใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างความสุภาพ และการโต้แย้งอย่างมีเหตุผลได้อย่างไร URL คลิปที่วาเอล โกนิมพูดเรื่องนี้ (พร้อม Sub Title ไทย) ได้ที่ http://https://youtu.be/HiwJ0hNl1Fw

Revolution 2.0: The Power of the People Is Greater Than the People in Power: A Memoir แต่งโดย วาเอล โกนิม

วาเอล โกนิม ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่สามารถอธิบายข้อสงสัยเกี่ยวกับที่มาของ Facebook "We are all Khalid Said" ซึ่งเชื่อกันว่า มีผู้ริเริ่มสร้างเพจนี้มากกว่าหนึ่งคน ยิ่งไปกว่านั้นมีผู้คนมากกว่า 360,000 คนเข้าร่วม Facebook ส่วนตัวของเขา และอีกกว่า 3,000,000 คนเข้าร่วมเพจ Facebook "We are all Khaled Said" ซึ่งดำเนินการโดยเขา และผู้ดูแลระบบอีกคนคือ อับเดล ราห์มัน แมนเซอร์ (Abdel Rahman Mansour) และ Facebook "We are Khaled Said" มีส่วนอย่างสำคัญในการจุดประกายการปฏิวัติอียิปต์ ในปี ค.ศ. 2011 นิตยสารไทม์ได้ใส่ วาเอล โกนิม ไว้ในรายชื่อ 100 บุคคลที่มีอิทธิพลมากที่สุดประจำปี ค.ศ. 2011 และ World Economic Forum ได้เลือกให้ วาเอล โกนิม เป็นหนึ่งใน Young Global Leaders ในปี ค.ศ. 2012 ด้วย

ด้วย “คำสารภาพของ วาเอล โกนิม” สังคมไทยจะต้องไม่ยอมให้อินเตอร์เน็ตกลายเป็นเครื่องมือสร้างความเกลียดชังและโกรธแค้น แต่ต้องใช้เพื่อการสร้างสรรค์ ประเทืองปัญญา และจรรโลงสังคม ด้วยการแยกแยะ ผิด ชอบ ชั่ว ดี ในการแปลง “ข้อมูล” ให้เป็น “ข่าวสาร” พิจารณาใคร่ครวญให้ “ข่าวสาร” กลายเป็น “ความรู้” ใช้สติและศีลธรรมกำกับ “ความรู้” ให้เกิด “ปัญญา” เพื่อทำให้ สังคมไทย ประเทศชาติบ้านเมือง และโลก ได้มีความสงบสุข สวยสดและงดงาม เจริญรุ่งเรือง ด้วยความดีตลอดไป

ดอกประดู่กับสงกรานต์ในเมียนมาร์

โควิด-19 ได้พรากเทศกาลสงกรานต์ในเมียนมาร์หรือในภาษาพม่าเรียกว่า ตะจ่าน (Thingyan ภาษาเขียนออกเสียงว่าติงจ่าน) เทศกาลตะจ่าน เป็นวัฒนธรรมของชาวพม่าที่มีมาไม่ต่ำกว่า 3,000 ปีแล้ว และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อกำหนดวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตรงกับเดือนเมษายน โดยทั่วไปแล้วจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ถึง 16 เมษายน ช่วงนี้จะเป็นช่วงสิ้นปีมีการเล่นสาดน้ำต้อนรับปีใหม่ และในวันที่ 17 เมษายน จะถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ คนเมียนมาร์จะทำความสะอาดบ้าน และนิมนต์พระมาฉันที่บ้าน อีกทั้งมีการบริจาคอาหารหรือขนมให้เพื่อนบ้าน รวมถึงบางครอบครัวมีการผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้านก็จะทำการสระผม ตัดเล็บให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัว ยามเย็นจะมีการนิมนต์พระมาสวดขับไล่สิ่งไม่ดี โชคร้าย โรคภัยไข้เจ็บให้ออกไปจากสถานที่แห่งนี้

และในเทศกาลตะจ่านนี้เอง มีดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลนี้นั่นคือ ดอกปะเด้าก์ (Padauk) หรือดอกประดู่นั่นเอง ชาวเมียนมาร์จะมีการนำดอกประดู่มาประดับประดาตามอาคารบ้านเรือน สำนักงาน รถโดยสาร และบางคนจะทัดช่อดอกประดู่ไว้ที่ผมดูน่าชม   

สาเหตุที่ดอกประดู่ถือเป็นดอกไม้ประจำเทศกาลตะจ่านก็เพราะว่า ก่อนเทศกาลตะจ่านในเมียนมาร์ทุกปีจะมีฝนโปรยปราย ในเวลานั้นเอง ต้นประดู่จะแทงดอกออกรับน้ำฝนซึ่งจะบานเต็มที่ในช่วงเดือนเมษายน ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของปีใหม่ ดั่งดอกประดู่ที่เกิดใหม่อีกครั้งโดยการแทงดอกจนเหลืองอร่ามไปทั่วทั้งเมือง

และในช่วงเวลานี้คนพม่าจะนิยมทำขนมที่เรียกว่า โมน โลน เหย่บอว์ เป็นขนมที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าผสมกับแป้งข้าวเหนียวโดยใส่น้ำตาลโตนดไว้เป็นไส้ โดยทุกคนในบ้านหรือในชุมชนนนั้นจะช่วยกันในการปั้นขนมแล้วโยนลงไปในน้ำเดือดแต่สำหรับใครที่อยากจะแกล้งใครก็อาจจะใส่พริกเป็นไส้แทนน้ำตาลโตนดที่คนพม่าเรียกว่า ทันเนี่ยะ ก็ได้

และแม้ปีนี้ในเมียนมาร์ไม่ว่าจะมีการจัดเทศกาลตะจ่านหรือไม่ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ผมก็หวังว่าคนเมียนมาร์คงยังไม่สิ้นหวังและกลับมายืนขึ้นใหม่ได้อีกครั้งเหมือนดั่งดอกประดู่ที่กลับมาบานใหม่ทุกปี

สีจิ้นผิง ส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง ‘เติ้ง’ และ ‘เหมา’

“มหาอำนาจ” คือคำที่ใช้เรียกรัฐที่ถูกยอมรับว่ามีความสามารถในการแผ่ขยายอิทธิพลได้ในระดับโลก ไม่มีหลักเกณฑ์หรือลักษณะจำกัดความของคำว่ามหาอำนาจ หากแต่เป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัด ขาดรอย ซึ่งตัดสินได้จากลักษณะเชิงประสบการณ์ในตัวผู้ประเมิน อันคุณสมบัติร่วมของประเทศมหาอำนาจทั่วโลก คือการครอบครองอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจ ตลอดจนอิทธิพลทางวัฒนธรรมและการทูต

หากจะพูดถึงรัฐมหาอำนาจในปัจจุบันนอกจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ก็มีจีนในยุค ‘สี จิ้นผิง’ นี่แหละครับ ที่กำลังมาแรงและมีโอกาสลุ้นแซงสหรัฐฯ ขึ้นเป็นรัฐมหาอำนาจเบอร์หนึ่งของโลกในอนาคต

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.macroviewblog.com

ต้องเกริ่นก่อนครับ ว่าสิ่งที่ทำให้รัฐใดรัฐหนึ่งก้าวขึ้นไปสู่การเป็นมหาอำนาจได้นั้นประกอบด้วยหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นพื้นฐานทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร รวมถึงจำนวนและคุณภาพประชากร หากรัฐใดมีสิ่งเหล่านี้ครบถ้วน รัฐนั้นย่อมมีโอกาสในการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจ แต่อีกปัจจัยใจที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือ “ผู้นำที่ดี” หากรัฐใดอุดมไปด้วยทรัพยากรตามที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่อยู่ภายใต้การบริหารของผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์ ทรัพยากรที่มีมากไปก็ไร้ความหมาย

หากพูดถึงการเป็นผู้นำ (ทางการเมือง) ตามหลักการของ  Niccolo Machiavelli (ค.ศ. 1469-1527) ซึ่งเขียนตำราว่าด้วยผู้ปกครองที่ดี “The Prince” ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณลักษณะ 3 ข้อ ได้แก่ ปัญญาที่ฉลาดเฉียบแหลม กระบวนการคิดที่เป็นระบบ และความกล้าหาญ 

ขอบคุณรูปภาพจาก : www.amazon.com

“ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติของสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ก้าวร้าว ห้าวหาญ และสง่างามเหมือนสิงโต แต่ชาญฉลาดและแยบยล เหมือนหมาป่า”

สำหรับประเทศจีน มีตัวอย่างผู้นำทางการเมืองมากมายที่น่ายกย่อง ตั้งแต่จักรพรรดิเฉียนหลง เจียชิ่ง จิ๋นซีฮ่องเต้ ซุนยัดเซ็น ประธานเหมา ตลอดจนเติ้งเสี่ยวผิง แต่ในวันนี้ เราจะมาพูดถึง ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำคนปัจจุบันของจีน ในแง่ของความเป็นผู้นำที่มีส่วนผสมของทั้ง ‘เหมาเจ๋อตง’ และ ‘เติ้งเสี่ยวผิง’

หากจะพูดถึงระบบการปกครองของจีนในปัจจุบัน ก็ต้องพูดถึงบุคคลที่เปรียบดั่งบิดาผู้ให้กำเนิดจีนยุคคอมมิวนิสต์หรือยุค “จีนใหม่” อย่างประธานเหมา หรือเหมาเจ๋อตง หนึ่งในสมาชิกยุคก่อตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์ และประธานาธิบดีคนแรกในยุคสาธารณะรัฐประชาชนจีน

ประธานเหมาเป็นผู้นำที่ทั้งห้าวหาญและสง่างาม ทั้งยังมีความคิดเฉียบแหลม โดยเฉพาะความสามารถในด้านของการบริหารอำนาจอันแสดงออกผ่านการตัดสินใจที่เด็ดขาด และให้แนวทางที่ชัดเจนต่อคนในชาติตั้งแต่ช่วงแรกของยุคจีนใหม่ ด้วยการเรียกร้องให้คนในชาติ “站起来 – จ้านฉี่หลาย” แปลว่า “จงลุกขึ้นยืน” หมายถึงการให้คนจีนร่วมกันยืนบนลำแข้งของตัวเองหลังจากถูกต่างชาติข่มเหงรังแกมาตลอดหลายร้อยปี

แต่กระนั้นการบริหารเศรษฐกิจของประธานเหมายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก อีกทั้งยังก่อความผิดพลาดอย่างมหันต์ในการริเริ่มการปฏิวัติวัฒนธรรมอันทำให้การพัฒนาของประเทศต้องหยุดชะงักไปนานถึง 10 ปี

คาแรคเตอร์ของประธานเหมานั้นอยู่คนละขั้วกับผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รุ่นที่สองอย่างเติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำและนักปฏิบัตินิยมผู้มีความคิดเปิดกว้างพอที่จะลดความเข้มงวดในวิถีการปกครองด้วยอุดมการณ์สังคมนิยม และใจกล้าพอที่จะปฏิรูปเปิดประเทศ รับระบบตลาดเสรีจากตะวันตกเข้ามาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติจนทำให้จีนกลายเป็น “โรงงานของโลก” ในเวลาต่อมา

“富起来 - ฟู่ฉี่หลาย” มีความหมายประมาณว่า “สร้างเนื้อสร้างตัว” หลังจากคนจีนยืนบนลำแข้งตัวเองได้ตั้งแต่ในยุคของประธานเหมา ก็ถึงเวลาที่ประชาชนชาวจีนจะต้องลืมตาอ้าปาก หลุดพ้นจากความจน และกอบโกยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ

ซึ่งนโยบายของเติ้งเสี่ยวผิงก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการขึ้นมามีบทบาทบนเวทีการค้าโลก แต่หากจะพูดถึงข้อเสียของเติ้งนั้น ก็เห็นจะเป็นการที่เขาเลือกที่จะอะลุ่มอล่วยต่อพฤติกรรมคดโกงและการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ในพรรค

สำหรับ ‘สีจิ้นผิง’ ผู้นำจีนในปัจจุบัน มีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่ากลยุทธ์การบริหารประเทศของสีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับเติ้งเสี่ยวผิง คือการยอมรับระบบตลาดแบบทุนนิยม แต่ยึดมั่นในอุดมการณ์หลักของความเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นการผสมผสานที่ถูกนิยามว่า “สังคมนิยมที่มีอัตลักษณ์ของจีน”

ในส่วนของการดำเนินนโยบายต่างประเทศ หลังจากประธานสีขึ้นรับตำแหน่ง ก็ยึดเอายุทธศาสตร์ One Belt One Road เส้นทางสายไหมทางทะเล และใช้กลยุทธ์การเผยแพร่วัฒนธรรมด้วยการให้ทุนเรียนฟรีกับนักเรียนต่างชาติปีละหลักล้านคนจนเกิดเป็นกระแส “汉语热 - ฮั่นหยวี่เร่อ” ซึ่งเป็นกระแสที่นักเรียนทั่วโลกมีความต้องการมาศึกษาภาษาจีนที่ประเทศจีน โดยมีเป้าหมายในการใช้ภาษาจีนดำรงวิชาชีพหรือทำการค้าขายกับประเทศจีน

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการอัดฉีดเงินในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี โดยเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร และยังประกาศชัดเจนว่าจะนำประเทศจีนให้เป็นผู้นำ 5G และกลายเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยี AI ปัญญาประดิษฐ์ของโลกในอนาคต

นั่นทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าวิธีการบริหารของสีจิ้นผิงนั้นเป็นไปในทิศทางใกล้เคียงกับในยุคของผู้นำเติ้ง..

แต่ก็มิพักจะสงสัยว่า ตัวตนของสีจิ้นผิง แท้จริงแล้วมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากกว่าผู้นำเติ้ง สังเกตได้จากการที่เขาบรรจุเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีสังคมนิยม Marxist - Leninist ลงไปในหลักสูตรการศึกษาของเยาวชน และปลูกฝังอุดมการณ์รักชาติให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการมีปัญหาข้อพิพาทเรื่องเขตแดนทางทะเลต่าง ๆ กับประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฟิลิปินส์ เวียดนาม และบรูไน รวมถึงการขัดขวางความพยายามของฮ่องกงและไต้หวันในการแบ่งแยกดินแดน เรียกได้ว่าแม้เพียงแค่ตารางนิ้วเดียวก็จะไม่ยอมให้สูญเสียไป

นอกจากนี้ สีจิ้นผิงมองว่าพฤติกรรมการคอรัปชั่นของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่พรรคนั้นถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งสิ่งที่อภัยไม่ได้ เขาใช้มาตรการในการกวาดล้างการคอรัปชั่นอย่างจริงจัง มีข่าวการจับกุมและลงโทษขั้นเด็ดขาดต่อผู้กระทำผิดฐานคดโกงนับร้อยคดี จนการคอรัปชั่นกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากมากในจีนปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้ทำให้สีจิ้นผิงสามารถรวมศูนย์อำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ และผ่านการลงมติรับรองจากสภาประชาชนแห่งชาติให้เป็น "ประธานาธิบดีตลอดชีวิต" และกลายเป็นหนึ่งในผู้นำทางการเมืองที่ทรงอำนาจและมีอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์จีน ทำเอานักวิเคราะห์จากหลายสำนักเห็นตรงกันว่าสถานภาพของสีจิ้นผิง นับวันจะใกล้เคียงกับคำว่า “จักรพรรดิ” ขึ้นไปทุกที 

ในแง่ของการบริหารอำนาจ สีจิ้นผิงมีความคล้ายคลึงกับประธานเหมามากกว่าผู้นำเติ้ง....

อย่างไรก็ตามแต่ ไม่ว่าจะเป็นเหมาเจ๋อตงหรือเติ้งเสี่ยวผิง ทั้งคู่ต่างเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ ที่หากไม่มีพวกเขา ก็คงจะไม่มีจีนวันนี้ ซึ่งตามทรรศนะของผู้เขียนเอง ผู้นำจีนคนปัจจุบันอย่างสีจิ้นผิงนั้นคือการนำจุดเด่นของทั้งประธานเหมาและผู้นำเติ้งมารวมเป็นคนเดียวกัน กล่าวคือเป็นส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง “หยิน” กับ “หยาง” เป็นผู้นำแห่งแดนมังกรที่มีความเป็นสิงโต และหมาป่าในเวลาเดียวกัน

“强起来 – เฉียงฉี่หลาย” 
แปลว่า “จงแข็งแกร่ง” เป็นเป้าหมายและปรัชญาในการบริหารบ้านเมืองของสีจิ้นผิง ในขณะเดียวกันก็เป็นวลีที่ใช้ปลุกระดมให้คนในชาติให้ร่วมมือกันสร้างความแข็งแกร่งในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง การทูต และแสนยานุภาพทางทหาร อันเป็นสิ่งตอกย้ำชัดเจนในเป้าหมายละความทะเยอทยานของจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง หลังจากที่ยืนบนลำแข้งตัวเองได้ และค่อย ๆ สร้างเนื้อสร้างตัวจนมีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ก้าวต่อไป จีนจะต้องเดินเกมเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกอย่างแน่นอน

หากพิจารณาจากคุณสมบัติความเป็นผู้นำของสีจิ้นผิงแล้ว ท่านผู้อ่านคิดว่าเขาจะสามารถพาประเทศจีนขึ้นสู่การเป็นมหาอำนาจได้จริงหรือไม่ 


ข้อมูลอ้างอิง 
ขอบคุณรูปภาพจาก : th.wikipedia.org
 

เหตุการณ์เรือ Ever Given กับการประกันภัยทางทะเล

ช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวใหญ่เกี่ยวกับอุบัติเหตุการขนส่งทางทะเล นั้นคือการที่เรือคอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ Ever Given เกยตื้นแล้วขวางเส้นทางเดินเรือของคลองสุเอซ วันนี้จะขอมาเล่าเกี่ยวกับการประกันภัยทางทะเลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ เพราะการประกันภัยทางทะเลจัดได้ว่าเป็นการประกันวินาศภัยที่เก่าแก่ที่สุดและมีประเด็นที่น่าสนใจหลายเรื่อง

เริ่มจากเรือที่มักจะทำประกันภัยตัวเรือและเครื่องจักร (Hull and machinery insurance) ที่ให้ความคุ้มครองทั้งตัวเรือ เครื่องจักร ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก และค่าใช้จ่ายในการกู้ภัย แต่มีข้อแม้ว่าเจ้าของเรือต้องร่วมจ่ายค่าเสียหายด้วยบางส่วนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความประมาทในการดำเนินงาน 

ในบรรดาเจ้าของเรือก็มองว่าค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ต้องออกเองเมื่อเกิดความเสียหายนั้นจำนวนก็ไม่ใช่น้อย หากต้องชดใช้ด้วยตนเองทั้งหมดอาจส่งผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของตน จึงรวมกลุ่มกันเพื่อก่อตั้งเป็นการประกันภัยแบบสหการ (Mutual insurance) เพื่อรับประกันภัยจากสมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของเรือด้วยกัน และการรวมกลุ่มดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ P&I Club มาจากคำว่า Protection and indemnity insurance club ที่มีอยู่ทั้งหมด 13 แห่งทั่วโลก และในกรณีของ Ever Given นั้นเป็นสมาชิกอยู่ใน UK P&I Club และให้ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกในวงเงินสูงถึง 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะมีการเรียกร้องค่าเสียหายจากเรือ Ever Given เป็นมูลค่าที่สูงมาก ทั้งจากความเสียหายของคลองสุเอซ การสูญเสียรายได้จากค่าผ่านคลอง หรือค่าใช้จ่ายของเรือลำอื่นที่ล่าช้า

จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งหากมีการตกลงชดเชยค่าเสียหายกันได้แล้วทาง UK P&I Club ก็ไม่ได้ควักเงินจ่ายค่าเสียหายอยู่ฝ่ายเดียว เพราะมีการประกันภัยต่อไปยัง P&I Club อีก 12 แห่ง แห่งละไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนที่เหลือก็ส่งต่อให้บริษัทรับประกันภัยต่อระดับโลกอีก 20 บริษัท สาเหตุที่ต้องมีการรับประกันภัยต่อหลายรายเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงในกรณีที่มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนมาก

ในส่วนของสินค้าที่ขนมาบนเรือนั้นก็มักจะทำประกันภัยสินค้าโดยรูปแบบความคุ้มครองส่วนใหญ่อ้างอิงจากประกันภัย ICC (Institute cargo clauses) ที่จัดทำโดยกลุ่มผู้รับประกันภัยในประเทศอังกฤษ มีความคุ้มครอง 3 แบบ คุ้มครองมากที่สุดคือ ICC(A) รองลงมาคือ ICC(B) และน้อยสุดคือ ICC(C)  ถ้าหากสินค้าเสียหายจากเหตุการณ์นี้ก็สามารถได้รับเงินชดจากทั้งสามแบบ เพราะทุกแบบให้ความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากเรือเกยตื้น

ถึงแม้สินค้าจะไม่ได้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ เจ้าของสินค้าก็อาจต้องมีส่วนร่วมออกค่าใช้จ่ายในการกู้ภัยตามหลัก General average หรือความเสียหายทั่วไป โดยหลักการนี้มีมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรโรมัน นั้นคือหากเรือเกิดอุบัติเหตุแล้วกัปตันตัดสินใจต้องทิ้งสินค้าบางส่วนลงน้ำเพื่อรักษาทรัพย์สินส่วนรวมให้รอดปลอดภัย ทรัพย์สินส่วนนั้นจะได้รับการชดใช้คืน โดยยึดถือปฏิบัติกันมาจนถึงปัจจุบันตามที่ได้มีการปรับปรุงตามกฎ York-Antwerp Rules และในไทยเองก็มีกฎหมายที่ว่าด้วยเรื่องนี้ คือ พ.ร.บ.การเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปจากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. 2547 และให้ความหมายของความเสียหายทั่วไป คือ “ความสูญเสีย หรือความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดที่เป็นผลโดยตรงจากการเสียสละทรัพย์สิน หรือค่าใช้จ่ายเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งจงใจกระทำขึ้นตามสมควรเพื่อปกป้องรักษาเรือและทรัพย์สินที่เผชิญภัยอันตรายร่วมกัน” ดังนั้นค่าใช้ในการกู้ภัยเรือจึงถือว่าเป็นความเสียหายทั่วไปด้วย หากเจ้าของเรือ Ever Given ประกาศว่ามีความเสียหายทั่วไปแล้ว จะมีการแบ่งส่วนเฉลี่ยคิดตามมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดที่อยู่ในเหตุการณ์นั้น และคาดการณ์ว่าน่าจะใช้เวลาเป็นปีในการสรุปค่าใช้จ่ายเพราะด้วยขนาดเรือที่ขนสินค้ามาจำนวนมากและมีเจ้าของสินค้าหลายราย

ขอยกตัวอย่างกรณีของเรือ Maersk Honam ที่เกิดเหตุไฟไหม้บนเรือในปี 2018 จากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้มีการเรียกเฉลี่ยความเสียหายทั่วไปมากถึง 54% ของมูลค่าทรัพย์สิน นั้นคือหากเป็นเจ้าของสินค้ามูลค่า 1 ล้านบาท จะต้องร่วมเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป 540,000 บาท สินค้าของใครที่ทำประกันภัย ICC ก็สบายใจได้เพราะให้ความคุ้มครองค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ แต่ใครที่ไม่ได้ทำก็คงต้องออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เอง และทางสายเรือจะกักสินค้าเอาไว้จนกว่ากว่าจะนำเงินส่วนนี้มาจ่าย

จากที่เล่ามาข้างต้นจะเห็นได้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติของการขนส่งสินค้าทางทะเลมีมาอย่างยาวนานและมีรูปแบบเฉพาะที่มีความแตกต่างจากการขนส่งด้วยวิธีอื่น ผู้นำเข้าส่งออกควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองสินค้า เพราะถึงแม้สินค้าของตนจะไม่เกิดความเสียหาย แต่อาจมีการเรียกเก็บส่วนเฉลี่ยค่าเสียหายทั่วไปที่มียอดเงินไม่น้อยเลยทีเดียว


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.agcs.allianz.com/news-and-insights/expert-risk-articles/suez-canal-marine-insurance-claims.html

https://www.hellenicshippingnews.com/suez-canal-insurance-claims-loom-as-ever-given-blocks-shipping/

https://theloadstar.com/lengthy-wait-for-cargo-as-ever-given-owner-declares-general-average/

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 3

เช้าแสนอ้อยอิ่งผ่านไปพร้อมกับมื้อเช้าง่าย ๆ คือขนมและกาแฟ รอบนี้เอากาแฟคั่วจากสวนตัวเองลงมาด้วย ตั้งเตาต้มน้ำ พลางบดกาแฟ เทลงในหม้อ เติมน้ำเดือดลงไป รอราวสามนาทีก็นำช้อนเขี่ยผงกาแฟที่ลอยอยู่ให้จมลง ตักเอาฟองและเศษที่เหลือออก แค่นี้ก็พร้อมเสิร์ฟแล้ว นี่ถือว่าเป็นการชงกาแฟที่เรียบง่ายที่สุดและเป็นการเลียนแบบวิธีการทำคัปปิ้ง (อธิบายง่ายสั้นก็คือการดมชิมกาแฟ) นั่นเอง

“เอาเชือกรัดสัมภาระต่าง ๆ ในเรือ “แล้วก็อย่าลืมใส่ชูชีพด้วยนะพี่” บังบิ๊บบอกเช่นนั้น เสียงค้านในใจบอกไม่เห็นจะจำเป็นสักหน่อย น้ำไหลเอื่อยแบบนี้ไม่ต้องแน่นหนาขนาดนั้นก็ได้ แต่เอาน่ะ คนเขาอยู่ในพื้นที่ น่าจะมีเหตุผลมากพอหากเขาแนะนำเช่นนั้น ผมจึงหยิบเชือกออกมามัดกระเป๋าสองสามใบไว้

การพายคายักในวันนี้เริ่มต้นแบบไม่ต้องออกแรงจ้วงไม้พายมากนัก เพราะน้ำไหลเรื่อย สองฝั่งร่มรื่นไปด้วยแมกไม้เขียวขจี อากาศยามเช้าแสนจะเป็นใจ บางครั้งผ่านบ้านเรือนผู้คน เด็กน้อยโบกมือและวิ่งลงมาทักทายคนแปลกถิ่น เป็นภาพที่สวยงาม แต่มีสิ่งที่เห็นแล้วรกสายตามาก คือขยะทั้งหลายโดยเฉพาะพลาสติกที่ลอยไปติดอยู่ตามกิ่งก้านไม้ในช่วงน้ำหลาก เมื่อน้ำลดจึงค้างอยู่เป็นจำนวนมาก เห็นแล้วรู้สึกขัดหูขัดตา สำหรับเผ่าพันธุ์มนุษย์แล้วขยะย่อยสลายยากอาจแค่ทำให้รู้สึกไม่สบายตา ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว ขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศค่อนข้างมาก และถ้าเพียงแค่เราต่างตระหนักว่าการกระทำของเราสามารถทำลายอีกหลายชีวิตโดยไม่ตั้งใจ เราอาจจะระมัดระวังการใช้ชีวิตในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้ก็เป็นได้ เราอาจจะลดการสร้างขยะหรืออย่างน้อยก็พยายามรับผิดชอบด้วยการจัดการขยะที่เราสร้างขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสม

เอาเถอะถือว่าเป็นการสะท้อนมุมมองและความรู้สึกบางด้านจากการพายเรือผ่านแม่น้ำปัตตานีละกัน 

กลับมาที่ไฮไลต์ประจำวันกันอีกครั้ง ซึ่งก็คือดีกรีความตื่นเต้นที่สายน้ำนี้มอบให้ มันค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามช่วงเวลาของวัน ยิ่งพายยิ่งเจอสิ่งที่ทำให้อะดรีนาลีนหลั่งมากขึ้น ก็แก่งทั้งหลายไงล่ะครับ ค่าที่ยังนับว่าเป็นมือใหม่หัดพาย จึงยังคงต้องสะสมชั่วโมงพายเรือ เพื่อสั่งสมความชำนาญและความมั่นใจในการอ่านสายน้ำไปทีละเล็กละน้อย การได้มาเจอโจทย์ประเภทแก่งน้ำเชี่ยวจึงเป็นทั้งเรื่องสนุกและในขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลด้วย ยิ่งไปก็ยิ่งเจอแก่งถี่ขึ้น ต้องคอยคัดซ้ายคัดขวาเพื่อให้เรือไหลไปตามร่องน้ำตามที่วางแผนไว้ในใจ พวกเราร้องตะโกนด้วยความดีใจเวลาที่สามารถผ่านแต่ละความท้าทายเล็ก ๆ เหล่านั้นได้ รู้สึกเหมือนได้กลับไปเป็นเด็กชายซน ๆ กันอีกครั้ง เชื่อว่าผู้ใหญ่จำนวนมากคงไม่ต่างจากผม ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งเคร่งขรึมเกินเหตุ หลงลืมการหัวเราะร่าเริงและการไม่ต้องจริงจังไปเสียทุกเรื่อง เป็นเหตุให้กลายเป็นพวกแบกโลกอยู่บ่อย ๆ จนกระทั่งเด็กน้อยถูกปลุกให้ตื่นอีกครั้งเมื่อได้กลับมาทำกิจกรรมกลางแจ้งหัวหกก้นขวิดแบบนี้

อย่างที่บอกว่าดีกรีความตื่นเต้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้นเพราะลำธารสาขาไหลมาสมทบมากขึ้น ผมไม่แน่ใจนักว่าเขาจัดระดับความแรงหรือความเสี่ยงของแก่งกันอย่างไร จึงขอแบ่งแบบระดับตามความเผ็ดของพริกที่ใส่ลงไปในอาหารละกัน จากแก่งประเภทพริกเม็ดสองเม็ด พอคล้อยบ่ายจำนวนพริกขี้หนูหลายเม็ดเริ่มมากจนเผ็ดจัดจ้านแสบร้อนมากขึ้น น้ำลึกมากขึ้น สายน้ำแคบลง เพราะถูกบีบให้ไหลเข้าไปในโตรกหินผา รู้สึกได้ถึงพลังมหาศาลของมวลน้ำที่ทวีการไหลดุดันมากขึ้นตามลำดับ ผมไม่แน่ใจนัก ว่าการยอมปล่อยตัวเองและคายักผ่านลงไปในแก่งเชี่ยวกรากน้ำกระจายแตกฟองสีขาวโดยไม่ได้ตรวจสอบเสียก่อนนั้นเป็นเรื่องดีและสมควรหรือไม่ รู้แค่ว่าการไม่รู้อะไรล่วงหน้าส่งผลให้ยอมเสี่ยงกระโจนลงไปหาความท้าทายเหล่านั้น กระเด้งกระดอนคลอนแคลนเพราะเรือถูกน้ำซัดต่างระดับจนน้ำกระฉอกเข้าเรือแทบครึ่งค่อนลำ ต่อเมื่อพ้นแก่งพวกนั้นมาได้จึงยิ้มกริ่มด้วยความสะใจ ไม่ใช่เพราะชะล่าใจว่าสามารถเอาชนะหรือต่อกรกับธรรมชาติได้ ทว่าเป็นความภูมิใจลึก ๆ ที่สามารถสะสมทักษะการพายเรือได้มากขึ้นอีกระดับหนึ่งแล้วนั่นเอง แต่สิ่งที่ตรงกันข้าม คือมีอย่างน้อยหนึ่งแก่งในวันนี้ที่ผมยอมเสียเวลากับการไปสำรวจโดยเทียบเรือแล้วเดินเลียบตลิ่งชันด้านข้าง เมื่อมองดูแก่งนั่นแล้วเกิดภาพน่ากลัวขึ้นในหัว กลายเป็นใจฝ่อไปเสียนั่น รำพึงในใจว่าถ้าไม่รู้เห็นก็สิ้นเรื่อง สู้ให้เรือพลิกคว่ำยังจะดีเสียกว่าไหม สรุปก็คือเมื่อภาพในหัวน่ากลัวกว่าความเป็นจริงผมก็เลยต้องยกสัมภาระทุกอย่างเลาะตลิ่งสูงดังกล่าว ลงไปยังท้ายแก่ง ในขณะที่บังบิ๊บอาจอาญกว่าผมหลายเท่า เขาอ่านทางน้ำแล้วตัดสินใจลุยและเขาก็ทำได้!

แล้วก็มาถึงจุดที่ผมได้รับประสบการณ์เรือคว่ำจนได้ ซึ่งก็ไม่ใช่แก่งใหญ่น่ากลัวแต่ประการใด ความท้าทายคือมันเป็นโค้งน้ำแคบหักศอก ต้องประคองตัวและวางตำแหน่งตัวเองให้ถูกต้องเพื่อให้สมดุล แต่ผมไม่รู้เทคนิค แค่แม่น้ำตบเบา ๆ ทำเอาเรือพลิก ทุกอย่างรวมทั้งตัวผมลอยตุ๊บป่อง ดีที่ใส่ชูชีพไว้ตามคำแนะนำของเพื่อน จึงลอยตัวได้สบาย พยายามคว้าเรือไว้ ส่วนรองเท้าแตะจำปล่อยให้ลอยหายไป บังบิ๊บตามมาช่วยด้วยอีกแรง เพราะถ้าเลยไปอีกหน่อยก็จะเจออีกแก่งหนึ่งแล้วนั่นเอง

โหดสุดของวันนี้คือมหาแก่ง แค่ระยะสั้น ๆ ราวยี่สิบเมตร แต่ต่างระดับราวห้าเมตรในแนวดิ่ง มันคือน้ำตกดี ๆ นี่เอง ที่สำคัญแก่งนี้ยังอยู่ในโตรกแคบ หมายถึงระดับความเผ็ดน่าจะถึงขั้นอุจจาระราดกันได้เลยทีเดียวหากริจะเล่นกับมัน ผมน่ะยอมศิโรราบแต่โดยดีอยู่แล้ว ในขณะที่บังบิ๊บเห็นว่าหากอุปกรณ์และทีมพร้อมเขาอยากวัดใจกับแก่งนี้ดูสักครั้ง ที่แน่ ๆ ไม่ใช่รอบนี้แน่นอน พวกเราจึงแบกเรือและสัมภาระลงไปยังท้ายแก่งกัน จากนั้นจึงประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันแล้วออกพายต่อ ผ่านจุดนี้มาแล้วแม่น้ำปัตตานีก็เปิดกว้าง โตรกผาค่อย ๆ หายไป กลายเป็นตลิ่งที่เห็นไกลออกไป แม่น้ำก็เปิดกว้างขึ้น ทว่าก็ยังคงมีแก่งให้ผ่านกันอีกหลายแก่ง อากาศเริ่มเย็น อาทิตย์ลับขอบฟ้า ความมืดเริ่มปกคลุมทั่วบริเวณ พวกเรายังคงไม่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top