'ปลดล็อกท้องถิ่น' หรือ 'แบ่งแยกดินแดนสู่สหพันธรัฐ' นัยล้มล้าง ปชต. อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

มีพรรคการเมืองบางพรรค ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญและพยายามรณรงค์เรื่องการปลดล็อกท้องถิ่น ผู้เขียนเองเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ (Decentralization) สำหรับท้องถิ่นที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในระดับหนึ่ง แต่เมื่อไปเปิดอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ต้องตกใจมากด้วยเหตุผลดังนี้

>> ประการแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทย ที่ระบุความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทยมาโดยตลอดได้เขียนบัญญัติเอาไว้ว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้’

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่นกำลังทำให้ประเทศไทยไม่เป็นรัฐเดี่ยว แต่เป็น ‘สหพันธรัฐ’ เพราะท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตนเองเท่ากับรัฐ ๆ หนึ่งของสหรัฐอเมริกา บริหารปกครองตนเองได้ มีกฎหมายเป็นของตนเองได้ บริหารการจัดเก็บภาษีและการเงินการคลังเองได้ ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินตราและธนาคารกลาง

ข้อนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความประสงค์ที่จะมิให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แต่เป็นสหพันธรัฐ ประกอบด้วยรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากมาย อันเท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครองจากราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ เท่ากับผู้เขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตจำนงที่ต้องการล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของไทยที่เป็นรัฐเดี่ยว อันเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง และเป็นการทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

>> ประการสอง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่นยังจำกัดอำนาจของรัฐบาลให้เหลือเพียงการทหารและการต่างประเทศ ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และการดำเนินงานของธนาคารกลางและระบบเงินตราเป็นหลักสำคัญ อันมีสภาพมิได้แตกต่างจากสหรัฐอเมริกาที่รัฐบาลกลางมีอำนาจน้อยมาก แต่รัฐต่าง ๆ มีอำนาจในการปกครองตนเองได้อย่างอิสระเสรี อันเป็นเส้นทางสู่สหพันธรัฐอย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ซึ่งผมคงไม่อาจจะเห็นด้วยได้เลย

>> ประการสาม ท้องถิ่นสามารถกู้เงินและออกพันธบัตรได้เอง เช่นเดียวกับเทศบาลและรัฐต่าง ๆ ของสหรัฐอเมริกา ทำให้รัฐบาลไม่อาจบริหารการคลังท้องถิ่นได้อีกต่อไป ผู้เขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คงมิได้ตระหนักว่าการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันมากน้อยเพียงใด และคงไม่เคยทราบว่าเทศบาลบางแห่งของเมืองบางเมืองของสหรัฐอเมริกา เช่น ดีทรอยท์ อยู่ในภาวะล้มละลายมีหนี้สินอย่างมหาศาล และการทำเช่นนี้จะทำให้เกิดความแตกแยก แตกต่าง ระหว่างจังหวัดและเมืองต่าง ๆ ตลอดจนความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะถ่างออกมากไปยิ่งกว่านี้

เมื่อได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่นจบลงแล้วนั้นก็ทำให้เห็นได้ว่าการกระจายอำนาจแบบสุดโต่งถึงขั้นปลดล็อกท้องถิ่นนั้นเลยเถิดไปมากจนเกินเส้นของความพอดีในการกระจายอำนาจ แต่เป็นการส่งเสริมการแบ่งแยกดินแดน ทำให้ประเทศไทยเป็นสหพันธรัฐ และต่อไปคือสาธารณรัฐใช่หรือไม่ เพราะจงใจซ่อนนัยของการล้มล้างการปกครอง โดยทำให้คำว่า ราชอาณาจักรไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ ไม่เป็นจริงอีกต่อไป


เรื่อง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์