Sunday, 5 May 2024
ท้องถิ่น

'ปลดล็อกท้องถิ่น' หรือ 'แบ่งแยกดินแดนสู่สหพันธรัฐ' นัยล้มล้าง ปชต. อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

มีพรรคการเมืองบางพรรค ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญและพยายามรณรงค์เรื่องการปลดล็อกท้องถิ่น ผู้เขียนเองเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ (Decentralization) สำหรับท้องถิ่นที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในระดับหนึ่ง แต่เมื่อไปเปิดอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ต้องตกใจมากด้วยเหตุผลดังนี้

>> ประการแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทย ที่ระบุความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทยมาโดยตลอดได้เขียนบัญญัติเอาไว้ว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้’

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่นกำลังทำให้ประเทศไทยไม่เป็นรัฐเดี่ยว แต่เป็น ‘สหพันธรัฐ’ เพราะท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตนเองเท่ากับรัฐ ๆ หนึ่งของสหรัฐอเมริกา บริหารปกครองตนเองได้ มีกฎหมายเป็นของตนเองได้ บริหารการจัดเก็บภาษีและการเงินการคลังเองได้ ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินตราและธนาคารกลาง

ข้อนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความประสงค์ที่จะมิให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แต่เป็นสหพันธรัฐ ประกอบด้วยรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากมาย อันเท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครองจากราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ เท่ากับผู้เขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตจำนงที่ต้องการล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของไทยที่เป็นรัฐเดี่ยว อันเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง และเป็นการทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

'ก้าวไกล' ชู แคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น' ยัน!! ไม่นำไปสู่การยกเลิก 'กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน'

(7 ธ.ค. 65) แถลงการณ์พรรคก้าวไกล ต่อกรณีที่มีการพยายามโจมตีว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ยืนยันไม่เป็นความจริงที่ผ่านมา คณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์และนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับประชาชนที่เข้าชื่อจำนวน 80,772 คน ภายใต้ชื่อแคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น'

หัวใจสำคัญของข้อเสนอคือการกระจายอำนาจให้กับประชาชน ให้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตของตนเองและยกระดับการพัฒนาของพื้นที่ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

ในที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. ตัวแทนของประชาชนผู้เสนอร่าง ได้ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างฯ โดยสมาชิกรัฐสภาจากหลายฝ่ายได้แสดงความเห็นในเชิงสนับสนันกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในฐานะกลไกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับบริการสาธารณะ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ แม้อาจมีข้อถกเถียงที่แตกต่างกันในเชิงรายละเอียด

ทางเราได้พยายามชี้แจงและตอบทุกข้อสงสัยของสมาชิกรัฐสภาและประชาชนทั่วไป แต่เราเข้าใจเป็นอย่างดีว่าบางท่านอาจยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อสถานะและบทบาทของข้าราชการส่วนภูมิภาค และ เจ้าหน้าที่รัฐส่วนท้องที่ (เช่น กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน) หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยเฉพาะความกังวลที่ถูกสะท้อนในแถลงการณ์ของ ชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทย ฉบับที่ 2/2565 (6 ธันวาคม 2565) ทางเราจึงขอชี้แจงเพื่อความชัดเจนดังกล่าว...

1. ส่วนภูมิภาค และ ส่วนท้องที่ มีลักษณะที่แตกต่างกัน - ส่วนภูมิภาคประกอบไปด้วยจังหวัดและอำเภอ (อ้างอิง พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พุทธศักราช 2534 มาตรา 51) ซึ่งข้าราชการมาจากการแต่งตั้ง ในขณะที่ส่วนท้องถิ่นประกอบไปด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มาจากการเลือก และถูกคาดหวังให้ประสานงานระหว่างราชการส่วนภูมิภาคกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อ้างอิง พ.ร.บ. ลักษณะปกครองท้องที่ พุทธศักราช 2457 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อเสนอใด ๆ เกี่ยวกับราชการส่วนท้องที่ ดังนั้น จึงไม่นำไปสู่การยกเลิกกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแต่อย่างใด

‘ภูมิใจไทย’ ชูนโยบาย ‘ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน’ เน้นกระจายงบฯ - อำนาจ พัฒนาพื้นที่ท้องถิ่น

(23 มี.ค.66) นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการกระจายอำนาจ หน้าที่ และงบประมาณ ไปสู่ท้องถิ่น โดยระบุว่า ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง เป็นสัจจะธรรม แต่อำนาจหน้าที่ กฎหมายไม่รองรับ เช่น ให้จัดทำบริการสาธารณะ ซึ่งต้องมีเครื่องมือ คืออำนาจ หน้าที่ และงบประมาณ ปัจจุบันไม่รองรับ 100% เช่นบุคลากร เข้ามาทำหน้าที่บริหารท้องถิ่นตัวเองทำเองไม่ได้ มีคนไปจัดการให้ ซึ่งไม่ตรงตามวัตถุประสงค์

“พื้นที่แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน เช่น ทางใต้มีเรื่องทะเล ทรัพยากร สภาพสังคม และงบประมาณ เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา ท้องถิ่นเขาพูดกัน 2 เรื่อง คือ อำนาจในการบริหารจัดการ 100% ไม่ต้องอิงส่วนกลางได้ไหม เขาเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง เช่น กฎหมายการกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจ ถ้าไม่ให้ไป มันทำไม่ได้ การถ่ายโอนที่ไม่ครบ เช่น ไม่มีคนให้ ไม่มีงบประมาณให้ และภารกิจก็ถ่ายโอนไม่ครบอีก ให้ท้องถิ่นไปดูแลสถานีรถโดยสาร แต่สายทางไม่ให้ไป ให้ดูแค่สถานี หรือการถ่ายโอน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รพ.สต. แต่การรักษาทำอย่างไร ให้งานไปแต่ไม่สามารถทำงานได้ ให้มอบภารกิจไปแต่ทำไม่ได้ เราต้องคิดดำเนินการแก้ไขให้กฎหมายรองรับการกระจายอำนาจให้มากที่สุด

‘พท.’ เสนอ ยกเครื่อง คกก. จัดสรรบุคลากร-งบประมาณท้องถิ่น แก้ปัญหาการกระจายอำนาจไทย หลังถดถอยสุดในรอบ 25 ปี

(11 เม.ย. 66) เฟซบุ๊กแฟนเพจหลักของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

“สังคมไทยกำลังต้องการการกระจายอำนาจอย่างมาก เราพบว่า 9 ปีมานี้ การกระจายอำนาจของประเทศไทยถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี คำถามคือปัญหาคืออะไรและเราจะต้องแก้อย่างไร”

ส่วนหนึ่งจากการเสวนาของ จาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในงานสัมมนาหัวข้อ ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองอื่นรวม 8 พรรค ที่โรงแรมไฮเอท รีเจนซี่ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 

จาตุรนต์ ฉายแสง เริ่มต้นกล่าวว่า การพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ก็คือการพูดวางบทบาทของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นว่าจะวางบทบาทอย่างไรให้เหมาะสม เพราะโลกปัจจุบันมีเรื่องใหญ่มาก ๆ ที่รัฐบาลต้องทำ ซึ่งมีทั้งทำไม่ทัน และทำทันแต่ทำได้ไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องมายืนบนหลักการให้ได้ว่า รัฐบาลหรือส่วนกลาง จะต้องไม่ไปแย่งงานท้องถิ่นหรือไปทำงานแทนท้องถิ่น

ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุด คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกำลังดำเนินเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปอีกไม่นาน ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ซึ่งการยึดอำนาจทุกครั้งทำให้การกระจายอำนาจถอยหลังเข้าคลอง อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พูดไม่ได้ขยับไม่ไป พูดไม่ดีถูกปลดถูกจับติดคุก

[ปัญหาของการกระจายอำนาจที่ผ่านมา]
ภายหลังการยึดอำนาจมา 9 ปี แต่การกระจายอำนาจประเทศไทยถอยหลังไป 25 ปี คำถามคือ ปัญหาคืออะไรและแก้ไขอย่างไร

1.) การกำกับควบคุม
พบว่า มีการกำกับควบคุมจากส่วนกลางเต็มไปหมด โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ซึ่งคำสั่งของ คสช.ครอบท้องถิ่นไปจนถึงแม้แต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เขาขาดคนแต่ไม่แต่งตั้งคนทำงานให้ ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายความจริงต้องทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น สามารถที่จะดูว่าจะได้บุคลากรอย่างไรสอดคล้องกับท้องถิ่น และทำให้เส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเขามีที่จะไปได้ทั่วประเทศ เรื่องนี้จำเป็นจะต้องมีความสมดุล

2.) เรื่องงาน และการถ่ายโอนภารกิจ
งานที่ท้องถิ่นต้องทำมีทั้งเรื่อง Reskill-Upskill เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ที่เป็นสมัยใหม่ หรือส่งเสริมนวัตกรรมฝึกอาชีพ ซึ่งถ้าทำกันจริง ๆ สตง.ก็จะบอกว่าทำไม่ได้ เพราะคณะกรรมการกระจายอำนาจไม่ได้แบ่งหน้าที่ไว้ให้เขา เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องทำให้มันเกิดความชัดเจน เมืองสมัยใหม่ต้องการการพัฒนา ทางพรรคเพื่อไทยก็คิดว่าจังหวัดไหนต้องการจังหวัดจัดการตนเอง เราจะส่งเสริมจังหวัดที่มีความพร้อมมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องประมาณ 4-5 จังหวัด ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศให้เป็นเทศบาลตำบล

3.) เรื่องเงินรายได้
9 ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นได้เงินจากงบประมาณไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่จัดรายได้ให้สอดคล้องกับภารกิจ มีแต่งาน แต่ไม่มีงบประมาณจ่ายมา และกลายเป็นท้องถิ่นไม่ได้ทำในสิ่งที่ท้องถิ่นหรือประชาชนต้องการ ทำได้แต่งานที่ส่วนกลางหรือรัฐบาลฝากทำ และที่หนักสุดคือ งบท้องถิ่น ท้องถิ่นควรได้เป็นคนพิจารณา แต่กลับเอาไปให้สภาผู้แทนพิจารณาแทน ซึ่งผิดหน้าที่ ดังนั้น ต้องเพิ่มงบท้องถิ่นให้ร้อยละ 35 ภายใน 2 ปีงบประมาณ และยกเลิกงานฝากจากส่วนกลางออกไปจากบัญชีท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ตัวเองไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้

‘นิพนธ์’ แนะ กระจายอำนาจ หนุนท้องถิ่นมีส่วนร่วมทางการเมือง เชื่อมั่น!! “เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง”

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 66 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเวทีเสวนา การติดตามนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง หัวข้อ ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ในการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 ประจำปี พ.ศ.2566 ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อาคาร 2 อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยมีผู้แทนจาก พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคก้าวไกล พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การทำงานของถิ่นในบางภารกิจยังมีอุปสรรคในการบริหาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุน และแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินการภายใต้กติกาที่กำหนดไว้ เพื่อให้งานเดินต่อไปได้และไม่เกิดปัญหาภายหลัง

สำหรับเรื่องจัดเก็บภาษีนั้น ก็ควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีพร้อมทั้งพิจารณาจัดเก็บฐานภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมที่ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้นสามารถนำมาพัฒนาพื้นที่รับผิดชอบ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

ในส่วนความคืบหน้าเรื่องกระจายอำนาจ ในขณะนี้อยู่ในแผนที่ 3 แต่ขณะเดียวกัน แผนที่ 1 และ 2 ก็ยังถ่ายโอนไม่หมด ซึ่งควรพิจารณาว่าภารกิจใดที่ท้องถิ่นทำได้ก็ให้เร่งรัดถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณพร้อมบุคลากรให้ท้องถิ่นได้ดำเนินการ เพราะการถ่ายโอนภารกิจใดไปและดำเนินการไม่ได้อาจจะถูกดึงภารกิจกลับ ซึ่งเรื่องกระจายอำนาจนั้นสามารถทำได้ทันทีโดยนายกรัฐมนตรี ต้องนั่งเป็นประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ กำหนดนโยบายการถ่ายโอนภาระกิจ ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

นายนิพนธ์ยังกล่าวด้วยว่า การป้องกันการทุจริต ปัจจุบันมีการพัฒนาในกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการตรวจรับงานจ้าง รวมถึงการสร้างความโปร่งใสในการบริหารงานท้องถิ่น ดังนั้น จึงไม่ควรนำเรื่องทุจริตมาปิดกั้นการกระจายอำนาจ เพราะการกระจายอำนาจ คือการสร้างการมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนได้ดีที่สุด และเชื่อมั่นว่า “เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง”
 

‘มหาดไทย’ ประกาศขึ้นค่าตอบแทน ‘เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น’ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพ มีผล 1 ต.ค. นี้

(7 ก.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนตำแหน่ง และเงินอื่น ๆ ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ได้มีมติให้ปรับเพิ่มอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ค่าครองชีพและทัดเทียมกับค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ รวมทั้งสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เดียวกันด้วย

อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทย ด้วยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนตำแหน่งและเงินอื่น ๆ ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2566”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป

ข้อ 3 ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครองและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับได้รับเงินตอบแทนตำแหน่งเพิ่มไปรวมกับอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งที่รับอยู่ในวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับของแต่ละตำแหน่ง เป็นอัตราเงินตอบแทนตำแหน่งใหม่ ดังนี้

(1) กำนัน ให้ได้รับเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท
(2) ผู้ใหญ่บ้าน ให้ได้รับเพิ่มอีกคนละ 2,000 บาท
(3) แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ให้ได้รับเพิ่มอีกคนละ 1,000 บาท

ทั้งนี้ อัตราเงินตอบแทนตำแหน่งใหม่แต่ละคนตามวรรคหนึ่งจะต้องไม่เกินอัตราขั้นสูงของแต่ละตำแหน่งตามบัญชีเงินตอบแทนขั้นต่ำขั้นสูงท้ายระเบียบนี้ตามข้อ 4 วรรคหนึ่ง ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนตำแหน่ง และเงินอื่น ๆ ให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้านแพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบนี้

ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในข้อ 4 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทน ตำแหน่ง และเงินอื่น ๆ ให้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนตำแหน่ง และเงินอื่น ๆ ให้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 4 เงินตอบแทนตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำ บล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ให้ใช้บัญชีเงินตอบแทนขั้นต่ำ ขั้นสูงตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ ท้ายระเบียบนี้ การเลื่อนขั้นเงินตอบแทน ตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ

ในรอบปีงบประมาณหนึ่ง ๆ จะเลื่อนได้ไม่เกินสองขั้น โดยมีเงินตอบแทนตำแหน่งขั้นละสามร้อยบาท และให้ได้รับการเลื่อนสองขั้น ติดต่อกันไม่เกินสองครั้ง โดยการเลื่อนขั้นเงินตอบแทนจะต้องจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้”

ข้อ 5 ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้ ให้มีอำนาจตีความและ วินิจฉัยปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ได้

ประกาศ ณ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top