Monday, 29 April 2024
กระจายอำนาจ

'ธนาธร' ชูธง ผู้บริหารท้องถิ่นในแบบกทม. ผู้บริหารสูงสุดต้องมาจากการเลือกตั้งของปชช.

'ธนาธร'ชูธง จุดหมายสูงสุดของการกระจายอำนาจที่แท้จริงคือการที่ทุกจังหวัดมีรูปแบบการปกครองท้องถิ่น เหมือนกับกรุงเทพฯ ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดต้องมีเพียงคนเดียวมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

(13 ก.ค.65) เฟซบุ๊กแฟนเพจ Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ โพสต์ข้อความว่า

ท้องถิ่นในแบบ กทม. คือ end game ที่ประเทศไทยต้องไปให้ถึง

เมื่อวานนี้ ผมได้มีโอกาสรับเชิญไปพูดคุยในรายการ The Politics ของมติชน เรื่องการรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่น ที่คณะก้าวหน้าและพรรคก้าวไกล ตลอดจนประชาชนทุกภาคส่วนจากทุกจังหวัด ร่วมกันรณรงค์ชักชวนเข้าชื่อ จนเราได้มากว่า 8 หมื่นรายชื่อ และได้มีการยื่นต่อรัฐสภาไปแล้ววันนี้

ในช่วงหนึ่งของรายการ พิธีกร อุณเอ๊ก-คุณอ๊อฟ ได้ถามผมถึงกรณีของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เป็นกระแสและความหวังให้แก่คนจำนวนมาก ว่าสุดท้ายแล้วปรากฏการณ์นี้กำลังบ่งบอกอะไรกับเรา

ผมตอบไปว่าในท้ายที่สุดแล้วปรากฏการณ์แห่งความหวังนี้ คือจิตวิญญาณของการกระจายอำนาจ ที่มีการต่อสู้ขับเคลื่อนกันมาตั้งแต่สมัยการรณรงค์ พ.ร.บ.จังหวัด … มหานคร มาจนถึงการรณรงค์ปลดล็อกท้องถิ่นของเราในวันนี้ นั่นคือจิตวิญญาณแห่งความปรารถนา ที่จะให้แต่ละพื้นที่มีอำนาจในการจัดสรรทรัพยากรของตัวเอง

กรุงเทพมหานครฯ เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่มีการเลือกตั้งนายก อบจ.กรุงเทพฯ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีโครงสร้าง อบจ. จากการเลือกตั้ง อยู่คู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้ง และนี่คือโครงสร้างที่มีปัญหามาก เพราะนายก อบจ. ต่างต้องอยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากส่วนกลาง

ดังนั้น หากถามผมว่าจุดหมายสูงสุด (end game) ของการกระจายอำนาจที่แท้จริงคืออะไร สำหรับผม นั่นคือการที่ทุกจังหวัดมีรูปแบบการปกครองท้องถิ่น เหมือนกับกรุงเทพมหานครฯ

ตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของแต่ละจังหวัด จะเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. ประธานจังหวัด ฯลฯ จะเรียกชื่อว่าอะไรก็ได้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

สาระสำคัญที่สุด คือการที่ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดคนนั้น ต้องมีเพียงคนเดียว และคน ๆ นั้นต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น ไม่มีบุคคลอื่นที่แต่งตั้งจากส่วนกลางมามีอำนาจทับซ้อนกันแบบที่เป็นในปัจจุบัน โดยคน ๆ นั้นและผู้บริหารจังหวัดมีอิสระในการจัดสรรทรัพยากรในจังหวัดของตนเอง โดยไม่ต้องรอรับคำสั่งจากส่วนกลาง

ดังนั้น ปรากฏการณ์การได้รับเลือกตั้งอย่างท่วมท้นของคุณชัชชาติ ที่ตามมาด้วยการลงมือลงแรงทำงานอย่างแข็งขันของคุณชัชชาติ การสะท้อนและการรับฟังข้อคิดเห็นจากประชาชนอย่างท่วมท้น จนในที่สุดกลายเป็นปรากฏการณ์แห่งความหวังขึ้นมา

ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าคุณชัชชาติจะเป็นผู้ว่าฯ ที่ดี เพราะคุณชัชชาติมาจากการแต่งตั้งโดยประชาชน ใช้อำนาจของประชาชน ในนามประชาชน เพื่อรับใช้ประชาชน ทำให้อย่างน้อยที่สุดเราพูดได้อย่างมั่นใจ ว่าคุณชัชชาติคือผู้ว่าฯ ที่ดีกว่าผู้ว่าฯ ที่มาจากการแต่งตั้งแน่นอน

และยิ่งเมื่อบวกกับความตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนทุกวันนี้ ที่เป็นสิ่งที่คอยผลักดัน กำกับควบคุม และตรวจสอบถ่วงดุลคุณชัชชาติ ให้ต้องฟังเสียงของประชาชน ทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประชาชน และทำตามความต้องการของประชาชนมากที่สุด

'ปลดล็อกท้องถิ่น' หรือ 'แบ่งแยกดินแดนสู่สหพันธรัฐ' นัยล้มล้าง ปชต. อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

มีพรรคการเมืองบางพรรค ได้เขียนร่างรัฐธรรมนูญและพยายามรณรงค์เรื่องการปลดล็อกท้องถิ่น ผู้เขียนเองเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ (Decentralization) สำหรับท้องถิ่นที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในระดับหนึ่ง แต่เมื่อไปเปิดอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ต้องตกใจมากด้วยเหตุผลดังนี้

>> ประการแรก รัฐธรรมนูญมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญทุกฉบับของไทย ที่ระบุความเป็นรัฐเดี่ยวของประเทศไทยมาโดยตลอดได้เขียนบัญญัติเอาไว้ว่า ‘ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้’

แต่รัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่นกำลังทำให้ประเทศไทยไม่เป็นรัฐเดี่ยว แต่เป็น ‘สหพันธรัฐ’ เพราะท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการตนเองเท่ากับรัฐ ๆ หนึ่งของสหรัฐอเมริกา บริหารปกครองตนเองได้ มีกฎหมายเป็นของตนเองได้ บริหารการจัดเก็บภาษีและการเงินการคลังเองได้ ยกเว้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงินตราและธนาคารกลาง

ข้อนี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความประสงค์ที่จะมิให้ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว แต่เป็นสหพันธรัฐ ประกอบด้วยรัฐบาลท้องถิ่นจำนวนมากมาย อันเท่ากับเป็นการล้มล้างการปกครองจากราชอาณาจักร ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้ เท่ากับผู้เขียนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตจำนงที่ต้องการล้มล้างการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขของไทยที่เป็นรัฐเดี่ยว อันเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 49 บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้

การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง และเป็นการทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 อีกด้วย ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

กระจายอำนาจท้องถิ่นในแบบ ‘ปชป.’ ยืนหยัด ต้องให้จังหวัดจัดการตนเอง

ประชาธิปัตย์กับการกระจายอำนาจ ; จังหวัดจัดการตนเอง

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาเจตนารมณ์ อุดมการณ์ ตั้งแต่ต้นของพรรคประชาธิปัตย์ โดย 'ควง อภัยวงค์' ผู้ก่อตั้งพรรค จะพบเจตนารมณ์ 10 ข้อ ที่ประกาศต่อสาธารณะ และถือเป็นเจตนารมณ์-อุดมการณ์ ที่ยังทันสมัย และใช้ได้ หนึ่งในนั้น คือเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการในระดับพื้นที่ที่เล็กลงไป โดยยึดถือหลักว่า คนในพื้นที่คือคนที่รู้ปัญหา รู้ความต้องการของประชาชนมากที่สุด รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่จะมาบริหารจัดการ ให้บริการสาธารณะอย่างไร

แต่เจตนารมณ์-อุดมการณ์ ประชาธิปัตย์ เดินผ่านช่วงเวลามาร่วม 70 ปี บางอย่างสำเร็จแล้ว บางอย่างอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และยังจะเดินหน้าให้เกิดการกระจายอำนาจเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่ปัญหาใหญ่คือ 'ห่วงอำนาจ' รัฐบาลกลางยังไม่จริงจัง จริงใจกับการกนะจายอำนาจ เพราะกลับ 'สูญเสียอำนาจ' โดยเฉพาะกระทรวงใหม่ สายอำมาตย์ อย่างกระทรวงมหาดไทย ยังกวดอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย

นี้คืออุปสรรคใหญ่ของการกระจายอำนาจ ในยุคที่ 'นิพนธ์ บุญญามณี' เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และถือว่าเป็นผู้รู้เรื่องกระจายอำนาจ รู้เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดคนหนึ่ง ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้กำกับ-ดูแล กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรีว่าการฯกอดอำนาจไว้แน่น

ผลักให้นิพนธ์ไปดูกรมที่ดิน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย แต่คำว่านักการเมือง ไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็สามารถคิดงานคิดการขึ้นมาได้ 'นิพนธ์' จึงเป็นที่ยอมรับในผลงานในช่วงสามปีกว่า ๆ ในกระทรวงมหาดไทย

หากย้อนกลับไปดูเรื่องการ กระจายอำนาจจะพบผลงานมากมายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากเดิมที่บริหาร-ดูแล โดยกำนัน เป็นนายกฯอบต.โดยตำแหน่ง ทำงานทั้งการพัฒนา และความสงบเรียบร้อย แม้ช่วงแรก ๆ จะมีอุปสรรค มีปัญหา มีข้อครหา แต่เวลาผ่านพ้นไป จะเป็นบทพิสูจน์ และกลั่นกรองคนเข้าสู่ระบบผ่านการเลือกตั้ง วันนี้ อบต.เริ่มก้าวข้ามคำว่า ผู้บริหารมาจากผู้รับเหมา มาจากผู้มีอิทธิพล เริ่มมีคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง กลับบ้านไปรับใช้บ้านเกิดมากขึ้น เกิดโครงการ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย แต่คำว่า อบต.ก็ยังต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนต่อไปอีกมาก เพื่อก้าวผ่านข้อครหา 'กินหัวคิว-กินเปอร์เซ็นต์' ไปให้ได้ แล้วเราจะเห็นแสงสว่างสดใสมากขึ้น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง 

การยกฐานะสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาลทั่วประเทศ การให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน แทนที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกสองใบ หรือให้สมาชิกซาวเสียงกันเองเลือกนายกฯอบจ.

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นผลงานการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้ผู้ว่าฯต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีสภาฯกทม.(สก.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาเขต (สข.)เป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯมาแล้วหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น 'อภิรักษ์ โกษะโยธิน' หรือ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาธิปัตย์ โดย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะพ่ายให้กับ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' แต่คะแนนก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ไล่มาอยู่ลำดับ 2 

ถามว่าการจายอำนาจจะเดินไปถึงจุดไหน พรรคการเมืองบางพรรค อย่างพรรคก้าวไกล เสนอแบบสุดขั้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิกนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเสนอเป็นนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชจังหวัดทุกจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่มาคราวนี้น่าจะเสนอในรูปแบบของ 'จังหวัดจัดการตนเอง' จังหวัดไหนพร้อมก็ยกฐานะขึ้นมา เช่น ภูเก็ต-เมืองท่องเที่ยว เหมือนกับพัทยา และเชียงใหม่-น่าน สมุทรปราการ เมืองอุตสาหกรรม-เมืองการบิน ระยอง-เมืองอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น เป็นการทดลองการจัดการตนเอง อันเป็นแนวคิดค่อยเป็นค่อยไป

การเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิด 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' ก็ยังแค่เสนอให้ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม ลง ส่วนเพิ่มอำนาจประชาชนจะทำอย่างไร ยังอธิบายไม่ชัด

ก้าวไกลเสนอเลือกตั้งนายกจังหวัด (26 พ.ย. 65)
เพื่อไทยเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในทุกจังหวัดที่พร้อม (6 ธ.ค. 65)
รูปธรรมกว่านั้นคือ ในปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ ส่วนก้าวไกลมีนโยบายจัดทำประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 4 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ส่วนกลางต้องแบ่งสรรให้ท้องถิ่นจากไม่เกิน 30% เป็นไม่น้อยกว่า 35% เป็นต้น

น่าเสียดายพรรคพลังท้องถิ่นไทย มี ส.ส.ในสภา มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มี ส.ส.ที่มาจากการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนจริงจังกับการกระจายอำนาจ

นึกย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 13 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ตอนนั้นมีอย่างน้อย 4 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม, พรรคความหวังใหม่ และพรรคเอกภาพ ส่วนหนึ่งเสนอในเชิงยุทธการวิธีหาเสียง เพราะเชื่อว่าประชาชนจะให้การสนับสนุน ทว่า เมื่อทั้ง 4 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว นโยบายนี้ก็หายไปจากนโยบายของรัฐบาล โดยพรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคความหวังใหม่เห็นว่านั่นเป็นเพียงนโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปี 2563 มาจนถึงกลางปี 2565 ไล่ตั้งแต่ อบจ. เทศบาล อบต. มาจนถึงเมืองพัทยา และ กทม. ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเชิงของการพัฒนาพื้นที่ได้ ใช่ว่าผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ไม่มีศักยภาพ แต่เป็นเพราะบทบาทอำนาจท้องถิ่นมีจำกัด งานสำคัญๆ ยังคงถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง แม้แต่ กทม.เองที่ได้ชื่อว่าเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็ยังทำอะไรได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่น ถ้าเห็นว่าประชาชนเริ่มตระหนักและเข้าใจถึงปัญหากันมากขึ้น การกระจายอำนาจกลายเป็นประเด็นที่ขายได้ และมีคนพร้อมซื้อ พรรคการเมืองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแสดงท่าทีของตนออกมา ซึ่งต้องตรงไปตรงมากว่าการเลือกตั้งหนก่อน

‘พท.’ เสนอ ยกเครื่อง คกก. จัดสรรบุคลากร-งบประมาณท้องถิ่น แก้ปัญหาการกระจายอำนาจไทย หลังถดถอยสุดในรอบ 25 ปี

(11 เม.ย. 66) เฟซบุ๊กแฟนเพจหลักของ ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ โดยมีเนื้อหาระบุว่า…

“สังคมไทยกำลังต้องการการกระจายอำนาจอย่างมาก เราพบว่า 9 ปีมานี้ การกระจายอำนาจของประเทศไทยถอยหลังที่สุดในรอบ 25 ปี คำถามคือปัญหาคืออะไรและเราจะต้องแก้อย่างไร”

ส่วนหนึ่งจากการเสวนาของ จาตุรนต์ ฉายแสง คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย และผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในงานสัมมนาหัวข้อ ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ร่วมกับตัวแทนพรรคการเมืองอื่นรวม 8 พรรค ที่โรงแรมไฮเอท รีเจนซี่ กรุงเทพ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2566 

จาตุรนต์ ฉายแสง เริ่มต้นกล่าวว่า การพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ ก็คือการพูดวางบทบาทของรัฐบาลส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นว่าจะวางบทบาทอย่างไรให้เหมาะสม เพราะโลกปัจจุบันมีเรื่องใหญ่มาก ๆ ที่รัฐบาลต้องทำ ซึ่งมีทั้งทำไม่ทัน และทำทันแต่ทำได้ไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องมายืนบนหลักการให้ได้ว่า รัฐบาลหรือส่วนกลาง จะต้องไม่ไปแย่งงานท้องถิ่นหรือไปทำงานแทนท้องถิ่น

ประเทศไทยเพิ่งผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุด คือ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และกำลังดำเนินเข้าสู่การเลือกตั้งใหญ่ทั่วไปอีกไม่นาน ภายหลังการยึดอำนาจเมื่อปี 2557 ซึ่งการยึดอำนาจทุกครั้งทำให้การกระจายอำนาจถอยหลังเข้าคลอง อยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก พูดไม่ได้ขยับไม่ไป พูดไม่ดีถูกปลดถูกจับติดคุก

[ปัญหาของการกระจายอำนาจที่ผ่านมา]
ภายหลังการยึดอำนาจมา 9 ปี แต่การกระจายอำนาจประเทศไทยถอยหลังไป 25 ปี คำถามคือ ปัญหาคืออะไรและแก้ไขอย่างไร

1.) การกำกับควบคุม
พบว่า มีการกำกับควบคุมจากส่วนกลางเต็มไปหมด โดยเฉพาะคำสั่ง คสช. ซึ่งคำสั่งของ คสช.ครอบท้องถิ่นไปจนถึงแม้แต่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย เขาขาดคนแต่ไม่แต่งตั้งคนทำงานให้ ดังนั้น การแต่งตั้งโยกย้ายความจริงต้องทำให้ท้องถิ่นมีบทบาทมากขึ้น สามารถที่จะดูว่าจะได้บุคลากรอย่างไรสอดคล้องกับท้องถิ่น และทำให้เส้นทางความก้าวหน้าของข้าราชการส่วนท้องถิ่นเขามีที่จะไปได้ทั่วประเทศ เรื่องนี้จำเป็นจะต้องมีความสมดุล

2.) เรื่องงาน และการถ่ายโอนภารกิจ
งานที่ท้องถิ่นต้องทำมีทั้งเรื่อง Reskill-Upskill เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ที่เป็นสมัยใหม่ หรือส่งเสริมนวัตกรรมฝึกอาชีพ ซึ่งถ้าทำกันจริง ๆ สตง.ก็จะบอกว่าทำไม่ได้ เพราะคณะกรรมการกระจายอำนาจไม่ได้แบ่งหน้าที่ไว้ให้เขา เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องทำให้มันเกิดความชัดเจน เมืองสมัยใหม่ต้องการการพัฒนา ทางพรรคเพื่อไทยก็คิดว่าจังหวัดไหนต้องการจังหวัดจัดการตนเอง เราจะส่งเสริมจังหวัดที่มีความพร้อมมีเงื่อนไขที่เหมาะสม เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนำร่องประมาณ 4-5 จังหวัด ยกฐานะองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ทั่วประเทศให้เป็นเทศบาลตำบล

3.) เรื่องเงินรายได้
9 ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นได้เงินจากงบประมาณไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่จัดรายได้ให้สอดคล้องกับภารกิจ มีแต่งาน แต่ไม่มีงบประมาณจ่ายมา และกลายเป็นท้องถิ่นไม่ได้ทำในสิ่งที่ท้องถิ่นหรือประชาชนต้องการ ทำได้แต่งานที่ส่วนกลางหรือรัฐบาลฝากทำ และที่หนักสุดคือ งบท้องถิ่น ท้องถิ่นควรได้เป็นคนพิจารณา แต่กลับเอาไปให้สภาผู้แทนพิจารณาแทน ซึ่งผิดหน้าที่ ดังนั้น ต้องเพิ่มงบท้องถิ่นให้ร้อยละ 35 ภายใน 2 ปีงบประมาณ และยกเลิกงานฝากจากส่วนกลางออกไปจากบัญชีท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้ตัวเองไปใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนได้

‘นิพนธ์’ แนะ กระจายอำนาจ หนุนท้องถิ่นมีส่วนร่วมทางการเมือง เชื่อมั่น!! “เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง”

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 66 นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมเวทีเสวนา การติดตามนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง หัวข้อ ‘ท้องถิ่นมั่งคั่ง ประเทศมั่นคง’ ในการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1/2566 ประจำปี พ.ศ.2566 ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2566 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อาคาร 2 อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี โดยมีผู้แทนจาก พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคก้าวไกล พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย สมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับฟังจำนวนมาก

นายนิพนธ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า การทำงานของถิ่นในบางภารกิจยังมีอุปสรรคในการบริหาร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้การสนับสนุน และแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินการภายใต้กติกาที่กำหนดไว้ เพื่อให้งานเดินต่อไปได้และไม่เกิดปัญหาภายหลัง

สำหรับเรื่องจัดเก็บภาษีนั้น ก็ควรมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีพร้อมทั้งพิจารณาจัดเก็บฐานภาษีอื่นๆ เพิ่มเติมที่ทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มมากขึ้นสามารถนำมาพัฒนาพื้นที่รับผิดชอบ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ประชาชน

ในส่วนความคืบหน้าเรื่องกระจายอำนาจ ในขณะนี้อยู่ในแผนที่ 3 แต่ขณะเดียวกัน แผนที่ 1 และ 2 ก็ยังถ่ายโอนไม่หมด ซึ่งควรพิจารณาว่าภารกิจใดที่ท้องถิ่นทำได้ก็ให้เร่งรัดถ่ายโอนภารกิจและงบประมาณพร้อมบุคลากรให้ท้องถิ่นได้ดำเนินการ เพราะการถ่ายโอนภารกิจใดไปและดำเนินการไม่ได้อาจจะถูกดึงภารกิจกลับ ซึ่งเรื่องกระจายอำนาจนั้นสามารถทำได้ทันทีโดยนายกรัฐมนตรี ต้องนั่งเป็นประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ กำหนดนโยบายการถ่ายโอนภาระกิจ ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

นายนิพนธ์ยังกล่าวด้วยว่า การป้องกันการทุจริต ปัจจุบันมีการพัฒนาในกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนการตรวจรับงานจ้าง รวมถึงการสร้างความโปร่งใสในการบริหารงานท้องถิ่น ดังนั้น จึงไม่ควรนำเรื่องทุจริตมาปิดกั้นการกระจายอำนาจ เพราะการกระจายอำนาจ คือการสร้างการมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชนได้ดีที่สุด และเชื่อมั่นว่า “เมื่อท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็เข้มแข็ง”
 

'สรรเพชญ' ซัด!! เหตุใด 'การกระจายอำนาจ' หลุดผังวาระประชุม กระทุ้ง!! หากยิ่งช้ายิ่งทำให้แผนปฏิรูปประเทศหลากด้านสะดุด

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.66 ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายรับทราบรายงานความคืบหน้าในแผนการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญฯ ครั้งที่ 18 (เดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565)

นายสรรเพชญ ได้กล่าวว่า การรายงานแผนการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ เป็นการรายงานรอบสุดท้าย เนื่องจากระยะเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศในครั้งนี้ได้สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยนายสรรเพชญ ได้ถามถึงแผนการกระจายอำนาจในแผนการปฏิรูปประเทศ เนื่องจากไม่ปรากฎในรายงานที่เสนอต่อที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงได้เสนอแนะหัวใจของการกระจายอำนาจ ที่ต้องกระจายทั้งงบประมาณและทรัพยากรที่เพียงพอควบคู่กับความพร้อมของพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พร้อมทั้งยังได้หยิบยกประเด็น 'ความล่าช้าของโครงการก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ จ.สงขลา' ที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ ใช้เวลาก่อสร้างนานกว่า 15 ปี ใช้งบประมาณแผ่นดินสูงถึง 1,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการผลาญเงินภาษีของประชาชนกว่าวันละ 70,000 บาท โดยกรณีนี้นายสรรเพชญ กล่าวว่า เป็นการสะท้อนถึงความต้องการในการปฏิรูปประเทศหลายด้าน ทั้งด้านกฎหมาย ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งในอนาคต นายสรรเพชญ เตรียมการอภิปรายในประเด็นนี้ ให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาการก่อสร้างอควาเรียมหอยสังข์ฯ ต่อไป

เมื่อกล่าวถึงประเด็นในการปฏิรูปด้านกฎหมาย นายสรรเพชญ กล่าวว่า การปฏิรูปกฎหมายมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้เนื่องจากตามแผนจะปฏิรูปกฎหมาย 45 ฉบับ แต่ครบระยะเวลาตามกรอบ 5 ปี กลับทำสำเร็จ 10 ฉบับ "ท่านตั้งเป้าหมายไว้ถึง 45 ฉบับ แต่ทำจริงได้เพียง 10 ฉบับในกรอบระยะเวลาที่เรียกว่า Deadline หรือหมดเวลากำหนดส่งอย่างนี้ หากตนเป็นนักเรียนอยู่ ป่านนี้ผมเตรียมตัวได้เกรด F พร้อมไข่ต้มกลับไปกินที่บ้าน"

'ชัชชาติ' เล็งกระจายอำนาจบริหารจัดการจราจรให้ท้องถิ่น รวมศูนย์ 'ถนน-ทางเท้า-ต่อใบขับขี่-บังคับใช้กฎหมาย'

(1 ก.ย.66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับ นายเลอพงศ์ ลิ้มรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการภารกิจก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนและสะพาน สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (สปถ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ ว่า...

วันนี้เป็นหารือร่วมกับคณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางการถ่ายโอนภารกิจวิศวกรรมจราจรให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกระจายอำนาจ โดยเฉพาะประเด็นของเรื่องการจราจร จริงๆ แล้วสำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ มีแผนปฏิบัติการมา 2 แผนแล้ว หลายเรื่องก็ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น เรื่อง ตำรวจดับเพลิง ซึ่งก็ทำให้เรามีอำนาจในการบริการประชาชนที่มากขึ้น แต่เรื่องการจราจรยังมีหลายประเด็นซึ่งเป็นข้อที่ยังไม่ ปฏิบัติอยู่ ตัวอย่างเช่น ในถนน 1 เส้น กทม.ก็ดูบนฟุตปาธ ทางเท้า แต่บนถนนก็เป็นเรื่องของตำรวจจราจร การต่อใบอนุญาตใบขับขี่ก็เป็นของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งหากต้องมีการแก้ปัญหา บางครั้งอาจจะมีข้อที่ต้องประสานงานกันค่อนข้างเยอะ 

หากเป็นไปได้การกระจายอำนาจมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดูแล ก็จะทำให้การบริหารจัดการและการจราจร อาจจะสะดวกมากขึ้น วันนี้เป็นการอัปเดต เรื่องข้อมูลต่าง ๆ และพิจารณาถึงความพร้อมของกทม. ด้วย จริง ๆ แล้ว การกระจายอำนาจ หัวใจสำคัญอันหนึ่ง นอกเหนือจากแผนแล้ว คือความพร้อมของฝ่ายรับ ถ้าฝ่ายรับไม่พร้อมก็จะทำให้การดำเนินการ ลำบากที่จะสร้างความไว้วางใจในการถ่ายโอนอำนาจมา รวมทั้งเป็นการอัปเดตกันว่า เราทำงานมาปีกว่า ๆ การจราจรเป็นเรื่องใหญ่ที่เราเองก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด เพราะมีหลายหน่วยงานร่วมดูแล รวมทั้งสรุปแผน 2 ที่เขียนไว้ว่ามีตรงไหนที่อาจจะอัปเดตใหม่ เพื่อจะได้นำไปใส่ในแผน 3 ขณะเดียวกันก็ต้องดูความพร้อมของตัวเอง ถ้าให้เราดูเรื่องการจราจร เรื่อง การควบคุมสัญญาณไฟ เราพร้อมไหม นำเทคโนโลยีมาช่วยอย่างไร หรือให้ดูเรื่องการจดทะเบียนรถ การจัดเรื่องที่จอดรถจะพร้อมหรือไม่

"การกระจายอำนาจถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นหัวใจของของระบอบประชาธิปไตย ที่จะกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมากขึ้นในส่วนที่ตัวเองพร้อม หากการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นเนื้อเดียวกัน การบังคับใช้กฎหมาย และการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ก็น่าจะสะดวกขึ้น" ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

การประชุมวันนี้ รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการโยธา สำนักการระบายน้ำ สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องนพรัตน์ ชั้น 5 ศาลาว่าการกทม. (เสาชิงช้า)


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top