กระจายอำนาจท้องถิ่นในแบบ ‘ปชป.’ ยืนหยัด ต้องให้จังหวัดจัดการตนเอง

ประชาธิปัตย์กับการกระจายอำนาจ ; จังหวัดจัดการตนเอง

ถ้าย้อนกลับไปพิจารณาเจตนารมณ์ อุดมการณ์ ตั้งแต่ต้นของพรรคประชาธิปัตย์ โดย 'ควง อภัยวงค์' ผู้ก่อตั้งพรรค จะพบเจตนารมณ์ 10 ข้อ ที่ประกาศต่อสาธารณะ และถือเป็นเจตนารมณ์-อุดมการณ์ ที่ยังทันสมัย และใช้ได้ หนึ่งในนั้น คือเรื่องการกระจายอำนาจ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการในระดับพื้นที่ที่เล็กลงไป โดยยึดถือหลักว่า คนในพื้นที่คือคนที่รู้ปัญหา รู้ความต้องการของประชาชนมากที่สุด รู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีทรัพยากรธรรมชาติอะไรที่จะมาบริหารจัดการ ให้บริการสาธารณะอย่างไร

แต่เจตนารมณ์-อุดมการณ์ ประชาธิปัตย์ เดินผ่านช่วงเวลามาร่วม 70 ปี บางอย่างสำเร็จแล้ว บางอย่างอยู่ระหว่างการผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และยังจะเดินหน้าให้เกิดการกระจายอำนาจเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แต่ปัญหาใหญ่คือ 'ห่วงอำนาจ' รัฐบาลกลางยังไม่จริงจัง จริงใจกับการกนะจายอำนาจ เพราะกลับ 'สูญเสียอำนาจ' โดยเฉพาะกระทรวงใหม่ สายอำมาตย์ อย่างกระทรวงมหาดไทย ยังกวดอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ยอมปล่อย

นี้คืออุปสรรคใหญ่ของการกระจายอำนาจ ในยุคที่ 'นิพนธ์ บุญญามณี' เข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยมหาดไทย และถือว่าเป็นผู้รู้เรื่องกระจายอำนาจ รู้เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นมากที่สุดคนหนึ่ง ก็ยังถูกกีดกันไม่ให้กำกับ-ดูแล กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐมนตรีว่าการฯกอดอำนาจไว้แน่น

ผลักให้นิพนธ์ไปดูกรมที่ดิน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย แต่คำว่านักการเมือง ไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็สามารถคิดงานคิดการขึ้นมาได้ 'นิพนธ์' จึงเป็นที่ยอมรับในผลงานในช่วงสามปีกว่า ๆ ในกระทรวงมหาดไทย

หากย้อนกลับไปดูเรื่องการ กระจายอำนาจจะพบผลงานมากมายของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันให้ออกพระราชบัญญัติระเบียบบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จากเดิมที่บริหาร-ดูแล โดยกำนัน เป็นนายกฯอบต.โดยตำแหน่ง ทำงานทั้งการพัฒนา และความสงบเรียบร้อย แม้ช่วงแรก ๆ จะมีอุปสรรค มีปัญหา มีข้อครหา แต่เวลาผ่านพ้นไป จะเป็นบทพิสูจน์ และกลั่นกรองคนเข้าสู่ระบบผ่านการเลือกตั้ง วันนี้ อบต.เริ่มก้าวข้ามคำว่า ผู้บริหารมาจากผู้รับเหมา มาจากผู้มีอิทธิพล เริ่มมีคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาสูง กลับบ้านไปรับใช้บ้านเกิดมากขึ้น เกิดโครงการ เกิดนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมากมาย แต่คำว่า อบต.ก็ยังต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนต่อไปอีกมาก เพื่อก้าวผ่านข้อครหา 'กินหัวคิว-กินเปอร์เซ็นต์' ไปให้ได้ แล้วเราจะเห็นแสงสว่างสดใสมากขึ้น รัฐบาลเองก็มีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนให้องค์กรท้องถิ่นเข้มแข็ง 

การยกฐานะสุขาภิบาลมาเป็นเทศบาลทั่วประเทศ การให้นายกฯอบจ.มาจากการเลือกตั้ง โดยตรงของประชาชน แทนที่จะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสวมหมวกสองใบ หรือให้สมาชิกซาวเสียงกันเองเลือกนายกฯอบจ.

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นผลงานการผลักดันของพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยการยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ที่กำหนดให้ผู้ว่าฯต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน มีสภาฯกทม.(สก.) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกสภาเขต (สข.)เป็นที่ปรึกษาของ ผอ.เขต ผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯมาแล้วหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็น 'อภิรักษ์ โกษะโยธิน' หรือ มรว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร แม้การเลือกตั้งครั้งล่าสุด ประชาธิปัตย์ โดย ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะพ่ายให้กับ 'ชัชชาติ สิทธิพันธุ์' แต่คะแนนก็ไม่ได้น่าเกลียดอะไร ไล่มาอยู่ลำดับ 2 

ถามว่าการจายอำนาจจะเดินไปถึงจุดไหน พรรคการเมืองบางพรรค อย่างพรรคก้าวไกล เสนอแบบสุดขั้ว ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิกนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคด้วย พรรคประชาธิปัตย์ก็เคยเสนอเป็นนโยบายให้เลือกตั้งผู้ว่าราชจังหวัดทุกจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่มาคราวนี้น่าจะเสนอในรูปแบบของ 'จังหวัดจัดการตนเอง' จังหวัดไหนพร้อมก็ยกฐานะขึ้นมา เช่น ภูเก็ต-เมืองท่องเที่ยว เหมือนกับพัทยา และเชียงใหม่-น่าน สมุทรปราการ เมืองอุตสาหกรรม-เมืองการบิน ระยอง-เมืองอุตสาหกรรม-ท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นต้น เป็นการทดลองการจัดการตนเอง อันเป็นแนวคิดค่อยเป็นค่อยไป

การเลือกตั้งครั้งปี 2562 พรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิด 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' ก็ยังแค่เสนอให้ลดจำนวนกระทรวง ทบวง กรม ลง ส่วนเพิ่มอำนาจประชาชนจะทำอย่างไร ยังอธิบายไม่ชัด

ก้าวไกลเสนอเลือกตั้งนายกจังหวัด (26 พ.ย. 65)
เพื่อไทยเสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในทุกจังหวัดที่พร้อม (6 ธ.ค. 65)
รูปธรรมกว่านั้นคือ ในปี 2570 เพื่อไทยตั้งเป้ากระจายอำนาจจากโรงพยาบาลของรัฐไปยังท้องถิ่นในรูปแบบองค์การมหาชน หรือกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการ ส่วนก้าวไกลมีนโยบายจัดทำประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และภายใน 4 ปีจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่ส่วนกลางต้องแบ่งสรรให้ท้องถิ่นจากไม่เกิน 30% เป็นไม่น้อยกว่า 35% เป็นต้น

น่าเสียดายพรรคพลังท้องถิ่นไทย มี ส.ส.ในสภา มีอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่น มี ส.ส.ที่มาจากการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ได้ขับเคลื่อนจริงจังกับการกระจายอำนาจ

นึกย้อนไปในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 13 กันยายน 2535 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์ ‘พฤษภาทมิฬ’ ตอนนั้นมีอย่างน้อย 4 พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่มีความพร้อม ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์, พรรคพลังธรรม, พรรคความหวังใหม่ และพรรคเอกภาพ ส่วนหนึ่งเสนอในเชิงยุทธการวิธีหาเสียง เพราะเชื่อว่าประชาชนจะให้การสนับสนุน ทว่า เมื่อทั้ง 4 พรรคมาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้ว นโยบายนี้ก็หายไปจากนโยบายของรัฐบาล โดยพรรคแกนนำอย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคความหวังใหม่เห็นว่านั่นเป็นเพียงนโยบายพรรคการเมือง ไม่ใช่นโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนับแต่ช่วงปลายปี 2563 มาจนถึงกลางปี 2565 ไล่ตั้งแต่ อบจ. เทศบาล อบต. มาจนถึงเมืองพัทยา และ กทม. ผู้บริหารท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งเข้าไปไม่สามารถนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเชิงของการพัฒนาพื้นที่ได้ ใช่ว่าผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ไม่มีศักยภาพ แต่เป็นเพราะบทบาทอำนาจท้องถิ่นมีจำกัด งานสำคัญๆ ยังคงถูกรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง แม้แต่ กทม.เองที่ได้ชื่อว่าเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษก็ยังทำอะไรได้น้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่น ถ้าเห็นว่าประชาชนเริ่มตระหนักและเข้าใจถึงปัญหากันมากขึ้น การกระจายอำนาจกลายเป็นประเด็นที่ขายได้ และมีคนพร้อมซื้อ พรรคการเมืองจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องแสดงท่าทีของตนออกมา ซึ่งต้องตรงไปตรงมากว่าการเลือกตั้งหนก่อน

ในการเลือกตั้งปี 2562 ประเด็นเรื่องการกระจายอำนาจยังไม่ใช่วาระสำคัญเท่าที่ควรเป็น แม้หลายพรรคก็เขียนถึงนโยบายกระจายอำนาจ แต่ในสายตาสื่อหลักยังมองไม่เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ (เทียบเท่าปัญหาอื่น โดยเฉพาะเรื่องปากท้องที่เป็นนโยบายเศรษฐกิจ) มันจึงถูกทำให้หายไปดื้อๆ

การกระจายอำนาจ (ถ่ายโอนภารกิจ)ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบและขั้นตอนในการกระจายอำนาจ ชัดเจนว่า ต้องถ่ายโอนภารกิจอะไรจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นบ้าง 245 ภารกิจ แต่จนถึงทุกวันนี้ 245 ภารกิจยังถ่ายโอนไม่แล้วเสร็จ อันเกิดจากการ “หวงอำนาจ” ของรัฐบาลกลาง บางหน่วยงานถูกยกระดับ เปลี่ยนชื่อเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการถ่ายโอน

รัฐบาล หรือพรรคการเมือง ควรมีนโยบายเกี่ยวกับการกนะจายอำนาจให้ชัดเจน

1. ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองทางตรงของประชาชน ในกระบวนการนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ

2. ส่งเสริมให้มีการลดบทบาทราชการส่วนภูมิภาคลง เพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3. ลดระบบราชการส่วนกลางให้มีขนาดเล็กลง เพิ่มกำลังคน งบประมาณ เครื่องไม้เครื่องมือไปยังท้องถิ่น

4. คืนอำนาจการจัดการตนเองให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการกันเอง

5. ผลักดันกฎหมายเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองในทุกระดับ

ถ้าพรรคไหนยังหวังการสนับสนุนจากข้าราชการส่วนกลาง/ส่วนภูมิภาค/ส่วนท้องถิ่น คงไม่กล้าหาเสียงเช่นนี้แน่ เพราะจากข้อมูลปี 2563 มีข้าราชการสังกัดหน่วยบริหารราชการส่วนกลางจำนวน 815,680 คน คิดแล้วเกือบร้อยละ 60 ในบรรดาข้าราชการพลเรือนทั้งหมด มีข้าราชการสังกัดหน่วยบริหารราชการส่วนภูมิภาคจำนวน 295,312 คน (21.69%) ขณะที่ข้าราชการสังกัดหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่นมีจำนวนเพียง 250,670 คน (18.41%) มีกำนัน 7,036 คน ผู้ใหญ่บ้าน 67,619 คน แพทย์ประจำตำบล 7,036 คน สารวัตรกำนัน 14,072 คน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 194,491 คน

แต่ความเป็นพรรคการเมืองต้องมีความกล้าพอที่จะเสนอความแตกต่าง และเป็นไปได้ แต่พรรคการเมืองโดยส่วนมากมักเสนอคล้ายกัน หลัก ๆ ไม่พ้นนโยบายการเพิ่มงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนโยบายการถ่ายโอนภารกิจ/บุคลากรไปให้ท้องถิ่น

นโยบายที่ฉีกออกไป เช่น พรรคประชาธิปัตย์เสนอให้จัดตั้งจังหวัดจัดการตนเอง, พรรคภูมิใจไทยชูบุรีรัมย์โมเดลเป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองทั่วประเทศ, เพื่อไทยเรียกร้องให้เปลี่ยนบทบาทภาครัฐจากผู้ปฏิบัติ-ควบคุมมาสนับสนุน และอำนวยความสะดวก 

การกระจายอำนาจจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคการเมืองจะต้องนำมาชูในการเลือกตั้งครั้งหน้า อยู่ที่ว่าใครจะกล้าหาญพอ เสนอสิ่งที่แตกต่าง เป็นไปได้ มานำเสนอ และจะได้รับเสียงตอบรับที่ดี

แต่เชื่อว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าเรื่องกระจายอำนาจ จะเป็นเพียงนโยบายรองในการหาเสียง นโยบายหลัก คงเน้นเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง ลดความเหลื่อมล้ำเป็นหลัก


เรื่อง : นายหัวไทร