บทบาทยังไม่จบ เจตจำนงจาก APEC 2022 ต้องไม่เลือนหาย ความท้าทายที่รัฐบาลไทยต้องดันซ้ำสู่ปีต่อๆ ไป

ย้อนไปเมื่อ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐ ใจกลางกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้มีการจัดงานเลี้ยง US-Asia Institute 2022 Capitol Hill Reception: A Tribute to Special Supporters + Celebrating US Chairmanship of APEC 2023 เพื่อเป็นการต้อนรับวาระที่สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้รับไม้ต่อจากประเทศไทยในการเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้องตลอดปี 2023 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหน้าที่ของประเทศไทย รัฐบาลไทย และภาคเอกชนไทย จะสิ้นสุดลง และเราสามารถผลักความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้สหรัฐฯ ขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นเป้าหมายกรุงเทพฯ ได้โดยไม่ต้องทำอะไร 

หากแต่ประเทศไทยยังคงต้องแสดงความจริงใจ และดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ ที่ไทยแจ้งต่อที่ประชุม APEC 2022 ว่าเป็นวาระสำคัญของโลกต่อไป เพราะต้องอย่าลืมว่าการประชุม APEC มีลักษณะเป็น Concerted Unilateralism นั่นหมายความว่า ผลการประชุม APEC มิได้เป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพัน หากแต่เป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันของผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ว่าเห็นพ้องต้องการที่จะขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ดังที่แถลงการณ์ร่วมกันเอาไว้ในการประชุมที่กรุงเทพ

แน่นอนว่า ในแถลงการณ์ร่วมในปี 2023 และในฉบับของปีต่อๆ ไป ก็จะมีการอ้างถึง Bangkok’s Goal 2022 เช่นเดียวกับที่ก็จะมีการอ้างถึง APEC Putrajaya Vision 2040 ที่เสนอโดยมาเลเซียในปี 2020 และ Aotearoa Plan of Action ที่เสนอโดยนิวซีแลนด์ในปี 2021 

เรื่องสำคัญประการแรกที่ไทยคงต้องเฝ้าระวัง คือ คอยสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกเขตเศรษฐกิจยังคงต้องร่วมกันเดินหน้าอย่างจริงจัง นั่นคือ แผนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ที่ถูกวางเอาไว้ในระยะ 4 ปีต่อจากนี้ เขตการค้าเสรีของ 21 เขตเศรษฐกิจ ประชากรกว่า 3 พันล้านคน และเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจของโลก จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานของโลกที่กำลังซัดส่ายจากสงครามการค้า รวมทั้งจะเป็นตัวเร่งการฟื้นตัวจากภาวะซึมเซาในช่วงโควิด-19 ไทยคงต้องเร่งสนับสนุนผลักดันในทุกเวทีให้มีการเร่งดำเนินการตามแผนที่วางเอาไว้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปี 2023 มีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนแนวคิดการค้าเสรีอีกต่อไป

ประการที่ 2 ที่ไทยต้องเร่งผลักดันทั้งในเวทีระหว่างประเทศ และในเวทีภายในประเทศ นั่นคือ แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งประกาศไว้อย่างชัดเจนใน เป้าหมายกรุงเทพฯ ความห่วงกังวลคือ ถ้าประเทศไทยเรานำเสนอเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยเราเองกลับมีความขัดแย้งทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนทำให้ไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่ประเทศไทยเองนำเสนอว่า นี่คือสิ่งที่ดี นี่คือสิ่งที่ถูกต้องในเวทีโลก นั่นก็เท่ากับ เราเองทำลายผลงานของเราด้วยตนเอง ดังนั้นความต่อเนื่องในมิติ กำลังคน งบประมาณ และการสนับสนุนด้านงบประมาณ ที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของแนวร่วมใดที่ขึ้นมามีอำนาจที่ต้องร่วมกันผลักดันวาระ BCG Model ต่อเนื่องในเวทีโลกจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ในขณะที่ภาคเอกชนเองก็ยังคงมีอีกหลากหลายประเด็นที่ยังคงต้องเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องผ่าน APEC Business Advisory Council (ABAC) โดยเฉพาะความพยายามในการให้ผู้ประกอบการขนาดจิ๋ว ขนาดเล็ก และขนาดกลาง สามารถเดินทางไปทำธุรกิจในเขตเศรษฐกิจสมาชิกได้โดยไม่มีอุปสรรคผ่านการถือ บัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ที่ควรจะต้องเปิดกว้าง เสรี และสะดวกมากยิ่งขึ้น (ที่ผ่านมาอุปสรรคอยู่ที่สหรัฐ และแคนาดา ยังไม่ยอมให้ผู้ถือบัตรเดินทางเข้าออกประเทศได้โดยไม่ต้องใช้วิซ่า) ร่วมกับการสร้างรูปธรรมจากข้อเสนอแนะที่เสนอไว้ โดยเฉพาะ การขับเคลื่อนภาคเอกชนให้ดำเนินธุรกิจบนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน การเดินหน้าไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และการขยายโอกาสในการสร้างธุรกิจที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เช่นเดียวกับที่ประชาชนไทยทุกคน ที่ยังคงต้องเป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้อนรับการมาเยือนของนักเดินทาง และนักธุรกิจ ที่แน่นอนว่า จะหลั่งไหลเข้ามาเยี่ยมเยือนประเทศไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป เนื่องจากตลอดทั้งปี 2022 ที่ผ่านมา การประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้องที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี ทั่วประเทศไทย ได้ถูกนำเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ทั่วโลก และไปเร้าความรู้สึกอยากเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยให้กับนักเดินทางทั่วโลก ไม่เพียงแต่เฉพาะนักเดินทางจาก 21 เขตเศรษฐกิจ APEC 

ดังนั้นการเป็นเจ้าภาพที่ดีของเจ้าบ้านชาวไทย จะทำให้ผลที่ได้รับจาก APEC 2022 ยังคงดำรงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน


เรื่อง : รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย