Monday, 13 May 2024
COLUMNIST

“เมื่อ...เลือกทำในสิ่งที่รัก ไม่ใช่สิ่งที่เรียนมา”

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ประโยคที่ทุกคนในวัยเด็กต้องผ่านการตอบคำถามนี้ ประกอบกับท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และจนถึงวันนี้ที่เราต้องอยู่ในสภาวะปกติใหม่ (New Normal) ทำให้อาชีพทุกวันนี้ หลากหลายและมีทางเลือกมากขึ้น บางคนได้ทำในสิ่งที่เรียนมาตรงสาย บางคนอาจจะค้นพบตัวเองหลังจากที่เรียนจบแล้ว ในความเป็นจริงไม่มีสูตรตายตัวสำหรับโลกของการทำงาน

แต่เราต้องทำตัวเองให้พร้อม เพื่อจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ศิลปิน ดารา นักแสดงหลาย ๆ คน ก็ไม่ได้เรียนมาทางนิเทศศาสตร์ แต่ผันตัวเองมาสู่การทำงานในวงการบันเทิง เช่น โดม จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม จบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์

แต่ด้วยความรักในเสียงเพลง ทำให้โดม ก็มุ่งมั่นงานวงการบันเทิง จนปัจจุบันเปิดค่ายเพลงเป็นของตัวเองกับค่าย LIT ENTERTAINMENT ปั้นเด็กใหม่ให้วงการ T-POP แม้เจ้าตัวจะไม่ได้เรียนทางสายดนตรีมา แต่เก็บเกี่ยวจากประสบการณ์การทำงานมาใช้ในการบริการค่ายเพลง และยังได้นำความรู้จากตอนเรียนมาช่วยเรื่องการทำสัญญา เรื่องลิขสิทธิ์เพลง และแนวคิดในการใช้ชีวิตเรื่องของเหตุและผลต่าง ๆ ที่ปรับเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน

จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ที่เราเรียนมาก็ไม่ได้หล่นหายไปไหน เพียงแค่ความรู้ถูกแปลงไปใช้งานตามสถานการณ์ที่เราได้เจอ เช่นเดียวกันกับอีกหนึ่งศิลปินที่เรียนมาคนละสายกับงานที่ทำในปัจจุบัน ได้แก่ ณัฐ ศักดาทร จบมาทางด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และก้าวเข้ามาสู่วงการบันเทิง ในการเป็นนักร้อง นักแสดง โดยในงานประชุมวิชาการ “นักเศรษฐศาสตร์และผองเพื่อน” ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยศีนครินทร์วิโรฒ ณัฐ ศักดาทร ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ตอนที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เป็นสาขาที่คิดว่าน่าจะสามารถไปประยุกต์ใช้กับสิ่งที่ต่าง ๆ ได้ง่ายในชีวิต โดยสิ่งที่เรียนมาแล้วได้ใช้ในชีวิตประจำวันจริง ๆ ทุกวันเลยคือเรื่อง opportunity cost (ต้นทุนค่าเสียโอกาส) การเลือกซื้อของบางอย่าง เราก็จะต้องแลกกับเงินที่จะไม่ได้ซื้อของบางอย่าง เพราะเรามีทรัพยากรที่จำกัด ซึ่งทรัพยากรตรงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่รวมถึงเรื่องเวลาด้วย คนเรามี 24 ชั่วโมงเท่ากัน อยู่ที่เราเลือกที่จะทำอะไร ถ้าเราเลือกที่จะเล่นโซเชียลมีเดีย เราก็อาจจะเสียโอกาสในการออกกำลังกาย หรือการพัฒนาทักษะอื่น ๆ” ซึ่งก่อนหน้านี้ ในรายการตามสัญญา ทางช่อง PPTV ณัฐ ศักดาทร ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เคยติดโซเชียลมีเดีย ถึงขั้นต้องพบจิตแพทย์มาแล้ว ดังนั้น การนำหลักคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาสมาใช้ บางทีก็ทำให้เราแยกออกว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรที่จะต้องทำมากกว่ากัน

ณัฐ ศักดาทร ยังทิ้งท้ายไว้ในงานประชุมวิชาการว่า “การเรียนเศรษศาสตร์มาทำให้เรามีความคิดแบบนี้ตลอดเวลา ในการคิดเรื่องต้นทุนค่าเสียโอกาส และการเรียนเศรษฐศาสตร์พอเข้ามาทำงานในวงการบันเทิง มันยังอยู่ในกระบวนการคิดทุก ๆ วัน และการทำงานในวงการบันเทิงมันมีอะไรที่สนับสนุนกันอยู่”

แม้วันนี้ หลาย ๆ คนที่เรียนจบไปแล้ว เราอาจจะไม่ได้เรียนมาตรงกับสิ่งที่เราชอบ หรือไม่ได้ทำตามคำตอบของคำถามที่ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” แต่เราสามารถพาตัวเองไปอยู่ในสิ่งที่เราชอบได้ ฝึกฝน เรียนรู้ทักษะต่าง ๆ เพื่อให้เราได้ทำในสิ่งที่เรารัก และความรู้ที่เกิดขึ้นที่เราได้สั่งสมมา วันนี้อาจจะยังไม่ได้หยิบมันขึ้นมาใช้งาน แต่ไม่แน่ว่าอนาคตข้างหน้า เราอาจจะได้รื้อฟื้นกล่องความทรงจำความรู้นั้น ๆ มาใช้แบบไม่รู้ตัว ...


ข้อมูลอ้างอิง

สัมภาษณ์ : จารุวัฒน์ เชี่ยวอร่าม

https://www.pptvhd36.com/programs/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%95%E0%B8%B5%E0%B9%89/%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%8D%E0%B8%B2/79328#part-1

https://www.sanook.com/campus/1404051/

Game Changer ของวิกฤติ Covid-19

อินเดีย ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก 60% ของวัคซีนที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ผลิตในอินเดีย และ 2 ใน 3 ของเด็ก และ ทารกทั่วโลก ต้องเคยได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 ชนิดที่ผลิตในอินเดีย

และวันนี้ อินเดียกำลังจะกลายเป็นผู้ผลิตวัคซีน Covid - 19 ที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกแล้ว ที่คาดหมายว่าจะเป็นจุดพลิกชะตา จบเกมส์ Covid-19 ได้เลยทีเดียว ที่หลายฝ่ายมั่นใจเช่นนี้ เพราะปรัชญาการผลิตเวชภัณฑ์ของรัฐบาลอินเดีย มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ทุกระดับชั้น โดยเฉพาะ ชาวอินเดียที่มีความหลากหลายในวรรณะ และชาติพันธุ์ ที่อยู่รวมกันมากถึง 1.3 พันล้านคน

ซึ่งปรัชญานี้ ก็ใช้กับการผลิตวัคซีน Covid-19 วัคซีนซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุดในโลกแล้วในขณะนี้

และหากพูดถึงการผลิตวัคซีน Covid-19 ในอินเดีย บริษัทที่ไม่อาจมองข้ามไปได้เลยก็คือ Serum Institute of India หรือ SII บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย และเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญที่ร่วมในการทดลองและพัฒนาวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca

SII ตั้งเป้าหมายในการผลิตวัคซีน AstraZeneca ให้ได้ถึง 1 พันล้านโดสภายในสิ้นปี 2021 รวมทั้ง ยังต้องผลิตวัคซีนเข้าโครงการ COVAX ขององค์การอนามัยโลกถึง 200 ล้านโดส เพื่อแจกจ่ายให้กับประเทศในโลกที่ 3

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนที่เข้ามารับภารกิจระดับโลกครั้งนี้ มีที่มาเช่นไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก Serum Institute of India - SII กัน

จุดเริ่มต้นของบริษัท Serum Institute of India เกิดจาก ครอบครัวผู้เพาะพันธุ์ม้าในเมืองปูเน่ รัฐมหาราษฎระ ทางตะวันตกของอินเดีย โดยนาย ไซปรัส ปูนะวัลลา รับหน้าที่ดูแลคอกม้าให้พ่อ แต่มาวันหนึ่ง แม่ม้าตัวหนึ่งของเขาโดนงูกัด แล้วเขาได้พยายามติดต่อสัตวแพทย์ หาเซรุ่มแก้พิษงูมาฉีดให้ม้า แต่ปรากฏว่าทั้งเมืองหาเซรุ่มไม่ได้ ศูนย์เซรุ่มที่อยู่ใกล้ที่สุดคือบอมเบย์ ที่ห่างไปไกลเกิน 100 กิโลเมตร และต้องรอเจ้าหน้าที่รัฐอนุมัติเสียก่อนถึงจะเบิกเซรุ่มมาใช้ได้

การสื่อสารก็ติดขัด หน่วยงานราชการทำงานล่าช้ามาก และหากจำเป็นต้องสั่งเซรุ่มจากต่างประเทศ ก็ราคาสูงมาก จนเขาไม่คิดว่าคนยากจน ที่ถูกงูกัดจะสามารถซื้อได้

และกว่าจะได้เซรุ่มมา ใช้เวลานานถึง 4 วัน ซึ่งไม่ทันที่จะช่วยชีวิตแม่ม้าของเขาได้ ความเสียใจนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของปณิธานของเขาว่า เขาจะตั้งโรงงานผลิตวัคซีน และเซรุ่ม ในราคาถูก มีคุณภาพดี และมีปริมาณเพียงพอให้ชาวอินเดียสามารถเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ว่าจะยากจนแค่ไหน

ครอบครัวปูนะวัลลา ก็ได้ลงทุนก่อตั้งโรงงานผลิตวัคซีน Serum Institute of India (SII) ในปี 1966 ที่ผลิตตั้งแต่เซรุ่มแก้พิษงู วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ บาดทะยัก โรคหัด ไข้หวัดใหญ่ และอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก ในราคาประหยัด แต่ได้มาตรฐานสูง รับประกันคุณภาพผลงานด้วยการได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตยา และวัคซีนให้แก่องค์กรระดับโลก อย่างองค์การอนามัยโลก Unicef Pan American Health Organization และอีกหลายองค์กร

จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2020 ทางบริษัทก็ได้รับการติดต่อจาก AstraZeneca ที่กำลังพัฒนาวัคซีนต้าน Covid-19 และต้องการให้ SII ร่วมทดสอบวัคซีน และเป็นฐานการผลิตให้กับ AstraZeneca หลังจากผ่านการทดสอบขั้นสุดท้าย

ซึ่งทางครอบครัวปูนะวัลลา ที่ปัจจุบัน อดาร์ ปูนะวัลลา บุตรชายของนาย ไซปรัส ผู้ก่อตั้ง เป็นผู้สืบทอดกิจการ และดำรงตำแหน่งประธานบริหารสูงสุด ก็รู้ทันทีว่าข้อตกลงครั้งนี้ พ่วงมาด้วยความกดดันในทุกขั้นตอนของการผลิต โดยต้องประสานงานกับโรงพยาบาลกลางในเมืองปูเน่ ในการทดลองวัคซีนให้กับ AstraZeneca ในเฟส 2 และ 3 เพื่อดูผลการทดสอบอย่างใกล้ชิด

เมื่อมีการรับรองผลการทดสอบวัคซีนในขั้นสุดท้ายแล้ว SII ก็ได้รับใบอนุญาตในการผลิตวัคซีน AstraZenca ทันทีภายใต้ชื่อวัคซีน Covashield ในช่วงที่อินเดียกำลังเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่ ของการแพร่ระบาดของ Covid-19 พอดี ที่ยอดผู้ติดเชื้อในประเทศพุ่งสูงขึ้นไปเป็นอันดับ 2 ของโลก

SII ต้องเร่งขยายฐานการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณที่ต้องผลิตวัคซีน Covid-19 ที่ไม่ใช่แค่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศเท่านั้น แต่ต้องผลิตให้มากพอที่จะส่งให้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย

อดาร์ ปูนะวัลลา เล่าว่า แค่เพิ่มสต็อคขวดบรรจุวัคซีนเพียงอย่างเดียว ทางบริษัทต้องลงทุนเพิ่มอีกหลายสิบล้านดอลลาร์ ยังไม่รวมการเพิ่มแรงงาน ที่ทำงานกันไม่หยุด 7 วัน 24 ชั่วโมง และทุกวันก่อนเที่ยงคืน ก็จะมีข้อความผ่านทาง WhatApp จาก ด็อกเตอร์ เค. วิชัยราฆวัน ที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดิ เพื่อติดตามรายงานความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนให้กับรัฐบาลเป็นประจำ ถึงจะมีการเตรียมงานอย่างดี และมีประสบการณ์ในด้านการผลิตวัคซีนมานานกว่า 50 ปี แต่กลับมีอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เมื่อโรงงานหลังหนึ่งของ SII ถูกไฟไหม้! เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2021

ความรุนแรงของเหตุไฟไหม้ ทำลายบางส่วนของอาคารโรงงาน และมีผู้เสียชีวิตในโรงงานถึง 5 คน ซึ่งโรงงานนั้นก็เป็นหนึ่งในฝ่ายการผลิตวัคซีน AstraZeneca

แม้จะไม่ทราบสาเหตุของต้นเพลิง แต่ SII ยังต้องเดินหน้าการผลิตวัคซีนตามเป้าหมายต่อไป ยังโชคดีที่สามารถควบคุมเพลิงได้เร็ว ทำให้โรงงานส่วนใหญ่ไม่เสียหายมากนัก จึงยังคงดำเนินการผลิตต่อไปได้

แม้ในวันนี้ SII ยังคงเร่งผลิตวัคซีน AstraZenca อย่างต่อเนื่องด้วยความเร็ว 5,000 ขวดต่อนาที กับแรงงานของพนักงานหลายร้อยชีวิตที่นี่ ต่างทำงานอย่างขมักเขม้น ที่พวกเขาต่างตระหนักรู้ว่า นี่ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อผลิตสินค้า แต่เป็นการต่อสู้กับภัยโรคระบาดระดับโลก ซึ่งทาง SII มั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการผลิตวัคซีนให้ได้ 1 พันล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน

และนอกจากจะผลิตวัคซีน AstraZeneca แล้ว SII ก็เพิ่งเซ็นข้อตกลงร่วมพัฒนาวัคซีน Covid-19 ให้อีก 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Novavax ที่อยู่ขั้นการทดลองวัคซีนช่วงสุดท้ายแล้ว และคาดหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของวัคซีนราคาประหยัด และสามารถเก็บได้ในตู้แช่ทั่วไปได้ เช่นเดียวกับ AstraZeneca และ ล่าสุด Codagenix วัคซีน Covid-19 รุ่นใหม่ ที่ใช้หยอดทางจมูกแทนการฉีดเข้าร่างกาย

ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่ไปในทิศทางเดียวกันทั้งภาครัฐ และ เอกชน จึงไม่แปลกใจว่าทำไมอินเดีย ถึงได้รับฉายาว่าเป็นคลังวัคซีนโลก แต่จะเป็นผู้ปิดเกมส์เจ้าไวรัส Covid-19 ได้จริง ๆ อย่างที่หลายคนคาดไว้หรือไม่ คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่สามารถยืนยันได้แล้วในตอนนี้ คือ อินเดีย สามารถพลิกวิกฤติ Covid-19 ให้กลายเป็นโอกาสให้กับเศรษฐกิจอินเดีย และเป็นหนึ่งในผู้ที่มอบแสงสว่างในปลายอุโมงค์ให้แก่ประชาชนในประเทศยากจนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงวัคซีน Covid-19 ได้นับล้านคนทั่วโลกทีเดียว


อ้างอิง

https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-india-serum-insigh/how-one-indian-company-could-be-worlds-door-to-a-covid-19-vaccine-idINKBN22Y2BI?edition-redirect=in

https://www.straitstimes.com/asia/south-asia/indias-serum-institute-a-look-inside-the-worlds-biggest-covid-19-vaccine-factory

https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/03/18/978065736/indias-role-in-covid-19-vaccine-production-is-getting-even-bigger

https://en.wikipedia.org/wiki/Serum_Institute_of_India

8 ท่าโยคะอย่างง่าย ทำเองได้ที่บ้าน ป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

ในยุคที่มีการแข่งขันสูง การใช้ชีวิตด้วยความเร่งรีบ การทำงานด้วยความเครียด และการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกต่างๆทำให้ทุกคนใช้เวลาในแต่ละวันอย่างน้อย 8 - 9 ชั่วโมงในการนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ ใช้มือถือ แทปเลต ประกอบกับท่านั่งที่ไม่เหมาะสม จึงเกิดการใช้งานกล้ามเนื้อแบบผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื้อสูญเสียความยืดหยุ่น ร่วมกับการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเป็นเวลานาน ส่งผลไปยังข้อต่อและกระดูกต่าง ๆ บางคนอาจมีอาการชาหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง เริ่มจากการปวดบริเวณกล้ามเนื้อคอลุกลามไปยังกล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ โดยการปวดกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นจากการทำงานเรียกว่า “โรคออฟฟิศซินโดรม”

ข้อแนะนำสำหรับผู้เป็นโรคออฟฟิศซินโดรม

พักยืดเส้นยืดสาย หรือลุกขึ้นจากเก้าอี้และเปลี่ยนอิริยาบททุก 1 ชั่วโมง เปลี่ยนจากการจ้องมองหน้าจอคอมพิวเตอร์แล้วมองไปยังพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้

ปรับสภาพโต๊ะทำงานให้เหมาะสม ระดับหน้าจอคอมพิวเตอร์, คีย์บอร์ดและการวางเม้าส์อยู่ในองศาการใช้งานที่ถูกต้องตามสรีระ

ปรับความสูงของเก้าอี้พนักพิง มีการเสริมหมอนหนุนหลังเพื่อให้นั่งสบายขึ้นและเลือกใช้เก้าอี้ที่มีที่วางแขน

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ไม่นั่งหลังค่อม ไม่ห่อไหล่

ท่าโยคะอย่างง่ายป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

ท่าแรก

: นอนคว่ำ วางแขนห่างกันเท่าความกว้างของหัวไหล่ ใช้มือดันตัวขึ้น

: เหยียดข้อศอก ยกศีรษะ ไหล่ หน้าอก เอว ให้สูงขึ้นเงยหน้าไปด้านหลัง

: สะโพกด้านหน้า ต้นขา และเท้า วางราบกับพื้น

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณหลังและหน้าท้องเล็กน้อย หายใจเข้าออกปกติ ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

ท่าที่สอง

: นอนหงาย ยกขาขึ้น2ข้าง (ถ้าตึงมากให้ยกทีละข้าง)

: พยายามใช้มือแตะปลายเท้า ถ้าไม่ถึงให้ใช้ผ้าขนหนูคล้องปลายเท้า

: ออกแรงดึงขายกสูงขึ้นมาทางศีรษะโดยให้เข่าเหยียดตรงตลอด

: สะโพกลอยพ้นพื้นเล็กน้อย คอและไหล่วางบนพื้นด้วยความผ่อนคลาย

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อขาโดยเฉพาะด้านหลังของเข่า ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

ท่าที่สาม

: นั่งขัดสมาธิ หลังตรง มือสอดใต้สะโพก (นั่งทับ)

: ก้มศีรษะเล็กน้อย เอียงศีรษะทางซ้าย มือซ้ายจับศีรษะ กางศอกออก กดลงเบาๆ

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อคอและบ่าด้านตรงข้าม ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน

ท่าที่สี่ : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง มือสอดใต้สะโพก (นั่งทับ)

: ก้มศีรษะลงกดคางชิดอก เอียงศีรษะทางซ้าย มือซ้ายจับศีรษะ กดศอกเอียงด้านหน้า

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณคอสะบักขวา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที แล้วตั้งศีรษะตรง ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน นั่งทับมือซ้าย แล้วก้มเอียงศีรษะทางขวา มือขวาออกแรงกดเบาๆ

ท่าที่ห้า : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง พาดแขนซ้ายมาด้านหน้าอก

: นำศอกขวากดศอกซ้าย เข้าหาไหล่ขวา หันหน้าไปทางด้านซ้าย

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณต้นแขนด้านหลังและสะบัก ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน แขนขวาพาดด้านหน้า ศอกซ้ายกดหาไหล่ซ้าย หันหน้าไปทางขวา

ท่าที่หก : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง ประสานมือทั้ง 2 ข้างด้านหลัง บีบมือเข้าหากันให้แน่น

: ยืดอก ยืดหลังขึ้น บีบสะบักเข้าหากัน ดันแขนออกไปไกลลำตัวให้มากที่สุด

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณต้นแขน หน้าอกและสะบัก ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

ท่าที่เจ็ด : นั่งหลังตรง เหยียดขาซ้ายไปด้านหน้า ขาขวาข้ามวางข้างเข่าซ้ายด้านนอก

: ศอกซ้ายออกแรงดันเข่าขวาไปทางซ้าย บิดตัวไปทางขวาให้มากที่สุด

: มือขวาวางด้านหลัง หันหน้ามองข้ามไหล่ขวาไปด้านหลัง

: ท่านี้จะรู้สึกตึงบริเวณสะโพกและลำตัวด้านข้างขวา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน เหยียดขาขวา งอเข่าซ้าย ศอกขวาออกแรงดัน บิดตัวไปทางซ้าย

ท่าที่แปด : นั่งขัดสมาธิ หลังตรง จากนั้นเหยียดขาขวาออกไปด้านข้างให้ตั้งฉากมากที่สุด

: มือขวาจับเข่าซ้าย บิดตัวไปทางซ้าย ยกมือซ้ายขึ้นแนบหู เอื้อมหลังศีรษะไปจับปลายเท้าขวา

: ถ้าตึงขาหรือลำตัวมาก จับไม่ถึง ให้ใช้ผ้าคล้องปลายเท้าขวาช่วยได้

: ท่านี้จะรู้สึกตึงลำตัวและต้นแขนซ้าย ต้นขาหลังและน่องขวา ค้างไว้ 10 - 20 วินาที ทำซ้ำ 5 - 10 ครั้ง

: สลับข้าง ทำเช่นเดียวกัน งอเข่าขวา เหยียดขาซ้าย มือซ้ายจับเข่าขวา มือขวาจับปลายเท้าซ้าย

นาคในพม่า ตำนานที่มีตัวตน

“นาค” เป็นสัตว์ที่มีอยู่ในตำนานของพระพุทธศาสนา และผูกพันกับคนไทย ลาว และเขมรหรือเราเรียกว่าผู้คนลุ่มน้ำโขงมาช้านาน ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้พิทักษ์ศาสนสถานและโบราณสถานต่าง ๆ แต่ต้นกำเนิดของคำว่านาคนั้นห่างไทย ลาว และเขมรมาก ลึกเข้าไปในดินแดนที่เป็นพรมแดนอินเดียและเมียนมาร์ในปัจจุบัน และพวกเขายังมีตัวตนอยู่ พวกเขาคือ “เหล่านาคา”

เผ่านาคา หรือนากา เป็นชนเผ่าโบราณเชื่อว่ามีมาก่อนสมัยพุทธกาลอาศัยอยู่บริเวณรัฐมณีปุระ (Manipur) รัฐอรัณาจัล ประเทศ (Arunachal Pradesh) และรัฐอัสสัม (Assam) ในอินเดีย จวบจนถึงรัฐสะกาย (Sagaing) และรัฐคะฉิ่น (Kachin) ในเมียนมาร์แต่สถานที่ที่มีชาวนาคาอยู่มากที่สุดคือ นากานาคาแลนด์ได้รับการจัดตั้ง ขึ้นเป็นรัฐที่ 16 ของประเทศอินเดียในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2506

โดยแบ่งการปกครองภายในออกเป็น 11 เขต อันได้แก่ Kohima (เมืองหลวง), Phek, Mokokchung, Wokha, Zunheboto, Tuensang, Mon, Dimapur, Kiphire, Longleng และ Peren สภาพภูมิประเทศของนากาแลนด์ส่วนใหญ่มีพื้นที่เป็นภูเขา โดยมีเทือกเขา Naga Hills เป็นเทือกเขาขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทิศตะวันออกเฉียง ใต้ของรัฐนาคาแลนด์ มีจุดที่สูงที่สุด คือ ภูเขาสรามาติ (Mount Saramati) ซึ่งมีความสูง 3,826 เมตร อีกทั้งเทือกเขานากา นี้ยังเชื่อมต่อกับทิวเขา Patkai ของประเทศเมียนม่าร์อีกด้วย เผ่านาคาไม่ใช่ชนเผ่าศักดิ์สิทธิ์แต่อย่างใด เพียงแต่เป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่มีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

เผ่านากาก็เฉกเช่นชนกลุ่มน้อยทั่วไปซึ่งมีหลายกลุ่ม โดยจะแบ่งเผ่านากาใหญ่ ๆ ในเมียนมาร์ได้เป็น 8 กลุ่มแยกตามภาษาที่สื่อสารคือ Konyak, Lainong, Makury, Nokko, Para, Somra Tangkhul, Tangshang, Anal Naga นอกจาก 8 กลุ่มนี้แล้วยังมีกลุ่มย่อย ๆ อีกมากมาย ส่วนชาวนากาในอินเดียนั้นประกอบไปด้วยประชากรที่เป็น ชนเผ่า หลัก 16 เผ่า และ เผ่าย่อย ๆ อีกมากมาย ภาษา ท้องถิ่นที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างชาวนากาแลนด์จึงมีมากถึง 60 ภาษา ทั้งหมดอยู่ในตระกูลภาษา Tibeto – Burman ดังนั้นการสื่อสารระหว่างเผ่า และ ภาษาราชการในนากาแลนด์จึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสื่อสาร

สาเหตุว่าทำไมคนในอดีตถึงเรียกเผ่านี้ว่าเผ่านากา มีปรากฎในงานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวไว้ในความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 อธิบายความหมายของคำว่า “นากา” หรือ “นาค” ไว้ดังนี้ คือ ‘ชาวอารยันยุคโบราณ สมัยที่ยังไม่เกิดเป็นรัฐประชาชาตินั้น มีการเหยียดหยามดูถูกพวกนาคมาก ถือเป็นพวกลักขะพวกหนึ่ง และคำเรียกชื่อชนชาติก็กล่าวกันว่ามาจากภาษาอัสสัม ซึ่งเขียน naga แต่อ่านออกเสียงเป็น นอค (noga) แปลว่า เปลือย แก้ผ้า บ้างก็มาจากภาษาฮินดูสตานีว่า นัค (nag) แปลว่า คนชาวเขา ในขณะที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในนาคในประวัติศาสตร์อุษาอาคเนย์ ตีพิมพ์โดยมติชน เมื่อปี พ.ศ. 2546 สรุปความว่า สังคมอินเดียเมื่อสมัยพุทธกาลมีการเหยียดหยามคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่มีอารยธรรมด้อยกว่าตน เหยียดลงให้เป็นผี เป็นสัตว์ เป็นยักษ์ ไม่อาจเทียบชั้นกับพวกตนที่เป็นมนุษย์ได้ โดยเฉพาะการไม่ยอมรับชนเผ่านาคหรือนาคาว่าเป็นมนุษย์ แม้จะพูดคุยภาษามนุษย์ด้วยกันรู้เรื่อง โดยมองพวกเขาเป็นเพียงสัตว์อย่างลิงค่างบ่างชะนีป่าเถื่อน จึงไม่ยอมรับให้ชนเผ่านาคหรือนาคาเข้าอุปสมบทในพุทธศาสนา

เป็นความเชื่อกันว่า คำว่า “นากา” หรือ “นาค” เป็นคำในภาษาอินเดียซึ่งใช้เรียกชนกลุ่มน้อยของตนที่ถูกมองว่ามีอารยธรรมต่ำต้อยกว่าในเชิงดูถูก ในขณะที่บางท่านเชื่อว่า คำว่า “นากา หรือ นาค” นี้ ชาวอินเดียหมายถึงผู้คนในแถบอุษาคเนย์ทั้งหลายด้วย เป็นลักษณะของพวกคนเถื่อนไม่นุ่งผ้าไร้อารยธรรมนั่นเอง แต่ก็ได้หลักฐานทางวิชาการอีกฝ่ายกล่าวว่า คำว่า “นากา” (Naga) เป็นคำที่มาจากคำว่า “Naka” ในภาษาพม่า แปลว่า “ผู้ที่เจาะจมูก”… ก็เพราะชาวนาคาในอดีตเจาะจมูกห้อยห่วงไว้ตามขนบประเพณีของพวกเขานั่นเอง

แต่หากมองจากอีกมุมจะเห็นว่าเผ่านากา หรือ นาคนั้นเป็นชนเผ่าที่มีการรักษาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนไว้ได้อย่างเหนียวแน่นผ่านกาลเวลาและภูมิประเทศแม้จะถูกแบ่งออกเป็น 2 แผ่นดินแต่มิอาจแบ่งแยกวัฒนธรรมของเผ่านากาได้

ปัจจุบันมีพิธี Hornbill Festival ในอินเดียเป็นงานมหกรรมวัฒนธรรมประจำรัฐที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวนากาแลนด์ จัดขึ้นเป็นประจำระหว่างวันที่ 1 - 7 ธ.ค.ของทุกปี (วันที่ 1 ธ.ค.เป็นวันก่อตั้งรัฐนากาแลนด์) ชื่องานนี้แปลตรงตัวว่า “เทศกาลนกเงือก” ส่วนในเมียนมาร์นั้นมีงานเทศกาลปีใหม่ของชาวนากาที่จัดขึ้นทุกเดือนมกราคมของทุกปีช่วงหลังเก็บเกี่ยว

ในอดีตก่อนที่จะมีนากาแลนด์ชาวนากาคือนักรบผู้ยิ่งใหญ่หลายคนรู้จักพวกเขาในนามนักล่าหัวคนและหลังจากที่อินเดียพยายามผนวกดินแดนนากาแลนด์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียนั้น พวกเขาก็ต่อสู้เพื่อเอกราชของเขามาตลอดจนอินเดียเลือกที่จะทำสนธิสัญญาหยุดยิงและให้มอบนากาแลนด์ให้เป็นเขตพื้นที่ปกครองตนเองเช่นเดียวกับฝั่งเมียนมาร์ที่มอบพื้นที่ให้เป็นเขตปกครองตนเองนากาเช่นกัน


ขอบคุณข้อมูลจาก

1. เพจศิลปะวัฒธรรมเวปไซต์วิกิพีเดีย

2. เวปไซต์วิกิพีเดีย

3. เวปไซต์สถานทูตไทยในกรุงเดลฮี

เรื่องราวความเป็นมาของคลองสุเอซ (Suez Canal) ซึ่งมีเรือบรรทุกสินค้าใช้เส้นทางถึง 15% ของการขนส่งทางน้ำทั่วโลก

ข่าวของเรือ Ever Given เรือบรรทุกสินค้าขนาดยักษ์ของบริษัท Shoei Kisen Kaisha ญี่ปุ่น โดยมี Evergreen Marine บริษัทเรือสินค้าระดับโลกของไต้หวัน และเป็นเจ้าของสายการบิน EVA ด้วยเช่าใช้ ตัวเรือมีความยาวประมาณ 400 เมตร และมีระวางขับน้ำกว่า 200,000 ตัน ประสบเหตุเกยตื้นชายฝั่งคลองสุเอซ โดยเรือเกยตื้นเป็นแนวเอียงขวางสองฝั่งคลองจนกลายเป็นการปิดการจราจรของคลองสุเอซไปโดยปริยาย ขณะเดียวกันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาว่าจะสามารถเคลื่อนย้ายเรือได้ว่าเมื่อใดยิ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับทุกฝ่าย ด้วยอาจเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมให้กับเส้นทางการเดินเรือสินค้าทั่วโลก โดยในส่วนของการจราจรทางเรือที่ผ่านคลองสุเอซนั้น มีอัตราความหนาแน่นคิดเป็น 12% ของการเดินเรือสินค้าทั่วโลก (วันละเฉลี่ย 51.5 ลำ เฉลี่ยระวางบรรทุกถึง 300 ล้านตันต่อปี) โดยคลองสุเอซเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างทวีปยุโรป (ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรแอตแลนติก) กับทวีปเอเชีย (ทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย)

คลองสุเอซเป็นเส้นทางน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมต่อระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับมหาสมุทรอินเดียผ่านทะเลแดง ช่วยให้สามารถเดินเรือระหว่างยุโรปและเอเชียได้โดยตรงมากขึ้น ทำให้การเดินทางจากมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือไปยังมหาสมุทรอินเดียได้รวดเร็วขึ้น ไม่ต้องวนรอบทวีปแอฟริกาอ้อมแหลม Good Hope (ซึ่งต้องใช้ระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 6,500 กิโลเมตร และเวลาเพิ่มขึ้นอีกราว 9 วัน) จึงเป็นเส้นทางน้ำที่มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ และด้วยเหตุนี้จึงเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งนับตั้งแต่เปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2412 คลองสุเอซทอดยาว 120 ไมล์จาก Port Said บนทะเลเมดิเตอร์เรเนียนในอียิปต์ทางใต้ไปยังเมืองสุเอซ (ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตอนเหนือของอ่าวสุเอซ) ของอียิปต์เช่นกัน ใช้เวลาสร้าง 10 ปีและเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412

แนวคิดในการก่อสร้างคลองสุเอซเกิดจากความสนใจในเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดง ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ คลองเล็ก ๆ หลายสายที่เชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำไนล์ (และขยายต่อไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) ไปยังทะเลแดงถูกนำมาใช้ตั้งแต่ช่วง 2000 ปีก่อนคริสตกาล อย่างไรก็ตามการเชื่อมต่อโดยตรงระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดงถือเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ อันเนื่องจากข้อกังวลที่ว่า ระดับความสูงของน้ำทะเลที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงเชื่อมด้วยเส้นทางบกหลายสายโดยใช้รถม้า และต่อมามีการใช้รถไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่จักรวรรดิอังกฤษซึ่งทำการค้ากับอาณานิคมของตนทั้งอินเดียและปากีสถานในปัจจุบัน

Linant de Bellefonds นักสำรวจและวิศวกรชาวฝรั่งเศสซึ่งมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของอียิปต์ได้เสนอแนวคิดเรื่องคลองขนาดใหญ่ที่เป็นเส้นทางตรงระหว่างทะเลทั้งสองแห่งนี้ และได้รับการกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1830 โดย Bellefonds ทำการสำรวจคอคอดของสุเอซ และยืนยันว่า ระดับน้ำทะเลของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแดงนั้นตรงกันข้ามกับความเชื่อเพราะมีระดับความสูงเท่ากัน ซึ่งหมายความว่า สามารถสร้างคลองที่ไม่มีประตูได้ จึงทำให้การก่อสร้างง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก

ในช่วงทศวรรษที่ 1850 เมื่อมองเห็นโอกาสของอียิปต์และจักรวรรดิออตโตมันซึ่งปกครองประเทศในเวลานั้น Khedive Said Pasha (ข้าหลวงของจักรวรรดิออตโตมานผู้ดูแลอียิปต์และซูดาน) ได้อนุญาตให้ Ferdinand de Lesseps นักการทูตฝรั่งเศสได้รับอนุญาตให้ตั้งบริษัทเพื่อขุดคลอง ในที่สุดบริษัทดังกล่าวก็กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ Suez Canal Company และได้รับสัญญาเช่า 99 ปีสำหรับเส้นทางน้ำ และพื้นที่บริเวณโดยรอบ การดำเนินการครั้งแรกของ Lesseps คือการจัดตั้งคณะกรรมาธิการสากล (Commission Internationale) เพื่อการรับรู้ de l’isthme des Suez หรือ International Commission for the Piercing of the Isthmus of Suez คณะกรรมาธิการดังกล่าวประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 13 คนจาก 7 ประเทศ ซึ่งรวมถึง Alois Negrelli ซึ่งเป็นวิศวกรโยธาชั้นของโลกนำในขณะนั้น รายงานขั้นสุดท้ายของคณะกรรมาธิการเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2399 สองปีต่อมา บริษัท คลองสุเอซจึงได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ภายหลังจากการศึกษาผลงานของ Bellefonds และการสำรวจพื้นที่ดั้งเดิมของ Bellefonds แล้ว Negrelli จึงทำการขุดคลองสุเอซอย่างมีประสิทธิภาพ และมีบทบาทนำในการพัฒนาแผนสถาปัตยกรรมตามแนวคิดของ Bellefonds สำหรับคลองสุเอซ

การขุดคลองสุเอซเริ่มขึ้นที่ปลายสุดของคลอง Port Said ทางตอนเหนือสุดในช่วงต้นปี พ.ศ. 2402 การขุดใช้เวลา 10 ปี และมีคนประมาณ 1.5 ล้านคนร่วมทำงานในโครงการนี้ น่าเสียดายที่การคัดค้านของนักลงทุนชาวอังกฤษฝรั่งเศสและอเมริกันคัดค้านแรงงานทาสไม่เป็นผล และเชื่อกันว่า มีแรงงานหลายหมื่นคนเสียชีวิตขณะทำงานจากอหิวาตกโรคและสาเหตุอื่น ๆ ความวุ่นวายทางการเมืองในภูมิภาคส่งผลเสียต่อการสร้างคลอง อียิปต์ถูกปกครองโดยอังกฤษในเวลาต่อมา และฝรั่งเศสในเวลานั้นมีการก่อการกบฏหลายครั้งเพื่อต่อต้านการปกครองอาณานิคม สิ่งนี้ประกอบกับข้อจำกัดของเทคโนโลยีการก่อสร้างในยุคนั้นทำให้ต้นทุนทั้งหมดในการขุดคลองสุเอซเพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าประมาณการเดิมถึงสองเท่า

ภาพวาด Ismail Pasha, Khedive แห่งอียิปต์และซูดานทำพิธีเปิดคลองสุเอซอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412 โดยเรือลำแรกที่เดินเรือผ่านคลองอย่างเป็นทางการคือเรือยอทช์ของจักรพรรดินี Eugenie แห่งฝรั่งเศส เรือ L’Aigle ตามด้วยเรือ Delta ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรของอังกฤษ และ HMS Newport ซึ่งเป็นเรือรบของกองทัพเรืออังกฤษเป็นเรือลำแรกที่เข้าสู่ร่องน้ำโดยกัปตันได้นำเรือภายใต้ความมืดในคืนก่อนพิธีเปิด กัปตัน George Nares ถูกตำหนิอย่างเป็นทางการสำหรับการกระทำดังกล่าว แต่ยังได้รับการยกย่องอย่างลับ ๆ จากรัฐบาลอังกฤษสำหรับความพยายามของเขาในการส่งเสริมผลประโยชน์และเกียรติภูมิของชาติในภูมิภาคนี้ และเรือ S.S. Dido เป็นเรือลำแรกที่ผ่านคลองสุเอซจากใต้สู่เหนือ

Ismail Pasha, Khedive ข้าหลวงจักรวรรดิออตโตมันแห่งอียิปต์และซูดานได้ทำพิธีเปิดคลองสุเอซอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2412 โดยเรือลำแรกที่เดินเรือผ่านคลองอย่างเป็นทางการคือ เรือยอทช์ของจักรพรรดินี Eugenie แห่งฝรั่งเศส เรือ L’Aigle ตามด้วยเรือ Delta ซึ่งเป็นเรือเดินสมุทรของอังกฤษ แต่อันที่จริงแล้ว HMS Newport ซึ่งเป็นเรือรบของกองทัพเรืออังกฤษเป็นเรือลำแรกที่เข้าสู่ร่องน้ำของคลองสุเอซโดยกัปตัน George Nares ได้นำเรือผ่านคลองสุเอซภายใต้ความมืดในคืนก่อนพิธีเปิด กัปตัน George Nares ถูกตำหนิอย่างเป็นทางการสำหรับการกระทำดังกล่าว แต่ยังได้รับการยกย่องอย่างลับ ๆ จากรัฐบาลอังกฤษสำหรับความพยายามของเขาเพื่อเป็นการส่งเสริมผลประโยชน์และเกียรติภูมิของชาติในภูมิภาคนี้ และเรือ S.S. Dido เป็นเรือลำแรกที่ผ่านคลองสุเอซจากแนวทิศใต้สู่ทิศเหนือ

ในตอนแรกมีเพียงเรือกลไฟเท่านั้นที่สามารถแล่นผ่านคลองได้ เนื่องจากเรือเดินทะเลที่ใช้ใบยังคงมีปัญหาการเดินเรือในช่องทางแคบด้วยกระแสลมที่ไม่เสถียรของภูมิภาค แม้ว่าการจราจรจะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วง 2 ปีแรกของการขุดคลองอันเนื่องมาจากผลกระทบอย่างมากจากปัญหาเศรษฐกิจการค้าของโลก แต่คลองสุเอซก็มีบทบาทสำคัญในการล่าอาณานิคมของแอฟริกาโดยมหาอำนาจของยุโรป ถึงกระนั้นก็ตามบริษัทเจ้าของคลองสุเอซก็ประสบปัญหาทางการเงิน Ismail Pasha และคนอื่น ๆ ถูกบังคับให้ขายหุ้นของตนให้จักรวรรดิอังกฤษในปี พ.ศ. 2418 อย่างไรก็ตามฝรั่งเศสยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเจ้าของสัญญาเช่าคลอง 99 ปี

ภาพถ่ายทางอากาศของคลองสุเอซในปี พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) โดย Walter Mittelholzer นักบินและช่างภาพชาวสวิส

คลองสุเอซในช่วงสงคราม ในปี พ ศ. 2431 อนุสัญญากรุงคอนสแตนติโนเปิลได้กำหนดให้คลองสุเอซดำเนินการโดยถือเป็นเขตที่เป็นกลางภายใต้การคุ้มครองของอังกฤษ ซึ่งในตอนนั้นถือว่ามีการควบคุมพื้นที่โดยรอบรวมทั้งอียิปต์และซูดาน อังกฤษได้ปกป้องคลองจากการโจมตีของจักรวรรดิออตโตมันในปี พ.ศ. 2458 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สนธิสัญญาแองโกล - อียิปต์ปี พ.ศ. 2479 ยืนยันอีกครั้งว่า อังกฤษสามารถควบคุมเส้นทางน้ำที่สำคัญนี้ ซึ่งมีความสำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อฝ่ายอักษะโดยอิตาลีและเยอรมันพยายามยึดครอง แม้จะคลองสุเอซจะมีสถานะเป็นกลางก็ตาม แต่เรือของฝ่ายอักษะก็ถูกห้ามไม่ให้แล่นผ่านคลองสุเอซในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2494 อียิปต์ได้ถอนตัวจากสนธิสัญญาแองโกล - อียิปต์ หลังจากการเจรจาหลายปีอังกฤษได้ถอนทหารออกจากคลองสุเอซในปี พ.ศ. 2499 และส่งมอบการควบคุมให้กับรัฐบาลอียิปต์เพื่อให้มีประสิทธิภาพภายใต้การนำของประธานาธิบดี Gamal Abdel Nasser โดยประธานาธิบดี Nasser ได้จัดการควบคุมการดำเนินงานของคลองสุเอซอย่างรวดเร็ว และได้โอนความเป็นเจ้าของให้กับ Suez Canal Authority (SCA) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของอียิปต์ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2499 ทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาต่างโกรธเคืองในความเคลื่อนไหวนี้เช่นเดียวกับความพยายามของรัฐบาลอียิปต์ในการสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตในเวลานั้น ในขั้นต้นทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาถอนสัญญาการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการปรับปรุงตามแผนในพื้นที่สุเอซรวมถึงการก่อสร้างเขื่อนอัสวาน

อย่างไรก็ตามทั้งสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรปต่างก็โกรธแค้นมากด้วยการตัดสินใจของรัฐบาล Nasser ที่จะปิดช่องแคบ Tiran ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำที่เชื่อมระหว่างอิสราเอลกับทะเลแดง โดยห้ามเรืออิสราเอลทั้งหมด และเพื่อเป็นการตอบโต้ ตุลาคม พ.ศ. 2499 กองกำลังจากอังกฤษ ฝรั่งเศส และอิสราเอล ได้ขู่ว่าจะบุกอียิปต์ซึ่งนำไปสู่วิกฤตสุเอซ ต่อมา Lester B. Pearson รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดาได้เสนอให้สหประชาชาติให้จัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพขึ้น ซึ่งถือเป็นกองกำลังรักษาความสงบแห่งแรกเพื่อทำการปกป้องคลองสุเอซ และเพื่อเป็นการรับรองการเข้าถึงการใช้คลองสุเอซของทุกชาติ สหประชาชาติให้สัตยาบันข้อเสนอของ Pearson ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 แม้ว่า SCA ยังคงดำเนินการบริหารจัดการคลองสุเอซ ต่อไปก็ตาม แต่กองกำลังของสหประชาชาติยังคงอยู่เพื่อรักษาสันติภาพในคาบสมุทรไซนายที่อยู่ใกล้เคียง และนี่ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่คลองสุเอซจะมีบทบาทสำคัญต่อความขัดแย้งระหว่างประเทศ

สงครามอาหรับ - อิสราเอล เมื่อเริ่มสงครามหกวันปี 1967 ประธานาธิบดี Nasser ได้สั่งให้กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติถอนออกจากคาบสมุทรไซนาย อิสราเอลจึงส่งทหารเข้าไปในภูมิภาคนี้ทันที และในที่สุดก็สามารถเข้าควบคุมฝั่งตะวันออกของคลองสุเอซ ประธานาธิบดี Nasser จึงให้ทำการปิดล้อมการจราจรทางทะเลทั้งหมดเพื่อไม่ต้องการให้เรือของอิสราเอลสามารรถเข้าถึงคลองสุเอซ จนทำให้เรือบรรทุกสินค้า 15 ลำที่แล่นเข้ามาในคลองสุเอซในช่วงเวลาของการปิดล้อมต้องติดค้างอยู่ในคลองสุเอซเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งมีการเปิดใช้คลองสุเอซ หลังจากกองเรือกวาดทุ่นระเบิดของสหรัฐฯและอังกฤษเข้ากวาดล้างทุ่นระเบิดในคลองสุเอซจนปลอดภัยอีกครั้ง ประธานาธิบดีคนใหม่ของอียิปต์ในขณะนั้น Anwar Sadat ได้เปิดใช้คลองสุเอซอีกครั้งในปี พ.ศ. 2518 และเป็นผู้นำขบวนเรือมุ่งหน้าตามคลองสุเอซไปทางเหนือไปยัง Port Said อย่างไรก็ตามกองกำลังอิสราเอลยังคงอยู่ในคาบสมุทรไซนายจนถึงปี พ.ศ. 2524 อันเป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาสันติภาพอียิปต์ - อิสราเอล ปี พ.ศ. 2522 กองกำลังนานาชาติและผู้สังเกตการณ์ถูกส่งไปประจำการที่นั่นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันคลอง ซึ่งยังคงประจำอยู่จนถึงทุกวันนี้

อาคาร Suez Canal Authority (SCA) ผู้รับผิดชอบการบริหารจัดการคลองสุเอซ

สำนักงานบริหารและจัดการตลองสุเอซ (Suez Canal Authority : SCA) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2499 โดยประธานาธิบดี Gamal Abdel Nasser เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและเป็นหน่วยงานอิสระนิติบุคคล ซึ่ง SCA จะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีของอียิปต์ ประกอบด้วยหน่วยงานทั้งหมดที่จำเป็นในการบริหารจัดการคลองสุเอซ รวมทั้งการดำเนินการขุดลอกคลองสุเอซ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมาย ระเบียบ ข้อปฏิบัติ และระบบของรัฐบาล โดย SCA เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่จัดการดำเนินในการใช้ บำรุงรักษา และปรับปรุงคลองสุเอซ และโดยเฉพาะในการออกและบังคับใช้กฎการเดินเรือในคลองสุเอซ ตลอดจนกฎและข้อบังคับอื่น ๆ ที่ช่วยให้การบบริหารจัดการให้การเดินเรือในคลองสุเอซเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ โดย SCA อาจจัดตั้ง สนับสนุน หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งโครงการที่เกี่ยวข้องกับคลองสุเอซ เมื่อจำเป็น SCA ในการปฏิบัติตามหน้าที่และภาระผูกพันโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ SCA อาจให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของตน และอาจเช่าที่ดิน เมื่อจำเป็น SCA ในการปฏิบัติตามหน้าที่และภาระผูกพันโดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจในการเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ SCA อาจให้เช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของตน และอาจเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ของบุคคลอื่นเช่นกันเพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในการบริหารจัดการคลองสุเอซ และเพื่อสวัสดิการของพนักงาน หรือเพื่อสร้างโครงการและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคลองสุเอซเพื่อช่วยให้การใช้งานคลองสุเอซได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นสถานีน้ำและโรงไฟฟ้า ฯลฯ

เรือบรรทุกเครื่องบิน USS America (CV-66) ขณะแล่นผ่านคลองสุเอช

SCA จะกำหนดและเรียกเก็บค่าผ่านทางสำหรับการนำทางและการขนส่งผ่านคลองสุเอซและในการนำร่อง การลากจูง การจอดเรือ และการดำเนินการอื่น ๆ ที่คล้ายคลึงกันตามกฎหมายและข้อบังคับ SCA มีงบประมาณแยกต่างหากซึ่งเป็นไปตามกฎที่ใช้กับโครงการเชิงพาณิชย์ ปีงบประมาณเริ่มในวันที่ 1 กรกฎาคม และสิ้นสุดในวันที่ 30 มิถุนายนของทุกปี SCA จะไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัติของอนุสัญญาคอนสแตนติโนเปิล ปี ค.ศ. 1888 เกี่ยวกับการเดินเรืออย่างเสรีในคลองสุเอซทางทะเล และจะไม่ให้สิทธิพิเศษใด ๆ กับเรือหรือบุคคลปกติ / ตามกฎหมายที่ไม่ได้รับในสถานการณ์เดียวกัน สำหรับเรือลำอื่น ๆ หรือบุคคลปกติ / ตามกฎหมาย และจะไม่เลือกปฏิบัติต่อลูกค้าบางรายเพื่อสนับสนุนลูกค้ารายอื่น คลองสุเอซในปัจจุบันทุกวันนี้มีเรือเดินเรือผ่านคลองสุเอซโดยเฉลี่ย 51.5 ลำทุกวัน ซึ่งมีระวางบรรทุกสินค้ามากกว่า 300 ล้านตันต่อปี ในปี พ.ศ. 2557 รัฐบาลอียิปต์ได้จัดทำโครงการขยายคลองสุเอซมูลค่า 8 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งขยายคลองสุเอซจาก 61 เมตรเป็น 312 เมตร เป็นระยะทาง 21 ไมล์ โครงการนี้ใช้เวลาหนึ่งปีในการดำเนินการ และด้วยเหตุนี้คลองสุเอซจึงสามารถรองรับเรือที่จะแล่นผ่านพร้อมกันทั้งสองทิศทางได้

แม้ว่าจะมีเส้นทางที่กว้างขึ้น แต่ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 05:40 UTC (07:40 น. ตามเวลาท้องถิ่น) เรือบรรทุกสินค้า Ever Given เรือคอนเทนเนอร์ขนาดยักษ์ที่ดำเนินการโดยบริษัท Evergreen Marine ไต้หวัน ซึ่งมีความยาวประมาณ 400 เมตร และระวางขับน้ำกว่า 200,000 ตัน มุ่งหน้าจากจีนไปยุโรปก็ติดอยู่ในคลองสุเอซ จนปิดกั้นเรือเดินทะเลรวมแล้วมากกว่า 350 ลำ ณ ปลายแต่ละด้านของคลองสุเอซ หลังจากที่มีความพยายามขุดลอกทรายตลอดช่วงสุดสัปดาห์ ทีมกู้ภัยเรือจาก SCA และทีมงานจากบริษัท Smit Salvage ของเนเธอร์แลนด์ ก็ได้เริ่มใช้เรือลากจูงกว่า 10 ลำดึงเรือยักษ์จากทั้งส่วนหัวและท้ายตั้งแต่ช่วงกลางดึกของวันนี้ (29 มีนาคม) ล่าสุด SCA ยืนยันว่า เรือ Ever Given ได้ถูกดึงกลับมาอยู่ในแนวขนานกับลำคลองเรียบร้อยแล้ว

โดยทีมกู้ภัยจะเริ่มปฏิบัติการลากจูงเรืออีกครั้งหลังจากที่กระแสน้ำขึ้น โดยคาดว่าจะสามารถเปิดคลองสุเอซให้เรือสินค้าสัญจรผ่านได้ตามปกติหลังจากที่เรือ Ever Given ถูกนำไปยังบริเวณ Great Lakes ซึ่งเป็นจุดที่ลำคลองมีความกว้างเป็นพิเศษ การขนส่งสินค้าทางน้ำราว 15% ของทั่วโลกจะต้องผ่านคลองสุเอซ ซึ่งช่วยดึงเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศอียิปต์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ วิกฤตเรือยักษ์ขวางคลองครั้งนี้ ทำให้รัฐบาลอียิปต์ต้องสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 14 - 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน และการที่เรือลำนี้จอดปิดเส้นทางอยู่ก็ส่งผลให้อัตราค่าขนส่งของเรือบรรทุกน้ำมันพุ่งขึ้นเกือบ 2 เท่า ทั้งนี้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางเรือบางรายตัดสินใจนำเรือไปอ้อมแหลม Good Hope แทน ซึ่งจะต้องใช้เวลาเดินทางนานขึ้นประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ทำให้ต้นทุนของเชื้อเพลิงสูงอีกขึ้นด้วย

เรือ Ever Given ได้ถูกดึงกลับมาอยู่ในแนวขนานกับลำคลองเรียบร้อยแล้ว

คิดถึง “Dilwara” วัดเชนที่งดงามและทรงคุณค่าที่สุดในปฐพี

เพราะเจ้าโควิดนี่เองที่ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศกันได้เกินกว่า 1 ปีแล้ว ทั้ง ๆ ที่ผมตั้งใจไว้ตั้งแต่ก่อนเกษียณอายุราชการว่า หลังเกษียณจะทำสามสิ่งคือ “นอนตื่นสาย บ่ายเดินห้าง ว่าง ๆ ไปต่างประเทศ” แต่เอาเข้าจริงก็ทำไม่ได้เลยสักอย่าง ส่วนหนึ่งก็เพราะเจ้าโควิดนี่เอง โดยในสามสิ่งที่อยากทำและเสียดายมากที่สุดก็คือการเดินทางท่องเที่ยวไปในต่างประเทศที่เล็งไว้หลายที่

มีเพื่อนฝูงถามไถ่มาหลายคนว่าถ้าหมดโควิด (ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะอีกนานแค่ไหน) จะไปเที่ยวประเทศไหนเป็นประเทศแรก ผมก็ตอบได้ทันทีแบบไม่ต้องคิดเลยว่า “อินเดีย” เพราะเคยประจำการอยู่ที่เมืองมุมไบหลายปีและได้หลงเสน่ห์อินเดียแบบถอนตัวไม่ขึ้นไปแล้ว โดยสถานที่แรกในอินเดียที่ผมจะต้องไปให้ได้และคิดถึงอยู่ตลอดก็คือ Dilwara วัดเชนที่แสนจะงดงามบนภูเขาที่ชื่อว่า Mount Abu ในรัฐราชสถานนั่นเอง

แต่ก่อนที่ผมจะพาทุกท่านไปพบกับความงดงามของ Dilwara ผมขออนุญาตเกริ่นนำให้รู้จักกับ “ศาสนาเชน” (ที่อินเดียจะออกเสียงเป็น “เจน”) ซึ่งเป็นที่มาของ “วัดเชน” เสียก่อนด้วยข้อมูลเบื้องต้นจาก Wikipedia โดยศาสนาเชน (Jainism) มาจากคำว่า “ไชนะ” หรือ “ชินะ” ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่า “ผู้ชนะ” และสามารถลุยข้ามสายน้ำแห่งการเวียนว่ายตายเกิดได้ เป็นศาสนาเก่าแก่ของอินเดีย เป็นหนึ่งในลัทธิสำคัญทั้งหกที่เกิดร่วมสมัยกับพระโคตมพุทธเจ้าหรือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน โดยในศาสนาเชนเชื่อว่ามีศาสดาที่เรียกว่า “ตีรถังกร” อยู่ด้วยกัน 24 องค์ในจักรวาลปัจจุบัน องค์แรกคือ พระอาทินาถ และองค์สุดท้ายก็คือ พระมหาวีระหรือพระมหาวีร์ โดยตีรถังกรคือบุคคลผู้บรรลุเกวลญานหรือเป็นสัพพัญญู และเผยแผ่ธรรมะนั้น โดยในบรรดาตีรถังกรทั้ง 24 องค์นั้น ที่ได้รับการเคารพบูชาสูงสุดมีอยู่สี่องค์คือ พระอาทินาถ พระเนมินาถ พระปารศนาถ และพระมหาวีระหรือมหาวีร์ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายมีชีวิตอยู่ราว 500 ปีก่อนคริสตกาล

โดยศาสนิกชนในศาสนาเชนที่เคร่งจะถือปฏิญญา 5 ประการ คือ อหิงสา (ความไม่รุนแรง) สัตยะ (ความจริง) อสตียะ (ไม่ลักขโมย) พรหมจรรย์ (การถือพรหมจรรย์) และอปริเคราะห์ (ความไม่ยึดติด) ซึ่งหลักการเหล่านี้นำไปสู่วัฒนธรรมเชนที่มีลักษณะเฉพาะหลายประการโดยเฉพาะการรับประทานอาหารมังสวิรัติที่เข้มงวดมากเพื่อป้องกันการทำลายสัตว์ต่าง ๆ และรบกวนวงจรชีวิตของมัน เพราะฉะนั้นศาสนิกชนในศาสนาเชนจะไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ไข่ และส่วนของพืชที่มาจากใต้ดินเนื่องจากการขุดดินลงไปอาจไปทำลายสัตว์เล็ก ๆ รวมทั้งแมลงหรือไข่ของแมลงที่อยู่ใต้ดินได้ โดยศาสนาเชนมีคติพจน์ว่า “ปรัสปโรปัครโห ชีวานาม” อันแปลว่า “หน้าที่ของสิ่งมีชีวิตหนึ่งคือการช่วยเหลือกัน” เพราะฉะนั้นนักบวชในศาสนาเชนจึงไม่สามารถนั่งยานพาหนะใด ๆ ได้เพราะการเดินทางโดยยานพาหนะอาจจะไปทำลายสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ ระหว่างการเดินทางโดยไม่ตั้งใจ ก็เลยทำให้การเผยแพร่ศาสนาเชนเป็นไปได้ยาก

ทั้งนี้ ศาสนาเชนหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็นสองนิกาย ได้แก่ นิกายทิฆัมพร (นักบวชจะนุ่งลมห่มฟ้าเป็นชีเปลือย) กับนิกายเศวตัมพร (นักบวชจะนุ่งห่มด้วยผ้าสีขาว) และยังมีสาขาย่อยแตกออกไปอีกมากมาย ในปัจจุบันศาสนาเชนมีศาสนิกชนทั่วโลกแค่ประมาณ 4 - 5 ล้านคน โดยส่วนมากอยู่ในประเทศอินเดียแต่ก็มีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 0.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของอินเดียเท่านั้น นอกจากนี้ ส่วนน้อยนอกอินเดียก็จะอยู่ที่แคนาดา ยุโรป เคนยา สหราชอาณาจักร ฮ่องกง ฟิจิ และสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนศาสนิกชนในศาสนาเชนจะมีจำนวนน้อยมาก แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคนรวยมีฐานะทางเศรษฐกิจดีเนื่องจากไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรได้ เพราะการขุดดินหรือการไถพรวนดินจะทำให้สิ่งมีชีวิตในดินถูกทำลายลงซึ่งขัดกับคำสอนของศาสนา เพราะฉะนั้น ศาสนิกชนในศาสนาเชนส่วนใหญ่จึงเป็นนักการค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นพ่อค้าเพชรซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในรัฐคุชราตและในเมืองมุมไบในรัฐมหาราษฎร์ของอินเดีย และนั่นก็คือสาเหตุสำคัญที่วัดเชนทุกวัดจะถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวยงามเพราะมีสปอนเซอร์ดีนั่นเอง

สำหรับ Dilwara Temples เป็นหมู่ศาสนสถานของศาสนาเชนที่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่ในบริเวณเดียวกันจำนวน 5 วัดหรือ 5 มณเฑียร บางครั้งก็เขียนเป็น Delwara ตามการออกเสียง ตั้งอยู่บนภูเขาที่ชื่อว่า Mount Abu บนระดับความสูงประมาณ 1,219 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในรัฐราชสถาน โดยหมู่มณเฑียรทั้งห้านี้ตั้งอยู่รวมกันภายในกำแพงสูงหนึ่งเดียวท่ามกลางขุนเขาที่ปกคลุมไปด้วยป่าไม้ แต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมของตน โดยชื่อ Dilwara ก็มาจากชื่อของหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่หมู่มณเทียรนี้ตั้งอยู่ ซึ่งหมู่มณเทียรทั้งห้าแห่งนั้นประกอบด้วย

- วัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี (Vimal Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรหรือพระศาสดาองค์แรกหรือพระศรีอาทินาถ

- วัดพระศรีเนมินาถหรือวัดลูนาวาซาฮี (Luna Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 22 ซึ่งก็คือ พระศรีเนมินาถ

- วัดปิตตัลหาร์ (Pittalhar) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์แรก พระศรีอาทินาถ

- วัดพระศรีปรศวนาถ (Parshvanath) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 23 หรือพระศรีปารศนาถ

- วัดพระศรีมหาวีระสวามี (Mahavir Swami) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 24 ซึ่งเป็นองค์สุดท้ายคือ พระศรีมหาวีระหรือพระศรีมหาวีร์

แต่ว่าทั้ง 5 มณเฑียรของ Dilwara ปรากฏว่ามีเพียง 2 มณเฑียรเท่านั้นที่เสร็จสมบูรณ์ คือ วัดวิมลวาซาฮีกับวัดลูนาวาซาฮี ส่วนที่เหลืออีก 3 มณเฑียรสร้างไม่เสร็จ แต่แค่ 2 มณเฑียรที่สร้างเสร็จก็งดงามวิจิตรพิศดารด้วยงานแกะสลักหินอ่อนที่ละเอียดอ่อนช้อยและตระการตา ยากจะหาที่อื่นใดในโลกนี้มาเทียบได้ โดยทั้ง 5 มณเฑียรล้วนแต่สร้างขึ้นมาด้วยหินอ่อนทั้งสิ้น และเป็นหินอ่อนชั้นเยี่ยมที่มาจากเมืองมกรานา (Makrana) ในรัฐราชาสถาน แหล่งเดียวกับหินอ่อนที่ใช้ในการสร้างทัชมาฮาล ซึ่งถือเป็นแหล่งหินอ่อนคุณภาพสูงที่มีชื่อเสียงที่สุดของอินเดียโดยใช้ช้างในการขนส่งขึ้นภูเขามาสร้าง Dilwara แห่งนี้

โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Dilwara เป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดเหนือกว่าสิ่งก่อสร้างไหน ๆ ในอินเดีย ครั้งแรกที่เดินทางไปถึงด้านหน้าของวัด Dilwara ก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างมากเพราะดูแล้วไม่มีอะไรจนแอบหวั่นใจว่าจะโดนหลอก เพราะมองไปก็เห็นเหมือนสิ่งก่อสร้างทั่วไปที่สร้างด้วยปูนซีเมนต์ แต่พอเดินเข้าไปในวัดเท่านั้นแหละ ก็รู้สึกตื่นตาตื่นใจกับงานแกะสลักหินอ่อนที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อนและหลงรัก Dilwara มาตั้งแต่บัดนั้น และทุกครั้งที่มีเวลาว่างก็จะเดินทางไปเยือนสถานที่แห่งนี้เสมอ นับถึงปัจจุบันก็มากกว่า 10 ครั้งแล้วและก็จะยังกลับไปเยือนอีกถ้ามีโอกาส

สำหรับมณเฑียรที่โดดเด่นและสร้างเสร็จสมบูรณ์มีอยู่ 2 มณเฑียรคือ วัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี (Shri Adinath Temple หรือ Vimal Vasahi Temple) กับวัดพระศรีเนมินาถหรือลูนาวาซาฮี (Shri Neminath Temple หรือ Luna Vasahi) โดยเราจะใช้เวลาเกือบทั้งหมดในการชมสองมณเฑียรนี้ ซึ่งตามปกติจะเปิดให้เข้าชมได้ทุกวันระหว่างเวลา 12.00 - 18.00 น. โดยไม่ต้องเสียค่าเข้าชม สาเหตุที่เปิดให้เข้าชมเฉพาะช่วงบ่ายก็เพราะว่าในช่วงเช้าศาสนิกชนที่นับถือศาสนาเชนจะเข้าไปสวดมนต์ตามปกติ ทางวัดก็เลยไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้

ในส่วนของวัดพระศรีอาทินาถหรือวัดวิมลวาซาฮี สร้างขึ้นโดยวิมล ชาห์ (Vimal Shah) รัฐมนตรีและผู้บัญชาการกองทัพบกของ Bima Dev I เจ้าผู้ครองแห่งราชวงศ์โซลังกี ออกแบบโดย วัสตุปาล (Vastupala) สร้างขึ้นในปี 1032 และมีชื่อเสียงด้วยงานหินอ่อนและงานแกะะสลักหินอ่อนอันประณีต ที่นี่เป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญหนึ่งของศาสนาเชน และได้รับการเชิดชูว่าเป็นวัดเชนหรือมณเทียรที่ออกแบบมาได้สวยงามที่สุด โดยมีทางเข้าที่หรูหรา ส่วนตัวอาคารนั้นสร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย อันสะท้อนถึงคุณค่าของศาสนาเชนในความซื่อสัตย์และความประหยัด รายละเอียดของการแกะสลักตกแต่งไชนมนเทียรเหล่านี้มีความตระการตามาก เชื่อกันว่าช่างแกะสลักที่นี่ได้รับค่าว่าจ้างเป็นทองเท่ากับน้ำหนักของผงหินอ่อนที่เขาแกะสลัก วัดนี้เป็นวัดเชนที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาวัดเชนทั้ง 5 วัดใน Dilwara มีอายุประมาณ 1,000 ปี ภายในวัดประกอบไปด้วยโดมหลายโดมที่มีการแกะสลักเป็นรูปเทพที่สวยงามสมส่วนทั้งองค์เล็กองค์น้อยจำนวนมาก และทั้งวัดล้อมรอบด้วยพระระเบียงที่มีการแกะสลักหินอ่อนที่เสาและเพดานที่มีการแบ่งพื้นที่เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสจำนวนมากล้อมรอบวัด

อีกวัดหนึ่งคือ วัดพระศรีเนมินาถหรือวัดลูนาวาซาฮี (Luna Vasahi) สร้างขึ้นเพื่อบูชาตีรถังกรองค์ที่ 22 ซึ่งก็คือ พระศรีเนมินาถ วัดอันงดงามแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1230 โดยพี่น้อง Porwad สองคนคือ Vastupal และ Tejpal รัฐมนตรีทั้งสองของ Virdhaval ผู้ปกครอง Vaghela ของแคว้นคุชราต เพื่อรำลึกถึง Lunig พี่ชายผู้ล่วงลับไปแล้ว วิหารมีโครงสร้างคล้ายกับวัดวิมาลวาซาฮี แต่ความมีชีวิตชีวาของการแกะสลักภายในนั้นยิ่งใหญ่กว่า ห้องโถงใหญ่มีโดมตรงกลางซึ่งมีการแกะสลักอย่างประณีต มีรูปสลักของติรถังกรจำนวน 72 รูปอยู่ในท่านั่งและด้านล่างของวงนี้คือรูปสลักพระเชนขนาดเล็ก 360 รูปในอีกวงหนึ่งล้อมรอบรูปสลักของติรถังกร แต่จุดเด่นของวัดนี้จะอยู่ที่รูปแกะสลักซึ่งส่วนใหญ่จะแกะเป็นช่อดอกไม้ห้อยย้อยมาจากเพดานจำนวนมาก ดูเหมือนโคมไฟแชนเดอเลียร์ที่สวยงาม แต่เป็นฝีมือการแกะสลักหินอ่อนที่ละเอียดงดงามยากที่งานแกะสลักหินอ่อนที่ใดในโลกจะสามารถเทียบได้

ยิ่งเขียนยิ่งคิดถึง Dilwara ตอนนี้ก็แค่รอว่าโควิดหมดไปเมื่อไหร่ Dilwara จะเป็นสถานที่แห่งแรกในต่างประเทศที่ผมจะรีบเดินทางไปเยือนทันที

ก้าวแรกกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ

ปี 2564 นี้เป็นปีที่ประเทศไทยของเราจะเข้าสู่ “สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society)” คือมีประชากร “ผู้สูงอายุ” หรือคนที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ประเทศไทยของเรายังขาดความพร้อมอีกหลายด้านในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนี้ เช่น การขาดแคลนแรงงานในบางสาขาอาชีพ ระบบสาธารณูปโภคที่รองรับผู้สูงวัย รัฐสวัสดิการของผู้สูงอายุ เป็นต้น

ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งที่เราพูดกันมานาน แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็คือ เงินที่จะใช้ในการดำรงชีพของผู้สูงวัยที่เกษียณจากการทำงาน ที่มีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุหลายคนจะมีเงินไม่พอใช้ไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

หลายครอบครัวจึงส่งเสริมให้ลูกหลานไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการ เพราะแม้ว่าเงินเดือนจะไม่มาก แต่มีความมั่นคงในอาชีพสูง และที่สำคัญ คือ เมื่อเกษียณอายุ รัฐก็เลี้ยงดูโดยการจ่ายเงินบำนาญให้จนกว่าจะลาโลกนี้ไป

ต่างจากการทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทเอกชน ที่มีเพียงเงินบำนาญหลังเกษียณจาก “กองทุนประกันสังคม” เพียงไม่กี่พันบาทต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งดูแล้วไม่น่าจะเพียงพอต่อค่าครองชีพในอนาคตแน่นอน

ถ้าบริษัทไหนที่มีสวัสดิการดีหน่อย นายจ้างก็อาจจะมีการจัดตั้ง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ทำให้ลูกจ้างมีโอกาสได้รับเงินก้อนหลังจากเกษียณมาจำนวนหนึ่งด้วย

โดยเจ้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เกิดจากการหักเงินเดือนของลูกจ้างส่วนหนึ่งมาจ่ายสะสมเข้าไปในกองทุน และนายจ้างก็จะจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างในทุกเดือน ๆ ด้วย หลังจากนั้นผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินเหล่านั้นไปลงทุนเพื่อให้เงินในกองทุนนั้นงอกเงยขึ้นมา และเมื่อถึงวันที่ลูกจ้างเกษียณ ก็จะได้รับเงินคืนทั้งส่วนที่หักจากเงินเดือนของเรา ทั้งในส่วนของเงินที่นายจ้างจ่ายสมทบให้ และในส่วนของดอกผลที่ได้รับมาจากการลงทุนด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกบริษัทจะมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะกฎหมายปัจจุบัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคสมัครใจ คือ นายจ้างรายใดสมัครใจตั้ง ก็ตั้งได้ รายใดไม่อยากตั้ง ก็ไม่ต้องตั้ง ดังนั้น ไม่ใช่ลูกจ้างทุกรายในภาคเอกชนที่จะได้รับเงินบำเหน็จหลังเกษียณจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยังมีลูกจ้างในภาคเอกชนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้รับสวัสดิการแบบนี้

ทำให้มีเสียงเรียกร้องและพูดคุยกันมาหลายปีแล้วถึง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ” โดยหวังว่าลูกจ้างในภาคเอกชนทุกรายจะมีเงินใช้อย่างเพียงพอภายหลังการเกษียณ ไม่ว่าจะเลือกรับไปในรูปแบบของเงินบำเหน็จ หรือเงินบำนาญ

ล่าสุดคณะรัฐมนตรีก็ได้มติเห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) แล้ว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลใช้บังคับทันที เพราะยังต้องผ่านกระบวนการของสภาผู้แทนราษฎรอีกยาวไกล กว่าจะประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายได้

แต่อย่างน้อย ก็ถือว่าเราได้เริ่มต้นนับหนึ่งแบบเป็นทางการแล้วสำหรับ “กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ”

ทั้งนี้ ร่างกฎหมาย กบช. นี้มีหลักการสำคัญที่จะนำไปใช้ในการพิจารณาร่างเป็นกฎหมายต่อไป ดังนี้

1.) กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาตินี้ จะถือเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ โดยลูกจ้างในภาคเอกชนทุกรายที่มีอายุตั้งแต่ 15 – 60 ปี และนายจ้างไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ จะถูกบังคับให้เข้ามาเป็นสมาชิกของ กบช. ทุกราย แต่ถ้านายจ้างที่ใดมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ลูกจ้างก็จะเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงของนายจ้างได้ต่อไปตามปกติ

2.) ลูกจ้างที่เข้ามาเป็นสมาชิก กบช. แล้ว จะถูกหักเงินจากเงินเดือนส่งเข้ากองทุนในอัตราดังนี้

- ทำงานปีที่ 1 – 3 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 3% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 3% = 600 บาท ส่งเข้ากองทุน

- ทำงานปีที่ 4 – 6 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 5% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 5% = 1,000 บาท ส่งเข้ากองทุน

 - ทำงานปีที่ 7 - 9 จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 7% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 7% = 1,400 บาท ส่งเข้ากองทุน

- ทำงานปีที่ 10 เป็นต้นไป จะถูกหักเงินสะสมไม่น้อยกว่า 10% ของค่าจ้าง เช่น เราได้เงินเดือน 20,000 บาท ก็จะถูกหักเงินเดือน 20,000 x 10% = 2,000 บาท ส่งเข้ากองทุน

3.) เมื่อลูกจ้างจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนแล้ว ฝ่ายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนด้วยเช่นกัน เช่น เราเป็นลูกจ้าง ถูกหักเงินเดือน 600 บาทเข้ากองทุนนี้ นายจ้างที่จ่ายเงินเดือนให้เราก็จะถูกบังคับให้จ่ายเงิน 600 บาทไปออมเพิ่มให้เราด้วย หมายความว่าเราโดนหักเงินแค่ 600 บาท แต่เราได้เงินออมในกองทุนถึง 1,200 บาทเลยทีเดียว

4.) อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างที่มีเงินเดือนน้อยกว่า 10,000 บาท จะได้รับการยกเว้น โดยเข้าเป็นสมาชิก กบช. แต่ไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนแต่อย่างใด แต่ฝ่ายนายจ้างจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้แทน เช่น เราเริ่มทำงานปีแรกได้เงินเดือน 8,000 บาท ความจริงควรจะถูกหัก 3% เข้ากองทุน แต่กฎหมายฉบับนี้ยกเว้นให้ แต่ในส่วนของนายจ้างไม่ได้รับการยกเว้น ก็ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบ 8,000 x 3% = 240 บาท เข้าไปเป็นเงินออมให้เรา

5.) เงินค่าจ้างที่จะถูกนำมาคำนวณเพื่อหักเข้ากองทุนสูงสุดนั้นจะอยู่ที่อัตรา 60,000 บาท เช่น ลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปี มีเงินเดือน 100,000 บาท โดยหลักแล้วจะต้องถูกหักเงิน 10% เข้ากองทุน เพราะอายุงานเกินกว่า 10 ปี แต่ในการนำเงินส่งเข้ากองทุน ลูกจ้างรายนี้จะถูกหักเงินเพื่อนำส่งเข้ากองทุนเพียง 60,000 x 10% = 6,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น

6.) เงินสะสมของลูกจ้าง และเงินสมทบของนายจ้างที่ถูกส่งเข้าไปในกองทุนนี้ กบช. จะนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้กับลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับเงินคืน โดยสามารถเลือกได้ 2 รูปแบบ คือ รับเป็นเงินบำเหน็จก้อนเดียว หรือ รับเป็นเงินบำนาญรายเดือนไป 20 ปี

จะเห็นได้ว่า กบช. นี้จะเป็นการบังคับลูกจ้างในภาคเอกชนให้ออมเงินเพื่อการเกษียณ และเมื่อเกษียณแล้วลูกจ้างก็จะสามารถเลือกรับเงินบำเหน็จ หรือ บำนาญก็ได้ โดยรัฐบาลหวังว่าเงินออมเหล่านี้จะช่วยให้ลูกจ้างมีเงินเพื่อการดำรงชีพต่อไปได้ภายหลังการเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากครับ

แม้ว่าหลักการของกฎหมายฉบับนี้จะออกมาดูดีมีประโยชน์ แต่ยังมีเรื่องที่รัฐบาลจะต้องไปทำการบ้านต่ออีกมาก เพราะ ปัจจุบันบ้านเรามีกองทุนเพื่อการออมหรือเพื่อการเกษียณจำนวนมาก เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนเงินออมแห่งชาติ (กบช.) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ซึ่งบางกองทุนเป็นแบบสมัครใจ บางกองทุนก็เป็นแบบบังคับ ทำให้มีความซ้ำซ้อนอยู่มาก

ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่ทำงานในบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว เมื่อลาออกแล้วย้ายไปทำงานบริษัทใหม่ ปรากฏว่าบริษัทนั้นไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างรายนั้นก็จะถูกบังคับให้เข้าไปเป็นสมาชิก กบช. แล้วแบบนี้จะมีการโอนย้ายเงินและนับอายุกันต่อไปอย่างไร

หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างสามารถขอรับคืนทั้งก้อนได้ตอนสิ้นสุดสัญญาจ้าง แต่กองทุน กบช. ลูกจ้างจะมีสิทธิได้เงินตอนอายุ 60 ปีเท่านั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในทางปฏิบัติของสมาชิกกองทุนทั้งสอง รัฐบาลก็จะต้องออกกฎหมายมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วย

รวมทั้งระบบข้อมูลสมาชิกกองทุนต่าง ๆ ที่จะต้องบูรณาการเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการออมข้ามไปมาระหว่างกองทุน

ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้รัฐบาลและภาคเอกชนจะต้องร่วมกันศึกษาและเตรียมการกันอีกปีสองปีกว่าจะออกมาใช้บังคับได้จริง แต่ถึงอย่างไร การที่ร่างกฎหมาย กบช. นี้ผ่าน ครม. ออกมาได้แล้ว ก็ถือเราได้ออกเดินก้าวแรกแล้ว แต่ไม่ว่าหนทางจะยาวไกลสักเพียงใดถึงจะถึงจุดหมาย มันก็ต้องเริ่มต้นที่ก้าวแรกเสมอ ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “หนทางหมื่นลี้ เริ่มต้นที่ก้าวแรก”

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 3

หน่วยงานหลักในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในประเทศไทยถูกบัญญัติไว้ใน มาตรา 234 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 นั่นคือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัย รวมถึงหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด โดยมีเจตนารมณ์ให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม นอกจากนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 มาตรา 62 มาตรา 63 มาตรา 64 มาตรา 65 และมาตรา 66 ได้กําหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 234 วรรคสอง กําหนดไว้ ด้วยหลักการของบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นศูนย์กลางของการรับเรื่องกล่าวหาร้องเรียนการทุจริตเจ้าพนักงานของรัฐทุกระดับ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2561

ในตอนนี้จะขอกล่าวถึง ปัญหาการรวมศูนย์ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยอ้างอิง เอกสารสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย พ.ศ. 2562

ในปีงบประมาณ 2562 คํากล่าวหาร้องเรียนที่เข้ามาสู่สํานักงาน ป.ป.ช. มีจํานวนทั้งสิ้น 10,382 เรื่อง แยกเป็น หนังสือร้องเรียน จํานวน 4,855 เรื่อง (ร้อยละ 46.76) บัตรสนเท่ห์ จํานวน 2,632 เรื่อง (ร้อยละ 25.35) หนังสือราชการ จํานวน 2,143 เรื่อง (ร้อยละ 20.64) ร้องเรียนผ่านทางเว็บไซต์ จํานวน 529 เรื่อง (ร้อยละ 5.10) ร้องเรียนด้วยวาจา จํานวน 184 เรื่อง (ร้อยละ 1.77) เหตุอันควรสงสัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จํานวน 30 เรื่อง (ร้อยละ 0.29) และแจ้งเบาะแส จํานวน 9 เรื่อง (ร้อยละ 0.09) ตามลําดับ

ภายใต้ขั้นตอนของการกลั่นกรองและพิจารณา จากคำกล่าวหาทั้งสิ้น 10,382 เรื่อง สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเอง จํานวน 2,889 เรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการแยกออกเลขเรื่องเพิ่มขึ้น จํานวน 396 เรื่องรวมเป็นคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการเองจํานวนทั้งสิ้น 3,285 เรื่อง ส่งหน่วยงานภายนอก 3,488 เรื่อง รวมเป็น จํานวน 6,773 เรื่อง

จากคํากล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในภาพรวม พบว่า คํากล่าวหาส่วนใหญ่เป็นประเภทปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น ละเลย เพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามหน้าที่ กระทําการเกินอํานาจหน้าที่โดยทุจริต และอนุมัติ/ไม่อนุมัติใบอนุญาตโดยมิชอบ เป็นต้น จํานวน 2,541 เรื่อง (ร้อยละ 37.52) รองลงมาเป็นประเภทจัดซื้อจัดจ้าง จํานวน 1,674 (ร้อยละ 24.72) และ ประเภทยักยอก/เบียดบังเงินหรือทรัพย์สินของทางราชการ จํานวน 896 เรื่อง (ร้อยละ 13.23) ตามลําดับ

แม้ว่าคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเองในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีการแบ่งขนาดไว้เป็นขนาดเล็ก (S) ขนาดกลาง (M) ขนาดใหญ่ (L) และขนาดใหญ่มาก (XL) โดยการแบ่งขนาดคํากล่าวหาพิจารณาจาก

1) ตําแหน่งของผู้ถูกกล่าวหา

2) จํานวนผู้ถูกกล่าวหา และ/หรือประเด็นข้อกล่าวหา

3) งบประมาณโครงการ/มูลค่าความเสียหาย/ผลกระทบต่อระบบ ราชการหรือสังคมส่วนรวม และ

4) ความยุ่งยากในการรวบรวมพยานหลักฐานหรือพยานบุคคล ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคํากล่าวหาขนาดกลาง (M) จํานวน 1,463 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 44.54 ของคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเองทั้งหมด (จํานวน 3,285 เรื่อง) รองลงมาเป็นขนาดเล็ก (S) จํานวน 1,183 เรื่อง (ร้อยละ 36.01) ขนาดใหญ่ (L) จํานวน 483 เรื่อง (ร้อยละ 14.70) และขนาดใหญ่มาก (XL) จํานวน 156 เรื่อง (ร้อยละ 4.75) ตามลําดับ

หากพิจารณามูลค่าที่เกี่ยวข้องจะพบว่า จากคํากล่าวหาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ที่สํานักงาน ป.ป.ช. รับไว้ดําเนินการเองจํานวน 3,285 เรื่อง เมื่อพิจารณาวงเงินงบประมาณของโครงการและจํานวนเงินที่มีการทุจริตตามคํากล่าวหา มีมูลค่ารวม 236,243,838,413 บาท หากจําแนกตามประเภทคํากล่าวหา พบว่า คํากล่าวหาประเภทจัดซื้อจัดจ้าง มีมูลค่ามากที่สุด จํานวน 207,060,914,215 บาท คิดเป็นร้อยละ 87.65 รองลงมาเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จํานวน 23,840,211,033 บาท (ร้อยละ 10.09) และการบริหารงานบุคคล (การบรรจุ/แต่งตั้ง/เลื่อนตําแหน่ง/โยกย้าย/ลงโทษวินัย) จํานวน 2,053,203,519 ล้านบาท (ร้อยละ 0.87) ตามลําดับ

หากวิเคราะห์จากตัวเลขคํากล่าวหาที่สํานักงาน ป.ป.ช. ดําเนินการเองจํานวนทั้งสิ้น 3,285 เรื่องนั้นสํานักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลาง มีคํากล่าวหา จํานวน 746 เรื่อง หรือกว่าร้อยละ 22 ของคำกล่าวหาที่ สํานักงาน ป.ป.ช. รับดำเนินการเองทั้งหมด ในแง่ประสิทธิภาพพิจารณาจากภาพรวม สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จเฉลี่ยวันละ 10 เรื่อง โดยที่แต่ละเรื่องอาจมีความยากง่าย ในการสวบสวน ไต่สวน รวบรวมข้อมูลพอสมควร และค่าเฉลี่ยวันละ 10 เรื่องนั้น สํานักงาน ป.ป.ช. ส่วนกลางรับผิดชอบมากกว่า 2 เรื่องต่อวัน ส่วนที่เหลือ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1-9 รับผิดชอบเฉลี่ยวันละ 1 เรื่องต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค

นี่คือตัวเลขเพียงปีงบประมาณ 2562 ปีเดียว

หากพิจารณาเรื่องคงค้างประกอบจะพบว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 สํานักงาน ป.ป.ช. มีเรื่องกล่าวหาคงค้างสะสม (ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2561) จํานวน 16,232 เรื่อง เรื่องกล่าวหารับใหม่ (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2561 -30 กันยายน 2562) จํานวน 3,285 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 19,517 เรื่อง ซึ่งได้ดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งสิ้น 5,893 เรื่อง หากคำนวณผลสำเร็จของการดำเนินการขั้นต้นจะพบว่า สํานักงาน ป.ป.ช. ดำเนินได้สำเร็จประมาณร้อยละ 30 เท่านั้น

หากเราหยุดเวลา โดยใช้อัตราความสำเร็จนี้ หมายความว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องใช้เวลาอีกกว่า 2 ปี ในการดำเนินการเรื่องคงค้างทั้งหมดโดยไม่รับเรื่องใหม่เข้ามา หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นกว่าเท่าเพื่อให้การดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งในกรณีหลังก็ยากที่จะเป็นไปได้

ดังนั้น หากจะกำหนดตัวชี้วัดหน่วยงาน สมควรพิจารณาอัตราการดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ป.ช. หรือเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพหรือไม่ คำถามนี้สำคัญมากๆ ซึ่งต้องดูข้อมูลเพิ่มเติม คือ

เรื่องที่ดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้นและในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง รวมทั้งสิ้น 5,893 เรื่อง ถูกแบ่งออกเป็น (1) เรื่องกล่าวหาที่ดําเนินการเสร็จในชั้นการตรวจสอบเบื้องต้น จํานวน 5,470 เรื่อง และ (2) เรื่องกล่าวหาที่ดําเนินการเสร็จในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริง จํานวน 423 เรื่อง ซึ่งเรื่องในกลุ่มแรกนั้น จาก 5,470 เรื่อง สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องดำเนินการต่ออีกใน กลุ่ม “รับไว้ดําเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง” จํานวน 726 เรื่อง

ข้อมูลนี้หมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า ผลสำเร็จของการดำเนินการขั้นต้นที่คำนวณไว้ประมาณร้อยละ 30 นั้น “นับซ้ำ” และไม่ใช่อัตราผลสำเร็จที่แท้จริง เพราะเรื่อง 726 เรื่องนั้น ยังต้องดำเนินการต่อ ซึ่งความสำเร็จที่แท้จริงคือ 423 เรื่องที่ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จรวมกับเรื่องที่อยู่ในกลุ่ม 5,470 เรื่องหักด้วย 726 เรื่อง ซึ่งคิดเป็นอัตราความสำเร็จที่แท้จริง ร้อยละ 26.47 เท่านั้น

ตารางที่แนบมาร้อยละเรื่องคงค้างสะท้อนประสิทธิภาพการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่แม้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 5 ปี แต่ยังไกลจากเป้าหมายการปลอดคอร์รัปชั่น ที่สำคัญที่สุด ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีมาตราที่ไม่ให้ดำเนินการกับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นตำแหน่งไปแล้ว 5 ปี ซึ่งจะเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่จะทำให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับผิดชอบกับกรรมที่ตนและพวกได้ก่อไว้ แน่นอนว่า โดยถูกกฎหมาย ผู้อ่านสามารถสังเกตหรือตั้งคำถามกับรายการในปีงบประมาณ 2562 ในกรณี ไม่รับ/ไม่ยกขึ้นพิจารณา ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 2,106 เรื่อง หรือกว่าร้อยละ 40 ของเรื่องที่ดำเนินการแล้วเสร็จ

ในท้ายที่สุดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ประสงค์ให้การปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีประสิทธิภาพ เกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม กำลังได้รับการพิสูจน์โดยแท้

มายาคติ...ต่อผู้สูงอายุ

ช่วงนี้สนใจอยากพูดถึงเรื่องของผู้สูงอายุในบ้านเรา เพราะไม่ปีนี้ก็ปีหน้าคาดว่าประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศแล้ว ดังนั้นการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง และในฐานนักวิชาการด้านสื่อก็เกิดความสนใจว่าการศึกษาด้านสื่อกับผู้สูงอายุในเมืองไทยนั้นมีมากน้อยเพียงใดและว่าด้วยเนื้อหาเรื่องใดบ้าง ก็ไปพบว่าอาจารย์กาญจนา แก้วเทพ ได้ทำการศึกษาประเด็นการสื่อสารกับผู้สูงวัย (2554)

อาจารย์พบว่างานวิจัยเกี่ยวกับการสื่อสารกับผู้สูงอายุในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี พศ.2525 มาจนถึงช่วงเวลาปัจจุบัน รวมเป็นเวลาเกือบ 30 ปีนั้น มีงานวิจัยที่ระบุหัวข้อชื่อตรงกับผู้สูงอายุและการสื่อสารไม่เกิน 10 เล่มทั้งที่จำนวนผู้สูงอายุนั้นมีถึงเกือบร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด และยังพบว่าการวิจัยในประเด็นผู้สูงอายุที่มักเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ โดยการสำรวจขนาดใหญ่นั้นไม่ช่วยเห็นลักษณะเฉพาะของความเป็นผู้สูงอายุได้และเมื่อผสมกับการขาดแนวคิดเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่รอบด้านและชัดเจนจึงทำให้ขาดการวิเคราะห์ข้อมูลของกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงทำให้ไม่มีข้อค้นพบเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของผู้สูงอายุในแง่มุมของการสื่อสาร และเมื่อศึกษางานวิจัยอื่น ๆ พร้อม ๆ ไปกับการสังเกตรายการในหน้าจอทีวี สังเกตได้ว่ามีความเข้าใจผิดหรือมีมายาคติเกี่ยวกับผู้สูงอายุอยู่มากในเรื่องใช้สื่อของผู้สูงอายุ ลองมาดูกันค่ะว่าเราเองก็เข้าใจผู้สูงอายุผิดไปหรือไม่

มายาคติผู้สูงอายุตื่นแต่มืดแต่ดึก : ผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืด ตี 4 - 5 มาดูทีวี มาฟังวิทยุ จริงหรือ?

อาจจะพูดได้ว่าการคิดว่าผู้สูงอายุชอบตื่นแต่เช้ามืดดังนั้นถ้าจะทำสื่อให้ผู้สูงอายุต้องใช้ช่วงเวลาตีสี่ตีห้า แต่แทนจริงแล้วเป็นเพียงมายาคติที่สังคมมองมายังผู้สูงอายุ เพราะมีงานวิจัยหลายเรื่องที่พบว่าผู้สูงอายุไม่ได้เปิดรับสื่อช่วงเช้ามืดอย่างที่สังคมเข้าใจ เช่น จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) พบว่าผู้ชมที่มีอายุระหว่าง 60 - 65 ปีมีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และ ช่วงสาย (09.01 น. - 12.00 น.) ผู้ชมที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความต้องการในการชมรายการโทรทัศน์ช่วงเช้า (06.01 น. - 09.00 น.) และช่วงเย็น (16.01 น. - 19.00 น.) และพนม คลี่ฉายา (2555) ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย โดยมีสำรวจการเปิดรับสื่อ โดยพบว่าเปิดรับสื่อเป็นประจำมากที่สุด ได้แก่ โทรทัศน์ บุคคลใกล้ชิด และโทรศัพท์มือถือ ผู้สูงอายุมักจะชมโทรทัศน์มากที่สุด โดยชมรายการข่าวเป็นประจำ ในช่วงเวลา 17.01 - 21.00 น. ใช้เวลาในการชม คือ 1 - 3 ชั่วโมง/ครั้ง สอดคล้องกับแนวคิดของบริษัทอาร์เอสโปรโมชั่น ในการผลิตรายการโทรทัศน์ช่องเพลินทีวี ทีวีเพื่อผู้สูงอายุ ระบุว่าผู้สูงอายุมีวิถีชีวิต (Lifestyle) ในการรับชมโทรทัศน์อยู่กับบ้านเฉลี่ยมากกว่าบุคคลวัยอื่นถึงร้อยละ 10 โดยที่เวลาไพร์มไทม์ของกลุ่มคนสูงอายุอยู่ในช่วงเวลา 17.30 - 21.30 น. (แต่แอบกระซิบเบา ๆ ว่าหลังจากที่ออกอากาศได้เพียงแค่ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2558 บริษัทอาร์เอสฯได้ประกาศยุติออกอากาศในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ)

ดังนั้นจะเห็นว่าสังคมมีความเข้าใจผิดคิดว่าผู้สูงอายุนั้นมักชอบชมรายการโทรทัศน์หรือฟังวิทยุในช่วงเวลาเช้ามืดนั้นไม่เป็นความจริง และหากจะถามหาเวลาที่เหมาะในการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุควรจะเป็นช่วงเย็น ๆ มากว่าช่วงเช้ามืดด้วยซ้ำไป

มายาคติผู้สูงอายุชอบทำบุญเข้าวัด : ผู้สูงอายุชอบรายการธรรมะที่สุด จริงหรือ?

มายาคติอีกเรื่องที่ไม่รู้ใครบัญญัติมาให้เชื่อตาม ๆ กัน คือการเหมารวมว่าการที่ผู้สูงอายุชอบเข้าวัดทำบุญดังนั้นจึงชอบดูรายการธรรมะที่สุด แต่จริง ๆ แล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?

จากการศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนารายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ ของ จารุวรรณ นิธิไพบูลย์, สันทัด ทองรินทร์ และวิทยาธร ท่อแก้ว (2559) ในประเด็นการเปิดรับความต้องการและการใช้ประโยชน์รายการโทรทัศน์เพื่อผู้สูงอายุ พบว่าส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์จากการชมรายการโทรทัศน์ 3 อันดับแรก ได้แก่

1) เพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสาร

2) เพื่อสร้างความเบิกบานใจ ความสุข และคลายเหงา

3) เพื่อนำเนื้อหาไปปรับใช้กับการดำเนินชีวิตประจำวันของตนเอง ลักษณะเนื้อหาในสื่อที่ผู้สูงอายุต้องการ จากผลงานวิจัยนี้ทำให้เชื่อมโยงได้ว่าผู้สูงอายุชอบรายการที่ให้ทราบข้อมูลข่าวมากว่ารายการธรรมะแน่ ๆ นอกจากนี้ยัง พบว่า

ผู้สูงอายุต้องการเนื้อหาให้สื่อนำเสนอให้เห็นถึงศักยภาพของผู้สูงอายุ ส่งเสริมภาพลักษณ์เชิงบวกหรือเชิดชูผู้สูงอายุ เนื้อหาที่แสดงให้เห็นความรักความผูกพันระหว่างผู้สูงอายุกับครอบครัว และเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การรักษาสุขภาพ สิทธิทางกฏหมาย และสวัสดิการต่างๆ เป็นต้นด้วย จากงานวิจัยที่กล่าวไปนี้น่าจะพอสรุปได้ว่ารายการธรรมะอาจไม่ได้เป็นรายการที่ผู้สูงอายุจะชื่นชอบที่สุดหรือจะเลือกชมเป็นลำดับต้นๆด้วยซ้ำไป

มายาคติว่าผู้สูงอายุทุกคนก็ชอบอะไรเหมือน ๆ กัน : ผู้สูงอายุมีความต้องการใช้สื่อเหมือน ๆ กันหมดจริงหรือ?

มายาคตินี้เราเจอกับบ่อย ๆ เพราะการคิดเหมารวมอีกเช่นกันว่าขึ้นชื่อว่าผู้อายุก็คงจะมีความต้องการใช้สื่อเหมือนกันหมดเพราะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน แต่จากการศึกษาพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยนั้นก็มีความต้องการในการใช้สื่อที่หลากหลายและแตกต่างกันไม่แพ้วัยเด็กและเยาวชน โดยสิ่งที่เป็นเงื่อนไขปัจจัยมีทั้งปัจจัยส่วนตัว เช่น ลักษณะบุคลิกภาพ ความชอบ ความถนัดและปัจจัยด้านการศึกษา และปัจจัยทางด้านสังคม สภาพครอบครัวและฐานะทางเศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยทางกายภาพ เช่น พื้นที่อยู่อาศัยนั้น ล้วนส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้สื่อทั้งสิ้น ส่วนในภาพรวมนั้นอาจกล่าวได้ว่าแม้กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตน้อยที่สุดหากเทียบกับกลุ่ม Gen X และ Gen Y สื่อหลักอย่างโทรทัศน์และวิทยุก็ยังคงเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้สูงอายุได้มากที่สุด

โดยที่สื่อวิทยุนั้นจะเข้าถึงกลุ่มผู้สูงอายุในเขตต่างจังหวัดได้มากกว่าเขตเมือง แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือมีแนวโน้มว่าผู้สูงอายุจะใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นและสื่อออนไลน์ก็เป็นที่นิยมของผู้สูงอายุมากขึ้น และยังพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน ดังเช่นงานวิจัยของ กันตพล บันทัดทอง (2557) เรื่อง พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุที่มีอายุแตกต่างกัน มีความพึงพอใจในการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์แตกต่างกัน โดยผู้สูงอายุที่มีอายุ 66 ปีขึ้นไป มีความพึงพอใจในการใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 66 ปีขึ้นไป อาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพมากกว่ากลุ่มอื่น เช่น ปัญหาสายตา ปัญญาการใช้นิ้วหรือมือ จึงไม่สามารถใช้บริการเครื่อข่ายสังคมออนไลน์ได้ จึงมีความพึงพอใจต่ำกว่าผู้สูงอายุกลุ่มอื่น

มายาคติที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุที่กล่าวไปข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยโดยเฉพาะผู้ผลิตสื่อ ยังมีความเข้าใจผิดถึงพฤติกรรมการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุและยังไม่มีข้อมูลองค์ความรู้สำคัญพื้นฐานที่จะทำให้การผลิตสื่อที่เหมาะสมตรงความต้องการของผู้สูงอายุ ดังนั้นการทำความรู้จักและเข้าใจความต้องการของผู้สูงอายุอย่างถ่องแท้ จะเป็นประโยชน์มากในการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุ ภาครัฐควรสนับสนุนนโยบาย งบประมาณและพัฒนาบุคลากร เพราะในประเทศไทยการทำสื่อเพื่อผู้สูงอายุก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับการทำสื่อเพื่อเด็ก คือผู้ประกอบการมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับผลกำไรที่ได้ในทางธุรกิจ ดังนั้นรัฐจึงต้องเข้ามาช่วยหนุนเสริมภารกิจนี้อีกทาง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสื่อเพื่อผู้สูงอายุเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดึงศักยภาพของผู้สูงอายุออกมาให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม นอกจากนี้สื่อยังสามารถทำหน้าที่ช่วยให้คนในสังคมที่มีความหลากหลายของช่วงวัยเกิดความเข้าใจซึ่งกันละกัน ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ยอมรับในความหลากหลายและเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของคนทุกช่วงวัย อย่างที่ย้ำเสมอว่าการเป็นสังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เป็นเรื่องของผู้สูงอายุเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของเราทุกคนจริง ๆ


ข้อมูลอ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ.(2554).ผู้คนที่หลากหลายในการสื่อสาร: เด็ก สตรี และผู้สูงอายุ.พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ.

ห้างหุ้นส่วนจำกัดภาพพิมพ์

พนม คลี่ฉายา. (2555). ความต้องการข่าวสาร การใช้สื่อ และนิสัยการเปิดรับสื่อของผู้สูงอายุไทย: รายงาน

การวิจัย (Information Need, Media Uses and Media Habit of Thai Elderly: Research Report). กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

กันตพล บันทัดทอง.(2558) พฤติกรรมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์และความพึงพอใจของกลุ่มคนผู้สูงอายุใน

เขตกรุงเทพมหานคร.บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

“ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง.สืบคนเมื่อ 20 มกราคม 2556.จาก http://positioningmag.com/60832

Positioning. (2558) ช่องทีวีคนสูงวัย เซกเม้นท์นี้ “อาร์เอส” จอง. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559. จาก http://positioningmag.com/60832

เผยแนวโน้ม “สื่อรุ่ง – สื่อร่วง” ปี ’59 ชี้ชะตาอนาคตสื่อปีหน้า ใครจะได้ไปต่อ !! สืบค้นเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม2559. จาก http://www.brandbuffet.in.th/2016/12/kantar-worldpanel-media-profiler-2016

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 2

แม่น้ำปัตตานีจัดว่าเป็นสายน้ำสั้นเมื่อเทียบกับแม่น้ำอื่น ๆ เพราะระยะทางยาวไม่เกิน 130 กิโลเมตร หากจ้ำพายคงใช้เวลาไม่เกิน 4 วัน พวกเรามีเวลา 7 วัน จึงมากพอที่จะอ้อยอิ่งและแวะทักทายพูดคุยกับผู้คน ขณะเดียวกันก็ไม่ถึงกับต้องรีบเก็บข้อมูลสายน้ำที่ได้รับการไหว้วานจากเพื่อนด้วย

ต้นน้ำปัตตานี ประกอบด้วยลำคลองสาขามากมายซึ่งไหลมาบรรจบกันจนสายน้ำลึกและใหญ่มากขึ้น จากที่กว้างเพียงไม่กี่เมตร กลายเป็นสิบเมตร ยี่สิบเมตร และกว้างกว่านั้นในช่วงปลายน้ำก่อนที่จะไหลออกสู่ทะเล

ยอมรับว่าไม่ได้ศึกษารายละเอียดของการเดินทางรอบนี้มากนัก เพราะรู้ว่าจะพายกับเพื่อนซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เมื่อไม่ได้ทำการบ้านมาล่วงหน้า จึงไม่รู้ว่าจะคาดหวังอะไรกับสายน้ำนี้ มีแค่แอบหวั่นใจเล็ก ๆ ลึก ๆ ว่าอาจจะเจอกลุ่มคนน่ากลัวหรือเหตุการณ์อันน่าประหวั่น ส่วนแม่น้ำปัตตานีคิดว่าก็คงไหลเรียบ ๆ ไม่น่าจะมีเกาะแก่งสร้างความตื่นเต้นหวือหวา แต่ปรากฎว่าทุกวันพบเจอเรื่องราวและกิจกรรมสนุกตื่นเต้น ไฮไลต์ของแต่ละวันแตกต่างกันแทบจะโดยสิ้นเชิง อย่างวันแรกนั้นกว่าจะได้เริ่มพายก็บ่ายคล้อยมากแล้ว ล่องกันไปเพียงชั่วโมงครึ่งก็ต้องเริ่มมองหาสถานที่พักแรมแล้ว แต่ก็ดี เพราะถือเป็นการทำความคุ้นเคยกันระหว่างสองเกลอที่เพิ่งเจอกัน

และได้เริ่มสังเกตภูมิประเทศโดยรอบไปในตัวด้วย รู้สึกดีที่ได้ร่อนเร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แปลกและสงบเช่นนี้ น้ำไหลเอื่อย บางช่วงตื้นเขิน ทำให้ท้องเรือครูดดินหิน ตามโค้งน้ำบางจุดมีกิ่งก้านไม้ขวาง ต้องพายฉวัดตวัดหลบบ้าง สนุกดี เสียงนกดังมาจากสุมทุมพุ่มไม้ ประกอบกับช่วงแดดร่มลมตกด้วยแล้วยิ่งทำให้จิตใจสงบได้อย่างน่าประหลาด พวกเราได้จุดพักแรมริมน้ำ เป็นหาดทรายกว้างพอให้สยายเต็นท์สองหลังกับเหลือพื้นที่สำหรับนั่งเล่นและทำสำรับกับข้าวอีกนิดหน่อย



ตลิ่งสูงสองฝั่งน้ำเป็นพื้นที่สวนยาง เขาต้องปลูกกันเป็นขั้น เพราะเป็นพื้นที่ค่อนข้างชัน มีกล้วยและทุเรียนปลูกสลับในบางพื้นที่ด้วย จุดสังเกตประการหนึ่งที่ค่อนข้างสร้างความประหลาดใจ คือแม้จะเข้าสู่เดือนมีนาคมแล้ว แต่ต้นไม้ใบหญ้ายังคงเขียวขจี ไม่เห็นไม้สลัดใบชัดเจนเหมือนป่าทางภาคเหนือ ที่ดีกว่ามากหลายเท่าก็คืออากาศสะอาด ไม่มีหมอกควันที่ส่งผลต่อทัศนวิสัยและต่อระบบทางเดินหายใจของคน ต้องบอกว่าคนแถวนี้โชคดีกว่าประชากรชาวเหนือโดยแท้

แต่สิ่งที่ไม่ค่อยต่าง คือมลพิษปนเปื้อนในน้ำ แม้จะลงไปอาบน้ำท่าในน้ำซึ่งคล้ายจะใส แต่ก็รู้สึกแขยงบ้าง ทั้งนี้เพราะรู้เห็นมาว่าต้นน้ำแถวเมืองเบตงนั้นมีสภาพเป็นน้ำครำ ถึงแม้จะเจือจางมาบ้างแล้วจากลำห้วยสาขาอื่น ๆ ก็ตามที แต่ระดับสิ่งเจือปนอันไม่พึงประสงค์น่าจะยังคงมากพอสมควร เช่นนี้แล้ว หากสามารถสะท้อนเสียงกลับไปยังเมืองต้นทางน้ำเสียได้บ้าง ก็อยากให้มีการจัดการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ หากคุณภาพน้ำในแม่น้ำดี ก็จะเอื้อประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศด้วยเช่นกัน


 

มื้อเย็นทำทานกันง่าย ๆ ข้าวหม้อแกงหม้อ กินอิ่มหมีพีมันแล้วนั่งคุยสัพเพเหระกับเขียนอะไรต่อมิอะไรลงสมุดบันทึกสักพักก็แยกย้ายกันมุดเต็นท์ตัวเอง ตกกลางคืนอากาศเย็นเกือบหนาว ต้องนอนห่มผ้า ซึ่งนี่ก็เป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด เพราะเข้าใจผิด คิดว่าภาคใต้มีแต่ฝนกับร้อนเท่านั้น เสียงน้ำไหลเป็นบทเพลงกล่อมนอนขนานเอก ถือเป็นเสียงดนตรีธรรมชาติบำบัดที่ดีมาก สำหรับตัวเองแล้ว ผมพบว่าการพาตัวเองไปให้ขุนเขาและสายน้ำโอบกอดนั้นเป็นการรีชาร์จแบตเตอรี่ชีวิต หรือเปรียบเทียบคล้ายกับเด็กทารกในอ้อมกอดมารดา หลับปุ๋ยอย่างอบอุ่นปลอดภัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top