ผลข้างเคียงจากการใส่หน้ากากอนามัย คาร์บอนฯ ในเลือดสูง ทำ ‘ปวดหัว-วิตกกังวล’

ผมได้อ่านบทความฉบับหนึ่งที่มีการตีพิมพ์ลงใน The New York Times ว่ามีการสำรวจจาก PN MEDICAL ในกลุ่มผู้สวมหน้ากากอนามัยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลต่อรูปแบบการหายใจและการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งส่งผลต่อทั้งร่างกายและจิตใจของผู้สวมใส่ ซึ่งพอได้อ่านมาเช่นนี้ สำหรับผมตื่นเต้นมากเพราะเราไม่เคยคิดถึงเลยว่าแค่สวมหน้ากากจะส่งผลต่อชีวิตเราขนาดนี้

ในการศึกษาระบุว่าการสวมหน้ากากจะส่งผลทำให้การหายใจของผู้สวมผิดปกติและจะทำให้ระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดของผู้สวมหน้ากากเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ที่ไม่ได้สวมและแม้จะถอดหน้ากากออกแล้วก็ตามอาการนี้ก็ยังไม่หายไปอย่างทันที ซึ่งผลจากการที่มีภาวะคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงจะส่งผลทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ปวดหัวและเกิดอาการของตะคริวได้

ทั้งนี้มีการสังเกตว่าหากสวมหน้ากากทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายลดลง ทำให้เกิดภาวะที่เลือดมีระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูงขึ้น และเลือดเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายร่างกายก็จะต้องปรับตัว โดยการสั่งให้ร่างกายเพิ่มปริมาณการหายใจให้ถี่ขึ้นเพื่อนำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายให้ได้มากพอในระดับที่ร่างกายสามารถนำออกซิเจนไปใช้อย่างพอเพียงได้

แม้ผลของการที่ร่างกายมีระดับของคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น จะทำให้เลือดมีความเป็นกรดสูงขึ้นและส่งผลกระทบต่ออวัยวะภายในอย่างเช่น สมอง, ตับ, ไต ไม่มากก็น้อย แต่ถึงกระนั้นในภาวะที่เรายังต้องระแวดระวังในช่วงโควิดมีอยู่ในโลกแบบนี้ อาจจะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการใส่หน้ากากป้องกันกับการที่จะให้ร่างกายเราเกิดภาวะดังกล่าวอันเนื่องมาจากการใส่หน้ากากเพื่อป้องกันโรคโควิด  

อย่างไรก็ดีนี่ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ถือเป็นเรื่อง New Normal ที่เกิดขึ้นมาหลังจากการระบาดของโควิด-19 และคงต้องมีการศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจังต่อไป


วรกร ล้ำประเสริฐ
เภสัชศาสตร์บัณฑิต และบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ผู้คร่ำหวอดในวงการยา