Monday, 20 May 2024
ไฮโดรเจนสีเขียว

‘ซาอุดีอาระเบีย’ ตั้งเป้าพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ทุ่ม 2.5 แสนล้าน ดัน ‘ไทย’ สู่ศูนย์กลางการพัฒนา

(12 ก.ค. 66) ช่องยูทูบ ‘ถามอีก กับอิก TAM-EIG’ โพสต์วิดีโอชื่อ ‘ซาอุฯ ทุ่ม! 2.5 แสนล้าน ดันไทยเป็นศูนย์กลางไฮโดรเจนสีเขียว’ พร้อมได้อธิบายความในวิดีโอไว้ว่า…

ซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของตะวันออกกลาง จากข้อมูลของธนาคารโลก World Bank ระบุว่า GDP ภายในประเทศซาอุฯ มีขนาดประมาณ 9.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าประเทศไทย 1 เท่าตัว โดยมีบริษัทเรือธงที่เดินหน้าลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วยก็คือ ‘Saudi Aramco’

Saudi Aramco เป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ก่อตั้งเมื่อปี 1933 โดยประกอบธุรกิจปิโตรเลียมแบบครบวงจร และได้มีการเซ็นสัญญา MOU ว่าจะเข้ามาทำธุรกิจด้านพลังงานหลากหลายด้านในประเทศไทย เช่น ธุรกิจจัดหาน้ำมันดิบ ธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและก๊าซ LNG ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ธุรกิจสำรวจพลังงานไฮโดรเจนสีเขียวและสีฟ้าด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยซื้อน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียมากเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ร้อยละ 18 (เป็นรองแค่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) หมายความว่าความเรื่องระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียในรอบนี้ จะช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ไทยในระยะยาวด้วย

และล่าสุด ไทยและซาอุดีอาระเบียได้ประกาศลงทุนพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ ด้วยเม็ดเงินการลงทุนกว่า 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท

>>หลายคนคงสงสัยว่า ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ คืออะไร?
ต้องบอกก่อนว่า ไฮโรเจนเป็นธาตุที่เบาที่สุด และถูกพบมากที่สุดในเอกภพ รวมถึงเป็นองค์ประกอบของน้ำ เป็นสารประกอบที่มีมากที่สุดในโลก ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย มีการเผาไหม้ที่สะอาด ไม่เป็นพิษ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ด้วยความพิเศษนี้ จึงเกิดแนวคิดที่ว่า จะสกัดไฮโดรเจนจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ก๊าซธรรมชาติ และน้ำ ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย จากนั้นก็ทำมาป้อนกับเซลล์เชื้อเพลิง หรือใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับเชื้อเพลิงต่าง ๆ เพื่อเป็นการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะให้ค่าพลังงานสูงกว่าเชื้อเพลิงทั่วไป 2-4 เท่า และถ้ามีการใช้พลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ และพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ผลลัพธ์ที่ได้คือ ‘ไฮโรเจนสีเขียว’

>> แล้วทำไมซาอุดีอาระเบีย ถึงสนใจพัฒนา ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ อย่างมาก?
ความมุ่งมั่นในครั้งนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ โดยมีชื่อว่า ข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียสีเขียว (Saudi Green Initiative) เพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ เพราะซาอุดีอาระเบียเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก และกำลังประสบปัญหามลพิษ สิ่งแวดล้อม และที่แย่คือเริ่มส่งผลกระทบต่อประชาชนแล้ว

สิ่งที่ซาอุดีอาระเบียวางแผนจะทำมี 4 ด้าน ได้แก่...
- ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนร้อยละ 4 หรือประมาณ 130 ล้านตัน 
- ปลูกต้นไม้จำนวน 1 หมื่นล้านตัวทั่วประเทศ
- เพิ่มอาณาเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงรักษาระบบนิเวศทั้งบนบกและทะเล ให้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศมากกว่า ร้อยละ 30 
- ใช้พลังงานทดแทนเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ร้อยละ 50 ภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นไฮไลต์หลักที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันใช้พลังงานทดแทนเพียงร้อยละ 1-2 เท่านั้น หากจะบรรลุเป้าหมาย ซาอุดีอาระเบียต้องลงแรงอีกเยอะ และเป็นเหตุผลในการทุ่มทุนมหาศาลเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีนี้ประเทศไทย

>> ประโยชน์ของ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’
- การกลั่นน้ำมัน การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ที่นำไปใช้ปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันดิบ 
- เซลล์เชื้อเพลิง ใช้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า 
- อุตสาหกรรมอาหาร สามารถเปลี่ยนโครงสร้างกรดไขมันไม่อิ่มตัวในไขมันสัตว์และน้ำมันพืช ให้กลายเป็นกรดไขมันอิ่มตัวได้
- เภสัชภัณฑ์ ใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับผลิตเครื่องสำอางและสารตึงผิว
- อุตสาหกรรม การเชื่อมโลหะ หรือการตัดโลหะ 
- การบินและอวกาศ สามารถเป็นพลังงานทางเลือกสำหรับเป็นเซลล์เชื้อเพลิง เนื่องจากมีน้ำหนักเบา

ซึ่งในปัจจุบันมีหลาย ๆ ประเทศในเอเชียเริ่มใช้ ‘ไฮโดรเจนสีเขียว’ กันบ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่อยู่ในวงการยานยนต์ เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลี, จีน โดยสัดส่วนความต้องการในปัจจุบันยังไม่มาก แต่ในอนาคต ปี 2050 อาจมีมูลค่ามากถึง 2 ล้านล้านบาท

จะเห็นได้ว่าหากความร่วมมือระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียประสบความสำเร็จ ก็จะเป็นการสร้าง New S-Curve ให้ประเทศในระยะยาวได้ และยังมีปัจจัยบวกด้านอื่น ๆ อีก เช่น นิคมอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การส่งออก ก็จะได้รับประโยชน์จากการร่วมมือนี้ด้วย

'กฟผ.' ผนึกกำลัง 'รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว - Chiyoda - Mitsubishi' พัฒนาโครงการผลิต 'ไฮโดรเจนสีเขียว-แอมโมเนีย' ในไทย

กฟผ. รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว บริษัท Chiyoda และ บริษัท Mitsubishi ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาการใช้ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของไทย เดินหน้าพลังงานสีเขียว มุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission

(24 เม.ย. 67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) Chiyoda Corporation (CYD) และ Mitsubishi Company (Thailand) Ltd. (MCT) ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOC) การศึกษาและพัฒนาวิธีการใช้ประโยชน์ใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates: RECs) แบบข้ามเขตแดน เพื่อนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน จากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) มาใช้ผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย รวมถึงศึกษาโอกาสทางธุรกิจของไฮโดรเจน และแอมโมเนียสีเขียวทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ 

โดยมี นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. นายวงสกุล ยิ่งยง กรรมการผู้จัดการบริษัท EDL เป็นผู้ลงนาม พร้อมด้วย Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department, CYD และ Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President, MCT ร่วมลงนามในฐานะพยาน ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายเทพรัตน์ ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2566 ในการศึกษาและพัฒนาโครงการการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดบนพื้นที่ศักยภาพ กฟผ. พบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาไฮโดรเจนอย่างมีนัยสำคัญ กฟผ. จึงมีแนวคิดในการศึกษาการใช้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว และหากต้นทุนของพลังงานสะอาดสำหรับโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยลดลง จะทำให้ราคาของไฮโดรเจนที่ผลิตอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการพัฒนาโครงการที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Greenhouse Gas Emissions ของประเทศได้อย่างยั่งยืน

ด้าน นายวงสกุล กรรมการผู้จัดการ EDL เปิดเผยว่า สปป.ลาว มีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน และยังมีโครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมโยงกับ กฟผ. โดย EDL เป็นรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว ที่มีบทบาท ด้านการวางแผนระบบไฟฟ้าและดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาด้านพลังงานหมุนเวียนผ่านการศึกษาและการประยุกต์ใช้ RECs ในโครงการไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย และยังเป็นการส่งเสริมการทำงานและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่พลังงานสีเขียวในอนาคตร่วมกัน

ฟาก Mr. Yasuhiro Inoue General Manager - Hydrogen Business Department (นายยาสุฮิโระ อิโนอุเอะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจไฮโดรเจน) ผู้แทน CYD กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า มีความคาดหวังที่จะพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ซึ่ง CYD ในฐานะบริษัทด้านวิศวกรรมระดับโลกยินดีสนับสนุนความร่วมมือทางด้านเทคนิค เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและขยายตัวของพลังงานสะอาดในประเทศไทย ลาว และญี่ปุ่นในอนาคต

Mr. Kazuhiro Watanabe Senior Vice President (นายคาซูฮิโระ วาตานาเบะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่) ผู้แทน MCT กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวในการขยายและเติมเต็มการพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวและแอมโมเนีย ในพื้นที่ที่มีศักยภาพของประเทศไทย ผ่านการนำเข้าไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจาก สปป.ลาว ด้วยกลไก RECs ซึ่งจะช่วยให้การแข่งขันดียิ่งขึ้น ความร่วมมือระหว่างกันในครั้งนี้จะทำให้เกิดแหล่งผลิตไฮโดรเจนสีเขียวภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของภูมิภาค ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ทั่วโลกมีเป้าหมายร่วมกันในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top