‘ก้าวไกล’ ชี้เป้า!! ‘ไอ้โม่ง’ ปกปิด ‘ASF - หมูแพง’ นั่งข้าง ‘ประยุทธ์’ หยัน ไม่มีน้ำยาปรับ ครม. ก็ออกไป
17 ก.พ. 65 ที่รัฐสภาในการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตาม มาตรา 152 นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล อภิปรายในประเด็นความล้มเหลวฉ้อฉลในการจัดการโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) และปัญหาหมูแพง โดยระบุว่า รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ความเสี่ยงโรคระบาดเกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก และเพื่อไม่ให้เกิดการกินรวบอุตสาหกรรมสุกร
>> ราคาหมูทะยานสูง-ลงเร็ว ไม่ใช่ความปกติ
“ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ และลดลงอย่างผิดปกติหลังการประกาศเจอโรค ASF เหตุการณ์นี้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 หมูเนื้อแดงจาก 125 บาท ขยับขึ้นเป็น 136 บาท ในเดือนพ.ย. ต่อมาเป็น 165 บาท ในเดือน ธ.ค. และร้ายแรงที่สุดในเดือน ม.ค. 65 คือ 190-220 บาท สำหรับหมูเนื้อแดง และสาหัสที่สุดคือ 260-300 บาท สำหรับหมูสามชั้น สวนทางกับดัชนีราคาเนื้อสุกรของโลก หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ราคาเนื้อหมูหยุดปรับขึ้นและค่อยๆ ปรับตัวลดลง จุดตัดสำคัญอยู่ที่เดือนมกราคม 65 คือ วันที่การเปิดเผยว่ามีโรคระบาด ASF ในประเทศไทย นำมาสู่การตรวจสอบการกักตุนเนื้อสุกรในห้องเย็นตั้งแต่กลางเดือนมกราคมเป็นต้นมา จากการตรวจสอบพบหมูในห้องเย็น 1,366 แห่ง มีหมูเก็บหมู 24.66 ล้านกิโลกรัมเป็นอย่างน้อย”
ปดิพัทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลออกมาเคลมผลงานว่า แก้ไขปัญหาได้ถูกจุด แต่ต้องย้ำว่า การที่ราคาทะยานขึ้นสูงและลดลงอย่างรวดเร็วได้ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นความชั่วร้ายของรัฐบาล คณะรัฐมนตรี และโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ ที่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ปี 62-64 ท่องตามโพยอยู่อย่างเดียวว่า “ประเทศไทยไม่มี ASF” ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า “ไม่รู้ว่าหมูแพงได้อย่างไร” สั่งการขึงขัง ตรึงราคา ตั้ง War room ทุกจังหวัด ตรวจสอบห้องเย็น หลอกพี่น้องประชาชนว่าแก้ปัญหาได้แล้ว
“มันคือละครตบตาคนไทยทั้งประเทศ เพราะจริงๆ แล้วคณะรัฐมนตรีรู้มานานแล้วว่ามีโรคระบาด ASF และมีคนจำนวนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งรู้สถานการณ์เป็นอย่างดี จึงแสวงหาความร่ำรวย เหยียบย่ำพี่น้องประชาชนผู้บริโภคและเกษตรรายเล็กรายน้อย บางคนล้มละลาย หนี้สินท่วมหัว บางคนเครียดจนเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต ความเสียหายย่อยยับเกิดขึ้นในฟาร์มขนาดย่อย ขนาดกลาง และขนาดใหญ่บางที่ แต่ทุนใหญ่ไม่กระทบมากเพราะมีหมูขายไม่อั้น ทุกคนต้องวิ่งหาหมูจากทุนใหญ่ เพราะไม่มีหมูของรายย่อยเหลือแล้ว กินรวบ เบ็ดเสร็จ ฟาร์มขนาดใหญ่กำลังเพิ่มการผลิต ขึ้นฟาร์มใหม่กันเต็มไปหมด เพราะรู้มาตลอดว่ามีการระบาด และรู้ด้วยว่าจะทำกำไรได้มหาศาล ถ้าใครมีหมูในช่วงปลายปี 64 และสามารถกักตุนไว้ในห้องเย็นต่างๆ ได้”
>> ตั้งธงอย่าให้รู้ว่า ASF ระบาด
ปดิพัทธ์ กล่าวว่า ทั่วโลกมีองค์ความรู้และแนวปฏิบัติในการกำจัดของ ASF คือ การแจ้งเตือนสถานการณ์การระบาด (Alertness), ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ (Cooperation) และ ความโปร่งใสในการรายงาน (Transparency) แต่ประเทศไทยไม่มีสักอย่างและทำตรงข้ามกันหมด เพราะมีธงตั้งไว้อย่างเดียว ว่าทำยังไงก็ได้ ไม่ให้รู้ว่ามีการระบาด
“ผมกล้าพูดแบบนี้ได้อย่างไร ผมจะแสดงให้ดูว่า รัฐบาลนี้ทำอะไรกับพวกเราบ้าง ปี 2562 รู้ว่ามี ASF และเสนอเป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่มีผลงาน ไร้น้ำยา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งในวันที่ 16 ตุลาคม 2562 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในหนังสือฉบับนี้ อ้างอิงถึง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรกรฯ และรองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ทราบแล้ว ดังนั้น อย่ามาบอกไม่รู้
“ปี 2563 เริ่มมีสุกรตาย มีการทำลายหมู สหกรณ์เชียงใหม่ ลำพูน พังย่อยยับ ตั้งแต่ปี 2563-2564 มีมติ ครม. ออกมาชดเชยค่าทำลายหมู 3 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,000 ล้านบาท ทำลายหมูไปแล้ว 300,000 ตัว จะไม่เจอ ASF สักตัวเลยหรือ ที่อ้างว่า ทำลายเพราะโรค PRRS แต่โรค PRRS เป็นโรคประจำถิ่นที่มีวัคซีนใช้กันมานานแล้ว และก่อนหน้าประเทศไทยไม่เคยมีการทำลายหมูเพราะโรค PRRS นับแสนตัวมาก่อน แต่หลังปี 2562 ทำลายหมูจำนวนมากโดยบอกว่าเพราะ PRRS จึงเป็นเรื่องที่ฟังดูตลกมาก
“จบปี หมูตายไป 300,000 ตัว แต่รัฐบาลตบตาเกษตรกรจัดงานเลี้ยงในปี 2563 เห็นรัฐมนตรีเกษตร เฉลิมชัย ศรีอ่อน ท่านอธิบดีกรมปศุสัตว์ ไปยืนยิ้ม ประกาศว่า ประเทศไทย คือ ประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ยังไม่พบการระบาดของโรค ASF ในสุกร โดยในปีนั้นประเทศไทยสามารถส่งออกไปยังประเทศกัมพูชาในปริมาณสูงกว่าปี 2562 อย่างก้าวกระโดดถึง 400% จะไม่ให้ตัวเลขการส่งออกเติบโตได้อย่างไร เพราะประเทศเพื่อนบ้านติดโรคกันหมด มีแต่บ้านเราที่หลอกขายคนอื่นไปทั่ว แถมปิดปีด้วยงานเลี้ยงฉลองยอดการส่งออก จนนึกว่าท่านอธิบดีนี่เป็นผู้จัดการบริษัท แต่พอ เข้าปี 2564 การระบาดลงมาที่ภาคตะวันออกและตะวันตก กลายเป็นเอาไม่อยู่แล้ว ฟาร์มขนาดใหญ่เสียหาย เพราะ ปี 2563 ปกปิดข้อมูลไว้จนหมูเสียหายย่อยยับ เกิดการหนีตาย ระบายหมูขายกันถูกๆ ตัวละ 300-500 พ่อค้าคนกลางกดราคาหน้าฟาร์มกันอย่างเต็มที่ แต่ราคาเนื้อแดงหน้าเขียงราคาเดิม รวยขึ้นกันมหาศาล ด่านกักสัตว์ก็ผ่านกันอย่างสบาย ช่วงเร่งๆ จ่ายกันถึงคันละ 10,000 บาท โดยไม่มีใครสนว่าจะกระจายโรคแค่ไหน เพราะรัฐมนตรีและอธิบดีกรมปศุสัตว์ท่องไว้อย่างเดียวว่า ไม่มี ASF”
