Sunday, 12 May 2024
ไมโครซอฟท์

'ไมโครซอฟท์' พร้อมร่วมพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารของบริษัท ไมโครซอฟท์ โดยมีนาย Ahmed Mazhari ประธานบริษัท ไมโครซอฟท์ เอเชีย และคณะผู้บริหารบริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าพบพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม โดยทางผู้บริหารของ ไมโครซอฟท์ พร้อมเข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยจากการหารือ ทั้งสองฝ่ายจะมีความร่วมมือกันในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะการทำงาน การพัฒนาทักษะและใช้ประโยชน์ในด้านเทคโนโลยี ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

‘บิล เกตส์’ มหาเศรษฐีใจบุญ ควักเงินบริจาคการกุศลเพิ่มอีก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ไม่สนใจหลุดจากทำเนียบมหาเศรษฐีโลก

บิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้ง “ไมโครซอฟท์” บริษัทซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก ประกาศบริจาคเงิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 7.3 แสนล้านบาทให้กับมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ ที่เขาและอดีตภรรยาร่วมก่อตั้งขึ้นในปี 2543 เพื่อนำเงินไปใช้ช่วยเหลือผู้คนทั่วโลก

บิล เกตส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นมหาเศรษฐีที่มั่งคั่งอันดับ 4 ของโลก ระบุว่า ตนเองต้องมีความรับผิดชอบคืนกลับให้สังคม โดยให้เกิดประโยชน์มากที่สุดในการลดความทุกข์ทรมานและพัฒนาชีวิตของผู้คน พร้อมกับคาดหวังว่าคนอื่น ๆ ที่มีความมั่งคั่งจะทำเช่นนี้เหมือนกัน

เขาระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า มูลนิธิอาจจะต้องเพิ่มการใช้จ่ายจากปีละ 6 พันล้านดอลลาร์ เป็น 9 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ อาทิ โรคระบาด สงคราม และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ข้อมูลจากนิตยสารฟอร์บส์ ระบุว่า ปัจจุบัน ‘บิล เกตส์’ มีความมั่งคั่งสุทธิ 1.18 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งการบริจาคเงินดังกล่าวอาจจะทำให้เขาหลุดจากทำเนียบมหาเศรษฐีโลก

บ.เทคยักษ์ใหญ่มะกันแตะเบรคจ้างงานใหม่ หลังเห็นพ้องวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่กำลังมา

สัญญาณเศรษฐกิจส่อเค้าไม่ดี! ‘แอปเปิล-กูเกิล-ไมโครซอฟท์’ พร้อมใจเลิกรับคนเข้าทำงานชั่วคราว เชื่อวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่กำลังมา

เอเจนซีส์ - กระแสความกลัวเศรษฐกิจถดถอยจากสงครามยูเครน และภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากวิกฤตโรคติดต่อระดับโลกที่ยังคงส่งผล ล่าสุด โรคฝีดาษลิงถูก WHO ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทั่วโลกแล้ว สิ่งเหล่านี้กลายเป็นปัจจัยทำให้บริษัทไฮเทคชื่อดังสหรัฐฯ ล่าสุด รวม "กูเกิล" "ไมโครซอฟท์" และ "แอปเปิล" รวมกลุ่มบริษัทใหญ่อื่นๆ ประกาศยกเลิกจ้างงานใหม่ชั่วคราว และสั่งประกาศลดตำแหน่งงานที่มีอยู่เดิม

สื่อมินท์ของอินเดียรายงาน เมื่อวันศุกร์ (21 ก.ค.) ว่า ดูเหมือนพนักงานอินเดียบริษัทไฮเทคยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ จากทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอปเปิล จะรอดจากกระแสการประกาศลดตำแหน่งงานเดิม แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญของอุตสาหกรรมชี้ว่า มาตรการหยุดการจ้างงานใหม่ชั่วคราวและการสั่งปลดพนักงานที่ออกมาจากบรรดาบริษัทไฮเทคสหรัฐฯ เชื่อจะกระทบในระดับทั่วโลกอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กรายงานวันพุธ (20) ว่า ทั้งกูเกิล ไมโครซอฟท์ และแอปเปิลเดินตามรอยบริษัทไฮเทคสหรัฐฯ ยักษ์ใหญ่ก่อนหน้าที่ชะลอการจ้างงานใหม่ ปลดพนักงานเดิมออกบางส่วน และให้ความสนใจไปที่การเพิ่มประสิทธิผลแทน

บลูมเบิร์กชี้ว่า แอปเปิล (Apple Inc.) มีนโยบายสั่งลดต้นทุนและการเติบโตตำแหน่งงานลงในบางแผนก ขณะที่สื่ออื่นรายงานว่า ไมโครซอฟท์อาจสั่งปลดพนักงานออกถึง 1% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 180,000 คน ด้านกูเกิล (Google Inc.) จะมีการจ้างงานใหม่ช้าลงภายในปี 2022 อ้างอิงบันทึกภายในบริษัทที่ออกมาจากผู้บริหารระดับสูง ซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai)

บลูมเบิร์กชี้ว่า อีลอน มัสก์ ซึ่งก่อนหน้าเคยออกมาแสดงความวิตกและย้ำว่าเทสลา (Tesla) จำเป็นต้องประกาศเลิกจ้างพนักงานลง โดยเฉพาะพนักงานแผนกขับขี่อัตโนมัติ (Auto pilot) ลง 200 คน จากการที่โรงงานเทสลาในเมืองซานเมเทโอ (San Meteo) รัฐแคลิฟอร์เนียปิดลง

ซึ่งในการให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์ก มัสก์ยืนยันว่าพนักงานกินเงินเดือนจำนวนราว 10% จะต้องตกงานภายใน 3 เดือน ซึ่งบริษัทเทสลามีพนักงานทั่วโลกสิ้นสุดปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 100,000 คน

ทวิเตอร์ อิงค์ (Twitter Inc.) ซึ่งกำลังมีปัญหาทางกฎหมายกับมัสก์ เรื่องดีลการซื้อขายบริษัทที่เดินหน้าสู่ชั้นศาลแล้วได้ประกาศเริ่มการหยุดการจ้างงานชั่วคราวเช่นกัน และเริ่มต้นการสั่งปลดพนักงานในเดือนพฤษภาคม โดยอ้างอิงจากบันทึกภายในบริษัทเมื่อปี 2021 ซึ่งพบว่าบริษัทมีพนักงานทั้งหมด 7,500 คน

เมตา อิงค์ (Meta Inc.) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊กของผู้ก่อตั้งมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ยกเลิกแผนการจ้างวิศวกรภายในไม่ต่ำกว่า 30% โดยซักเกอร์เบิร์ก ได้บอกกับพนักงานเมตา อิงค์ว่า เขาคาดการณ์ว่ากำลังจะเกิดวิฤตทางเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่จำเป็นทำให้บริษัทต้องสั่งถอยการจ้างงานลง

สื่อบารอนรายงานเมื่อวันที่ 3 ก.ค.โดยอ้างอิงรายงานของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สว่า ซักเกอร์เบิร์ก กล่าวผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในวันพฤหัสบดี (30 มิ.ย.) กับพนักงานเมตา อิงค์จำนวน 77,800 คน ประกาศคำเตือนวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ครั้งนี้ สื่อรีพับบลิกเวิลด์ของอินเดียรายงานวันที่ 3 ก.ค.ว่า โพลสำรวจของไฟแนนเชียลไทมส์รายงานกว่า 70% ของนักเศรษฐศาสตร์โลกชั้นนำลงความเห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในต้นปี 2024 และบริษัทต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญหน้าเศรษฐกิจขาลงครั้งใหญ่ที่คาดว่ากำลังจะเริ่มภายในสิ้นปี 2022

นอกเหนือจากซักเกอร์เบิร์ก พบว่า ผู้บริหารเมตา อิงค์คนอื่นออกมาแสดงคำเตือนคล้ายกันว่า บริษัทกำลังเผชิญหน้าต่อช่วงเวลาที่ร้ายแรง และปัจจัยภายนอกกระทบทางเศรษฐกิจนั้นรุนแรง

ด้านแอมะซอน อิงค์ (Amazon Inc.) แถลงก่อนหน้าเมื่อเมษายนว่า บริษัทมีจำนวนพนักงานมากเกินความต้องการหลังก่อนหน้าช่วงวิกฤตโควิด-19 ทางบริษัทได้เพิ่มกำลังในกระบวนการและปัจจุบันทางบริษัทของผู้ก่อตั้ง เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) ต้องการลดกำลังพนักงานลง

‘ไมโครซอฟท์’ เดินหน้าขยายความเป็นผู้นำโลกด้านการแข่งขัน จ่อลงทุน 'โครงสร้างพื้นฐาน AI' ใน ‘เยอรมนี’ 1.24 แสนล้านบาท

(16 ก.พ.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดเผยแผนการลงทุนระยะ 2 ปี มูลค่า 3.2 พันล้านยูโร (ราว 1.24 แสนล้านบาท) เพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในเยอรมนี ซึ่งเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดของไมโครซอฟท์ในประเทศนี้

ไมโครซอฟท์จะขยายภูมิภาคคลาวด์ที่มีอยู่ในแฟรงก์เฟิร์ต อัมไมน์ ของรัฐเฮสส์ และเพิ่มขีดความสามารถด้านคลาวด์ในนอร์ธ ไรน์-เวสต์ฟาเรีย มากกว่าสองเท่า ผ่านโครงสร้างพื้นฐานใหม่ พร้อมกับวางแผนฝึกอบรมทักษะทางดิจิทัลแก่ประชาชนในเยอรมนีมากกว่า 1.2 ล้านคนภายในสิ้นปี 2025

ด้าน แบรด สมิธ รองประธานและประธานของไมโครซอฟท์ กล่าวว่า ไมโครซอฟท์อยากทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีได้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ เพื่อเดินหน้าขยายความเป็นผู้นำโลกในด้านความสามารถทางการแข่งขัน โดยความต้องการปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้นในภาคส่วนสำคัญอย่างการผลิต ยานยนต์ และเภสัชภัณฑ์

โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า การลงทุนมูลค่านับพันล้านยูโรของไมโครซอฟท์ถือเป็นข่าวดีมากสำหรับเยอรมนี โดยโครงการดังกล่าวสะท้อนว่าเยอรมนีมีทำเลที่ตั้งอันน่าดึงดูดใจและได้รับความไว้วางใจจากนักลงทุน

อนึ่ง ก่อนหน้านี้เมื่อสิ้นปี 2023 รัฐบาลเยอรมนีประกาศการลงทุนด้านการวิจัย พัฒนา และประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ มูลค่า 1.6 พันล้านยูโร (ราว 6.22 หมื่นล้านบาท) ภายในปี 2025
ไมโครซอฟท์เสริมว่าบริษัทเยอรมนีชื่อดังหลายแห่ง เช่น ซีเมนส์ ไบเออร์ และคอมเมิร์ซแบงก์ กำลังใช้งานแอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ของไมโครซอฟท์แล้ว

ผลสำรวจจากบิตคอม (Bitkom) สมาคมดิจิทัล พบว่าชาวเยอรมนีส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าปัญญาประดิษฐ์จะเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างชัดเจนภายในไม่กี่ปีข้างหน้า และมีทัศนคติเปิดกว้างต่อปัญญาประดิษฐ์ในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์

‘เศรษฐา’ เตรียมเปิดทำเนียบรัฐบาล รับ ‘ซีอีโอใหญ่ ไมโครซอฟท์’ เยือนไทย 1 พ.ค.นี้ คุยโครงการ ‘ดาต้าเซนเตอร์ คลาวด์’ ดึงงบลงทุน ‘แสนล้าน’

(5 เม.ย.67) ‘นายสัตยา นาเดลลา’ ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอของไมโครซอฟท์ มีกำหนดเดินทางมาไทยวันที่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อร่วมงาน Microsoft Build : AI Day พร้อมตอกย้ำความร่วมมือด้านเทคโนโลยี ระหว่างไมโครซอฟท์ และรัฐบาลไทย ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

ในงาน Microsoft Build : AI Day นายสัตยา ได้เทียบเชิญบรรดาซีอีโอชั้นนำระดับประเทศเข้าร่วมพบปะ นอกเหนือจากพันธกิจหลักที่คาดว่า ซีอีโอ ไมโครซอฟท์จะเล่าถึงความคืบหน้า รายละเอียดความร่วมมือกับรัฐบาลไทย พร้อมเปิดโอกาสให้นักพัฒนาไทยรวมถึงองค์กรต่างๆ เข้าร่วมพูดคุย โดยเฉพาะกลุ่มที่สนใจในการนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้งาน นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะขึ้นเวทีนี้ พร้อมกล่าวคีย์โน๊ตด้วย

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ช่วงเที่ยงของวันดังกล่าวนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับซีอีโอของไมโครซอฟท์ที่ทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งจะได้หารือถึงความคืบหน้าของโครงการที่ไมโครซอฟท์มีแผนจะลงทุนในไทย ตามที่ได้หารือ และลงนามในความร่วมมือ (MOU) ระหว่างไทยและตัวแทนของบริษัทไมโครซอฟท์ ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ช่วงเดือน พ.ย.ปีก่อน

ส่วนนายกรัฐมนตรีของไทยเคยได้พบกับนายสัตยาแล้วครั้งหนึ่ง ที่การประชุมเอเปค ซานฟรานซิสโก เดือน ก.ย. 2566 และได้พูดคุยถึงความร่วมมือระหว่างประเทศไทย และไมโครซอฟท์มาแล้ว รวมทั้งมีการเปิดเผยถึงแผนการลงทุนว่าจะมีการลงทุนหลักแสนล้านบาทในประเทศ โดยเป็นการทยอยลงทุนต่อเนื่องไปอีกหลายปี

ก่อนที่ใน เดือนพ.ย.2566 นายกรัฐมนตรี จะได้พบกับผู้บริหารของไมโครซอฟท์อีกครั้ง แล้วได้ลงนามความร่วมมือร่วมกัน พร้อมระบุว่า พันธกิจของประเทศไทยนับตั้งแต่ด้านการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน มีทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยไปพร้อมกัน

ย้อนเอ็มโอยู ไทย-ไมโครซอฟท์

ทั้งนี้ เอ็มโอยูที่ไทย และไมโครซอฟท์ลงนามร่วมกันมีรายละเอียด ดังนี้ 
1.ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัลไมโครซอฟท์ จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมพิจารณาแผนลงทุนก่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์ และ เอไอต่อไปในอนาคต และพร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนกับรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำของบริษัท

2.ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี เอไอ เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน เอไอ (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี เอไอของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี เอไอมาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่าง ๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ

3.เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้าไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

4.ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย

สร้างผลกระทบเชิงบวกให้ไทย

ก่อนหน้านี้ นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการพูดคุยและสัญญาระหว่างผู้บริหารระดับสูง ดังนั้นเชื่อว่า จะสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับประเทศไทยได้ ซึ่งการทำงานร่วมกันจากนี้มีอยู่หลายเรื่องอย่างมาก รวมถึงการนำคลาวด์และเอไอมาช่วยยกระดับประสิทธิภาพระบบงานของภาครัฐ เดินหน้าสู่อีกอฟเวอร์เมนท์ และการพัฒนาดิจิทัลอินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ

ขณะเดียวกัน ผลักดันให้เกิดการใช้งานเอไออย่างเป็นรูปธรรมในหน่วยงานต่างๆ และแน่นอนว่าที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะด้านเอไอ ทั้งจะมีการแบ่งปันความรู้ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีมาทำงานร่วมกันและต่อยอดต่อไป

โดยไมโครซอฟท์จะมีการประชุมกับนายกฯ ทุก 3 เดือน เพื่อหารือ ขอความช่วยเหลือในสิ่งที่ติดขัดและทำให้งานเดินไปข้างหน้าได้ตามแผน ภาพรวมมีโจทย์ที่สำคัญคือ การลงทุนที่จะเกิดขึ้นต้องสร้างมูลค่าเพิ่ม ผลกระทบเชิงบวก มีส่วนสำคัญต่อการลดค่าใช้จ่าย ยกระดับการทำงานภาครัฐ และการให้บริการภาคประชาชน

ส่วนของการจัดสรรงบประมาณ หลักๆ ทางไมโครซอฟท์จะตั้งเป็นรายปี (CAPEX) ด้านการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ จะสอดคล้องไปกับนโยบายการให้บริการระดับภูมิภาค และแผนงานด้านคลาวด์แฟบริก มีการเชื่อมโยงเพื่อใช้งานในระดับภูมิภาคไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม อีกทางหนึ่งยังมีความท้าทายคือ ภาครัฐจะมีแนวทางที่สามารถปลดล็อกเรื่องการทำสัญญา ที่สามารถสนับสนุนให้การทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ อย่างไร เช่น หากเป็นสัญญาแบบข้ามปีจะทำได้ไหม จะมีแนวทางปลดล็อกเมื่อต้องมีความร่วมมือแบบระยะกลางหรือระยะยาวอย่างไร

สำหรับการร้องขอและเงื่อนไข รวมถึงข้อเสนอและสิทธิประโยชน์ เช่นด้านภาษี เป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันในรายละเอียดระหว่างกันเพิ่มเติม โดยภาพรวมเฟสแรกจะเป็นการพูดคุยหารือถึงเงื่อนไขและจัดลำดับความสำคัญของงาน หลังจากนั้นเฟส 2 เดินหน้าสู่การโรลเอาท์ ผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top