Saturday, 18 May 2024
ไตรรงค์สุวรรณคีรี

'ดร.ไตรรงค์' เฉ่งการเมืองไทย เลวลงทุกวันเพราะติดกิเลส เตือนสติ!! สิ่งที่จะอยู่ได้นานที่สุดคือประเทศไทย

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส. หลายสมัย เขียนข้อความทางเฟซบุ๊กวิจารณ์กรณีการนับองค์ประชุมของฝ่ายค้านเพื่อกดดันให้รัฐบาลรักษาองค์ประชุม จนสภาล่ม ว่าเป็นวิธีที่ป่าเถื่อนประเทศเจริญแล้วไม่ทำกัน โดยระบุว่า..

#เลวเสมอต้นเสมอปลาย

เมื่อคนอื่นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เป็นบุคคลที่ตนเองสั่งไม่ได้ เอาชนะเขาโดยใช้คะแนนในสภาผู้แทนราษฎรตามกติกาสากลไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีให้ #ลิ่วล้อเผาบ้านเผาเมือง ชาติเสียหายช่างหัวมัน

ปัจจุบันคนอื่นขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีถูกต้องตามรัฐธรรมนูญที่ประชาชนส่วนใหญ่รับรอง แต่เป็นบุคคลที่ตนเองสั่งไม่ได้เช่นเดียวกัน จะเอาชนะเขาโดยใช้คะแนนในสภาผู้แทนราษฎรตามกติกาสากลไม่ได้ (อาจเพราะขี้เหนียวกว่าเขาหรืออาจจะเพราะลูกน้องมองไม่เห็นอนาคต) จึงต้องหันมาใช้วิธี #ทำให้สภาฯ ล่ม ประชุมอะไรกันไม่ได้ ชาติเสียหายช่างหัวมัน

ดร.ไตรรงค์ ชี้ หากไม่มีอคติทางการเมือง ยก ‘บิ๊กตู่’ เหมาะนั่งประธานประชุม APEC

ดร.ไตรรงค์ ชี้ถ้าไม่มีอคติกันในทางการเมืองแล้วผู้นำของรัฐบาลไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเห็นว่าท่านได้รับความเชื่อถือจากนานาประเทศด้วยเหตุผล 4 ประการ จึงเหมาะเป็นประธานการประชุม APEC

เมื่อวันที่ (7 ส.ค. 2565) ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเรื่อง #APEC #ประเทศไทย กับ #พลอประยุทธ์ ระบุว่า การประชุมเอเปค (APEC) ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้น จะมีความสำคัญต่อชื่อเสียง ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะ APEC แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า เป็นการประชุมภายใต้กรอบความร่วมมือ เพื่อส่งเสริม #การค้า #การลงทุน #การท่องเที่ยว และความร่วมมือในมิติด้านอื่น ๆ ทั้งการ #พัฒนาทางด้านสังคม #การพัฒนาด้านการเกษตร #การร่วมมือป้องกันและช่วยเหลือกันและกัน ยามประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติทุกรูปแบบ การร่วมมือกัน #สนับสนุนบทบาทของสตรี และ #ลดการกดขี่ทางเพศ  และการร่วมมือแลกเปลี่ยนกันและกันทางการ #พัฒนาด้านสาธารณสุข เป็นต้น (ขอเสริมเกร็ดความรู้เล็ก ๆ นะครับว่า APEC นี้มีมา 33 ปีแล้วนะครับ กำเนิดเกิดขึ้นในโลกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532)

ปัจจุบัน APEC มีสมาชิกถึง 21 เขตเศรษฐกิจได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี บรูไน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก เปรู และ ชิลี ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจมีประชากรรวมกันถึง 2.8 พันล้านคน มีรายได้ประชาชาติ (GDP) รวมกันมากกว่า 59% ของGDP ของโลก สัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกAPEC มีสูงถึง 69.8% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่ไทยมีกับทุกประเทศทั่วโลก

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การประชุมดังกล่าวยึดหลักฉันทามติ (Consensus) ความหมายคือ ทุกข้อตกลงต้องทำด้วยความสมัครใจ ไม่มีใครบังคับใคร ทุกเขตเศรษฐกิจมีความเท่าเทียมกันหมด โดยมุ่งเปิดกว้างเสรีทางการค้าการลงทุนให้มากขึ้น มีอุปสรรคให้น้อยลง (เช่น ช่วยให้การแซงชั่น (Sanction) ด้วยเหตุจูงใจทางการเมืองจะได้มีน้อยลง) ส่วนความร่วมมือด้านอื่น ๆ ก็แล้วแต่จะตกลงกัน ที่สำคัญที่สุดก็คือ #ห้ามหยิบยกประเด็นทางการเมืองขึ้นมาพูดในที่ประชุมอย่างเด็ดขาด

อดีตนายกฯจากพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ จอห์น เมเจอร์ เคยกล่าวเตือนสติ นายกฯ รุ่นน้องจากพรรคเดียวกันคือ นายบอริส จอห์นสัน ว่า “ผู้นำทางการเมืองที่ประชาชนขาดความเคารพนับถือในบ้าน จะมีอิทธิพลสร้างความน่าเชื่อถือในเวทีนอกบ้านได้อย่างไร” (สามารถอ่านข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ในบทความของผม หัวข้อ “เรียนรู้จากอังกฤษ : ไม่ยกย่องคนที่ไม่สมควรยกย่อง” ที่ https://www.facebook.com/TrairongSuwankiri/posts/pfbid02kFsnrXucY1awn9HTDdg7MfBfkBDdk737eh5vdJRrZPZwMwTm6WUo5Dh4qFAjdFwLl)

สำหรับผู้นำของรัฐบาลไทยคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ถ้าไม่มีอคติกันในทางการเมืองแล้ว จะเห็นว่าท่านได้รับความเชื่อถือจากนานาประเทศด้วยเหตุผลหลายอย่างคือ

1) การชุมนุมทางการเมืองเพื่อคัดค้าน พ.ร.ก. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยในปี 2556 – 2557 นั้น ผู้มิได้อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์จะไม่มีทางทราบว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมซึ่งเป็นปฏิปักษ์กันทั้งสองฝ่าย ได้เตรียมอาวุธร้ายเพียงใดเพื่อจะเข่นฆ่ากันและกัน (ทั้ง ๆ ที่ผู้นำการชุมนุมของทั้งสองฝ่ายอาจจะไม่รู้ก็ได้)

การตัดสินใจทำการ #รัฐประหารเพื่อระงับความรุนแรงที่อาจจะนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง ในปี พ.ศ.2557 นั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นและสมเหตุสมผล แม้เป็นการเปลี่ยนรัฐบาลโดยการใช้อาวุธ เข้าบังคับมิใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี แต่ต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีความเข้าใจดี โดยเฉพาะ เพราะเขาเคยเห็นความป่าเถื่อนในการบุกทำลายการประชุม ผู้นำของอาเซียนที่พัทยาเมื่อปี พ.ศ. 2552

เมื่อผมไปประชุมกับผู้นำ 47 ประเทศที่กรุงวอชิงตันตามคำเชิญ ของประธานาธิบดีโอบามา (OBAMA) ในปี พ.ศ. 2553 (ขณะที่พวกเสื้อแดงกำลังยึดสี่แยกราชประสงค์และประตูน้ำเอาไว้) ผู้นำประเทศต่าง ๆ หลายประเทศได้แสดงความห่วงใย (Concern) ต่อการชุมนุมที่ค่อนข้างจะรุนแรงในประเทศไทย ที่น่าแปลกใจตรงที่ท่านเหล่านั้นบอกผมว่า พวกท่านรู้ด้วยว่าใครอยู่เบื้องหลังความรุนแรงทั้งหลาย ตั้งแต่ที่พัทยา (พ.ศ. 2552) จนถึงการชุมนุมในปี พ.ศ. 2553

แม้แต่ท่านประธานาธิบดีโอบามาเอง ได้พูดกับผมถึงความห่วงใย และแสดงความเห็นใจต่อ นายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ของประเทศไทย ที่ต้องเจอวิกฤตการณ์เช่นนั้น จนไม่สามารถมาประชุมกับ 47 ประเทศในหัวข้อเรื่อง “การหยุดการแพร่ขยายการใช้ปรมาณูเป็นอาวุธ (Nuclear Security Summit) ดังนั้นเมื่อเกิดการรัฐประหารนำโดย พล.อ.ประยุทธฯ จึงเห็นได้ว่า ไม่มีใคร(ต่างประเทศ) ออกมาประณามอย่างจริงจัง เหมือนที่พวกเขากระทำต่อประเทศเมียนมา เมื่อมีการรัฐประหารโดยท่านนายพล มิน อ่อง ลาย

2) ปัจจุบัน ท่านพล.อ.ประยุทธ์ #เป็นนายกรัฐมนตรีตามข้อบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 (แม้จะนับเฉพาะเสียง ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งก็มากกว่า 50% ถูกต้องตามหลักสากลของประชาธิปไตย) นักการเมืองบางฝ่ายอาจจะประณามว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของฝ่ายรัฐประหาร เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญมิได้เขียนให้รัฐธรรมนูญของไทย เป็นเหมือนของประเทศอังกฤษ แต่ที่ผมเคยไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ดของสหรัฐฯและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ของอังกฤษ ศาสตราจารย์ ที่สอนเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญต่างก็สอนเหมือนกันว่า ระบบการเมืองการปกครองของประเทศไดก็ต้องเขียนให้คล้องจองกับบริบทของประเทศนั้น เหมือนอย่าง นางอังเกลา แมร์เคิล (Angela Merkel) อดีตนายกฯของเยอรมัน เคยพูดไว้ว่า “สหรัฐอเมริกาจะเอามาตรฐานของระบบการเมืองของตนเองไปบอกว่าดีกว่าระบบการเมืองของประเทศจีน ย่อมไม่ได้เพราะบริบทหลายอย่างแตกต่างกัน”  (ผมว่าคุณ Nancy Pelosi น่าจะฟังเอาไว้บ้างนะครับ)

‘ดร.ไตรรงค์’ ยืนยันไม่มีประเทศใดในโลก ที่มีเสถียรภาพ-ความเสมอภาคที่สมบูรณ์

(26 ก.ย. 2565) ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กโดยมีรายละเอียดดังนี้

#ระบอบใดเหมาะที่สุดสำหรับประเทศไทย

(มันไม่ใช่ทั้งระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์)

ในประวัติศาสตร์ของโลกนั้น มีหลายประเทศที่ต้องประสบปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศจนไม่สามารถพัฒนาประเทศให้เจริญขึ้นได้อย่างที่น่าจะเป็น

ตัวอย่างที่ดีก็คือประเทศฝรั่งเศส เพราะก่อนปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) ประเทศฝรั่งเศสมีรัฐธรรมนูญที่ให้สภานิติบัญญัติที่สมาชิกได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีแล้วให้ประธานาธิบดีเป็นคนแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เนื่องจากประเทศนี้ได้มีการจัดตั้งสมัชชาประชาชนเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี ค.ศ. 1870 โดยสมัชชามีมติให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์อันเป็นการยกเลิกแบบถอนรากถอนโคนอีกครั้งหนึ่งและเป็นครั้งสุดท้าย (ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1789 ที่ประชาชนเข้ายึดอำนาจการปกครองจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 และทำการปลงพระชนม์พระองค์ด้วย)

แต่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ให้สภานิติบัญญัติเป็นผู้เลือกประธานาธิบดีเป็นประมุขของประเทศนั้น ได้ก่อให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันระหว่างนักการเมืองและพรรคการเมือง เพราะทุกคนต่างก็ต้องการเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ จึงต้องมีการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นเพื่อให้ได้อำนาจรัฐอยู่ในมือของพวกตน ใครที่ได้เป็นรัฐบาลก็จะไม่มีเวลามาวางแผนเพื่อความเจริญของประเทศในระยะยาวได้ เพราะจะถูกฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลจ้องตีรวน สร้างความปั่นป่วนให้รัฐบาลไม่สามารถจะบริหารประเทศได้ด้วยความสะดวกทุกคน #ล้วนเห็นแก่ประโยชน์ของตนและพรรคของตนมากกว่าประโยชน์ของชาติ มีการเปลี่ยนขั้วการเมืองเพื่อให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ต้องลาออกไป เพื่อกลุ่มใหม่จะได้ขึ้นเป็นรัฐบาลใหม่ รัฐบาลใหม่นี้ก็จะเจอปัญหาการถูกก่อกวน บ่อนทำลายเสถียรภาพในทุกวิถีทางอีกเหมือนเดิม จนกลายเป็น #วงจรอุบาทว์ ที่ไม่มีรัฐบาลใดสามารถจะมีเสถียรภาพบริหารชาติอยู่นานได้

จากข้อมูลพบว่าเพียงระยะเวลา 12 ปี นับย้อนหลังไปจาก ค.ศ. 1957 ประเทศฝรั่งเศสมีรัฐบาลถึง 20 ชุด หรือเฉลี่ยแล้วแต่ละชุดอยู่ในตำแหน่งได้ประมาณ 6 เดือนเท่านั้น (จากหนังสือ การเมืองในฝรั่งเศส เขียนโดย ศาสตราจารย์ พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย) จนทุกคนทุกพรรคได้มองเห็นความหายนะของชาติจึงได้ร่วมกันไปเชิญ วีรบุรุษฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่2 คือท่านจอมพล ชาร์ล เดอ โกล มาเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งภายในไม่ถึงปี นายกฯ คนใหม่ก็เสนอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วเสนอให้ประชาชนลงมติเห็นด้วยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ของประเทศซึ่งได้มีการประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1958 และยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยรัฐธรรมนูญใหม่ที่ให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงจากประชาชนและมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แต่ประธานาธิบดีจะเป็นผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลในการกำหนดนโยบายต่างประเทศและนโยบายด้านกลาโหม มีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมและมีสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเหล่านี้ทำให้เกิดความลงตัวรัฐบาลมีเสถียรภาพจนสามารถมีเวลาว่างยุทธศาสตร์และนโยบายระยะยาวทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม จนเจริญมั่งคั่งอย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ (รายละเอียดจะได้เล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปเพราะมีหลายประเทศที่น่าพูดถึง เช่น นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และออสเตรีย เป็นต้น)

#ดูเขาแล้วลองย้อนดูตัวเราเองบ้างจะดีไหม?

ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 จนถึง พ.ศ. 2516 เรามีรัฐบาลเผด็จการโดยพวกคณะราษฎร์และผู้สืบทอดมรดก มากกว่ารัฐบาลประชาธิปไตยแต่ทุกรัฐบาลล้วนวุ่นวายอยู่กับการรักษาอำนาจของตน จึงไม่มีเวลาคิดเรื่องการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการคิดเรื่องอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้มาเริ่มทำกันค่อนข้างจะจริงจังก็สมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปีพ.ศ. 2502 ซึ่งได้ปรับปรุงสำนักงานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามให้มาเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ มีหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ประเทศไทยจึงได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกคือแผนสำหรับ พ.ศ.2504-2509 (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี พ.ศ.2515)

ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็เป็นการกระทำตามคำแนะนำของที่ปรึกษาจากสหรัฐอเมริกา เพราะสหรัฐฯ ต้องการใช้ประเทศไทยเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับการขยายอิทธิพลของฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่กำลังโตวันโตคืนบนโลกอยู่ในขณะนั้น และเพื่อเป็นการตอบแทนกัน จอมพล ป. และ จอมพล สฤษดิ์ ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆที่เป็นรัฐบาลเผด็จการ (อยากทราบความกระจ่างของรายละเอียดในเรื่องนี้ สามารถหาอ่านได้จากหนังสืออันทรงคุณค่าชื่อ “50ปีเศรษฐกิจไทย” ของคุณบรรยง พงษ์พานิช 2022, บริษัทภาพพิมพ์ จำกัด เป็นผู้พิมพ์จำหน่าย)

หลังจากมีการปฏิวัติใหญ่โดยประชาชนและนักศึกษาในปีพ.ศ. 2516 จึงเริ่มมีการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในสมัย ท่านสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่หลังจากนั้นก็มีการสลับกันไปมาระหว่างรัฐบาลจากการเลือกตั้งและรัฐบาลจากการรัฐประหาร แต่ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครคิดเรื่องยุทธศาสตร์ของประเทศกันเลย เพราะมัวยุ่งอยู่กับการประณามด่ามึงด่ากูกันว่า ใครเป็นรัฐบาลที่โกงบ้านกินเมืองมากกว่ากัน

ประเทศต้องรอจนถึง พ.ศ. 2523 จึงได้มีรัฐบาลที่เริ่มมีการวางยุทธศาสตร์และนโยบายระยะยาวเพื่อให้ชาติมีความรุ่งเรืองและมั่นคงในทางเศรษฐกิจกันอย่างจริงจัง

ในสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยการจัดให้มีท่าเรือน้ำลึกและเขตอุตสาหกรรมมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบังและเป็นนายกรัฐมนตรี คนแรกที่มีคำสั่งให้มีแบบแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมสำหรับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

‘บิ๊กตู่’ ตั้ง ‘ไตรรงค์ สุวรรณคีรี’ นั่งที่ปรึกษานายกฯ ท่ามกลางกระแสข่าวเตรียมซบ ‘รวมไทยสร้างชาติ’

‘ประยุทธ์’ เซ็นตั้ง ‘ไตรรงค์ สุวรรณคีรี’ เป็นที่ปรึกษานายกฯ เพิ่ม เพื่อให้การบริหารขับเคลื่อนงานรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางกระแสข่าวไปรวมพลกันที่พรรครวมไทยสร้างชาติ

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี

เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงแต่งตั้ง นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย ให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาฯ

'ไตรรงค์' สวนเดือด 'จุรินทร์' ปมฉก ส.ส. แฉ!! เหตุผลทำไมอดีต ส.ส.แห่หนี ปชป.

‘ไตรรงค์’ สวน ‘จุรินทร์’ พรรคไหนจ้องตกปลาบ่อเพื่อนคงชั่วน่าดู คุย ร่ำรวยกว่าจุรินทร์ ลั่น ใครจะโดนตกได้ แต่ละคนมีเงินทั้งนั้น บอกคนหนี ปชป. เพราะอุดมการณ์อ่อน แฉแค่เลือก กก.บห.ยังต้องยัดเงิน

(2 มี.ค. 66) ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองหัวหน้าพรรคร่วมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุว่ามีพรรคการเมืองที่จ้องตกปลาในบ่อเพื่อนว่า พรรคที่นายจุรินทร์ พูดถึงคงชั่วจังเลย แต่ตนคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องมีวิธีป้องกันคนของตัวเองไม่ให้ออกด้วย ซึ่งเรื่องนี้มันมี 2 ประเด็นคือ 1.) มีพรรคการเมืองที่พยายามจะไปตกลงกับสมาชิกของพรรคอื่นโดยมีการระบุว่าจะให้เงิน ให้ทอง 2.) มีบางพรรคที่กลัวสมาชิกจะออกก็ยัดเงิน ประมาณว่าอย่าออกนะให้เงินเท่านู้นเท่านี้ ซึ่งแบบนี้เรียกว่าตกปลาในบ่อตัวเอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการระบุว่า นายไตรรงค์ ดึงสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาอยู่พรรครวมไทยสร้างชาติ นายไตรรงค์ กล่าวว่า คนที่มาจากพรรคประชาธิปัตย์เหมือนตน อยากถามว่าใครจะมาตกตนได้ แค่คันเบ็ดมาก็ถูกเตะก้านคอแล้ว ยังไม่ทันได้ตกเลย

“คนที่ออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องไปถามเขาดูว่าทำไมเขาถึงออก ก็เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถรักษาอุดมการณ์เดิมไว้ได้แล้ว ตั้งแต่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เสียชีวิต อุดมการณ์ก็อ่อนมาเรื่อย ๆ ผมสังเกตมาตลอดและคนที่อยู่ก็ไม่รักษาอุดมการณ์ เมื่อก่อนพรรคประชาธิปัตย์เลือกตั้ง เลือกกรรมการบริหารไม่เคยซื้อเสียง แต่ระยะหลังซื้อกันคนละแสน สองแสน และได้ข่าวยัดเงินบางคนไปจนถึงล้านแล้ว คนอย่างผมจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าพรรคตกต่ำถึงขนาดนี้” 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top