Wednesday, 2 July 2025
ไดโนเสาร์

นักวิทย์จีน’ ยืนยัน รอยบุ๋มที่พบในร้านอาหารทางตอนใต้ของจีน อาจเป็น ‘รอยเท้า’ ของ ‘ไดโนเสาร์ซอโรพอด’ อายุนับ 100 ล้านปี

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 66 สำนักงานข่าวซินหัวรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ยืนยันแล้วว่า ฟอสซิลรอยเท้าไดโนเสาร์ที่พบในร้านอาหารแห่งหนึ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เป็นของไดโนเสาร์คอยาวที่อาศัยอยู่บนโลกเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน

การค้นพบสุดแปลกนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วโดยลูกค้าร้านอาหารจีนแห่งหนึ่ง ก่อนจะกลายเป็นไวรัลทั่วโลกเนื่องจากเป็นการพบรอยเท้าในสถานที่ที่แปลกไปจากเดิม ปัจจุบัน ทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติได้เผยแพร่การค้นพบนี้ในวารสารครีเทเชียส รีเสิร์ช (Cretaceous Research) ฉบับล่าสุด หลังจากพวกเขาใช้เครื่องสแกนสามมิติเพื่อวิเคราะห์ ‘รอยเท้า’ ที่พบในร้านอาหารเหล่านี้

นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า กลุ่มรอยเท้า ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 50-60 เซนติเมตรเหล่านี้ อาจเป็นของไดโนเสาร์ซอโรพอดที่มีความยาว 8-10 เมตร จำนวนหนึ่ง ซอโรพอดมีหัวเล็ก คอยาว หางยาว และถูกกล่าวขานว่า ‘เป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยอาศัยอยู่บนบก’ เท่าที่มีข้อมูลจวบจนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สิ่งมีชีวิตขนาดมหึมานี้มีย่างก้าวที่สั้นมาก พวกมันเดินทางได้ไกล 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

วันที่ 10 ก.ค. 2022 โอวหงเทา ลูกค้าร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมืองเล่อซานของมณฑลเสฉวน สังเกตเห็นรอยยุบที่แปลกตาบนพื้นของร้าน ด้วยความที่เขาสนใจศึกษาความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยา จึงสันนิษฐานว่า รอยดังกล่าวน่าจะเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ ก่อนจะติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงอย่าง รองศาสตราจารย์สิงลี่ต๋า จากมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (China University of Geosciences) ให้มาตรวจสอบ

6 วันถัดมา รองศาสตราจารย์สิงได้นำทีมนักวิจัยเข้าตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างจากองค์พระใหญ่เล่อซาน พระพุทธรูปหินสลักที่ใหญ่ที่สุดในโลก อันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจีน ไปเพียง 5 กิโลเมตรเท่านั้น

ไทยค้นพบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ 130 ล้านปี ที่สระแก้ว ตั้งชื่อ ‘การูแดปเทอรัส บุฟโตติ’ เทอโรซอร์ตัวแรกของไทย

(21 มิ.ย. 68) ประเทศไทยค้นพบ 'เทอโรซอร์' หรือสัตว์เลื้อยคลานบินได้เป็นครั้งแรกในประเทศ จากซากฟอสซิลขากรรไกรบนของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ชื่อ การูแดปเทอรัส บุฟโตติ อายุประมาณ 130 ล้านปี ในชั้นหินหมวดเสาขัว บริเวณอ่างเก็บน้ำพระปรง จังหวัดสระแก้ว นับเป็นสัตว์ครองฟ้าร่วมยุคไดโนเสาร์ที่เคยมีชีวิตอยู่ในภูมิภาคนี้

เทอโรซอร์ชนิดนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเทอโรแดคทิลลอยด์ วงศ์นาโธซอรีน มีลักษณะเด่นคือปากกว้างคล้ายนกปากช้อน ฟันแหลมเรียวเหมาะกับการจับปลา และมีช่วงปีกกว้างประมาณ 2.5 เมตร การตั้งชื่อ การูแดปเทอรัส มาจากคำว่า 'ปีกครุฑ' ส่วน บุฟโตติ ตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.เอริก บุฟโต นักบรรพชีวินวิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้มีบทบาทในไทยมายาวนาน

ดร.ศิตะ มานิตกุล นักวิจัยผู้นำทีมค้นพบเผยว่า การพบขากรรไกรบนที่ค่อนข้างสมบูรณ์ รวมถึงฟันอีก 5 ซี่ เป็นข้อมูลสำคัญต่อการศึกษาสายวิวัฒนาการของเทอโรซอร์ เพราะก่อนหน้านี้ไทยเคยพบแค่ฟันหรือกระดูกชิ้นเล็ก การค้นพบครั้งนี้จึงช่วยยืนยันถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในยุคครีเทเชียสของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จุดค้นพบอยู่ที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์พระปรง อำเภอวัฒนานคร ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่เคยพบไดโนเสาร์กินพืช เต่า จระเข้ และสัตว์น้ำจืดอื่น ๆ ตั้งแต่ปี 2545 การค้นพบเทอโรซอร์ล่าสุดช่วยตอกย้ำศักยภาพทางบรรพชีวินวิทยาของภาคตะวันออกที่สามารถเทียบชั้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณีประกาศให้แหล่งพระปรงเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยและอนุรักษ์ โดยจัดแถลงข่าวร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคามเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา การค้นพบครั้งนี้ไม่เพียงเติมเต็มภาพวิวัฒนาการของสัตว์โบราณ แต่ยังสะท้อนถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ซึ่งถือเป็นสมบัติของแผ่นดินไทย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top