Monday, 13 May 2024
ในหลวงรัชกาลที่4

18 สิงหาคม ของทุกปี วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทิดพระเกียรติ ในหลวงรัชกาลที่ 4

วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของไทย ถูกกำหนดให้ตรงกับวันที่ 18 สิงหาคมของทุกปี โดยเป็นวันที่้มีความสำคัญต่อวงการวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ไทย 

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 เมษายน ปี 2525 ให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 เป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"  พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ 

ที่มาของการกำหนดวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เกิดขึ้นเนื่องจากในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ (รัชกาลที่ 5) ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา ได้เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค ไปทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวงที่ ตำบลบ้านหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยทรงตั้งพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์ หลังจากที่ทรงใช้กล้องโทรทรรศน์คำนวณการเกิดสุริยุปราคาครั้งแรกได้อย่างแม่นยำ ล่วงหน้า 2 ปี

‘ในหลวง ร.4’ โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ ‘ราชกิจจานุเบกษา’ เพื่อให้คนไทยได้รู้ข่าวราชการแผ่นดินทั้งใน-นอกประเทศ

‘ราชกิจจานุเบกษา’ ถือเป็นสิ่งพิมพ์ประเภทวารสารฉบับแรกของรัฐไทย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ขึ้น เริ่มออกฉบับแรกเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2401 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกาศคำสั่งทางราชการ โดยเฉพาะในการประกาศกฎหมาย ซึ่งมีการรับรองในกฎหมายว่า กฎหมายทั้งหลายต้องลงเผยแพร่ในหนังสือนี้ก่อนจึงจะมีผลใช้บังคับได้ และเผยแพร่ให้ส่วนราชการและราษฎรได้ทราบทั่วกัน มีกำหนดออกทุก 15 วัน แต่การจัดพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาในสมัยเริ่มแรกนี้ ตีพิมพ์เผยแพร่ได้เพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ก็ต้องหยุดกิจการไป

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญของหนังสือราชกิจจานุเบกษา และทรงหวังที่จะให้ราษฎรได้รับทราบข่าวคราวและราชการแผ่นดินทั้งในและนอกประเทศ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2417 ในการจัดพิมพ์ครั้งนี้พิมพ์ออกเผยแพร่ด้วยวิธีการจำหน่ายในอัตราปีละ 8 บาท โดยมีกำหนดออกในวันขึ้น 1 ค่ำ ขึ้น 9 ค่ำ แรม 1 ค่ำ และแรม 9 ค่ำ ของทุกเดือน แต่ราชกิจจานุเบกษาที่พิมพ์ออกในสมัยรัชกาลที่ 5 ตอนต้น ก็ออกไม่สม่ำเสมอนัก ต่อมาจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเปลี่ยนแปลงกำหนดออกราชกิจจานุเบกษาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2432 โดยมีกำหนดออกทุกวันอังคาร หลังจากนั้น การจัดทำราชกิจจานุเบกษาก็ได้ดำเนินสืบมาจนถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ในสมัยแรกเริ่ม สมัยรัชกาลที่ 4 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานพิมพ์ พิมพ์ขึ้นในปีมะเมีย สัมฤทธิศก 1220 และปีมะแม เอกศก 1221 ต่อกัน 2 ปี เป็นหนังสือหลายร้อยฉบับ สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทได้ทราบข้อราชการต่าง ๆ  ครั้นมาถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ พระดำริว่า “หนังสือราชกิจจานุเบกษา ในรัชกาลที่ ๔ เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ไม่ควรให้สูญหายไป” จึงได้ทรงรวบรวมต้นฉบับเท่าที่หาได้มาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่เป็นจำนวน 500 เล่ม โดยอักขรวิธีที่พิมพ์ยังคงอยู่ตามเดิมมิได้มีการแก้ไขแต่ประการใด แต่การพิมพ์ราชกิจจานุเบกษาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์ สิ้นพระชนม์เสียก่อน พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล ได้ทรงรับธุระดำเนินงานจนแล้วเสร็จ และได้เย็บผูกเป็นเล่มนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับพระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน ที่เหลือได้จำหน่ายในราคาเล่มละ 5 บาท

ในตอนแรกเริ่มนั้น ราชกิจจานุเบกษา คือ หนังสือหมายประกาศการเล็กน้อยต่าง ๆ จากผู้เป็นพระมหากษัตริย์ มาในวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นหนึ่งค่ำ ปีมะเมีย ยังเป็นนพศก เป็นปีที่แปด ในรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งในรัชกาลปัจจุบันนี้ ให้ข้าราชการทุกตำแหน่งทั้งในกรุงและนอกกรุงและราษฎรทั้งปวงทราบโดยทั่วกันและทำตาม ประพฤติตาม และรู้ความตามสมควร เพื่อไม่ทำให้ประกาศผิดพระราชดำริ พระราชประสงค์ และไปเล่าลือ เข้าใจความผิด ๆ ไป

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริตริตรองในการที่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้เรียบร้อยสำเร็จประโยชน์ทั่วถึงให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน จึงทรงพระวิตกว่าราชการต่าง ๆ ซึ่งสั่งให้กรมวังให้สัสดีและทะลวงฟัน เดินบอกตามหมู่ตามกรมต่าง ๆ นั้นก็ดี การที่ยังบังคับให้นายอำเภอมีหมายป่าวประกาศแก่ราษฎรในแขวงนั้น ๆ ก็ดี พระราชบัญญัติใหม่ ๆ ตั้งขึ้นเพื่อที่จะห้ามสิ่งที่ไม่ควรทำ หรือบอกสิ่งที่ควรทำก็ดี การเตือนสติให้ระลึกและถือพระราชกำหนดกฎหมายเก่าก็ดี ตั้งขึ้นและเลิกอากรภาษีต่าง ๆ และพิกัดภาษีนั้น ๆ และลดหย่อนลงหรือขึ้นพิกัดของภาษีนั้น ๆ ก็ดี การเกณฑ์และขอแรงและบอกบุญก็ดี ว่าโดยสั้น ๆ คือเหตุใด ๆ การณ์ใด ๆ ที่ควร ช้าราชการทั้งปวงและราษฎรทั้งหลายพึงรู้โดยทั่วกันนั้น แต่ก่อนเป็นแต่ทำหมายหรือคำประกาศเขียนด้วยดินสอสีดำลงประกาศส่งกันไปส่งกันมา และให้ลอกต่อกันไปผิด ๆ ถูก ๆ ก็เพราะหนังสือ หรือคำประกาศนั้นมีน้อยฉบับ ผู้ที่ได้อ่านและเข้าถึงมีน้อยทำให้ไม่ทั่วถึง ว่าการพระราชประสงค์และประสงค์ของผู้ใหญ่ในแผ่นดิน จะบังคับมาและตกลงประการใด ข้าราชการทั้งปวงและราษฎรทั้งปวงก็ไม่ทราบทั่วกัน ได้ยินแต่ว่ามีหมายประกาศบังคับมา เมื่อการณ์นั้นเกี่ยวข้องกับตัวใครก็เป็นแต่ถามกันต่อไป ผู้ที่จะได้อ่านต้นฉบับน้อยคน บางคนถึงจะได้อ่านก็ไม่เข้าใจ

เพราะราษฎรที่รู้หนังสือในขณะนั้นมีน้อยกว่าผู้ที่ไม่รู้หนังสือ หนังสือก็อ่านไม่ออก ดวงตราของขุนนางในตำแหน่งก็ดูไม่เป็น ซึ่งจะบังคับใช้เรื่องอะไรก็ดูไม่เป็น เห็นตราแดง ๆ ก็พากันกลัว ผู้ที่ถือหนังสือว่าว่าอย่างไรก็เชื่อหมด เพราะฉะนั้นจึงมีคนคดโกง แต่งหนังสือเป็นท้องตราอ้างว่ารับสั่งจากวังหลวงและวังหน้า และเจ้านายเสนาบดีที่เป็นที่นับถือเคารพยำเกรงของราษฎร แล้วก็บังคับหลอกลวงไปต่าง ๆ นานา ด้วยการไม่เป็นธรรม ทำให้ราษฎรเดือดร้อน และเสียพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน และพระนามเจ้านาย และชื่อขุนนาง เพราะฉะนั้นพระราชดำริที่ให้มีการออกพระราชกิจจานุเบกษาก็เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการตีพิมพ์หนังสืออย่างหนึ่ง มีชื่อภาษาสันสฤตว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ แปลว่าหนังสือเป็นที่เพ่งดูราชกิจ มีตรารูปพระมหามงกุฎและฉัตรขนาบสองข้างดวงใหญ่ ตีในเส้นดำกับหนังสือนำหน้าเป็นอักษรตัวใหญ่ว่า ‘ราชกิจจานุเบกษา’ อยู่เบื้องบนบรรทัดทุกฉบับ เป็นสำคัญ แจกมาแก่คนต่าง ๆ ที่ควรรู้ทุกเดือน ทุกปักษ์

15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 วันคล้ายวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ‘ในหลวง ร.4’ กษัตริย์ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย

วันนี้ในอดีต 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อครั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2394 พระราชวงศ์และเสนาบดีมีมติเห็นชอบให้ถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ จึงได้ให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยุรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) ไปเฝ้าเจ้าฟ้ามงกุฎ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร แต่พระองค์ตรัสว่า ถ้าจะถวายพระราชสมบัติแก่พระองค์จะต้องอัญเชิญสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ขึ้นครองราชย์ด้วย เนื่องจากพระองค์ทรงเห็นว่าเป็นผู้ที่มีพระชะตาแรง ต้องได้เป็นพระมหากษัตริย์

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น พระองค์ได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า ‘พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ และมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฏว่า…

"พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฏิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตาร ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษ สุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดม บรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาลมหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "

พร้อมกันนี้ พระองค์ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมีพระราชพิธีบวรราชาภิเษกและทรงรับพระบวรราชโองการ ให้พระเกียรติยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่วนในฝ่ายสมณศักดิ์นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส โดยมหาสมณุตมาภิเษกขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น

ทั้งนี้ พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านที่มีต่อการสร้างสรรค์ชาติไทยสามารถสรุปได้ดังนี้…

>> 1. ด้านวรรณคดีศาสนา
1.1 พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงเป็นอย่างดี พระราชนิพนธ์ส่วนใหญ่เป็นประเภทร้อยแก้ว บทพระราชนิพนธ์ที่สำคัญ ได้แก่
1.1.1 มนุมพระบรมราโชบาย 4 หมวด คือ หมวดวรรณคดี โบราณคดี ธรรมคดี และตำรา
1.1.2 ตำนานเรื่อง พระแก้วมรกต เรื่องปฐมวงศ์
1.1.3 ทรงริเริ่มให้มีการค้นคว้าศิลาจาลึกในประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก คือ จารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหง และจารึกหลักที่ 4 ของพระยาลิไทย

>> 2. ด้านวิทยาศาสตร์ 
2.1. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักดาราศาสตร์ไทย ทรงการคำนวณการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงได้อย่างแม่นยำ ในวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 ล่วงหน้า 2 ปี และได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมเชิญทูตฝรั่งเศสและสิงคโปร์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาครั้งนั้น นอกจากนี้ พระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านวิทยาศาสตร์นั้น ยังทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสัตววิทยาสมาคมแห่งสหราชาอาณาจักรอีกด้วย
2.2. วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2525 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสุลานนท์ ประกาศยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น ‘พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย’ และอนุมัติให้วันที่ 18 สิงหาคมของทุกปีเป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ

>> 3.ด้านดาราศาสตร์
3.1. ทรงเป็นนักโหราศาสตร์อีกด้วย ทรงแต่งตำราทางโหราศาสตร์ที่เรียกว่า ‘เศษพระจอมเกล้า’ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตำราที่ได้รับการยอมรับว่าแม่นยำและทรงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติว่าทรงเป็น ‘พระบิดาแห่งโหราศาสตร์ไทย’


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top