Thursday, 28 March 2024
ใครกันแน่ที่เถื่อน

ดร.ไตรรงค์ ชี้ในประเทศเสรีประชาธิปไตยประชาชนที่เป็นอารยะต้องมีมากกว่าประชาชนที่เป็นอนารยะ(ป่าเถื่อน) การพิจารณาของศาลทุกขั้นตอน ต้องปราศจากความกดดันใดๆ

28 ส.ค.2565-ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเรื่อง “ใครกันแน่ที่เถื่อน” ระบุว่า เมื่อตอนนายโจไบเดน (Joe Biden) ได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงส่วนใหญ่ (Electoral Vote) ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของสหรัฐอเมริกา  รัฐสภาจะต้องรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าวเสียก่อน โจ ไบเดน จึงจะสามารถเข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ได้  แต่ผู้แพ้เลือกตั้งคือ นาย โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้ปลุกระดมกล่าวหาว่าเขาถูกโกงการเลือกตั้งทั้ง ๆ ที่คณะกรรมการเลือกตั้งและศาลได้พิจารณาวินิจฉัยแล้วว่า “ไม่มีการโกง” แต่ด้วยคำโกหกดังกล่าวของนายทรัมป์ได้ปลุกเร้าให้ผู้สนับสนุนตัวเขาได้ก่อม็อบเดินขบวนเข้าไปยึดอาคารรัฐสภา เพื่อขัดขวางการรับรองผลการเลือกตั้ง (เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564) จึงเกิดมีการทำลายข้าวของในรัฐสภา ทำร้ายเจ้าหน้าที่และตำรวจสภาฯจนเกิดการยิงกันตายไปหลายศพและถูกจับกุมไปดำเนินคดีกันเป็นจำนวนมาก

การกระทำของ #ม็อบคนเถื่อน เหล่านั้นได้ทำลายชื่อเสียงและเกียรติภูมิของสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้นำการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปทั่วโลก เพราะเป็นการเปิดเผยให้เห็นว่า มีคนอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ยังมีจิตใจป่าเถื่อนไม่มีความเป็นอารยะ กล่าวคือพร้อมจะใช้ความรุนแรงกับทุกฝ่ายโดยไม่ยำเกรงและเคารพกฎหมาย เพียงเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ แม้ว่าสิ่งนั้นจะสวนทางกับความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชนในประเทศก็ตาม จึงเรียกได้เต็มปากว่าพวกนี้เป็นพวกบูชาระบบ “อนาธิปไตย” ไม่ใช่บูชาระบบ “ประชาธิปไตย” ตามอารยธรรมที่พวกเขาใช้ประกาศกันในการหาเสียงระหว่างการเลือกตั้ง (ซึ่งมันสะท้อนออกมาในรูปของนโยบายต่างประเทศและนโยบายกลาโหมตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน)

มีอยู่หลายครั้งในหลายๆ ประเทศที่เมื่อศาลสถิตยุติธรรม หรือศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำพิพากษา ที่ไม่ตรงกับผลประโยชน์ที่พวกตนต้องการ ผู้ถูกศาลลงโทษ (ส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง) ก็จะแหกปากตำหนิติเตียนศาลฯว่าเป็นผู้ที่มิได้มาจากการเลือกตั้งเหมือนพวกตน มีความชอบธรรมอะไรจึงมาพิพากษาลงโทษพวกตนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถ้าหยุดคิดเสียสักหน่อยก็ควรจะได้สติกันว่าการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงการบ่งบอกถึงความชอบหรือไม่ชอบของประชาชน แต่จะนำผลการเลือกตั้งนั้นมาใช้กับกระบวนการยุติธรรมย่อมไม่ได้ เพราะการพิจารณาของทุกศาลทุกแบบล้วนอาศัยหลักกฎหมายที่ประกอบด้วยทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงไม่มีอะไรเกี่ยวกับความชอบหรือไม่ชอบของประชาชน ถ้าศาลฯลงโทษผู้ใดก็โปรดเชื่อเถอะว่าศาลได้ใช้ดุลยพินิจด้วยความรอบคอบตามหลักข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะมีหลักกฎหมายที่ใช้กันทั่วโลกมาเป็นพันปีแล้วอยู่ข้อหนึ่งก็คือ “บุคคลจะไม่ต้องรับโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้”

ในประเทศเสรีประชาธิปไตยประชาชนที่เป็นอารยะต้องมีมากกว่าประชาชนที่เป็นอนารยะ(ป่าเถื่อน) ประเทศทั้งหลายถึงสามารถเดินหน้าไปได้ด้วยความราบรื่น โดยอาศัยคนส่วนใหญ่ยังยึดหลักนิติธรรมเป็นใหญ่เอาไว้ด้วยความมั่นคง การพิจารณาของศาลทุกขั้นตอน (ของทุกๆศาล) ต้องปราศจากความกดดันใดๆ ของทุกๆ ฝ่ายทั้งจากนักการเมือง พรรคการเมือง และกลุ่มม็อบทุกชนิด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top