กรมวิทย์ฯ เผยพบ ‘โอมิครอน BA.5’ เพิ่มขึ้น คาดเป็นพันธุ์หลักทั่วโลก แต่ยังไม่ชัดรุนแรงขึ้น
กรมวิทย์เผยฐานข้อมูลโลกพบ "โอมิครอน BA.5" เพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% คาดเป็นสายพันธุ์หลักต่อไป ส่วน BA.4 แนวโน้มลดลง ในไทยพบเพิ่มขึ้นทั้ง 2 ตัว เจอสัดส่วนในคนเดินทางจากต่างประเทศมากกว่า ชี้ความรุนแรงยังไม่ชัดเจน
เมื่อวันที่ (24 มิ.ย.) ที่โรงแรมริชมอนด์ แกรนด์ จ.นนทบุรี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด 19 และการกลายพันธุ์ ว่า หลังโควิด 19 ระบาดมา 2 ปีกว่า เรามีสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เหลือสายพันธุ์เดียว คือ โอมิครอน ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักทั่วโลกเกือบ 100% สายพันธุ์อื่นหายไปเกือบหมดแล้ว โดยโอมิครอนยังไม่มีการแตกลูกที่เปลี่ยนแปลงเป็นตัวใหม่ แต่มีการกลายพันธุ์ของลูกหลานเป็น BA. ต่างๆ ซึ่งองค์การอนามัยโลกมีข้อมูลมากขึ้นก็เห็นว่าบางตัวน่าจะจัดชั้นว่าต้องจับตาดู (LUM) ซึ่งขณะนี้มี 6 ตัว ที่เป็น VOC-LUM ได้แก่ BA.4 , BA.5 , BA.2.12.1 , BA.2.9.1 , BA.2.11 และ BA.2.13
ทั้งนี้ การกลายพันธุ์ที่เหมือนกันของ BA.4 และ BA.5 คือ ตำแหน่ง L452R คล้ายกับสายพันธุ์เดลตา ซึ่งมีการวิจัยว่า การกลายพันธุ์ตรงนี้ทำให้เซลล์ปอดเชื่อมกัน ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น ทำให้เป็นที่วิตกกังวลว่า โอมิครอนนั้นแพร่เร็ว และหากรุนแรงพอ ๆ กับเดลตาจะเกิดปัญหาขึ้น แต่ข้อมุลนี้ยังเป็นการทดลองในห้องแล็บและการสันนิษฐานจากตำแหน่งทางพันธุกรรม (Genetic) จึงต้องรอเวลาติดตามดูต่อไป ส่วนตำแหน่งที่ต่างกันของ BA.4 และ BA.5 ไม่ได้ส่งผลกระทบเรื่องความรุนแรง
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ขณะนี้ข้อมูลที่ทุกประเทศช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมแล้วส่งเข้ามาในฐานข้อมูลโลก GISAID ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายพบว่า BA.5 มีทั้งหมด 31,577 ตัวอย่าง ใน 62 ประเทศ น่าจับตาใกล้ชิดมากกว่า เพราะมีการเพิ่มขึ้นจาก 16% เป็น 25% ส่วน BA.4 พบ 14,655 ตัวอย่าง แนวโน้มลดลงจาก 16% ลดเหลือ 9% ขณะที่ BA.2.12.1 ก็ลดลงเช่นกันจาก 31% เหลือ 17% เป็นธรรมชาติของสายพันธุ์ที่แพร่เร็วกว่าจะเบียดตัวที่แพร่ช้ากว่า ซึ่งอีกไม่นาน BA.5 น่าจะเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดทั่วโลกรวมถึงไทย
ส่วนการเฝ้าระวังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรามีการตรวจแบบเร็ว ซึ่งจะยังแยก BA.4 และ BA.5 ไม่ได้ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา วันที่ (18-22 มิ.ย.) ตรวจ 400 กว่าราย พบ BA.4/BA.5 181 ราย โดยกลุ่มผู้เดินทางมาจากต่างประเทศพบสัดส่วนเป็น BA.4/BA.5 มากกว่า 72% ส่วนการตรวจในประเทศสัดส่วน BA.4/BA.5 พบประมาณ 40% สำหรับการตรวจโดยถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวและส่งข้อมูลไป GISAID แล้ว พบว่า BA.4 และ BA.5 รวม 81 ตัวอย่าง แบ่งเป็น BA.4 จำนวน 32 ตัวอย่าง และ BA.5 จำนวน 49 ตัวอย่าง ถามว่าไทยเรามีเท่าไร น่าจะมีประมาณ 200 กว่าตัวอย่าง เพราะการถอดรหัสพันธุกรรมส่วนหนึ่งดึงมาจากการตรวจแบบเร็ว จึงมีความทับซ้อนกันอยู่จำนวนหนึ่ง
"ในประเทศไทยถือว่า BA.4 และ BA.5 มีสัดส่วนมากขึ้น แต่ที่สัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นไปเกือบ 50% จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่พบไม่มาก เนื่องจากตัวอย่างเพิ่งส่งมาให้ตรวจ ยังต้องดูอีก 2-3 สัปดาห์ต่อเนื่องว่า แนวโน้มที่จะเกิดในบ้านเราเป็นอย่างไร ซึ่งเราจะเฝ้าระวังในคนอาการหนักเป็นพิเศษ เพราะโจทย์เราคือรุนแรงขึ้นหรือไม่ โดยจะร่วมมือกรมการแพทย์ รพ.ใหญ่ ๆ ในภูมิภาคว่า คนที่ใส่ท่อช่วยหายใจมี BA.4 BA.5 เพิ่มมากขึ้นมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีคนไข้หนักขอให้ส่งตัวอย่างมาตรวจสายพันธุ์ด้วย" นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ทุกครั้งที่กลายพันธุ์จะมีคำถามว่าแพร่เร็วขึ้นหรือไม่ หลบภูมิคุ้มกันหรือไม่ และรุนแรงทำให้อาการหนัก เสียชีวิตมากขึ้นหรือไม่ ทั้งนี้ ย้ำว่าอย่าเพิ่งตื่นตระหนก ข้อมูลในปัจจุบันพบชัดเจนว่ามีการแพร่เร็ว แต่เป็นการรายงานของแล็บ ซึ่งเมื่อเทียบกับ BA.2 พบว่า BA.4 และ BA.5 มีความเร็วกว่า แอนติบอดีที่จะทำลายฤทธิ์ของเชื้อใช้ได้น้อยลง คือ สู้แอนติบอดีได้ดีกว่า และยารักษาสำหรับบางรายที่ไม่มีภูมิคุ้มกันมากพอก็ตอบสนองน้อยลง แต่สรุปว่ารุนแรงหรือไม่ ต้องรอข้อมูลทางคลินิกเพิ่มเติม เพราะยังเป็นข้อสันนิษฐาน ยังไม่มีสำนักไหนฟันธงว่ารุนแรงขึ้นจริง
"ข้อมูลจากประเทศอังกฤษพบว่า BA.4 และ BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.2 ก่อนหน้านี้ บางประเทศพบว่าแพร่เร็วกว่าจริง คือ อังกฤษเร็วมากกว่า 1.4-1.5 เท่า สหรัฐอเมริกา เร็วกว่าเกือบ 1.5 เท่า แอฟริกาใต้เร็วกว่า 1 เท่าเศษ ส่วนฝรั่งเศสและเยอรมนีแพร่เร็วไม่ต่างจาก BA.2 ส่วนเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก โปรตุเกส แพร่เร็วต่ำกว่า BA.2 ซึ่งยังไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร จึงยังต้องจับตาดูต่อไป" นพ.ศุภกิจกล่าว
