Friday, 25 April 2025
โสภณองค์การณ์

ผู้สื่อข่าวอาวุโส ‘โสภณ องค์การณ์’ เสียชีวิตวานนี้ รวมอายุ 75 ปี

(25 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้เฟซบุ๊กบัญชี ‘Sopon Onkgara’ ได้โพสต์แจ้งข่าวว่า

เรียนผู้ชมและ fc ของคุณโสภณ องค์การณ์

เมื่อช่วงค่ำของวันนี้ วันพฤหัสบดีที่ 24 ตค.2567 เวลา 22.29 น. คุณพ่อได้จากไปโดยสงบ 

คุณพ่อหลับสบายแล้วครับ ผมและคุณแม่ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ส่งกำลังใจมาให้คุณพ่อและครอบครัวตลอดมา

ผมจะแจ้งกำหนดการสวดพระอภิธรรมอีกครั้งเมื่อทราบรายละเอียดครบถ้วนแล้ว
ขอบพระคุณทุกท่านครับ

น้องบิ๊ก

สำหรับนายโสภณ องค์การณ์ เกิดเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2492 เป็นชาวตำบลแม่ข้าวต้ม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนบพิตรพิมุข แผนกภาษาต่างประเทศ ปี 2511 เริ่มทำงานเป็นล่ามในปี 2512 ให้นักศึกษาชาวอเมริกันทำวิจัยที่จังหวัดลำปางและเชียงรายเป็นเวลา 1 ปี เพื่อทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่สถาบันเอ็มไอที

นายโสภณเข้าสู่วงการสื่อมวลชน โดยเริ่มงานกับหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ที่มีนายสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ในตำแหน่งพนักงานพิสูจน์อักษร ก่อนเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้สื่อข่าว นักเขียน และบรรณาธิการต่อมาเป็นผู้ดำเนินรายการ Face The Nation รายการสัมภาษณ์ภาคภาษาอังกฤษ ออกอากาศทางช่อง 9 อสมท. และเป็นผู้ดูแลแผนกโทรทัศน์ของเครือเนชั่น ได้รับทุน Nieman Fellowship ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอสตัน สหรัฐอเมริกา

ที่ผ่านมานายโสภณมีงานเขียนภาษาไทย ในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก รวมถึงการจัดรายการโทรทัศน์ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนเนล ขณะออกอากาศทางเคเบิลทีวี ยูบีซี 8 และรายการวิทยุ พูดนอกสภา ทางสถานีวิทยุกรมการพลังงานทหาร วิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองอย่างตรงไปตรงมา มีแฟนคลับที่สนใจการเมืองในยุคนั้นติดตามอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ สุทธิชัย หยุ่น เทพชัย หย่อง สรยุทธ สุทัศนะจินดา กนก รัตน์วงศ์สกุล กฤษณะ ละไล ฯลฯ

ต่อมานายโสภณได้ร่วมงานกับเครือผู้จัดการ ปี 2552 เป็นผู้ดำเนินรายการผ่านสถานีโทรทัศน์เครือข่ายเอเอสทีวี เช่น รายการ News Hour สุดสัปดาห์ ทาง ASTV News 1 และรายการเคาะข่าวริมโขง ทาง ASTV 3 อีสานทีวี แต่ยังคงเขียนคอลัมน์ เล่นนอกสภา และ เกาที่คันวันเสาร์ ให้กับหนังสือพิมพ์คมชัดลึก 

อย่างไรก็ตาม นายโสภณได้หยุดเขียนคอลัมน์ให้กับสื่อในเครือเนชั่นมาตั้งแต่สิ้นปี 2553 หลังอยู่กับเครือเนชั่นมานานกว่า 30 ปี สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีปราสาทพระวิหาร และเริ่มเขียนบทความให้กับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน มาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2554 เป็นต้นมา เริ่มจากคอลัมน์หน้ากระดานเรียงห้า ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น ป้อมพระอาทิตย์ และมีคอลัมน์ข่าวต่างประเทศ ชื่อว่า มองต่างแดน ส่วนนิตยสารผู้จัดการสุดสัปดาห์ มีคอลัมน์ โสภณ องค์การณ์ ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2554 พร้อมกับจัดรายการทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมนิวส์วันหลายรายการ เช่น News Hour Weekend, ชวนคิดชวนคุย, เคาะไข่ใส่ข่าว ฯลฯ และรายการวิทยุ พูดนอกสภา ทางสถานีวิทยุ เอฟเอ็ม 90.5 MHz

‘อาจารย์สุวินัย’ โพสต์แสดงความอาลัย หลัง ‘โสภณ องค์การณ์’ เดินทางไกล

(25 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความแสดงความอาลัยแด่ ‘โสภณ องค์การณ์’ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ซึ่งเสียชีวิตวานนี้ ว่า

แด่กัลยาณชน ผู้จากไป

ทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง 

เหตุแห่งกรรม ส่วนใหญ่ล้วนมาจากการแยกดีแยกชั่วไม่ออก

'แยกแยะดีชั่วได้' เป็นพื้นฐานที่แยกคน (สัตว์ประเสริฐ) กับเดรัจฉาน

ไม่คบคนพาลที่เป็นเดรัจฉานในร่างคน

ไม่ยอมให้คนแบบนี้เข้ามาอยู่ในโลกของตนเด็ดขาด ไม่ว่าในโลกจริง หรือโลกโซเชียล

ก้าวพ้นดีชั่วได้ด้วยจิตที่ตื่นรู้ กับจิตที่รู้ทัน 

สามารถประคองจิตที่เฝ้าดูโดยไม่เข้าไปร่วมเล่นละครชีวิต คือเส้นแบ่งที่แยก 'ปุถุชน' กับ 'กัลยาณชน' ออกจากกัน

ใครที่ฝึกเจริญสติ เจริญปัญญา เราคือกัลยาณมิตรของกันและกัน

>>>กลไกแห่งอัตตา 

ความทุกข์ที่ร้าวรานใจที่สุดของคนเรา คือการที่ตัวเองรู้สึกว่าได้สูญเสียส่วนหนึ่งของตัวตนไป หรือรู้สึกว่าบางส่วนของตัวตนของตนได้ตายไปแล้ว

พวกเราเคยสังเกตเห็นบ้างหรือไม่ว่า โลกของความรู้สึกนึกคิดส่วนใหญ่มักไม่เกี่ยวข้องแม้แต่นิดเดียวกับความเป็นจริงที่แวดล้อมตัวเราในขณะนั้น

ความไม่รู้หรือความหลงผิดที่ใหญ่ที่สุดของคนส่วนใหญ่ คือการหลงเข้าใจผิดว่า การคิด หรือการที่กำลังคิดอยู่เป็นอย่างเดียวกับการมีสติ

แต่จริง ๆ แล้ว ในขณะที่กำลังคิดอยู่นั้น สติมิได้ตั้งอยู่ด้วย ถ้าผู้นั้นมิได้ 'เห็น' ความคิดเป็นพัก ๆ

มนุษย์ส่วนใหญ่ก็จึง 'ขาดสติ' เหมือนกัน 'ไม่รู้' เหมือนกัน และตกอยู่ในอวิชชาเหมือนกัน

เพราะแต่ละคนล้วนถูกพัดพาไปตามกระแสของการ 'รู้สึกนึกคิด' ที่ไหลจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่งอย่างแทบไม่หยุดหย่อน โดยแตกต่างกันก็แค่ในเนื้อหาและลีลาของอารมณ์เท่านั้น

ในชั่วขณะที่ 'คิด' ได้พลิกมาเป็น 'สติ' เป็นพัก ๆ ด้วยการดูจิต เห็นจิต 

ชั่วขณะนั้นจะเป็นห้วงยามที่ตัวเราตระหนักรู้ได้ว่า ชีวิตไม่จริงจัง ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอย่างที่ความนึกคิดปรุงปั้นให้เราหลงเชื่อ 

ในห้วงยามแห่งสัจจะนั้นเอง คนเราสามารถได้ลิ้มรสอิสรภาพที่แท้จริงช่วงสั้น ๆ เป็นการชั่วคราว... รสชาติของอิสรภาพจากการได้เห็นอุปทานของอัตตาตัวตน

การคิดด้วยสมองอาจเป็นสมบัติที่วิเศษสุดของมนุษย์ แต่มันไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเราเข้าถึงความรู้แจ้งได้จริง

ความคิดสารพันที่วิ่งวนในความคิดของคนเรานั้น เกือบทั้งหมดเป็นกลไกของอัตตาซึ่งก็คือ “ตัวกู ของกู” อันเป็นต้นเหตุพื้นฐานความทุกข์ใจทั้งสิ้นทั้งปวง 

อุบายของอัตตาที่จองจำคนเราให้ 'ขาดสติ' นั้นมีมากมายไม่ว่าจะในเรื่อง ลัทธิบริโภคนิยม การยึดติดกับหัวโขนของตน การเก็บกดบาดแผลทางใจในอดีตจนกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของทัศนคติและบุคลิกภาพที่บิดเบี้ยว การยึดมั่นในมุมมองและความเชื่อของตนและพรรคพวกตนอย่างสุดโต่ง การติดสวยติดหล่อ การติดสนุก การติดอร่อย ฯลฯ

นอกจากนี้ความไม่อิ่มไม่พอของอัตตายังทำให้มันต้องแสวงหาอะไรต่อมิอะไรมาเติมแต้มตัวมันให้เต็มที่อย่างไม่รู้จบ 

แต่เติมเท่าไรก็ไม่เคยพอเคยเต็ม มันจึงต้องดึงเอาสารพัดสิ่ง เช่น อำนาจ ทรัพย์สิน เงินทอง สิ่งของ การท่องเที่ยว บันเทิง ความรัก ภาพลักษณ์ ความโด่งดัง ความสวย ความสำเร็จ ความทรงจำ ความผูกพัน หรือแม้กระทั่งความรวดร้าว ความเจ็บปวดทรมานใจ ความรู้สึกผิดในใจ ความพ่ายแพ้ ความล้มเหลวมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวมัน เพื่อให้ตัวมันเองคงอยู่อย่างเหนียวแน่นยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

กลไกการเสริมสร้างตัวเองของอัตตานั้นสามารถแบ่งได้ เป็นสองส่วน คือส่วนโครงสร้างของทุกข์ กับส่วนเนื้อหาของทุกข์ 

ความรู้สึกเจ็บปวดโกรธเกรี้ยวระทมทุกข์เชิงโครงสร้างของคนเรานั้นมักจะทัดเทียมกัน ถึงแม้สิ่งที่สูญเสียไปจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงในเชิงเนื้อหาก็ตาม 

ส่วนของ 'เนื้อหาของทุกข์' ที่สูญเสียจนทำให้ทรมานใจนั้นอาจเป็น ของเล่น รถยนต์ ชื่อเสียง คนรัก ตำแหน่ง ทรัพย์สิน บุคคลอันเป็นที่รัก หรืออะไรก็ได้ที่ผิดหวัง เพราะเนื้อหาของความทุกข์มันเปลี่ยนแปลงไปตามเรื่องราว แต่ 'โครงสร้างของทุกข์' ไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

ความทุกข์ที่ร้าวรานใจที่สุดของคนเรา คือการที่ตัวเองรู้สึกว่าได้สูญเสียส่วนหนึ่งของตัวตนไป หรือว่าตัวเองรู้สึกว่าบางส่วนของตัวตนของตนได้ตายไปแล้ว

แต่ความจริงก็คือว่า มีบางอย่างได้สูญเสียไปแล้วจริง เพียงแต่ถ้าตอนนี้เราตั้งสติ ปล่อยวางความคิด มาอยู่กับความรู้สึกตัว ณ ปัจจุบันของลมหายใจ ของกาย ของใจเราได้ 

ไม่ช้าเราจะรู้สึกสงบ เบาสบายอย่างประหลาด และยังอิ่มเต็มในตัวของตัวเอง โดยที่สิ่งที่สูญเสียไปแล้วมันเป็นคนละส่วนไม่เกี่ยวกันเลย มันไม่เกี่ยวกับกายใจที่เราสัมผัสในความเป็นจริง ณ ปัจจุบันนี้แม้แต่นิดเดียว

การสลายตัวตนของคนเราทำได้แบบนี้ และด้วยวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้น นี่เป็นกระบวนการที่เราต้องฝึกต้องทำให้ช่ำชองชั่วชีวิต

~ สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavalai


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top