รัฐบาลมาเลเซียเอาจริงกับปัญหาสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศ เมื่อคณะกรรมการการสื่อสารและมัลติมีเดียแห่งมาเลเซีย (MCMC) กำหนดให้แพลตฟอร์มผู้ให้บริการโซเชียลมีเดีย และส่งข้อความออนไลน์ ที่มีบัญชีผู้ใช้งานตั้งแต่ 8 ล้านบัญชีขึ้นไปในมาเลเซีย ต้องขึ้นทะเบียนเพื่อขอใบอนุญาตตามกรอบกฎหมายการกำกับดูแลใหม่ ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 มกราคม 2568
กรอบระเบียบใหม่นี้ สอดคล้องกับการตัดสินใจในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่ว่าโซเชียลมีเดียและบริการส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของมาเลเซีย เพื่อต่อสู้กับคดีอาชญากรรมและการฉ้อโกงทางไซเบอร์ รวมถึงพฤติกรรมการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ และอาชญากรรมทางเพศต่อเด็กและเยาวชน ผ่านสื่อโซเชียลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
โดยรัฐบาลมาเลเซียเชื่อมั่นว่า กรอบระเบียบใหม่นี้ จะช่วยสร้างระบบนิเวศออนไลน์ที่ปลอดภัย มีคุณภาพ เพื่อประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้ใช้งานทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะเด็กและครอบครัว
นั่นหมายความว่า แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ อาทิ Facebook, Instagram, WhatsApp, Line, Youtube, TikTok, Telegram, X และอื่น ๆ ที่มีผู้ใช้งานในมาเลเซียเกิน 8 ล้านบัญชี ต้องมาลงทะเบียนขอใบอนุญาต และปฏิบัติตามกรอบกฎหมายใหม่นี้ นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 นี้เป็นต้นไป จนถึงภายในวันที่ 1 มกราคม 2568 มิฉะนั้น จะถือเป็นความผิด ที่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของมาเลเซีย ที่อาจมีผลถึงการถูกระงับการเผยแพร่ หรือใช้งานภายในประเทศได้
ก่อนหน้านี้ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และสื่อออนไลน์ ได้รับการยกเว้นในการขอใบอนุญาตตามระเบียบข้อบังคับกิจการสื่อในมาเลเซีย ซึ่งแตกต่างจากสื่อออฟไลน์ดั้งเดิม ที่ต้องอยู่ภายในกฎหมายควบคุมของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด และนั่นจึงกลายเป็นช่องโหว่ที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมมากมาย ที่ใช้ช่องทางโซเชียลเข้าถึงเหยื่อผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลของ MCMC พบว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม 2020 - ตุลาคม 2023 มีคดีหลอกลวงทางไซเบอร์ที่สร้างความเสียหายให้แก่เหยื่อ เป็นมูลค่าสูงกว่า 506 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีคดีเกี่ยวข้องกับการ กลั่นแกล้ง และเผยแพร่คำพูดแสดงความเกลียดชังผ่านโซเชียลถึง 3,419 รายการ
และล่าสุดจากกรณีการฆ่าตัวตายของ ‘Esha’ หรือ ราชาสวารี อัพพาหุ TikToker สาวชื่อดังชาวมาเลเซีย ที่ทำคอนเทนต์ด้านความงาม และการใช้ชีวิตแบบคิดบวก แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต่อสู้กับข้อความบูลลี่ คุกคาม ไปจนถึงการขู่ฆ่าทางออนไลน์ได้ จนเกิดอาการซึมเศร้าและจบชีวิตตนเองเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นที่ชาวมาเลเซียวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงมาตรการป้องกันการกลั่นแกล้ง ดูหมิ่นกันในโลกออนไลน์อย่างเหมาะสม
แต่เมื่อรัฐบาลมาเลเซียตัดสินใจที่จะจัดระเบียบโซเชียลใหม่ ก็มีกลุ่มต่อต้านมองว่า รัฐบาลกำลังใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมสื่อออนไลน์ เป็นการละเมิดเสรีภาพทางการพูด และนำเสนอข่าวทางสื่อสาธารณะ ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ที่จะนำไปสู่การปิดกั้น และ ปราบปรามกลุ่มเห็นต่างทางการเมือง ที่ต่อต้านรัฐบาลได้ในภายหลัง
และมีการส่งจดหมายเปิดผนึกจากองค์กรอิสระ 44 แห่งและนักเคลื่อนไหว 23 คน ถึงนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม ประณามการออกกฎหมายควบคุมสื่อโซเชียลมีเดียดังกล่าวว่า เป็นการใช้อำนาจมิชอบอย่างโจ่งแจ้ง เพื่อโจมตีระบอบประชาธิปไตย และลดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ในขณะเดียวกัน กฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่ของมาเลเซีย กำลังจะกลายเป็นต้นแบบให้กับรัฐบาลอื่น ๆในอาเซียน อย่างอินโดนีเซีย และ สิงคโปร์ ที่กำลังพิจารณากฎหมายควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันอาชญากรรมทางออนไลน์ไม่ให้ประชาชนของชาติตกเป็นเหยื่อ
หากรัฐบาลหลายชาติเริ่มออกมาเคลื่อนไหวในการกำหนดกรอบกติกาการใช้สื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น ก็ต้องมาติดตามว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ว่าจะออกมาปรับตัวให้อยู่ในกรอบเพื่อรักษาตลาด หรือ ปลุกกระแสต่อต้านเพื่อรักษาคำว่า "เสรีภาพสื่อ" ที่ไม่ยอมอยู่ภายใต้กฎหมายของชาติใด