Sunday, 11 May 2025
โรงกลั่นไทยออยล์

‘กรมธุรกิจพลังงาน’ ยัน!! น้ำมันมีเพียงพอใช้ในประเทศ หลัง ‘โรงกลั่นไทยออยล์’ ประกาศหยุดซ่อมบำรุง 13 วัน

เมื่อวานนี้ (17 ม.ค. 67) นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่าจากกรณีหน่วยกลั่นน้ำมันดิบที่ 3 ของโรงกลั่นไทยออยล์มีการหยุดซ่อมบำรุง เป็นระยะเวลา 13 วัน ระหว่างวันที่ 16-28 มกราคม 2567 

ทั้งนี้ กรมธุรกิจพลังงานจึงได้ประชุมหารืออย่างต่อเนื่องในวันที่ 16-17 มกราคม 2567 ร่วมกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) โรงกลั่นน้ำมันทุกแห่งและผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เพื่อติดตามสถานการณ์ เตรียมมาตรการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง

โดยพบว่าจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมันอากาศยาน (JETA1)110 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว 240 ล้านลิตร น้ำมันกลุ่มเบนซิน 60 ล้านลิตร และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) 15 ล้านกิโลกรัม

อย่างไรก็ดี จากการติดตามสถานการณ์ดังกล่าวพบว่าไทยออยล์ และผู้ค้าน้ำมันสามารถจัดหาน้ำมันกลุ่มเบนซินน้ำมันอากาศยาน (JET A1)และLPG ได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศโดยไม่มีผลกระทบ 

สำหรับน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว การจัดหาค่อนข้างตึงตัวในช่วงแรกกรมธุรกิจพลังงานจึงได้สั่งการให้ผู้ค้าน้ำมันห้ามส่งออกน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ยกเว้นกรณีจำเป็นตามสัญญาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้รวมถึงเร่งนำน้ำมันสำรองตามกฎหมายกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว ออกมาจำหน่ายได้ในปริมาณไม่เกินกว่า 20% ของปริมาณสำรองตามกฎหมายที่มีหน้าที่ต้องเก็บสำรอง ส่งผลให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ของประเทศ 

นอกจากนี้ กรมจะติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดจึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการขาดแคลนน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็ว

'ไทยออยล์' เผย 3 บริษัทผู้รับเหมา ยังไม่ยอมจ่ายค่าจ้างให้แรงงาน จี้!! ควรเร่งรับผิดชอบ บรรเทาความเดือดร้อน ก่อนม็อบบานปลาย

(7 ส.ค. 67) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า…จากกรณีกลุ่มผู้ใช้แรงงานรวมตัวชุมนุมบริเวณริมถนนสุขุมวิท หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากไม่ได้รับค่าจ้างจากผู้รับเหมาตามกำหนดนั้น 

โดยในช่วงสัปดาห์แรกของการชุมนุม กลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง คือ บริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด, บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด  ซึ่งนายจ้างทั้ง 3 บริษัท  เป็นผู้รับเหมาช่วงของ บริษัท ซิโนเพค เอ็นจิเนียริ่ง กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด (Sinopec)

ต่อมา ในช่วงสัปดาห์ที่สอง มีกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้างซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงรายอื่นเข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มเติม คือ บริษัท หิมวันต์ การช่าง 2009 จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของบริษัท เอสทีพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (STP) บริษัท ศิวกฤต คอนสตรัคชั่นแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยูเอ็น ซัพพลาย คอนสตรัคชั่น และห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.วาย.กรุ๊ป ซึ่งทั้ง 3 บริษัท เป็นผู้รับเหมาช่วงของบริษัท เอสซีไอ สยาม โคเรีย อินดันเตรียล จำกัด (“SCI”) 

โดย Sinopec, STP และ SCI เป็นผู้รับเหมาช่วงของกิจการร่วมค้า Unincorporated Joint Venture (UJV) of Samsung E&A (Thailand) Co., Ltd. (ชื่อเดิม Samsung Engineering (Thailand) Co., Ltd.) (Samsung), Petrofac South East Asia Pte. Ltd. (Petrofac) และ Saipem Singapore Pte. Ltd. (Saipem) ซึ่งเป็นคู่สัญญาจ้างทำของในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ให้กับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (ไทยออยล์) 

ไทยออยล์ ขอชี้แจงว่า ไทยออยล์ ได้จ่ายค่าตอบแทนให้ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักในการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ตามเงื่อนไขที่ระบุในสัญญาจ้างเหมาทำของ ออกแบบวิศวกรรม การจัดหา และการก่อสร้าง (EPC: Engineering, Procurement and Construction) อย่างครบถ้วนถูกต้องแล้ว แต่ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ไม่ได้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาให้  Sinopec, STP และ SCI ซึ่งเป็นผู้รับเหมาช่วงของ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ส่งผลให้ Sinopec, STP และ SCI ยังไม่ได้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญาจ้างเหมาให้กับผู้รับเหมาช่วงของตน อันได้แก่ บริษัท วัน เทิร์น เท็น จำกัด, บริษัท เอ็มโก้ แอลทีดี (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท ไทยฟง เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท หิมวันต์ การช่าง 2009 จำกัด, บริษัท ศิวกฤต คอนสตรัคชั่นแอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เคยูเอ็น ซัพพลาย คอนสตรัคชั่น และห้างหุ้นส่วนจำกัด ซี.วาย.กรุ๊ป  ดังนั้น การที่กลุ่มผู้ใช้แรงงานของผู้รับเหมาช่วงมารวมตัวชุมนุมที่หน้าโรงกลั่นไทยออยล์ จึงเป็นหน้าที่ของผู้รับเหมาช่วงและ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ที่จะต้องรับผิดชอบในการชำระค่าจ้างให้แก่กลุ่มผู้ใช้แรงงานตามกฎหมาย 

ไทยออยล์ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาลสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใสกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึง UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ไทยออยล์ตระหนักถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นของกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem และ Sinopec, STP รวมถึง SCI หาข้อตกลงร่วมกันและจ่ายค่าจ้างให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเร็วที่สุด 

โดยตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ไทยออยล์ได้ประสานให้มีการหารือร่วมกันระหว่างผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนของนายจ้าง ผู้แทนของ Sinopec, STP และ SCI และผู้แทนของ UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานกลับไปทำงานได้ตามปกติ  

อย่างไรก็ดี ไทยออยล์ได้ทราบว่า UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem ยังไม่ยอมรับที่จะลงนามข้อตกลงร่วมกับ Sinopec, STP และ SCI จึงทำให้ระยะเวลาและกระบวนการจ่ายค่าจ้างให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานยังไม่มีความชัดเจนและยังคงล่าช้าต่อไป ทั้งนี้ ไทยออยล์ หวังว่า UJV - Samsung, Petrofac และ Saipem, Sinopec, STP และ SCI จะยืนยันที่จะรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยเร็วที่สุด


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top