Monday, 13 May 2024
โมดี

2 ยักษ์ ‘รัสเซีย-อินเดีย’ เร่งจับมือกระชับมิตร ขยายฐาน ‘ธุรกิจ - พลังงาน - ยุทโธปกรณ์’

‘วลาดิมีร์ ปูติน’ ผู้นำรัสเซีย บินข้ามทวีปมาเยือน ‘นเรนทรา โมดี’ นายกรัฐมนตรีอินเดียอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 6 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา นับเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศเป็นครั้งที่ 2 เท่านั้นตลอดทั้งปีของปูติน เนื่องจากปัญหาการระบาด Covid-19

ครั้งล่าสุดที่เห็นปูตินเดินทางเยือนต่างประเทศ คือ ช่วงกลางเดือนมิถุนายนของปีนี้ ที่มีงานประชุมทวิภาคีระหว่างสหรัฐอเมริกา และ รัสเซีย ที่กรุงเจนีวา ในสวิตเซอร์แลนด์ แล้วหลังจากนั้นก็ยังไม่ได้เห็นปูตินเดินทางไปไหนอีกเลย แม้กระทั่งงานประชุมสุดยอดผู้นำโลก COP26 เพื่อปัญหาสภาพอากาศที่เมืองกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ ก็ยังไร้เงาผู้นำแห่งรัสเซีย

แต่มาครั้งนี้ ทริปสุดท้ายปลายปีที่ปูตินยอมออกเดินทางจากทำเนียบเครมลิน เป็นการนัดพบกับนายกรัฐมนตรีนเนทรา โมดี แห่งอินเดีย พร้อมรัฐมนตรีคนสำคัญชุดใหญ่ทั้งฝ่ายต่างประเทศ และกลาโหม ส่งสัญญาณชัดว่าการพบปะกันของทั้ง 2 ผู้นำระดับยักษ์ใหญ่คนละซีกโลกต้องไม่ธรรมดาแน่ ๆ

และก็เป็นดังคาด หลังจากที่ 2 ผู้นำ ‘ปูติน-โมดิ’ พบกันด้วยบรรยากาศอันชื่นมื่นแล้ว ยังสามารถบรรลุข้อตกลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญร่วมกันถึง 28 ฉบับ ที่รวมถึงการขยายฐานการผลิตปืนไรเฟิล Kalashnikov โมเดลคลาสสิกของรัสเซีย ที่เป็นหนึ่งในยุทโธปกรณ์ที่มีการใช้งานมากที่สุดในโลก และอินเดียเป็นหนึ่งในฐานการผลิตปืน Kalashnikov ให้กับรัสเซียที่ปูตินต้องการให้ผลิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 6 แสนกระบอก 

นอกจากนี้รัสเซียตกลงที่จะขายระบบขีปนาวุธรุ่นล่าสุด S-400 ให้กับอินเดีย พร้อมข้อตกลงความร่วมมือทางทหาร และเทคโนโลยีระหว่างกันอีกถึงปี 2031 

ส่วนด้านเศรษฐกิจ ทั้งรัสเซีย และอินเดีย ได้ตกลงที่จะเร่งขยายมูลค่าทางการค้าให้ได้ถึง 3 หมื่นล้านเหรียญต่อปี ภายในปี 2025 และ Rosneft บริษัทน้ำมันรายใหญ่ของรัสเซียก็ได้เซ็นสัญญาส่งน้ำมันให้กับบริษัทน้ำมันของอินเดียในปริมาณมากถึง 2 ล้านตันภายในปี 2022 

นับเป็นการบรรลุข้อตกลง และการเดินหมากภูมิศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจมากสำหรับทั้งรัสเซีย และอินเดีย ที่ทุกคนต่างรู้กันว่า ยืนอยู่คนละฝั่งของขั้วอำนาจโลก

โดยทางรัสเซีย นับเป็นพันธมิตรคนสำคัญที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่ และประสานยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมืองร่วมกันอย่างลึกซึ้ง แต่การมาเยือนอินเดียครั้งนี้ของปูติน จำเป็นต้องระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากว่า อินเดียและจีน ยังมีข้อพิพาทรุนแรงในเขตพื้นที่แถบเทือกเขาหิมาลัย เขตหุบเขากัลวาน และเขตที่ราบสูง อัคไซ ชิน ดังนั้น การยกระดับความร่วมมือทางการทหารระหว่างอินเดียและรัสเซีย ก็สุ่มเสี่ยงที่จะสร้างความบาดหมางให้กับทางปักกิ่งได้เช่นกัน 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top