Thursday, 9 May 2024
โตเกียว

เกิดเหตุระเบิดที่บาร์กลางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คาดมีแก๊สรั่วภายในอาคาร เบื้องต้นบาดเจ็บ 4 ราย

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 66 เกิดเหตุระเบิด และเพลิงไหม้อาคารหลังหนึ่งในย่านชิมบาชิ ใจกลางกรุงโตเกียว เมืองหลวงของญี่ปุ่น เมื่อเวลาราว 14.40 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือราว 12.40 น. เวลาประเทศไทย โดยเหตุระเบิดทำให้เศษกระจก และเศษคอนกรีตปลิวกระจายในพื้นที่

เจ้าหน้าที่เปิดเผยว่า สามารถควบคุมเพลิงเอาไว้ได้ในเวลาต่อมา โดยมีประชาชนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 4 คน โดยระบุว่า พวกเขาเห็นเปลวเพลิงออกมาจากหน้าต่างหลายบานบนชั้นสอง และได้กลิ่นแก๊ส

ตำรวจเปิดเผยว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า เหตุระเบิดเกิดขึ้นที่บาร์แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ของอาคาร ซึ่งผู้จัดการบาร์ดังกล่าว ระบุว่า เขาพยายามจะจุดบุหรี่ในจุดที่ให้สูบบุหรี่ในอาคาร ซึ่งทำให้เกิดระเบิดตามมา โดยคาดว่าน่าจะมีแก๊สอยู่เป็นปริมาณมากในอาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อยืนยันรายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับอาคารที่เกิดระเบิดนี้ มีความสูง 8 ชั้น ตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ JR ชิมบาชิ  ที่เต็มไปด้วยบาร์ ร้านอาหารชื่อดัง และบริษัทต่าง ๆ ด้วย

‘ญี่ปุ่น’ พบปัญหา นทท.ล้นโตเกียว ทำค่าที่พักพุ่ง เหตุขาดแคลนแรงงาน เตรียมหามาตรการกระจายตัวไปยังเมืองอืน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น

(2 ต.ค.66) ญี่ปุ่นได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลเข้าไปอย่างรวดเร็วทันทีที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อปลายเดือนเมษายน 2023 โดยใน 8 เดือนแรกของปีนี้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าญี่ปุ่นแล้วราว 15 ล้านคน แต่ปัญหาที่ญี่ปุ่นเจอ คือ นักท่องเที่ยวไม่ไปเมืองอื่น นอกจากเมืองหลวง โตเกียว  

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2023 อ้างอิงข้อมูลจาก องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan National Tourism Organization: JNTO) ว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่น 2.16 ล้านคนในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว คิดเป็นประมาณ 86% ของปี 2019 หรือระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวต่างชาติยังกระจุกตัวเที่ยวในกรุงโตเกียว โดยยอดเข้าพักในโตเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 56.2% จากเดือนเดียวของปี 2019 

โนริโกะ ยากาซากิ (Noriko Yagasaki) ศาสตราจารย์ด้านนโยบายการท่องเที่ยวที่ โตเกียว วูแมน คริสเตียน ยูนิเวอร์ซิตี้ (Tokyo Woman’s Christian University) บอกว่า ผู้คนจำนวนมากที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นในปีนี้เป็นคนที่เที่ยวญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นธรรมดาที่การเที่ยวครั้งแรกจะเที่ยวในเมืองหลวงก่อน

“ผู้ที่เลื่อนการมาเยือนเนื่องจากโรคระบาดกำลังแห่กันมาที่ญี่ปุ่น และส่วนใหญ่ก็มาที่โตเกียวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” 

อาจารย์ยากาซากิบอกอีกว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่นักท่องเที่ยวเน้นเดินทางเที่ยวโตเกียว คือ เที่ยวบินตรงระหว่างประเทศไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในภูมิภาคต่างๆ ยังไม่ฟื้นกลับมาเท่าไรนัก 

“แม้ว่าดีมานด์ขาเข้าจะสูง แต่ดีมานด์ขาออกจากสนามบินในภูมิภาคยังคงต่ำ เนื่องจากคนญี่ปุ่นยังไม่กล้าเดินทางไปต่างประเทศ หากดีมานด์ไม่เท่าเทียมกันทั้งสองด้าน การกลับมาเปิดเส้นทางบินเหล่านั้นก็จะถูกจัดอยู่ในลำดับความสำคัญท้ายๆ ของสายการบินต่างประเทศ”  

ขณะที่ความนิยมเที่ยวโตเกียวช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวในโตเกียวได้เงินมากขึ้น แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็เป็นข้อเสียสำหรับนักท่องเที่ยว เพราะค่าที่พักเพิ่มขึ้นมาก โดยข้อมูลจาก โคสตาร์ (CoStar) บริษัทในสหรัฐที่ให้บริการข้อมูลและการวิเคราะห์ด้านอสังหาริมทรัพย์ระบุว่า ค่าโรงแรมในโตเกียวเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 23,077 เยน (ประมาณ 5,688 บาท) เพิ่มขึ้น 28% จากเดือนเดียวกันในปี 2019

“ค่าโรงแรมในโตเกียวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าในเมืองอื่นๆ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของนักท่องเที่ยวท่ามกลางปัจจัยต่างๆ มากมายทำให้ราคาขึ้น” ตัวแทนของสมาคมโรงแรมออลนิปปอน (All Nippon Hotel Association) กล่าว และบอกอีกว่า “การขาดแคลนแรงงานในธุรกิจโรงแรมไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเลย” ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ค่าที่พักเพิ่มสูงขึ้น 

ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงกระจุกตัวอยู่ในโตเกียว รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่นมีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น โดยแผนการพื้นฐานที่รัฐบาลจัดทำขึ้นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนวันเฉลี่ยที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าพักในพื้นที่ชนบทให้เพิ่มจาก 1.4 คืนในปี 2019 เป็น 2 คืนในปี 2025 

Japan Tourism Agency (JTA) หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยวญี่ปุ่นได้เลือกสถานที่ต้นแบบ 11 แห่งทั่วประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับการสนับสนุนอย่างเข้มข้น รวมถึงการให้เงินทุนเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่นที่เพื่อที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมากขึ้น 

JTB บริษัทเอเจนซี่ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นกำลังส่งเสริมเส้นทางการเดินทางใหม่จากโตเกียวผ่านภูมิภาคโฮคุริคุ ที่อยู่ตอนกลางฝั่งตะวันตกของเกาะฮอนชู (เกาะใหญ่สุดของญี่ปุ่น) ไปยังเมืองโอซาก้า นอกจานั้น ในปีนี้บริษัทได้เริ่มนำเสนอแพ็กเกจทัวร์บนเกาะคิวชูและชิโกกุเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอีกด้วย 

“การกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ต่างๆ จะช่วยแก้ปัญหา ‘การท่องเที่ยวล้นเกิน’ ความแออัด และปัญหาอื่นๆ จากนักท่องเที่ยวที่มากเกินไป” ชิน ฟูจิโมโตะ (Shin Fujimoto) หัวหน้าฝ่ายธุรกิจท่องเที่ยวขาเข้าของ JTB กล่าว

นอกจากนั้น เขากล่าวว่า การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในโตเกียวมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปตลอดทั้งปีนี้ แต่จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในภูมิภาคมากขึ้นในปีหน้าหรือราวๆ นั้น เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับไปเที่ยวซ้ำเพิ่มขึ้น 

‘ญี่ปุ่น’ เตือน!! นทท.ในโตเกียว ระวัง ‘แท็กซี่ไร้ใบอนุญาต’ เหตุเสี่ยงไม่ปลอดภัย หลังความต้องการใช้บริการขนส่งสูงขึ้น

รัฐบาลญี่ปุ่นออกโรงเตือนนักท่องเที่ยวให้ระมัดระวังการใช้บริการรถแท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาต หลังความต้องการใช้บริการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นในกรุงโตเกียว เนื่องจากยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติพุ่งทะยานขึ้น

(20 พ.ย. 66) หนังสือพิมพ์ไมนิจิ ชิมบุนรายงานในวันเสาร์ที่ 18 พ.ย. ว่า เจ้าหน้าที่จากกระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่นได้เผยแพร่ใบปลิวคำเตือนเรื่องการใช้บริการรถแท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นภาษาอังกฤษและจีนที่สนามบินนาริตะในกรุงโตเกียวเมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพ.ย.

ใบปลิวดังกล่าวระบุว่า รถแท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาตนั้นทั้งผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัย พร้อมกล่าวเสริมว่า ผู้โดยสารที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุขณะโดยสารรถแท็กซี่เหล่านี้อาจไม่ได้รับการคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย

ขณะเดียวกัน ใบปลิวดังกล่าวได้ระบุถึงความแตกต่างระหว่างรถแท็กซี่ที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต โดยแท็กซี่ที่มีใบอนุญาตจะมีป้ายทะเบียนสีเขียว ส่วนแท็กซี่ที่ไม่มีใบอนุญาตจะมีป้ายทะเบียนสีขาว

นายมิตสึเตรุ ยานาเสะ หัวหน้าสำนักงานของกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นประจำจังหวัดชิบะระบุว่า “เพื่อเป็นการรับประกันความปลอดภัยด้านการเดินทาง เราจึงต้องการให้นักเดินทางใช้รถแท็กซี่ที่มีใบอนุญาตและยานพาหนะที่ได้รับการจัดการมาเป็นอย่างดี”

แม้บริษัทให้บริการเรียกรถรับส่งผ่านทางแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ เช่น อูเบอร์และแกร็บ ได้รับความนิยมอย่างสูงในหลายประเทศ แต่ญี่ปุ่นยังคงไม่อนุญาตให้รถที่ไม่มีใบอนุญาตรับส่งผู้โดยสาร โดยปัจจุบันอูเบอร์เปิดให้บริการในญี่ปุ่น แต่ใช้ในการเรียกรถแท็กซี่ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น

เปิดประวัติ ‘โรตารี่’ อายุยาวนานกว่า 100 ปี ความภาคภูมิใจของมาสด้า โดดเด่นด้วยเอกลักษณ์เฉพาะ ‘เครื่องยนต์ลูกสูบสามเหลี่ยม’ แรงไม่ซ้ำใคร

(9 มี.ค.67) วันเสาร์สุดสัปดาห์แบบนี้ THE STATES TIMES จะขอพาทุกท่าน ย้อนเวลา ไปหาเครื่องยนต์ที่ถือได้ว่า เป็นตำนานที่สร้างชื่อเสียงให้กับ ‘มาสด้า’ นั่นก็คือ ‘เครื่องโรตารี่’

ต้นกำเนิดของเครื่องยนต์โรตารี่ เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อปี 1919 เมื่อ มร. เฟลิกซ์ แวนเคิ้ล (Mr. Felix Wankel) มีความคิดริเริ่มที่จะสร้างเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบใหม่ที่ไม่ซ้ำแบบเครื่องยนต์ลูกสูบทั่วๆไป โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก 'เครื่องจักรเทอร์ไบน์' จนกระทั่งออกมาเป็นรูปร่างคล้ายเครื่องยนต์ 4 จังหวะ จุดระเบิดด้วยการหมุนรอบตัวเอง และได้ทำการทดลองมาอย่างต่อเนื่องจนสามารถออกแบบเป็น 'ลูกสูบสามเหลี่ยม' ขึ้นมา และเมื่อ มร. เฟลิกซ์ แวนเคิ้ล ได้เข้าทำงานในสถาบัน TES (Technical Institute of Engineering Study) จึงได้พัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์พร้อมใช้งานในรถเพื่อการพาณิชย์ โดยนำโปรเจกต์นี้ไปเสนอต่อบริษัท NSU Motorenwerke AG ซึ่งเป็นบริษัทผลิตมอเตอร์ไซค์ และได้พัฒนาเครื่องยนต์โรตารี่ควบคู่กันไป ทำให้ 'เครื่องยนต์โรตารี่' เครื่องแรกถือกำเนิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1957 โดยใช้ชื่อว่า DKM 54 ในรถมอเตอร์ไซค์ รุ่น 50 ซี.ซี. สามารถทำความเร็วได้ถึง 192.5 กม./ชม. ที่สำคัญสามารถคว้าชัยชนะในรายการ 'World Grand Prix Championship' ซึ่งเรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นอย่างมาก

ในปี 1961 Mr.Tsuneji Matsuda ประธาน บริษัท Toyo Kogyu (โตโย โคเกียว) ผู้ผลิตรถยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัยภายใต้ชื่อ 'มาสด้า' ได้ทำการซื้อลิขสิทธิ์มาพัฒนาใหม่ จนกระทั่งในเดือนเมษายน ปี 1963 Mr. Keichi Yamamoto ก็ได้ทำการพัฒนาขึ้นมาสำเร็จ แต่ยังพบข้อบกพร่องบางอย่างเกี่ยวกับ Apex Seal และ Oil Seal ซึ่งเสียหายง่าย จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท Nippon Piston Ring & Oil Seal Co. เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้สำเร็จ

ต่อมาในปี 1967 #มาสด้าก็ได้สร้างความฮือฮาขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัวรถคันแรก ที่ใช้ #เครื่องยนต์โรตารี่ ด้วย 'รุ่น Cosmo Sport 110S' ซึ่งเป็นรถยนต์มาสด้ารุ่นแรก ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่หลังจากนั้นจึงได้เริ่มผลิตและจำหน่ายรถยนต์เครื่องยนต์โรตารี่ ตามออกมาอีกหลายรุ่น อาทิ แฟมิเลีย โรตารี่คูเป้ (R100 ในต่างประเทศ) ซาวันน่า(RX-3) #RX-7 และรุ่นยูโนส คอสโมมาสด้าถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายแรกและรายเดียว ที่ประสบความสำเร็จในการใช้เครื่องยนต์โรตารี่ ในเชิงพาณิชย์จนถึงปัจจุบันโดยเริ่มมาจากการใช้เครื่องยนต์โรตารี่ในรถยนต์รุ่น Cosmo Sport 110S และทำให้ต่อมารถยนต์มาสด้าหลายรุ่น ก็ได้นำเอาเครื่องยนต์โรตารี่มาใช้

นับจากรถยนต์มาสด้า ที่ใช้เครื่อง โรตารี่ ปรากฏโฉมออกสู่สาธารณชนเป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลาร่วม 50 ปี ของเครื่องยนต์นี้ที่ถูกผลิตและจำหน่ายไปทั่วโลกมากกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งในระหว่างนั้นทาง มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่นมีโอกาสผลิตรุ่นพิเศษ เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 40 ปี จึงได้เปิดตัวมาสด้า #RX-8รุ่นพิเศษ ในตลาดญี่ปุ่น โดยรุ่นพิเศษนี้ได้รับการพัฒนามาจากรุ่น RX-8 Type S(เกียร์ธรรมดา 6 สปีด) และ Type E(เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด) ถึงแม้ว่าเครื่องยนต์โรตารี่ จะได้หยุดการผลิตไปในบางช่วงเวลาเนื่องจากความเข้มงวดในบางตลาด แต่มาสด้าก็ไม่เคยที่จะหยุดพัฒนาและวิจัย

จนกระทั่งวันนี้ตำนานที่ถูกเล่าขานมาอย่างยาวนาน ได้ถือกำเนิดขึ้นมาอีกครั้ง นั่นคือ เครื่องยนต์โรตารี่ เจเนอเรชั่นใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า SKYACTIV-R หรือ เครื่องยนต์โรตารี่ที่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของมาสด้า ในการกล้าที่จะก้าวสู่ความท้าทายใหม่ๆ และกล้าที่จะต่างด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด โดยได้พัฒนาขึ้นเป็นรถสปอร์ตต้นแบบ มาสด้าRX-Vision ที่ใช้เครื่องยนต์โรตารี่ เจเนอเรชั่นใหม่ สกายแอคทีฟ-อาร์ เป็นขุมพลังในการขับเคลื่อน ซึ่ง มาสด้า มอเตอร์คอร์ปอเรชั่น ได้เผยโฉมเป็นครั้งแรกในงาน โตเกียว มอเตอร์ โชว์ เพื่อสะท้อนถึงวิสัยทัศน์แห่งอนาคต ด้วยการเป็นรถสปอร์ตวางหน้า และขับเคลื่อนล้อหลังที่มาพร้อมรูปลักษณ์หรูหรางดงามตามแบบฉบับ โคโดะ ดีไซน์ อันเลื่องชื่อของมาสด้า

นี่คือเรื่องราวความเป็นมาบางส่วนเกี่ยวกับเครื่องยนต์โรตารี่ อันเป็นต้นกำเนิดของรถสปอร์ตมาสด้าหลากหลายรุ่น และส่งผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

'ดร.เอ้' โพสต์ภาพทางเท้าแถวชินจุกุ เรียบสนิท ไม่มีหลุม ไม่มีทรุด เชื่อ!! กทม.ก็ทำได้ หากทำงานด้วย 'มาตรฐาน-ตั้งใจจริง'

(14 มี.ค.67) ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ 'ดร.เอ้' รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว 'เอ้ สุชัชวีร์' ขณะที่ไปญี่ปุ่น ระบุว่า...

ทำไมมันเรียบอย่างนี้! ฟุตพาทแถวชินจุกุ โตเกียว เรียบสนิท ไม่มีหลุม ไม่มีทรุด กรอบต้นไม้ก็ทำดีมาก ฝั่งซ้ายที่เอกชน เชื่อมกับฝั่งขวาที่สาธารณะ เนียนกริบ เหมือนไร้รอยต่อ ฝาท่อไม่มีโป่ง ไม่เผยอ เดินสบาย

ในความเป็นจริง กทม. #เราทำได้ เช่นกัน อยู่ที่มาตรฐานการทำงาน และความตั้งใจจริง

พบลายมือปริศนา ที่ ‘สะพานนากาเมกุโระ’ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดราม่ากันสนั่น ชาวเน็ตสวมวิญญาณโคนัน สันนิษฐาน อาจเป็นคนไทย 

(8 เม.ย.67) เป็นดราม่าที่กำลังมาแรง เมื่อมีคนไทยไปเที่ยวที่สะพานนากาเมกุโระ สถานที่ท่องเที่ยวสุดฮิตของโตเกียว ซึ่งช่วงซากุระบาน จะมีนักท่องเที่ยวไปถ่ายรูปจำนวนมาก

โดยดราม่าที่ว่านี้ เริ่มจากนักท่องเที่ยวไทยรายหนึ่ง ถ่ายภาพราวสะพานจุดชมวิวซากุระสุดลูกหูลูกตา แต่กลับพบว่า ที่ราวสะพานมีร่องรอยการเขียน ว่า “Beer   Mayvy 2024” ผู้โพสต์ได้ระบุว่า “ วันนี้ผมไปถ่ายรูปที่ Nakameguro แล้วเจอกับสิ่งนี้ครับ อยากรู้เหมือนกันว่าชาติไหน?”

คอมเมนต์ที่เข้ามาต่างวิพากษ์วิจารณ์และสันนิษฐานว่า ชื่อ เบียร์ นั้น อาจจะเป็นคนไทยหรือไม่ เพราะถือเป็นการตั้งชื่อเล่นที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยพอสมควร รวมถึงแสดงความไม่พอใจ ว่า การกระทำแบบนี้เป็นการทำลายสถานที่ท่องเที่ยวไม่ว่าที่ไหนก็ไม่ควรทำ

ดูเหมือนว่า ข้อสันนิษฐานของชาวเน็ตนั้นค่อนข้างจะถูกต้องว่า ผู้เขียนดูเหมือนว่าจะเป็นคนไทยจริงๆ เนื่องจาก มีคนไปค้นหาและพบว่า เจ้าของลายมือนี้ เคยไปเขียนที่สะพานนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2022 และโพสต์ภาพดังกล่าวลงในโซเชียลด้วย

โดยโพสต์เจ้าของลายชื่อ เบียร์รักเมวี่ ได้โพสต์ภาพราวสะพาน พร้อมเขียนข้อความว่า “แล้วเราก็กลับมาที่สะพานนี้อีกครั้ง แต่ชื่อที่เขียนไว้มันหายไปแล้ว 2024 เราก็เขียนใหม่ เดี๋ยวปี 2025 เราจะกลับมาดูใหม่ #ความทรงจำ2022”

หลังจากมีคนขุดโพสต์นี้ขึ้นมาก็เรียกว่าทัวร์ลงอย่างหนักและงงว่าทำไมจึงเขียนลงไปแบบนั้นซึ่งมีชาวเน็ตให้เบาะแสอีกว่าปัจจุบันเจ้าของลายมือเบียร์รักเมวี่ได้ปิดเฟซบุ๊กไปแล้ว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top