Sunday, 19 May 2024
โครงการน้ำ

'เพื่อไทย' เตรียมฟื้นโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เหน็บ 'รัฐบาลประยุทธ์' ไม่ต้องทำอะไรเดี๋ยวพท. ทำเอง

ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานด้านนโยบายปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยนายจิรทัศน์ ไกรเดชาส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขาธิการ และกรรมการคณะยุทธศาสตร์และการเมือง พรรคเพื่อไทย นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย นายอาทิตย์ ภาคอินทรีย์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569  

ดร.ปลอดประสพ กล่าวว่า โครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร หรือเจ้าพระยา 2 เป็นส่วนย่อยของโมดูลที่ 5 ของโครงการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ มูลค่า 3.5 แสนล้านบาทของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยโครงการคลองลัดน้ำแห่งนี้ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ออกแบบระยะทางทั้งหมดอยู่ที่ 30 กิโลเมตร แต่รัฐบาลนี้สร้างระยะทาง 22 กิโลเมตร จะสามารถระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วยทอยน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เมื่อรวมเข้ากับน้ำจากแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี ซึ่งมีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เหลือน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ลดปริมาณน้ำไม่ให้เอ่อล้นเข้าสู่พื้นที่พระนครศรีอยุธยาตอนล่างได้ 

ทั้งนี้ คลองลัดน้ำบางบาล-บางไทร จะช่วยระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้ทั้งผืน แต่ยังไม่เพียงพอ ต้องสร้างคลองลัดน้ำเส้นหนึ่ง โดยเริ่มที่จังหวัดนครสวรรค์ลงมาทางจังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ระยะทางประมาณ 150  กิโลเมตร ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้บรรจุไว้ในแผนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งการก่อสร้างจะต้องเป็นไปในแบบ (Design and Build) หรือออกแบบไปสร้างไป ซึ่งสร้างเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมีกรอบโครงการ และกรอบวงเงินงบประมาณ มีความยืดหยุ่นและปรับแบบได้ ลักษณะเดียวกันกับการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เป็นลักษณะ Design and Build เช่นกัน 

สำหรับการบริหารสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ดร.ปลอดประสพ กล่าวว่า ขอออกความเห็นในแบบนักวิชาการ ปีนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ตัดสินใจเอาน้ำเข้าทุ่งช้าเกินไป ไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากการประเมินสถานการณ์โดยคำนึงถึงเหตุผลทางวิชาการ หรือเหตุผลทางการเมืองกันแน่ ตอนนี้สามารถระบายน้ำเข้า 6 ทุ่ง จากทั้งหมด 11 ทุ่ง ยังเหลือพื้นที่อีกมากที่จะระบายน้ำออก  

นอกจากนี้ยังขอเตือนรัฐบาลด้วยความห่วงใยประชาชน ขณะนี้น้ำท่วมในพื้นที่ภาคอีสานใต้น่าเป็นห่วงมาก น้ำจากแม่น้ำชีที่มาจากจังหวัดชัยภูมิ เมื่อรวมเข้ากับลำน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จะทำให้จังหวัดมหาสารคามและจังหวัดร้อยเอ็ดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานนับเดือน ส่วนแม่น้ำมูลที่มาจากจังหวัดนครราชสีมา ไหลลงสู่ถนนมิตรภาพมาที่จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดลพบุรี เข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้น้ำท่วมสูงที่จังหวัดอุบลราชธานีและน้ำจะลดลงช้า ทั้งหมดเป็นเพราะรัฐบาลตัดสินใจล่าช้า จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่มีความรู้ใหม่ ๆ และปรับใช้ให้ทันการณ์ด้วย

“การวางแผนโครงการใหญ่ของประเทศ ต้องคิดกรณีเลวร้ายที่สุด ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่เกิดมาเพื่อรอความเสี่ยง โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท พรรคเพื่อไทยทำเสร็จหมดแล้ว พอทำรัฐประหาร พวกท่านเอาใส่ลิ้นชักไว้ตั้งนาน ไม่ทำ กู้ไว้แล้วแต่ไม่ยอมทำ พอทำแล้วก็มาออกแบบใหม่แทนที่จะใช้แบบเดิม กว่าจะสร้างเสร็จ อีก 3 ปี จากนี้ไปประชาชนต้องทรมานสังขารแบบนี้ไปเรื่อยๆ แต่ทำแล้วก็ขอขอบคุณ ส่วนโครงการที่เหลืออีกหลายโมดูล พวกท่านไม่ต้องทำ รอให้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเขามาทำจะดีกว่า” ดร.ปลอดประสพ กล่าว  

นายจิรทัศ ไกรเดชา ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเกือบเทียบเท่ากับปี 2554 พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบเกือบครึ่งจังหวัด ทั้งในอำเภอผักไห่ เสนา บางบาล บางปะอิน บางไทร ขณะที่เมื่อวานนี้ (5 ต.ค. 65) พี่น้องประชาชนมีการปะทะกันขอให้เปิดการระบายน้ำในพื้นที่ เพราะตอนนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกปล่อยเกือบ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงอยากให้กรมชลประทานสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน

‘บิ๊กป้อม’ นั่งหัวโต๊ะ ประชุมแผนจัดการน้ำ พร้อมหนุน 5 โครงการ แก้ปัญหาท่วม-แล้ง

วันนี้ (15 ธ.ค. 65) เวลา 09.30 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำต่อเนื่องกันไป ผ่านระบบ VTC ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ หลังจากเดินทางลงตรวจราชการขับเคลื่อนแก้ปัญหาน้ำในภูมิภาคหลายพื้นที่

โดยที่ประชุมรับทราบ สรุปผลการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่สำคัญ ปี 65 และการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ( 61-65 ) รวมทั้งความก้าวหน้าโครงการแก้มลิงทุ่งหิน จ.สมุทรสงคราม 

พร้อมทั้งได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นชอบ โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ตั้งแต่ อยุธยา - สมุทรปราการ และฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ อยุธยา - สมุทรสาคร เพื่อระบายน้ำ เหนือ - ใต้ ออกสู่ทะเลทั้งสองฝั่ง โดยปรับปรุงโครงข่ายชลประทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำนำไปใช้ประโยชน์ และสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยลดพื้นที่น้ำท่วม รวมทั้งโครงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของ กทม. โดยมีการปรับปรุงสถานนีสูบน้ำพระโขนง การก่อสร้างเขื่อนคลองหนองบอน เขื่อนคลองมะขามเทศ เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครฯ 

พร้อมทั้ง เห็นชอบการขยายระยะเวลาและกรอบวงเงิน โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล - บางไทร และโครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค สาขา พังงา - ภูเก็ต เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบประปา รองรับการขยายตัวของชุมชนเมือง

‘บิ๊กป้อม’ แรงใจดี!! กลับจากอีสาน มุ่ง ‘ปทุมธานี’ ติดตาม - เร่งรัดโครงการพัฒนาคลอง-สถานีสูบน้ำ

(8 ก.พ.66) เวลา 14.00 น. พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี /ผอ.กอนช. พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจราชการ ณ จ.ปทุมธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และโครงการป้องกันอุทกภัย รวมทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่สำคัญในพื้นที่ จ.ปทุมธานี และลุ่มน้ำเจ้าพระยา

โดยเมื่อ เดินทางถึงศาลากลางจังหวัด พล.อ.ประวิตร ได้ประชุมหารือร่วมกับ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ. (ผู้ว่า หมูป่า), เลขาฯ สทนช., รองอธิบดีกรมชลประทาน, รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสรุป จ.ปทุมธานี พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และในทุก ๆ ปี จะประสบปัญหาจากสถานการณ์น้ำท่วม ในช่วงฤดูฝน โดยปีที่ผ่านมา ล่าสุดก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากภาวะน้ำหลาก เข้าท่วมบ้านเรือน และพืชสวนไร่นา สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านและเกษตรกรจำนวนไม่น้อย ซึ่งรัฐบาลมีความห่วงใยและไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ให้ความช่วยเหลือ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเตรียมมาตรการรองรับทั้งแผนงาน/โครงการระยะสั้น และระยะยาว ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบนโยบายที่สำคัญ แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยกำชับ สทนช., จังหวัด, กรมชลประทาน, กรมโยธาธิการและผังเมือง ตลอดจน กรมทางหลวง ให้บูรณาการทำงานแก้ไขปัญหาร่วมกัน ทั้งการสูบน้ำ การระบายน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ การเตรียมความพร้อมเครื่องมือ อุปกรณ์ระบบระบายน้ำ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา และการแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้สามารถระบายน้ำได้อย่างรวดเร็ว ควบคู่การเตรียมแผนเผชิญเหตุ รองรับภัยพิบัติในการช่วยเหลือประชาชนให้ได้ ทันท่วงที โดย ผวจ.ได้รายงานให้ทราบเพิ่มเติมด้วยว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ได้รับการช่วยเหลือ และเงินเยียวยาแล้ว จึงได้ฝากมาขอบคุณ พล.อ.ประวิตร และ รัฐบาลในโอกาสนี้ด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top