(10 ต.ค. 67) อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญสำหรับปีนี้คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนปีนี้ค่ะ ซึ่งถือเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 60 โดยครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นการกำหนดทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในอนาคตเลยค่ะ
สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้ง Donald Trump และ Kamala Harris ต่างมีนโยบายที่แตกต่างกันอย่างมากในด้านการจัดการเศรษฐกิจ เช่น นโยบายการลดภาษีของ Trump และการเพิ่มภาษีสำหรับผู้มั่งคั่งของ Harris ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันหลายล้านคน
ในด้านค่าใช้จ่ายในการหาเสียงสำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2024 ก็มีตัวเลขแสดงให้เห็นว่าได้พุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีการคาดการณ์ว่าการหาเสียงในระดับรัฐบาลกลางครั้งนี้จะใช้เงินมากถึง 16 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทำลายสถิติจากการเลือกตั้งปี 2020 ที่ใช้ไป 15.1 พันล้านดอลลาร์
>>>ผู้สมัคร ปธน. หาเงินมาจากไหน???
โดยสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้มาจากการระดมทุนจาก Super PACs และการใช้จ่ายจากองค์กรที่ไม่แสดงที่มาของเงินบริจาค ซึ่งทุ่มงบประมาณอย่างมหาศาลเพื่อการโฆษณา การรณรงค์หาเสียง และการส่งจดหมายหาเสียงค่ะ ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งมหาศาลนี้แบ่งแยกย่อยออกมาได้เป็น
1. การใช้จ่ายของ Super PACs: กลุ่มภายนอกอย่าง Super PACs คาดว่าจะใช้จ่ายในระดับที่มากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าการเลือกตั้งปี 2020 ที่ใช้ไปทั้งหมด 3.3 พันล้านดอลลาร์
2. การระดมทุนของผู้บริจาครายใหญ่: 10 ผู้บริจาครายใหญ่บริจาคเงินรวมกว่า 599 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็น 7% ของการระดมทุนทั้งหมดในระดับรัฐบาลกลาง
3. การสนับสนุนจาก Super PACs ฝั่งพรรครีพับลิกัน: โดยในรอบนี้ผู้บริจาครายใหญ่ทั้งหมดที่ติดอันดับท็อป 5 พากันสนับสนุนพรรครีพับลิกัน ซึ่งทำให้พรรครีพับลิกันได้เปรียบในการใช้จ่ายจากกลุ่มภายนอกกว่าอีกฝ่ายค่ะ
4. การระดมทุนของ Kamala Harris: แคมเปญของ Kamala Harris ระดมทุนได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2024 เพียงลำพัง นับว่าเป็นจำนวนที่สูงมากเมื่อเทียบกับการระดมทุนในอดีตของผู้สมัครจากพรรคเดโมแครต
5. ค่าใช้จ่ายต่อผู้สมัคร: ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของผู้สมัครในสภาผู้แทนราษฎรอยู่ที่ 2.4 ล้านดอลลาร์ ต่อคนในปี 2020 ซึ่งสูงกว่าปี 2008 ที่ใช้เพียง 1.4 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ผู้สมัครวุฒิสมาชิกต้องใช้เงินเฉลี่ยถึง 27.2 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 8.5 ล้านดอลลาร์ ในปี 2008
>>>งบโฆษณาออนไลน์พุ่ง
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ มีการใช้เงินจำนวนมากในการโฆษณาและการรณรงค์ในรูปแบบดิจิทัล เนื่องจากการเข้าถึงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทางออนไลน์กลายเป็นส่วนสำคัญของการหาเสียง ข้อมูลจากหลายฝ่ายแสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อน เนื่องจากการแข่งขันที่ดุเดือดในการครอบครองพื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, YouTube, และ Google
ส่วนเราคนไทยก็ต้องจับตามองการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างใกล้ชิดค่ะ เพราะไม่ว่าใครจะได้มาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ก็จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศเราอย่างแน่นอนค่ะ