Sunday, 4 May 2025
แหล่งเรียนรู้

สวธ.เปิดแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ณ “บ้านพิพิธภัณฑ์” นายเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ

“เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” คือ จุดเริ่มต้นแนวคิดการเป็นนักสะสมของนายเอนก นาวิกมูล  ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช 2563 ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณศิลป์โดยเฉพาะงานด้านสารคดี และหลงใหลในการเป็นนักสะสมของเก่า ที่คนในสังคมอาจหลงลืมหรือคนทั่วไปมักมองข้าม ไม่ว่าจะเป็นของเล่นวัยเด็ก ภาพถนนหนทาง ยวดยานพาหนะ สถาปัตยกรรมบ้านเรือน จิตรกรรมฝาผนัง เอกสารสิ่งพิมพ์ หนังสือเก่า ใบแจ้งโฆษณา ย้อนยุค ร้านทอง ร้านกาแฟโบราณ ร้านขายยา ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ ร้านถ่ายรูป ห้องครัวและ โรงหนัง ฯลฯ 

เพื่อกระตุ้นให้อนุชนรุ่นหลังเกิดความรักและหวงแหนในมรดกของชาติอันนำไปสู่การอนุรักษ์ เพื่อความเป็นชาติอันมีรากเหง้าสมบูรณ์ สามารถต่อยอดพัฒนาไปในอนาคต  ในโอกาสอันดีนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จึงได้จัดงานเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์มีชีวิตหลังนี้ให้ผู้รักงานวรรณศิลป์ รวมถึงเหล่าผู้ที่ชื่นชอบของสะสมได้เข้ามาสัมผัสและย้อนวันวาน ณ บ้านศิลปินแห่งชาติ นายเอนก นาวิกมูล เลขที่ 170/17 หมู่ที่ 17 ซอยศาลาธรรมสพน์ 3 ถนนศาลาธรรมสพน์ แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒน กรุงเทพมหานคร โดยมี นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดงานฯ โอกาสนี้ ศิลปินแห่งชาติ สารวัตรป้องกันปราบปรามสถานีตำรวจนครบาลธรรมศาลา ผู้แทนสำนักงานเขตทวีวัฒนา ผู้บริหารกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมงานเพื่อแสดงความยินดี       

วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566  เวลา 10.00 น. นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม มอบหมายให้ นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธาน เปิดบ้านศิลปินแห่งชาติฯ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2544 “บ้านพิพิธภัณฑ์” ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของชุมชน  วันนี้จึงถือเป็นโอกาสครบรอบ 22 ปี ของการเปิดบ้านพิพิธภัณฑ์จากแนวคิดของนายเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ ที่ว่า “เก็บวันนี้ พรุ่งนี้ก็เก่า” และความร่วมมือของกลุ่มอาสาสมัครต่าง ๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันร่วมกันจัดตั้งขึ้น เพื่อทำให้บ้านพิพิธภัณฑ์ เป็นสถานที่รวบรวมของเก่าโบราณที่หาดูได้ยาก โดยได้มาทั้งจากการบริจาคและซื้อเพื่อเก็บรวบรวมไว้เป็นประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมกันในช่วงเวลาที่ผ่านมาซึ่งแสดงถึงวิถีชีวิต ความเป็นมา และการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ชาวเมือง ชาวตลาด ในห้วงเวลายุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีกลิ่นอายบรรยากาศสมัยก่อนที่ไม่สามารถหาดูได้ที่ไหนในปัจจุบัน ตามแนวทางการออกแบบเป็นเหมือนห้องแถวในตลาด เพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชนที่สนใจได้ศึกษาเรียนรู้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม มุ่งหวังว่าบ้านศิลปินแห่งชาติหลังนี้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน ชาวตลาด ชาวเมืองที่จะเล่าประวัติศาสตร์สังคม (Social History) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตทางสังคม และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน     

จากนั้น นายอนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่ากองกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและขับเคลื่อนการดำเนินงานวัฒนธรรมของศิลปินแห่งชาติ ได้ดำเนินกิจกรรมเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติและผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรมไปแล้ว จำนวน 31 แห่ง วันนี้นับเป็นโอกาสอันดีของบ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จึงได้จัดพิธีเปิดบ้านศิลปินแห่งชาติ นายเอนก นาวิกมูล ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง นับเป็นบ้านหลังที่ 32 ที่ได้รับการเปิดเป็นบ้านศิลปินแห่งชาติ บ้านพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของชุมชนที่เก็บสั่งสมองค์ความรู้ทั้งเครื่องมือทำมาหากินภูมิปัญญาชาวบ้าน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ภาพถ่ายต่าง ๆ มากมาย ที่จะพาเราย้อนเวลาไปสัมผัสกับอดีตผ่านภาพและห้องจำลองที่จัดแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คน และประวัติศาสตร์อันล้ำค่าจากของสะสมที่ซ่อนเรื่องราวน่าสนใจเป็นประโยชน์ต่อการศึกษา เรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชนจนก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจและภาคภูมิใจในรากเหง้ามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อไป     

สำหรับบรรยากาศในบ้านพิพิธภัณฑ์ ได้จัดแสดงผลงานเขียนและของสะสมต่าง ๆ ของนายเอนก 
นาวิกมูล ประกอบด้วย บริเวณชั้น 1 จัดเป็นร้านของเล่น ร้านขายยา ร้านขายของจิปาถะ มุมหนังสือ และร้านขายของที่ระลึก ส่วนชั้น 2 จัดเป็นโรงหนัง โรงพิมพ์ ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ ร้านให้เช่าหนังสือนิยาย ร้านถ่ายรูป ห้องครัว บ้านสุวัตถี และห้องจัดแสดงของทั่วไป และชั้น 3 จัดเป็นห้องเรียน ห้องนายอำเภอ  ร้านขายแผ่นเสียง ร้านทอง และร้านสรรพสินค้า ซึ่งรอให้ทุกคนไปเยี่ยมชมและร่วมเพลิดเพลินกับบรรยากาศของวันวานที่หลายคนอาจโหยหาถึงความเรียบง่าย ความสงบ และความสนุกสนานของวงสนทนาสภากาแฟยามเช้าในอดีต

โอกาสนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจและชื่นชอบของสะสมมาร่วมย้อนวันวาน ณ บ้านพิพิธภัณฑ์ 1 แหล่งเรียนรู้ของชุมชนที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์  เปิดให้ชมเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.00-17.00 น. ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็กโต 10 บาท ผู้พิการ นักบวช เด็กเล็กและผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป เข้าชมฟรี ณ บ้านเลขที่ 170/17 หมู่ที่ 17 ซอยศาลาธรรมสพน์ 3 ถนนศาลาธรรมสพน์ แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร และบ้านพิพิธภัณฑ์ 2 แหล่งเรียนรู้ใหม่ที่ตำบลงิ้วราย ซอยงิ้วราย 4 อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เปิดให้บริการทุกวัน เสาร์-อาทิตย์ สามารถติดต่อนัดหมายก่อนเข้าชมได้ที่ 089 200 2801 (อ.เอนก) หรือ 089 666 2008 (คุณวรรณา)

เปิดใจ ‘กัมพล ตันสัจจา’ ผู้อุทิศทั้ง ‘กาย-ใจ’ ให้ ‘สวนนงนุช’ พัทยา ชลบุรี ปัดตก!! แม้ถูกยื่นซื้อ 5 หมื่นล้าน เพราะหวังอยากให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ของคนทุกวัย

เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 66 วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวสายทหาร ได้โพสต์คลิปวิดีโอสัมภาษณ์ของ ‘กัมพล ตันสัจจา’ หรือ ‘คุณโต้ง’ ประธานกรรมการบริหารสวนนงนุช พัทยา จังหวัดชลบุรี วัย 76 ปี ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมระบุว่า…

“นี่ ท่านประธานฯ ตัวจริง!!

“ไอ้ บ้านนอก”!!!

ถ้าไม่เคยอ่านข่าว ‘คุณโต้ง’ กัมพล ตันสัจจา ถ้าเจอคุณโต้ง วัย 76 ปี ที่แต่งตัวง่ายๆ สบายๆ ใส่เสื้อยืด ‘AI Baan Nawk’ ฉายาตัวเอง เราก็คงไม่คิดว่านี่คือ ‘ประธานบริษัท’ ตัวจริง แห่งสวนนงนุช พัทยา ชลบุรี รีสอร์ท และสวนที่ติด Top 10 ของโลก บนเนื้อที่ 1,700 ไร่ ที่ไม่ได้มีแค่สวน ต้นไม้ สัตว์ แต่มีทั้ง สวนพฤกษศาสตร์ที่เป็นเอกชน มีพิพิธภัณฑ์ สวนลอยฟ้า สวนผีเสื้อ สวนเฟิร์น Cactus บอนสี ไม้แปลก หายาก บ้านมด หินทุกชนิด รถเก่า รถหรู รถโบราณ ทะเบียน 8888 ทุกคัน นับร้อยคัน

และหลังโควิด-19 ก็ปรับปรุงใหม่ มีทั้งพิพิธภัณฑ์ โขน พระเครื่อง และสร้าง ‘จูราสสิค พาร์ค’ ไดโนเสาร์เป็นพันตัว ทุกสายพันธุ์ รวมทั้ง ศิลปะการเรียงหินเป็นรูปร่างต่างๆ

เพราะช่วงโควิด-19 ท่านประธานโต้ง ไม่ได้ปลดพนักงาน ตอนนั้นให้อยู่แต่ในสวนนงนุชเพื่อกักโรคตามนโยบายรัฐบาล แม้ไม่มีนักท่องเที่ยว แต่มีงานทำ ผมให้พนักงานเรียงสวนหิน โดยที่ผมวาดแล้วให้เขาวางตาม ทางสวนต้องดูแลพนักงาน ราว 2 พันชีวิต และช้างราว 100 เชือก รวมถึงการดูแลต้นไม้ ปรับปรุงสวน ให้เตรียมพร้อมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

ที่นี่ประเมินมูลค่ามหาศาล เคยมีข่าวว่า ‘ญี่ปุ่น’ ขอซื้อ 5 หมื่นล้าน แต่ไม่ขาย เพราะประธานโต้ง บอกว่า อยากทำให้ที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ของเด็กๆ มานอนที่นี่ แล้วท่องเที่ยวในแต่ละส่วนให้ครบ เพราะความตั้งใจคือทำยังไงให้เด็กๆ ชอบที่นี่ และตอนนี้ก็ต้องการให้เป็นสถานที่ที่ผู้สูงอายุสามารถมาท่องเที่ยวได้ รวมถึงคนพิการที่นั่งวีลแชร์ ก็มีที่พักที่อำนวยความสะดวกสำหรับวีลแชร์โดยเฉพาะ

คุณโต้ง จึงยังคงดูแลสวนเอง ยังคงเดินวันละหลายกิโลฯ สลับกับขับรถโฟร์วิลด์ เพราะไม่ชอบห้องแอร์ หรืออยู่แต่ในห้องแอร์ ชอบตากแดด อยู่ในที่อากาศร้อนได้ยาวนานและยังคงแข็งแรง”

โดยในคลิปคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ดังกล่าวนั้น คุณโต้งได้ระบุว่า…

“แรกๆ เราสร้างเพื่อหาเงินให้พออยู่ได้ แต่เมื่อเราอยู่ได้แล้ว เราต้องเริ่มคิดเลยว่าหน้าที่จริงๆ ของเรานั้นคืออะไร หน้าที่ของเราคืออบรมเยาวชนรุ่นใหม่ให้ ‘ชอบ’ ไม่ใช่ ‘รัก’ เหมือนกับเราตอนเด็กๆ เราชอบอะไรในตอนนั้น ตอนนี้เราก็ยังชอบอยู่ ตอนเด็กๆ คุณแม่ให้ทานอะไร ตอนนี้เราก็ยังชอบอยู่ หรืออย่างแต่ก่อนที่โรงเรียนพาไปเขาดิน เด็กทุกคนก็ชอบสัตว์กันทั้งนั้น แต่ตอนนั้นที่นี่ยังไม่มีส่วนนี้ ผมก็เลยทําส่วนขึ้นมาเพื่อให้เด็กเกิดความชอบให้ได้ คิดหลายร้อยวิธี ลองทําสวนสัตว์เล็กๆ สัตว์ก็ตายไปเรื่อยๆ ลองปั้นเป็นรูปปั้นสัตว์ไปร้อยกว่าชนิดเด็กก็ยังไม่มา ลูกน้องบอกให้ลองปั้น ‘ไดโนเสาร์’ ผมก็ลองปั้น ปรากฏว่าเด็กก็เริ่มมากัน จนทุกวันนี้ก็ยังปั้นอยู่ มีอยู่เกือบๆ 1,400 ตัวแล้ว มีครบหมดทุกสายพันธุ์

ทีนี้เมื่อเด็กมาแล้ว ผมก็ต้องคิดต่อว่าจะทํายังไงให้เขารักทั้ง 3 อย่าง คือ สวนสัตว์, พุทธศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งตอนนี้ผมเพิ่มเข้ามาอีก คือ เรื่องของศาสนา, อาหารไทย และความรู้เกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อน เราจึงจัดทำโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และผมเข้าใจคนที่มาศึกษาดูงานเหล่านี้ เขาก็ต้องดูเรื่องพวกนี้ทั้งนั้น

ถ้าหากว่ามีสถานที่นึง ที่มีครบทุกอย่าง หรือเกือบครบทุกอย่าง เขามา เขาก็จะได้ประโยชน์สูงสุด เวลาเขามาเป็นกรุ๊ป เราก็ให้เขาเข้าไปสัมผัสเรื่องของ ‘โขน’ หรือเรื่องต่างๆ ซึ่งผมก็เห็นแล้วว่า ประเทศไทยของเรานั้น ต้องมีโขนให้ครบทุกชนิด ผมก็เลยทําจนครบ ทั้งหมด 500 กว่าชนิด และตัวองค์ประกอบของโขนนั้น ยังไม่เคยเห็นมีใครทําครบสักที ผมก็เลยสั่งให้ทํา ตอนนี้เหลืออีกประมาณ 3 ปี ผมคาดว่าน่าจะครบ ‘สัตว์หิมพานต์’ 150 กว่าชนิด ตอนนี้เท่าที่เห็นก็เริ่มทําไปเยอะแล้ว แต่ผมคิดว่าจะทําให้ครบทั้งหมด ‘พญานาค’ ตอนนี้มีอยู่ 9 องค์ เราก็ให้ทําครบ

ตอนนี้ก็ทํา ‘กวนเกษียรสมุทร’ อยู่ เพื่อสร้างเข้าใจในวัฒนธรรมของเราให้ต่างชาติเขาได้รับรู้ ผมสร้าง ‘สวนฝรั่งเศส’ เพื่อเป็นสวนสวยงาม แต่ก็กลัวว่าเวลาถ่ายภาพออกมาแล้วจะบอกว่าอยู่ในยุโรป ผมก็เลยสร้างเจดีย์ไว้รอบๆ ถ่ายภาพออกมายังไงก็ต้องถ่ายเจดีย์ติดแน่นอน ไม่ใช่ในยุโรปแน่ และผมก็ยังทําต่อไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ใจเด็กให้มากที่สุด ตรงไหนไม่ดีก็รื้อทําใหม่

ส่วนเรื่องของ ‘หิน’ ประเภทต่างๆ ก็รวมอยู่ที่นี่หมด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไปพบกับคนที่เก็บหินมา ผมก็บอกให้เขาไปช่วยเก็บหินในประเทศไทยทั้งหมด ตอนนี้ก็ได้เยอะมาก เลยสร้างเริ่มพิพิธภัณฑ์หินและกระถางเครื่องปั้นดิน ซึ่งปั้นโดยศิลปดินท่านหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ ชื่อ ‘คุณดู๋’ กระทางเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เหมือนกับในยุโรป และมีคําอธิบายแต่ละเรื่องว่ามีความหมายยังไง

และตอนนี้อะไรที่เราเห็นว่าไม่เหมาะสม เราก็จะรื้อแล้วทําใหม่ เราก็ปรับตามนิสัยของผู้คนในยุคปัจจุบัน เพราะสวนนงนุช ถูกออกแบบขึ้นมาเมื่อ 50 ปีที่แล้ว สําหรับคนในยุคนั้นที่ชอบเดินดูสวน แต่ตอนนี้ คนไทย เอเชีย หรือแม้แต่ต่างชาติที่เริ่มไม่ชอบก็มีเลย ผมก็เลยแก้ไข้คำข้างหน้า โดยใช้คําว่า ‘Pocket Park’ หรือ ‘Inter Park’ ซึ่งเราก็เอาทุกอย่างไปอยู่ข้างหน้า นักท่องเที่ยวจะได้เห็นทั้งโชว์รูมรถ, กระบองเพชร, โดนลอยฟ้า, สวนผีเสื้อ และพิพิธภัณฑ์พระ รวมถึงจุดพักทานข้าว ก็จะอยู่ข้างหน้าทั้งหมดเลย อยากจะดูสวนหลักที่เคยสร้างไว้ก็สามารถนั่งรถชมวิวได้ และจะเห็นสัตว์ตลอดทาง ผู้ปกครองก็จะได้อธิบายสิ่งต่างๆ ให้ลูกฟังได้

การเปิดให้เข้าสวนของเนอร์สเซอรีนั้น ผมคิดว่าเป็นสวนต้นๆ ของโลก ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมเบื้องหลังของการผลิตต้นไม้ หรือเบื้องหลังของต้นไม้ ทําให้คนที่รักต้นไม้เห็นแล้วก็มีความรู้สึกอยากได้ต้นไม้ไปปลูกที่บ้าน นักท่องเที่ยวที่เป็นฝรั่งมาก็ตกใจอยู่เหมือนกัน

จริงแล้วๆ ทั้งหมดมันก็เป็นตัวในตัวของมันเองอยู่แล้ว เข้าสวนไหนก็จะเจอต้นไม้ พันธุ์ไม้ชนิดต่างๆ สีต่างๆ ที่เมืองนอกเขาก็เขาดีใจ เพราะว่าเป็นไอเดียที่ดีที่เขาควรจะต้องนับไปปรับปรุงสวนของประเทศเขา

ผมเตือนเขาว่า เป้าหมายหลักของเราคือ ‘เด็ก’ อย่าลืมในส่วนนี้นะ และผมก็เติมผู้สูงอายุเข้าไปด้วย เพราะคนไทยบางส่วนก็เที่ยวไม่เป็น เพราะบางครั้งลูกๆ ก็ไม่กล้าปล่อยให้คุณพ่อคุณแม่มาเที่ยวกันเอง ลูกๆ เขาอยากเป็นคนพามา แต่บางทีกว่าลูกๆ จะมีเวลาก็ยาก…

แต่ถ้าเผื่อ ‘ไทยเที่ยวไทย’ ได้ ก็จะทำให้ ‘เมืองรอง’ เกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นเร็วด้วย ตอนนี้เมืองรองนั่งรอแขกต่างชาติ เพราะเขาไม่มาหรือเขามากันน้อยมาก เพราะนักท่องเที่ยวแต่ละคนมีเวลาไม่กี่วันในการมาเที่ยวประเทศไทย ทำให้ต้องท่องเที่ยวกลางวัน กลางคืนให้มากที่สุด มา 4 วันก็ต้องเห็นอะไรให้เยอะที่สุด ทำให้เขาไม่มีไปเที่ยวที่เมืองรอง นอกจากว่า เมืองรองจะมีอะไรที่พิเศษมากๆ เขาถึงจะไปกัน แต่ระหว่างทางก็ควรต้องมีอะไรที่น่าสนใจด้วย

ผมจึงคิดว่า การท่องเที่ยวนั้น ต้องเน้นเมืองหลัก เมืองใหญ่ของเรา สวนเมืองรองก็ต้องเป็น ‘ไทยเที่ยวไทย’ ช่วยกันสนับสนุน ตอนนี้คนไทยเริ่มเที่ยวเป็นบ้าง แต่ก็เที่ยวกันแค่เสาร์อาทิตย์นะ วันธรรมดาก็เที่ยวไม่ได้อีก

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจในการพัฒนา ‘สวนนงนุช’ ที่ผมจะทํา ผมจะไม่หยุด ผมอยากทําตลอดไป ตราบเท่าที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ผมก็จะทําให้เต็มที่ เพราะเราทําจนเราเข้าใจมันแล้ว และมันเป็นโอกาส เพราะคนที่มีโอกาสอย่างผมนั้นมีน้อยมาก แล้วผมจะทิ้งทุกอย่างไปเพื่อความสุขส่วนตัวได้ยังไง เพราะนี่คือความสุขของผม ผมเห็นเด็กๆ มากันทุกวัน ผมดีใจจะตาย”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top