Sunday, 20 April 2025
แยกขยะ

How to ทิ้ง "แยกขยะก่อนทิ้ง" กับ 8 ทางแยก(ขยะ)วัดใจ แยกให้ถูกถัง...เพิ่มพลังรักษ์โลก!!

หยุด!! การทิ้งขยะรวมกันในถังเดียวได้แล้ว เพราะ “การแยกขยะก่อนทิ้ง” เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการช่วยสิ่งแวดล้อม แล้วสามารถเริ่มได้จากตัวเราเอง ถ้าหากสิ่งแวดล้อมดี เราทุกคนก็จะดำเนินชีวิตได้อย่างสบายใจ และสูดลมหายใจได้อย่างเต็มปอด วันนี้ทาง THE STATES TIMES เลยขอชวนทุกคนมา “แยกขยะก่อนทิ้ง” แบบง่าย ๆ และถูกวิธีไปด้วยกันเลยยย...  

สามารถรับชมเพิ่มเติมได้ทาง >> https://youtu.be/gwJRhvCwy9k

 

อยากเป็น SMEs สีเขียว เริ่มต้นจากการ ‘ทิ้ง’ How to ทิ้ง? .. แค่แยก = ลด

-ขยะย่อยสลายได้
นำไปผลิตเป็นพลังงาน

-ขยะรีไซเคิล
นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง

-ขยะอันตราย
นำไปกำจัดให้ถูกวิธี เพื่อไม่ให้รั่วซึมลงแหล่งน้ำหรือชั้นผิวดิน

-ขยะทั่วไป
นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน

SMEs ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีได้โดยไม่ต้องลงทุน เริ่มต้นที่การแยกขยะในสำนักงาน และสำหรับสถานประกอบการ ขยะรีไซเคิลอาจไม่ใช่ขยะอีกต่อไป หลายกิจการมีรายได้จากการรีไซเคิลสิ่งที่เคยเห็นว่าเป็นขยะ

#THESTATESTIMES
#EconBiz
#GoodsVoice 
#NewsFeed
#ทำธุรกิจ
#ธุรกิจ
#ธุรกิจยุคใหม่
#แยกขยะ
#ขยะ

กทม. ออกข้อบัญญัติค่าธรรมเนียมเก็บขยะใหม่ ไม่แยกขยะจ่ายเพิ่ม 3 เท่า ลุ้น!! ผู้ว่าเซ็นเริ่มใช้

(30 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภากรุงเทพมหานครได้ผ่าน ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. ...

โดยข้อบัญญัติฉบับนี้เสนอโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคัดแยกขยะมูลฝอย 

จากการผ่านข้อบัญญัติในครั้งนี้ เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีประกาศจะเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราใหม่ ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนค่าธรรมเนียมในการจัดเก็บ และค่าธรรมเนียมในการกำจัด 

ทำให้ครัวเรือนที่ผลิตขยะวันละ 20 ลิตร จากเดิมจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดเก็บเดือนละ 20 บาท จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 60 บาท จากค่าเก็บขน 30 บาท และค่ากำจัด 30 บาท 

แต่หากครัวเรือนมีการแยกขยะจะจ่ายค่าธรรมเนียม 20 บาทเท่าเดิม จากค่าเก็บขน 10 บาท และค่ากำจัด 10 บาท 

รองผู้ว่าฯ กทม. ยัน ค่าเก็บขยะช่วยเพิ่มการคัดแยกต้นทาง คาด 180 วันเริ่มจัดเก็บ ทำรายรับ กทม. จากขยะพุ่งขึ้น 3 เท่า

เมื่อวานนี้ (30 ต.ค.67) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. .... ได้รายงานผลการพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของคณะกรรมการวิสามัญฯ ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยมีนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และจะมีการประกาศใช้ข้อบัญญัติในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมว่า เดิมข้อบัญญัติฯ ปี 2562 มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย (ค่าเก็บขยะ) ตามครัวเรือนเดือนละ 80 บาท โดยมองว่ามีค่าธรรมเนียมสูงเกินไป ผู้ว่าฯกทม. จึงให้จัดทำข้อบัญญัติฯ ใหม่ โดยแบ่งการจัดเก็บเป็น 2 แบบ คือ 1.มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน 2.ไม่มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 60 บาทต่อเดือน 

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง และสอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาหลักที่แตกต่างระหว่างปี พ.ศ. 2546 กับปี พ.ศ.2562 คือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะนำปริมาณขยะมาประกอบการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่ทิ้งขยะจำนวนน้อย ไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือผู้ที่คัดแยกขยะต้นทางจากครัวเรือนได้มากกว่า 

รวมถึงเก็บอัตราค่าธรรมเนียมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีจำนวนขยะมากในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอัตราดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้คัดแยกขยะอีกทางด้วย ซึ่งการคาดการณ์รายได้จากการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมใหม่จะทำให้กทม.สามารถจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มากขึ้น จากเดิม 166 ล้านบาท เป็น 664 ล้านบาท ซึ่งหัวใจของการจัดเก็บอัตราใหม่นี้ คือจะเก็บเงินกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีขยะสู่เมืองในอัตราที่สูงขึ้น และหากใครมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางก็จะได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง โดยร่างข้อบัญญัตินี้ต้องการสร้างจิตสำนึกของประชาชนอย่างต่อเนื่องและสร้างความตื่นตัวให้กับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการให้บริการประชาชน

สำหรับสาระสำคัญอัตราค่าธรรมเนียมที่ปรับปรุงใหม่ แบ่งเป็นค่าเก็บและขนสิ่งปฏิกูลต่อครั้ง คิดอัตราลูกบาศก์เมตรละ 300 บาท ส่วนอัตราค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ปริมาณไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ค่าเก็บและขน เดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท รวม 60 บาท (เดิม 20 บาท) กลุ่มที่ 2 เกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 500 ลิตรต่อวัน (เดิม 40 บาท/20 ลิตร) และเกิน 500 ลิตรต่อวันแต่ไม่เกิน 1 ลบ.ม. ต่อวัน (เดิม 2,000 บาท) ค่าเก็บและขน 60 บาท/20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาท/20 ลิตร รวม 120 บาท/20 ลิตร กลุ่มที่ 3 เกิน 1 ลบ.ม.ต่อวัน (เดิม 2,000 บาท/1 ลบ.ม.) ค่าเก็บและขน 3,250 บาท/1 ลบ.ม. ค่ากำจัด 4,750 บาท/1 ลบ.ม. รวม 8,000 บาท/1 ลบ.ม.

ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครยังไม่มีการบังคับใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว แต่กรุงเทพทหานครมีโครงการ 'ไม่เทรวม' ซึ่งสามารถลดขยะได้มากกว่า 10% จากความร่วมมือของประชาชน ดังนั้นหากเริ่มการบังคับใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว คาดการณ์ว่าจะสามารถลดขยะของกรุงเทพมหานครได้ปริมาณมหาศาลและสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอีกทางด้วย

หลังจากนี้ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบให้มากที่สุด คาดว่าข้อบัญญัติฯ จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน ทั้งนี้ในกรุงเทพฯ มีบ้านเรือนประชากรกว่า 2 ล้านหลังคาเรือน ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นมีประชาชนคัดแยกขยะประมาณ 50,000 ครัวเรือน โดยเบื้องต้นจะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน และที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ทั้ง 50 สำนักงานเขต โดยหลังจากลงทะเบียนแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะจริงหรือไม่ และเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน ตามเดิม


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top