Wednesday, 30 April 2025
แผ่นดินทอง

19 มกราคม พ.ศ. 2545 ในหลวง ร. 9 ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสาร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

วันนี้ เมื่อ 21 ปีก่อน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบิน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ทั้งนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนาม ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพ แห่งที่ 2 ว่า 'ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ' ซึ่งมีความหมายว่า 'แผ่นดินทอง'

สำหรับแนวคิดในการก่อสร้างท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร เริ่มมีขึ้นในปี พ.ศ. 2503 ในสมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้ง 'สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ' ในสมัยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม เช่นเดียวกับการศึกษาของบริษัทลิตช์ฟีลด์และสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการสร้างท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งที่ 2 ในกรุงเทพมหานคร

รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ให้สัมปทานแก่บริษัทนอร์ททรอปแห่งสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ทันก่อสร้างก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา จนสัมปทานถูกยกเลิก ต่อมา รัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาแทมส์เพื่อศึกษาพื้นที่ในการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ จนเมื่อ พ.ศ. 2521 ก็ได้ข้อสรุปตามเดิมว่า หนองงูเห่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด

เมื่อถึง พ.ศ. 2534 รัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน ของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งที่ 2 ณ บริเวณหนองงูเห่า โดยมอบหมายให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ในปัจจุบัน) เป็นผู้ดำเนินการ

ต่อมาในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ได้อนุมัติงบประมาณ 120,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการ และให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ไม่ต้องนำเงินกำไร 50% ส่งเข้าคลังเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอที่จะอพยพโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่เวนคืน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top