Sunday, 20 April 2025
แชร์ลูกโซ่

‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ เตือนภัย!! มิจฉาชีพหลอกชักชวนให้ลงทุนแชร์ลูกโซ่ ออมเงินและปล่อยเงินกู้ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สร้างความเสียหาย

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยกรณีที่มีเหล่ามิจฉาชีพหลอกชักชวนให้ลงทุนบนโลกออนไลน์ ในลักษณะตั้งวงแชร์ออนไลน์ กลุ่มออมเงิน และลงทุนปล่อยเงินกู้

เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรมหรือธุรกรรมต่าง ๆ โดยหันมาทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์หรือแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ผนวกกับการที่ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้นและมีการหารายได้เสริมกันมากขึ้น จึงมีเหล่ามิจฉาชีพอาศัยช่องว่างดังกล่าวในการกระทำความผิด ด้วยการโฆษณาผ่านช่องทางต่าง ๆ หรือการชักชวน  ทั้งทางสื่อสังคมออนไลน์และการบอกกันปากต่อปากให้มาร่วมลงทุนแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมักจะมีข้อเสนอในลักษณะที่ให้ผลตอบแทนสูง ง่าย ไม่ซับซ้อน ยิ่งโอนลงทุนมากยิ่งได้เงินมาก และมุ่งเน้นไปที่การชักชวนให้คนอื่นมาลงทุนต่อ โดยจะมีข้อเสนอพิเศษให้ สำหรับผู้ที่ชวนคนอื่นมาลงทุนเพิ่มได้ ก็จะได้เงินตอบแทน ทำให้มีผู้เสียหายหลงเชื่อเป็นจำนวนมาก

ดังเช่นกรณีปรากฎบนสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าควบคุมตัวท้าวแชร์ลูกโซ่หญิง วัย 20 ปี ตามหมายจับ หลังถูกแจ้งความดำเนินคดีว่ามีพฤติกรรตั้งวงแชร์ลูกโซ่ จัดตั้งกลุ่มออมเงิน และปล่อยเงินกู้ โดยเสนอผลตอบแทนสูง โดยผู้ต้องหาได้เปิดกลุ่มไลน์และเฟซบุ๊ค พร้อมมีข้อความชักชวนว่า “โอนไวจ่ายจริง” จนมีผู้หลงเชื่อเข้ามาร่วมลงทุนจำนวนมาก มีวงเงินตั้งแต่ 200-1,000,000 บาท มีผู้ร่วมลงทุนทั่วประเทศมากกว่า 1,400 คน รวมมูลค่าความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชนและตระหนักถึงพิษภัยจากการหลอกลวงของมิจฉาชีพในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างความเสียหายซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรการและดำเนินการป้องกันปราบปรามตามขั้นตอนของกฎหมาย และเน้นย้ำว่าจะต้องดำเนินการเอาผิดและกวาดล้างกลุ่มมิจฉาชีพอย่างเด็ดขาด

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยสั่งการไปยังทุกหน่วยงานในสังกัด ให้ทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมกลุ่มมิจฉาชีพ เร่งทำการจับกุมบุคคลตามหมายจับ รวมถึงขยายผลไปถึงเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างจริงจังต่อเนื่อง และให้สถานีตำรวจทั่วประเทศอำนวยความสะดวกในการรับแจ้งความจากประชาชน เพื่อให้มีผลการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

การกระทำลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุก      ไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่ เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด รวมถึงเตรียมหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานการโอนเงิน บันทึกการสนทนา รายการเดินบัญชีธนาคาร เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการดำเนินคดี

 

ตำรวจ PCT ‘ทลายเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ MBC Club’ มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท มีเหยื่อหลงเชื่อกว่า 1,000 ราย

วันนี้ (24 พ.ย. 64) เวลา 10.30 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้ช่วย ผบ.ตร. , พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รอง ผบช.น. ร่วมแถลงผลการจับกุมเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ MBC Club มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ฯ เปิดเผยว่า เครือข่าย MBC Club ได้ชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนใน Forex โดยหลอกลวงว่าจะได้กำไรเฉลี่ย 40% ของเงินที่ลงทุนต่อเดือน และจะนำผลกำไรมาปันผลให้กับผู้ร่วมลงทุน แต่หากลงทุนครบจำนวน 40,000,000 บาท ภายในสิ้นปีจะได้รับรางวัลเป็นรถยนต์เก๋ง ยี่ห้อ Porsche 718 Boxster จากบริษัท ซึ่งการลงทุนดังกล่าวมีแผนการร่วมลงทุน แบ่งเป็น 5 แพ็คเกจ ดังนี้

แพ็คเกจที่ 1 MEMBER ทุนจำนวน 50,758 บาท ทาง CLUB เพิ่มทุนให้ 110% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 27.50 %

แพ็คเกจที่ 2 SILVER ทุนจำนวน 253,750 บาท ทาง CLUB เพิ่มทุนให้ 115% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 28.75%

แพ็คเกจที่ 3 TITANIUM ทุนจำนวน 507,500 บาททาง CLUB เพิ่มทุนให้ 120% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 30%

แพ็คเกจที่ 4 GOLD ทุนจำนวน 2,537,500 บาท ทาง CLUB เพิ่มทุนให้ 125% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 31.25%

และ เเพ็คเกจที่ 5 PLATINUM ทุนจำนวน 5,075,000บาท ทาง CLUB เพิ่มทุนให้ 130% เฉลี่ยกำไรต่อวันคิดเป็น 32.50%  

'ไบร์ท วชิรวิชญ์' ยันเป็นเหยื่อ Forex 3D สูญเงิน 7 แสนบาท โอด รู้ตัวช้า เพราะเชื่อใจ - ไว้ใจ 'อภิรักษ์'

'ไบร์ท วชิรวิชญ์' รับความโลภบังตา เอาเงินทั้งชีวิตเข้าลงทุน Forex 3D สูญ 775,000 บาท พร้อมเล่าเส้นทางสนิทสนม 'อภิรักษ์' โอดตนน่าจะเป็นคนที่รู้ช้าที่สุดเพราะเชื่อสนิทใจ ยิ่งอยู่ใกล้ยิ่งมองไม่เห็นความจริง หากไม่มีชื่อเสียงเหมือนวันนี้ ตอนนี้ตนคงแย่มากๆ

หลังจากที่พิธีกรข่าว 'เต๋า ทีวีพูล' ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า… “เรียกสอบอีกคู่!!! เตรียมเรียกคู่จิ้นวาย? สอบคดีแชร์ Forex - 3D เหตุมีภาพสนิทผู้บริหาร” ทางเพจ รวบรวมผู้โดนโกงจาก Forex 3D ก็เอามาขยี้ต่อ โดยเผยว่าคู่ซีรีส์วายดังกล่าวคือ 'ไบร์ท วชิรวิชญ์ ชีวอารี' พร้อมเผยภาพคสามสนิทสนมของ ไบร์ท กับ 'อภิรักษ์ โกฎธิ' CEO Forex 3D ตั้งแต่ปี 2014

วันนี้ (30 ก.ย. 65) ไบร์ท วชิรวิชญ์ ได้ออกมาเปิดใจครั้งแรกในรายการ วันบันเทิง ถึงการมีภาพความสนิทสนมกับอภิรักษ์ อีกทั้งยังเผยว่าตนก็ตกเป็นเหยื่อเพราะร่วมลงทุนกับ Forex 3D จนเกือบหมดตัว

“ตอนนั้นผมอายุประมาณ 15-16 ครับ ช่วงนั้นผมทำรายการสตรอว์เบอร์รี่ครับเค้ก ซึ่งผมก็จะมีรุ่นพี่คนนึงซึ่งผมเป็นพิธีกรด้วยกันชื่อว่า นิค นิโค เป็นคนพาผมไปรู้จักกับพี่รักษ์ ซึ่งในช่วงนั้นเวลาผมทำงานเลิกดึกผมจะกลับบ้านที่นครปฐม แต่บางทีรถตู้หมด 3 ทุ่ม บางทีผมเลิกงานกลับบ้านไม่ทันก็ไปอาศัยนอนบ้านเขา ซึ่งเขาอาศัยอยู่บ้านเดียวกันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผมรู้จักกับพี่รักษ์ครับ

ในคลิปตอนนั้นผม ม.4 จริงๆ ในคลิปที่เห็นนั้นเป็นวันแรกที่ได้เจอกันเลย ผมไปนอนบ้านพี่นิคครั้งแรกก็ร้องเพลงกัน อัดคลิป มันเท่านั้นเองครับวันนั้น”

>> เล่าจุดเริ่มต้นที่เข้าไปร่วมลงทุน Forex3 D
“ในส่วนของจุดเริ่มต้น ก็ต้องยอมรับว่ามันก็เริ่มจากตัวผมนี่แหละครับ ด้วยความที่ ณ ตอนนั้นทุกคนที่อยู่รอบตัวผมทุกคนลงทุนตรงนี้หมด ทุกคนเล่นตรงนี้หมด และผมก็เห็นมาสักพัก ตอนแรกผมก็ไม่ได้มั่นใจแต่เราก็เห็นมาสักพักว่าทุกคนได้จริงๆ และได้กันเป็นระยะเวลานาน

แต่เราก็เห็นมาสักพักว่าทุกคนได้กันจริงๆ และได้กันไปแล้วเป็นเวลานานเป็นปีๆ เราก็รู้สึกว่ามันน่าจะโอเคนะ มันน่าเชื่อถือได้ ณ วันนั้นผมยังไม่ได้มีเงิน เงินก่อนแรกที่ผมเอามาลงผมขอแม่มาลงด้วยซ้ำ จำนวน 50,000 บาท พอเราเริ่มลงไปปั๊บมันก็ได้จริงๆ ในวันแรกมันได้จริงๆ มันได้เรื่อยๆ เราก็รู้สึกว่ามันโอเคนะ ผมก็พยายามที่จะเก็บเงิน งานทุกชิ้นที่ผมทำ รายได้ไม่ว่าจะทางไหนก็ตาม ส่วนใหญ่ผมก็จะยัดกลับคืนเข้าไป ผมรู้สึกว่ามันคือการลงทุน เป็นการออมเพื่ออนาคต”

>ณ วันที่ตัดสินใจลงทุนไปยังไม่มีชื่อเสียงแบบนี้ เผยเอาเงินทั้งชีวิตของครอบครัวมาลงทุน จำนวน 775,000 บาท
“ไม่มีเลยครับวันนั้น ตอนนั้นผมก็เอาเงินจากการเล่นโฆษณา แคสงาน เงินบางส่วนก็เป็นเงินเก็บของแม่ คือเรารู้สึกว่าน่าจะเป็นการลงทุนที่โอเคที่สุด เงินจากส่วนอื่นๆ ที่ผมมี ผมก็เอามาใส่ตรงนี้หมดเลย ตอนนั้นผมเรียกว่ามันเป็นเงินทั้งชีวิตของครอบครัวผมเลยแล้วกัน นั่นคือเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวที่บ้านผมมี แล้วเราก็เสียไปกับตรงนั้นทั้งหมด จำนวน 775,000 บาท เยอะมากๆ ณ วันนั้นมันคือเงินทั้งครอบครัว

‘รัฐบาล’ เดินหน้าปราบมิจฉาชีพฉ้อโกงออนไลน์ สั่ง ‘ดีอีเอส’ ประสานทุกฝ่ายดำเนินคดีผู้กระทำผิด

รัฐบาลเอาจริงปราบฉ้อโกงออนไลน์ มอบดีอีเอสประสานดีเอสไอ สตช. แบงก์ชาติ เร่งแก้ไข พร้อมติดตามการดำเนินคดีผู้กระทำผิด รวบรวมผลรายงานนายกรัฐมนตรีใน 30 วัน พร้อมหนุนป้องกันเยาวชนจากภัยออนไลน์

(29 ต.ค. 65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชนผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของการเงินนอกระบบ เช่น แชร์ลูกโซ่ การเล่นแชร์ และการขายตรง การพนันออนไลน์ รวมทั้งการหลอกลวงผ่านคอลเซ็นเตอร์ โดยคนร้ายมักปรับรูปแบบและวิธีฉ้อโกงและหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อโดยมิรู้เท่าทัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจกับปัญหาที่ประชาชนยังคงได้รับความเดือดร้อน 

โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหา ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำผิด และหากเป็นกรณีมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในขบวนการทำผิดนั้นจะต้องลงโทษเด็ดขาด

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า เมื่อไม่นานมานี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้มีการหารือถึงปัญหาดังกล่าวและได้มีมติให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับกระทรวงยุติธรรม โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งขอความร่วมมือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการเร่งรัดดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม และให้เร่งติดตามการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดให้แล้วเสร็จโดยเร็วด้วย 

และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรวบรวมผลการดำเนินการและรายงานต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วันโดยภายหลัง ครม. มีมติมอบหมายเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 65 นายชัยวุฒิ ธนาคมนุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ได้เชิญหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ ดีเอสไอ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ สตช. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางเร่งรัดและแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างเร่งด่วน

THE STATES TIMES สำรวจความหมาย ‘แชร์ลูกโซ่’ พบระหว่างปี 57-63 เสียหายรวม 3 แสน 9 หมื่นล้าน

(9 ต.ค. 67) แชร์ลูกโซ่ คือหนึ่งในการหลอกลวงที่พบเห็นได้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่แชร์แม่ชม้อยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน The States Times ขอพาผู้อ่านสำรวจถึงความหมาย และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการคดโกงที่เรียกว่า ‘แชร์ลูกโซ่’

แชร์ลูกโซ่ คือ การหลอกให้คุณนำเงินไปร่วมลงทุนกับธุรกิจหรืออะไรก็ตามโดยขายฝันความร่ำรวยที่เกินจริงด้วยวิธีการต่างๆ ที่ซับซ้อน เช่น 

- การเปิดระดมทุนไม่อั้น และชวนทุกคนมาร่วมลงทุนด้วย
- บอกว่าผลกำไรในการลงทุนนั้นสูงมาก แต่ตรวจสอบข้อมูลการลงทุนไม่ได้ 
- ถูกคะยั้นคะยอให้รีบตัดสินใจลงทุน
- มีการจัดอบรมสัมมนาใหญ่โต พร้อมทั้งอ้างคนที่มีชื่อเสียงมาร่วมลงทุนเพื่อหว่านล้อมเราอีกด้วย เป็นต้น

ด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้เผยแพร่ผลการวิจัยเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ซึ่งพบว่า ผู้เสียหายในคดีแชร์ลูกโซ่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 85 รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าเป็นลงทุนแชร์ลูกโซ่ แต่ก็ยังลงทุนเพราะผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับนั้นสูงมาก มีเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ที่ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าที่ตนเองนำเงินไปลงทุนนั้นเป็นการลงทุนในธุรกิจแชร์ลูกโซ่

สำหรับความเสียหายที่เกิดจากแชร์ลูกโซ่นั้น สำนักงานกิจการยุติธรรม ได้มีการเผยแพร่สถิติ I ปี 2563 ไว้ว่า 

สถิติระหว่าง 2557 - 2563
- มีเรื่องมากกว่า 1,290 เรื่อง 
- จำนวนผู้เสียหายกว่า 38,800 คน 
- รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3 แสน 9 หมื่นล้านบาท

ตร. เตือน ระวังหลอกลงทุนธุรกิจขายตรง ใช้กลวิธีหลอกลวง เบื้องหลังเป็นแชร์ลูกโซ่  

(9 ต.ค.67) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รักษาราชการแทน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ

โดยในอดีตที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนจำนวนมากได้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่มาในรูปแบบของการชักชวนให้ลงทุนในธุรกิจ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือการจัดสัมมนาในความรู้ บางครั้งก็จะมาในรูปแบบของการลงทุนในธุรกิจ บางครั้งก็มาในรูปแบบของการขายตรง หลอกลวงว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง และมักจะมีรายได้จากการชักชวนสมาชิกใหม่มาร่วมธุรกิจ เช่น คดียูฟัน (Ufund) คดีแม่ชม้อย คดี FOREX-3D เป็นต้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังในการลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจลักษณะขายตรง ที่อาจเข้าข่ายเป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่ หรือหลอกลวงประชาชน โดยมีข้อสังเกตดังนี้

1. โมเดลแชร์ลูกโซ่ - หากโครงสร้างธุรกิจเน้นการรับสมัครคนใหม่เข้าร่วมมากกว่าการขายสินค้าหรือบริการจริง โมเดลนี้ทำให้รายได้หลักมาจากการชักชวนสมาชิกใหม่และเก็บเงินค่าสมัคร แทนที่จะเกิดจากการขายสินค้า
2. การขายสินค้าหรือบริการที่ไม่ตรงความจริง - หากสินค้าหรือบริการที่เสนอขายไม่มีคุณภาพ ไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่โฆษณาไว้ หรือไม่มีสินค้าจริงในการจำหน่าย แต่มีการหลอกลวงเพื่อเก็บเงินจากผู้ร่วมธุรกิจ
3. การบังคับซื้อสินค้าหรือการลงทุนจำนวนมาก - หากบริษัทบังคับให้ผู้สมัครเข้าร่วมต้องลงทุนจำนวนมากในการซื้อสินค้าเกินความจำเป็น หรือกักตุนสินค้าโดยไม่สามารถขายออกได้จริง
4. การใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือหลอกลวง - หากบริษัทนำเสนอข้อมูลทางธุรกิจหรือรายได้ที่เกินจริง โฆษณาผลตอบแทนที่สูงเกินจริงโดยไม่สามารถทำได้ตามสัญญา
5. การไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง - ธุรกิจขายตรงในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
6. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค - หากธุรกิจไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค ไม่สามารถคืนเงินหรือเปลี่ยนสินค้าตามที่กฎหมายกำหนด หรือไม่มีการคุ้มครองสิทธิ์ของผู้บริโภค ก็อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

โดยถ้าพี่น้องประชาชนพบเห็นธุรกิจในลักษณะดังกล่าว หรือสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 เพื่อที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะได้ดำเนินการตรวจสอบต่อไป

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ และหากเป็นคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ สายด่วน 1441 หรือเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เปิดประวัติ ‘แชร์ลูกโซ่’ มีมาแล้ว กว่าร้อยปี เริ่มต้นที่ ‘อเมริกา’ ขายฝัน!! ‘รวยเร็ว-รวยง่าย’ แต่สุดท้าย ไม่เหลืออะไรเลย

(14 ต.ค. 67) ในช่วงนี้มีข่าวการใช้การตลาดหลายรูปแบบในการหลอกเงินประชาชน ทำให้มีหลายคนนึกโยงเข้ากับเรื่องราวของแชร์ลูกโซ่ ซึ่งแชร์ลูกโซ่เป็นรูปแบบหนึ่งของการฉ้อโกงทางการเงินที่มีลักษณะการชักชวนผู้ลงทุนรายใหม่เพื่อให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจหรือแผนการลงทุนที่สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนสูง โดยเงินที่ได้จากผู้ลงทุนรายใหม่จะถูกนำมาใช้เป็นเงินปันผลให้กับผู้ลงทุนรายก่อนหน้า ซึ่งมักจะถูกทำให้เชื่อว่าเป็นกำไรจากการดำเนินธุรกิจจริง ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้นกลับไม่มีธุรกิจหรือแผนการลงทุนจริงเกิดขึ้น
โดยลักษณะการทำงานของแชร์ลูกโซ่จะเริ่มต้นโดย

1.ผู้ก่อตั้งแชร์ลูกโซ่มักจะเริ่มต้นโดยเสนอแผนการลงทุนหรือธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูงกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ใด ๆ เช่น หุ้น ทองคำ หรือสินค้า
2.การชักชวนสมาชิกใหม่ โดยผู้ที่ลงทุนก่อนหน้านี้จะได้รับเงินปันผลหรือผลตอบแทนจากเงินที่มาจากผู้เข้าร่วมใหม่ ซึ่งทำให้ผู้ลงทุนเชื่อว่าเป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนจริง
3.การขยายไลน์ธุรกิจ ผู้ลงทุนจะถูกกระตุ้นให้ชักชวนคนอื่นมาร่วมลงทุนเพื่อเพิ่มผลกำไร ซึ่งเป็นรูปแบบการขยายตัวอย่างรวดเร็ว
และ 
4.เมื่อไม่มีผู้ลงทุนรายใหม่เข้าร่วมแล้ว ระบบแชร์ลูกโซ่จะล่มสลาย และผู้ที่ลงทุนในช่วงท้ายจะไม่สามารถถอนเงินหรือได้รับผลตอบแทนใด ๆ เนื่องจากไม่มีเงินจากผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามา

แชร์ลูกโซ่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1920 โดยชาร์ลส์ ปอนซี (Charles Ponzi) เป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งชาร์ลส์ใช้วิธีการหลอกลวงผู้ลงทุน โดยอ้างว่าจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจแลกเปลี่ยนไปรษณีย์ระหว่างประเทศที่สามารถทำกำไรได้สูง ผลตอบแทนที่จ่ายให้กับผู้ลงทุนก่อนหน้านั้นมาจากเงินของผู้ลงทุนรายใหม่ ไม่ใช่จากผลกำไรที่เกิดขึ้นจริง การหลอกลวงของชาร์ลส์ ดำเนินไปได้เพราะผู้ลงทุนเริ่มแรกได้รับผลตอบแทนสูงจนสามารถชักชวนคนอื่นให้เข้ามาลงทุนต่อได้ แต่ในที่สุดระบบก็ล่มสลายเมื่อไม่มีผู้ลงทุนใหม่เข้ามาแล้ว
และถ้าเราจำกันได้ ในไทยเองมีเคสของแชร์ลูกโซ่ที่ดังและสร้างมูลค่าความเสียหายให้กับคนไทยจำนวนมาก และนี่คือ 3 อันดับแชร์ลูกโซ่ครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่สร้างความเสียหายสูงสุด

1.ยูฟัน (UFUN) (2558)
-มูลค่าความเสียหาย: ประมาณ 38,000 ล้านบาท
-รายละเอียด: ยูฟันเป็นแชร์ลูกโซ่ข้ามชาติที่หลอกลวงประชาชนโดยอ้างว่าเป็นแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ที่ใช้เหรียญ ‘ยูโทเคน’ (UToken) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลปลอม ผู้เสียหายจำนวนมากสูญเสียเงินลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้เป็นหนึ่งในแชร์ลูกโซ่ที่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
2. แชร์แม่ชม้อย (2527)
-มูลค่าความเสียหาย: ประมาณ 4,043 ล้านบาท
-รายละเอียด: เป็นคดีแชร์ลูกโซ่ที่เริ่มต้นจากการชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจที่อ้างว่าจะให้ผลตอบแทนสูง ผู้เสียหายหลายหมื่นรายสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลในคดีนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในคดีแรก ๆ ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในสังคมไทย
3. Forex-3D (2562)
-มูลค่าความเสียหาย: ประมาณ 2,489 ล้านบาท
-รายละเอียด: Forex-3D เป็นคดีแชร์ลูกโซ่ที่ใช้ชื่อเสียงของคนดังในการชักชวนให้ผู้คนลงทุนในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยสัญญาว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงถึง 60-80% สุดท้ายพบว่าเป็นการหลอกลวงที่ไม่มีการเทรดจริง

ไม่ว่าการลงทุนอะไรก็ตาม ผลตอบแทนที่มากจนเกินไปมักไม่มีอยู่จริง ดังนั้นก่อนจะลงทุนอะไรก็ตามเราเองก็ควรศึกษาการลงทุนนั้นอย่างละเอียด และตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เราจะเข้าไปลงทุน

ขายตรง - แชร์ลูกโซ่ ขายภาพลักษณ์หรู ชีวิตสบาย หายนะ!! เศรษฐกิจไทย มีแต่หนี้ ที่ไร้อนาคต

(27 ต.ค. 67) แชร์ลูกโซ่ ? The ICON Group ที่เหล่าบรรดา บอส-แม่ทีม กำลังถูกจับกุมดำเนินคดี และเป็นกระแสทุกหน้าสื่อในขณะนี้ มูลค่าความเสียหาย ยังสรุปตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ ยอดรวมผู้เสียหายที่เข้ามาให้ปากคำแล้ว 8,137 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 2,412 ล้านบาท แต่คาดการณ์ว่าน่าจะแตะหลักหมื่นล้านบาท หรือสูงกว่านี้

ความเสียหายจาก หลอกลวงลงทุนของบริษัท ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ ส่งผลให้มีการขยายผล สืบค้นข้อมูลบริษัทต่างๆ ที่ลักษณะการดำเนินธุรกิจคล้ายคลึงกัน กระทบกับธุรกิจขายตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ธุรกิจขายตรงในปี 2566 มีมูลค่า 60,000 ล้านบาท ยังคงซบเซา ดูได้จากยอดขายของบริษัทส่วนใหญ่ที่ยังคงมียอดขายที่การเติบโตที่ติดลบอยู่ ส่วนกำไรนั้นก็ลดลงจากปีก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ยังส่งผลกระทบกับสภาพเศรษฐกิจมาถึงปัจจุบัน 

ธุรกิจที่เน้นขายภาพลักษณ์ หน้าตา ความหรูหรา ผลตอบแทนที่สูง เพื่อชักชวนคนมาร่วมลงทุนธุรกิจ ซึ่งเราแทบไม่รู้จักสินค้าที่บริษัทแห่งนี้นำมาขาย นอกจากการจัดเวทีการแสดง พร้อมเหล่าบรรดา ดารา นักร้อง สลับกันขึ้นเวที บอกเล่า ถึงการใช้ชีวิตสุดหรู ท่องเที่ยวต่างประเทศ อาหารมื้อหลักหมื่น กระเป๋าแบรนด์เนมใบละแสน

ความเสียหายที่เกิดขึ้น กระทบเป็นวงกว้าง ผู้ร่วมลงทุน ย่อมสูญเงินไปกับภาพฝันชีวิตที่แสนสบาย หลายๆราย ทั้งกู้หนี้ ยืมสิน มาลงทุน โดยคาดหวังผลตอบแทนที่จะตามมา ตอนนี้...กลับมาสู่ภาพจริง ที่มองไม่เห็นอนาคต พร้อมแบกภาระหนี้ที่มี การเงินขาดสภาพคล่อง เงินดิจิทัล ก็คงช่วยไม่ได้

สัญญาณหนี้เสีย-หนี้ค้างชำระ ยังคงพุ่งไม่หยุด ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ภาพรวมของกลุ่มธนาคารใหญ่ในประเทศไทย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 กำไรสุทธิที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ก็ปรับตัวสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังเติบโตไม่ได้ตามที่คาดหวัง 7 ธนาคาร จาก 9 ธนาคารใหญ่ NPL ล้วนปรับเพิ่มขึ้น

ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้าน-รถ เพิ่มขึ้นทุกเซ็กเมนต์ บ้านต่ำ 3 ล้านบาททะลุ 70% บ้านระดับ 5 ล้าน อนุมัติเงินกู้แค่ 50% ขณะที่เช่าซื้อยอดวูบทั้งรถใหม่-รถเก่า ร้องขอมาตรการอสังหาฯ เพื่อช่วยกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการอนุมัติสินเชื่อ เพราะลูกค้ายังคงไม่มีศักยภาพชำระหนี้ 

ผู้ประกอบการรายใหญ่ อาจจะพอเห็นแสงรำไร จากมติ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ธนาคารทุกแห่งประกาศ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง มีผลตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน เป็นต้นไป คงจะพอช่วยลดภาระดอกเบี้ยได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่รายเล็กๆ ที่ใช้สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต ก็ยังคงต้องแบกดอกเบี้ยกันต่อ

ภาพฝัน งานสบาย รายได้ดี ไม่เคยมีอยู่จริง หากมีช่องทางที่สร้างรายได้ไม่จำกัด ลงทุนได้ผลตอบแทนสูง เขาคงเก็บเงียบไม่มาบอกหรอก เก็บเป็นความลับ สร้างความรวยให้ตัวเอง ไม่ดีกว่าเหรอ? การทำงานหารายได้ ทุกอย่างล้วนต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกาย หยุดเอาภาพลักษณ์ หน้าตา มาเป็นเครื่องวัดความสำเร็จ กันซะที


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top