Tuesday, 22 April 2025
เอไอ

จีน สุดล้ำ!! นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ช่วยทำนายวิถีของขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง 

หนังสือพิมพ์ South China Morning Post รายงานว่า บรรดานักวิจัยของสถาบันการเตือนภัยล่วงหน้า สังกัดกองทัพอากาศจีน ได้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่สามารถคาดการณ์วิถีของขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง หรือ ไฮเปอร์ โซนิก ที่กำลังพุ่งเข้าหาเป้าหมายที่มีความเร็วกว่าความเร็วเสียง 5 เท่า 

โดยเทคโนโลยี AI ของจีน สามารถตรวจจับขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง ได้เร็วกว่าระบบป้องกันทางอากาศในปัจจุบัน

นักวิจัยของสถาบันการเตือนภัยล่วงหน้าของกองทัพอากาศจีน อ้างว่า เทคโนโลยี AI ล่าสุดนี้ สามารถตรวจจับภัยคุกคามของขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงได้แค่ 15 วินาที ก่อนขีปนาวุธพุ่งเข้าหาเป้าหมาย     

ทุกวันนี้ ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง ถือเป็นระบบเทคโนโลยีป้องกันที่ดีที่สุดที่จีน รัสเซีย สหรัฐฯ และชาติมหาอำนาจอื่นครอบครอง แต่ก็มีหลายประเทศพยายามพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง
 

Alexa เอไอ ของ Amazon โชว์โหด!! แนะพ่อ ‘ต่อยคอเด็ก’ เพื่อให้หยุดหัวเราะ

พ่อชาวอังกฤษวัย 45 ปี สุดช็อกหลัง ‘Alexa’ ลำโพงเอไอของแอมะซอนที่เพิ่งได้มาตั้งคำถามถึงวิธีการเลี้ยงดูเด็กแนะนำให้เขาต่อยคอลูกเพื่อให้หยุดหัวเราะ แอมะซอนยืนยันรีบลบข้อมูลทันทีที่รู้เรื่อง

เดอะมิเรอร์ สื่ออังกฤษรายงานเมื่อวันที่ (1 พ.ย. 65) ว่า พ่อชาวอังกฤษวัย 45 ปี อดัม แชมเบอร์เลน (Adam Chamberlain) จากเชฟฟิลด์ (Sheffield) ตกใจและเปิดเผยต่อสาธารณะหลังพบว่า ‘อเล็กซา’ (Alexa) ซึ่งเป็นเอไอลำโพงคอมพิวเตอร์แอมะซอน Echo ที่โด่งดังและเพิ่งได้มาใหม่นั้น ได้แสดงวิธีการเลี้ยงดูเด็กที่เป็นอันตราย

โดย แชมเบอร์เลน ได้โพสต์วิดีโอคลิปที่เป็นการถามตอบระหว่างเขาและอเล็กซา และกลายเป็นที่โด่งดังไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยในวิดีโอคลิปพบว่าคุณพ่อวัย 45 ปี ได้ตั้งคำถามถึงวิธีการทำให้เด็กหยุดหัวเราะ ซึ่งในคลิปเขาถามอเล็กซาว่า “อเล็กซา คุณจะหยุดเด็ก ๆ จากการหัวเราะได้อย่างไร”

และในวิดีโอคลิปพบว่าอเล็กซา ซึ่งเป็นเอไอตอบกลับมาว่า...

‘ส.ว.-ส.ส.’ สหรัฐฯ เสนอห้ามใช้ ‘เอไอ’ ควบคุมคลังแสงนิวเคลียร์  นักวิจัยถึง 36% ชี้!! อาจเป็นต้นตอหายนะ ยังจำเป็นต้องมีมนุษย์อยู่

(30 เม.ย.66) สมาชิกวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในคลังแสงนิวเคลียร์ของอเมริกา โดยแนะว่าเทคโนโลยีดังกล่าวไม่ควรถูกวางสถานะให้ยิงหัวรบนิวเคลียร์ได้ด้วยตนเอง

กลุ่ม ส.ว. และ ส.ส. จากเดโมแครต 3 รายและริพับลิกัน 1 ราย เสนอร่างกฎหมายฉบับหนึ่งที่เรียกร้องให้แบนเอไอ จากการถูกใช้งานในแนวทางหนึ่งๆ ที่อาจนำไปสู่การปล่อยอาวุธนิวเคลียร์ และถ้ามันผ่านความเห็นชอบและประกาศบังคับใช้ กฎหมายฉบับนี้จะถูกรวมเข้ากับนโยบายหนึ่งของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) ในปัจจุบัน ที่กำหนดให้มนุษย์ต้องอยู่ในวงในการตัดสินใจใดๆ

"เราต้องการสร้างความมั่นใจว่ามนุษย์จะอยู่ในกระบวนการของการยิงอาวุธนิวเคลียร์ เมื่อใดก็ตามที่เราจำเป็นต้องปล่อยอาวุธนิวเคลียร์" เคน บัค สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ สังกัดพรรครีพับลิกัน จากโคโลราโด กล่าวเมื่อวันศุกร์ (28 เม.ย.) ระหว่างให้สัมภาษณ์กับฟ็อกซ์นิวส์ "หากคุณได้ดูหนังไซไฟ โลกหลุดจากการควบคุมเพราะว่าถูกเอไอเข้ายึด เราจำเป็นต้องมีมนุษย์ในกระบวนการนี้"

บัค พาดพิงของเหตุการณ์ฝันร้ายเรื่องราวระบบไอเอเข้าควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ในภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่อง เช่น "วอร์เกมส์" และ Colossus: The Forbin Project พร้อมเตือนว่าการใช้เอไอโดยปราศจากห่วงโซ่บัญชาการของมนุษย์เป็นสิ่งที่ขาดความยั้งคิดและอันตราย

เทด เหลียว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวเสริมว่า "เอไอนั้นน่าอัศจรรย์ มันกำลังจะเข้ามาช่วยสังคมในแนวทางต่างๆ มากมาย แต่มันสามารถฆ่าเราได้เช่นกัน" สมาชิกเดโมแครตจากแคลิฟอร์เนียระบุ ขณะที่เขาเป็นแกนนำคนสำคัญในการสนับสนุนร่างกฎหมายเอไอ เช่นเดียวกับสมาชิกเดโมแครตอีก 2 คน ได้แก่ ส.ส.เบเยอร์ จากเวอร์จิเนียและ ส.ว. เอ็ดเวิร์ด มาร์คีย์ จากแมสซาชูเซตส์

‘ทรัมป์’ กล่าวหา ‘แฮร์ริส’ ใช้ AI ตกแต่งภาพ สร้างฝูงชน รอรับที่สนามบินมิชิแกน ทีมงานรองประธานาธิบดี ตอบโต้ทันที ชี้!! เป็นภาพจริง มีผู้คนมารอต้อนรับนับหมื่น

(12 ส.ค. 67) นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 แห่งพรรครีพับลิกัน กล่าวหานางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และเป็นผู้สมัครฯ จากพรรคเดโมแครตว่า ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ ตกแต่งภาพผู้คนเป็นจำนวนมากมารอต้อนรับเธอที่ท่าอากาศยานดีทรอยต์เมโทรโพลิแทน ในเมืองโรมิวลุส รัฐมิชิแกน เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวว่า นางแฮร์ริสโกงภาพที่ปรากฏ เพราะไม่มีใครอยู่ ซึ่งเธอใช้เอไอทำภาพดังกล่าวขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานของรองประธานาธิบดีแฮร์ริส ออกมาตอบโต้ พร้อมทั้งยืนยันว่า ภาพที่ผู้คนเป็นจำนวนมากมารอต้อนรับรองประธานาธิบดีแฮร์ริสที่ท่าอากาศยานดังกล่าวนั้น เป็นภาพจริง ซึ่งในขณะนั้นมีผู้คนจำนวนราว 15,000 คนมารอต้อนรับ รองประธานาธิบดีแฮร์ริส และว่าในการปราศรัยหาเสียงในแต่ละที่ ก็มีผู้คนมาฟังปราศรัยนับหมื่นคนเป็นประจำเช่นกัน

'สื่ออังกฤษ' แฉ!! พันธมิตรด้านการตลาดของ 'เฟซบุ๊ก-กูเกิล-อเมซอน' ใช้เอไอดักฟังคนใช้โทรศัพท์ เพื่อยิงโฆษณาตรงตามที่ผู้ใช้กำลังพูดถึง

(6 ก.ย.67) เดลีเมลล์ สื่ออังกฤษรายงานว่า ได้มีข้อมูลของ บริษัท 'ค็อกซ์ มีเดีย กรุ๊ป' หรือ 'ซีเอ็มจี'  (Cox Media Group (CMG) ซึ่งเป็นบริษัทพาร์ทเนอร์การตลาดของ เฟซบุ๊ก, กูเกิล และ อเมซอน รั่วไหลไปถึงมือขององค์กรสื่อออนไลน์ชื่อว่า '404 มีเดีย' (404 Media) ซึ่งเป็นหลักฐานชี้ชัดว่า บริษัท ซีเอ็มจี ได้ใช้ซอฟต์แวร์ดักฟังเสียง ชื่อว่า 'แอค-ทีฟ ลิสเซนนิ่ง' (Active Listening) ดักฟังเสียงผู้ใช้โทรศัพท์ เพื่อที่จะยิงโฆษณาได้ตรงจุดที่สุด

โดยซอฟต์แวร์ดังกล่าว จะดักฟังเนื้อหาจากไมโครโฟนในเครื่องของผู้ใช้โทรศัพท์ และใช้เอไอประมวลผล เพื่อให้สามารถยิงโฆษณาได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และทำอย่างถูกกฎหมายด้วย ซึ่งการเปิดเผยดังกล่าวได้คลายความสงสัยของผู้คนนับล้าน ที่สงสัยมานานแล้วว่า ทำไมโทรศัพท์รู้ถึงความต้องการและโชว์โฆษณาในสิ่งที่เราได้พูดถึงได้อย่างไร ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏออกมานั้นยืนยันว่า โทรศัพท์ของเรากำลังฟังเราอยู่จริงๆ

ข้อมูลระบุว่า ซอฟต์แวร์ 'Active-Listening' ของบริษัท ซีเอ็มจี จะใช้ AI เพื่อรวบรวม วิเคราะห์  และประมวล 'ข้อมูลเจตนาแบบเรียลไทม์' โดยการฟังสิ่งที่พูดผ่านโทรศัพท์ แล็ปท็อป หรือไมโครโฟนของอุปกรณ์ผู้ช่วยต่างๆ ในบ้าน จากนั้นผู้โฆษณาก็จะใช้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้ เพื่อกำหนดเป้าหมาย ผลิตภัณฑ์หรือบริการบางอย่าง โดยเฉพาะที่ผู้ใช้โทรศัพท์กำลังพูดถึงอยู่ 

ถ้าหากเสียงหรือข้อมูลพฤติกรรมของคุณ บ่งชี้ว่าคุณกำลังพิจารณาซื้อสินค้าบางอย่าง ก็จะมีโฆษณาสำหรับสินค้าชิ้นนั้นขึ้นมาในมือถือทันที ตัวอย่างเช่น หากมีการพูดคุยกันถึง 'รถยนต์โตโยต้า' ระบบก็จะยิงโฆษณา รถยนต์โตโยต้ารุ่นใหม่ขึ้นมาให้เห็นทันที 

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เรื่องนี้รั่วไหลออกมา ทางด้านกูเกิล ก็ได้ลบกลุ่มสื่อ '404 มีเดีย' ออกจากโครงการ 'โปรแกรมพันธมิตร' ของกูเกิลทันที ขณะที่ โฆษกของเมต้า (Meta) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก ปฏิเสธว่า “บริษัทไม่ได้ใช้ไมโครโฟนของโทรศัพท์ของผู้ใช้สำหรับการโฆษณา และได้เปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะมาหลายปีแล้ว เรากำลังติดต่อซีเอ็มจี เพื่อให้พวกเขาชี้แจงว่าโปรแกรมของพวกเขาไม่ได้กระทำดังกล่าว"

ทางด้านอเมซอน ระบุว่า แผนกโฆษณาของบริษัท "ไม่เคยร่วมงานกับ ซีเอ็มจี ในโปรแกรมนี้ และจะไม่มีแผนจะทำเช่นนั้น"

รายงานข่าวระบุว่า นอกจากนั้น การใช้ซอฟต์แวร์ 'แอคทีฟ ลิสเซนนิ่ง' ยังถูกกฎหมายด้วย เพื่อเมื่อผู้ใช้ ดาวน์โหลด หรืออัปเดต แอปพลิเคชันใหม่ ก็จะมีการแจ้งให้ผู้บริโภคทราบถึงข้อตกลงเงื่อนไขการใช้งานหลายหน้าในข้อความขนาดเล็กๆ ซึ่งจะรวมถึงการอนุญาตใช้ซอฟต์แวร์ แอคทีฟ ลิสเซนนิ่ง Active Listening ไว้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่า ทำไมการดักฟังเช่นนั้นถึงไม่ผิดกฎหมายในรัฐของสหรัฐฯ ที่มีกฎหมายห้ามบันทึกเสียงใครก็ตามโดยที่บุคคลนั้นไม่ทราบ เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย

ทั้งนี้ ซีเอ็มจี เป็นบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของอเมริกาที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย บริษัทให้บริการสื่อกระจายเสียง สื่อดิจิทัล โฆษณา และบริการทางการตลาด และสร้างรายได้ 22,100 ล้านดอลลาร์ (ราว 7.59 แสนล้านบาท) ในปี 2022

‘Amity’ เทคโอเวอร์ ‘Tollring’ ยักษ์ใหญ่ AI สัญชาติอังกฤษ ช่วยเร่งเครื่องสู่ความเป็นผู้นำด้าน GenAI ในเวทีโลก

(12 ก.ย. 67) ‘อะมิตี้ โซลูชั่นส์’ (Amity Solutions: ASOL) หนึ่งในผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สร้างสรรค์ (GenAI) ของไทย ประกาศเข้าซื้อหุ้นและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน ‘โทลล์ริง’ (Tollring) ผู้ให้บริการชั้นนำด้านการวิเคราะห์การโทรและระบบธุรกิจอัจฉริยะ มีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร

โทลล์ริง ได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการชั้นนำระดับโลกด้านโซลูชันการวิเคราะห์การโทรและระบบธุรกิจอัจฉริยะ โดยให้บริการแก่ธุรกิจกว่า 20,000 แห่งในสหราชอาณาจักร, ยุโรป, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งเฉิดฉายและมีชื่อเสียงจากการใช้เทคโนโลยีเอไอ และเจนเอไอ อย่างสร้างสรรค์ในชุดผลิตภัณฑ์ของบริษัท

‘นายกรวัฒน์ เจียรวนนท์’ ประธานกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง ASOL กล่าวว่า การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการเดินทางของ ASOL สู่การเป็น GenAI แชมเปี้ยนของไทย

“ความเชี่ยวชาญของ โทลล์ริง ในด้านระบบวิเคราะห์เสียงและการโทรด้วยเทคโนโลยี เอไอ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของเราได้อย่างลงตัว และยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของเราในตลาดนี้ได้เป็นอย่างมาก”

ดีลมูลค่าระดับหลักพันล้านบาทนี้ คาดว่าจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์สำคัญกับ ASOL เช่น เสริมแกร่งขีดความสามารถด้าน GenAI ความเป็นผู้นำตลาดของ โทลล์ริง ด้านระบบวิเคราะห์เสียงและสายโทรด้วยเทคโนโลยีเอไอ จะช่วยเป็นทั้งตัวเสริมและขยายโครงการด้าน GenAI ต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมของ ASOL

ทั้งเป็นการเพิ่มการเข้าถึงตลาดโลก การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ช่วยเสริมแกร่งให้กับกลยุทธ์ของ ASOL ไปสู่ระดับนานาชาติ โดยต่อยอดจากรายได้และกำไรที่มาจากตลาดโลกที่มีอยู่เดิมได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ การผนึกกำลังด้านผลิตภัณฑ์ ชุดผลิตภัณฑ์ของโทลล์ริงสามารถผสานรวมเข้ากับผลิตภัณฑ์ปัจจุบันของ ASOL ได้อย่างราบรื่น สร้างโอกาสในการเกิดการผสานพลังร่วมกัน (cross-synergies) ในระดับโลก ซึ่งชุดผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของโทลล์ริงช่วยติดสปีดความสามารถให้ธุรกิจต่างๆ ด้วยการมองเห็นและควบคุมการสื่อสารทางเสียงได้อย่างครอบคลุม อาศัยระบบวิเคราะห์การโทรขั้นสูง ข้อมูลเชิงลึกจากการสนทนาที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ และการผสานรวมกับแพลตฟอร์มการสื่อสารชั้นนำ องค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการโทร รับรองการปฏิบัติตามกฎระเบียบ และตัดสินใจโดยอิงจากข้อมูลเพื่อยกระดับประสบการณ์และปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า

ผลิตภัณฑ์ของ โทลล์ริง มีฟีเจอร์หลักประกอบด้วยการบันทึกและวิเคราะห์ที่ขับเคลื่อนด้วย เอไอ เพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้น การวิเคราะห์การโทรขั้นสูงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และการวิเคราะห์การทำงานร่วมกันเพื่อการจัดการทีมได้อย่างมีประสิทธิผล

ความสามารถเหล่านี้ครอบคลุมการใช้งานต่าง ๆ เช่น การบันทึกการโทร การจัดการการปฏิบัติตามกฎระเบียบ การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และการวิเคราะห์การทำงานร่วมกัน ลูกค้าของ Tollring นั้นรวมถึงองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น BT Group, KPN, Dstny, CallTower, Mitel และ NFON

‘นายโทนี่ มาร์ติโน่’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ ของ โทลล์ริง กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเดินทางของโทลล์ริง นับวันแล้วมีแต่ก้าวที่ยิ่งใหญ่ และความสำเร็จของบริษัท สร้างขึ้นบนพื้นฐานของวัฒนธรรมองค์กรที่ยอดเยี่ยม ควบคู่ไปกับกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ที่แข็งแกร่งที่บริษัทมุ่งเน้นอย่างจริงจังในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า

“เรารู้สึกตื่นเต้นมากกับการเดินทางบทใหม่ของเราในฐานะส่วนหนึ่งของ ASOL ซึ่งจะทำให้เราสามารถส่งมอบคุณค่าและขยายขนาดธุรกิจในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนให้กับลูกค้าและพาร์ตเนอร์ของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และโอกาสอันมหาศาลในอุตสาหกรรมของเรา”

อย่างไรก็ตาม ดีลครั้งนี้ส่งผลให้ ASOL มีพนักงานใหม่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 120 คน มีสำนักงานอยู่ในลอนดอนและนิวเดลี ซึ่งช่วยเพิ่มความหลากหลายให้กับกลุ่มบุคลากรที่มีความสามารถในเวทีโลก อีกทั้งยังช่วยขยายฐานการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่ การร่วมมือครั้งนี้ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของ ASOL ในด้านนวัตกรรม เร่งเครื่องสู่ความเป็นผู้นำในด้าน GenAI ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่รวมถึงในเวทีโลก

‘จอห์น ฮอพฟิลด์-เจฟฟรีย์ ฮินตัน’ คว้าโนเบลฟิสิกส์ จากการแผ้วทางหนทางสู่ยุค AI เฟื่องฟูสุดขีด

(9 ต.ค. 67) นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ จอห์น ฮอพฟิลด์ และนักวิทยาศาสตร์สหราชอาณาจักร-แคนาดา เจฟฟรีย์ ฮินตัน คือผู้ชนะรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 2024 จากการประกาศเมื่อวันอังคาร (8 ต.ค.) ด้วยผลงานการค้นพบและการประดิษฐ์คิดสร้างในเรื่องการเรียนรู้ของเครื่องจักร ซึ่งเป็นการแผ้วถางทางสำหรับความรุ่งเรืองเฟื่องฟูของปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ในเวลาต่อมา

เทคโนโลยีเอไอที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาอย่างคึกคักในเวลานี้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองมีส่วนสำคัญในการวางรากฐาน ได้รับการป่าวร้องยกย่องว่ามีศักยภาพที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับปฏิวัติกันถึงรากถึงโคนในปริมณฑลด้านต่างๆ ตั้งแต่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ล้ำยุคล้ำสมัย ไปจนถึงการบริหารจัดการที่ทรงประสิทธิผลยิ่งขึ้น แต่เวลาเดียวกันนั้น มันก็ก่อให้เกิดความหวาดกลัวว่าในอีกไม่ช้าไม่นานมนุษยชาติจะประสบความพ่ายแพ้ไม่อาจสู้ปัญญาความฉลาด และไม่อาจแข่งขันกับเจ้าเครื่องจักรคิดได้นี้แม้มันจะเป็นประดิษฐกรรมของพวกเขาเอง

ฮินตัน ซึ่งได้รับเครดิตอย่างกว้างขวางว่ามีฐานะเป็น “พ่อทูนหัว” ของเอไอ และได้กลายเป็นพาดหัวตัวโตของสื่อต่างๆ ตอนที่เขาลาออกจากงานในบริษัทกูเกิลเมื่อปีที่แล้ว โดยให้เหตุผลว่าเพื่อที่เขาจะสามารถพูดได้อย่างสบายใจมากขึ้นเกี่ยวกับอันตรายต่างๆ ของเทคโนโลยีที่เขาเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกนี้

“เราไม่มีประสบการณ์เอาเลยว่ามันจะเป็นยังไง สำหรับการที่เรามีสิ่งต่างๆ ที่ฉลาดกว่าเราอยู่ในครอบครอง” ฮินตันกล่าวทางโทรศัพท์มายังที่ประชุมแถลงข่าวรางวัลโนเบลในกรุงสต็อกโฮล์มทสวีเดน เมื่อวันอังคาร (8) ขณะเขาอยู่ในโรงแรมที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

“มันจะทำให้เกิดเรื่องมหัศจรรย์ในแง่มุมต่างๆ จำนวนมาก ในแวดวงอย่างเช่นการดูแลรักษาสุขภาพ” เป็นคำกล่าวของ ฮินตัน วัย 76 ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดในสหราชอาณาจักร แต่เวลานี้เป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณของมหาวิทยาลัยโทรอนโต แคนาดา พร้อมกันนั้น เขาก็เตือนว่า “แต่เราก็ต้องมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลพวงต่อเนื่องที่เลวร้ายหลายๆ อย่างซึ่งสามารถเกิดขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยคุกคามของการที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้กำลังเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้”

สำหรับ ฮอพฟิลด์ วัย 91 ปี ซึ่งเป็นศาสตราจารย์เกียรติคุณอยู่ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน สหรัฐฯ ราชบัณฑิตยสภาทางวิทยาศาสตร์แห่งสวีเดน ที่เป็นผู้พิจารณาตัดสินผู้ชนะรางวัลนี้ แถลงว่า เขาเป็นผู้สร้างแนวความคิดเรื่องหน่วยความจำสาระ (associative memory) ที่สามารถนำมาจัดเก็บและสร้างขึ้นมาใหม่ในรูปแบบของภาพ และรูปแบบของข้อมูลอื่นๆ

“ผู้ชนะรางวัลโนเบลในสาขาฟิสิกส์ทั้งสองคนของปีนี้ ได้ใช้เครื่องมือต่างๆ จากวิชาฟิสิกส์มาพัฒนาพวกวิธีการซึ่งกลายเป็นรากฐานของเรื่องการเรียนรู้ของเครื่องจักรซึ่งทรงพลังอย่างยิ่งในทุกวันนี้” คำแถลงของราชบัณฑิตยสภาสวีเดนระบุ

“การเรียนรู้ของเครื่องที่ยึดโยงอยู่กับโครงข่ายประสาทเทียม คือสิ่งที่เวลานี้กำลังก่อให้เกิดการปฏิวัติในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และชีวิตประจำวัน”

ขณะที่ ฮินตัน เป็นผู้ประดิษฐ์วิธีการที่สามารถค้นหาคุณสมบัติต่างๆ ในข้อมูลได้อย่างอัตโนมัติ และกระทำภารกิจต่างๆ เป็นต้นว่า การจำแนกแยกแยะส่วนประกอบพิเศษต่างๆ ที่อยู่ในรูปภาพ คำแถลงของราชบัณฑิตยสภาสวีเดนกล่าว

ถึงแม้เขาลาออกจากกูเกิล ในปี 2023 ภายหลังเกิดความตระหนักถึงความเป็นจริงที่ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถที่จะมีความฉลาดเหนือกว่ามนุษย์ได้ในช่วงเวลาที่รวดเร็วยิ่งกว่าที่เขาตลอดจนพวกผู้เชี่ยวชาญคนอื่นๆ คาดหมายกันไว้ แต่ ฮินตัน ก็บอกว่าบริษัทกูเกิลเองมีการปฏิบัติในเรื่องนี้ในแบบที่มีความรับผิดชอบอย่างยิ่ง

ฮินตันกล่าวด้วยว่า แม้เขารู้สึกสำนึกเสียใจเกี่ยวกับงานวิจัยบางส่วนของเขา แต่เขาก็กระทำออกไปเช่นนั้นโดยขึ้นอยู่กับข้อมูลข่าวสารที่เขามีอยู่ในตอนนั้น

“ในสถานการณ์อย่างเดียวกัน ผมก็จะทำอย่างเดิมอีก” เขาบอกกับที่ประชุมแถลงข่าวรางวัลโนเบล “แต่ผมก็มีความวิตกกังวลว่าผลพวงต่อเนื่องโดยรวมของเรื่องนี้อาจจะออกมาว่าระบบต่างๆ จะมีความฉลาดยิ่งกว่าเรา และเป็นฝ่ายที่กุมอำนาจควบคุมเอาไว้ในท้ายที่สุด”

จุฬาเปิดตัว 'ChulaGENIE' คู่แข่งแชทจีพีที ตั้งเป้าปีนี้เปิดให้คนทั่วไปใช้งาน

(9 ม.ค.68) ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมโดยร่วมมือกับ World Economic Forum (WEF) นำเสนอรายงาน The Future of Jobs 2025 เพื่อเสนอแนวทางรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านทักษะและอาชีพในช่วงปี 2568–2573  

นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้พัฒนานวัตกรรมใหม่ด้วยการร่วมมือกับ Google Cloud สร้างแพลตฟอร์มเจนเนอเรทีฟเอไอ (Generative AI) ภายใต้ชื่อ ChulaGENIE ที่มีความสามารถคล้ายกับ ChatGPT โดยมุ่งสนับสนุนการทำงานของบุคลากรในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มเปิดทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา  

ดร.วิเลิศ อธิบายว่า ChulaGENIE มีความพิเศษแตกต่างจากแพลตฟอร์ม AI อื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้ตอบคำถามเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถให้คำแนะนำเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องได้ด้วย ปัจจุบันการใช้งานยังจำกัดเฉพาะบุคลากรและนักศึกษาภายในจุฬาฯ แต่ในอีก 2–3 เดือนข้างหน้า มีแผนจะขยายกลุ่มผู้ใช้งานให้กว้างขึ้น โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและการยืนยันตัวตนผู้ใช้เป็นหลัก  

ในระยะยาว มหาวิทยาลัยมีแผนขยายการใช้งาน ChulaGENIE สู่ประชาชนทั่วไป พร้อมวางเป้าหมายเปิดให้บริการในรูปแบบสาธารณะภายในปี 2568 โดยมุ่งเน้นการต่อยอดแพลตฟอร์มเพื่อสร้างโอกาสการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยั่งยืน  

“ประเทศไทยไม่ควรหยุดอยู่เพียงการใช้งาน AI แต่ควรก้าวสู่การเป็นเจ้าของและผู้พัฒนาเทคโนโลยีเอง เพื่อสร้างความยั่งยืนรอบด้านและรองรับเทรนด์โลกในอนาคต” ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวทิ้งท้าย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top