Saturday, 5 April 2025
เอกชน

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” ต้อนรับ ภาคเอกชน หารือพัฒนาทักษะแรงงาน ป้อนตลาดดิจิทัล

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) คุณดนุภณ ศรีเมฆ Head of Government Affairs Garena (ประเทศไทย) และคณะ ในโอกาสเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อเยี่ยมคารวะและปรึกษาหารือถึงความร่วมมือในการพัฒนาผลักดันทักษะด้านดิจิทัลให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ โดยมี นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นาย พร้อมด้วย นายนิธิภัทร ศรีธัญญา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลากรดิจิทัล กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ห้องจัตุมงคล ชั้น 6 อาคารกระทรวงแรงงาน     

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับผู้บริหารบริษัท Sea ถึงความร่วมมือในการพัฒนาผลักดันทักษะด้านดิจิทัลให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ในวันนี้ ซึ่งในเรื่องนี้ท่านเศรษฐา ทีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับการ Up Skill กำลังแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ และในส่วนของกระทรวงแรงงาน ผมได้ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไปเทรนน้องๆ นักเรียน นักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วต้องการ Up Skill/Re Skill เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่อาชีพและให้ได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น เพราะขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวมีความต้องการแรงงานอีกมาก จึงเป็นโอกาสดีในการหารือในวันนี้ เพื่อจะให้มีแนวทางทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่เป้าหมายในการผลิตกำลังคนดิจิทัลโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ไปสู่ตลาดแรงงานต่อไป
    
ด้าน ดร.ศรุต วานิชพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส Sea (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัท Sea Limited เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกด้านการให้บริการอินเทอร์เน็ตแพลตฟอร์ม สำหรับผู้บริโภค ผู้ดำเนินธุรกิจหลัก 3 ด้าน คือ การีนา ช้อปปี้ และ ซีมันนี่ โดยบริษัทมี Sea Academy ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ 3 ด้าน คือ เกมและอีสปอร์ต อีคอมเมิร์ซ และการเงินดิจิทัล ซึ่งจากการหารือในวันนี้บริษัทขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอย่างยิ่งและยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะแรงงานคนรุ่นใหม่ที่มีความสนใจในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกม ธุรกิจอีสปอร์ต รวมถึงการจัดการการเงินและตลาดออนไลน์ ซึ่งภายหลังจากการหารือในวันนี้จะได้ประสานความร่วมมือในการพัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัลให้ตรงกับความต้องการแรงงานต่อไป 

‘กองทุนดีอี’ หนุนโครงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เดินหน้าสร้างมิติใหม่การทำธุรกรรมภาครัฐและเอกชน

กองทุนดีอี หนุนโครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) ตอบโจทย์เศรษฐกิจและสังคมยุคดิจิทัล สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย

จากแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561 - 2580) ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 4 ปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการทำงานและการให้บริการภาครัฐ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการทำงานและขั้นตอนการให้บริการที่มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการ สร้างบริการของภาครัฐที่มีธรรมาภิบาลและสามารถให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ผ่านระบบชื่อมโยงข้อมูลอัตโนมัติ การเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐที่ไม่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลและความมั่นคงของชาติผ่านการจัดเก็บ รวบรวม และแลกเปลี่ยนอย่างมีมาตรฐาน ให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และข้อมูล

อีกทั้ง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง แนวทางการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิล หรือ Digital ID ด้วยการพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service - FVS) โดยอนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการพัฒนา และจัดให้มีระบบ FVS และดำเนินการให้บริการกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน โดยให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระบบ FVS ที่กระทรวงมหาดไทยพัฒนา มีความมั่นคงปลอดภัย มีความน่าเชื่อถือ สอดคล้องตามกฎหมาย หลักเกณฑ์ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

ขณะเดียวกัน มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เรื่อง การขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e - Service) งานบริการ Agenda ที่กำหนดให้ส่วนราชการดำเนินการขับเคลื่อนฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 12 งานบริการ โดยระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) เป็น 1 ใน 12 งานบริการสำคัญการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) และ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล (Face Verification Service - FVS) เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่จะเชื่อมต่อการยืนยันตัวตนจากทุกภาคส่วนเข้ามาไว้ด้วยกัน แทนระบบเดิมที่ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องมาเผชิญหน้าและแสดงตนเพื่อยืนยันตัวตนด้วยเอกสารทางราชการ กรมการปกครอง 

จากนโยบายดังกล่าว ทางกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) จึงได้ดำเนินการสนับสนุนงบประมาณในโครงการจัดหาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และระบบเปรียบเทียบภาพใบหน้า (Face verification System) โดยทางกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

สำหรับโครงการนี้ จะเป็นการสร้างมิติใหม่ในการทำธุรกรรมภาครัฐและเอกชน ที่มีความสะดวกรวดเร็ว ผ่านช่องทางดิจิทัลและมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ลดความเสี่ยงในการแอบอ้างหรือปลอมแปลงตัวตน ในกระบวนการยืนยันตัวตนตามระบบเดิม ขณะเดียวกัน ยังเป็นการสนับสนุนการบริการประชาชนในภาครัฐและเอกชนที่จะต้องปรับตัวและวิธีการตอบสนองการบริการแนวใหม่ที่ไม่ต้องเผชิญหน้าหรือมีการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ในส่วนของประชาชนที่ต้องการใช้สิ่งแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล จำนวน 60 ล้านคน และในส่วนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีบริการออนไลน์ที่ต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล จำนวน 200 หน่วยงาน

ทั้งนี้ ในส่วนของประโยชน์ที่จะได้รับนั้น ในส่วนของประชาชนจะมีบัญชีผู้ใช้งาน (Digital ID) ที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูงได้โดยสะดวก และสามารถนำไปใช้ในการเข้าถึงข้อมูล และบริการต่าง ๆ ของรัฐได้ (Single Account) ขณะที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถนำระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID) ที่มีระดับความน่าเชื่อถือ มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ดี มีระดับความมั่นคงปลอดภัยสูง สอดคล้องกับกฎ ระเบียบ และมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปใช้ในการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital Service) ของหน่วยงานตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสามารถผลักดันประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

'ผลสำรวจ' ชี้!! 'เอกชน' จ่อขึ้นราคาสินค้า 15% ภายใน 1 เดือน หลังรัฐขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท ซวยแรงงานเสี่ยงตกงานอื้อ

เมื่อวานนี้ (29 เม.ย. 67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า เปิดเผยว่า ผลการสำรวจทัศนคติของเอกชนทั้งภาคการผลิต การค้า และบริการต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วันภายในปี 2567 ว่าการขึ้นค่าแรงจะช่วยผลักดันให้ GDP โตขึ้น สามารถกระตุ้นกำลังซื้อ การผลิตและการลงทุนให้เพิ่มขึ้น แต่ค่าแรงที่สูงขึ้นอาจจูงใจให้นายจ้างลงทุนในการพัฒนาทักษะและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตของแรงงานมากขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า หากค่าแรงเพิ่มเร็วเกินไป นายจ้างอาจปลดพนักงานหากรับมือต้นทุนไม่ไหว กระทบกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งต้นทุนค่าแรงอาจถูกผลักไปที่ราคาสินค้าทำให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น และหากไม่ลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ต้นทุนที่สูงขึ้นอาจมีผลทำให้ขีดความสามารถแข่งขันลดลง ซึ่งส่งผลเสียในระยะยาว

“จากผลการสำรวจพบว่าเอกชนส่วน ใหญ่ 64.7% บอกว่าเตรียมจะปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ และอีก 35.3% บอกว่าจะไม่ปรับราคาสินค้า โดยหากปรับจะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 15% ขึ้นไป โดยจะปรับราคาภายใน 1 เดือนต่อจากนี้ ส่วนคนที่ไม่ปรับราคานั้นจะใช้วิธี ปรับลดปริมาณสินค้า หรือลดต้นทุนอื่น ๆ รวมถึงลดจำนวนแรงงานแทน”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการกังวลว่าจะมีภาระต้นทุนของธุรกิจสูงขึ้น แต่ทักษะการทำงานของลูกจ้างยังคงเท่าเดิม ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นก็จริง แต่ภาระต้นทุนอื่น ๆ ของการทำธุรกิจสูงขึ้น เช่นเดียวกัน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้าจะผลกระทบนอกจากความสามารถในการแข่งขันแล้ว โดยรวมแล้วผู้ประกอบการ 72.6% ยังคงเห็นว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท ยังไม่มีความเหมาะสม และยังมองว่าค่าจ้างแรงงานที่เหมาะสมควรจะอยู่ที่ 370 บาทต่อวัน

นายธนวรรธน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแรงงาน หรือผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ในกรณีที่ไม่สามารถปรับเพิ่มค่าแรงตามที่คาด ซึ่งส่วนใหญ่ 65.3% ขอเพียงให้เพิ่มเท่ากับค่าสาธารณูปโภคที่เพิ่มสูงขึ้น รองลงมาขอให้เพิ่มเท่ากับค่าเดินทาง เพิ่มเท่ากับค่าราคาอาหาร เพิ่มเท่ากับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และเพิ่มเท่ากับค่าเช่าที่อยู่อาศัย และผลจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งแรงงานกว่า 60.8% ไม่สามารถรับได้

ทั้งนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องค่าแรงหรือค่าครองชีพ คือ ช่วยเหลือค่าครองชีพกลุ่มเปราะบาง กระตุ้นเศรษฐกิจแรงงานจะได้มีรายได้เพิ่ม ให้นายจ้างช่วยค่าอาหาร ช่วยเหลือให้เงินอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาคให้แรงงานกลับถิ่น และมีสวัสดิการค่าเดินทางให้กับแรงงานรายได้น้อย นอกจากนี้ แรงงานยังกังวลเรื่องตกงาน และมีความเสี่ยงจากการไม่มีเงินเก็บซึ่งสัดส่วนถึง 81.3% จะสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน

'กนอ.' เปิดรับฟังความเห็น 'เอกชน' หวังกระชับความต้องการนักลงทุนตรงจุด ก่อนเปิดรับการลงทุนระลอกใหม่ ท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 ช่วงที่ 2 ในปี 69

(4 ก.ค. 67) นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การจัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นจากภาคเอกชนในโครงการทบทวนรายงานการศึกษา และวิเคราะห์โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ และความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดย กนอ. เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุน นำความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม และเกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ 

ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อทบทวนการศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ ที่ กนอ. จัดทำไว้แล้ว ให้เหมาะสมกับความต้องการในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต ก่อนเสนอให้ กนอ. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการนำเสนอหลักการที่ต้องการเปลี่ยนแปลง รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่อหลักการเดิมของโครงการฯ ที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบไว้ต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)

ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของธุรกิจหรือกิจการของภาคเอกชนในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และลักษณะทางกายภาพของสภาพพื้นที่ของโครงการฯ

นายคณพศ ขุนทอง รองผู้ว่าการ (ปฏิบัติการ 3) กล่าวว่า การจัดสัมมนา Market Sounding ครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้แสดงความคิดเห็น และเสนอแนะความต้องการที่จะพัฒนาโครงการ ประกอบด้วย พื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร ซึ่งหลังจากได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว จะนำไปวิเคราะห์รูปแบบการประกอบธุรกิจ รวมถึงรายละเอียดต่างๆ ที่สำคัญ และเกี่ยวข้องกับการเข้าร่วมยื่นข้อเสนอการลงทุนโครงการอย่างเหมาะสมต่อไป

นายปมุข เตพละกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายปฏิบัติการ 3 กล่าวเสริมว่า โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งการพัฒนาโครงการเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วยงานขุดลอกร่องน้ำ งานถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ และลงทุนธุรกิจท่าเทียบเรือก๊าซ 200 ไร่ กนอ. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด หรือ GMTP เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562 ระยะเวลาสัมปทานทั้งสิ้น 35 ปี

โดย กนอ. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 12,900 ล้านบาท และให้บริษัท GMTP ลงทุนท่าเทียบเรือก๊าซ 35,000 ล้านบาท ปัจจุบัน มีความก้าวหน้าการดำเนินงานไปแล้วกว่า 84% พร้อมเปิดให้บริการในปี 2569 ส่วนการดำเนินงานในช่วงที่ 2 กำลังอยู่ระหว่างทบทวนผลการศึกษาสำหรับการพัฒนาพื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ประกอบด้วยพื้นที่หลังท่าเทียบเรือ 350 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร 

รายงานข่าวระบุว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการรวมที่ 6.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 5.2 หมื่นล้านบาท และภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท

สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยจัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางจิตและการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนรุ่นที่ 5 ภาคตะวันออก

เมื่อวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2567 นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงานโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางจิต 
และการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รุ่นที่ 5 ภาคตะวันออก พร้อมด้วย นางนุชจารี คล้ายสุวรรณ  นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย / กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย กรรมการภาคตะวันออกผู้แทนตำรวจภูธรภาค 2 ผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัดนครนายกผู้แทนจากหน่วยงานสาธารณสุข ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกผู้แทนจากกรมสุขภาพจิต และผู้มีเกียรติ ร่วมงานระหว่าง วันที่ 5 – 7 สิงหาคม 2567 ณ ห้องประชุมโรงแรมที วินเทจ ต.ท่าทองหลาง อ.บางคล้า  จ.ฉะเชิงเทรา

นายกำพล สิริรัตตนนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่าจากคำกล่าวรายงานของ น.ส.ฐิติพร  พริ้งเพลิด  อุปนายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย คนที่ 2 ทำให้ทราบถึงความเป็นมา และวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางจิตและการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนในวันนี้ 

ซึ่งต้องการให้ผู้เข้าร่วมงานทุกท่าน ได้รับความรู้ มีความเข้าใจ ในเรื่องสิทธิด้านต่างๆ สำหรับคนพิการ โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูง ต่อการก่อความรุนแรง และการฆ่าตัวตาย รวมทั้ง เน้นให้เห็นความสำคัญของครอบครัว เพื่อลดความรุนแรง รวมทั้งเพื่อให้ได้แนวทางและขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางจิตอย่างถูกวิธี ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต และพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ

น.ส.ฐิติพร พริ้งเพลิด อุปนายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย คนที่ 2 กล่าว โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางจิตและการบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน รุ่นที่ 5 ภาคตะวันออก จัดขึ้น เพื่อให้เกิดแกนนำเครือข่ายภาคปฏิบัติ ที่มีความรู้ความเข้าใจขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางจิตเมื่ออยู่ในภาวะต่างๆได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และทันเหตุการณ์ เพื่อให้ได้แนวทาง และขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือคนพิการทางจิตอย่างถูกวิธี ตามพระราชบัญญัติสุขภาพจิต และ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จากการทำแผนงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลาง สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย  ก่อตั้งเมื่อวันที่  27  มีนาคม  2546 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา  21 ปี

การจัดโครงการฯในวันนี้ จะดำเนินการระหว่างวันที่  5 – 7 สิงหาคม 2567 โดยจะมีการจัดกิจกรรมทั้งหมดจำนวน 5 รุ่น แบ่งเป็น รุ่นที่ 1 ภาคเหนือ จำนวน 140 คน รุ่นที่ 2 ภาคกลาง จำนวน 139 คน รุ่นที่ 3 ภาคอีสาน จำนวน 154 คน รุ่นที่ 4 ภาคใต้ จำนวน 117 คน  และรุ่นที่ 5 ภาคตะวันออก จำนวน 76 คน รวมกลุ่มเป้าหมายทั้งโครงการจำนวน 626 คน 

โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 5 ภาคตะวันออก ประกอบด้วยคณะกรรมการภาคตะวันออกหรือผู้แทน คณะกรรมการและกรรมการที่ปรึกษาสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน ที่ปรึกษาสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย ผู้แทนตำตรวจภูธรภาค 2 และผู้แทนตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก ผู้แทนจากหน่วยงานสาธารณสุขในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกผู้แทนจากกรมสุขภาพจิต ผู้สังเกตการณ์ วิทยากรและคณะทำงาน รวมจำนวน  76 คน  

มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ จับมือแรงงาน น่าน และภาคเอกชน มอบถุงยังชีพช่วยผู้ประสบอุทกภัย

(1 ก.ย.67) นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ ประธานมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ พร้อมด้วย นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มไทยสมายล์บัส เจ้าหน้าที่กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ กลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ จำนวน 300 ชุด เพื่อช่วยเหลือและเยี่ยมให้ขวัญกำลังใจแก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน

โดยมี นายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน นางสาวจำลองลักษณ์ ก่ายแก้ว แรงงานจังหวัดน่าน พร้อมหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดน่าน นายอำเภอเชียงกลาง และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ณ ที่ว่าการอำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน

นางเธียรรัตน์ กล่าวว่า มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์ กระทรวงแรงงาน กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ กลุ่มไทยสมายล์กรุ๊ป และพลังเครือข่ายภาคเอกชนมีความห่วงใยต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนที่ประสบอุทกภัย ในวันนี้มูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์จึงได้นำสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท สหพัฒนพิบูลย์ จำกัด บริษัท ไบ่ลี่ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด บจก. คิงส์แพ็ค อินดัสเตรียล บริษัท ไทย สมายล์ บัส กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (E@) และเครือข่ายภาคเอกชน ที่ได้ร่วมบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค อาทิ ข้าวสาร น้ำดื่ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ข้าวโอ๊ต โจ๊กคัพ โดนัท อาหารแห้ง เป็นต้น มามอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดน่าน รวมทั้งมูลนิธิยังได้มอบเรือท้องแบน จำนวน 6 ลำ เพื่อมอบให้กับทางจังหวัดน่านไว้ใช้ประโยชน์ในการนำไปช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานน่าน ยังได้ให้บริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และซ่อมรถจักรยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากอุทกภัยแก่ประชาชนอีกด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top