Tuesday, 22 April 2025
เหล็กเคลือบ

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน ‘สมอ.’ คุมเข้มมาตรฐานนำเข้าเหล็กเคลือบ ปิดช่องเหล็กด้อยคุณภาพ สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน

(23 ก.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์เหล็กในประเทศอย่างใกล้ชิด พบว่ามีการนำเข้าเหล็กเคลือบ ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี ที่มีราคาถูกจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหล็กที่มีคุณภาพต่ำ และไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน และสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็กเคลือบภายในประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าได้ 

นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบดังกล่าวไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ตนจึงได้สั่งการให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เร่งดำเนินการควบคุมเหล็กเคลือบทุกประเภทที่จำหน่ายในท้องตลาดโดยเร็ว เพื่อสกัดกั้นเหล็กเคลือบที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและอุตสาหกรรมภายในประเทศ 

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า จากการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้ สมอ. ควบคุมผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ 

1) เหล็ก PPGI หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 

2) เหล็ก PPGL หรือ เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสีโดยกรรมวิธีจุ่มร้อนและเคลือบสี 

3) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 2% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 

4 ) เหล็กกล้าทรงแบนเคลือบสังกะสีผสมอะลูมิเนียม 0.5% ขึ้นไป และแมกนีเซียม 0.4% ขึ้นไป โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน 

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่น ๆ อีก จำนวน 122 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก เครื่องซักผ้า เครื่องสูบของเหลว เต้ารับเต้าเสียบสำหรับงานอุตสาหกรรม ระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ระบบบันทึกการขับขี่รถยนต์ น้ำยางข้นธรรมชาติ ปุ๋ยอินทรีย์จากขยะชีวภาพ ถั่วลันเตากระป๋อง และมาตรฐานวิธีทดสอบต่าง ๆ 

รวมทั้ง เห็นชอบมาตรฐานที่ สมอ. จะจัดทำเพิ่มเติมในปีนี้อีกจำนวน 192 มาตรฐาน เช่น มาตรฐานเครื่องดับเพลิงแบบยกหิ้วชนิดฮาโลคาร์บอน เจลกันยุงนาโน ชุดทดสอบฟอร์มาลินแบบกระดาษ และกันชนหรือชิ้นส่วนที่ป้องกันอุปกรณ์ด้านหน้าและด้านหลังยานยนต์ เป็นต้น รวมเป็นมาตรฐานที่ สมอ. ตั้งเป้าจัดทำในปีนี้ จำนวน 1,450 มาตรฐาน

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมอ. มิได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมทั้งได้ประชุมหารือร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเหล็กทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งหลังจากที่บอร์ดมีมติเห็นชอบมาตรฐานเหล็กเคลือบทั้ง 4 มาตรฐาน แล้ว สมอ. จะเร่งดำเนินการให้เป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยประชาชนและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ 

ปัจจุบัน สมอ. ประกาศใช้มาตรฐานเหล็กจำนวน 213 มาตรฐาน เป็นสินค้าควบคุมจำนวน 22 มาตรฐาน และเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจจำนวน 191 มาตรฐาน นอกจากการดูแลประชาชนและอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว ด้านการค้าระหว่างประเทศ สมอ. ในฐานะผู้แทนประเทศไทยในคณะทำงานด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (EU) ได้แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการส่งออกเหล็กของไทยได้ทราบถึงความคืบหน้าของมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ ‘มาตรการ CBAM’ (Carbon Border Adjustment Mechanism) ซึ่งเป็นการกำหนดค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าที่เข้ามาใน EU โดยอ้างอิงตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า 

สำหรับสินค้า 6 กลุ่มแรกที่มีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูงในกระบวนการผลิต ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า ซีเมนต์ ปุ๋ย อะลูมิเนียม ไฟฟ้า และไฮโดรเจน โดยในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ผู้นำเข้ามีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลปริมาณสินค้าที่นำเข้าและการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2569 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับให้ผู้นำเข้าต้องรายงานตามปริมาณจริงของการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต 

ทั้งนี้ สมอ. อยู่ระหว่างการหารือกับผู้แทน EU เพื่อให้ยอมรับรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตที่ออกโดยหน่วยตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจก ซึ่ง สมอ. จะแจ้งความคืบหน้าของการหารือดังกล่าวให้ผู้ประกอบการทราบเป็นระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการดังกล่าวต่อไป เลขาธิการ สมอ. กล่าว

'รมว.ปุ้ย' เสนอบังคับ 'มาตรฐานเหล็กเคลือบ' ผ่าน ครม. ฉลุย หลังประชาชนร้อง!! 'เหล็กเคลือบห่วย' เต็มท้องตลาด

(31 ก.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันให้มีการบังคับใช้มาตรฐานเหล็กเคลือบ ทั้งเคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม และเคลือบสี หลังจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า มีการจำหน่ายเหล็กเคลือบไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาด จึงได้เร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการบังคับใช้มาตรฐานโดยเร็ว เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน และปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กเคลือบคุณภาพต่ำเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักร สร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่นำเหล็กเคลือบไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นอย่างมาก 

โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวง จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนเคลือบอะลูมิเนียม 55% ผสมสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. … และร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเหล็กกล้าทรงแบนรีดเย็นเคลือบสังกะสี โดยกรรมวิธีจุ่มร้อน ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. … ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนพฤษภาคม 2568  

นอกจากนี้ ครม. ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์แบบจุดระเบิดด้วยประกายไฟ ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง และควบคุมการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิด โดยใช้กลไกของกฎหมายในการควบคุมและกำกับดูแล เพื่อยกระดับมาตรฐานมลพิษทางอากาศที่เกิดจากยานยนต์ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากล (ยูโร 6) และพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ให้มีศักยภาพสูงขึ้น รวมทั้งเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนในด้านสุขภาพการได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ โดยมาตรฐานดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจาก ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงทั้ง 3 ฉบับแล้ว สมอ. จะเร่งจัดทำกฎกระทรวง เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนาม และนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้ ผู้ทำ ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กเคลือบและรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินดังกล่าว จะต้องขอรับใบอนุญาตทำ นำเข้าจาก สมอ. ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ สำหรับความคืบหน้าของการบังคับใช้มาตรฐานยูโร 6 ของรถยนต์ประเภทอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ สมอ. ได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ และหน่วยงานภาครัฐ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์เตรียมความพร้อมและวางแผนการผลิตรถยนต์ตามกรอบระยะเวลาต่อไป  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top