Wednesday, 9 April 2025
เลือกตั้งอบจ

กรรมาธิการวุฒิสภา 'ยัน' พรบ.ประชามติ 2 ชั้น ค้านไม่เอาเงื่อนไขการเลือกตั้ง อบจ.เงื่อนไขรับฟังประชามติ ปชช. ทางออกตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภา

นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า จากการประชุมนัดสุดท้ายของ สว.ในการพิจารณา พรบ.ประชามติ ยังมีหลายประเด็นที่คณะกรรมาธิการพบว่าจำเป็นต้องมีการทบทวนแก้ไข  จึงไม่ควรเอาเงื่อนไขของเวลาการเลือกตั้ง อบจ.ในเดือน ก.พ.68 เป็นเงื่อนไขในการรับฟังประชามติประชาชนได้ โดยเหตุผลประหยัดงบประมาณ

นายไชยยงค์ฯ ยังเปิดเผยว่า มีถ้วนคำฟุ่มเฟื่อย และมาตรา 13 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของ พรบ.ประชามติ หากปล่อยไปโดยไม่มีการทบทวนหรือแก้ไขจะเป็นปัญหาตามมา เนื่องจากต้องนำไปใช้กับโครงการใหญ่ที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและประโยชน์ของประเทศ  ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ โครงการก่อสร้างเขื่อน  ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน บ่อนกาสิโน โรงงานกำจัดขยะ

“ในการแก้การออกเสียงประชามติเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและเป็นผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนดังนั้น หากกำหนดให้การออกเสียงประชามติถือเอาเพียงเสียงข้างมากของผู้ออกเสียงอาจจะไม่สามารถสะท้อนความเห็นหรือเจตจำนงที่แท้จจริงของประชาชนทั้งประเทศได้”

นายไชยยงค์ฯ นังเปิดเผยต่ออีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้การทำประชามติทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ต้องใช้เกณฑ์เสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้นทั้งหมดกับทุกกรณี ก็อาจจะเป็นเคร่งครัดจนเกินไป อาจทำให้การออกเสียงประชามติเรื่องอื่น ๆ เกิดขึ้นได้ยาก เช่นการจัดโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน การจัดคาสิโน การทำเหมืองแร่ จึงเห็นสมควรกำหนดคะแนนเสียงที่จะถือว่าเป็นข้อยุติในการออกเสียงเป็น 2 รูปแบบ โดยเทียบเคียงการจำแนกรูปแบบการออกเสียงตามมาตรา 9 มาตรา 30 และมาตรา 31

นายไชยยงค์ฯ เปิดเผยอีกว่า รูปแบบที่ 1 การออกเสียงเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 9 (1)และ(2) ซึ่งเป็นผลกระทบต่อประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงควรใช้เกณฑ์คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้นตามกฎหมายปัจจุบัน

"รูปแบบที่ 2 การออกเสียงกรณีคณะรัฐมนตรีเห็นสมควร หรือตามที่กฎหมายกำหนด หรือรัฐสภาเห็นสมควร หรือประชาชนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 9 (2 ) (3 )(4 )และ(5 )สามารถผ่อนคลายจำนวนที่จะถือว่าได้ข้อยุติจากเกณฑ์คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง 2 ชั้น เป็นคะแนนเสียงข้างมากธรรมดาได้ จึงให้มีการตั้งกรรมาธิการร่วม 2 สภาเพื่อหาทางออก ส่วนมาตราอื่นๆนั้นแก้ไขคำที่ฟุ่มเฟือยเท่านั้น"

เชียงราย-สนาม อบจ.เชียงรายเดือด 2 ตัวเต็ง 'สลักจฤฎดิ์ - อทิตาธร' ลงชิงชัยสมัคร นายก อบจ.และนำทีมผู้สมัคร ส.อบจ.เชียงราย คึกคัก สะพัดข่าว 'ทักษิณ' จะลงพื้นที่ปราศรัยช่วยทีมผู้สมัครของ 'พรรคเพื่อไทย' เร็ว ๆ นี้

(23 ธ.ค. 2567) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดเชียงราย ได้ทำการเปิดรับสมัครรับเลือกตั้ง นายก และสมาชิก สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) เชียงราย ขึ้นเป็นวันแรก ณ อาคารคชสาร สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย อ.เมืองเชียงราย โดยมีผู้สมัครและบรรดากองเชียร์ล้นหลาม ซึ่งจะเปิดรับสมัครตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ทุกวันไปจนถึงวันที่ 27 ธ.ค.2567 และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2568 นี้ โดยมีนายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมสังเกตการณ์รับสมัคร ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

สำหรับบรรยากาศในวันแรกตั้งแต่ช่วงเช้าพบว่ามีผู้สมัครรายสำคัญ 2 คน คือ นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ.เชียงราย ที่พึ่งหมดวาระและได้ประกาศลงสมัครในนามอิสระ กับนางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช อดีตนายก อบจ.เชียงราย ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ได้เดินทางไปสมัครก่อนเวลาพร้อมกันโดยไม่มีผู้สมัครรายอื่น ท่ามกลางผู้สนับสนุนกองเชียร์ของแต่ละฝ่ายที่พากันไปเชียร์อย่างคับคั่ง เรียกเสียงฮือฮาเต็มด้านหน้าอาคารรับสมัครกันอย่างเนืองแน่น เมื่อผู้สมัครเดินทางไปก่อนเวลาพร้อมกันทำให้ทาง กกต.จัดให้มีการจับสลาก ผลปรากฏว่า นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ได้หมายเลข 1 ทำให้ นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ได้หมายเลข 2 ไปโดยปริยาย ภายหลังจากแต่ละคนได้รับหมายเลขทำให้บรรดากองเชียร์ต่างพากันตะโกนหมายเลขและชูป้ายสนับสนุนผู้สมัครของแต่ละฝ่ายกันอย่างคึกคัก 

ขณะที่บรรดาผู้สมัครเป็นสมาชิก ส.อบจ.เชียงราย ของทั้ง 2 ฝ่าย ต่างก็เดินทางไปสมัครครบทั้ง 36 เขตเลือกตั้งใน 18 อำเภอ โดยพร้อมเพียงกันด้วย

ทั้งนี้ นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ประกาศนโยบาย คือการกระจายเครื่องจักรกลไปสู่พื้นที่ทางการเกษตร เส้นทาง แหล่งน้ำและป้องกันแก้ไขสาธารณภัย,ส่งเสริมอาชีพและรายได้ สร้างนักขายออนไลน์ประจำตำบล เยาวชน วัยกลางคน ผู้สูงอายุในสโลกแกน 'อยู่ที่ไหนก็ขายได้' จากสวนสู่ครัวจากบ้านสู่ผู้ซื้อ,ส่งเสริมการศึกษาอยู่ที่ไหนก็เรียนได้,ส่งเสริมสุขภาพ 'อยู่ที่ไหนก็ใกล้หมอ' สุขภาพดีได้ด้วยโฮงยาใกล้บ้าน PLUS สร้างสุขภาพด้วยการพบหมอออนไลน์และระบบรักษาพยาบาลทางไกล,ส่งเสริมการท่องเที่ยวอยู่ไหนก็เที่ยวได้ เที่ยวเชียงรายได้ทั้งปีมีดีทุกอำเภอ มหกรรมไม้ดอกกระจายทุกอำเภอ ยกระดับสถานที่ท่องเที่ยวทุกอำเภอ,และด้านความปลอดภัยโดยมีศูนย์บริหารจัดการภัยพิบัติแบบเบ็ดเสร็จ อยู่ที่ไหนก็ปลอดภัยได้ ฯลฯ

ส่วนทางด้าน นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ยังคงแจ้งนโยบายหลัก 5 ข้อ คือนโยบาย TONY Brand ผลักดันสินค้าและบริการเชียงรายสู่แบรนด์ระดับโลก ส่งเสริมสินค้าเกษตรปลอดภัย และเทศกาลนานาชาติ,จัดตั้งศูนย์โดรนการเกษตรประจำตำบล 124 ตำบล พร้อม '1 ตำบล 1 นักบินโดรน' ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และแก้ปัญหาไฟป่า,จัดตั้งศูนย์บาดาลการเกษตรทุกตำบลเพื่อให้มีแหล่งน้ำเพียงพอและประหยัดพลังงาน,ถนนเศรษฐกิจวัฒนธรรมรอบสถานีรถไฟ 18 แห่ง ส่งเสริมการค้าชุมชน และจัดระบบขนส่ง EV Cars เชื่อมโยงสถานีรถไฟ อ.เมือง-มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง-อ.แม่จัน-อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน,ทุ่งนาสนามกอล์ฟและ Homestay Agrotourism พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสร้าง Homestay ทุกตำบล 

ทั้งนี้ ยังมีรายงานข่าวอย่างไม่เป็นทางการว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย มีกำหนดการจะเดินทางไปปราศรัยสนับสนุน  นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ในพื้นที่ อ.เทิง และ อ.เชียงของ ในวันที่ 5 ม.ค.2568 ซึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของ นางอทิตาธร คาดว่าจะมีผู้ไปฟังปราศรัยอย่างหนาแน่น ภายหลังมีการวีดีโอพิเศษสนับสนุนผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไทย เมื่อวานนี้อีกด้วย

‘สาธิต’ โพสต์เฟซ!! ขอบคุณทุกคะแนนเสียง ที่สนับสนุน ‘อาช้าง ปิยะ ปิตุเตชะ’ ลั่น!! เดินหน้าทำงาน ให้เป็นรูปธรรม ก่อประโยชน์ ให้เกิดกับ ‘คนระยองบ้านเรา’

(2 ก.พ. 68) นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดระยอง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ขอบคุณ ‘คนระยอง’ ที่ลงคะแนนให้ ‘อาช้าง ปิยะ ปิตุเตชะ’ กว่า 1.6 แสนคะแนน โดยได้ระบุว่า …

ขอกราบขอบพระคุณพี่น้องชาวจังหวัดระยอง

ทุกท่านที่ออกมาใช้สิทธิ เลือกตั้ง นายก อบจ. และ ส.อบจ. เมื่อวานนี้ 1 ก.พ. 68 

ทุกท่านที่ลงคะแนนให้ อาช้าง ปิยะ ปิตุเตชะ กว่า 1.6 แสนคะแนน ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม

ทุกท่านที่สนับสนุนช่วยเหลือบอกต่อในสิ่งที่เป็นจริง และเชื่อในในการทำงานทางการเมือง และผลงานที่เป็นรูปธรรม ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับ คนระยองบ้านเรา มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ด้านเดียว แต่ยังไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ 

ขอบคุณพรรคประชาชน(ก้าวไกล) ที่เน้นตั้งความหวังให้ความสำคัญจังหวัดระยองเป็นพิเศษ เพราะผมเชื่อในหลักการ แข่งขันเสรี และมีมาตรฐาน สร้างประโยชน์ผู้ได้รับประโยชน์คือประชาชนคนระยอง 

ขอขอบคุณนักวิชาการ นักวิเคราะห์วิจารณ์ที่ฟันธงให้พรรคประชาชนชนะในจังหวัดระยอง รวมทั้งอีกหลายจังหวัด ทำให้ทีมงานเราทำงานแบบไม่หยุดไม่หย่อน ในการนำผลงานความจริงเข้าสู้กับการด้อยค่า ทางเดียว

และที่สำคัญ ขอบคุณทีมงานทุกคนที่ทำงานอย่างหนักทั้ง ออนไลน์ ออฟไลน์ เพื่อข้อมูลที่เป็นจริงไปสู่ประชาชนคนระยอง 

‘ทักษิณ’ สิ้นมนต์ขลัง!! ‘ฝั่งน้ำเงิน’ ขึ้นผงาด ‘ผู้กองธรรมนัส’ เดินเกมพลาด!! ปรากฏการณ์!! สมานฉันท์การเมือง ‘สิงห์บุรีโมเดล’ ด้วยท่าที ‘ถ้อยทีถ้อยอาศัย’

(3 ก.พ. 68) ณ เวลานี้ ถึงแม้ว่า ผลการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายกฯ อบจ. 2568 ทางกกต. ยังไม่ประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ แต่จากการนับคะแนนนั้น ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า ‘ใครแชมป์ – ใครชวด’ 

การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นที่จับตามองของทางหลายๆ ฝ่าย เรียกได้ว่าเป็นการวัดพลังกัน ระหว่าง บ้านใหญ่,บ้านใหม่,กระแสพรรค,ความกว้างขวางของตัวผู้สมัคร ฯลฯ 

แน่นอนว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่ก็ย่อมจะส่งผลไปยัง การเมืองในระดับชาติ เพราะพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งในฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ก็ส่งผู้สมัครกันหลายคน ทั้งแบบอิสระไม่ระบุพรรค แต่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งจังหวัดก็รู้ดีว่า ‘คนนี้ เป็นคนของใคร’ 

และอีกแบบที่ ลงในนามพรรค เปิดหน้าสนับสนุน ถึงขั้นลงทุนเดินทางไปปราศรัยด้วยตัวเอง อย่างเช่นกรณีของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ขึ้นเดินสายขึ้นเวที ปลุกกระแสมวลชน หวังโกยคะแนน ให้เพื่อไทย แลนด์ไสด์ ในศึกครั้งนี้

แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น ดูเหมือนว่า ‘ทักษิณ’ จะสิ้นมนต์ขลังเสียแล้ว

จากข้อมูลที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รวบรวมไว้ ในจังหวัดที่ ทักษิณ ได้ไปขึ้นเวทีจับไมค์ ปรากฏว่า  

1. เชียงราย   แพ้ (แพ้ตระกูลวันไชยธนวงศ์)

2. เชียงใหม่  ชนะ (ฉิวเฉียด)

3. ลำปาง  ชนะ (เครดิต ตระกูลโล่ห์สุนทร)

4. ลำพูน แพ้ (ส้ม ชนะ ตระกูล วงศ์วรรณ)

5. นครพนม  ชนะ (ชนะตระกูล โพธิ์สุ)

6. บึงกาฬ  แพ้ (แพ้ตระกูล ทองศรี)

7. หนองคาย  ชนะ (ล้มแชมป์เก่าได้)

8. มหาสารคาม  ชนะ (เครดิต ตระกูล จรัสเสถียร ล้มแชมป์เก่า)

9. ศรีสะเกษ  แพ้ (ไล่หนู ตีงูเห่า แต่แพ้ตระกูล ไตรสรณกุล)

10. มุกดาหาร แพ้ (มีกำหนดการหาเสียงแต่ไม่ไป)

สรุป 10 จังหวัด แพ้ 5 จังหวัด ในจังหวัดที่ชนะ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องบารมีนักการเมืองในพื้นที่และบ้านใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งติดกับเชียงใหม่ ฐานเสียงหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง ‘ทักษิณ’ เองก็หมายมั่นปั้นมือที่จะให้ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายกฯ อบจ. ตัวแทนบ้านใหญ่ จากพรรคเพื่อไทย เข้าครองเก้าอี้นี้ อีกหนึ่งสมัย แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยินให้กับ นายวีระเดช ภู่พิสิฐ ผู้สมัครนายกฯ อบจ. จากพรรคประชาชน

ส่วนที่ ‘เชียงใหม่’ แม้ชนะ  แต่ ‘ส้ม’ ไล่จี้!! หลักสามแสน ‘ชนะแค่สองหมื่น’ ไม่ถือว่าสำเร็จ!! 

ส่วนทางฝั่ง ‘สีน้ำเงิน’ นั้น หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการปฏิบัติงานด้วยการสวมหมวก ‘มท.1’ นั้น ‘มท.หนู’ ย่อมต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่สามารถออกไปสนับสนุนผู้สมัครคนใดได้ เนื่องจากการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจนั้น กระทรวงมหาดไทย จะต้องมีส่วนเข้าไปกำกับดูแล ‘องค์การบริหารส่วนจังหวัด’ หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือ ‘มท.หนู’ นั้นจะต้องมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับ นายกฯ อบจ. ฉะนั้นการวางตัวเป็นกลางของ ‘มท.หนู’ ย่อมเหมาะสมแล้ว

แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ออกตัวสนับสนุนผู้สมัคร แต่ด้วยพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีเครือข่ายมากมาย ในคอนเน็คชั่นบ้านใหญ่หลายจังหวัด จึงทำให้ครองแชมป์ได้ในหลายพื้นที่ ทั้ง บึงกาฬ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สตูล เชียงราย ลพบุรี พังงา พัทลุง เป็นต้น ทั้งที่พรรคภูมิใจไทยประกาศไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ในนามพรรคก็ตาม

ส่วน ‘พรรคกล้าธรรม’ ของ ‘ผู้กองธรรมนัส’ ที่อุตส่าห์ ไปดึงนายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว หรือ กำนันศักดิ์ อดีตนายกฯ อบจ.สุราษฎร์ธานี สมัยที่ผ่านมา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ งานนี้ เพราะผู้กองมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีจาก ‘คดีแป้ง’ จึงทำให้ไม่กล้าเปิดหน้า ว่าส่งในนาม ‘พรรคกล้าธรรม’ ซึ่งสุดท้ายแล้ว นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว ก็พ่ายแพ้ให้กับ ‘ป้าโส’ นางโสภา กาญจนะ ภรรยานายชุมพล กาญจนะ แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติภาคใต้ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นกว่า 205,000 คะแนน 

ซึ่งงานนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ก็ยังมีฐานเสียงที่เหนียวแน่นในภาคใต้ โดยนอกจากที่จ.สุราษฎร์ธานี จะชนะขาดแล้ว ที่จ.พัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร ก็ยังคว้าแชมป์ ไม่เสียแรงที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นเวทีให้กำลังใจ คล้องพวงมาลัย ให้แก่นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร และลูกทีมผู้สมัครสมาชิก อบจ.พัทลุง

มาที่จังหวัดนราธิวาส กับความผิดหวังอีกครั้งของ ‘พรรคกล้าธรรม’ นายอับดุลลักษณ์ สะอิ นักธุรกิจชื่อดัง ที่ได้รับแรงหนุนจาก สองสส.นราธิวาส ‘พรรคกล้าธรรม’ คือสองพี่น้องนายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ และ นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ก็พ่ายแพ้ให้กับ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายกฯ อบจ.ห้าสมัย ไปอย่างขาดลอย ทำให้พรรคกล้าธรรม ผิดหวังไปอีกจังหวัด

มาถึงจังหวัด ‘สิงห์บุรี’ ที่จังหวัดนี้ไม่เน้นบ้านใหญ่ แต่เน้นการเมืองใหม่ สส.หนึ่งเดียวของจังหวัดนี้ได้แก่ นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพี่ชายเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั่นก็คือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ หรือ ‘พี่โอ๋’ นักการเมืองผู้มากด้วยน้ำใจ เข้าถึงได้กับคนทุกกลุ่ม ด้วยท่าทีถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้เสมอ 

นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร คือบุคคลที่นายชัยวุฒิ ให้การสนับสนุน ให้ลงเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ในครั้งนี้ เพื่อเข้ามารับใช้พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้  นายศุภวัฒน์ ก็ได้รับโอกาสเข้ามาทำงาน ในฐานะนายกฯ อบจ. เป็นที่น่าจับตามองว่า การเมืองในจังหวัดสิงห์บุรีนั้น เป็นการเมืองในรูปแบบใหม่ เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์ ไม่ใช้ความรุนแรง ไร้ซึ่งความขัดแย้ง โดย ‘โอ๋ ชัยวุฒิ’ เป็นผู้เดินหน้าสร้างความสามัคคีในการเมือง สร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ ทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้สมัครเพียงคนเดียว คือ นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร หมายเลข 1 หรือ ‘ตุ้ม’ อดีตนายกฯ อบจ.สิงห์บุรี สมัยที่ผ่านมา โดยไม่มีผู้สมัครรายอื่นลงสมัครร่วมชิงชัย

ซึ่งตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 111 นั้น ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใด หากผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือไม่มากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใด ให้ ผอ.กกต.จังหวัดดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่ 

แต่จากผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้น นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร ก็ได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้น จากชาวสิงห์บุรี โดยจะปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น ก็ต้องรอทางกกต. ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการเสียก่อน 

การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในครั้งนี้ ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่การปฏิบัติหน้าที่ ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ของนายกฯ อบจ. คนใหม่ (ทั้งหน้าเก่าและหน้าเดิม) เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น 

จับตาดูกันต่อไป!! ว่าพวกเขา จะทำงานได้ดี สมกับที่ได้รับความไว้วางใจหรือไม่

ส่องปรากฎการณ์ ‘โนโหวต – บัตรเสีย’ พุ่ง สะท้อนอารมณ์ประชาชนสั่งสอนนักการเมือง

(4 ก.พ. 68) น่าสนใจศึกษา และถอดรหัสยิ่ง สำหรับปรากฏการณ์ทางการเมืองในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) กับปรากฏการณ์บัตรเสีย และบัตรโนโหวต-โหวตโนจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

อ.เมืองตรังเขต 2 ถึงขั้นต้องจัดเลือกตั้งใหม่ ส.อบจ.16 มีนาคมนี้ หลังเกิดปรากฏการณ์ประชาชนสอนนักการเมืองจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ชนะอันดับ 1 ได้ 2,000 กว่าคะแนน แต่แพ้คะแนนโหวตโนที่พุ่งไปเกือบ 3,000 กว่าคะแนน จน กกต.จังหวัดต้องเรียกประชุมด่วน เพื่อเปิดรับสมัคร และจัดการเลือกตั้งใหม่

กกต.ตรังกำหนดแล้ว เปิดรับสมัครใหม่ และเลือกตั้งใหม่ 16 มีนาคมนี้ 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนับเป็นปรากฏการณ์อารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง ที่น่าจะเกิดจากความไม่พอใจต่อตัวผู้สมัคร ทั้งในส่วนของฝ่ายบริหาร และฝ่ายสภาประชาชนจึงต้องสั่งสอนนักการเมือง ผ่านการโหวตโน โนโหวต หรือบัตรเสีย เราจึงพบว่า การเลือกตั้งนายกฯอบจ.คราวนี้มีบัตรเสียจำนวนมากผิดปกติ

ขอยกเป็นตัวอย่างจังหวัดที่บัตรเสียจำนวนมาก

ในส่วนของการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหลายจังหวัดมียอดของจำนวนบัตรเสีย กับบัตรไม่เลือกผู้สมัครคนใด หรือ บัตรโหวตโน สูงหลักหมื่นถึงหลักแสนจำนวนมาก อาทิ

จ.นครราชสีมาผู้มาใช้สิทธิ 1,155,142 คน บัตรดี 972,902 ใบ บัตรเสีย 71,306 ใบ (6.17%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 110,934 ใบ (9.60%)

จ.มหาสารคาม ผู้มาใช้สิทธิ 453,567 คน บัตรดี 408,108 ใบ บัตรเสีย 29,007 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 16,452 ใบ

จ.เชียงใหม่ ผู้มาใช้สิทธิ 877,640 คน บัตรดี 778,227 ใบ บัตรเสีย 41,798 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 57,625ใบ

จ.เชียงราย ผู้มาใช้สิทธิ 605,780 คน บัตรดี 525,928 ใบ บัตรเสีย 36,446 ใบ (6.02%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 43,406 ใบ (7.17%)

จ.ยะลา ผู้มาใช้สิทธิ 224,707 คน บัตรดี 176,840 ใบ บัตรเสีย 18,533 ใบ (8.25%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 29,334 ใบ (13.05%)

จ.สงขลาผู้มาใช้สิทธิ 687,944 คน บัตรดี 572,496 ใบบัตรเสีย 28,593 ใบ (4.16%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 86,855 ใบ (12.63%)

จ.สมุทรปราการ ผู้มาใช้สิทธิ 569,659 คน บัตรดี 547,604 ใบ บัตรเสีย 22,055 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 42,142 ใบ

จ.นนทบุรี ผู้มาใช้สิทธิ์ 432,613 คน บัตรดี 382 ,782 ใบ บัตรเสีย 12,268 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 37,562 ใบ (8.68%)

จ.สุพรรณบุรี ผู้มาใช้สิทธิ 393,849 ใบ บัตรดี 353,460 ใบ บัตรเสีย 16,274 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 24,113 ใบ

จ.กำแพงเพชร ผู้มาใช้สิทธิ 272,278 คน บัตรดี 236,084 ใบ บัตรเสีย 14,712 ใบ บัตรไม่เลือกผู้ใด 21,482 ใบ

จ.ลำพูน ผู้มาใช้สิทธิ 242,381 คน บัตรดี 212,777 ใบ บัตรเสียจำนวน 15,131 ใบ (6.2 4%) บัตรไม่เลือกผู้ใด 14,473 ใบ (5.97%)

บัตรเสียน่าจะเกิดขึ้นทั้งจากความผิดพลาดในการกาช่องลงคะแนน และเจตนาให้เป็นบัตรเสีย ส่วนการโนโหวต หรือโหวตโนก็ตามเป็นเจตนาของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ต้องการสะท้อนความรู้สึกของประชาชน อันเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งว่าอารมณ์ของคนที่สะท้อนออกมาเช่นนี้เกิดจากอะไร

จากการประมวลความคิดเห็นของนักวิชาการ และวงกาแฟพอจะสรุปได้ใน 4-5 ประเด็น

ประการแรก ประชาชนไม่พอใจต่อการที่ “บ้านใหญ่” เข้าไปจัดการในการคัดสรรบุคคลที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นนายกฯอบจ.และ ส.อบจ.ที่ประชาชนรับรู้ได้จากสื่อที่หลากหลาย และความรวดเร็วของสื่อโซเชียล ซึ่งบางคนไม่ได้มีคุณสมบัติอะไร แต่บ้านใหญ่ชี้ตัวลงมาก็ต้องเอาตามนั้น บางคนมีคุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์เพียบ แต่ถูกบีบให้หลุดวงโคจรก็มีไม่น้อย

ประการที่สอง คือประชาชนไม่พอใจต่อพรรคการเมือง และนักการเมืองระดับชาติที่เข้าไปจุ้นจ้านชี้นำประชาชน ทำให้ประชาชนขาดความเป็นอิสระในการตัดสินใจด้วยตัวเองตามหลักการกระจายอำนาจ องค์กรท้องถิ่นต้องมีอิสระปลอดจากการครอบงำ หรือชี้นำของการเมืองสนามใหม่

ประการที่สาม ประชาชนไม่พอใจต่อตัวผู้สมัครเอง ไม่ว่าจะเป็นการนำตัวเองไปสังกัดซุ้มการเมืองต่างๆ การมีประวัติที่ไม่ใสสะอาด บางคนมีเรื่องร้องเรียนเรื่องทุจริตคอร์รัปชน มั่วสุมในวงการพนัน ได้รับโอกาสจากประชาชนแล้ว แต่กลับไม่มีผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

ประการที่สี่ ประชาชนเรียนรู้มากขึ้นผ่านสื่อต่างๆมากมาย สืบค้นได้ด้วยตัวเอง เมื่อประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้แล้ว วิธีการที่ประชาชนทำได้คือการสะท้อนผ่านการเลือกตั้งนั้นเอง

ประการที่ห้า ปรากฏการณ์การใช้เงินจำนวนมากของผู้สมัครนายกฯอบจ.บางคน ที่มีข่าวสะพัดกับการจัดการหัวละ 500 หัวละ 1000 เมื่ออเทียบกับเงินเดือน ค่าตอบแทนของผู้บริหารแค่หลักแสน ปีละล้านกว่าบาท สี่ปีก็แค่ไม่เกิน 5 ล้านบาท แต่กลับทุ่ม 200-300 ล้านเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่การถอนทุนในอนาคตบนตำแหน่งบริหาร

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นฝ่ายที่เกี่ยวข้องน่าจะได้นั่งลงถอดรหัส และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนวิถี หมายรวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติด้วยในการคิดแก้กฎหมาย เช่น การแก้ปิดทางนักการเมืองใหญ่เข้าไปบงการ สั่งการ จัดการกับการเมืองท้องถิ่น รวมถึงจะแก้เรื่องฝ่ายบริหารลาออกก่อนหมดวาระอย่างไม่จำเป็น ทำให้สูญเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งใหม่ และต้องใช้งบประมาณซ้ำสองครั้ง

ปรากฏการณ์บัตรเสีย โนโหวต เป็นปรากฏการณ์ชัดเจนว่า ประชาชนได้ออกมาใช้สิทธิ์สั่งสอนนักเมืองแล้ว เหลือแค่นักการเมืองจะสำนึกหรือไม่

สับ!! ‘กกต.’ กลางวงเสวนา จัดเลือกตั้ง อบจ.68 ล้มเหลว ‘นิพนธ์’ กังวล!! ปัญหาซื้อเสียง ‘นายหัวไทร’ ชี้!! คนลงคะแนนน้อยกว่าปกติ เพราะ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งผิดพลาด

เมื่อวันที่ (20 ก.พ.68) ที่ห้อง SB 0301 อาคารศรีศรัทธา มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชมรมรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง จัดเสวนาเชิงวิชาการหัวข้อ เลือกตั้ง: อบจ.68 สะท้อนอะไร? โดยวิทยากรร่วมเสวนาอาทิ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.มหาดไทย รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อดีตสส.นครศรีฯ นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเฉลียว คงตุก สื่อมวลชนอาวุโสสายการเมืองท้องถิ่นและเจ้าของคอลัมน์ ‘นายหัวไทร’ ดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.เพิ่มศักดิ์ จะเรียมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง ซึ่งการเสวนาครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมฟังประมาณ 100 คน

เฉลียว คงตุก เปิดวงเสวนาด้วยข้อกังวลกับการเลือกตั้ง อบจ.หลายประเด็น เช่น บ้านใหญ่ส่งผู้สมัครไม่ตรงกับความต้องการของประชาชน การเมืองใหญ่เข้าไปครอบงำการเมืองท้องถิ่น ทำให้ท้องขาดอิสระ การใช้เงินซื้อเสียงมโหฬาร แต่ กกต.ไม่รู้ไม่เห็น การจัดเลือกตั้งวันเสาร์เป็นครั้งแรก กกต.อ่อนด้อยในการประชาสัมพันธ์ เหล่านี้คือเหตุผลทำให้คนออกมาใช้สิทธิ์น้อย โหวดโต บัตรเสีย

นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรมช.มหาดไทยและอดีตสส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้การจะทำให้ประเทศเข้มแข็งจะต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ซึ่งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรมเริ่มในยุคพลเอกเปรม ติณนสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี  หลังมีการเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจและในปี 2528 มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นครั้งแรกในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถือเป็นการกระจายอำนาจแรก ในขณะตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรืออบจ.นั้นเป็นตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัด 

“ตอนนั้นผู้ว่าฯ สวมหมวกสองใบ คือเป็นทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกอบจ. หมวกหนึ่งเป็นตัวแทนราชการส่วนกลาง อีกหมวกเป็นส่วนท้องถิ่น นายอำเภอก็เป็นนายกสุขาภิบาล ต่อมารัฐธรรมนูญปี40 เริ่มเห็นบทบาทการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง โดยเขียนไว้ว่าให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง เริ่มจากนายกอบจ.ที่เลือกมาจากสจ. นายกเทศบาลก็เหมือนกันเลือกมาจากสท. แล้วต่อมาก็มาเปลี่ยนเป็นการเลือกตั้งโดยตรง เริ่มเลือกตั้งครั้งแรกปี44 จนถึงวันนี้ ทำให้เลือกตั้งท้องถิ่นเข้มข้นมากขึ้น”

นายนิพนธ์กล่าวต่อว่า แต่ก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น พรรคการเมืองไม่ค่อยเข้าไปยุ่งมาก เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีผู้สมัครนายกอบจ.หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นในนามพรรคการเมืองก็จะมีคนรับผิดชอบ อย่างน้อยในการช่วยคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมลงสมัคร หรือหากบริหารงานเกิดความผิดพลาดพรรคการเมืองก็ต้องรับผิดชอบ แต่หากสมัครนามอิสระไม่มีใครกรองให้ประชาชน เมื่อเกิดการบริหารราชการความผิดพลาดเสียหายขึ้นมา ตัวเองผ่านพ้นไปใครจะรับผิดชอบ  

“เมื่อผมมาอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ก็อยู่ในปีกกระจายอำนาจ มีกระแสไม่เห็นด้วยเหมือนกันในพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น แต่สรุปเราเห็นแนวทางนี้แล้วว่าการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงเป็นสิ่งจำเป็น ผมเชื่อตรรกะนี้ว่าถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยก็จะเข้มแข็ง”อดีตรมช.มหาดไทยกล่าวย้ำ 

ขณะที่ รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์และอดีตสส.นครศรีฯ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวเสริมว่า แม้ปัจจุบันการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยจะเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ เพราะมีการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนในทุกระดับทั้งนายกอบจ. นายกเทศบาล นายกอบต. หากแต่การบริหารราชการแผ่นดินในท้องถิ่นท้องที่ยังไม่มีความอิสระยังเป็นการบริหารราชการแบบรวมศูนย์ โดยนายกอบจ.ไม่มีโอกาสจัดทำโครงการฯทำโปรเจกต์ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง ที่สำคัญท้องถิ่นก็ไม่ได้ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาล แต่ขับเคลื่อนด้วยกระทรวงมหาดไทย ทำให้การบริหารงานท้องถิ่นผิดฝาผิดฝั่งไป

“วันนี้ท้องถิ่นไม่ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลแต่ขับเคลื่อนด้วยมหาดไทย พอเกิดปัญหาท้องถิ่นทำอะไรได้ไม่เต็มที่ ไม่สามารถจัดการปัญหาสาธารณะได้ มังคุดราคาตก ชาวบ้านเคยพาไปเททิ้งหน้าอบจ. อบต.ไม๊ ก็ไปเททิ้งหน้าศาลากลาง มันสะท้อนถึงรัฐบาลรวมศูนย์ ท้องถิ่นยังทำอะไรไม่ได้ เมื่อทำอะไรไม่ได้ก็ตอบคำถามที่ว่าทำไมคนจึงไปเลือกตั้งอบจ.คราวนี้น้อยกว่าปกติ เพราะเลือกไปก็ไม่มีประโยชน์ เข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้มาก”รศ.ดร.รงค์ บุญสวยขวัญ วิพากษ์อย่างเผ็ดร้อน  

ด้าน นายศักดา นพสิทธิ์ อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าในการเลือกตั้งอบจ.68 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าบริบทบางครั้งนโยบายของพรรคการเมืองมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งในระดับพื้นที่เหมือนกัน อย่างบางพรรคการเมืองไม่ได้รับความนิยมในพื้นที่ภาคใต้ก็จะไม่ส่งผู้สมัครลงสมัครในนามพรรค หรืออาจมีทัศนคติก็ได้ที่ว่าในเรื่องของท้องถิ่นพรรคการเมืองไม่ควรเข้าไปสนับสนุน ควรอยู่ในระดับชาตินโยบายของประเทศเท่านั้น เพราะคำว่าท้องถิ่นหมายความว่าให้คนในพื้นที่ ให้คนในท้องถิ่นบริหารจัดการเลือกผู้นำของตัวเองขึ้นมาเป็นผู้บริหาร นั่นคือนิยามสมบูรณ์ดีที่สุดในแง่การปกครองการบริหารส่วนท้องถิ่น ส่วนท้องถิ่นนำเอานโยบายบางส่วนบางตอนของพรรคการเมืองใดไปใช้เป็น ก็แล้วแต่ผู้บริหารท้องถิ่นนั้นที่เห็นว่ามีความเหมาะสมในสภาพพื้นที่และบริบทของสังคม 

“กกตไม่ใช่มีแค่หน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เสร็จเท่านั้น แต่หลักการจะต้องสะท้อนการลงคะแนนผ่านการเลือกตั้งด้วย เราจะได้รู้ว่าใครเป็นคนดีที่สุดเหมาะบริหารในท้องที่ในท้องถิ่นระดับชาติมากที่สุด ไม่เช่นนั้น คนที่มีการศึกษาดี มีคุณธรรม ไม่เคยมีประวัติทุจริตคดโกงก็ไม่ได้เป็นตัวแทน บางทีคนที่เลวร้ายที่สุดก็ยังได้รับการเลือก เพราะมีหลายบริบทที่รวมอยู่ในคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว

ส่วนนายเฉลียว คงตุก สื่อมวลชนอาวุโสเชี่ยวชาญด้านการเมืองท้องถิ่นและเจ้าของคอลัมน์ ‘นายหัวไทร’ กล่าวว่า การเลือกตั้งอบจ.คราวนี้มันสะท้อนอะไรบ้าง สิ่งที่ยังอยากพูดถึงในวันนี้ก็คือการกำหนดวันเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งปกติจัดการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดทุกองค์กร ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชน ยกเว้นเกษตรกรที่ไม่มีวันหยุด แต่การจัดการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นวันเสาร์ ซึ่งบริษัท ห้างร้าน โรงงาน หรือบริษัทเอกชนยังเปิดทำงานกันตามปกติ ทำให้การเลือกตั้งอบจ.ในหลายจังหวัดครั้งนี้มีการลงคะแนนเลือกตั้งน้อยเป็นประวัติการณ์ 

“ผมคิดว่าน่าจะเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เลือกตั้งวันเสาร์ เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีการเลือกตั้งวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดของประชาชนคนส่วนใหญ่จะสะดวกเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่วันทำงาน ผมเองให้ทีมงานไปถามเลขากกต.ทำไมจัดการเลือกตั้งวันเสาร์แล้วที่ประชุมสภาเองก็ได้มีการเชิญกกต.ไปชี้แจง ซึ่งเลขากกต.ชี้แจงว่าการที่จัดการเลือกตั้งวันเสาร์ เพราะถ้าขยับไปอีกวันเป็นวันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.เกรงว่าการเลือกตั้งจะไม่แล้วเสร็จตามกฎหมายที่กำหนดจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 45วัน  อันที่จริงกกต.น่าจะร่นลงมาสักอาทิตย์ก็ได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า แต่ทางกกต.เกรงว่าผู้สมัครจะมีเวลาหาเสียงน้อย พบปะประชาชนไม่ทั่วถึง ผมไม่เชื่อในตรรกะนี้”เจ้าของคอลัมน์”นายหัวไทรกล่าวทิ้งท้าย

สรุปภาพรวมวงเสวนามีน่าสนใจ พอจะประมวลจากการสะท้อนของวิทยากร ที่ทำให้มีบัตรเสียจำนวนมาก บัตรโหวตโนเยอะ คนใช้สิทธิ์น้อย เกิดจากเหตุปัจจัยหลายประการ

ประการแรก ข่าวหน้าหูเรื่องการใช้เงินมโหฬารในการจ่ายกับการเลือกตั้ง (ซื้อเสียง) อันจะนำไปสู่การถอนทุนในอนาคต (ทุจริต) ทำให้คนเบื่อการเมือง ชัดขึ้นกับคำว่า “เงินไม่มากาไม่เป็น” วิทยากรส่วนใหญ่แนะนำว่า ถ้าเขาเอาเงินมาให้ก็รับไว้ แต่การเลือกตั้งเป็นสิทธิ์ของแต่ละคน เดินเข้าสู่คูหาไม่มีใครรู้ว่าเราเลือกใคร เหตุฆาตกรรมจากการเบี้ยวกันทางการเมือง เริ่มหายไปราว 1 ทศวรรษแล้ว

ประการต่อมา การที่นักการเมืองบ้านใหญ่เข้าไปจัดการ บงการส่งผู้สมัคร ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่ประชาชนต้องการ จึงเลือกที่จะโหวตโน เพราะผู้สมัครยังไม่โดนใจพอ

ประการต่อมา คือที่พรรคการเมือง นักการเมืองระดับชาติเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ท้องถิ่นขาดความเป็นอิสระ ผิดหลักการกระจายอำนาจ แม้วิทยากรบางคนจะเห็นแย้งว่า เมื่อพรรคการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง พรรคการเมืองก็ต้องรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยกับผลของการกระทำ

ประการที่สี่ ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อการจัดเลือกตั้งว่าจะเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ เที่ยงธรรม เพราะเห็นมามากแล้ว ประชาชนรู้กันทุกหย่อมหญ้าว่ามีการซื้อเสียง แต่ กกต.หน่วยงานจัดการเลือกตั้งกลับไม่รู้ไม่เห็น ทำให้ประชาชนหมดหวังกับองค์อิสระอย่าง กกต. จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา กกต.ไม่เคยจับทุจริตการเลือกตั้งได้ด้วยตัวเอง รอให้คนนำหลักฐานไปร้องเรียนถึงจะดำเนินการสอบสวน ไม่มีการสืบด้วยตัวเอง กลไกผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ทำงานไม่ได้ผล

ประการที่ห้า การจัดการเลือกตั้งวันเสาร์เป็นครั้งแรก ทั้ง ๆ ที่เป็นวันทำงาน ผู้มีสิทธิ์บางคนไม่สามารถละจากงานเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ ทำให้ยอดผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งน้อยกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา กกต.อ้างว่า ถ้าจัดเลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ จะหมิ่นเหม่ถ้ามีเหตุฉุกเฉินจะจัดการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จในกรอบ 45 วัน จริง ๆ กกต.ร่นมาอีกอาทิตย์หนึ่งก็ยังได้ แต่ กกต.กลับกลัวว่า จะมีเวลาให้หาเสียงน้อย ซึ่งเป็นตรรกะที่จะรับฟังได้

ประการที่หก การไม่จัดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้า สำหรับผู้ที่มีภารกิจ ไม่สามารถมาลงคะแนนเสียงได้ในวันเสาร์ทำให้เขาต้องถูกตัดสิทธิ์ทางการ จะถูกปิดกั้นการแสดงออกทางการเมือง จะลงสมัครอะไรก็ไม่ได้ไประยะหนึ่ง

นี้คือประเด็นหลัก ๆ ที่มีการพูดคุยกันในวงเสวนา ‘เลือกตั้ง อบจ.68 สะท้อนอะไร’ ก็สะท้อนให้เห็นปัญหามากมายที่จะต้องปรับแก้กันต่อไปในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top